เชิญร่วมกิจกรรม World Press Freedom Day 2021 เสวนาออนไลน์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

World Press Freedom Day 2021

3 May 2021

Vaccines data​ as a public​ good. Journalism​ on vaccines​ without​ fear​ or favor. Who should​ we trust? How to #SureVac?

กิจกรรมเสวนาออนไลน์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World Press Freedom Day 2021

Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15
ว่าด้วยเรื่อง “Information as A Public Good.”

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
เวลา 13.00 – 23.00 น.
(Live on FB: Cofact Thailand, Digital Thinkers Forum, FNF Thailand, UbonConnect)

Download Program Click



นวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคพลเมืองในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19

บทความ

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1OHRHjH_vMOtGaeqD-3N4r7Iq9CdvXlQ5/view?usp=drivesdk

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม

1 โครงการเป็ดไทยสู้ภัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมาคม Thailand Tech Startup ร่วมมือกับ  สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) , กรมควบคุมโรค , สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มสตาร์ทอัพในสมาคม ลงมือทำโครงการ “เป็ดไทยสู้ภัย” โครงการที่กลุ่มสตาร์ทอัพได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นบริการด้านต่างๆ เพื่อช่วยในการให้ความรู้ ป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 การออกแบบบริการต่างๆ ของเป็ดไทยสู้ภัย จะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เฟสบุ๊กเพจ “เป็ดไทยสู้ภัย” โดย หลังจากที่เริ่มต้นสามารถแบ่งได้ 5 ภารกิจดังนี้

1.เป็ดข่าวสาร มุ่งเน้นด้านข้อมูลข่าวสารที่ช่วยคัดกรองข่าว Fake news และเผยแพร่แต่ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าใจง่าย เพื่อดึงดูดให้ผู้ที่กังวลและต้องการข้อมูลเข้ามาสู่บริการ

2.เป็ดคัดกรอง เป็นระบบคัดกรองที่สมาคมฯ ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อช่วยในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ดูแลผู้มีความกังวลให้สามารถเข้าใจในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม และหากมีคนเข้าไปทำแบบคัดกรองแล้วพบว่ามีโอกาสติดเชื้อสูง ก็จะส่งต่อเข้าระบบ Telehealth ซึ่งจะมีแพทย์อาสาคอยให้คำปรึกษาและคัดกรองซ้ำอีกครั้งว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่ควรไปโรงพยาบาลจริงหรือไม่ เมื่อคัดกรองเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

3.เป็ดติดตาม แบ่งเป็นระบบการติดตาม 2 แบบ คือ กลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงต่ำ ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพราะอาการอาจจะยังไม่แสดงออก ก็จะให้คนกลุ่มนี้ Add ไลน์ไว้ แล้วทุกวันจะมีข้อความไปสอบถามอาการว่าเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด หากเริ่มมีอาการก็จะปรับเข้าสู่ระบบ Telehealth เพื่อปรึกษาแพทย์และเข้ากระบวนการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป

และ กลุ่มเสี่ยงอาจเป็น super spreader ซึ่งถ้าปล่อยเข้าไปในสังคมอาจเกิดการระบาด ก็จะมีระบบในการช่วยดูแลให้เข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม

4.เป็ดที่พัก เป็นระบบที่รวบรวมโรงแรมที่ปรับสภาพพร้อมรองรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากพบว่ายังมีช่องว่างในกรณีกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อ บางเคสต้องรอ 1-2 วัน คนกลุ่มนี้จะให้ไปอยู่ที่ไหน จะให้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวและเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือไม่ ดังนั้นจึงมีโรงแรมกลุ่มนี้เข้าไปอุดรอยรั่วระหว่างรอยืนยันผล นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วสถานที่กักตัวของภาครัฐไม่เพียงพอได้ด้วย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำเสนอภาครัฐในส่วนของ ASQ (Authorized State Quarantine)

5.เป็ดส่งของส่งคน เป็นระบบที่ต่อเนื่องจากเป็ดที่พัก เพราะมองว่าไม่อยากให้คนที่มีความเสี่ยงเดินทางปะปนกับประชาชนทั่วไป จึงมีการตกแต่งรถให้ปลอดภัยสำหรับคนขับเพื่อใช้รับส่งคนกลุ่มนี้

รูป 1 ภาพรวมของโครงการเป็ดไทยสู้ภัย

1.1 แรงบันดาลใจและหลักคิดในการออกแบบโครงการ

โครงการนี้เริ่มต้นจากการพูดคุยและตั้งคำถามในกลุ่มสตาร์ทอัพว่า พวกเราสามารถทำอะไรได้บ้าง และ ควรสร้างกรอบความคิด คำถามและปัญหาไปทางไหนดี เพื่อให้สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ และ เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม ซึ่งเมื่อรู้และพอจะมั่นใจก็จะได้มุ่งเน้นทุ่มไปทางนั้นให้เร็ว เพราะต้องยอมรับว่าไปทำทุกด้านไม่ได้ หลังจากที่สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สอบถามผู้ป่วย สืบค้นคำถามทางสื่อโซเชียลมีเดีย ปัญหาที่พบคือ ประเทศไทยมีทรัพยากรทางการแพทย์มีจำกัด หากปล่อยให้อัตราแพร่กระจายสูง จนจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าทรัพยากรที่มีก็จะทำใก้เกิดผู้เสียชีวิต รวมถึงทรัพยากรทางการแพทย์มีไม่มีเพียงพอที่จะรองรับความกังวลของคนทั่วไป ดังนั้นทีมงานจึงกรอบปัญหาว่า ทำอย่างไรถึงจะควบคุมอัตราการแพร่กระจาย และให้คนอยู่กับบ้านโดยปราศจากความกังวล 

หลังจากที่ได้กรอบปัญหาที่ชัดเจน ทางทีมงานก็เริ่มออกแบบโซลูชั่น โดยใช้แนวคิด ลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) ในการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid Prototype) ซึ่งทีมงานสามารถขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน โดยในช่วงเริ่มต้น ทีมงานได้ออกแบบให้เพจเป็ดไทยสู้ภัยเป็นจุดแรกในการติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะหยุดความตระหนก และทำให้เกิดแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายให้กับประชาชน หลังจากนั้นทีมงานก็พบปัญหาว่าแค่ข้อมูลที่ให้ ไม่เพียงพอต่อการรองรับความกังวลของผู้คนที่เข้ามาในเพจ เพราะแต่ละคนล้วนมีความกังวลและต้องการคำตอบที่เฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล จึงเริ่มต้นภารกิจคัดกรอง Telehealth และ ภารกิจอื่นๆ ที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องการรถขนส่ง ต้องการที่พัก ต้องการติดต่อแพทย์ ก็จะมีกระบวนการต่อเนื่องกันไป โดยที่ไม่ได้ออกแบบไว้แต่แรก สิ่งที่น่าสนใจคือ กระบวนการพัฒนาแบบสตาร์ทอัพ ทำให้ทีมงานสามารถออกแบบปรับแก้และพัฒนาโซลูชั่นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์เฉพาะทันต่อสถานการณ์ จนเกิดเป็นนวัตกรรมหนึ่งในการรับมือสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยการพัฒนาโซลูชั่น เลือกกระบวนการออกแบบที่ไม่จำกัดว่าต้องใช้แพลตฟอร์มใด แต่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและรับมือผ่านข้อมูลจากผู้ใช้งานเพื่อทำความเข้าใจ ออกแบบผ่านกระบวนการคิดแบบแพลตฟอร์มเปิด เพื่อให้สามารถเลือกใช้เครื่องมือได้หลากหลาย เปิดโอกาสให้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริการราบรื่นและต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ จะสังเกตได้ว่า ข้อมูลคือสิ่งที่เป็นศูนย์กลางในการจัดการทั้งหมดของโครงการ

2 การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูล และ เทคโนโลยีดิจิทัล

‘Data is new oil’ หลายคนให้ความเห็นว่าในยุคนี้ ข้อมูลเปรียบเสมือนน้ำมัน ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลายธุรกิจที่มีจำนวนข้อมูลเป็นปริมาณมากในระบบ ก็จ้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อไปทำการขุดเหมืองข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ แต่อีกหลายธุรกิจที่ยังไม่มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลก็พยายามที่จะหาทางให้ได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ โดยทุกคนรู้ว่า ข้อมูลคือของมีค่าและมีราคา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจวางกลยุทธ์ของธุรกิจ กรอบความคิด (Framework) ของการมองข้อมูล และเป้าหมายของการใช้ข้อมูล จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังจะวางแผนตั้งทีมทางด้านข้อมูล หรือต้องการเริ่มต้นในการเก็บข้อมูล เพราะกรอบความคิดจะทำให้ธุรกิจสามารถมองเห็นถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ในบทความนี้จะแนะนำกรอบความคิดโดยมองจากสองปัจจัยหลัก คือ (1) ปัญญาและความฉลาดที่เกิดขึ้นจากข้อมูล และ (2) การหาโอกาสทางธุรกิจจากข้อมูล

2.1 ปัญญาและความฉลาดที่เกิดจากข้อมูล

2.1.1 รูปแบบการเกิดซ้ำจากข้อมูลสร้างองค์ความรู้

อ้างอิงกรอบของ ลำดับขั้นของภูมิปัญญา (Wisdom hierarchy) หรือ ลำดับขั้น DIKIW ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูล (Data), สารสนเทศ (Information), ความรู้ (Knowledge), ความฉลาด (Intelligence) และ ภูมิปัญญา (Wisdom) เราสามารถมองเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของแต่ละลำดับขั้น และ สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นของภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้จากข้อมูล

ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริง, เรื่องราวต่างๆ ซึ่งอาจจะจากการสังเกต การรวบรวม การวัด เป็นได้ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ หลายครั้งอาจจะมาในรูปแบบที่ต่อเนื่อง

สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผล จัดระเบียบ ตามความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง มีความหมาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ความรู้ (Knowledge) หมายถึง รูปแบบที่เกิดซ้ำจากสารสนเทศ (Information) ในสมองของคนเรามักจะสร้างความเชื่อมโยงจากการเกิดซ้ำของสารสนเทศ (Information) เหมือนการสร้างแผนที่ในสมองเพื่อคาดเดาความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดจากข้อมูลที่ได้รับในปัจจุบัน ว่า ถ้าสิ่งนี้เกิด แล้วสิ่งนั้นจะเกิดตามมา เช่น  ถ้าเมฆครึ้ม เดี๋ยวฝนจะตก หรือ ถ้าฝนตก เดี๋ยวรถจะติด

ความฉลาด (Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น การให้เหตุผลเกี่ยวกับแผนในอนาคต การตัดสินใจ และ ลงมือกระทำ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากความรู้ (Knowledge) ที่มีในอดีต 

องค์ความรู้ หรือ ภูมิปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความสามารถในการคิดผ่านกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ที่เลียนแบบจากสมองและจิตใจของมนุษย์ ซึ่งรวบรวมจากการตัดสินใจที่ซับซ้อนผ่านหลักคิดและหลายการตัดสินใจมารวมกัน จากลำดับขั้นและความสัมพันธ์ระหว่าง DIKIW ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ถึงความสำคัญข้อมูล แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกระบวนการแต่ละขั้นในการประมวลผล มองหารูปแบบซ้ำ คาดเดา ทำความเข้าใจ และ สร้างกรอบการตัดสินใจ เพราะตัวข้อมูล (data) เองไม่ได้สามารถสร้างผลกระทบหรือประโยชน์อย่างมากได้ หากปราศจากการประมวลในลำดับขั้นที่สูงขึ้นของลำดับขั้นของภูมิปัญญา (Wisdom hierarchy)

2.1.2 องค์ความรู้ทำให้เข้าใจปัญหาและหาทางแก้

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) คือ การสังเกตสิ่งต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น และเมื่อมีข้อมูลที่เริ่มต้นจากการวัด และบันทึก ก็ทำให้เราเกิด วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ (Artificial Science) เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เลียนแบบข้อมูลเหล่านั้น ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น เพราะยิ่งเราทำได้ใกล้เท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรา เพื่อทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น รวมถึง เรายังสามารถให้องค์รู้เหล่านี้มาช่วยในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น  หากพิจารณาความสัมพันธ์ของลำดับขั้น DIKIW จะเห็นว่าหลายกรอบแนวคิดประกอบด้วยหลายการตัดสินใจซึ่งแต่ละการตัดสินใจมีส่วนประกอบของความรู้ ซึ่งเกิดจากสารสนเทศและข้อมูลมหาศาลในนั้น การที่เราสามารถสร้างความเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจโจทย์ และปัญหาต่างๆ ในเชิงลึกได้มากขึ้น นั่นหมายถึงเราจะสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การมีเพียงข้อมูลมหาศาล มิได้มีส่วนช่วยในการพัฒนา หากปราศจากกรอบแนวทางการใช้และศึกษา

2.2 Product/Market fit ด้วยข้อมูล

หลักคิดทางธุรกิจเริ่มจากสมมติฐานว่า ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการที่เรานำเสนอให้ลูกค้า จำเป็นต้องเริ่มจาก อุปสงค์ (Demand) ที่เกิดขึ้นในตลาดที่มากพอ ที่จะตอบรับกับ ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการของเราที่สร้างขึ้นในฝั่งอุปทาน (Supply) และเมื่อ อุปทานสามารถเติมเต็มอุปสงค์ได้ สิ่งนี้เราเรียกว่า “Product-Market Fit” หมายถึง สินค้าของเราสามารถตอบโจทย์ตลาดได้พอดี และนั่นทำให้เกิดการ ซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน และเกิดธุรกิจขึ้น ดังนั้น การพัฒนาของทั้งสองฝั่งให้มาเจอกันจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการพัฒนาธุรกิจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ และ บริการต่างๆ

3 หลักคิดของการพัฒนานวัตกรรม

3.1 หลักคิดนวัตกรรมเรื่องคุณค่า – จุดที่อุปสงค์พบอุปทาน

หลายสถาบันได้พัฒนากรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมที่หลายบริษัทได้นำมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process), Opportunity Canvas, Lean Canvas และ 24 steps of disciplined entrepreneurship หากพิจารณากรอบแนวคิดเหล่านี้ อยู่บนแนวคิดในการค้นหาจุดเชื่อมระหว่างอุปสงค์ และอุปทานผ่านคุณค่า และมุ่งเน้นไปที่การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วเพื่อเรียนรู้อุปสงค์ไปพร้อมกับการพัฒนาฝั่งอุปทาน โดยไม่ตีกรอบในวิธีการ หรือ ผลลัพธ์ เพราะเป้าหมายคือการสร้างคุณค่าให้ได้ และคุณค่านั้นสามารถที่จะตอบโจทย์อุปสงค์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง โดยไม่จำกัดวิธีการ สิ่งนี้คือจุดร่วมในการพัฒนานวัตกรรมของทุกกรอบแนวคิด

รูป 3 กรอบแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) อ้างอิง Wikimedia commons

รูป 4 กรอบแนวคิด MIT 24 Steps อ้างอิงเฟสบุ๊คแฟนเพจ IDE Thailand

3.2 การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาฝั่งอุปสงค์

การพยายามเข้าใจธรรมชาติของอุปสงค์จากพฤติกรรมของตลาดก็ เปรียนเสมือการศึกษาในฝั่งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) เพื่อให้มีภาพและแนวทางในการนำไปพัฒนา สินค้าและบริการในฝั่งอุปทาน ที่ผ่านมาเวลาที่เราต้องการสำรวจตลาดเพื่อมองหาอุปสงค์ในการวางแผน เรามักจะเริ่มต้นจากการทำแบบสอบถามหาข้อมูล และนำมาสรุป แต่ในโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีความต้องการแบบเฉพาะบุคคล หรือ เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทำให้เป็นไปได้ยาก หรือใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงในการศึกษาเพื่อหาข้อสรุป กระบวนการคิดหนึ่งซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เทคนิคแบบลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) โดยใช้ผ่านเครื่องมือดิจิทัล เช่น การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid prototyping) เพื่อทดสอบความต้องการฝั่งอุปสงค์ ด้วยเครื่องมือปัจจุบันทำให้เราสามารถทดสอบสมมติฐานต่าง ๆ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนักในการทำต้นแบบเพื่อพิสูจน์ หาข้อมูลและปรับใช้ข้อมูล เช่น การมองหาตลาดเป้าหมาย และ การกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายกลับเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ (Target marketing และ re-targeting) รวมถึงกรอบการคิดทำให้เรารู้จักใช้เวลาในการตั้งสมมติฐานที่จำเป็น เสาะหาคุณค่า (value) ที่จะตอบโจทย์หรือสร้างความต้องการใหม่ขึ้นมา ซึ่งเครื่องมือในการจัดการสรุป ค้นหา และ ใช้ในการทดสอบ ล้วนแล้วแต่มาจากการใช้พลังของข้อมูล ที่อยู่บนเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ผสมกับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้น

