อดีตที่ถูกขุดของ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา อะไรจริง-ไม่จริง?

Top Fact Checks Political

การถูก “ขุดอดีต” เป็นเรื่องที่นักการเมืองหลายคนต้องเผชิญเมื่อกำลังจะรับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง แต่ในกรณีของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก และว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้มีการนำภาพและข้อความจากเฟซบุ๊กของเขามาตัดทอนและบิดเบือน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านายปดิพัทธ์เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากพรรคก้าวไกลที่เขาสังกัด

จากการตรวจสอบของโคแฟคเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 พบว่า เนื้อหาจากเฟซบุ๊กของนายปดิพัทธ์ที่ถูกนำมาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเขาเป็น “อดีต กปปส.” มีอยู่อย่างน้อย 3 โพสต์ คือ

  • 7 เม.ย. 2557 โพสต์ภาพยืนเล่นอูคูเลเลกับเพื่อนนักกิจกรรมในที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่สีลม
  • 12 ม.ค. 2557 แชร์บทความวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดงที่เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยหยิบยกข้อความบางส่วนจากบทความมา และเขียนข้อความตั้งคำถามกับการทำหน้าที่สื่อมวลชนของแนวหน้าว่า “นี่มันหนังสือพิมพ์หรือคู่มือเสี้ยมครับ”
  • 12 ธ.ค. 2556 แชร์เนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “กปปส” ว่าด้วยแนวทางการจัดตั้ง “สภาประชาชน” โดยนายปดิพัทธ์เขียนข้อความว่า “มาละครับ แนวทางสภาประชาชน”

โคแฟคตรวจสอบ

โคแฟคตรวจสอบเนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับอดีตและประวัติของนายปดิพัทธ์ใน 4 ประเด็น ที่ถูก “ขุด” ขึ้นมาหลังจากพรรคก้าวไกลเสนอชื่อเขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

1) ภาพยืนเล่นอูคูเลเลกับเพื่อนนักกิจกรรมในที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

ภาพนี้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำไปบิดเบือนว่า นายปดิพัทธ์เข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส. ซึ่งนายปดิพัทธ์ได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊กเมื่อ 7 เม.ย. 2564 ว่าเป็นภาพที่เขายืนเล่นดนตรีกลางที่ชุมนุม กปปส. ที่สีลมเพื่อรณรงค์ให้ยุติการสร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง โดยยืนยันว่า “ไม่ได้ไปร่วมม็อบ”

นายปดิพัทธ์ชี้แจงภาพนี้อีกครั้งเมื่อ 13 ก.ย. 2564 ว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงรณรงค์เพื่อสันติภาพจากการเชิญชวนของเพื่อนรุ่นน้อง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุม กปปส. ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง

“ในเนื้อตัวเราไม่นกหวีด ไม่มีสัญลักษณ์ธงชาติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ร้องเพลงกันบอกให้ใจเย็นๆ ไม่ฆ่ากัน ไม่เรียกร้องความรุนแรง” นายปดิพัทธ์ระบุในโพสต์พร้อมกับย้ำว่าเขาไม่ได้เป็น กปปส.

นายปดิพัทธ์โพสต์ภาพนี้เมื่อ โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2557

ในการให้สัมภาษณ์โคแฟคทางโทรศัพท์เมื่อ 3 ก.ค. 2566 นายปดิพัทธ์ยืนยันข้อมูลที่ชี้แจงตามโพสต์ข้างต้น และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองทั้งของ กปปส. และของกลุ่มคนเสื้อแดง เขามักเดินทางไปสังเกตการณ์การในที่ชุมนุม แต่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้สนับสนุนของกลุ่มใด

โคแฟคได้รับข้อมูลจากอดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญร้องเพลงเพื่อสันติภาพว่า ในช่วงปี 2557 สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง กลุ่มของเธอจึงคิดกิจกรรมที่จะทำให้คนที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เกิดเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า “Fill Love in the Blank: เติมรักลงในช่องว่าง” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงความสำคัญของความรักในการเชื่อมผู้คนที่มีความคิดความเชื่อต่างกัน โดยนายปดิพัทธ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทยได้มาร่วมกิจกรรมด้วย

“เราคือกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นความรุนแรงที่ประชาชนทำต่อกัน…จริงๆ วางแผนว่าหลังจาก กปปส. เราจะไปร้องเพลงในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่สถานการณ์มันเริ่มแรงขึ้น ก็เลยไม่ได้ไป” เธอระบุ 

2) แชร์บทความวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดงที่เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า

12 ม.ค. 2557 นายปดิพัทธ์แชร์บทความจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้าซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดง โดยเขาได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากบทความนั้นมา และเขียนข้อความว่า “นี่มันหนังสือพิมพ์หรือคู่มือเสี้ยมครับ” ซึ่งเป็นการวิจารณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนของหนังสือพิมพ์แนวหน้าที่นำเสนอบทความชิ้นนี้

ข้อความจากบทความที่นายปดิพัทธ์หยิบยกมาระบุว่า “การ ‘ตอแหล’ เปลี่ยนเสื้อแดงเป็นเสื้อขาว เปลี่ยนจากจุดไฟเผา เป็นจุดเทียนสันติภาพ มันก็แค่ปฏิบัติการกอบกู้ระบอบทักษิณก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะมาถึง แล้วเห็บหมัดจะไม่มีหมาให้สูบเลือดกินเท่านั้นกระมัง”  

วันที่ 2 ก.ค. 2566 น.ส.ลักขณา ปันวิชัย นักวิจารณ์การเมืองและพิธีกรสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้นำโพสต์ของนายปดิพัทธ์มาเผยแพร่ในทวิตเตอร์ @kamphaka โดยตัดส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการแชร์บทความของแนวหน้าออกไป พร้อมกับเขียนข้อความว่า “นี่คืออดีตที่จะปฏิเสธว่าไม่จริงคงไม่ได้ ส่วนปัจจุบัน ถ้าเสียงส่วนใหญ่มีฉันทามติว่า ‘รับได้’ เพราะเขา ‘กลับใจ’ แล้ว เราก็ฝืนฉันทามตินั้นไม่ได้ That’s it!” ทำให้หลายคนเข้าใจว่าข้อความวิจารณ์คนเสื้อแดงเป็นความเห็นของนายปดิพัทธ์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นข้อความที่เขาคัดลอกมาจากบทความในหนังสือพิมพ์แนวหน้า

เนื้อหาในทวิตเตอร์ @kamphaka (ซ้าย) ไม่มีภาพของบทความจากแนวหน้าที่นายปดิพัทธ์แชร์ในเฟซบุ๊ก Padipat Ong

ต่อมาเมื่อถูกทักท้วงว่าโพสต์ของเธอทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อนายปดิพัทธ์ น.ส.ลักขณาจึงขยายความว่าข้อความที่เธอทวิตนั้นหมายถึง “เป็นหรือไม่เป็น กปปส. คืออดีต ต่อให้เคยเป็น แต่ถ้าปัจจุบันเสียงฉันทามติของประชาชนยอมรับคุณ เราก็ต้องเคารพ”

3) แชร์เนื้อหาว่าด้วยข้อเสนอการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ของ กปปส.

โพสต์นี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในลักษณะที่ว่า นายปดิพัทธ์สนับสนุนข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ซึ่งในครั้งนั้น กปปส. เสนอว่าให้จัดตั้งสภาที่มีสมาชิก 400 คน ที่ไม่เป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ 300 คน และมาจากการสรรหา 100 คน

นายปดิพัทธ์ชี้แจงกับโคแฟคว่า เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ กปปส. รวมถึงข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง “สภาประชาชน” แต่ในตอนนั้นไม่ได้เขียนอธิบายความคิดเห็นประกอบ โพสต์ดังกล่าวจึงถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นการแชร์โพสต์เพราะเห็นด้วยกับ กปปส.

ต่อมาเขาได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ข้อเสนอสภาประชาชนของ กปปส. โดยระบุว่าเขาเคารพการชุมนุมอย่างสันติของ กปปส. แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งสภาประชาชน

4) ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์? งดออกเสียง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม?

นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับ กปปส. แล้ว ยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียโพสต์เนื้อหาทำนองว่า นายปดิพัทธ์ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์จริง เนื่องจากเมื่อนำชื่อไปค้นหาในระบบตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ของสำนักงานสัตวแพทยสภาแล้ว ไม่พบว่ามีชื่ออยู่ในระบบ

กรณีนี้นายปดิพัทธ์ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาไม่ประสงค์จะทำอาชีพสัตวแพทย์หรือเปิดคลินิกรักษาสัตว์ จึงไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ จึงไม่มีชื่อของเขาอยู่ในระบบของสัตวแพทยสภา

โคแฟคสอบถามไปที่สัตวแพทยสภาได้รับคำอธิบายว่า ผู้ที่จะมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ที่ขอขึ้นทะเบียนกับสัตวแพทยสภาเท่านั้น

อดีตอีกเรื่องหนึ่งของนายปดิพัทธ์ที่ถูก “ขุด” มาคือการที่เขางดออกเสียง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำเสนอ

ในการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระที่ 1 เมื่อ 17 มิ.ย. 2565 นายปดิพัทธ์งดออกเสียงจริง ซึ่งต่อมาเขาได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า เหตุผลที่งดออกเสียงเพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่กระทบความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากเขานับถือศาสนาคริสต์และเห็นว่าชุมชนชาวคริสเตียนมีความกังวลเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เขาจึงเลือกที่จะสงวนความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ในฐานะคริสเตียนคนหนึ่ง

“จุดยืนของคริสเตียนในเรื่องนี้ยังไม่ลงตัว ผมจึงยังอยากสงวนความเห็นไว้ว่ากฎหมายนี้กระทบความเชื่อทางศาสนา แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ริดรอนสิทธิของผู้นับถือศาสนาใดๆ ผมก็จะโหวตสนับสนุนแน่นอน” นายปดิพัทธ์ให้สัมภาษณ์โคแฟค   

ข้อสรุปโคแฟค

การ “ขุดอดีต” ของบุคคลสาธารณะจากรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) มักเกิดขึ้นควบคู่กับการให้บริบทที่ผิด ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือบิดเบือนเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อบุคคลนั้น กรณีของนายปดิพัทธ์ มีการนำโพสต์ในเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะมาบิดเบือนข้อเท็จจริง ตัดทอนเนื้อหาเพื่อชักนำให้เข้าใจว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนและเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.

ส่วนประเด็นเรื่องการไม่พบชื่อในฐานข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์และการงดออกเสียงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น แม้จะเป็นข้อเท็จจริง แต่ขาดบริบทและข้อมูลที่จำเป็น ทำให้เกิดการตีความที่อาจสร้างความเสียหายต่อบุคคลได้

เรื่องแนะนำ