นวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคพลเมืองในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19

บทความ

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1OHRHjH_vMOtGaeqD-3N4r7Iq9CdvXlQ5/view?usp=drivesdk

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม

1 โครงการเป็ดไทยสู้ภัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมาคม Thailand Tech Startup ร่วมมือกับ  สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) , กรมควบคุมโรค , สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มสตาร์ทอัพในสมาคม ลงมือทำโครงการ “เป็ดไทยสู้ภัย” โครงการที่กลุ่มสตาร์ทอัพได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นบริการด้านต่างๆ เพื่อช่วยในการให้ความรู้ ป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 การออกแบบบริการต่างๆ ของเป็ดไทยสู้ภัย จะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เฟสบุ๊กเพจ “เป็ดไทยสู้ภัย” โดย หลังจากที่เริ่มต้นสามารถแบ่งได้ 5 ภารกิจดังนี้

1.เป็ดข่าวสาร มุ่งเน้นด้านข้อมูลข่าวสารที่ช่วยคัดกรองข่าว Fake news และเผยแพร่แต่ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าใจง่าย เพื่อดึงดูดให้ผู้ที่กังวลและต้องการข้อมูลเข้ามาสู่บริการ

2.เป็ดคัดกรอง เป็นระบบคัดกรองที่สมาคมฯ ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อช่วยในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ดูแลผู้มีความกังวลให้สามารถเข้าใจในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม และหากมีคนเข้าไปทำแบบคัดกรองแล้วพบว่ามีโอกาสติดเชื้อสูง ก็จะส่งต่อเข้าระบบ Telehealth ซึ่งจะมีแพทย์อาสาคอยให้คำปรึกษาและคัดกรองซ้ำอีกครั้งว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่ควรไปโรงพยาบาลจริงหรือไม่ เมื่อคัดกรองเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

3.เป็ดติดตาม แบ่งเป็นระบบการติดตาม 2 แบบ คือ กลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงต่ำ ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพราะอาการอาจจะยังไม่แสดงออก ก็จะให้คนกลุ่มนี้ Add ไลน์ไว้ แล้วทุกวันจะมีข้อความไปสอบถามอาการว่าเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด หากเริ่มมีอาการก็จะปรับเข้าสู่ระบบ Telehealth เพื่อปรึกษาแพทย์และเข้ากระบวนการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป

และ กลุ่มเสี่ยงอาจเป็น super spreader ซึ่งถ้าปล่อยเข้าไปในสังคมอาจเกิดการระบาด ก็จะมีระบบในการช่วยดูแลให้เข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม

4.เป็ดที่พัก เป็นระบบที่รวบรวมโรงแรมที่ปรับสภาพพร้อมรองรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากพบว่ายังมีช่องว่างในกรณีกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อ บางเคสต้องรอ 1-2 วัน คนกลุ่มนี้จะให้ไปอยู่ที่ไหน จะให้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวและเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือไม่ ดังนั้นจึงมีโรงแรมกลุ่มนี้เข้าไปอุดรอยรั่วระหว่างรอยืนยันผล นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วสถานที่กักตัวของภาครัฐไม่เพียงพอได้ด้วย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำเสนอภาครัฐในส่วนของ ASQ (Authorized State Quarantine)

5.เป็ดส่งของส่งคน เป็นระบบที่ต่อเนื่องจากเป็ดที่พัก เพราะมองว่าไม่อยากให้คนที่มีความเสี่ยงเดินทางปะปนกับประชาชนทั่วไป จึงมีการตกแต่งรถให้ปลอดภัยสำหรับคนขับเพื่อใช้รับส่งคนกลุ่มนี้

รูป 1 ภาพรวมของโครงการเป็ดไทยสู้ภัย

1.1 แรงบันดาลใจและหลักคิดในการออกแบบโครงการ

โครงการนี้เริ่มต้นจากการพูดคุยและตั้งคำถามในกลุ่มสตาร์ทอัพว่า พวกเราสามารถทำอะไรได้บ้าง และ ควรสร้างกรอบความคิด คำถามและปัญหาไปทางไหนดี เพื่อให้สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ และ เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม ซึ่งเมื่อรู้และพอจะมั่นใจก็จะได้มุ่งเน้นทุ่มไปทางนั้นให้เร็ว เพราะต้องยอมรับว่าไปทำทุกด้านไม่ได้ หลังจากที่สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สอบถามผู้ป่วย สืบค้นคำถามทางสื่อโซเชียลมีเดีย ปัญหาที่พบคือ ประเทศไทยมีทรัพยากรทางการแพทย์มีจำกัด หากปล่อยให้อัตราแพร่กระจายสูง จนจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าทรัพยากรที่มีก็จะทำใก้เกิดผู้เสียชีวิต รวมถึงทรัพยากรทางการแพทย์มีไม่มีเพียงพอที่จะรองรับความกังวลของคนทั่วไป ดังนั้นทีมงานจึงกรอบปัญหาว่า ทำอย่างไรถึงจะควบคุมอัตราการแพร่กระจาย และให้คนอยู่กับบ้านโดยปราศจากความกังวล 

หลังจากที่ได้กรอบปัญหาที่ชัดเจน ทางทีมงานก็เริ่มออกแบบโซลูชั่น โดยใช้แนวคิด ลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) ในการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid Prototype) ซึ่งทีมงานสามารถขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน โดยในช่วงเริ่มต้น ทีมงานได้ออกแบบให้เพจเป็ดไทยสู้ภัยเป็นจุดแรกในการติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะหยุดความตระหนก และทำให้เกิดแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเข้าใจง่ายให้กับประชาชน หลังจากนั้นทีมงานก็พบปัญหาว่าแค่ข้อมูลที่ให้ ไม่เพียงพอต่อการรองรับความกังวลของผู้คนที่เข้ามาในเพจ เพราะแต่ละคนล้วนมีความกังวลและต้องการคำตอบที่เฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล จึงเริ่มต้นภารกิจคัดกรอง Telehealth และ ภารกิจอื่นๆ ที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องการรถขนส่ง ต้องการที่พัก ต้องการติดต่อแพทย์ ก็จะมีกระบวนการต่อเนื่องกันไป โดยที่ไม่ได้ออกแบบไว้แต่แรก สิ่งที่น่าสนใจคือ กระบวนการพัฒนาแบบสตาร์ทอัพ ทำให้ทีมงานสามารถออกแบบปรับแก้และพัฒนาโซลูชั่นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์เฉพาะทันต่อสถานการณ์ จนเกิดเป็นนวัตกรรมหนึ่งในการรับมือสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยการพัฒนาโซลูชั่น เลือกกระบวนการออกแบบที่ไม่จำกัดว่าต้องใช้แพลตฟอร์มใด แต่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและรับมือผ่านข้อมูลจากผู้ใช้งานเพื่อทำความเข้าใจ ออกแบบผ่านกระบวนการคิดแบบแพลตฟอร์มเปิด เพื่อให้สามารถเลือกใช้เครื่องมือได้หลากหลาย เปิดโอกาสให้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริการราบรื่นและต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ จะสังเกตได้ว่า ข้อมูลคือสิ่งที่เป็นศูนย์กลางในการจัดการทั้งหมดของโครงการ

2 การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูล และ เทคโนโลยีดิจิทัล

‘Data is new oil’ หลายคนให้ความเห็นว่าในยุคนี้ ข้อมูลเปรียบเสมือนน้ำมัน ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลายธุรกิจที่มีจำนวนข้อมูลเป็นปริมาณมากในระบบ ก็จ้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อไปทำการขุดเหมืองข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ แต่อีกหลายธุรกิจที่ยังไม่มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลก็พยายามที่จะหาทางให้ได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ โดยทุกคนรู้ว่า ข้อมูลคือของมีค่าและมีราคา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจวางกลยุทธ์ของธุรกิจ กรอบความคิด (Framework) ของการมองข้อมูล และเป้าหมายของการใช้ข้อมูล จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่กำลังจะวางแผนตั้งทีมทางด้านข้อมูล หรือต้องการเริ่มต้นในการเก็บข้อมูล เพราะกรอบความคิดจะทำให้ธุรกิจสามารถมองเห็นถึงความเป็นไปได้ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ในบทความนี้จะแนะนำกรอบความคิดโดยมองจากสองปัจจัยหลัก คือ (1) ปัญญาและความฉลาดที่เกิดขึ้นจากข้อมูล และ (2) การหาโอกาสทางธุรกิจจากข้อมูล

2.1 ปัญญาและความฉลาดที่เกิดจากข้อมูล

2.1.1 รูปแบบการเกิดซ้ำจากข้อมูลสร้างองค์ความรู้

อ้างอิงกรอบของ ลำดับขั้นของภูมิปัญญา (Wisdom hierarchy) หรือ ลำดับขั้น DIKIW ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูล (Data), สารสนเทศ (Information), ความรู้ (Knowledge), ความฉลาด (Intelligence) และ ภูมิปัญญา (Wisdom) เราสามารถมองเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของแต่ละลำดับขั้น และ สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นของภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้จากข้อมูล

ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริง, เรื่องราวต่างๆ ซึ่งอาจจะจากการสังเกต การรวบรวม การวัด เป็นได้ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ หลายครั้งอาจจะมาในรูปแบบที่ต่อเนื่อง

สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผล จัดระเบียบ ตามความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง มีความหมาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ความรู้ (Knowledge) หมายถึง รูปแบบที่เกิดซ้ำจากสารสนเทศ (Information) ในสมองของคนเรามักจะสร้างความเชื่อมโยงจากการเกิดซ้ำของสารสนเทศ (Information) เหมือนการสร้างแผนที่ในสมองเพื่อคาดเดาความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดจากข้อมูลที่ได้รับในปัจจุบัน ว่า ถ้าสิ่งนี้เกิด แล้วสิ่งนั้นจะเกิดตามมา เช่น  ถ้าเมฆครึ้ม เดี๋ยวฝนจะตก หรือ ถ้าฝนตก เดี๋ยวรถจะติด

ความฉลาด (Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น การให้เหตุผลเกี่ยวกับแผนในอนาคต การตัดสินใจ และ ลงมือกระทำ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากความรู้ (Knowledge) ที่มีในอดีต 

องค์ความรู้ หรือ ภูมิปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความสามารถในการคิดผ่านกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ที่เลียนแบบจากสมองและจิตใจของมนุษย์ ซึ่งรวบรวมจากการตัดสินใจที่ซับซ้อนผ่านหลักคิดและหลายการตัดสินใจมารวมกัน จากลำดับขั้นและความสัมพันธ์ระหว่าง DIKIW ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ถึงความสำคัญข้อมูล แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกระบวนการแต่ละขั้นในการประมวลผล มองหารูปแบบซ้ำ คาดเดา ทำความเข้าใจ และ สร้างกรอบการตัดสินใจ เพราะตัวข้อมูล (data) เองไม่ได้สามารถสร้างผลกระทบหรือประโยชน์อย่างมากได้ หากปราศจากการประมวลในลำดับขั้นที่สูงขึ้นของลำดับขั้นของภูมิปัญญา (Wisdom hierarchy)

2.1.2 องค์ความรู้ทำให้เข้าใจปัญหาและหาทางแก้

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) คือ การสังเกตสิ่งต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น และเมื่อมีข้อมูลที่เริ่มต้นจากการวัด และบันทึก ก็ทำให้เราเกิด วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ (Artificial Science) เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เลียนแบบข้อมูลเหล่านั้น ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น เพราะยิ่งเราทำได้ใกล้เท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรา เพื่อทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น รวมถึง เรายังสามารถให้องค์รู้เหล่านี้มาช่วยในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น  หากพิจารณาความสัมพันธ์ของลำดับขั้น DIKIW จะเห็นว่าหลายกรอบแนวคิดประกอบด้วยหลายการตัดสินใจซึ่งแต่ละการตัดสินใจมีส่วนประกอบของความรู้ ซึ่งเกิดจากสารสนเทศและข้อมูลมหาศาลในนั้น การที่เราสามารถสร้างความเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจโจทย์ และปัญหาต่างๆ ในเชิงลึกได้มากขึ้น นั่นหมายถึงเราจะสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การมีเพียงข้อมูลมหาศาล มิได้มีส่วนช่วยในการพัฒนา หากปราศจากกรอบแนวทางการใช้และศึกษา

2.2 Product/Market fit ด้วยข้อมูล

หลักคิดทางธุรกิจเริ่มจากสมมติฐานว่า ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการที่เรานำเสนอให้ลูกค้า จำเป็นต้องเริ่มจาก อุปสงค์ (Demand) ที่เกิดขึ้นในตลาดที่มากพอ ที่จะตอบรับกับ ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการของเราที่สร้างขึ้นในฝั่งอุปทาน (Supply) และเมื่อ อุปทานสามารถเติมเต็มอุปสงค์ได้ สิ่งนี้เราเรียกว่า “Product-Market Fit” หมายถึง สินค้าของเราสามารถตอบโจทย์ตลาดได้พอดี และนั่นทำให้เกิดการ ซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน และเกิดธุรกิจขึ้น ดังนั้น การพัฒนาของทั้งสองฝั่งให้มาเจอกันจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการพัฒนาธุรกิจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ และ บริการต่างๆ

3 หลักคิดของการพัฒนานวัตกรรม

3.1 หลักคิดนวัตกรรมเรื่องคุณค่า – จุดที่อุปสงค์พบอุปทาน

หลายสถาบันได้พัฒนากรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมที่หลายบริษัทได้นำมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process), Opportunity Canvas, Lean Canvas และ 24 steps of disciplined entrepreneurship หากพิจารณากรอบแนวคิดเหล่านี้ อยู่บนแนวคิดในการค้นหาจุดเชื่อมระหว่างอุปสงค์ และอุปทานผ่านคุณค่า และมุ่งเน้นไปที่การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วเพื่อเรียนรู้อุปสงค์ไปพร้อมกับการพัฒนาฝั่งอุปทาน โดยไม่ตีกรอบในวิธีการ หรือ ผลลัพธ์ เพราะเป้าหมายคือการสร้างคุณค่าให้ได้ และคุณค่านั้นสามารถที่จะตอบโจทย์อุปสงค์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง โดยไม่จำกัดวิธีการ สิ่งนี้คือจุดร่วมในการพัฒนานวัตกรรมของทุกกรอบแนวคิด

รูป 3 กรอบแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) อ้างอิง Wikimedia commons

รูป 4 กรอบแนวคิด MIT 24 Steps อ้างอิงเฟสบุ๊คแฟนเพจ IDE Thailand

3.2 การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาฝั่งอุปสงค์

การพยายามเข้าใจธรรมชาติของอุปสงค์จากพฤติกรรมของตลาดก็ เปรียนเสมือการศึกษาในฝั่งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) เพื่อให้มีภาพและแนวทางในการนำไปพัฒนา สินค้าและบริการในฝั่งอุปทาน ที่ผ่านมาเวลาที่เราต้องการสำรวจตลาดเพื่อมองหาอุปสงค์ในการวางแผน เรามักจะเริ่มต้นจากการทำแบบสอบถามหาข้อมูล และนำมาสรุป แต่ในโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีความต้องการแบบเฉพาะบุคคล หรือ เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทำให้เป็นไปได้ยาก หรือใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงในการศึกษาเพื่อหาข้อสรุป กระบวนการคิดหนึ่งซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เทคนิคแบบลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) โดยใช้ผ่านเครื่องมือดิจิทัล เช่น การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid prototyping) เพื่อทดสอบความต้องการฝั่งอุปสงค์ ด้วยเครื่องมือปัจจุบันทำให้เราสามารถทดสอบสมมติฐานต่าง ๆ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนักในการทำต้นแบบเพื่อพิสูจน์ หาข้อมูลและปรับใช้ข้อมูล เช่น การมองหาตลาดเป้าหมาย และ การกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายกลับเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ (Target marketing และ re-targeting) รวมถึงกรอบการคิดทำให้เรารู้จักใช้เวลาในการตั้งสมมติฐานที่จำเป็น เสาะหาคุณค่า (value) ที่จะตอบโจทย์หรือสร้างความต้องการใหม่ขึ้นมา ซึ่งเครื่องมือในการจัดการสรุป ค้นหา และ ใช้ในการทดสอบ ล้วนแล้วแต่มาจากการใช้พลังของข้อมูล ที่อยู่บนเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ผสมกับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้น

3.3 การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาฝั่งอุปทาน

ข้อมูลที่ได้มาจากการทำความเข้าใจอุปสงค์ด้วยกระบวนการแบบลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) เกิดจากการทดสอบกับต้นแบบที่สร้างอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนการพัฒนาความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) และ วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ (Artificial Science) ไปพร้อมๆกัน หากเรามองความเข้าใจอุปสงค์ เหมือนการทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) นั่นคือ การใช้ข้อมูลในการเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ ข้อมูลชุดเดียวกันเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างและพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดรับกับปัญหาและความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น สามารถตอบรับกับอุปสงค์ แบบเฉพาะกลุ่มและเฉพาะบุคคลมากขึ้น และเร็วขึ้น มากกว่าแนวคิดในการพัฒนาฝั่งอุปทานแบบเดิม ที่ถามหาความต้องการที่ชัดเจน (Clear Requirements) และทำเพื่อตอบรับสิ่งที่รู้ชัดเจน ซึ่งหาและทำได้ยากในตลาดและอุปสงค์ปัจจุบัน

3.4 การตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจปัญหา 

หัวข้อหนึ่งของทุกกรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรม คือการให้นิยาม (Define) ซึ่งในกระบวนการจริงๆ คือ การสร้างกรอบความคิด หรือ การตั้งคำถาม และการเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง เพราะหากกรอบของปัญหามีความชัดเจน ย่อมทำให้เรามีเป้าหมาย และพัฒนาคุณค่าที่ชัดเจนในการตอบปัญหานั้น และสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้

4 นวัตกรรมภาคพลเมืองที่เกิดขึ้น

จากกรอบแนวคิดของการพัฒนาและใช้ข้อมูลดิจิทัลในส่วนที่ 2 และ การพัฒนานวัตกรรมในส่วนที่ 3 สามารถนำมาใช้อธิบายการเกิดขึ้นของโครงการเป็ดไทยสู้ภัยในส่วนที่ 1 ได้อย่างชัดเจน และสังเกตได้ว่าโครงการที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่กลุ่มพลเมือง รวมตัวด้วยการมีเป้าหมายเดียวกันในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีเครื่องมือทางความคิดคล้ายกัน ทำให้การทำงานรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ นอกจาก โครงการเป็ดไทยสู้ภัยแล้ว เรายังมองเห็นนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้จากภาคพลเมือง ทั้งในด้านดิจิทัล และ ด้านอุปกรณ์

4.1 นวัตกรรมดิจิทัล

นวัตกรรมทางด้านดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นอย่างมากจากภาคพลเมือง เช่น การนำเสนอข้อมูล ไม่ว่า ปริมาณหน้ากากในแต่ละพื้นที่, การนำเสนอข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และ ประวัติการเดินทางของผู้ป่วย นอกจากนวัตกรรมในการเก็บบันทึกและนำเสนอข้อมูล นวัตกรรมด้านการติดตาม (Track & Trace) ก็เป็นที่น่าสนใจและสำคัญ เช่น หมอชนะ, ไทยชนะ และ DDC-CARE รวมถึงโครงการและแอพพลิเคชั่นอีกมากมายในกลุ่ม Thailand COVID19 Digital Group (TCDG)  อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาจากการที่ใช้ข้อมูลติดตามเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ ที่ต้องแลกมาคือปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันในวงกว้าง และข้อจำกัดนี้ทำให้เกิดกรอบแนวคิด ในการพัฒนาการติดตามที่มีความปลอดดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล [ Lapolla P, Lee R. Privacy versus safety in contact-tracing apps for coronavirus disease 2019. DIGITAL HEALTH. January 2020.] เช่น DP-3T, PEPP-PT, GA-PPTP ซึ่งถือว่าเป็นกรอบแนวคิดใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

4.2 นวัตกรรมด้านอุปกรณ์

ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์ ก่อให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ทดแทนจากกลุ่มพลเมืองที่มีความสามารถขึ้นมา เช่น หน้ากากผ้า ตู้ความดันลบ ฉากกั้น อุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือ แม้แต่ โดรน หรือ หุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเข้าไปใกล้ในพื้นที่นั้น เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และเราได้เห็นการบริจาคสิ่งเหล่านี้มากมาย

นวัตกรรมทางด้านวัคซีน และ อุปกรณ์ทดสอบโควิด ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในประเทศไทยก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในวงกว้าง หากยังเป็น มหาวิทยาลัยแพทย์ที่เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ จากกลุ่มอาจารย์และแพทย์ที่เชี่ยวชาญเอง โดยระดมทุนจากภาคเอกชนในการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถึงแม้จะไม่ใช่ด้านการออกแบบอุปกรณ์ แต่ด้านการใช้งานถือว่าน่าสนใจ สิ่งนั้นคือ ตู้ปันสุข ซึ่งเป็นตู้ที่ให้คนในชุมชนสามารถนำของที่เหลือจากการบริโภคนำมาแบ่งปัน และผู้ที่ขาดแคลนสามารถมาหยิบเท่าที่จะใช้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็สร้างผลกระทบทางจิตใจ และ แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งจากภาคพลเมือง โดยที่ไม่ได้พึ่งพิงอำนาจหรือทรัพยากรของรัฐ

5 ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ

5.1 นโยบาย และความพร้อมทางข้อมูลดิจิทัล

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนพยายามที่จะหาข้อมูล ใช้ข้อมูล เชื่อมโยง และ แบ่งปันข้อมูล เพื่อสามารถที่จะสร้างความร่วมมือและแก้ปัญหา ภาครัฐที่ควรจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และควรจะเป็นผู้ที่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำเสนอข้อมูล กลับไม่มีผู้รับผิดชอบหลักในส่วนนี้ หลายครั้งจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองในการทำหน้าที่ดังกล่าว เช่น ชัวร์ก่อนแชร์ และ เป็ดไทยสู้ภัย ปัญหาเกิดจากข้อจำกัดของนโยบายและกฎหมายต่างๆ ทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก และขาดความคล่องตัว ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์ต่างๆ รวมถึงบริการต่างๆ ทางดิจิทัลของภาครัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังขาดมาตรฐานของข้อมูลรวมถึงคำศัพท์ที่ต้องใช้ร่วมกัน 

5.2 หลักคิด แนวทางการรับมือของสังคม

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน และปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน หลักคิดและแนวทางการรับมือของสังคมและภาครัฐ ยังยึดติดกับกรอบระเบียบวิธีแบบเดิม และไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานสามารถที่จะออกจากกรอบได้ เช่น หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ที่ต่างจากกรอบการทำงานเดิมๆ หรือแม้ว่าจะต้อการพัฒนาแนวทางการรับมือใหม่ๆ ก็ต้องรออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน ซึ่งใช้เวลา ซึ่งไม่สอดคล้องและแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการพัฒนานวัตกรรมของภาคพลเมือง และเป็นเหตุผลที่ทำให้ ในสถานการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นสิ่งที่สร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาต่างๆ จากภาคประชาชนเองมากกว่าจะออกมาจากทางภาครัฐ

5.3 ความตระหนักรู้และความรับผิดชอบร่วมในสังคม

กลุ่มพลเมืองที่ต้องทำงานร่วมกันกับภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น หรือ ประชาชนในท้องถิ่น ยังพบได้ว่า บุคลากรภาครัฐในระดับท้องถิ่นยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของการปฎิบัติงานแบบเดิมๆ เช่น ความหละหลวมในการทำงาน การทำงานตามกรอบ และไม่ได้มองปัญหาหน้างาน แต่มองความสะดวกของตัวเองเป็นสำคัญ ผลักภาระไปให้ประชาชนและคนอื่นแทน ทำให้ หลายแนวทางที่ดีจากภาครัฐส่วนกลาง นอกจากจะไม่สามารถสร้างผลกระทบที่ดีตามที่วางแผนไว้ กลับสร้างปัญหาขึ้นแทน เช่น ปัญหา การติดเชื้อจากกลุ่มคนที่กลับเข้าเมืองไทย ในศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนต่างๆ และ หลายครั้งกระบวนการในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์และปรับแก้วิธีการใช้เวลา ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร