#คิดแต่ไม่ถึง: โควิด 19 และความเหลื่อมล้ำดิจิตอล

สุนิตย์  เชรษฐา

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1rVfIPp09IHGkk2fZhvQ7yHVy6fNzuCvF/view?usp=drivesdk

“คิดอยู่ทุกวัน คิดอยู่ทุกคืน

คิดว่าสักวัน ตัวฉันคงถูกลืม

น้อยลงทุกวัน ที่เราคุยกัน

เพราะว่าอะไร เธอถึงได้เปลี่ยนไป”

เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง โดยศิลปิน Tilly Birds

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผู้คนมากมายในสังคมประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตแทบทุกด้าน แต่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเองก็คิดถึงผู้คนเหล่านี้ ต่างต้องการส่งความคิดถึงที่จะดูแลผู้คนในสังคมผ่านทั้งมาตรการต่างๆ ความช่วยเหลือกันและกันอย่างมากมาย แต่หลายครั้งความคิดและความพยายามเหล่านี้ก็ส่งไปไม่ถึง เพราะผู้คนจำนวนหนึ่งติดอยู่ในช่องว่างทางดิจิตอล เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่มีทักษะดิจิตอล ขาดความมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอลในการร่วมแก้ไขวิกฤต สุดท้ายหากไม่มีใครมองความเหลื่อมล้ำดิจิตอลเหล่านี้ ความคิดที่ส่งไปไม่ถึง ก็จะกลายเป็นความชินชา จนผู้คนบางกลุ่มในสังคมจะถูกลืมไปเหมือนไร้ตัวตน จนกลายเป็นเหมือนเงาของโลกดิจิตอลที่ไม่มีใครใส่ใจ  และเงาที่ถูกทิ้งก็มักจะเป็นจุดเริ่มไปสู่วิกฤตใหม่ได้เสมอ

ความเหลื่อมล้ำดิจิตอล 4 มิติ ในโลกของโควิด-19

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี 

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลของสังคมยังมีอยู่ไม่น้อย และมีหลากหลายมิติ ความเหลื่อมล้ำในมิติพื้นฐานที่สุดคือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากสำนักงาน กสทช. สรุปว่าในปี 2562 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 50.1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในสิ้นปีเดียวกันคือ  66.5 ล้านคน  โดยทาง กทสช. รายงานว่าตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโครงการเน็ตประชารัฐที่กล่าวว่าครอบคลุมผู้ใช้ราว 20 ล้านคน  

อย่างไรก็ตามในเอกสารรายงานโครงการเน็ตประชารัฐในปีเดียวกันกล่าวว่ามีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนใช้งานราว 6 ล้านคนในราวสองหมื่นศูนย์ทั่วประเทศ  นอกจากนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจการใช้และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตจากปี 2552-2561 พบว่าในปี 2561 มีผู้ตอบว่าไม่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของประชากรที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป  ในขณะที่ช่วงปีเดียวกันมีสัดส่วนผู้ตอบว่าใช้โทรศัพท์มือถือเป็นราวร้อยละ 80 ของประชากร  

อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำดิจิตอลในไทยคือดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, UNICEF และ Oxford Poverty and Human Development Initiative - OPHI) ซึ่งเป็นการนำเสนอสถานการณ์ความยากจนให้ครอบคลุมทุกมิติสำคัญ ไม่ใช่แค่ในทางรายได้เท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงมิติอื่นๆเช่่น ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตในแบบที่ดีกับสุขภาพ และความมั่นคงทางการเงินเป็นต้น  โดยในปี 2560 พบว่ามีประชากรที่ยากจนหลายมิติจำนวน 11.9 ล้านคน และหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมิติความเป็นอยู่ (living conditions) คือเกณฑ์ความขัดสนของครัวเรือนที่สมาชิกไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้เลย  ซึ่งคำนวนว่าส่งผลต่อความยากจนหลายมิติถึง 13.9% ซึ่งเป็นรองเพียงปัจจัยการไม่มีบำเหน็จ/บำนาญที่ 14.7%  การเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตในฐานะปัจจัยนำไปสู่ความยากจนขัดสน จึงสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชนไม่น้อยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและโอกาสที่จะพัฒนาในด้านต่างๆที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน  

จากข้อมูลลักษณะนี้จึงอาจพอสรุปเบื้องต้นได้ว่าประเทศไทยยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอยู่หลายล้านคน และอาจมีการใช้ที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่เป็นกิจลักษณะอีกนับสิบล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในมิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอล 

ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็น

การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิตอล โดยเฉพาะในส่วนของการต่อเชื่อมกับระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงความไม่สะดวกและการไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายค่าบริการ ส่งผลโดยตรงต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นต่างๆ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ข้อมูลด้านการระบาดและสุขภาพ 

เมื่อภาครัฐบูรณาการส่วนงานต่างๆเข้าเป็นศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และเริ่มเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นระบบขึ้นผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และเฟซบุ๊กเพจของ ศบค. ในแต่ละวัน  ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลการระบาดของโรค และข้อแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพ การป้องกันตัวเอง ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับความรับรู้ของประชาชนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือสื่อสารดิจิตอลที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะสามารถเข้าถึงผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ และประกาศต่างๆในพื้นที่สื่อสารของท้องถิ่น ในมุมของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลนั้น ข้อมูลที่ประชนกลุ่มนี้เข้าถึงนั้นเมื่อเทียบกับข้อมูลจากช่องทางอินเตอร์เน็ตก็ยังมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อพฤติกรรมที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะมักจะเข้าไม่ถึงข้อมูลในรายละเอียดที่ไม่ได้สื่อสารช่องทางผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ (ในช่วงระบาด การส่งหนังสือพิมพ์ในบางพื้นที่ก็มีความท้าทายมาก) เพราะอาจมีรายละเอียดมากเกินไปเกินความเหมาะสมกับช่องทางการสื่อสารแบบอนาล็อก  หรือหากมีรายละเอียดก็อาจจะจำไม่ได้ หรือข้อมูลจำเพาะสำหรับท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงที่นอกเหนือไปจากช่องทางท้องถิ่นปกติ เช่น วิทยุชุมชน หรือเสียงตามสาย หากเป็นชุดข้อมูลที่กระจายมาจากส่วนกลางที่สุดท้ายมักจะไปอยู่ในเว็บไซต์ของสื่อท้องถิ่น เฟซบุ๊กเพจท้องถิ่น หรือเว็บส่วนราชการในพื้นที่ ก็ย่อมจะไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย 


ในช่วงการระบาดในระยะแรกๆนั้นความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน การดูแล และอาการของโรคโควิด-19 นั้นแทบจะเปลี่ยนแปลงทุกวัน มีรายละเอียดใหม่ๆตลอดเวลา  เช่น กรณีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกก็เปลี่ยนจากแนะนำว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยมาเป็นต้องใส่  หรืออาการร่วมของโรคที่มีรายละเอียดหรือที่มักพบบ่อยซึ่งถอดมาจากองค์ความรู้เชิงสถิติล่าสุดจากการสำรวจขององค์กรอนามัยโรคและรัฐบาลจีนในขณะนั้นก็มีรายละเอียดที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง  หรือแม้แต่ข้อมูลการพบเชื้อในสารคัดหลั่งหรือของเสียในรูปแบบต่างๆของร่างกายก็เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง จากที่ไม่พบในบางจุดเช่นของเหลวจากอวัยวะเพศ แต่สุดท้ายก็พบในแทบทุกจุด  นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามงานวิจัยที่เกิดขึ้นเช่นการแพร่กระจายเชื้อในอากาศอยู่ในลักษณะใด มีระยะได้เท่าไร เปลี่ยนจากรูปแบบหยดน้ำมาเป็นละอองน้ำพ่นต่างๆได้ในเงื่อนไขใดบ้าง ต้องใช้หน้ากากชนิดใดถึงจะมีประสิทธิภาพ ถ้าใช้หน้ากากผ้าจะต้องใช้ชนิดใด 

การเข้าถึงข้อมูลเช่นการระบาดในพื้นที่ตนเอง และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันดูแลและการปฏิบัติตนเหล่านี้มีความจำเป็นต้องเข้าถึงอย่างทันท่วงที และกลับมาดูรายละเอียด ติดตามความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้ ซึ่งแม้เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนักหากติดตามเฟซบุ๊กเพจ หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่สามารถเข้าถึงสื่อจากอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายแล้ว ย่อมทำให้การเข้าถึงนั้นอาจจะไม่ทันท่วงที อีกทั้งยังช้าและด้อยประสิทธิภาพเป็นอย่างมากหากต้องติดตามจากช่องทางสื่ออื่นที่ไม่ผ่านอินเทอร์เน็ต  อีกทั้งยังยังสุ่มเสี่ยงต้องการรับฟังข้อมูลผิดๆปากต่อปาก หรือข่าวลวงที่กระจายผ่านช่องทางดั้งเดิมในพื้นที่ และไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้โดยง่าย  จึงอาจกล่าวได้ว่าการที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสะดวกและได้คุณภาพนั้นมีผลต่อความเสี่ยงของพฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่แม้แต่หน่วยงานสาธารณะสุขในพื้นที่ก็ยังขาดข้อมูลความรู้เป็นต้น 

การเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตในช่วงภาวะระบาดของคนหลายล้านคนจึงเรียกได้ว่าอาจทำให้เสี่ยงชีวิตได้ทีเดียวเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต  แม้พวกเขาจะคิดแสวงหาข้อมูลความรู้แต่ก็เข้าไม่ถึง จึงเสี่ยงตายได้จากความเหลื่อมล้ำดิจิตอลที่นักนโยบาย กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ก็ล้วนไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทยในเร็ววันได้อย่างไร 

ช่วยเหลือเยียวยา  

นอกจากเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านสุขภาพแล้ว ประชากรกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสะดวกและมีคุณภาพย่อมจะมีแนวโน้มจะเข้าไม่ถึงข้อมูลรายละเอียดของมาตรการเยียวยาต่างๆ โดยเฉพาะการใช้สิทธิของตนตามมาตรการต่างๆที่ต้องไปลงทะเบียนรับสิทธิทางอินเตอร์เน็ต  ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของสภาพัฒน์ฯ​ในช่วงเดือนเมษายนเกี่ยวกับความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจฯ ที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย 8,929 คน จาก 77 จังหวัด พบว่า 88% ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ   และในการเปิดตัวมาตรการเช่น “เราไม่ทิ้งกัน” และอีกหลายมาตรการที่ต้องให้เข้าไปลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ตอกย้ำความเหลื่อมมล้ำดิจิตอลให้หนักหนาสาหัสขึ้น ซึ่งประชาชนที่ยากจนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยามากที่สุดกลับไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี   

นอกจากนั้นยังมักเชื่อมโยงระบบให้ต้องรับเงินเยียวยาผ่านระบบ promptpay และ mobile banking อีกด้วย ซึ่งแม้จะสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพกับประชาชนทั่วไป แต่กับกลุ่มผู้เปราะบาง คนยากจน ผู้สูงอายุนั้นย่อมทำให้มีความยากลำบากที่จะเข้าถึงการเยียวยาของรัฐได้หากไม่มีการออกแบบทางเลือกเสริมในช่องทางอื่นๆที่ไม่ต้องผูกโยงกับเทคโนโลยีดิจิตอล  ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดการที่ออกนโยบายที่โดยเงื่อนไขนั้นต้องบังคับให้ประชาชนไปธนาคารเพื่อจัดระบบ mobile banking ของตนหรือไปรับเงินนั้นก็สร้างความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มเติมอีก  นอกจากนี้ในกลุ่มที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลหรือต้องฝากให้เพื่อนบ้าน คนรู้จัก และญาติเป็นผู้ไปดำเนินการให้ตนเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาต่างๆ ยังเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ์ และการหลอกลวงนำข้อมูลส่วนตัวไปหาประโยชน์ (phishing) หรือได้รับสิทธิไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย 

แม้ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขไปบ้าง แต่ในการออกนโยบายเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เที่ยวด้วยกัน หรือ คนละครึ่ง ก็ยังออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบดิจิตอลโดยยังแทบไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประชาชนที่เข้าไม่ถึงหรือใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สะดวกหรือไม่มีรายได้เพียงพอในการจ่ายค่าบริการ จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง และก็ยังคิดไปไม่ถึงหรือไม่ได้ใส่ใจกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอยู่เช่นนัั้น 


นอกจากการเข้าถึงมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐแล้ว ผู้คนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการช่วยเหลือของภาคเอกชนและประชาชนกันเองอีกด้วย ในขณะที่มีสถานการณ์การปิดเมืองนั้น มีภาคเอกชนและประชาชนได้พัฒนาทั้งเฟซบุ๊กเพจ และแอปพลิเคชั่นต่างๆทั้งในระดับส่วนกลางและตามพื้นที่เมืองต่างๆ เพื่อใช้ในการกระจายข้าวของจำเป็น อาหารแห้ง จุดสนับสนุนอาหารเช่นลักษณะครัวกลาง หรือระดมทุนช่วยเหลือรายครัวเรือนโดยให้อธิบายสถานการณ์ความต้องการของตนบนเฟซบุ๊กกรุ๊ปแล้วจะมีผู้มีจิตเมตตาบริจาคสนับสนุนโดยตรง ซึ่งเมื่อเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ ไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิตอลเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือได้ ก็ย่อมจะทวีคูณความชัดสนทางโอกาสของประชาชนผู้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีขึ้นไปอีก 

จึงพอสรุปเบื้องต้นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจำเป็นนั้น ทำให้ประชากรนับล้านสุ่มเสี่ยงที่จะอดอยากและลำบากขาดความช่วยเหลือเยียวยาในภาวะวิกฤตการณ์โรคระบาด 

ความเหลื่อมล้ำในทักษะดิจิตอล 

นอกจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและข้อมูลจำเป็นแล้ว อีกมิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอลก็คือความเหลื่อมล้ำในทักษะดิจิตอล ที่บางครั้งก็อาจถูกเรียกว่า digital literacy ซึ่ง กพร. ให้ความหมายว่าคือทักษะในการใช้, การเข้าใจ, การสร้าง และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอล 

ผศ. ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น ได้ทำการวิจัยในหัวข้อทักษะดิจิตอลแล้วพบว่าผู้ชายมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตทัล มีความรู้ และมีการตระหนักถึงความเสี่ยงในโลกดิจิตอลมากกว่าผู้หญิงอย่างมีนัยยะสำคัญ  และจากการสุ่มตัวอย่างทางสถิติพบว่าจัดกลุ่มประชากรได้ 3 ลักษณะคือมีทักษะดิจิตอลที่ดี (digital fluency) ร้อยละ 56 มีทักษะพอใช้ (digital neutral) ร้อยละ 55 และด้อยทักษะ (digital illiterate) ถึงร้อยละ 21 

ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะนี้มีผลอย่างไรต่อการเอาตัวรอดและการปรับตัวในช่วงวิกฤตโควิด นอกจากเรื่องการมีความสามารถที่จะค้นหาข้อมูลสถานการณ์ระบาด ความเสี่ยง การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆแล้ว  อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาในช่วงการระบาดของโควิดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทักษะดิจิตอลก็คือความสามารถที่จะทำความเข้าใจและรับมือกับข่าวลวงที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะในมิติเรื่องความรู้ ความเสี่ยง การป้องกัน หรือแม้แต่การรักษา ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นโรคระบาดเชิงข้อมูล (infodemics) สถานบัน ChangeFusion ร่วมกับโครงการ COFACT ได้ศึกษาเนื้อหาที่เป็นข่าวลวงเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างมากและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ พบประเด็นเช่น COVID-19 เป็นอาวุธชีวภาพ, ป้องกัน COVID-19 ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของลำคอ, กลั้นหายใจเพื่อตรวจสอบว่าติดโควิดหรือไม่, ใส่หน้ากากอนามัยทำให้เลือดเป็นกรด, รักษาโควิดด้วยการดื่มน้ำกระเทียมต้ม, ฉีดสเปร์ยเบตาดีนรักษาโควิดได้ ซึ่งข่าวลวงเหล่านี้มีประชาชนให้ความสนใจผ่าน platform social media ต่างๆอย่างมาก และบางเนื้อหาก็ได้รับการเผยแพร่โดยสื่อมวลชนหรือผู้มีผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมากอีกด้วย  ซึ่งล้วนเป็นข่าวลวงที่ส่งผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ที่เชื่อข่าวลวงเหล่านี้ หากไม่มีทักษะดิจิตอลที่จะทำความเข้าใจ ตั้งคำถาม สังเกตุที่มาของเว็บหรือเพจที่เผยแพร่ข้อมูล ตัดสินใจและหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าควรจะเชื่อถือหรือไม่ ย่อมจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจมีพฤติกรรมการรับสื่อคล้ายสื่อดั้งเดิม คือมีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวทีส่งต่อๆกันมา หรือมีหน้าเว็บ มีหน้าเพจที่คนติดตามเยอะๆ แล้วเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงแล้วเผยแพร่ต่อเป็นต้น 

อีกโอกาสสำคัญที่ความเหลื่อมล้ำในมิติทักษะดิจิตอลมีผลอย่างมาก ก็คือการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ ที่เรียนรู้ได้ผ่านแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านช่อง YouTube และเว็บเรียนออนไลน์ต่างๆ ในสถานการณ์ที่มีผู้ตกงานจำนวนมากนับล้านคน การปรับทักษะให้สามารถหางานอื่นๆทำได้ การทำอาชีพอิสระ หรือการประกอบการขนาดเล็ก จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ และเนื้อหาวิธีการบทเรียนต่างๆนั้นล้วนมีอยู่ไม่น้อยบนโลกออนไลน์และยังเป็นภาษาไทยอีกด้วย แต่ผู้ที่ขาดทักษะดิจิตอลย่อมจะศึกษาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนาโอกาสให้ตนเองได้ยากกว่ากลุ่มคนที่มีทักษะดิจิตอลดีอยู่แล้ว  

โอกาสพัฒนาทักษะอาชีพที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะในช่วงโควิดก็คือการขายของออนไลน์ ทั้งผ่านไลน์กลุ่มเพื่อน/พื้นที่ ผ่านเว็บขายของต่างๆ และโดยเฉพาะกลุ่ม Facebook ที่ไลฟ์ขายของได้ กลุ่มเฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องไปหารายได้เสริมด้วยวิธีการดังกล่าว การเรียนรู้ว่าควรจะใช้ช่องทางใดที่เหมาะกับสินค้าบริการและพื้นที่ของตน รวมทั้งเงื่อนไขข้อจำกัดและการจัดการระบบออนไลน์รวมถึงต้นทุนต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างมาก  ทักษะดิจิตอลในการซื้อขายออนไลน์ในมุมการป้องกันระวังการหลอกลวงทั้งผู้ซื้อและผู้ขายด้วยการสังเกตุข้อมูลต่างๆจึงยิ่งทวีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่บีบคั้นให้คนต้องไปขายของออนไลน์เป็นหลักทั้งในช่วงปิดเมือง และช่วงหลังจากนั้นที่แม้เกิดการเปิดเมืองแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็รุนแรงขึ้น 

อีกหนึ่งทักษะดิจิตอลที่สำคัญในเรื่องอาชีพก็คือการหางานออนไลน์ ซึ่งในตลาดแรงงานที่ค่าจ้างไม่สูงมากนัก และมีความเป็นท้องถิ่นสูง มักจะไม่ได้ใช้ช่องทางระบบค้นหางานออนไลน์ของเอกชนทั่วไป แต่มักไปใช้กลุ่มหางานในระดับท้องถิ่นบนเฟซบุ๊กเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องมีทักษะเบื้องต้นในการใช้ระบบเหล่านี้เข้าถึงงานที่เหมาะสมกับตัวเอง 

โอกาสทางดิจิตอลเหล่านี้เปิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงโควิดอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน แต่ความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงการเข้าถึงเทคโนโลยีและทักษะดิจิตอลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรนับล้านคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้พัฒนาทักษะทางดิจิตอลเหล่านี้ได้อย่างเป็นกิจลักษณะและมีประสิทธิภาพได้ 

ความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมืองดิจิตอล 

มิติความเหลื่อมล้ำดิจิตอลมิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือในแง่มุมของพลเมืองดิจิตอล ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมดูแลสังคมผ่านเครื่องมือดิจิตอลต่างๆ ซึ่งเป็นมิติที่มีแง่มุมเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง ทัศนคติของภาครัฐ และความเชื่อถือไว้ใจกันและกันระหว่างประชาสังคมและภาครัฐในการร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งต่างๆไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิพลเมืองดิจิตอลอาจเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆย่อมจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

เรามักชื่นชมประเทศอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันที่สามารถใช้เทคโนโยลีดิจิตอลมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วมกับประชาชนและนักเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เราเห็นการเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ระบาดในลักษณะที่บอกจุดต่างๆที่มีผู้ติดเชื้ออยู่อาศัยหรือเคยทำกิจกรรมในพื้นที่สถานที่นั้นๆเกินระยะเวลาสำคัญหนึ่งๆ และรายงานว่ามีการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลการระบาดแบบละเอียดนี้ถูกเปิดเผยอย่างเป็นระบบในความลึกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และแม้แต่สิงคโปร์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ระบาดได้อย่างทันท่วงที ตัดสินใจหลีกเลี่ยงหรือเตรียมความพร้อมในการไปสถานที่ต่างๆที่มีข้อมูลการระบาดอย่างชัดเจน รัฐบาลเหล่านี้เลือกที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ โดยเชื่อว่าประชาชนและสื่อสารมวลชนจะไม่ตระหนกหากได้ข้อมูลแม่นยำ ทันท่วงที และต่อเนื่อง และลดข่าวลวงที่อาจเกิดขึ้นหากแค่บอกว่าพื้นที่ใดพบการติดเชื้อแบบกว้างๆดังเช่นรูปแบบการสื่อสารของรัฐบาลไทย ซึ่งหลายครั้งก็นำไปสู่ข่าวลือข่าวปลอมข่าวลวงจำนวนมาก เช่นกรณีทหารอียิปต์ติดเชื้อที่ระยอง เมื่อไม่ได้เปิดเผยข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับจุดที่ได้สืบสวนโรค จึงทำให้เกิดข่าวลือข่าวปลอมจำนวนมาก จนกระทบเศรษฐกิจของพื้นที่ตรงนั้นที่เพิ่งเข้าสู่การเปิดเมืองไม่นานและคาดหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยว  จนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ยังไม่การเปิดเผยข้อมูลการสืบสวนโรคเชิงสถานที่ในลักษณะเดียวกับประเทศดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด เพียงแต่แจ้งข้อมูลภาพรวมเชิงพื้นที่เป็นหลัก อาจด้วยความกังวลว่าจะเกิดความตระหนกในจุดสถานที่เหล่านั้น ซึ่งหากดูตัวอย่างประเทศทั้งสี่ ก็จะพบได้ว่าการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไว้ อาจเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพกว่า เพราะสื่อมวลชน นักเทคโนโลยี และเครือข่ายประชาชนอีกไม่น้อยที่สามารถพัฒนาเครื่องมือการสื่อสารจากชุดข้อมูลลักษณะนี้เป็นกราฟิคหรือเป็นระบบแผนที่ซึ่งดูได้บนมือถือ หรือส่งต่อข้อมูลผ่าน SMS สำหรับประชากรที่เข้าไม่ถึงหรือไม่สะดวกใช้อินเตอร์เน็ตมากนัก  เมื่อข้อมูลต้นทางมีลักษณะเป็นภาพกว้างขาดรายละเอียด การพัฒนาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ประชาชนแต่ละกลุ่มเข้าถึงได้โดยสะดวกและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนก็ทำได้อย่างยากลำบาก ในช่วงการระบาดโควิดช่วงแรกๆมีนักเทคโนโลยีหลายกลุ่มพัฒนาระบบแสดงผลพื้นที่เสี่ยง จุดต่างๆที่พบผู้ติดเชื้อออกมา และเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำต่อเนื่องได้เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นทางการได้ จึงจำเป็นต้องดึงข้อมูลมาจากสื่อมวลชนต่างๆที่พยายามไปทำข่าวเจาะเองในหลายพื้นที่ ซึ่งก็ยากลำบากต่อการรวบรวมข้อมูลและเสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายจึงไม่สามารถทำได้อย่างเกิดประสิทธิภาพอย่างในประเทศอื่นๆ เพราะรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือในช่วงที่หน้ากากอนามัยยังขาดตลาดอยู่มาก มีนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่พัฒนาเครื่องมือให้คนที่ขายหน้ากากอนามัยไปใส่ข้อมูลได้ว่าขายที่ไหน มีของเท่าไหร่ ของลักษณะใด เพื่อให้ประชาชนไปซื้อได้ถูกจุดมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดการข้อมูลให้มีความถูกต้องได้เพราะไม่รู้ว่าร้านใดขายจริงหรือปลอม ความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีปัญหาจนทำให้เครื่องมือไม่ได้รับการใช้งานแก้ปัญหาสภาวะวิกฤตอย่างที่ควรจะเป็นได้  ในขณะที่ในไต้หวันมีระบบคล้ายๆกันที่พัฒนาโดยภาคประชาชน แล้วหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยสนับสนุน เช่นการเชื่อมโยงกับข้อมูลร้านค้าของภาครัฐที่มีข้อมูลว่าขายหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ สนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการใช้งานจริงโดยมีภาครัฐเชื่อมโยงสนับสนุนต่อยอด ขณะที่รัฐไทยก็เกิดระบบคล้ายๆกับที่ภาคประชาชนทำ แต่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐเอง ซึ่งแม้เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังขาดการเชื่อมโยงกับเครื่องมือของประชาชนเดิมซึ่งอาจจะพัฒนาระบบได้รวดเร็วกว่าโดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสำคัญของรัฐเป็นต้น  

สถานการณ์ที่เกิดการพัฒนาระบบเครื่องมือดิจิตอลโดยประชาชนเพื่อร่วมแก้ปัญหา แต่รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลพื้นฐานสำคัญ หรือไปพัฒนาระบบกับหน่วยงานของตนเอง เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงวิกฤต และก็มักจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ หรือสูญเสียความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนและนักเทคโนโลยีที่อาสาเข้ามาร่วมพัฒนาไป  เช่น กรณีการบริจาคของให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่าง แต่กระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลางคล้ายมีนโยบายไม่ให้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ และยังมีกรณีที่หมอหรือพยาบาลที่ออกสื่อเรียกร้องของความช่วยเหลือต่างๆกลับถูกว่ากล่าวตักเตือน จึงทำให้เครื่องมือจากหลายกลุ่มไม่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบ ต้องแอบทำกับโรงพยาบาลที่ร่วมมือแบบไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหมด ทำให้การบริหารจัดการการบริจาคของต่างๆของประชาชนเป็นไปอย่างขาดโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อกระจายของได้อย่างเหมาะสมอย่างตรงไปตรงมา 

หรือการพัฒนาเครื่องมืออย่างไทยชนะซึ่งสำคัญและมีประโยชน์ เดิมมีเครือข่ายภาคประชาชนและเอกชนได้ร่วมพัฒนาระบบในลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ในที่สุดก็เกิดกรณีที่ใช้ทีมงานของธนาคารกรุงไทยมาทำแทน ซึ่งเป็นการสั่งการแบบบนลงล่างโดยไม่มีส่วนร่วมใดๆกับสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนพัฒนาไว้เดิม ซึ่งไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร เหมาะสมแค่ไหน ก็ทำให้เกิดความสงสัย ไม่ไว้ใจ ทำลายบรรยากาศของความร่วมมือระหว่างประชาชน เอกชน และรัฐที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน   

จึงจะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพลเมืองดิจิตอลนั้นขึ้นกับทัศนคติและวิธีปฏิบัติของภาครัฐอย่างมาก ว่ามีการเปิดข้อมูล เปิดโอกาส สร้างความมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใสในสื่อสาร พัฒนาความเชื่อถือไว้ใจมากน้อยเพียงใด ประเทศไทยไม่ได้มีเครือข่ายประชาสังคมที่พัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลมาร่วมแก้ปัญหาโควิดน้อยกว่าประเทศอย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นยังขาดการร่วมมือ การเชื่อมโยง การสนับสนุนต่อยอดจากรัฐ ซึ่งหากยังมีทัศนคติแบบดั้งเดิมหรือสุดท้ายจะทำเองหมด ก็ย่อมไม่สามารถเกิดนวัตกรรมดิจิตอลในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมได้  

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดิจิตอลที่พยายามสร้างความมีส่วนร่วมทางดิจิตอลของพลเมืองดิจิตอลที่ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐก็มีพอสมควร โดยเฉพาะจากองค์กรสนับสนุนที่มีทัศนคติในเชิงเปิดความร่วมมืออยู่แล้ว เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีบทบาททางนโยบาย

คิดแล้วให้ถึง: 4 แนวทางลดความเหลื่อมล้ำดิจิตอล

บทความนี้มุ่งเน้นให้เห็นความเหลื่อมล้ำดิจิตอลใน 4 มิติ คือมิติการเข้าถึงเทคโนโลยี มิติการเข้าถึงข้อมูลจำเป็น มิติทักษะดิจิตอล และมิติการมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอล อาจยังไม่ได้เจาะลึกถึงทางออกมากนัก แต่มีข้อเสนอเบื้องต้นในแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำดิจิตอลทั้งสี่ด้าน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การตั้งคำถาม การศึกษาวิจัยต่อไปได้ดังนี้ 

1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบถ้วนหน้าหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมการพัฒนาทักษะดิจิตอลอย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันยังไม่มีแผนงานใดๆที่กำหนดให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตซึ่งมีความสำคัญจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเข้าถึงมาตรการต่างๆของรัฐ ให้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสาธารณูประโภคพื้นฐานชนิดหนึ่งที่ต้องเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกคนในเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะผ่านการผสมผสานของกลไกราคาที่ต้องมีทางเลือกที่ราคาต่ำเพียงพอต่อกำลังซื้อของคนจน หรือการขยายอินเทอร์เน็ตฟรีให้ครอบคลุมกลุ่มที่เข้าไม่ถึงปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ให้ได้ อาจศีกษาข้อดีข้อเสียของโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐว่าขยายผลโดยแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร สามารถเชื่อมโยงกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างไร จำเป็นต้องเป็นระบบ wifi ประชารัฐอย่างเดียวหรือไม่ จะสร้างการเข้าถึงถ้วนหน้าโดยไม่กระทบกับตลาดผู้ให้บริการที่มีอยู่เดิมจนมากเกินไปอย่างไร  นอกจากการเข้าถึงพื้นฐานแล้ว การเข้าถึงอย่างมีคุณภาพ และการเร่งพัฒนาทักษะดิจิตอลจะสามารถดำเนินการให้ไปถึงกลุ่มที่ขาดทักษะอย่างมากได้อย่างไร 


2. การพัฒนาศักยภาพขององค์กรและเครือข่ายข้อต่อสุดท้ายทางดิจิตอล (last mile intermediary)

แม้ประชากรบางส่วนจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลและระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่ในหลายบริบทก็สามารถเข้าถึงเชื่อมโยงผ่านองค์กรหรือเครือข่ายที่สามารถวางตัวเป็นข้อต่อสุดท้ายทางดิจิตอลระหว่างบริการหรือมาตรการดิจิตอลของรัฐและพื้นที่หรือท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิตอลได้  เช่น ในประเด็นสุขภาพก็อาจใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ในประเด็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและทักษะดิจิตอลก็มีการพัฒนาเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐอยู่

องค์กรหรือเครือข่ายภาคประชาสังคมก็สามารถทำหน้าที่ในลักษณะนี้ได้ในการเชื่อมต่อมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ เอกชน หรือโอกาสทางดิจิตอลต่างๆให้กับพื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงได้ โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาโอกาสทางทักษะและการสร้างอาชีพสำหรับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจต่อเนื่องยาวนานได้ 


3. OPEN DATA & OPEN GOVERNMENT นโยบายข้อมูลเปิดและรัฐบาลเปิด

ประเทศไทยมีหน่วยงานอย่างสำนักงานรัฐบาลดิจิตอล (DGA) ที่ดูแลเรื่องข้อมูลเปิดอยู่แล้ว ในมุมของโควิด-19 ก็ยังดูแลชุดข้อมูลเปิดที่เกี่ยวข้องอีกด้วย หากเราจะสรุปบทเรียนการเปิดเผยข้อมูลทั้งจากในประเทศ และต้นแบบควมสำเร็จของมาตรฐานข้อมูลเปิดเปิดสำหรับรับมือกับสภาวะวิกฤตโรคระบาด ทั้งข้อมูลการสืบสวนโรคที่เปิดเผยแบบละเอียดมากขึ้นแต่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลของรัฐที่เกี่ยวกับร้านหรือสินค้าบริการที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ชุดข้อมูลมาตรการต่างๆที่สามารถเปิดเผยผ่านระบบต่อเชื่อมอัตโนมัติได้ (API) ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือการระบาดรอบสองหากเกิดขึ้น หรือเป็นการเตรียมรับมือวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งถัดไป  นอกจากมาตรฐานข้อมูลเปิดแล้ว รัฐบาลยังสามารถตั้งใจมีนโยบายและกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมทางดิจิตอลกับประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมต่างๆเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมุมความมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (meaningful participation) ของพลเมืองดิจิตอลได้ตามแนวทางที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนโยบาย OPEN GOVERNMENT ที่อยู่ใต้ กพร. ซึ่งกำลังพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของรัฐทั่วโลกที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนามาตรฐานและกระบวนการรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership) ซึ่งสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนทั้งเรื่องข้อมูลเปิดเพื่อความมีส่วนร่วมของพลเมืองดิจิตอลได้  

อ้างอิง 

ข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กสทช. http://webstats.nbtc.go.th/netnbtc/HOME.php

ข้อมูลโครงการเน็ตประชารัฐ https://npcr.netpracharat.com/Documents/20190805_APT_Netpracharat_V12_Final.pdf

การวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล: ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการของห้องสมุดประชาชน วลัยลักษณ์ อมรสิริพงศ์
http://www.journal.rmutt.ac.th/index.php/mmr-vol1/article/view/1600

ความยากจนหลากมิติในประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10859&filename=social

เมื่อมาตรการเยียวยาโควิด-19 กลายเป็นหลักฐานความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ไม่ได้รับการเยียวยา

Digital Literacy Project 

https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp

เราจะหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงด้วย Super-corrector ได้อย่างไร

https://changefusion.org/blog/fakenews-super-corrector

ทำความใจพลวัตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการศึกษาทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Symposium_14Sep2020.pdf