3.3 การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาฝั่งอุปทาน

ข้อมูลที่ได้มาจากการทำความเข้าใจอุปสงค์ด้วยกระบวนการแบบลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) เกิดจากการทดสอบกับต้นแบบที่สร้างอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนการพัฒนาความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) และ วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ (Artificial Science) ไปพร้อมๆกัน หากเรามองความเข้าใจอุปสงค์ เหมือนการทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) นั่นคือ การใช้ข้อมูลในการเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ ข้อมูลชุดเดียวกันเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างและพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดรับกับปัญหาและความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น สามารถตอบรับกับอุปสงค์ แบบเฉพาะกลุ่มและเฉพาะบุคคลมากขึ้น และเร็วขึ้น มากกว่าแนวคิดในการพัฒนาฝั่งอุปทานแบบเดิม ที่ถามหาความต้องการที่ชัดเจน (Clear Requirements) และทำเพื่อตอบรับสิ่งที่รู้ชัดเจน ซึ่งหาและทำได้ยากในตลาดและอุปสงค์ปัจจุบัน

3.4 การตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจปัญหา 

หัวข้อหนึ่งของทุกกรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรม คือการให้นิยาม (Define) ซึ่งในกระบวนการจริงๆ คือ การสร้างกรอบความคิด หรือ การตั้งคำถาม และการเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง เพราะหากกรอบของปัญหามีความชัดเจน ย่อมทำให้เรามีเป้าหมาย และพัฒนาคุณค่าที่ชัดเจนในการตอบปัญหานั้น และสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้

4 นวัตกรรมภาคพลเมืองที่เกิดขึ้น

จากกรอบแนวคิดของการพัฒนาและใช้ข้อมูลดิจิทัลในส่วนที่ 2 และ การพัฒนานวัตกรรมในส่วนที่ 3 สามารถนำมาใช้อธิบายการเกิดขึ้นของโครงการเป็ดไทยสู้ภัยในส่วนที่ 1 ได้อย่างชัดเจน และสังเกตได้ว่าโครงการที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่กลุ่มพลเมือง รวมตัวด้วยการมีเป้าหมายเดียวกันในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีเครื่องมือทางความคิดคล้ายกัน ทำให้การทำงานรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ นอกจาก โครงการเป็ดไทยสู้ภัยแล้ว เรายังมองเห็นนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้จากภาคพลเมือง ทั้งในด้านดิจิทัล และ ด้านอุปกรณ์

4.1 นวัตกรรมดิจิทัล

นวัตกรรมทางด้านดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นอย่างมากจากภาคพลเมือง เช่น การนำเสนอข้อมูล ไม่ว่า ปริมาณหน้ากากในแต่ละพื้นที่, การนำเสนอข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และ ประวัติการเดินทางของผู้ป่วย นอกจากนวัตกรรมในการเก็บบันทึกและนำเสนอข้อมูล นวัตกรรมด้านการติดตาม (Track & Trace) ก็เป็นที่น่าสนใจและสำคัญ เช่น หมอชนะ, ไทยชนะ และ DDC-CARE รวมถึงโครงการและแอพพลิเคชั่นอีกมากมายในกลุ่ม Thailand COVID19 Digital Group (TCDG)  อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาจากการที่ใช้ข้อมูลติดตามเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ ที่ต้องแลกมาคือปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันในวงกว้าง และข้อจำกัดนี้ทำให้เกิดกรอบแนวคิด ในการพัฒนาการติดตามที่มีความปลอดดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล [ Lapolla P, Lee R. Privacy versus safety in contact-tracing apps for coronavirus disease 2019. DIGITAL HEALTH. January 2020.] เช่น DP-3T, PEPP-PT, GA-PPTP ซึ่งถือว่าเป็นกรอบแนวคิดใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

4.2 นวัตกรรมด้านอุปกรณ์

ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์ ก่อให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ทดแทนจากกลุ่มพลเมืองที่มีความสามารถขึ้นมา เช่น หน้ากากผ้า ตู้ความดันลบ ฉากกั้น อุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือ แม้แต่ โดรน หรือ หุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเข้าไปใกล้ในพื้นที่นั้น เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และเราได้เห็นการบริจาคสิ่งเหล่านี้มากมาย

นวัตกรรมทางด้านวัคซีน และ อุปกรณ์ทดสอบโควิด ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในประเทศไทยก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในวงกว้าง หากยังเป็น มหาวิทยาลัยแพทย์ที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ จากกลุ่มอาจารย์และแพทย์ที่เชี่ยวชาญเอง โดยระดมทุนจากภาคเอกชนในการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถึงแม้จะไม่ใช่ด้านการออกแบบอุปกรณ์ แต่ด้านการใช้งานถือว่าน่าสนใจ สิ่งนั้นคือ ตู้ปันสุข ซึ่งเป็นตู้ที่ให้คนในชุมชนสามารถนำของที่เหลือจากการบริโภคนำมาแบ่งปัน และผู้ที่ขาดแคลนสามารถมาหยิบเท่าที่จะใช้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็สร้างผลกระทบทางจิตใจ และ แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งจากภาคพลเมือง โดยที่ไม่ได้พึ่งพิงอำนาจหรือทรัพยากรของรัฐ

5 ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ

5.1 นโยบาย และความพร้อมทางข้อมูลดิจิทัล

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนพยายามที่จะหาข้อมูล ใช้ข้อมูล เชื่อมโยง และ แบ่งปันข้อมูล เพื่อสามารถที่จะสร้างความร่วมมือและแก้ปัญหา ภาครัฐที่ควรจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และควรจะเป็นผู้ที่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำเสนอข้อมูล กลับไม่มีผู้รับผิดชอบหลักในส่วนนี้ หลายครั้งจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองในการทำหน้าที่ดังกล่าว เช่น ชัวร์ก่อนแชร์ และ เป็ดไทยสู้ภัย ปัญหาเกิดจากข้อจำกัดของนโยบายและกฎหมายต่างๆ ทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก และขาดความคล่องตัว ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์ต่างๆ รวมถึงบริการต่างๆ ทางดิจิทัลของภาครัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังขาดมาตรฐานของข้อมูลรวมถึงคำศัพท์ที่ต้องใช้ร่วมกัน 

5.2 หลักคิด แนวทางการรับมือของสังคม

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน และปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลักคิดและแนวทางการรับมือของสังคมและภาครัฐ ยังยึดติดกับกรอบระเบียบวิธีแบบเดิม และไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานสามารถที่จะออกจากกรอบได้ เช่น หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ที่ต่างจากกรอบการทำงานเดิมๆ หรือแม้ว่าจะต้อการพัฒนาแนวทางการรับมือใหม่ๆ ก็ต้องรออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน ซึ่งใช้เวลา ซึ่งไม่สอดคล้องและแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการพัฒนานวัตกรรมของภาคพลเมือง และเป็นเหตุผลที่ทำให้ ในสถานการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นสิ่งที่สร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาต่างๆ จากภาคประชาชนเองมากกว่าจะออกมาจากทางภาครัฐ

5.3 ความตระหนักรู้และความรับผิดชอบร่วมในสังคม

กลุ่มพลเมืองที่ต้องทำงานร่วมกันกับภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น หรือ ประชาชนในท้องถิ่น ยังพบได้ว่า บุคลากรภาครัฐในระดับท้องถิ่นยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของการปฎิบัติงานแบบเดิมๆ เช่น ความหละหลวมในการทำงาน การทำงานตามกรอบ และไม่ได้มองปัญหาหน้างาน แต่มองความสะดวกของตัวเองเป็นสำคัญ ผลักภาระไปให้ประชาชนและคนอื่นแทน ทำให้ หลายแนวทางที่ดีจากภาครัฐส่วนกลาง นอกจากจะไม่สามารถสร้างผลกระทบที่ดีตามที่วางแผนไว้ กลับสร้างปัญหาขึ้นแทน เช่น ปัญหา การติดเชื้อจากกลุ่มคนที่กลับเข้าเมืองไทย ในศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนต่างๆ และ หลายครั้งกระบวนการในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์และปรับแก้วิธีการใช้เวลา ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร 

โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร กับ ความเข้มแข็งของพลเมืองยุคดิจิทัล

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1pcTaGx41qlsp4ejy94joE8lolzcRv2_e/view?usp=drivesdk

พีรพล อนุตรโสตถิ์ | ฉบับร่าง

ถ้าเปรียบเทียบการมาของ “โควิด-19 คือ “ข้อสอบปลายภาค” ของเหล่าพลเมืองยุคดิจิทัล

“เราสอบตก.”

ย้อนไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา…


บิลเกตส์ มหาเศรษฐีนักเทคโนโลยีที่ก้าวออกจากฉายา “พ่อมดคอมพิวเตอร์” ผันตัวมาจดจ่อกับการหาทางแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของประชาคมโลก วันหนึ่งในปี 2015 เขาขึ้นเวทีชี้ช่องโหว่เป็นสัญญาณเตือนแบบแรง ๆ ว่า “โลกนี้ยังไม่พร้อมรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่” 

ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่ที่พอจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ต่างกำลังบริโภคความสุขสบายใจและกาย หรือจดจ่ออยู่กับความใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นของตนเอง

คำค้นติดอันดับบน Google สะท้อนตัวตนความสนใจได้เป็นอย่างดีว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พลเมืองรุ่นใหม่หลากหลายวัยในโลกดิจิทัล สนใจอะไรกันบ้าง

Google Trends 2011-2019 : ดารา ดราม่า ซีรีส์ ละคร คอนเสิร์ต ท่าเต้น บันเทิง กีฬา โซเชียล #แฮชแท็ก มือถือ ถ่ายรูป ทำอาหาร การลงทุน สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ก่อการร้าย คนดังตาย โรคระบาดใหญ่ที่ถูกค้นหา คือ Ebola เมื่อปี 2013

เมื่อปลดล็อกหน้าจอมือถือหนึ่งในหลายเครื่องที่พกไว้ แอปยอดนิยมบนจอคือนานาประตูสู่หลากหลายแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์  ที่เปิดให้ อวด-อ้าง-อ้อน-อ่าน-โอน-อิ่ม ได้ง่ายสะดวกทุกที่ทุกเวลา จนมุกตลกขบกัดสะท้อนสังคม หนีไม่พ้นเรื่องราวจากการก้มหน้า “ดาวน์หลุด” เข้าสู่โลกใบเล็กที่สร้างขึ้นในมือตนเองซึ่งถักทอต่อสานด้วยเส้นใยอินเทอร์เน็ต

เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเติบโตของ “habit” หรือลักษณะพฤตินิสัยบนโลกออนไลน์ ที่เป็นมูลเหตุของการ “สอบตก” ในโลกจริง อีกไม่กี่ปีถัดมา

“Fake News” “ข่าวปลอม” กลายเป็นวาทกรรมซึ่งสะท้อนอธิบายถึงนิเวศสภาวะใหม่ในยุคไซเบอร์ ที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและโครงข่ายสังคมออนไลน์เป็นถนนโลดแล่นขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะมีทั้ง “คนหน้าใหม่” เผยแพร่ข้อมูลเท็จด้วยความไม่ประสีประสา แบบที่เรียกว่า “misinformation” หรือ จะ “คนรว้าย ๆ” ที่จงใจกุข่าวเท็จแล้วเผยแพร่ในแบบ “disinformation” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการชี้นำ เงิน หรือสนองจิตใจ

ประจวบเหมาะกับ “ห้องแห่งเสียงก้อง” ที่เป็นบอลลูนพาหนะฟองสบู่ผิวหนา พาแต่ละคนหลุดเข้าไปล่องลอยอิ่มเอมกับแพลตฟอร์มและ “อัลกอริทึม” ซึ่งหมั่นเอาอกเอาใจ พยายามสะกิดประเคนให้แต่ “สิ่งที่คุณชอบ” จนหลงคิดไปว่าโลกทั้งใบกลายเป็นสีอะไรก็ได้ที่ต้องการ

เติมเชื้อไฟด้วย “กลไกการหารายได้” ของโลกยุคดิจิทัล ซึ่งแลกมาได้ด้วย “ยอดวิว” และ “การล่อคลิก” จึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณดาต้าอินเทอร์เน็ตของหลายต่อหลายคน ถูกผลาญไปเพราะพลาดตกกับดักหลุมพรางเหล่านี้

ทั้ง “พฤตินิสัย” “ห้องแห่งเสียงก้อง” และ “กลไกรายได้” ประสานกลายเป็นโลกออนไลน์ในซีกมืดที่ฉาบด้วยแสงสีศิวิไลซ์ กลุ่มมนุษย์ผู้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลก่อนคนอื่น ใช้โอกาสในฐานะ “พลเมืองรุ่นบุกเบิก” ไปกับการหลงใหลในความสวยงามเสมือน ที่รู้ทั้งรู้ว่าล้วนถูกปั้นแต่งเนรมิตขึ้น 

แม้ในช่วงไม่กี่ปีของท้ายทศวรรษนี้ จะมีแนวคิดเพื่อคืนสมดุลให้ชีวิตดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ลดการใช้เวลาหน้าจอ การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดที่จับต้องได้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้หรือทำงานอย่างมีคุณภาพ

แต่เมื่อถึงต้นปี 2020 มนุษย์ก็ได้บทสรุปที่พิสูจน์ชัดแล้วว่า สายเกินหันหลังกลับ

ชีวิตดิจิทัลที่ก้าวล้ำ ยิ่งทำให้ “ภูมิคุ้มกัน” ในชีวิตจริงเสื่อมถอยลง

วิถีนิสัยของเหล่าพลเมืองดิจิทัลส่วนใหญ่ ยิ่งทำให้ผลร้ายจาก “ไวรัส” ทวีความรุนแรง

ไวรัสตัวเล็ก ๆ ที่ถูกจำกัดด้วยสารพัดมิติกายภาพ

จึงกลับสร้างความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่ได้กว้างขวาง

ด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ : สอบตก

พลเมืองดิจิทัล ถูกนิยามไว้ให้หมายถึง ใครก็ตามที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถใช้เพื่อมีส่วนร่วมในสังคม เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัย

พลเมืองดิจิทัล จัดเป็น พลเมืองแบบที่สาม ต่อจาก พลเมืองชาติ และ พลเมืองโลก ซึ่งความเป็นพลเมืองดิจิทัลนั้น ยังนิยามจำแนกออกไปได้อีก 3 แบบ คือ

มิติด้านความรู้เกี่ยวกับสื่อและสารสนเทศ

มิติด้านจริยธรรม และ

มิติด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม

มีหลากหลายเนื้อหาที่ออกแบบคุณลักษณะของ “พลเมืองดิจิทัล”

“การจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีนั้น ต้องมีชุดทักษะและความรู้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการคิดขั้นสูง หรือที่เรียกว่า ความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ รู้จักป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เข้าใจถึงสิทธิ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมที่สำคัญในยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับตนเอง ชุมชน ประเทศ และโลก ได้อย่างสร้างสรรค์”

‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม เพื่อรักษากฎเกณฑ์ สมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยควรบ่มเพาะทักษะที่จำเป็น 8 ประการ ได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

เมื่อศึกษาเนื้อหาว่าด้วย “พลเมืองดิจิทัล” ข้างต้น แล้วนำมาทาบกับสถานการณ์ “โลกยุคหลังโควิด-19” นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลึกลับในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะแพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกนั้น นอกจากคำว่า “ความปลอดภัย” (ซึ่งที่จริงน่าจะหมายถึง Digital Safety & Security) แล้ว แทบจะไม่พบร่องรอยของคุณสมบัติใดใน “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” ที่จะใกล้เคียงหรือนำมาอธิบายได้ว่า มีการออกแบบให้รองรับและคำนึงถึงสวัสดิภาพทางกายภาพของมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา จนสามารถนำมาชูหรือใช้เพื่อป้องกันการลุกลามระบาดของปัญหาจากโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของไวรัส หรือ การระบาดของข้อมูลข่าวสาร

ไม่ว่าจะเป็น 3 มิตินิยาม หรือ 8 ทักษะสำคัญ ล้วนทำให้ผู้เป็นพลเมืองดิจิทัลมุ่งคิดและปฏิบัติตนอยู่บนโลกออนไลน์อย่างเจาะจง เปรียบเหมือนกับ แนวปฏิบัติเมื่ออยู่บนเรือสำราญลำใหญ่ ที่มิได้เน้นเตรียมให้ลูกเรือ คำนึงถึงการใช้ชีวิตหลังเรืออัปปาง และให้ผู้โดยสารมั่นใจในความมั่นคงที่โคลงเคลง

ด้านการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า : สอบตก

ในทางตรงกันข้าม หากจะค้นหาว่า “การขาดความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี” นั้นมีส่วนขยายปัญหาของไวรัสตัวเล็ก ๆ นี้ได้อย่างไรบ้าง เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม เรื่องวิจารณญาณ หรือเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวม

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พบว่า การรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสที่มนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกันครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงการจัดการปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กัน หรือบางครั้งก็อาจจะส่งผลเสียได้มากกว่า คือ ข้อมูลข่าวสารเท็จที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

นำมาซึ่งคำใหม่ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า INFODEMIC ซึ่งเกิดจากการผสมคำสองคำ ได้แก่ INFORMATION กับ EPIDEMIC และนำมาซึ่งการจัดประชุมนานาชาติ (แบบออนไลน์) ว่าด้วย “ศาสตร์แห่ง INFODEMIC” หรือ INFODEMIOLOGY ก่อนที่จะให้นิยามอย่างเป็นทางการว่า “INFODEMIC คือ สภาวะที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นสับสนจนยากจะแยกว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จ”

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท เก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการส่งต่อกันเกี่ยวกับโควิด-19 พบว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งที่เป็นข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ และคลิปเสียง ถูกส่งต่อกันไม่ต่ำกว่า 500 ชิ้น โดยไม่ซ้ำกัน ภายในเดือนเดียว

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจจับบนสังคมออนไลน์พบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 จำนวนมากในหลักแสนข้อความ

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากมนุษย์จะเป็นผู้ที่ช่วยนำพาให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลกได้แล้ว มนุษย์ยังเป็นต้นเหตุซึ่งทำให้อิทธิพลจากเชื้อไวรัส login เข้าไปก่อผลกระทบในโลกดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่แตกต่างจากโครงสร้างทางสังคมกายภาพในชีวิตจริง ที่มนุษย์มิได้คาดคิดเตรียมภูมิคุ้มกันรับกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ โภชนาการ และการออกกำลังกาย ทำให้รู้สึกมั่นคงทางสุขภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความก้าวล้ำในด้านการคมนาคมอย่างไร้พรมแดน ทำให้ไม่มีสักจังหวะชีวิตที่มนุษย์จะนึกถึงสนามบินที่ต้องถูกใช้เป็นลานจอดเครื่องบิน และตระหนักว่ามนุษย์ด้วยกันเองที่ถูกไวรัสตัวเล็กใช้เป็นพาหะนำพาเชื้อโรคให้กระจายไปทั่วโลก

การขาดการสร้างสภาวะแวดล้อมในการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน รวมทั้งด้านการเชื่อมโยงกับชีวิตทางกายภาพ ให้กับ “พลเมืองดิจิทัล” จึงไม่เพียงแต่เป็นการสละโอกาสป้องกันตัว ที่ทำให้ผู้คนมากมายกลายเป็นผู้ติดเชื้อหรือได้รับผลกระทบแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง 

กรณีแพทย์ผู้แจ้งข่าวคนแรก

โครงสร้างการปกครองทางดิจิทัล มีส่วนสำคัญในการกำหนดระดับสถานการณ์ถัดไป อาทิ กรณีแพทย์ชาวจีนที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นบุคคลแรก ๆ ที่พยายามแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยไวรัสลึกลับ แต่กลับถูกขนบระเบียบด้านการควบคุมกลั่นกรอง มีส่วนทำให้ข้อมูลสำคัญถูกหน่วงให้ล่าช้าไป ไม่ว่าจะเป็นกลไกโดยเจ้าหน้าที่ทางการ หรือ กลไกทางสังคมดิจิทัล แม้ต่อมาสังคมจะยกย่องสดุดีแพทย์ท่านนี้ แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ในขณะที่ยังมีลมหายใจแล้ว

    กรณีทฤษฎีสมคบคิด

ทฤษฎีสมคบคิดในเรื่องต่าง ๆ มีมายาว นานก่อนยุคดิจิทัล แต่กลับมาแพร่กระจายขยายเร็วด้วยระบบนิเวศของ “พลเมืองดิจิทัลที่ขาดความสมบูรณ์” ซึ่งผู้คนต่างกระหายหาข้อมูล จนไม่เหลือพื้นที่ “ชั่งใจ” ไว้ให้รอคอยผลสรุป ข้อมูลหลายชิ้นอันเกิดจากการปะติดปะต่อเรื่องราวแบบตัดต่อเชื่อมโยงอย่างดูดี จึงแพร่กระจาย และย้ายสถานะจาก “ทฤษฎี” ของผู้ประพันธ์ กลายไปเป็น “ความจริง” ของผู้ที่หลงเชื่อ

ทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีหลายข้อมูลซึ่งไร้หลักฐานที่หนักแน่น และจัดเป็นทฤษฎีสมคบคิด ถูกส่งต่อแพร่กระจายข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์และภาษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสตัวร้ายที่ถูกมองว่าประดิษฐ์ขึ้นมาโดยน้ำมือของมนุษย์ ข้อมูลที่กระจายจากการระบาดในจีน ก็ชี้นิ้วไปที่ห้องแล็บในฐานทัพสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชิ้นข้อมูลคล้ายกันแต่ระบาดในหมู่ชาวอเมริกันกลับชี้ว่าไวรัสนี้จีนจงใจประดิษฐ์ขึ้นเป็นอาวุธชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกต่างวิเคราะห์และลงความเห็นกันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น เป็นไวรัสที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำมือมนุษย์

ทฤษฎีสมคบคิดประกอบด้วยข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือมากมาย ยกเว้นแต่เพียงข้อมูลจริงที่ขัดแย้งเท่านั้น ที่จะถูกมองข้ามไป ไม่หยิบยกเข้ามาถ่วงดุล

นอกจากประเด็นที่มาของไวรัสแล้ว ยังมีทฤษฎีสมคบคิดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอนาคตในการควบคุมป้องกันโรค อาทิ ทฤษฎีที่เชื่อมโยงการแพร่ระบาดของไวรัสกับเทคโนโลยี 5G ในสหราชอาณาจักร ที่ถึงขั้นมีการข่มขู่บุคลากรด้านโทรคมนาคมตามสถานที่ต่าง ๆ และ ทฤษฎีการต่อต้านวัคซีนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความกังวลว่าจะทำให้ประชาชนตัดสินใจไม่ไปรับวัคซีน เมื่อวัคซีนถูกประดิษฐ์คิดค้นได้สำเร็จในอนาคต

    กรณีข่าวสารการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ข้อมูลข่าวสารใด ๆ เกี่ยวกับ “โควิด” กลายเป็นแหล่งดึงดูด “ชาวเน็ต” ได้อย่างทรงพลัง เนื่องจากกระแสความสนใจของผู้คน ถูกกระตุ้นด้วยข่าวการพบผู้ป่วยรายแรกในไทย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแรกที่มีการพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่นอกประเทศจีน จากนั้นตามมาด้วยการพบผู้ติดเชื้อคนไทยรายแรก การพบผู้เสียชีวิตรายแรก การที่ดาราดังออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือการพบกลุ่มผู้ป่วยในสนามมวย และสถานบันเทิง ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความสนใจในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

การตื่นตัวต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาด ถือเป็นโอกาสที่ดีทางด้านการสื่อสารความเสี่ยงทางสาธารณสุข แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจเป็นการสร้างแรงเหวี่ยงที่ไร้การควบคุม เมื่อนับรวมผนวกกับการที่ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ ต่างระดมสร้างเนื้อหาตอบรับกระแส เพื่อช่วงชิงผู้เข้าชม ซึ่งในบางประเด็น ผู้ผลิตเนื้อหาอาจขาดความเข้าใจ หรือมีการด่วนสรุปข้อมูลบางประการ หรือพบเห็นเนื้อหาบนสื่อสังคมที่ประชาชนเป็นผู้โพสต์ด้วยความเข้าใจผิด แล้วมีการนำเสนอออกไปโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน ก็อาจทำให้ที่ควรจะเกิด “การตื่นตัว” และ “ตระหนัก” กลับกลายเป็น “การตื่นตูม” และ “ตระหนก” ของประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ

เช่น เมื่อประชาชนพบเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่งกายด้วยชุดป้องกัน เข้าไปในพื้นที่ใด หรือให้การดูแลกับผู้ป่วยรายใด ประชาชนมักจะตีความเข้าใจไปว่า มีการพบผู้ติดเชื้อในสถานที่นั้นแล้ว หรือบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นจะต้องเป็นผู้ติดเชื้ออย่างแน่นอน ประชาชนอาจถ่ายภาพแล้วโพสต์เข้าสื่อของตนเองด้วยความเข้าใจผิด หรือต่อมาภายหลัง ไม่พบว่ามีการประกาศการติดเชื้อในบริเวณนั้น ก็อาจจะตีความตัดสินไปว่ามีการพยายามปกปิดข่าว

กลุ่มทักษะการรับมือและต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ : สอบ (เกือบ) ตก

แม้ในช่วงเวลาก่อนหน้าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเด็น “ข่าวปลอม” เป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปรับรู้และเข้าใจว่ามีโอกาสเกิดข่าวปลอมข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ได้ทุกเมื่อและในทุกเรื่อง มีการรณรงค์และดำเนินการหลากหลายวิธีการ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและความตระหนักรู้เท่าทันให้แก่ประชาชนในวงกว้าง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ดูเหมือนว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์ หรือยังไม่ลึกซึ้งกว้างขวางมากเพียงพอ

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ วิเคราะห์สังเกตปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ที่อาจก่อปัญหาต่อสาธารณะและการควบคุมโรค พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข่าวปลอมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ได้แก่

  1. ความเป็นโรคอุบัติใหม่ อยู่ในพื้นที่ซึ่งมนุษยชาติยังขาดความรู้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่กล้าฟันธงตัดสิน เนื่องจากข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  2. ความรุนแรงของการระบาด กระตุ้นให้เกิดความหวาดระแวงจนต้องการแสวงหาคำตอบที่วางใจได้ 
  3. ความร้ายแรงถึงชีวิต ทำให้เกิดความหวาดกลัว และลดน้ำหนักในข้างการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้ปลอดภัยไว้ก่อน

“พบโรคจากไวรัสลึกลับ แพร่ง่ายเหมือนหวัด คร่าชีวิตแล้วนับสิบศพ” หรือพาดหัวข่าวในลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้ มีศักยภาพกระตุ้นความสงสัยได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยืนยันโดยสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นเหมือนการเปิดประตูให้ผู้คนกรูเข้าสู่การขุดคุ้ยหาข้อมูลอันมีค่าเพื่อรักษาชีวิตอย่างไม่ต้องใช้วิจารณญาณเพิ่มเติม เพราะทุกคนกระหายใครรู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรอดชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 จึงมีความใหม่ น่าสนใจ น่าตกใจ และทำให้ดึงดูดใจได้ไม่ยาก

แหล่งกำเนิดของข้อมูลที่อาจก่อปัญหาในสถานการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร จากกรณีโรคโควิด-19 มีอย่างน้อย 8 แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปได้ทั้งการสร้างข้อมูลเท็จโดยจงใจ และ การแพร่ข้อมูลเท็จโดยรู้ไม่เท่าทัน (ทั้งนี้ จัดเรียงตามภาพใหญ่ถึงภาพย่อย ไม่ได้มีการจัดเรียงลำดับตามระดับการก่อปัญหาแต่อย่างใด)[19]

  1. หน่วยงานทางการ เช่น การมิได้สื่อสารรายละเอียดอย่างครบถ้วนหรือทันเหตุการณ์
  2. บุคคลสำคัญ เช่น นักการเมือง ซึ่งอาจแสดงความคิดเห็นโดยไม่อิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
  3. ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ และ ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งให้ข้อมูลที่อาจแตกต่าง ขัดแย้งกัน
  4. สื่อมวลชน และ ผู้ทรงอิทธิพลบนออนไลน์ นำเสนอเนื้อหาที่อาจไม่ครบถ้วนและส่งผลกระทบ
  5. ผู้ขายสินค้า พยายามให้ข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อถือและสั่งซื้อสินค้าไปบริโภคหรือใช้งาน
  6. หลอกลวงข้ามชาติ ผู้แปลเนื้อหาจากต่างประเทศมาแพร่กระจายโดยไม่ตรวจสอบ
  7. ประชาชนทั่วไป ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิด และสร้างเนื้อหาเผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบก่อน
  8. ผู้กุข่าวลวง ผู้ที่ใช้โอกาสเรียกร้องความสนใจหรือชี้นำประชาชนด้วยข้อมูลที่กุขึ้น

นอกจากนั้น ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างส่งเข้าสู่ระบบนิเวศออนไลน์แล้ว ก็ยังมีโอกาสถูกผนวกรวมโยงใยเข้าด้วยกัน อย่างไม่เกี่ยวข้องกัน หรือ อาจวนซ้ำกลับมาแพร่ระบาดในอนาคตได้ไม่รู้จบ เช่น กรณีการแชร์ข้อความว่า “ทีวีประกาศระดับ 3 แล้ว… ด่วน ไวรัส H3N2 ถึงเชียงใหม่แล้ว ไวรัสตัวใหม่จากวูฮั่นประเทศจีนที่มีความรุนแรงทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น…” ซึ่งถูกแชร์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แล้วไปผนวกรวมกับการแจ้งเตือนเท็จอีกข้อความหนึ่ง “กระทรวงสาธารณะสุขแจ้งเตือนว่า ไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก…” แต่ยังคงพบการส่งต่อกันในเดือนพฤศจิกายน 2563

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ จัดกลุ่มข้อมูลข่าวสารที่มีการส่งต่อกันในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงเดือนแรก ๆ พบว่าแบ่งตามผลกระทบได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. ตื่นตระหนก ตกใจ ชะล่าใจ

เนื้อหาทั้งภาพ ข้อความ คลิป และคลิปเสียง ในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงหรือทำให้เข้าใจไปได้ว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานที่ใด คำเตือนให้งดไปในสถานที่เสี่ยง เชื้อไวรัสมาถึงจังหวัดแล้ว รวมทั้งการชี้นำแนวทางปฏิบัติในลักษณะ “ตุนด่วน จ่อปิดเมือง”

ปัญหาที่เกิดจากข้อมูลลักษณะนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เปิดรับข่าวสารตอบสนองอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในด้านการตอบสนองเกินจำเป็น และ การชะล่าใจมากเกินไป

ข้อมูลสื่อในกลุ่มนี้มักจะมีศักยภาพทำให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจได้ง่าย และมักจะไม่ระบุวันเวลาสถานที่ที่เจาะจง จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้ เช่น กรณีมีการแชร์คลิปเสียงข้อมูลเท็จเตือนว่าพบผู้ติดเชื้อในห้างสรรพสินค้าย่านพระราม 9 ซึ่งแพร่กระจายครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม แต่ยังคงอยู่ในระบบนิเวศที่ส่งต่อกันจนถึงเดือนตุลาคม

ความไม่เข้าใจในกลไกของโรค และอาจผนวกกับจินตนาการซึ่งเทียบจากภาพยนตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและสำคัญผิด เช่น การเตือนว่าพบผู้ป่วยในบางจังหวัด แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีการพบผู้ป่วยในพื้นที่ดังกล่าว แต่เชื้อไวรัสนั้นจะติดตามและแพร่ระบาดผ่านตัวบุคคลเป็นหลัก การกังวลหวาดกลัวในบางสถานที่ จึงอาจไม่ส่งผลต่อการป้องกันโรค กระทบผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และยังทำให้ผู้คนชะล่าใจว่า สถานที่อื่นจะไม่มีความเสี่ยง หรือเสี่ยงน้อยกว่า

ข้อมูลเท็จในกลุ่มนี้มักจะเป็นข้อมูลชุดแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์คับขันและเป็นสัญญาณของคลื่นข้อมูลเท็จอีกหลากหลายที่จะตามมา ซึ่งสังเกตได้จากภาพผู้คนที่ล้มลง ภาพศพ หรือการปฏิบัติการของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มักแพร่กระจายทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

นอกจากนั้น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ทยอยค้นพบและเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจมีศักยภาพในการก่อความเข้าใจผิดได้ เมื่อผู้สื่อสารต่อไม่ได้สื่อสารบริบท หรือกลั่นกรองเนื้อหาอย่างครบถ้วนรอบคอบ เช่น “โควิดกลายพันธุ์แล้ว”] “โควิดแพร่เชื้อตอนออกกำลังกาย”

  1. สำคัญผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด

เรื่องราวทางการแพทย์และที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ถูกผลิตและส่งต่อออกมาอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ตัวบุคคลในการป้องกันตัว รักษาตัว และเพิ่มความตระหนักหรือตระหนก กระตุ้นให้หวาดกลัว เพื่อจะคลิกเข้าไปอ่าน กดเข้าไปดู ปฏิบัติตาม หรือ ซื้อผลิตภัณฑ์

ในภาวะที่ประชาชนกระหายหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการดูแลรักษาและป้องกันตนเอง มีโอกาสอย่างมากที่จะลดน้ำหนักการชั่งใจหรือตรวจสอบลง คำแนะนำทางสุขภาพหลายประการ ซึ่งมีโครงสร้างไม่ต่างจากข้อมูลเท็จด้านสุขภาพอื่น ๆ จึงเกิดขึ้นใหม่อย่างมาก และมีศักยภาพในการหลอกลวงให้หลงเชื่อได้

มีตั้งแต่ลักษณะการเกิดโรค การทำลายของไวรัส พาหะนำโรค การแพร่เชื้อ การปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค วินิจฉัย รักษาโรค รวมไปถึงอาหาร ยา สารเคมี สมุนไพร อุปกรณ์ หรือกิจกรรม ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพ

“น้ำอุ่น น้ำชา กระเทียม เครื่องเทศ สมุนไพร ยาบางชนิด รักษาโควิดได้”

“อุปกรณ์ห้อยคอไล่ไวรัส น้ำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ป้องกันโควิดได้”

ข้อมูลลักษณะนี้ถูกส่งต่อกันจนชินตา ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มียาใดรักษาโควิดได้โดยตรง และการป้องกันโควิดที่ได้ผลที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานที่หน่วยงานทางการประกาศรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลที่แชร์กันในแต่ละประเทศ จะมีความผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่นที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ CoronaVirusFacts Alliance ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรนักตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศต่าง ๆ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยการจัดการดูแลของ International Fact Checking Network เช่น “ปัสสาวะวัวรักษาโควิด” ซึ่งแชร์กันในแถบประเทศอเมริกาใต้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพบางประการก็อาจอยู่ในช่วงเวลาถกเถียงและมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เช่น แนวปฏิบัติ “การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยเท่านั้น” ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นมาตรฐาน คำแนะนำที่ให้ทุกคนใส่หน้ากากตลอดเวลาเมื่อพบกับผู้คน จึงถูกตั้งคำถามอย่างมาก แต่ต่อมา เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติม องค์การอนามัยโลกก็ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำในภายหลังให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเช่นกัน หรือ กรณีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่แพทย์ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และไม่ควรฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายอย่างเด็ดขาด

  1. สับสน ตึงเครียด ขัดแย้ง

วิธีบริหารจัดการและการเผยแพร่ข่าวสารที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบย้อนกลับมาที่การบริหารจัดการสถานการณ์ของหน่วยงานทางการ รวมทั้งกระแสข้อมูลข่าวสารท่วมท้นที่มาจากทุกทิศทาง ร่วมทำให้การดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

“กูติดยังวะ ?”  เป็นหนึ่งในกระแสที่สะท้อนความรู้สึกของผู้คนในช่วงเวลาที่สงสัยใคร่รู้ว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ เพราะองค์ประกอบไม่เข้า “เกณฑ์สอบสวนโรค” หรือ PUI (Patient Under Investigation) เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขจำเป็นต้องจัดลำดับให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าได้ตรวจหาเชื้อก่อน เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ทรัพยากรในการตรวจหาเชื้อขาดแคลน ในช่วงต้นของการระบาดใหม่ที่การตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการมีข้อจำกัดและใช้เวลานาน ก่อนที่ต่อมาจะมีการขยายกลุ่ม PUI ให้ครอบคลุมทุกบุคคลที่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อ

การปิดเมือง ปิดประเทศ หรือมาตรการขั้นเด็ดขาดต่าง ๆ ที่ถูกนำมาบังคับใช้ในวงกว้าง มักจะถูกตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมอยู่เสมอ เนื่องจากในสังคมมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายระดับจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่ประกอบธุรกิจซึ่งอิงรายได้จากนักท่องเที่ยวอาจจะไม่พร้อมให้มีการระงับยุติกิจกรรมท่องเที่ยว แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพประจำที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือปรับตัวได้ทัน ก็อาจจะสนับสนุนให้ความสำคัญด้านการควบคุมโรคมาก่อน นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ ยังเพิ่มปัจจัยการประเมินพิจารณามาตรการภายในประเทศ โดยเปรียบเทียบจากมาตรการของประเทศต่าง ๆ ด้วย

การบริหารจัดการควบคุมโรคในระดับประเทศ ยังถูกเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง จนนำมาซึ่งแถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ย้ำเตือนไม่ให้การเมืองหรือผลประโยชน์มานำหน้าสวัสดิภาพของประชาชนในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับมาตรการการควบคุมโรคของทางการนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยสากล และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าผลของการควบคุมโรคจะเป็นอย่างไร เช่น กรณีข้อมูลข่าวสารการประท้วงต่อต้านมาตรการในประเทศจีน การชุมนุมต่อต้านมาตรการในสหรัฐอเมริกา  หรือแม้แต่ในการแสดงความคิดเห็นบนเพจ Facebook ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็พบการแสดงความเห็นต่างขั้วอยู่เสมอ

ด้านการปรับตัวเผชิญสถานการณ์ : สอบผ่าน

แม้ ด้านการเตรียมความพร้อม ด้านการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า และ ทักษะวิชาการรับมือกับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ พลเมืองดิจิทัล อาจจะทำคะแนนได้ไม่ค่อยดีอย่างที่ทุกคนมุ่งหวัง แต่เมื่อ “ทุกคน” ต้องอยู่กับสถานการณ์ที่ “QUIT” ไม่ได้ “ชีวิตจึงต้องดำเนินต่อไป” อย่างที่หลายคนมักจะพูดกัน และกลายเป็นกุญแจของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเวลาถัดมา

หลายหลายความคิด บทความ และเรื่องราว ถูกหยิบยกขึ้นมาให้มองหาและมองเห็นแง่ดีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งให้กำลังใจกันและกันในการต่อสู้กับภัยคุกคามร่วมของมวลมนุษย์ และการขยับปรับตัวทางความคิดเหล่านี้ ถูกสะท้อนขยายออกมาอย่างกว้างขวางกลางใจพื้นที่ของพลเมืองดิจิทัลด้วยเช่นกัน

“ตู้ปันสุข” อันเกิดจากประชาสังคม ต่อเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐที่ให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเข้าอกเข้าใจกันที่สูงยิ่งของสังคม แม้การตั้งข้อวิพากษ์สงสัยและต่อต้านจะเกิดขึ้นบ้างตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจขัดขวางการมีอยู่ของความรู้สึกปรารถนาดีต่อกันของพลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “นักใช้เทคโนโลยี” และ “นักสร้างสรรค์” ได้ร่วมกันสร้าง “ความรู้สึกเชิงบวก” ในท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย

ขณะที่พลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “นักพัฒนา” ซึ่งเน้นไปที่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ วิศวกรคอมพิวเตอร์ ปรับแผนงานหันสรรพกำลังความร่วมมือมาใช้ความรู้ความสามารถและวิทยาการดิจิทัลขั้นสูง เพื่อประสานสร้างเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จะเสริมพลังให้แก่พลเมืองดิจิทัลและประชาชนโดยภาพรวม เช่น เว็บไซต์เกาะติดสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด ว็บไซต์ประเมินความเสี่ยงโควิด  แอปพลิเคชัน “หมอชนะ”

พลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “สื่อ” และผู้ที่ตระหนักในอิทธิพลทางความคิดของตนเองจำนวนมาก เข้าใจและปรับบทบาทให้ตนเองส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์และกลั่นกรองแล้วให้แก่ผู้ติดตามของตนเอง ทั้งในด้านการดูแลปฏิบัติตนเพื่อห่างไกลจากโรค และการพามองไปข้างหน้าให้ฉวยใช้เวลาและโอกาสวิกฤตเพื่อพัฒนาเตรียมตนเองให้พร้อมสู่โลกใหม่

สื่อมวลชน และ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เข้าใจและตัดสินใจสวมบทบาททำหน้าที่ FACT CHECKER ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยให้กับประชาชน ซึ่ง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยปรับเนื้อหาให้เน้นการนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 โดยตรง หรือ โครงการ COFACT ที่เป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเพื่อต่อสู้รับมือกับข่าวปลอม ก็ได้สร้างประโยชน์เป็นอันมากผ่านการให้คำตอบที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว แก่ผู้ที่สงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านทางเทคโนโลยีแชตบอต

รวมทั้ง CorinaVirusFacts Alliance ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ ก็เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมมือลักษณะเดียวกันในระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จที่เป็นปัญหาใหญ่บนโลกออนไลน์ หรือการเกิดขึ้นของโครงการ Share Verified โดยองค์การสหประชาชาติ เป็นสิ่งสะท้อนผลกระทบของข่าวปลอมข้อมูลเท็จและจุดอ่อนของประชาคมโลกได้อีกทางหนึ่ง

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางพลเมืองดิจิทัลของไทย สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน และสอดรับกับแนวคิดที่บิลเกตส์เคยนำเสนอไว้ว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่มนุษย์ใช้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่แห่งศตวรรษ นอกเหนือไปจากวัคซีน วิธีการรักษา ยา หรือนโยบาย

หน่วยงานด้านแหล่งวิชาการซึ่งเป็นฐานสำคัญขององค์ความรู้ ตระหนักในคุณค่าและความจำเป็นของบทบาทตนเอง หลายแห่งจึงตัดสินใจ “ทลายรั้วค่าธรรมเนียม” ยกเลิก Pay-Wall เพื่อให้บุคคลใดก็ได้ในโลก สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงเนื้อหางานศึกษาวิจัย หรือวารสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเนื้อหาดิจิทัลหลายแห่ง ก็ตัดสินใจยกเลิก Pay-Wall ของตนเองเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบาก สามารถเข้าถึงเนื้อหา เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ บริการ แอป เกม ฯลฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ถือเป็นการแสดงความเอื้อเฟื้ออารี มีส่วนช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ยอมลดราวาศอกในการแข่งขันเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ตู้ปันสุขแบบดิจิทัล ได้เช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลถูกนำมาปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โรคระบาด หลายเทคโนโลยีที่คาดว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับความนิยมแพร่หลาย ก็พลิกกลับมาเป็นเทคโนโลยีสำคัญ เช่น นโยบายการทำงานจากที่บ้าน Work-At-Home ส่งผลให้แพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ อย่าง ZOOM ประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืนจนต้องปรับแผนการปรับปรุงบริการและความปลอดภัยอย่างฉับพลัน และยังกระเพื่อมถึงผู้ให้บริการรายอื่นที่ต้องลุกขึ้นมาปรับแผนอย่างฉับพลัน เช่น Google เพิ่มบริการ Meet เข้าใน Gmail และเปิดให้ใช้ฟรี หรือ Microsoft Team และ Cisco WebEx เร่งพัฒนาเพิ่มความสามารถใหม่ในแอปจำนวนมาก รวมทั้งการเกิดกระแสการโจมตีทางไซเบอร์ใหม่ ๆ เช่น Zoom Bombing  หรือ การหลอกลวงให้คลิกและกรอกด้วยข่าวด่วนเกี่ยวกับโควิด

การตระหนักในคุณค่าความสำคัญแท้จริงของตน จนแสดงออกเป็นการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นมุมมองที่สำคัญในท่ามกลางวิกฤต สำหรับพลเมืองดิจิทัล ทั้งระดับบุคคลและระดับนิติบุคคล เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่เมื่อนักวิชาการและทางการเห็นว่า การควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีระบบ “การติดตามผู้สัมผัส” (Contact Tracing) ที่มีประสิทธิภาพด้วย นั่นคือ จะต้องสามารถติดตามย้อนกลับได้ว่า ผู้ที่เพิ่งตรวจพบว่าติดเชื้อนั้น ได้ไปสัมผัสกับบุคคลใดในสถานที่ใดมาบ้าง ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เพื่อจะได้ติดตามหาผู้ที่สัมผัสกับบุคคลเหล่านั้นในระดับถัดไป ซึ่งหลายประเทศได้ทดลองทำโครงการ แต่พบกับอุปสรรคท้าทายทางเทคโนโลยีหลายประการซึ่งทำให้การติดตามผู้สัมผัสเกิดขึ้นได้ยาก [51] จึงเป็นสาเหตุที่สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Apple ซึ่งเป็นคู่แข่งกันได้ประกาศความร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีแจ้งเตือนการสัมผัส หรือ Exposure Notification ซึ่งจะผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์พกพาที่มีผู้ใช้ส่วนใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบดังกล่าวจะมีการปกปิดข้อมูลผู้ใช้อย่างเคร่งครัด และเป็นระบบการยืนยันผู้ติดเชื้อโดยสมัครใจ จึงทำให้ยังมีข้อกังวลในหลายพื้นที่ว่าอาจจะใช้ควบคุมโรคได้ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ หรือแม้แต่ระบบแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ของประเทศไทย ก็ยังมิได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เช่นกัน

แม้ในด้านการปรับตัวอยู่กับสถานการณ์ พลเมืองดิจิทัลจะสอบผ่านอย่างน่าพอใจ แต่ในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ก็ยังมีข้อพึงตระหนักและพิจารณาปรับปรุงอยู่บ้าง เช่น การตีตราผู้ป่วย การโจมตีผู้เห็นต่าง (ดังที่เห็นได้ชัดจากการโต้เถียงในเพจ ศบค.ข้างต้น) การแสดงความคิดเห็นดูหมิ่นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการใช้ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง

ด้านการอยู่กับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ : สอบ (การ์ด) ตก

ในท่ามกลางสถานการณ์คับขัน ความเป็นพลเมืองในโลกจริง กับ ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ไม่อาจแยกจากกันได้ แต่หากยังผสานเป็นเนื้อเดียวกันมากยิ่งขึ้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มผ่านไประยะหนึ่ง วิถีชีวิตพลเมืองกลับสู่สภาวะเกือบปกติ (ใหม่) ประกอบกับผลจากการร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของคนไทยทุกภาคส่วน ได้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับคนไทย

“คนไทยการ์ดเริ่มตก” เป็นข้อสรุปของผลสำรวจในหลาย ๆ ครั้งของกรมอนามัย และการย่อหย่อนในการสวมหน้ากาก-อยู่ห่าง-ล้างมือ ก็ข้ามมาถึงสะพานเชื่อมสู่ชีวิตดิจิทัล การสแกน “ไทยชนะ” เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ก็ร้างลาลงไปตามกัน หากสมมติเหตุการณ์ว่า พบผู้ป่วยในชุมชน แล้วต้องตามย้อนกลับไป 14 วัน คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่งที่จะติดตามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ขณะที่ประเด็นสนทนาบนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องราวของโควิดเป็นหลักอีกต่อไป เหลือไว้เพียงการหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์เชิงนโยบายกันตามวาระเท่านั้น

ประเทศไทย ขึ้นอันดับประเทศที่ทั่วโลกจับตา เพราะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยโควิดนอกจีน แต่ผ่านมา 10 กว่าเดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และ ผู้เสียชีวิต อยู่ในอันดับต่ำกว่า 150 มีผู้ป่วยห่างจากประเทศอันดับต้น ๆ หลายร้อยเท่า วิถีชีวิตประจำวันใกล้เคียงปกติ การเดินทางไปเรียนหรือทำงานได้ ไม่ต้องหยิบแผนสอง แผนสาม สลับวันสับหว่างมาใช้

ตัดภาพไปในซีกโลกอื่นหรือใกล้ ๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน ผู้คนหลักพันล้าน นั่งทำงานอยู่บ้านอย่างไม่แน่ใจในกำหนดสิ้นสุด และการได้ออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์พบปะผู้คนคือความใฝ่ฝัน ยอดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมที่ต้องประชุมพบปะประจำปียกเลิกกันระนาว และไม่มีทีท่าจะกลับสู่สภาวะปกติอีกต่อไป แม้ความหวังในวัคซีนจะมีอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วย “UNDO” ทุกสิ่งให้ย้อนกลับไปได้

สองภาพที่แตกต่างอย่างชัดเจน ดูเหมือนจะดีสำหรับคนไทยที่ใช้ชีวิตกันตามปกติได้ แต่ในเวลาเดียวกันสภาวะเช่นนี้ทำให้เกิด “สภาพบังคับ” อย่างกว้างขวางในนานาประเทศ ที่บีบบังคับให้ “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” ถูกเคี่ยวเข็ญและยกระดับขึ้นไปอีกขั้น คล้ายกับการเข้าค่ายเก็บตัวและฝึกหนักกันเป็นปี ๆ ในขณะที่พลเมืองดิจิทัลในไทย มีชีวิตสะดวกสบายอยู่นอกค่ายนั้น และคงจะคาดการณ์ผลลัพธ์กันได้ไม่ยากว่า จะมีทักษะทางดิจิทัลของคนไทยบางอย่าง ถูกทิ้งห่างโดยประชาคมโลกในเร็ววันนี้

นอกไปจากนั้น ทักษะของพลเมืองดิจิทัลในประเทศไทย กำลังจะถูกท้าทายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเอง จากหลากหลายโครงการที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แอปพลิเคชันรับและจ่ายเงินผ่านมือถือด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือหลัก รวมถึงการลงทะเบียนรับสิทธิ์ การตรวจสอบเงินเข้าออก เป็นเหมือนมหกรรมการย้ายประชาชนจำนวนมากจากพลเมืองแอนะล็อกทางการเงิน มาสู่พลเมืองที่ใช้เงินดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข่าวคราวการหลอกลวงผ่านไซเบอร์ยังไม่มีทีท่าจะลดลง จึงน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นว่าพลเมืองดิจิทัลหน้าใหม่เหล่านี้จะดูแลประตูสมบัติของตนเองอย่างไร

เช่นเดียวกับ ทักษะในการเผชิญ “โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร” หรือ INFODEMIC ที่ประเทศไทยอาจจะได้มีโอกาสรับมือและฝึกฝนกันอยู่ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโรค แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไป อาจนับว่า “การ์ดตก” ย้อนกลับไปสู่สภาวะปกติเก่า โดยสังเกตจากการแพร่ระบาดของประเด็นทางการเมืองที่ยังคงเต็มไปด้วยข่าวปลอมข้อมูลเท็จ และอาจจะร้ายแรงยิ่งขึ้น หากข้อมูลเท็จเหล่านั้นเป็นการจงใจส่งต่อโดยไม่อยู่บนฐานข้อเท็จจริง แต่อยู่บนฐานความพึงพอใจ ร่วมด้วยถ้อยคำเกลียดชัง แบ่งแย่งผู้แตกต่าง และข้อความหยาบคายเป็นเรื่องปกติของการแสดงอารมณ์ในที่สาธารณะ 

จดหมายข่าว INFODEMIC MANAGEMENT NEWS FLASH ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2020 เผยแพร่ภาพการ์ตูนของ Arghxsel Cartoons ในคอลัมน์ Feature Artwork เป็นภาพการ์ตูนหมาป่าที่อยู่ท่ามกลางฝูงแกะ 7 ตัว ซึ่งไม่มีอาการตกใจ บางตัวยังกินหญ้าอย่างอารมณ์ดี

หมาป่าพูดว่า “พวกเจ้ารู้ใช่ไหมว่า ข้าคือหมาป่า ทำไมเจ้าไม่หนีไปล่ะ ?”

เหล่าแกะตอบด้วยท่าทีเรียบเฉย

“พวกเราพึ่งพาภูมิคุ้มกันหมู่”

“ร่างกายที่ฝึกมาอย่างดี จะรอดชีวิตจากคมเขี้ยวหมาป่า”

อีกตัวหนึ่งบอกว่า “มีแต่ตัวที่แก่และป่วยเท่านั้นแหละ ที่จะถูกหมาป่าจู่โจม”

และแกะอีกตัวหนึ่งบอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม…

“หมาป่ามีจริงซะที่ไหนล่ะ”

จดหมายข่าวอธิบายถึงภาพนี้ด้วยการเปรียบเทียบกับ “risk perception” หรือ ความสามารถในการรับรู้ถึงความเสี่ยงหรืออันตราย ต่อตนเองหรือคนรอบข้าง

“สำหรับโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีความแตกต่างไม่ลงรอยกันของ “การรับรู้ความเสี่ยง” ในมุมมองของทั้งนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และสาธารณชน ดังนั้น การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่าง ความหวัง และ ความกังวล คือ เป้าหมายสำคัญของเหล่านักจัดการ infodemic” บทความระบุ

ภาพเปรียบเทียบดังกล่าว ยังสะท้อนด้วยว่า ในสภาวะที่ถูกจู่โจมด้วยโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร หรือ infodemic นั้น ประชาคมโลกจำนวนมากยังตกอยู่ในการเชื่อถือเฉพาะข้อมูลที่ขาดความสมดุล ไปจนถึงข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง

ขณะที่สถานการณ์ที่คนไทยเผชิญในช่วงปลายปี 2020 ที่มีความแตกต่างไปจากอีกหลายประเทศในโลก ทำให้การยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในแบบ infodemic management ก็อาจจะไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจจัยกระตุ้นของโรคระบาดไม่ใช่ประเด็นที่มีน้ำหนักสำหรับคนไทย

การขาดโอกาสในการจัดการข้อมูลข่าวสารที่แพร่ระบาด รวมทั้งการขาดโอกาสเผชิญวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น อาจส่งผลในระยะยาวเมื่อต้องเข้าสู่เวทีโลกของพลเมืองดิจิทัลชาวไทย และในขณะเดียวกันกระแสข่าวปลอมข้อมูลเท็จทางการเมืองที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบอย่างหนัก อาจเป็นบทสรุปได้ว่า แม้ประเทศไทยมิได้มีสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรง แต่พลเมืองดิจิทัลไทยที่แม้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสารมาแล้ว ก็ยังคงตกเป็นเหยื่อกระแสข่าวปลอมข้อมูลเท็จในด้านอื่น ๆ และต้องการ infodemic management เช่นเดียวกัน

บทสรุป : “สอบตก” คือ กระจกเงา

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า พลเมืองดิจิทัล “สอบไม่ผ่าน” ในข้อสอบใหญ่ที่มากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในด้าน

การเตรียมความพร้อม การเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า และการอยู่กับสถานการณ์อย่างเกิดประโยชน์เชิงบวก

โดยเฉพาะทักษะการรับมือและต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ ที่โหมกระหน่ำพร้อมกันทั่วโลก เป็นสภาวการณ์ที่เกินกว่าการรับมือปกติจะทำได้ แม้ “สอบไม่ผ่าน” เพราะมีข้อมูลข่าวสารเท็จมากระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์ และสร้างความสับสน ตื่นตระหนก และขัดแย้ง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ได้เห็นการ “ตั้งตัว” และ “ปรับตัว” ลุกขึ้นมารวมพลังต่อสู้ของประชาคมโลก

ในขณะเดียวกัน พลเมืองดิจิทัล “สอบผ่าน” อย่างสง่างาม ในการปรับตัวเมื่อจำเป็นต้องเข้าสู่การร่วมใจรับสถานการณ์ ทั้งการเสริมพลังเชิงบวกทางจิตใจ ไปจนถึงการลดราการแข่งขัน แล้วเททักษะฝีมือเฉพาะทางต่าง ๆ เพื่อร่วมกันบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์โหดร้าย

แต่ข้อพึงตระหนักสำคัญ คือ ถ้อยคำเกลียดชัง การตีตรา ความหยาบคาย และการจงใจเผยแพร่ข่าวปลอม ยังคงเป็นเหยื่อล่ออย่างดีให้ผู้คนติดกับดักของโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะในหัวข้อหรือประเด็นใด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย อาจขาดโอกาสที่จะได้เข้าร่วมเผชิญหน้าในสถานการณ์ที่คับขันของข้อมูลข่าวสารที่แพร่ระบาดไปควบคู่กับโรคอย่างรุนแรง แต่การเรียนรู้และต่อยอดจากองค์ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ อย่างเช่น ศาสตร์การบริหารจัดการ infodemic ถือเป็นแนวทางที่ขาดไม่ได้ ควบคู่ไปกับการไล่ติดตามกระแสพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่ระดับโลกสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาหนักแห่งศตวรรษครั้งนี้

สุดท้ายนี้ ย้อนทวนกลับมาดูนิยามและทักษะของ พลเมืองดิจิทัล กันอีกครั้ง

“ผู้ที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถใช้เพื่อมีส่วนร่วมในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัย… มีชุดทักษะความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ รู้จักป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่าง ๆ ในโลกออนไลน์… ควรบ่มเพาะทักษะที่จำเป็น 8 ประการ ได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

ผู้เขียนพบว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ และจำเป็นต้องติดอาวุธหรือเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่พลเมืองดิจิทัล เห็นควรให้มีการย้ำเตือนเหล่าพลเมืองดิจิทัล ให้ตระหนักถึงรอยต่อที่เริ่มเลือนหายไปของโลกดิจิทัลกับโลกกายภาพ (เช่น ถูกแฮกบนโลกออนไลน์ แต่เงินหายในชีวิตจริง) และความแตกต่างของสิ่งที่อยู่ในโลกดิจิทัลกับโลกความเป็นจริงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (เช่น ชีวิตจริง ไม่มี UNDO ไม่มี Restart) 

อาจจะจัดได้ว่าเป็น “ทักษะพลเมืองดิจิทัล ลำดับที่ 9 ทักษะในการแยกแยะและเชื่อมโยง โลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริง” เป็นเหมือนทุ่นเตือนสึนามิที่ติดตั้งเพื่อย้ำเตือนให้ตระหนักของสองโลกที่กำลังจะผสานกันอย่างสมบูรณ์

เพราะหากพลเมืองดิจิทัลยังใช้ชีวิตออนไลน์อย่างแยกขาด มั่นใจในการนิรนาม เพลินอยู่ในห้องแห่งเสียงก้องของกลุ่มพวกแล้ว ไม่ว่าปรากฏการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสารครั้งใหม่จะถาโถมเข้าถล่มใส่อีกกี่ครั้ง ก็จะยังไม่เกิดการเรียนรู้ และอาจจะสอบไม่ผ่านอยู่ร่ำไป

———

“…we have invested a huge amount in nuclear deterrence, but we’ve actually invested very little in a system to stop an epidemic. ”

ในสุนทรพจน์เดียวกันเมื่อปี 2015 บิลเกตส์ ยังกระตุ้นให้นานาชาติลุกขึ้นมายกเครื่องเตรียมพร้อม หลังจากที่ต่างลงทุนมากมายไปกับการครอบครองนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามกัน ทั้งนี้ ให้ถือว่าโรคระบาด Ebola ซึ่งขณะนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 10,000 คน เป็นสัญญาณปลุกให้มนุษย์ตื่นขึ้นเห็นภัยคุกคามสักที

“If we start now, we can be ready for the next epidemic.”

อาจไม่ใช่แค่รู้สึกว่า “สายเกินไป” แต่ยังน่าเสียดายที่ พร้อม ๆ กับความแพ้พ่ายต่อ “epidemic” แล้ว มนุษย์ยังใช้โลกดิจิทัลที่ก้าวล้ำ ให้กำเนิด infodemic ขึ้นมาอีกด้วย

Footnote (อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สมบูรณ์)

#คิดแต่ไม่ถึง: โควิด 19 และความเหลื่อมล้ำดิจิตอล

สุนิตย์  เชรษฐา

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1rVfIPp09IHGkk2fZhvQ7yHVy6fNzuCvF/view?usp=drivesdk

“คิดอยู่ทุกวัน คิดอยู่ทุกคืน

คิดว่าสักวัน ตัวฉันคงถูกลืม

น้อยลงทุกวัน ที่เราคุยกัน

เพราะว่าอะไร เธอถึงได้เปลี่ยนไป”

เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง โดยศิลปิน Tilly Birds

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผู้คนมากมายในสังคมประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตแทบทุกด้าน แต่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเองก็คิดถึงผู้คนเหล่านี้ ต่างต้องการส่งความคิดถึงที่จะดูแลผู้คนในสังคมผ่านทั้งมาตรการต่างๆ ความช่วยเหลือกันและกันอย่างมากมาย แต่หลายครั้งความคิดและความพยายามเหล่านี้ก็ส่งไปไม่ถึง เพราะผู้คนจำนวนหนึ่งติดอยู่ในช่องว่างทางดิจิตอล เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่มีทักษะดิจิตอล ขาดความมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอลในการร่วมแก้ไขวิกฤต สุดท้ายหากไม่มีใครมองความเหลื่อมล้ำดิจิตอลเหล่านี้ ความคิดที่ส่งไปไม่ถึง ก็จะกลายเป็นความชินชา จนผู้คนบางกลุ่มในสังคมจะถูกลืมไปเหมือนไร้ตัวตน จนกลายเป็นเหมือนเงาของโลกดิจิตอลที่ไม่มีใครใส่ใจ  และเงาที่ถูกทิ้งก็มักจะเป็นจุดเริ่มไปสู่วิกฤตใหม่ได้เสมอ

ความเหลื่อมล้ำดิจิตอล 4 มิติ ในโลกของโควิด-19

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี 

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลของสังคมยังมีอยู่ไม่น้อย และมีหลากหลายมิติ ความเหลื่อมล้ำในมิติพื้นฐานที่สุดคือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากสำนักงาน กสทช. สรุปว่าในปี 2562 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 50.1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในสิ้นปีเดียวกันคือ  66.5 ล้านคน  โดยทาง กทสช. รายงานว่าตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโครงการเน็ตประชารัฐที่กล่าวว่าครอบคลุมผู้ใช้ราว 20 ล้านคน  

อย่างไรก็ตามในเอกสารรายงานโครงการเน็ตประชารัฐในปีเดียวกันกล่าวว่ามีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนใช้งานราว 6 ล้านคนในราวสองหมื่นศูนย์ทั่วประเทศ  นอกจากนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจการใช้และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตจากปี 2552-2561 พบว่าในปี 2561 มีผู้ตอบว่าไม่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของประชากรที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป  ในขณะที่ช่วงปีเดียวกันมีสัดส่วนผู้ตอบว่าใช้โทรศัพท์มือถือเป็นราวร้อยละ 80 ของประชากร  

อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำดิจิตอลในไทยคือดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, UNICEF และ Oxford Poverty and Human Development Initiative - OPHI) ซึ่งเป็นการนำเสนอสถานการณ์ความยากจนให้ครอบคลุมทุกมิติสำคัญ ไม่ใช่แค่ในทางรายได้เท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆเช่่น ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตในแบบที่ดีกับสุขภาพ และความมั่นคงทางการเงินเป็นต้น  โดยในปี 2560 พบว่ามีประชากรที่ยากจนหลายมิติจำนวน 11.9 ล้านคน และหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมิติความเป็นอยู่ (living conditions) คือเกณฑ์ความขัดสนของครัวเรือนที่สมาชิกไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้เลย  ซึ่งคำนวนว่าส่งผลต่อความยากจนหลายมิติถึง 13.9% ซึ่งเป็นรองเพียงปัจจัยการไม่มีบำเหน็จ/บำนาญที่ 14.7%  การเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตในฐานะปัจจัยนำไปสู่ความยากจนขัดสน จึงสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชนไม่น้อยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและโอกาสที่จะพัฒนาในด้านต่างๆที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน  

จากข้อมูลลักษณะนี้จึงอาจพอสรุปเบื้องต้นได้ว่าประเทศไทยยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอยู่หลายล้านคน และอาจมีการใช้ที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่เป็นกิจลักษณะอีกนับสิบล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในมิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอล 

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็น

การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิตอล โดยเฉพาะในส่วนของการต่อเชื่อมกับระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงความไม่สะดวกและการไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายค่าบริการ ส่งผลโดยตรงต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นต่างๆ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ข้อมูลด้านการระบาดและสุขภาพ 

เมื่อภาครัฐบูรณาการส่วนงานต่างๆเข้าเป็นศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และเริ่มเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นระบบขึ้นผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และเฟซบุ๊กเพจของ ศบค. ในแต่ละวัน  ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลการระบาดของโรค และข้อแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพ การป้องกันตัวเอง ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับความรับรู้ของประชาชนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือสื่อสารดิจิตอลที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะสามารถเข้าถึงผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ และประกาศต่างๆในพื้นที่สื่อสารของท้องถิ่น ในมุมของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลนั้น ข้อมูลที่ประชนกลุ่มนี้เข้าถึงนั้นเมื่อเทียบกับข้อมูลจากช่องทางอินเตอร์เน็ตก็ยังมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อพฤติกรรมที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะมักจะเข้าไม่ถึงข้อมูลในรายละเอียดที่ไม่ได้สื่อสารช่องทางผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ (ในช่วงระบาด การส่งหนังสือพิมพ์ในบางพื้นที่ก็มีความท้าทายมาก) เพราะอาจมีรายละเอียดมากเกินไปเกินความเหมาะสมกับช่องทางการสื่อสารแบบอนาล็อก  หรือหากมีรายละเอียดก็อาจจะจำไม่ได้ หรือข้อมูลจำเพาะสำหรับท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงที่นอกเหนือไปจากช่องทางท้องถิ่นปกติ เช่น วิทยุชุมชน หรือเสียงตามสาย หากเป็นชุดข้อมูลที่กระจายมาจากส่วนกลางที่สุดท้ายมักจะไปอยู่ในเว็บไซต์ของสื่อท้องถิ่น เฟซบุ๊กเพจท้องถิ่น หรือเว็บส่วนราชการในพื้นที่ ก็ย่อมจะไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย 


ในช่วงการระบาดในระยะแรกๆนั้นความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน การดูแล และอาการของโรคโควิด-19 นั้นแทบจะเปลี่ยนแปลงทุกวัน มีรายละเอียดใหม่ๆตลอดเวลา  เช่น กรณีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกก็เปลี่ยนจากแนะนำว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยมาเป็นต้องใส่  หรืออาการร่วมของโรคที่มีรายละเอียดหรือที่มักพบบ่อยซึ่งถอดมาจากองค์ความรู้เชิงสถิติล่าสุดจากการสำรวจขององค์กรอนามัยโรคและรัฐบาลจีนในขณะนั้นก็มีรายละเอียดที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง  หรือแม้แต่ข้อมูลการพบเชื้อในสารคัดหลั่งหรือของเสียในรูปแบบต่างๆของร่างกายก็เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง จากที่ไม่พบในบางจุดเช่นของเหลวจากอวัยวะเพศ แต่สุดท้ายก็พบในแทบทุกจุด  นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามงานวิจัยที่เกิดขึ้นเช่นการแพร่กระจายเชื้อในอากาศอยู่ในลักษณะใด มีระยะได้เท่าไร เปลี่ยนจากรูปแบบหยดน้ำมาเป็นละอองน้ำพ่นต่างๆได้ในเงื่อนไขใดบ้าง ต้องใช้หน้ากากชนิดใดถึงจะมีประสิทธิภาพ ถ้าใช้หน้ากากผ้าจะต้องใช้ชนิดใด 

การเข้าถึงข้อมูลเช่นการระบาดในพื้นที่ตนเอง และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันดูแลและการปฏิบัติตนเหล่านี้มีความจำเป็นต้องเข้าถึงอย่างทันท่วงที และกลับมาดูรายละเอียด ติดตามความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้ ซึ่งแม้เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนักหากติดตามเฟซบุ๊กเพจ หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่สามารถเข้าถึงสื่อจากอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายแล้ว ย่อมทำให้การเข้าถึงนั้นอาจจะไม่ทันท่วงที อีกทั้งยังช้าและด้อยประสิทธิภาพเป็นอย่างมากหากต้องติดตามจากช่องทางสื่ออื่นที่ไม่ผ่านอินเทอร์เน็ต  อีกทั้งยังยังสุ่มเสี่ยงต้องการรับฟังข้อมูลผิดๆปากต่อปาก หรือข่าวลวงที่กระจายผ่านช่องทางดั้งเดิมในพื้นที่ และไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้โดยง่าย  จึงอาจกล่าวได้ว่าการที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสะดวกและได้คุณภาพนั้นมีผลต่อความเสี่ยงของพฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่แม้แต่หน่วยงานสาธารณะสุขในพื้นที่ก็ยังขาดข้อมูลความรู้เป็นต้น 

การเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตในช่วงภาวะระบาดของคนหลายล้านคนจึงเรียกได้ว่าอาจทำให้เสี่ยงชีวิตได้ทีเดียวเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต  แม้พวกเขาจะคิดแสวงหาข้อมูลความรู้แต่ก็เข้าไม่ถึง จึงเสี่ยงตายได้จากความเหลื่อมล้ำดิจิตอลที่นักนโยบาย กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ก็ล้วนไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทยในเร็ววันได้อย่างไร 

ช่วยเหลือเยียวยา  

นอกจากเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านสุขภาพแล้ว ประชากรกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสะดวกและมีคุณภาพย่อมจะมีแนวโน้มจะเข้าไม่ถึงข้อมูลรายละเอียดของมาตรการเยียวยาต่างๆ โดยเฉพาะการใช้สิทธิของตนตามมาตรการต่างๆที่ต้องไปลงทะเบียนรับสิทธิทางอินเตอร์เน็ต  ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของสภาพัฒน์ฯ​ในช่วงเดือนเมษายนเกี่ยวกับความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจฯ ที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย 8,929 คน จาก 77 จังหวัด พบว่า 88% ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ   และในการเปิดตัวมาตรการเช่น “เราไม่ทิ้งกัน” และอีกหลายมาตรการที่ต้องให้เข้าไปลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ตอกย้ำความเหลื่อมมล้ำดิจิตอลให้หนักหนาสาหัสขึ้น ซึ่งประชาชนที่ยากจนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยามากที่สุดกลับไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี   

นอกจากนั้นยังมักเชื่อมโยงระบบให้ต้องรับเงินเยียวยาผ่านระบบ promptpay และ mobile banking อีกด้วย ซึ่งแม้จะสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพกับประชาชนทั่วไป แต่กับกลุ่มผู้เปราะบาง คนยากจน ผู้สูงอายุนั้นย่อมทำให้มีความยากลำบากที่จะเข้าถึงการเยียวยาของรัฐได้หากไม่มีการออกแบบทางเลือกเสริมในช่องทางอื่นๆที่ไม่ต้องผูกโยงกับเทคโนโลยีดิจิตอล  ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดการที่ออกนโยบายที่โดยเงื่อนไขนั้นต้องบังคับให้ประชาชนไปธนาคารเพื่อจัดระบบ mobile banking ของตนหรือไปรับเงินนั้นก็สร้างความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มเติมอีก  นอกจากนี้ในกลุ่มที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลหรือต้องฝากให้เพื่อนบ้าน คนรู้จัก และญาติเป็นผู้ไปดำเนินการให้ตนเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาต่างๆ ยังเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ์ และการหลอกลวงนำข้อมูลส่วนตัวไปหาประโยชน์ (phishing) หรือได้รับสิทธิไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย 

แม้ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขไปบ้าง แต่ในการออกนโยบายเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เที่ยวด้วยกัน หรือ คนละครึ่ง ก็ยังออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบดิจิตอลโดยยังแทบไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประชาชนที่เข้าไม่ถึงหรือใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สะดวกหรือไม่มีรายได้เพียงพอในการจ่ายค่าบริการ จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง และก็ยังคิดไปไม่ถึงหรือไม่ได้ใส่ใจกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอยู่เช่นนัั้น 


นอกจากการเข้าถึงมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐแล้ว ผู้คนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือของภาคเอกชนและประชาชนกันเองอีกด้วย ในขณะที่มีสถานการณ์การปิดเมืองนั้น มีภาคเอกชนและประชาชนได้พัฒนาทั้งเฟซบุ๊กเพจ และแอปพลิเคชั่นต่างๆทั้งในระดับส่วนกลางและตามพื้นที่เมืองต่างๆ เพื่อใช้ในการกระจายข้าวของจำเป็น อาหารแห้ง จุดสนับสนุนอาหารเช่นลักษณะครัวกลาง หรือระดมทุนช่วยเหลือรายครัวเรือนโดยให้อธิบายสถานการณ์ความต้องการของตนบนเฟซบุ๊กกรุ๊ปแล้วจะมีผู้มีจิตเมตตาบริจาคสนับสนุนโดยตรง ซึ่งเมื่อเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ ไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิตอลเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือได้ ก็ย่อมจะทวีคูณความชัดสนทางโอกาสของประชาชนผู้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีขึ้นไปอีก 

จึงพอสรุปเบื้องต้นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นนั้น ทำให้ประชากรนับล้านสุ่มเสี่ยงที่จะอดอยากและลำบากขาดความช่วยเหลือเยียวยาในภาวะวิกฤตการณ์โรคระบาด 

ความเหลื่อมล้ำในทักษะดิจิตอล 

นอกจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและข้อมูลจำเป็นแล้ว อีกมิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอลก็คือความเหลื่อมล้ำในทักษะดิจิตอล ที่บางครั้งก็อาจถูกเรียกว่า digital literacy ซึ่ง กพร. ให้ความหมายว่าคือทักษะในการใช้, การเข้าใจ, การสร้าง และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอล 

ผศ. ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น ได้ทำการวิจัยในหัวข้อทักษะดิจิตอลแล้วพบว่าผู้ชายมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตทัล มีความรู้ และมีการตระหนักถึงความเสี่ยงในโลกดิจิตอลมากกว่าผู้หญิงอย่างมีนัยยะสำคัญ  และจากการสุ่มตัวอย่างทางสถิติพบว่าจัดกลุ่มประชากรได้ 3 ลักษณะคือมีทักษะดิจิตอลที่ดี (digital fluency) ร้อยละ 56 มีทักษะพอใช้ (digital neutral) ร้อยละ 55 และด้อยทักษะ (digital illiterate) ถึงร้อยละ 21 

ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะนี้มีผลอย่างไรต่อการเอาตัวรอดและการปรับตัวในช่วงวิกฤตโควิด นอกจากเรื่องการมีความสามารถที่จะค้นหาข้อมูลสถานการณ์ระบาด ความเสี่ยง การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆแล้ว  อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาในช่วงการระบาดของโควิดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทักษะดิจิตอลก็คือความสามารถที่จะทำความเข้าใจและรับมือกับข่าวลวงที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะในมิติเรื่องความรู้ ความเสี่ยง การป้องกัน หรือแม้แต่การรักษา ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นโรคระบาดเชิงข้อมูล (infodemics) สถานบัน ChangeFusion ร่วมกับโครงการ COFACT ได้ศึกษาเนื้อหาที่เป็นข่าวลวงเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างมากและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ พบประเด็นเช่น COVID-19 เป็นอาวุธชีวภาพ, ป้องกัน COVID-19 ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของลำคอ, กลั้นหายใจเพื่อตรวจสอบว่าติดโควิดหรือไม่, ใส่หน้ากากอนามัยทำให้เลือดเป็นกรด, รักษาโควิดด้วยการดื่มน้ำกระเทียมต้ม, ฉีดสเปร์ยเบตาดีนรักษาโควิดได้ ซึ่งข่าวลวงเหล่านี้มีประชาชนให้ความสนใจผ่าน platform social media ต่างๆอย่างมาก และบางเนื้อหาก็ได้รับการเผยแพร่โดยสื่อมวลชนหรือผู้มีผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมากอีกด้วย  ซึ่งล้วนเป็นข่าวลวงที่ส่งผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ที่เชื่อข่าวลวงเหล่านี้ หากไม่มีทักษะดิจิตอลที่จะทำความเข้าใจ ตั้งคำถาม สังเกตุที่มาของเว็บหรือเพจที่เผยแพร่ข้อมูล ตัดสินใจและหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าควรจะเชื่อถือหรือไม่ ย่อมจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจมีพฤติกรรมการรับสื่อคล้ายสื่อดั้งเดิม คือมีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวทีส่งต่อๆกันมา หรือมีหน้าเว็บ มีหน้าเพจที่คนติดตามเยอะๆ แล้วเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงแล้วเผยแพร่ต่อเป็นต้น 

อีกโอกาสสำคัญที่ความเหลื่อมล้ำในมิติทักษะดิจิตอลมีผลอย่างมาก ก็คือการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ ที่เรียนรู้ได้ผ่านแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านช่อง YouTube และเว็บเรียนออนไลน์ต่างๆ ในสถานการณ์ที่มีผู้ตกงานจำนวนมากนับล้านคน การปรับทักษะให้สามารถหางานอื่นๆทำได้ การทำอาชีพอิสระ หรือการประกอบการขนาดเล็ก จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ และเนื้อหาวิธีการบทเรียนต่างๆนั้นล้วนมีอยู่ไม่น้อยบนโลกออนไลน์และยังเป็นภาษาไทยอีกด้วย แต่ผู้ที่ขาดทักษะดิจิตอลย่อมจะศึกษาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนาโอกาสให้ตนเองได้ยากกว่ากลุ่มคนที่มีทักษะดิจิตอลดีอยู่แล้ว  

โอกาสพัฒนาทักษะอาชีพที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะในช่วงโควิดก็คือการขายของออนไลน์ ทั้งผ่านไลน์กลุ่มเพื่อน/พื้นที่ ผ่านเว็บขายของต่างๆ และโดยเฉพาะกลุ่ม Facebook ที่ไลฟ์ขายของได้ กลุ่มเฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องไปหารายได้เสริมด้วยวิธีการดังกล่าว การเรียนรู้ว่าควรจะใช้ช่องทางใดที่เหมาะกับสินค้าบริการและพื้นที่ของตน รวมทั้งเงื่อนไขข้อจำกัดและการจัดการระบบออนไลน์รวมถึงต้นทุนต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างมาก  ทักษะดิจิตอลในการซื้อขายออนไลน์ในมุมการป้องกันระวังการหลอกลวงทั้งผู้ซื้อและผู้ขายด้วยการสังเกตุข้อมูลต่างๆจึงยิ่งทวีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่บีบคั้นให้คนต้องไปขายของออนไลน์เป็นหลักทั้งในช่วงปิดเมือง และช่วงหลังจากนั้นที่แม้เกิดการเปิดเมืองแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็รุนแรงขึ้น 

อีกหนึ่งทักษะดิจิตอลที่สำคัญในเรื่องอาชีพก็คือการหางานออนไลน์ ซึ่งในตลาดแรงงานที่ค่าจ้างไม่สูงมากนัก และมีความเป็นท้องถิ่นสูง มักจะไม่ได้ใช้ช่องทางระบบค้นหางานออนไลน์ของเอกชนทั่วไป แต่มักไปใช้กลุ่มหางานในระดับท้องถิ่นบนเฟซบุ๊กเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องมีทักษะเบื้องต้นในการใช้ระบบเหล่านี้เข้าถึงงานที่เหมาะสมกับตัวเอง 

โอกาสทางดิจิตอลเหล่านี้เปิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงโควิดอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน แต่ความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงการเข้าถึงเทคโนโลยีและทักษะดิจิตอลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรนับล้านคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้พัฒนาทักษะทางดิจิตอลเหล่านี้ได้อย่างเป็นกิจลักษณะและมีประสิทธิภาพได้ 

ความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมืองดิจิตอล 

มิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอลมิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือในแง่มุมของพลเมืองดิจิตอล ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมดูแลสังคมผ่านเครื่องมือดิจิตอลต่างๆ ซึ่งเป็นมิติที่มีแง่มุมเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง ทัศนคติของภาครัฐ และความเชื่อถือไว้ใจกันและกันระหว่างประชาสังคมและภาครัฐในการร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งต่างๆไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิพลเมืองดิจิตอลอาจเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆย่อมจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

เรามักชื่นชมประเทศอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันที่สามารถใช้เทคโนโยลีดิจิตอลมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วมกับประชาชนและนักเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เราเห็นการเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ระบาดในลักษณะที่บอกจุดต่างๆที่มีผู้ติดเชื้ออยู่อาศัยหรือเคยทำกิจกรรมในพื้นที่สถานที่นั้นๆเกินระยะเวลาสำคัญหนึ่งๆ และรายงานว่ามีการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลการระบาดแบบละเอียดนี้ถูกเปิดเผยอย่างเป็นระบบในความลึกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และแม้แต่สิงคโปร์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ระบาดได้อย่างทันท่วงที ตัดสินใจหลีกเลี่ยงหรือเตรียมความพร้อมในการไปสถานที่ต่างๆที่มีข้อมูลการระบาดอย่างชัดเจน รัฐบาลเหล่านี้เลือกที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ โดยเชื่อว่าประชาชนและสื่อสารมวลชนจะไม่ตระหนกหากได้ข้อมูลแม่นยำ ทันท่วงที และต่อเนื่อง และลดข่าวลวงที่อาจเกิดขึ้นหากแค่บอกว่าพื้นที่ใดพบการติดเชื้อแบบกว้างๆดังเช่นรูปแบบการสื่อสารของรัฐบาลไทย ซึ่งหลายครั้งก็นำไปสู่ข่าวลือข่าวปลอมข่าวลวงจำนวนมาก เช่นกรณีทหารอียิปต์ติดเชื้อที่ระยอง เมื่อไม่ได้เปิดเผยข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับจุดที่ได้สืบสวนโรค จึงทำให้เกิดข่าวลือข่าวปลอมจำนวนมาก จนกระทบเศรษฐกิจของพื้นที่ตรงนั้นที่เพิ่งเข้าสู่การเปิดเมืองไม่นานและคาดหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยว  จนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ยังไม่การเปิดเผยข้อมูลการสืบสวนโรคเชิงสถานที่ในลักษณะเดียวกับประเทศดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด เพียงแต่แจ้งข้อมูลภาพรวมเชิงพื้นที่เป็นหลัก อาจด้วยความกังวลว่าจะเกิดความตระหนกในจุดสถานที่เหล่านั้น ซึ่งหากดูตัวอย่างประเทศทั้งสี่ ก็จะพบได้ว่าการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไว้ อาจเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพกว่า เพราะสื่อมวลชน นักเทคโนโลยี และเครือข่ายประชาชนอีกไม่น้อยที่สามารถพัฒนาเครื่องมือการสื่อสารจากชุดข้อมูลลักษณะนี้เป็นกราฟิคหรือเป็นระบบแผนที่ซึ่งดูได้บนมือถือ หรือส่งต่อข้อมูลผ่าน SMS สำหรับประชากรที่เข้าไม่ถึงหรือไม่สะดวกใช้อินเตอร์เน็ตมากนัก  เมื่อข้อมูลต้นทางมีลักษณะเป็นภาพกว้างขาดรายละเอียด การพัฒนาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ประชาชนแต่ละกลุ่มเข้าถึงได้โดยสะดวกและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนก็ทำได้อย่างยากลำบาก ในช่วงการระบาดโควิดช่วงแรกๆมีนักเทคโนโลยีหลายกลุ่มพัฒนาระบบแสดงผลพื้นที่เสี่ยง จุดต่างๆที่พบผู้ติดเชื้อออกมา และเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำต่อเนื่องได้เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นทางการได้ จึงจำเป็นต้องดึงข้อมูลมาจากสื่อมวลชนต่างๆที่พยายามไปทำข่าวเจาะเองในหลายพื้นที่ ซึ่งก็ยากลำบากต่อการรวบรวมข้อมูลและเสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายจึงไม่สามารถทำได้อย่างเกิดประสิทธิภาพอย่างในประเทศอื่นๆ เพราะรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือในช่วงที่หน้ากากอนามัยยังขาดตลาดอยู่มาก มีนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่พัฒนาเครื่องมือให้คนที่ขายหน้ากากอนามัยไปใส่ข้อมูลได้ว่าขายที่ไหน มีของเท่าไหร่ ของลักษณะใด เพื่อให้ประชาชนไปซื้อได้ถูกจุดมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดการข้อมูลให้มีความถูกต้องได้เพราะไม่รู้ว่าร้านใดขายจริงหรือปลอม ความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีปัญหาจนทำให้เครื่องมือไม่ได้รับการใช้งานแก้ปัญหาสภาวะวิกฤตอย่างที่ควรจะเป็นได้  ในขณะที่ในไต้หวันมีระบบคล้ายๆกันที่พัฒนาโดยภาคประชาชน แล้วหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยสนับสนุน เช่นการเชื่อมโยงกับข้อมูลร้านค้าของภาครัฐที่มีข้อมูลว่าขายหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ สนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการใช้งานจริงโดยมีภาครัฐเชื่อมโยงสนับสนุนต่อยอด ขณะที่รัฐไทยก็เกิดระบบคล้ายๆกับที่ภาคประชาชนทำ แต่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐเอง ซึ่งแม้เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังขาดการเชื่อมโยงกับเครื่องมือของประชาชนเดิมซึ่งอาจจะพัฒนาระบบได้รวดเร็วกว่าโดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสำคัญของรัฐเป็นต้น  

สถานการณ์ที่เกิดการพัฒนาระบบเครื่องมือดิจิตอลโดยประชาชนเพื่อร่วมแก้ปัญหา แต่รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลพื้นฐานสำคัญ หรือไปพัฒนาระบบกับหน่วยงานของตนเอง เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงวิกฤต และก็มักจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ หรือสูญเสียความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนและนักเทคโนโลยีที่อาสาเข้ามาร่วมพัฒนาไป  เช่น กรณีการบริจาคของให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่าง แต่กระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลางคล้ายมีนโยบายไม่ให้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ และยังมีกรณีที่หมอหรือพยาบาลที่ออกสื่อเรียกร้องของความช่วยเหลือต่างๆกลับถูกว่ากล่าวตักเตือน จึงทำให้เครื่องมือจากหลายกลุ่มไม่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบ ต้องแอบทำกับโรงพยาบาลที่ร่วมมือแบบไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหมด ทำให้การบริหารจัดการการบริจาคของต่างๆของประชาชนเป็นไปอย่างขาดโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อกระจายของได้อย่างเหมาะสมอย่างตรงไปตรงมา 

หรือการพัฒนาเครื่องมืออย่างไทยชนะซึ่งสำคัญและมีประโยชน์ เดิมมีเครือข่ายภาคประชาชนและเอกชนได้ร่วมพัฒนาระบบในลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ในที่สุดก็เกิดกรณีที่ใช้ทีมงานของธนาคารกรุงไทยมาทำแทน ซึ่งเป็นการสั่งการแบบบนลงล่างโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆกับสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนพัฒนาไว้เดิม ซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร เหมาะสมแค่ไหน ก็ทำให้เกิดความสงสัย ไม่ไว้ใจ ทำลายบรรยากาศของความร่วมมือระหว่างประชาชน เอกชน และรัฐที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน   

จึงจะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมืองดิจิตอลนั้นขึ้นกับทัศนคติและวิธีปฏิบัติของภาครัฐอย่างมาก ว่ามีการเปิดข้อมูล เปิดโอกาส สร้างความมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใสในสื่อสาร พัฒนาความเชื่อถือไว้ใจมากน้อยเพียงใด ประเทศไทยไม่ได้มีเครือข่ายประชาสังคมที่พัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลมาร่วมแก้ปัญหาโควิดน้อยกว่าประเทศอย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นยังขาดการร่วมมือ การเชื่อมโยง การสนับสนุนต่อยอดจากรัฐ ซึ่งหากยังมีทัศนคติแบบดั้งเดิมหรือสุดท้ายจะทำเองหมด ก็ย่อมไม่สามารถเกิดนวัตกรรมดิจิตอลในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมได้  

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดิจิตอลที่พยายามสร้างความมีส่วนร่วมทางดิจิตอลของพลเมืองดิจิตอลที่ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐก็มีพอสมควร โดยเฉพาะจากองค์กรสนับสนุนที่มีทัศนคติในเชิงเปิดความร่วมมืออยู่แล้ว เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีบทบาททางนโยบาย

คิดแล้วให้ถึง: 4 แนวทางลดความเหลื่อมล้ำดิจิตอล

บทความนี้มุ่งเน้นให้เห็นความเหลื่อมล้ำดิจิตอลใน 4 มิติ คือมิติการเข้าถึงเทคโนโลยี มิติการเข้าถึงข้อมูลจำเป็น มิติทักษะดิจิตอล และมิติการมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอล อาจยังไม่ได้เจาะลึกถึงทางออกมากนัก แต่มีข้อเสนอเบื้องต้นในแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำดิจิตอลทั้งสี่ด้าน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การตั้งคำถาม การศึกษาวิจัยต่อไปได้ดังนี้ 

1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบถ้วนหน้าหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมการพัฒนาทักษะดิจิตอลอย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันยังไม่มีแผนงานใดๆที่กำหนดให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตซึ่งมีความสำคัญจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเข้าถึงมาตรการต่างๆของรัฐ ให้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสาธารณูประโภคพื้นฐานชนิดหนึ่งที่ต้องเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกคนในเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะผ่านการผสมผสานของกลไกราคาที่ต้องมีทางเลือกที่ราคาต่ำเพียงพอต่อกำลังซื้อของคนจน หรือการขยายอินเทอร์เน็ตฟรีให้ครอบคลุมกลุ่มที่เข้าไม่ถึงปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ให้ได้ อาจศีกษาข้อดีข้อเสียของโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐว่าขยายผลโดยแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร สามารถเชื่อมโยงกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างไร จำเป็นต้องเป็นระบบ wifi ประชารัฐอย่างเดียวหรือไม่ จะสร้างการเข้าถึงถ้วนหน้าโดยไม่กระทบกับตลาดผู้ให้บริการที่มีอยู่เดิมจนมากเกินไปอย่างไร  นอกจากการเข้าถึงพื้นฐานแล้ว การเข้าถึงอย่างมีคุณภาพ และการเร่งพัฒนาทักษะดิจิตอลจะสามารถดำเนินการให้ไปถึงกลุ่มที่ขาดทักษะอย่างมากได้อย่างไร 


2. การพัฒนาศักยภาพขององค์กรและเครือข่ายข้อต่อสุดท้ายทางดิจิตอล (last mile intermediary)

แม้ประชากรบางส่วนจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลและระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่ในหลายบริบทก็สามารถเข้าถึงเชื่อมโยงผ่านองค์กรหรือเครือข่ายที่สามารถวางตัวเป็นข้อต่อสุดท้ายทางดิจิตอลระหว่างบริการหรือมาตรการดิจิตอลของรัฐและพื้นที่หรือท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลได้  เช่น ในประเด็นสุขภาพก็อาจใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ในประเด็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและทักษะดิจิตอลก็มีการพัฒนาเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐอยู่

องค์กรหรือเครือข่ายภาคประชาสังคมก็สามารถทำหน้าที่ในลักษณะนี้ได้ในการเชื่อมต่อมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ เอกชน หรือโอกาสทางดิจิตอลต่างๆให้กับพื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงได้ โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาโอกาสทางทักษะและการสร้างอาชีพสำหรับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจต่อเนื่องยาวนานได้ 


3. OPEN DATA & OPEN GOVERNMENT นโยบายข้อมูลเปิดและรัฐบาลเปิด

ประเทศไทยมีหน่วยงานอย่างสำนักงานรัฐบาลดิจิตอล (DGA) ที่ดูแลเรื่องข้อมูลเปิดอยู่แล้ว ในมุมของโควิด-19 ก็ยังดูแลชุดข้อมูลเปิดที่เกี่ยวข้องอีกด้วย หากเราจะสรุปบทเรียนการเปิดเผยข้อมูลทั้งจากในประเทศ และต้นแบบควมสำเร็จของมาตรฐานข้อมูลเปิดเปิดสำหรับรับมือกับสภาวะวิกฤตโรคระบาด ทั้งข้อมูลการสืบสวนโรคที่เปิดเผยแบบละเอียดมากขึ้นแต่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลของรัฐที่เกี่ยวกับร้านหรือสินค้าบริการที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ชุดข้อมูลมาตรการต่างๆที่สามารถเปิดเผยผ่านระบบต่อเชื่อมอัตโนมัติได้ (API) ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือการระบาดรอบสองหากเกิดขึ้น หรือเป็นการเตรียมรับมือวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งถัดไป  นอกจากมาตรฐานข้อมูลเปิดแล้ว รัฐบาลยังสามารถตั้งใจมีนโยบายและกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมทางดิจิตอลกับประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมต่างๆเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมุมความมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (meaningful participation) ของพลเมืองดิจิตอลได้ตามแนวทางที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนโยบาย OPEN GOVERNMENT ที่อยู่ใต้ กพร. ซึ่งกำลังพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของรัฐทั่วโลกที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนามาตรฐานและกระบวนการรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership) ซึ่งสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนทั้งเรื่องข้อมูลเปิดเพื่อความมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอลได้  

อ้างอิง 

ข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กสทช. http://webstats.nbtc.go.th/netnbtc/HOME.php

ข้อมูลโครงการเน็ตประชารัฐ https://npcr.netpracharat.com/Documents/20190805_APT_Netpracharat_V12_Final.pdf

การวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล: ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการของห้องสมุดประชาชน วลัยลักษณ์ อมรสิริพงศ์
http://www.journal.rmutt.ac.th/index.php/mmr-vol1/article/view/1600

ความยากจนหลากมิติในประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10859&filename=social

เมื่อมาตรการเยียวยาโควิด-19 กลายเป็นหลักฐานความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ไม่ได้รับการเยียวยา

Digital Literacy Project 

https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp

เราจะหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงด้วย Super-corrector ได้อย่างไร

https://changefusion.org/blog/fakenews-super-corrector

ทำความใจพลวัตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการศึกษาทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Symposium_14Sep2020.pdf

กางโทษ ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าช่วง “โควิด” โทษสูงสุดคุก 7 ปี ปรับ1.4 แสนบาท

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

จากคำถามที่มาถึง cofact.org ในประเด็นสินค้าฉวยขึ้นราคาช่วงโควิด มีโทษหนักอาจติดคุก 7 ปี จริงหรือไม่นั้น 

TJA&Cofact ตรวจสอบไปที่กรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ หน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เจลแอลกอฮอล์ และสินค้าเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน 

ขณะเดียวกันใน “ร้านธงฟ้า” ราคาประหยัด ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กอย่างเคร่งครัด โดยห้ามจำหน่ายบุหรี่ สุรา เบียร์ให้แก่ผู้ถือบัตร ห้ามยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ แลกเป็นเงินสด ห้ามเอาเปรียบฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาและขายเกินราคาที่กำหนดโดยเด็ดขาด ห้ามบังคับการซื้อ ขายสินค้า  หากมีการตรวจพบการกระทำผิด จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วม “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และแจ้งกรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเรียกคืนเครื่องอีดีซี หรือยกเลิกการใช้แอพพลิเคชั่นเช่นกัน

ที่สำคัญพบว่าตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หรือ “กฎหมายควบคุมราคาสินค้า” ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  (กกร.) ในการประกาศควบคุมสินค้าและบริการได้ โดย “มาตรา 29” กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามจะมีโทษตาม “มาตรา 41” กำหนดโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ การฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ไม่ได้มีโทษเฉพาะสถานการณ์โควิดหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้กับทุกสถานการณ์ หากพบประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/022/23.PDF

ที่มาของประเด็นการตรวจสอบ จริงหรือไม่…? สินค้าฉวยขึ้นราคาซ่วงโควิด มีโทษหนักอาจติดคุก 7 ปี https://cofact.org/article/2p3q6ya3j1pk

รู้ทัน เบอร์แปลก เสนอ ทำประกันอุบัติเหตุ ระวัง ล้วงข้อมูลส่วนตัว

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

เฝ้าระวังเบอร์แปลก โทรขายประกันหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคล คปภ. ยอมรับ ต้องตรวจสอบให้ดี รับที่ผ่านมาทุกบริษัทประกันจะไม่มีนโยบายถามข้อมูลส่วนบุคคลประชาชน และจะแจ้งข้อมูลตัวแทนขายให้ทราบเสมอ เตือนหากใครเจอถามข้อมูล ให้รีบแจ้งด่วน หวั่นนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลอกลวงในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของภัยการหลอกลวงทางโทรศัพท์ ทั้ง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงิน หรือการหลอกล่อให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญส่วนบุคคลเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ทางมิชอบ

อย่างในกรณีของการการโทรมาสอบถามเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลไปทำประกันประเภทต่าง ๆ ที่ผ่านมามีการตรวจพบว่า มีการแจ้งให้ระวังเบอร์โทรศัพท์แปลก ๆ ทั้ง เบอร์ 0266603xx, 06611515xx, 06611515xx หรือเบอร์อื่น ๆ ส่วนใหญ่เบอร์เหล่านี้มักโทรสอบถามขอข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างว่าเอาไปทำประกันอุบัติเหตุ

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้ทำการตรวจสอบและสอบถามกรณีนี้ไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่เข้าข่ายลักษณะนี้ว่า ทาง คปภ. ได้รับเรื่องร้องเรียน หรือได้มีการเฝ้าระวังอย่างไรบ้าง โดย คปภ. ยอมรับว่า ยังไม่เคยมีการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับเบอร์โทรข้างต้นเข้ามา 

แต่อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง คปภ. ได้มีการแจ้งไปยังบริษัทประกัน และกำชับเรื่องของการสอบถามข้อมูลกับประชาชนไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามปกติบริษัทประกันทุกแห่งจะไม่มีนโยบายการสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และขอให้ประชาชนอย่าให้ข้อมูลด้วย

ทั้งนี้ในกรณีการโทรศัพท์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ หรือการแจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์ ทางตัวแทนจำหน่ายจะต้องมีการแจ้งชื่อ นามสกุล บริษัท และหมายเลขประจำตัวพนักงานให้รับทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อให้สามารถตรวจสอบกลับมาได้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่

ดังนั้นหากใครพบว่ามีคนโทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคล ก็ให้แจ้งทาง คปภ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที หรืออาจแจ้งเบอร์โทรแปลก ๆ ที่มาขอข้อมูลส่วนบุคคลได้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการหลอกลวงไม่ให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ นั้น นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคล้าย ๆ แบบนี้มาบ้าง แต่ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุนี้เข้ามา อย่างไรก็ตามถ้ามีร้องเรียนมาแล้ว สคบ. จะส่งต่อข้อร้องเรียนนี้ไปยัง กสทช. หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่มีกฎหมายเฉพาะ เร่งดำเนินการเป็นการด่วน ก่อนจะชี้แจงผลให้ผู้บริโภคที่ร้องเรียนมาได้รับทราบ

ที่มาของการตรวจสอบ : https://cofact.org/article/kc9i2offg26a

ไขข้อข้องใจ “เราชนะ” ปรับกรอบโครงการ ไม่เปิดลงทะเบียนเพิ่ม

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ภายหลังจากเกิดความสับสนถึงการดำเนินโครงการ “เราชนะ” หรือโครงการเยียวยาผู้ที่ได้รับจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการจัดสรรเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์คนละ 7,000 บาท ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม..ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ขยายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการอีก 2.4 ล้านคน  พร้อมกับขยายวงเงิน เพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า การขยายรายละเอียดโครงการครั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้คนเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์ใหม่ใช่หรือไม่

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดของโครงการ ตามเอกสารของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องผลการพิจารณาของ คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2564 และครั้งที่ 12/2564 ลงวันที่ 20 เม.ย.2564 พบว่า กรณีนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น นั่นคือ

เห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิมกำหนดกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ จำนวน 31.1 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวน 33.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.64

เหตุผลสำคัญของการขยายเป้าหมาย วงเงิน และระยะเวลาออกไปนั้น ก็เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน/เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียน หรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ รวมทั้งผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ขยายเวลาลงทะเบียนสำหรับคนกลุ่มนี้ถึงวันที่ 9 เม.ย.64

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะแล้ว 33,126,355 คน เกินกว่ากลุ่มเป้าหมายเดิมที่ครม.อนุมัติไว้ 31.3 ล้านคน และปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีประชาชนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรองข้อมูลอีก 8.6 หมื่นคน และยังเปิดรับลงทะเบียนในกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษอีก ดังนั้นจึงอาจมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเสนอที่ประชุมครม.เพื่อขยายรายละเอียดของโครงการออกมาให้รองรับคนกลุ่มนี้ โดยไม่ใช่การเปิดให้ลงทะเบียนใหม่

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ได้มีการเปิดรับสมัครลงทะเบียนเพิ่ม และปัจจุบันโครงการก็ได้ปิดรับลงทะเบียนไปแล้ว โดยจำนวน 2.4 ล้านคนที่ ครม.เห็นชอบ เป็นการอนุมัติในขั้นตอนของการใช้งบประมาณ เนื่องจากเมื่อมีการลงทะเบียนจริง พบว่า มีผู้สามารถรับสิทธิได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงต้องเสนอขอให้ขยายรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะการจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 21 เม.ย.2564 มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 32.8 ล้านคน แบ่งเป็น 1.ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา 73,254 ล้านบาท 2. ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปฯ เป๋าตัง ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง และผู้ที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ได้รับสิทธิ์ 16.8 ล้านคน และ3. ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 2.3 ล้านคน

ส่วนโครงการอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการที่เน้นการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ที่ผ่านมาได้สิ้นสุดโครงการไปแล้ว 2 ระยะ ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน  แจ้งว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทำโครงการนี้ในระยะที่ 3 เบื้องต้นคาดว่า จะออกมาได้ประมาณเดือนมิ.ย.นี้ ส่วน “เราเที่ยวด้วยกัน” ระยะที่ 3 จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ และ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังยืนยันเปิดให้คนร่วมลงทะเบียนร่วมโครงการในช่วงกลางเดือน พ.ค.64

นอกจากนี้ในส่วนของการเยียวยาผ่านโครงการ “เราชนะ” ได้ขยายเวลาการใช้จ่ายเงินจากสิ้นสุดในเดือนพ.ค.64 เป็นสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.64 ขณะที่ “ม33เรารักกัน” จะสิ้นสุดการใช้จ่ายเงินในเดือนพ.ค.64 ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า กำลังพิจารณาต่ออายุโครงการรอบใหม่ และจะทำโครงการเพิ่มเติม คือ การช่วยเหลือข้าราชการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปในเดือนพ.ค.นี้ และจะเริ่มต้นโครงการต่าง ๆ ได้ประมาณเดือน มิ.ย.64

ฟ้าทะลายโจร VS Covid 19

เคลียร์ข้อสงสัย “สายด่วน 1668” ภารกิจบริหารจัดการเตียงโควิด-19

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลภายในศูนย์ประสานงานของสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ พบว่า จะมีเจ้าหน้าที่ สหสาขา ของกรมการแพทย์ และแพทย์ชำนาญการประจำ ที่ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียน มาเป็นอาสาสมัครให้บริการประชาชน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีหน้าที่ประจำจากงานหลัก ซึ่งการทำงานในส่วนนี้จะเป็นทีมที่3 ทำหน้าที่ติดตามผู้ติดเชื้อที่ถูกแบ่งตามระดับอาการจากการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากข้อปฏิบัติสาธารณสุขที่เจ้าหน้าที่ แพทย์ จะให้คำแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อแล้ว ยังต้องคอยให้กำลังใจ และรับฟังข้อกังวลใจของผู้ติดเชื้ออีกด้วย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีความสบายใจ และผ่อนคลาย ทำให้แต่ละสายที่เจ้าหน้าที่รับนั้น ใช้ระยะเวลาพูดคุย อย่างน้อย 15 นาที จึงเป็นสาเหตุที่ว่า สายด่วนโทรติดยาก และไม่ว่าง

โดยเรื่องนี้ “ผศ.พญ.พัชรินทร์ บึงเมืองแก้ว นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันเวชศาสตร์ฯ กรมการแพทย์” บอกกับ TJA&Cofact ว่า สายด่วน 1668 ทางอธิบดีกรมการแพทย์ ได้วางแผน คิด ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งระบบ และเตรียมทีมตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน โดยตนทำหน้าที่ติดตามประสานตรวจเยี่ยมคนไข้ตามสีต่างๆ โดยจะดูแลในกลุ่มคนไข้ผู้ติดเชื้อสีแดงและก็สีเหลืองที่มีอาการ โดยจะดูแลผู้ติดเชื้อแบบองค์รวม คือ ดูแลทางด้านร่างกาย สุขภาพ เช่น ไอ เหนื่อยหอบถ่ายเหลว แล้วก็เรื่องจิตใจ ความเครียดความวิตก กังวล ในเรื่องอาการของตัวเอง

“ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะกังวลถึงเรื่องเตียงที่จะเข้ารับการรักษา ที่ยังไม่ได้ เป็นห่วงครอบครัว กลัวครอบครัวจะติดเชื้อไปด้วย ปัญหาความกังวลที่พบบ่อย คือ บางคนอยู่ในคอนโด อยู่ในชุมชนที่คนภายในชุมชนหรือภายในคอนโด อยากให้ผู้ติดเชื้อออกจากพื้นที่ ผู้ติดเชื้อก็จะเครียดรวมถึงเครียดในเรื่องของการประกอบอาชีพหลังจากติดเชื้อ”

สำหรับสายด่วน 1668 หลังจากปิดรับเรื่อง เวลา 18.00 น. จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ทีมงานทั้งหมด ถึงปัญหาต่างๆที่เจอ อันดับ1. คือเรื่องการรอเตียง และตอนนี้กำลังเฝ้าจับตาในเรื่องของอาการคนไข้จากกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการในตอนแรก แต่เมื่อโทรไปสอบถามอาการ 1-2 วัน ก็พบว่า มีอาการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ผศ.พญ.พัชรินทร์ บอกอีกว่า การทำงานของสายด่วน 1668 จะแบ่งออกเป็น 3 ทีม มี 20 คู่สาย เจ้าหน้าที่ที่รับสาย จะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผ่านการอบรมจากแพทย์ในการให้คำปรึกษาผู้ติดเชื้อ โดยการทำงาน เจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งจะทำงานอยู่ที่ สถาบันโรคทรวงอก และอยู่ที่ทำงานของแต่ละคน รวมถึงอยู่ที่บ้าน โดยระบบสายด่วน จะมีการโอนสายเข้าไปมือถือของเจ้าหน้าที่สามารถรับสายจากที่บ้านได้ทันที

เมื่อได้ข้อมูลผู้ติดเชื้อ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเข้าระบบกลาง ซึ่งทีมที่ 2 จะเป็นส่วนตรวจสอบข้อมูล ส่งต่อข้อมูลให้กับทีมที่ 3 เพื่อติดตามประเมินอาการ และจัดสรรเตียงในการเข้ารับการรักษา

หากเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยวิกฤต จะมีแพทย์ประจำภายในศูนย์ฯ โทรไปสอบถามอาการทุก 4 ชั่วโมง ระหว่างที่รอเตียง ส่วนผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลือง ที่เริ่มมีอาการ เจ้าหน้าที่จะโทรเยี่ยมผู้ติดเชื้อทุกวันวันละ 1 ครั้ง และผู้ติดเชื้อสีเขียวจะโทรเยี่ยมทุก 2 วัน

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า ปัญหาส่วนหนึ่งผู้ติดเชื้อ ปฏิเสธเข้ารับการรักษา ยังโรงพยาบาลที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ จึงทำให้การเข้ารับการรักษาล่าช้า

“ส่วนใหญ่พี่น้องให้ความร่วมมือดี จากการที่โทรเข้ามาสายด่วน 1668 กว่า 200 ปัญหาที่พบ คือ เมื่อเจ้าหน้าที่หาเตียงได้ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่จะมีกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธไม่อยากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ เช่นล่าสุด ได้รับการรายงานเจ้าหน้าที่ ว่า ได้มีการจัดให้ผู้ติดเชื้อไปอยู่ยังโรงพยาบาลของรัฐแต่ประชาชนไม่อยากไปโรงพยาบาลดังกล่าว แต่อยากไปโรงพยาบาลเอกชน ฝากทำความเข้าใจกับประชาชนตอนนี้สิ่งสำคัญคือสุขภาพไม่ใช่ความสะดวกสบาย”

ตอนนี้มีการแบ่งกลุ่มตามสี คือ สีเขียว ถ้ามาจากการค้นหาเชิงรุก จากหน่วยเคลื่อนที่ลงไปในพื้นที่ทำการตรวจคัดกรองทางกรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแล โดยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ทางกรุงเทพฯจะนำผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้เข้ายางโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้แล้ว ถ้าเป็นสีเขียวจากระบบบริการ คือ ผู้ติดเชื้อไปตรวจยังห้องปฏิบัติการของเอกชน หรือไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วไม่มีเตียง แล้วโทรมายังสายด่วน 1668 ในส่วนนี้จะพยายามนำเข้า hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม แล้วแต่กรณีว่ามีที่ไหนว่าง ถ้าเป็นสีเหลือง กับ สีแดง คือ มีอาการปานกลาง หรือ อาการหนัก กลุ่มนี้จะบริหารจัดการอย่างรวดเร็วผ่าผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ไปแอดมิดที่โรงพยาบาลทันที

สำหรับตอนนี้ผู้ติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ที่อยู่ระหว่างการประสานเตียงมีอยู่ประมาณ 40- 50 คน โดยกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ที่จริงแล้วเตียงใน hospitels มีแต่ไม่อยากให้ไปนอน เนื่องจากเป็นห้องแยก จะติดตามดูอาการยาก กลัวว่าอาการจะหนักมากขึ้น

“เบื้องต้นได้สั่งการให้จัดหาตึกคลังยาเสพติดที่รังสิต ปทุมธานี จะทำเป็นหอผู้ป่วยสำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเหลือง เนื่องจากเตียงของโรงเรียนแพทย์ขณะนี้ค่อนข้างเต็ม ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางโรงเรียนแพทย์ว่า ให้เอากลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว ที่อาการดี ย้ายออกจากโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ เพราะโรงเรียนแพทย์จะมีสศักยภาพเยอะ โดยจะให้รับกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเหลืองเข้ม หรือสีแดง เพื่อเป็นการลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

ด้าน นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. บอกว่า ขณะนี้เตียงของโรงพยาบาลสนามมีทั้งหมด 1,656 เตียง ซึ่งจะรับผู้ป่วยจากการการค้นหาเชิงรุก 1,275 เตียง เหลืออีก 381 เตียง และจะเปิดเพิ่มที่หน่วยทหารบกอีก 200 เตียง แต่ปัญหา คือ ประชาชนไม่พร้อมเข้ารับบริการ

นอกจากนี้ กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจอบรมกับกรมการแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้ทำงานร่วมกันกับ สพฉ. ช่วยดูแลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย