‘โรคระบาด-ข่าวปลอม-การเมืองแบ่งขั้ว’ เรื่องเล่าต่างแดนว่าด้วยงาน‘คนทำสื่อ’ยุคโควิด

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

ปี 2563 ที่ผ่านมาและล่วงเลยมาถึงปี 2564 ในปัจจุบันที่โลกเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้แรงกดดันทั้งการเป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อเพราะต้องรายงานข่าวจากสถานที่ต่างๆ ที่ถูกระบุว่าเป็นจุดเสี่ยง การต้องรับมือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ไหลบ่าเข้ามาจำนวนมากในยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็นำเสนอเนื้อหาใดๆ ก็ได้ เพื่อกลั่นกรองว่าข้อมูลใดจริง-เท็จ รวมถึงการทำหน้าที่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมแตกแยกเป็น 2 ขั้วหรือหลายขั้ว และโรคระบาดก็กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่แต่ละฝ่ายหยิบยกมาโจมตีกัน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 หรือ World Press Freedom Day 2021 : Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15 ว่าด้วยเรื่อง Information as A Public Good ซึ่งวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 

หนึ่งในกิจกรรมวันดังกล่าวคืองานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “How should media report on Covid-19 Vaccines without fear or favor?” มีวิทยากรหลายท่านมาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของสื่อในต่างประเทศในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ

สเตฟาน เดลโฟร์ (Stephane Delfour) หัวหน้าสำนักข่าว AFP ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สิ่งที่สำนักข่าว AFP ทำคือการรายงานข่าวจากสถานที่จริง ในขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าวก็ต้องมาจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และต้องสามารถอธิบายกับประชาชนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

อย่างในประเด็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ต้องมีการถามและตอบคำถาม เช่น วัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ วัคซีนชนิดใดมีประสิทธิภาพดีที่สุด วัคซีนแต่ละชนิดต้องฉีดกี่ครั้ง เพราะเหตุใดจึงมีความล่าช้าในหลายประเทศหรือหลายๆ สถานการณ์ มีการพูดคุยกับทั้งแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ อีกทั้งพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด 

และแม้การนำเสนอข่าวต้องรายงานตามข้อเท็จจริง แต่ก็ต้องนำเสนอมุมมองด้วยเช่นกัน เช่น ข่าวที่นำเสนอนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเลือกนำเสนอเรื่องนี้ หรือรู้สึกว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การทำงานของสื่อต้องตั้งอยู่บนความโปร่งใสด้วยเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน ท่ามกลางข้อมูลมากมายต้องทำให้เห็นว่าเนื้อหาของสำนักข่าวนั้นเชื่อถือได้ 

เดลโฟร์ เล่าต่อไปถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มีผลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 60 ไม่อยากฉีดวัคซีน เหตุผลสำคัญคือวัคซีนโควิด-19 ถูกผลิตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก จึงมีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน หรือที่ เมียนมา มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกันว่าใครไม่ฉีดวัคซีนจะโดนประณามทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน พื้นที่ออนไลน์ก็มีการแพร่กระจายข่าวลือต่างๆ มากมาย จึงเป็นความท้าทายของสำนักข่าว AFP ที่จะเข้าถึงผู้รับสารกลุ่มใหม่ๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง 

“เรามีบริการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีทั้งหมดอยู่ประมาณ 80 ประเทศ ผู้สื่อข่าวทุกคนของ AFP ก็มีหน้าที่อุทิศตนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย ที่มีการดำเนินงานในจุดนี้ทั้งหมด 16 ภาษา และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน เราก็มีการตรวจสอบข้อความที่เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริงต่างๆ ในภาษาไทยด้วยเช่นกัน ตัวโรคระบาดนี้มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคระบาดทางข้อมูลข่าวสาร หลายๆ ข่าวหรือหลายๆ ผู้นำเสนอก็มีอิทธิพลอย่างมากเลยในโลกออนไลน์ อย่างเช่นกลุ่มที่เป็นผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีน ก็มีอิทธิพลอย่างมากเช่นกัน เราจะเห็นว่ามีจำนวนคนที่เข้ามาชม Content (เนื้อหา) ของเขาเยอะขึ้นมากๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา” เดลโฟร์ กล่าว

หัวหน้าสำนักข่าว AFP ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นการท้าทายในการปรับตัวของทีมงานที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมีผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ฝ่ายเทคนิคช่วยเหลือฝ่ายอื่นๆ เผื่อให้เข้าใจหัวข้อข่าวที่ต้องการนำเสนอ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่เพียงหัวข้อทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังมีนัยทางการเมืองและสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน 

ผู้สื่อข่าวจึงควรรายงานข่าวโควิด-19 ในมุมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือการไม่ได้ไปโรงเรียน เป็นต้น การรายงานข่าวโควิด-19 จึงไม่อาจใช้เพียงมุมมองทางวิทยาศาสตร์หรือสุขภาพ สาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็มีนัยทางสังคมด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของทุกคนไปอีกหลายปี และแม้เรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยช่วย แต่คนอื่นๆ เขาก็มีมุมมองอื่นๆ ในการนำเสนอข่าวเช่นกัน

ขณะที่ อิกา นิงชาส (Ika Ningtyas) เลขาธิการสมาคมพันธมิตรนักข่าวอิสระ (The Alliance of Independent Journalists AJI) ประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า อินโดนีเซียมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และยิ่งเพิ่มขึ้นและใช้เวลานานขึ้นในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การใช้โดยขาดตวามรู้เท่าทันก็นำไปสู่ปัญหาการบิดเบือนข้อมูล โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เป็นต้นมา อินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน พบการเผยแพร่ข่าวปลอมกว่า 100 ข่าว และกระจายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ กว่า 500 ข่าว 

เช่น มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่เขียนบรรยายอ้างว่ามีการทดลองวัคซีนกับสัตว์แล้วทำให้สัตว์ตาย ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ชาวอินโดนีเซียหลายคนรู้สึกลังเลว่าจะฉีดวัคซีนดีหรือไม่ กลายเป็นความกังวลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะตามเกณฑ์แล้วประชากรอย่างน้อยร้อยละ 70 ต้องได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด ประกอบด้วย

1.การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอ่อนแอ พลอยทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือไปด้วย โดยในช่วงแรกๆ รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ นโยบายก็ไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งมีปัญหาการเลือกปฏิบัติและการทุจริตเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีน 2.ผู้คนขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และไม่เชื่อในระบบสาธารณสุข เมื่อประกอบกับการที่ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ คนทั่วไปก็ยิ่งทำความเข้าใจได้ยาก และที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วทั้งราคาสูงและไม่ทั่วถึง 3.การพาดพัวข่าวแบบล่อเป้าให้กดเข้าไปดู (Clickbait) เช่น มีข่าวอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนจริงหรือไม่ แต่การพาดหัวข่าวลักษณะนี้ก็ทำให้ผู้รับสารคิดไปก่อนแล้วว่าวัคซีนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และ 4.สื่อไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัคซีนอย่างเพียงพอ ทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซียมีผู้สื่อข่าวประมาณ 46,000 คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งทาง AJI ได้จัดกิจกรรมสัมมนาทางออนไลน์ เพื่อให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวเกี่ยวกับวัคซีน

เคล็ดลับในการรายงานข่าวโควิด-19 ในการเขียนข่าวควรอธิบายเกี่ยวกับปฏิกิริยาการแพ้ที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนทุกๆ ประเภทมันก็จะมีอาการแสดงอยู่บ้างแต่ว่าไม่ได้ส่งผลต่อชีวิต เราก็เสนอว่าหลีกเลี่ยงการรายงานเรื่องปฏิกิริยาข้างเคียงที่เล็กน้อย เพราะมันจะส่งผลต่อความคิดของคนต่อวัคซีนนั้น เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาระดับเล็กน้อยมันมีอยู่แล้ว นอกจากนี้ภาพที่เราใช้ออกข่าวมันจะส่งผลกระตุ้นต่ออารมณ์ได้อย่างไร เช่น เสียงเด็กร้องไห้หรือเด็กยิ้มมีความสุขเวลาที่ฉีดวัคซีน 

คือภาพที่มันแสดงให้เห็นถึงอารมณ์มันจะส่งผลต่อผู้อ่าน และส่งผลให้มีการแชร์ต่อไปโดยที่ไม่ทราบบริบทที่แท้จริง เรายังได้เสนออีกว่าควรเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่เป็นข่าวลือเท่านั้น และอธิบายให้เข้ากับบริบทเท่าที่จะทำได้ มันมีข้อมูลเยอะแยะมากมาย เช่น ข่าวโปลิโอ ที่ในประวัติศาสตร์ของโลก สุดท้ายควรอธิบายใช้คำในเชิงวิทยาศาสตร์ มันเป็นสิ่งสำคัญในการอธิบายศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ทางวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่อ่านข่าวเสริมสร้างความรู้ของตัวเอง” เลขาธิการ AJI ระบุ

นิงชาส เปิดเผยว่า ข้อมูลเท็จหลายครั้งมาจากต่างประเทศ จากนั้นกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนในอินโดนีเซียก็แปลเป็นภาษาท้องถิ่น ก่อนจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วจนติดตามที่มาที่ไปได้ยาก แต่หลายกรณีก็มาจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทางศาสนา เป็นผู้เล่าเรื่องที่ทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ พบว่าสามารถเชื่อมโยงไปถึงขั้วการเมืองและการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเพราะแต่ละกลุ่มมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมหมายถึงการมีอิทธิพลบนโลกออนไลน์มากด้วย และเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้าน หรุ่ย จาง (Rui Zhang) อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบในหลายมิติทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และรวมถึงการเมืองด้วย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายว่าจะรับมืออย่างไร แต่ก็มีการแบ่งขั้วทางการเมืองที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และความตึงเครียดทางการเมืองก็นำไปสู่ความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรคระบาด ดังนั้นจึงไม่อาจเพิกเฉยมุมมองทางการเมืองเกี่ยวกับโรคระบาดได้

เช่น การนำมุมมองของวัคซีนไปผูกโยงกับการเมือง ทำให้มุมมองของผู้คนต่อวัคซีนเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์และสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะถูกกระทบเมื่อนำเสนอโดยใช้มุมมองทางการเมือง อาทิ สหรัฐอเมริกา มีข่าวที่ตีพิมพ์ใน นสพ.The New York Times ว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19 ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นมายาคติส่งผลต่อความคิดและความเข้าใจของคน แต่ก็มีงานวิจัยจากแหล่งอื่นๆ ว่าด้วยความครอบคลุมในการทำข่าวของ The New York Times เป็นอย่างไรในปี 2563 

นอกจากนี้ The New York Times ก็ไม่ได้วิเคราะห์อย่างจริงจังเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ในประเทศจีน สามารถควบคุมการระบาดได้เพียงใด การนำเสนอข่าวควรตั้งอยู่บนมุมมองทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ อีกทั้งต้องเข้าใจมุมมองทางการเมือง สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของจีนเป็นอย่างไร เพราะการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเทศจีนย่อมขัดแย้งอยู่แล้วกับสิ่งที่โลกตะวันตกมอง การวิพากษ์วิจารณ์หรือแบ่งขั้วทางการเมืองจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มาตรการล็อกดาวน์ของจีนอาจดูละเอียดอ่อนในทางการเมืองแต่ก็ใช้ได้ผลในทางวิทยาศาสตร์

จาง เล่าต่อไปถึงแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่มีประชาชนส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงรัฐบาลเพราะมีความสงสัยในการจัดหาวัคซีน สถานการณ์แบบเดียวกันยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ว่าวัคซีนกลายเป็นประเด็นที่ใช้มุมมองทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง (Controversial) ซึ่งแม้ข้อโต้เถียงต่างๆ ใช่ว่าจะไม่มีมูลไปเสียทั้งหมด แต่การเกิดกระแสแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนด้วย

ในประเด็นที่มีความซับซ้อน สื่อคงไม่สามารถไปเปลี่ยนอุณหภูมิทางการเมืองด้วยตัวเราเองได้ แต่เรามีอำนาจอย่างน้อย 2 อย่างที่ทำได้ 1.เวลาที่เราเลือกเรื่องที่จะนำเสนอหรือวางกรอบที่จะนำเสนอ เราต้องพิจารณามุมมองทางวิทยาศาสตร์ และปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย พยายามนำเสนอมุมมองหรือทำให้ผู้ฟัง-ผู้อ่านได้ยินเสียงบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้น 2.ในหลายๆ หน้าที่ของการเป็นสื่อมวลชน เราจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลความรู้และให้ความบันเทิง แต่ตอนนี้เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นของเราในหน้าที่ในแง่ของการให้ความรู้มากกว่าในเรื่องของ Education (การศึกษา)” จาง กล่าว

นักวิชาการด้านสื่อผู้นี้ เสนอแนะด้วยว่า ในสำนักข่าวควรมีทีมงานที่ศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะก่อนนำเสนอข่าวออกไป ในอดีตอาจมองไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป การที่กองบรรณาธิการมีทีมงานที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากพอจะช่วยให้นำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้อง และสื่อเองก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นความรู้ได้ ประกอบกับสังคมก็ต้องการข้อมูลที่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะทางที่มีความซับซ้อน

แต่ความท้าทายคือ ข่าวที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์แท้ๆ มักไม่ค่อยได้รับความสนใจ เช่น ข่าวพนักงานบริษัทในประเทศจีนที่ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 หากอ่านเพียงพาดหัวอาจเข้าใจไปว่ามีคนเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่ข้อเท็จจริงจะอยู่ในเนื้อข่าว ว่าผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่เคยได้รับยาหลอก (Placebo) ในการทดลองวัคซีน ซึ่งไม่ว่าการพาดหัวข่าวนี้จะมีเหตุผลจากอะไรก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นแล้ว ดังนั้นสื่อมวลชนก็ต้องใช้ความระมัดระวัง

ปิดท้ายด้วย วาเนสซา สไตน์เม็ทซ์ (Vanessa Steinmetz) ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโต๊ะข่าวการเมืองประจำสำนักข่าวต่างๆ จะมีทีมงานขนาดใหญ่มาก ตรงข้ามกับโต๊ะข่าวสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ที่เป็นทีมงานเล็กๆ แต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด แม้จะไม่ใช่การจ้างทีมงานเพิ่มแต่เป็นทีมงานเดิมที่ปรับตัวมาเรียนรู้ทำความเข้าใจสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม 

ในฐานะที่เคยทำงานด้านสื่อมวลชนในประเทศเยอรมนีมา 10 ปี สิ่งหนึ่งที่พบเห็นแม้จะไม่ทุกวันคือความสมดุลที่เป็นเท็จ (False Balance) เช่น รายการทอล์กโชว์รายการหนึ่ง เชิญแขกที่เป็นมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเดียวกันแต่มีมุมมองคนละด้านมาออกรายการและให้เวลาพูดเท่ากัน แต่จริงๆ แล้ว มีเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีข้อมูลรองรับ การจัดรายการแบบนี้อาจทำให้ผู้ชม-ผู้ฟังสับสนได้ว่าตกลงแล้วข้อมูลของใครมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองมากกว่ากัน

อีกประการหนึ่งคือ เมื่อผู้สื่อข่าวไม่มีความเชี่ยวชาญก็อาจทำให้ตีความผลการศึกษาไม่ถูกต้อง เช่น มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเยอรมนี เสนอข่าวว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา (Astrazeneca) มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 8 สำหรับผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น จากนั้นก็มีสำนักข่าวอื่นๆ อ้างอิงไปนำเสนอต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงคือผลการศึกษาดังกล่าวแม้ไม่ได้ผิดพลาดเสียทีเดียว แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ อาทิ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีจำนวนน้อยเกินไปในการที่จะสรุปผล และเมื่อนำเสนอไปแล้วการจะแก้ข่าวก็ทำได้ยาก

แต่กรณีวัคซีนแอสตราเซเนกาในเยอรมนีนั้นยอมรับว่าเป็นประเด็นซับซ้อน อาจไม่ใช่ความผิดทั้งสื่อ นักการเมืองหรือนักวิทยาศาสตร์ เพราะวัคซีนยิ่งอยู่ในตลาดนานก็จะยิ่งมีข้อมูลและหลักฐานมากขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านวัคซีน ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ก็มีข้อมูลเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้ใช้เฉพาะคนอายุต่ำกว่า 65 ปีเท่านั้น ต่อมาก็เป็นให้ระงับการใช้ จากนั้นบอกให้ใช้เฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และล่าสุดยังแนะนำว่าหญิงอายุ 27-55 ปี ไม่ควรใช้เพราะเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น ส่วนอังกฤษไม่มีข่าวทำนองนี้ และนอร์เวย์เลิกใช้ไปเลย

“จะเห็นเลยว่าภาพที่เราเห็นตรงนี้มันซับซ้อน มันยากมากที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง ฉะนั้นนักข่าวควรจะตัดสินใจว่าจะออกข่าวอะไรแล้วก็ให้มันไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่อยากให้เห็น ที่นักข่าวประสบ คือเวลาที่เราต้องให้ข้อมูลสาธารณชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของผลข้างเคียงของวัคซีนเรื่องของการอุดตันเส้นเลือดในกลุ่มผู้หญิง แล้วอีกเรื่องหนึ่งมันอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตมากขนาดนั้น คือจริงๆ ยุโรปที่ฉีดวัคซีนไปล้านคน พบเพียง 142 คนเท่านั้นเองที่มีลิ่มเลือดอุดตัน 

ถ้าอ่านแต่พาดหัวข่าวเกี่ยวกับ Blood Clot (ลิ่มเลือดอุดตัน) ที่เกิดขึ้นมันก็น่ากลัว เอาตรงนี้มา Focus (เน้น) มันไม่มีบริบท แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้สื่อจริงๆ ฉะนั้นคนจะจำสิ่งที่สร้างอารมณ์ร่วมได้มากกว่า ฉะนั้นจะต้องระมัดระวัง แล้วก็ในเรื่องของการเมืองในการที่จะพยายามฉีดให้กับพลเมือง มันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยซ้ำแล้วก็ไม่ได้มีผลข้างเคียง เขาก็อาจเลี่ยงไม่ฉีด ฉะนั้นที่เยอรมันจึงค่อนข้างฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า มีกลุ่มคนที่ไม่อยากฉีดแอสตราเซเนกา จะรอไบโอเอ็นแทค (BioNTech)” สไตน์เม็ทซ์ กล่าว

ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุปว่า ปัญหาที่ยกมาทั้งการขาดความเชี่ยวชาญในสำนักข่าว ความซับซ้อนของประเด็น นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป-มา และอารมณ์ของข่าวที่นำเสนอออกไป เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีสิ่งที่ควรยึดถือไม่ว่าการรายงานข่าวโควิด-19 หรือข่าวอะไรก็ตาม คือ

1.ความไวไม่สำคัญเท่าความถูกต้อง ต้องตรวจสอบก่อนพาดหัวข่าวไม่ใช่เสนอข่าวไปก่อน 2.เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ที่เยอรมนีมีองค์การด้านวิทยาศาสตร์ของเอกชน รับฝึกอบรมให้ผู้สื่อข่าวสามารถอ่านผลงานทางวิชาการได้เข้าใจ 3.ระมัดระวังการพาดหัวข่าว แม้ในเนื้อข่าวจะเขียนอธิบายข้อมูลไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน แต่ผู้รับสารมักเข้าใจไปตามพาดหัวข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ 

และ 4.เมื่อผิดพลาดก็ต้องแก้ข่าว เพราะความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุป 3 กลุ่มมาตรการเยียวยาโควิด จากการระบาดระลอกใหม่

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แยกออกเป็น 3 กลุ่มมาตรการหลัก ทั้งมาตรการที่ทำได้ทันที มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย และและมาตรการระยะต่อไป ใช้ทั้งเงินกู้และสินเชื่อกว่า 2.55 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 5  พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมีติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงสั่งให้กับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม และได้มีการนำมาเสนอให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาในครั้งนี้

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดจากเอกสารการประชุมเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเสนอโดย สศช. พบว่า มาตรการที่เสนอมานั้นแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ช่วยเงินกู้ฉุกเฉิน-ค่าน้ำค่าไฟ

1.มาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที (รวมวงเงินทั้งเงินกู้และสินเชื่อ 30,000 บาท) แยกออกเป็น 2 กลุ่มมาตรการย่อย คือ

(1) มาตรการด้านการเงิน ทั้ง สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินให้ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

รวมทั้ง การพักชำระหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ขยายระยะเวลาพักชำระเงินหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย ออกไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 ตามความสมัครใจ โดยการพักชำระเงินต้น เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว และให้ลูกหนี้นำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประชำวัน

(2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย แยกเป็น

ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก, ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก โดยจะดำเนินการในรอบบิลช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2564

ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2564 โดยการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค  จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

เพิ่มเงินให้ “เราชนะ- ม33เรารักกัน”

2.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงิน 85,500 ล้านบาท แยกเป็น 2 โครงการย่อย คือ

(1)  การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิ.ย. 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท

(2) การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิ.ย. 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

สำหรับ 2 โครงการนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งผมได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

ทำ 4 โครงการอีก 1.4 แสนล้านบาท

3.มาตรการในระยะต่อไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.2564 คลี่คลายลง มีกรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท แยกเป็น 4 โครงการย่อย คือ

(1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน   โดยให้เงินความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค. – ธ.ค. 2564

(2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคนโดยให้เงินความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค. – ธ.ค. 2564

(3) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน โดยรัฐจะสมทบเงินแบบลักษณธร่วมจ่าย (Co-Pay) 50% เป็นค่าซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยสามารถใช้ได้วันละไม่เกิน 150 บาทต่อคน ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

(4) โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้รัฐจะสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชน ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยประชาชนใช้จ่ายจะได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากภาครัฐในช่วง ก.ค. – ก.ย.2564 ไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค. -ธ.ค.2564 โดยประเมินว่าจะมีประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 4 ล้านคน

สรุป “การบริหารจัดการเตียง” ในสถานการณ์โควิด-19 (สัมภาษณ์พิเศษ)

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact สัมภาษณ์ พิเศษ “นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สรุป การบริหารจัดการเตียงโควิด-19 และการขยายเตียงICU ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก.

การบริหารจัดการเตียงโควิด-19

กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่เพิ่มขึ้นจากที่บ้าน ตอนนี้มีโรงพยาบาลสนาม hospitel รองรับ ถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ที่น่ากังวลและเป็นปัญหา คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดงจากที่บ้าน หรือจากโรงพยาบาล รวมถึง กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองจากโรงพยาบาลที่กลายเป็นสีส้มเป็นสีแดง คือ มีอาการมากขึ้น ในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลใหญ่

แผนที่เตรียมไว้และทำอยู่ คือ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องการเตียงในกลุ่มสีเหลืองจากบ้านในระบบ 1668 จะถูกนำเข้าสู่ระบบกลาง co link โดยจะส่งเตียงในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องการไปยังโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ที่ยังสามารถช่วยดูแลได้ โดยจะมีการเพิ่มเตียงของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เช่นสถาบันบำบัดยาเสพติดฯปทุมธานี ที่เพิ่มเป็น 200 เตียง / โรงพยาบาลนพรัตนฯอีก 45 เตียง / สถาบันประสาทอีก 100 เตียง/ โรงพยาบาลเลิดสิน อีก 30 เตียง/ ในส่วนนี้จะพอในระดับหนึ่ง

และกำลังทำโรงพยาบาลสนามสีเหลือง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนามที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่เดิมจะรองรับในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจากกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางระบบในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองอ่อนที่มีอาการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย

ส่วนที่ 2 คือ โรงพยาบาลสนามของกรุงเทพฯ ที่จะรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองได้มากขึ้น โดยข้อบ่งชี้ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม และ hositel ที่จากเดิมเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวอย่างเดียว ตอนนี้จะมีการเพิ่มกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองนิดหน่อย ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวมากๆ สามารถที่จะอยู่ได้

ขณะที่ในโรงพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยสีแดงหมายถึง ผู้ติดเชื้อมีอาการหนักขึ้น แต่อาจยังไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จะมีการวางระบบ ว่า โรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่ายในกรุงเทพมหานคร ได้แบ่งออกเป็น 6 โซน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราช

โรงพยาบาลรามาธิบดีฯ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลภูมิพล วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าว จะเป็นหัวหน้าโซนในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง ในพื้นที่ของตัวเอง แต่ถ้าโรงพยาบาลเล็กๆใน 6 โซนจำเป็นต้องใช้เตียงสีแดง ก็จะปรึกษามายังหัวหน้าโซน หากเตียงในโซนนั้นเต็ม จะมีการขอเตียงข้ามโซนกันได้ ผ่านศูนย์การบริหารจัดการเตียงโรงพยาบาลราชวิถี.

“ขณะนี้อัตราการครองเตียงในกลุ่มผู้ป่วยสีแดงอยู่ที่ร้อยละ 85 ซึ่งถือว่าอยู่ในจุด

วิกฤต ซึ่งเป็นจุดที่ต้องมีการปรับกลยุทธ์ปรับจำนวนเตียง นอกจากการปรับในการดูแล 6 โซนแล้ว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลใหญ่อย่างเดียว แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์โรงเรียนแพทย์ช่วยดูแลผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลเล็กได้ บางทีโรงพยาบาลเล็กมีห้อง แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเราจำเป็นต้องนำผู้เชี่ยวชาญไปดูแลให้” นพ. ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ส่วนที่ 2 คือการขยายห้อง ICU เพิ่มขึ้น โดย ICU มี 2 ส่วน

ส่วนหนึ่งคือ ห้อง ICU ที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ปรับจากการเอาห้องดูแลผู้ป่วยโควิดสามัญ ที่มีลักษณะห้องโถงใหญ่ ปรับให้มาเป็นห้อง ICU คือ เอาผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมารักษาในห้องนี้ โดยใช้มาตรฐานในการดูแลเดียวกันได้ แต่อาจจะไม่ใช่ห้องที่เป็นความดันลบโดยสมบูรณ์ / ส่วนอีก 1 แนวทางคือการจัดตั้ง ICU สนามซึ่งตอนนี้ได้มีแนวทางเตรียมแผนไว้ที่โรงพยาบาลราชวิถีแล้ว

กรณีการจัดตั้งICUโรงพยาบาลสนาม

นพ. ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ICU สนาม จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ออกซิเจน เครื่องดูดซัคชั่นสูง อุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถที่จะไปวางตามโรงพยาบาลสนาม เช่น ในโรงยิม สนามกีฬาฯ ที่อยู่ไกลๆนอกรพ.ได้ ซึ่งยังไม่มีความพร้อม

เบื้องต้นเลยมีแนวทางจัด ICU ในโรงพยาบาลสนาม ที่โรงพยาบาลราชวิถี อยู่ในอาคารและห้องว่าง ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์เฉพาะในโรงพยาบาลได้

ส่วนที่2 คือ การจัดตั้งในอาคารลานจอดรถของโรงพยาบาลราชวิถี โดยเตรียมไว้ 3 ระยะ

ระยะที่1 : ปัจจุบันได้มีการติดตั้งแล้วซึ่งจะใช้ได้เต็มที่ในวันที่ 10 พฤษภาคมจำนวน 10 เต้นท์ หรือ 10 ยูนิต โดยเป็นห้องความดันลบ

– ระยะที่2 : จะเพิ่มอีก10 เต็นท์ รวมเป็น 20ห้อง

– ระยะที่3 : จะถูกวางในอาคารของโรงพยาบาล

ซึ่งทั้ง 3 แนวทาง ยังเป็นแนวทางที่เตรียมไว้แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ในขณะนี้ ถ้าระบบในโรงพยาบาลยังสามารถรักษาได้อยู่

“คงไม่สามารถนำ ICU สนามไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามจริงๆได้ เนื่องด้วยปัจจัยทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ยังคงต้องรักษาผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลอยู่

วันนี้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มีการปฏิบัติงานเต็มที่ในโรงพยาบาล หากจะต้องมีการให้บุคลากรเหล่านี้ไปประจำอยู่โรงพยาบาลสนามในห้อง ICU เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร ส่วนหนึ่ง คือ เครื่องมือทางการแพทย์หลายชนิดจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลและมีการขนย้ายลำบาค”

สำหรับผู้ป่วยICU ปกติ กับผู้ป่วยICUโควิด มีการแยกการรักษาอย่างชัดเจนเนื่องจากผู้ป่วยโควิดที่อาการหนัก และอยู่ห้องICU ต้องรักษาในห้องความดันลบ รอบถึง ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้รักษาภายในห้อง ทีมแพทย์ ทีมพยาบาล มีการแยกทีมกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะต่างจากหอผู้ป่วย ICU ปกติ เนื่องจากต้องป้องกันเรื่องของการติดเชื้อ.

สำหรับอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด19 อาการรุนแรงมาก

– คือ เครื่องออกซิเจน หรือเครื่องไฮโฟลว์ และ เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งในอดีตมีการ เตรียมอุปกรณ์ดังกล่าวไว้เพียงพอเหมาะสมกับจำนวนห้องไอซียูที่มีอยู่ หมายความว่า หากมีห้องไอซียูกี่ห้อง ก็จะมีการเตรียม เครื่องช่วยหายใจไว้เพียงพอ

แต่วันนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องการมาก คือ เครื่องไฮโฟลว์ คือเครื่องทำออกซิเจน เอาออกซิเจนเข้าสู่ปอดของคนไข้ การที่เราให้เร็วขึ้นตั้งแต่ผู้ป่วยในอยู่ระยะสีเหลือง จะทำให้ผู้ป่วยไม่กลายเป็นผู้ป่วยสีแดง เมื่อก่อนครั้งที่ยังมีผู้ป่วยไม่เยอะเครื่องไฮโฟลว์ มีความเพียงพอ แต่พอสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ป่วยเยอะขึ้นมันและมีอาการอยู่ในระยะสีเหลืองเพิ่มขึ้น ตรงนี้เครื่องไฮโฟลว์ จะทำให้ผู้ป่วยให้หายได้เร็วขึ้น และไม่มีอาการรุนแรงกลายเป็นผู้ป่วยสีแดง ในหลายโรงพยาบาลจึงมีความต้องการ

“เมื่อก่อนเคสผู้ป่วยอาการหนัก จะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบัน เคสผู้ป่วยปานกลาง โรงพยาบาลเล็กๆจำเป็นที่จะต้องทำการรักษา เครื่องมือดังกล่าว โรงพยาบาลเล็กไม่เคยมี วันนี้พอมีผู้ป่วยเยอะขึ้น โรงพยาบาลเล็กเลยจำเป็นต้องใช้เครื่องมือไฮโฟลล์ด้วย หากได้ก็ดี เราไม่ต้องรอผู้ป่วยแย่ก่อน แต่ถ้าไม่ได้สุดท้ายคือต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ”

ขณะนี้ในโรงพยาบาลใหญ่ มีการสั่งซื้อเครื่องมือไฮโฟลว์เยอะมาก ซึ่งต้องมีระยะเวลาการจองและการจัดส่ง เนื่องจากต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการสั่งประมาณ 100 ตัว ขณะที่ภาพรวมการสั่งเครื่องมือดังกล่าวทั่วประเทศมีกว่า 2000-3,000 ตัว

ประเด็น การนำผู้ป่วยไม่จำเป็นออกจากห้องICU  จึงมีคำถามว่า แล้วแต่ก่อนทำไมถึงนำเข้าไป   นพ. ณัฐพงษ์ ระบุว่า แต่ก่อนเตียงเหลือผู้ป่วยไม่มาก ยังรักษาได้เต็มที่อีกทั้งเมื่อก่อนมีห้องว่าง ทีมแพทย์ก็รักษาดีที่สุดเต็มที่ คือนำผู้ป่วยเข้าห้องดังกล่าว แต่วันนี้มาพิจารณาและมีการหารือกันแล้วผู้ป่วยหลายรายที่เคยเข้าไปแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่ก็ได้ เราจึงต้องถอยผู้ป่วยเหล่านี้ออกมาอยู่ห้อง ICU รวม และเอาผู้ป่วยที่มีอาการหนักจริงๆ ที่บอกว่าเป็นสีแดงเข้มกลับเข้าไปแทน ถ้ามีการจัดสรรหมุนเวียนอย่างนี้ ภายในโรงพยาบาล ภายในเครือข่าย และข้ามเครือข่าย จะทำให้เสามารถใช้เตียง ICU ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด สถานการณ์ตอนนี้ ถือว่ายังพอไปได้ แต่ก็ถือว่าตึงและติดขัด

How to “SureVac” เช็กยังไงให้ชัวร์เรื่อง “วัคซีน”

บทความ

3 พฤษภาคม 2564 กฤตนัน ดิษฐบรรจง

ขอบคุณที่มา : เวบส่องสื่อ

ในช่วงสุดท้ายของการจัดกิจกรรมในวันนี้ ทางโคแฟคร่วมกับชัวร์ก่อนแชร์ ของ บมจ.อสมท ได้จัดห้อง Clubhouse ในหัวข้อ “How to “SureVac” เช็กยังไงให้ชัวร์เรื่อง “วัคซีน”” ซึ่งมีวิทยากรสำคัญๆ ทั้งทางการแพทย์ ทางสื่อมวลชน ทางภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐมาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งวันนี้เว็บไซต์ส่องสื่อของสรุปรวบรวมบางส่วนนำมาให้คิดต่อกัน

สุชัย เจริญมุขยนันท์ จากภาคีอีสานโคแฟค / Ubonconnect เกริ่นเริ่มต้นด้วยคำถามว่า สำหรับตนเองที่เป็นสื่อท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับคนในพื้นที่เองต่างมีข้อสงสัยในการไม่อยากจะฉีดวัคซีน แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เขาจึงโน้มน้าวให้ตัดสินใจระหว่างความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงกับความเจ็บป่วยในระยะยาวจะเลือกอะไร? กับความน่าเชื่อถือในแต่ละแบรนด์ของวัคซีน ซึ่งนั่นรวมไปถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอีกด้วย รวมไปถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนว่าเป็นอย่างไร? จะฉีดกับโรงพยาบาลเอกชนได้เลยหรือไม่? อย่างไร?

มติเอกฉันท์ ‘ชวรงค์’ นั่ง ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
หลังจากนั้น ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถดำเนินการข่าวไปได้ตามปกติ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถบูรณาการเชิงข้อมูลไปให้ถึงสื่อมวลชนได้ จนทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถกระจายข้อมูลไปยังประชาชนได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากๆ นอกจากนี้อีกหลายข้อมูลที่จำเป็น โดยเฉพาะจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามต่างๆ อาจจะทำให้สื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลให้ได้ก็ไม่ได้มีการบูรณาการที่มากพอ

นอกเหนือจากนั้นคือในเรื่องของวัคซีนที่นำเข้ามา เราก็เห็นว่าข้อมูลมีไม่เพียงพอ ทั้งในแง่ของการกระจายวัคซีน ตลอดจนถึงจำนวนวัคซีนที่ได้ฉีดในแต่ละพื้นที่จริงๆ การที่มีข้อมูลตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ จนทำให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนมีเพียงพอและฉีดกันได้อย่างทันท่วงทีต่อไป ฉะนั้นการบูรณาการข้อมูลมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะไปต่อยอดถึงความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนนั่นเอง

รพ.จุฬาฯ ตรวจ”โควิด”ทางน้ำลาย วางแผนรุกตรวจ ชุมชนรอบโรงพยาบาล

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พูดต่อถึงเรื่องวัคซีนว่า วัคซีนที่จะป้องกันแบบหมู่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ป้องกันไวรัสโดยรวมว่ามีความสามารถมากเพียงใด เพื่อปกป้องไม่ให้คนติดเชื้อไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ต้องนับจากสัดส่วนคนฉีดวัคซีนทั้งโลกด้วย ซึ่งด้วยความข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนี้ อาจทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าข้อมูลที่แท้จริงมาจากไหน และที่สำคัญด้วยความที่ไวรัสกลายพันธุ์ได้ง่ายมาก จึงทำให้อาจเกิดปัญหามากกว่าเดิมได้

การฉีดวัคซีนทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญในการส่งออกวัคซีนได้ ซึ่งถ้าไม่ปลอดภัยตั้งแต่การทดสอบครั้งแรกก็อาจจะถูกปัดตกทิ้งไปได้ทันที

เดินหน้านวัตกรรมโคแฟค สู่การสร้างชุมชนค้นหาความจริง – Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ในส่วนของ ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ / ภาคีโคแฟค พูดถึงการพูดคุยเรื่องการแชร์ข่าวลวงว่า อุปสรรคในการสื่อสารข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด-19 นั้น พบว่าจากการที่ตนเองอยู่ในหลากหลายกลุ่ม โดยพื้นฐานคือวัฒนาธรรมของความเกรงใจ โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องพูดคุยกับคนที่อาวุโสมากกว่า ในบางครั้งก็เกิดจากเกรงใจที่ไม่กล้าบอก ถ้าเขาลงข้อมูลข่าวลวงในกลุ่มไป ซึ่งที่เคยทำมาแล้วก็คือการแนะนำว่าข่าวลวงในกรณีเสียงสัมภาษณ์ที่ถูกตัดต่อ แต่ก็ถูกตอบกลับว่าอาจจะจริงก็ได้ เป็นต้น รวมไปถึงวัฒนธรรมในการอ่านที่อ่านมากไปก็อ่านไม่ครบ น้อยไปก็ไม่ได้ข้อมูลที่ครบดีอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคทางด้านข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งส่งผลต่อกรณีการอ่านและตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจขึ้นต่อๆ กันไปด้วย บางครั้งอาจจะหลงเชื่อว่าข่าวจริงด้วยซ้ำไป

กองทุนสื่อฯเดินสายติวเข้มชุมชนรับทราบกฎระเบียบข้อบังคับการขอรับทุนสนับสนุน – สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้พูดเสริมเรื่องสื่อที่ปลอดภัยที่ช่วยในการสื่อสารที่ถูกต้องว่า วันนี้สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ที่แตกต่างจากคนที่ทำตัวเป็นสื่อ ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการรู้เท่าทันสื่อคือประเด็นที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ โดยผู้เสพสื่อควรมีทักษะในการตรวจสอบและมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ กลั่นกรอง นอกจากนี้การสื่อสารของสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญในการอธิบายแบบต่างๆ ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่การหยิบยกข้อเสียออกมาอย่างเดียว แน่นอนว่าวัคซีนบางตัวอาจจะดีสำหรับบางคน เราจึงอยากเห็นหน่วยงานในการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างความรู้ความเข้าใจได้

การตั้งสติในการรับข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และกลั่นกรองจากการสื่อสารต่างๆ อย่างระมัดระวัง ในขณะที่การแสดงความเห็นทุกคนยังคงสามารถแสดงความเห็นได้ แต่ต้องแนบว่าเป็นข้อคิดเห็นของท่านเพียงเท่านั้น เพื่อทำให้สามารถเข้าใจมากขึ้น สรุปโดยรวมคือต้องมีสติ มีความเข้าใจในการรับข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจงชัด! เหตุไม่จองวัคซีนโควิดผ่านโคแวกซ์ เสี่ยงได้รับช้า-ราคาสูง | Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แน่นอนว่าวัคซีนทุกตัวที่ใช้กันในขณะนี้ จะเป็นการป้องกันในสัดส่วนที่ไม่แพร่กระจายเชื้อที่ทำให้เกิดโรคได้ สำหรับเป้าหมายของสถาบันเน้นการให้คนที่พร้อมฉีดวัคซีนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นการป้องกันส่วนบุคคล ถ้าหากมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนกันครอบคลุมและเกิดการป่วยแบบไม่มีอาการ อาจจะทำให้สถานการณ์ระดับโลกเบาบางลงได้ โดยต้องคงสัดส่วนทั้งโลกในการเข้าถึงวัคซีนถึงจะป้องกันได้

ในส่วนของ 3 เดือนแรกในการจัดหาวัคซีนเราพบปัญหาในการจัดส่งวัคซีน ทำให้ได้แค่ซิโนแวคเท่านั้น แม้แต่วัคซีนตัวที่เราผลิตเองได้ก็ต้องใช้ระยะเวลา จึงต้องเร่งรัดการใช้เวลาในการฉีดวัคซีน ส่วนข้อมูลลวงบางอย่างก็เกิดจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน ในส่วนนี้ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับงานวิจัยในไทยก็จะเริ่มการทดลองในขั้นต่อๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะขององค์การเภสัชกรรม

สำหรับใครที่แชร์ข้อมูลที่อ่านไม่ถี่ถ้วน ถ้าเราแชร์แสดงว่าเราเชื่อตามนั้นแล้ว และนั่นอาจจะแสดงว่าคุณเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมในชุดนั้นด้วย ฉะนั้นตรวจสอบและอ่านให้ถี่ถ้วน ถ้าไม่แน่ใจก็ตจรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปจนได้ความจริง

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16

มุมมองการนำเสนอข่าวและข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ของนักข่าวต่างประเทศ

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

3 พฤษภาคม 2564 กฤตนัน ดิษฐบรรจง

ขอบคุณที่มา : เวบส่องสื่อ

นอกจากเสวนาในช่วงแรกที่เป็นการพูดคุยของสื่อมวลชนไทยหลากหลายแขนง ร่วมกับผู้ตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย ในเสวนาช่วงที่สองเป็นเสวนาที่มีวิทยากรคือนักข่าวต่างประเทศมาร่วมพูดคุยถึงกรณีการนำเสนอข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ “How should media report on Covid19-Vaccines without fear or favor?” ซึ่งส่องสื่อได้สรุปข้อมูลมาฝากกันครับ ติดตามจากบทความสรุปนี้ได้เลยครับ

Stéphane Delfour / AFP Bureau chief, South East Asia กล่าวว่า หน้าที่ของ AFP คือการตรวจสอบข้อมูลว่าทุกข่าวที่นำเสนอออกไปต้องมีความน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง เพราะแค่เรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็มีหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือสุขภาพก็ตาม และยังเป็นประเด็นร้อนอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ AFP ใช้นักข่าวจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนาเนื้อหาให้เที่ยงตรงที่สุด ซึ่ง AFP อยากมีพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้รับข่าวสารใหม่ๆ มากขึ้น และเอื้อมมือให้ประชาชนในทวีปเอเชียเข้าถึงข้อมูลจริง ถูกต้องมากที่สุด ฉะนั้น การนำเสนอข่าวของ AFP นั้นเน้นการนำเสนอจากพื้นที่จริง นำเสนอจากข้อเท็จจริง และการให้ความเห็นเกิดจากพื้นฐานข้อมูลที่เป็นกลาง สร้างสมดุลให้ได้ และเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง

แน่นอนว่าเราต้องอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องระบุแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในแต่ละประเทศเป็นใครบ้าง? และเขากล่าวว่าอย่างไรบ้าง? หลังจากนั้นก็จะตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ด้วย เพื่อให้แน่ใจถึงข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ต้องเข้าใจการนำเสนอข่าวลวงว่ามีธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังอย่างไรบ้าง? ตลอดจนการทำงานเป็นระบบของธุรกิจสื่อที่สร้างข่าวลวง เช่น การใช้พาดหัวข่าวที่ดึงกระแส ชวนให้เข้าใจผิดมากขึ้น เพื่อให้ได้เงิน ซึ่งการที่เราเข้าใจก็จะสามารถหาแนวทางเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

Ika Ningtyas / Secretary-General, The Alliance of Independent Journalists (AJI), Indonesia กล่าวต่อว่าในอินโดนีเซียเองมีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประชาชนจะเน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสร้างความบันเทิงมากกว่าการอ่านข่าวสารมากกว่า แต่ทว่าการปล่อยข่าวลวงในอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่ปี 2014 และในหลากหลายเรื่องราว ทั้งการเมือง ศาสนา และสาธารณสุข จากการสำรวจพบว่าในปี 2021 พบการปล่อยข่าวลวงลงออนไลน์ไป 111 ข่าว และเผยแพร่กระจายไปในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 500 ครั้ง เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19

สิ่งหนึ่งที่ส่งผลให้ข่าวลวงกระจายไปเร็ว คือการที่คนไม่ให้ความเชื่อถือต่อรัฐ และการไม่รู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้คนยังไม่รู้เรื่องทางด้านสาธารณสุขด้วย จึงทำให้ข่าวลวงถูกส่งต่อไปได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ ซึ่งการทำให้เกิดข่าวลวงที่ทำให้เข้าใจผิดมี 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การสื่อสารของภาครัฐมีความอ่อนแอ, การรู้เท่าทันเรื่องวิทยาศาสตร์และสุขภาพมีน้อย, การพาดหัวข่าวและการใช้ภาพประกอบ และนักข่าวขาดความเข้าใจในเรื่องวัคซีน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในภาวะที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

Rui Zhang / Lecturer Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasart University กล่าวถึงการนำเสนอข่าววัคซีนโควิด-19 ต่อว่าวัคซีนเป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเอาเรื่องราวทางการเมืองหรือความเห็นมาครอบงำก็จะทำให้เกิดการเอนเอียง ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องความเห็นมาชี้นำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อความคิด ความเข้าใจในการเสพสื่อได้ต่อไปด้วย

สำหรับในการนำเสนอควรตั้งมุมมองทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ และดูนัยยะในการนำเสนอข่าวสาร รวมไปถึงมุมมองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศจีนเป็นอย่างไร เพราะย่อมมีความขัดแย้งในการแบ่งขั้วทางการเมือง เกิดเป็นความละเอียดอ่อนต่อเนื้อหานั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะของประเทศจีนเอง หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นนัยยะทางการเมือง แต่ถ้ามองทางด้านวิทยาศาสตร์เอง จีนก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถจัดการได้อย่างตรงจุดมากกว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ถูกตั้งคำถามถึงการนำนัยยะทางการเมืองมาเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งมีผลกระทบต่อการจ่ายวัคซีนในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

ในส่วนของประเด็นที่ทับซ้อนเอง สื่อไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอุณหภูมิทางการเมืองได้ แต่เราสามารถเลือกเรื่องที่นำเสนอซึ่งต้องเน้นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ผ่านการให้ข้อมูลร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ และยังต้องให้ความรู้ ความบันเทิงแก่ประชาชนด้วย

Vanessa Steinmetz / Project Coordinator, Friedrich Naumann Foundation East and Southeast Asia กล่าวทิ้งท้ายว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของความเชี่ยวชาญในการทำงานข่าว และการสมดุลในการทำงานข่าว เช่น ในรายการทอล์กโชว์ที่เชิญแขกรับเชิญมาสองท่าน แต่มีท่านหนึ่งที่ใส่แค่ความเห็นตัวเองลงไป จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้เท่าทันสื่อได้จริง หรือการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งการนำเสนอข่าวเหล่านี้ ถ้าเกิดความผิดพลาดก็ควรที่จะกลับมาแก้ไขข่าวสารให้ถูกต้องได้ เพื่อที่จะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้และรับทราบ ป้องกันการส่งต่อข่าวลวงไปมากกว่าที่เป็น

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16

ภาคีโคแฟค จัดงานเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

บทความ

3 พฤษภาคม 2564 กฤตนัน ดิษฐบรรจง

ขอบคุณที่มา : เวบส่องสื่อ

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 โดยในงานได้มีการเสวนาเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 15 (Digital Thinkers Forum) ในประเด็น “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด : บทเรียนและอุปสรรค” และเสวนาสองภาษาในประเด็น โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับชมและถกเถียงผ่านการถ่ายทอดสดใน Facebook Page : Cofact เป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า การทำงานเรื่องการตรวจสอบข่าวลวงจำเป็นต้องใช้ระบบภาคีเครือข่ายในการร่วมตรวจสอบข่าวลวง และนอกเหนือจากนี้ยังต้องใช้หลักการทางวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบข่าวลวงด้วย และในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2564) เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งเป็นปีที่ 2 แล้วที่เราต่างอยู่ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สมาคมสื่อต่างๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงความเป็นห่วงของการประกาศใช้ พ.ร.บ. ต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงในการนำเสนอข่าวของรัฐได้

แนวคิดหลักของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คือการนำเสนอข่าวที่เที่ยงตรงและทำหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัว สำหรับการจัดงานในวันนี้ก็คือการตรวจสอบข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างเที่ยงตรง ไม่เอนเอียงฝ่ายใด และเที่ยงตรง เชื่อถือได้ พร้อมฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สนิทสุดา เอกชัย กรรมการ กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม กล่าวต่อว่า จากดัชนีเสรีภาพสื่อขององค์กรสื่อไร้พรมแดน พบว่าประเทศไทยในปี 2563 อันดับตกลงมาอยู่ที่ 140 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างอำนาจรัฐที่ควบคุมประชาชนและสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายหรือการแทรกแซง จนทำให้สังคมเกิดความเกลียดชังจากการถูกครอบงำ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลทำให้เห็นว่ารัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่อำนาจล้นเหลือ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเพียงใด สื่อมวลชนจึงเป็นหนึ่งในที่พักพิงของประชาชนในการตรวจสอบความจริง โดยไม่ตกเป็นกระบอกเสียงของรัฐอย่างไร? และกู้ศรัทธาอย่างไรในภาวะที่อินเตอร์เน็ตซัดเข้าหาสื่อมวลชน และประชาชนต้องการความจริง เวทีวันนี้จะเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะทำให้เราช่วยกันก้าวข้ามผ่านการถูกครอบงำและค้นหาความจริงเพื่อกอบกู้ศรัทธาให้กับสื่อมวลชนและสังคมต่อไป

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เราเชื่อมั่นในสิทธิของประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ และปัญญา ซึ่งข้อมูลข่าวสารเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตทั้ง 3 ด้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิของพลเมืองของทุกคน ตลอดจนการใช้วิจารณญาณซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ

ปัจจุบันการให้ข้อมูลกลายเป็นธุรกิจ และส่งผลทำให้เกิดการให้ข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว จนทำให้เกิดผลกระทบจำนวนมากต่อผู้คน การได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตด้วยปัญญาและวิจารณญาณได้ สื่อมวลชนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา ตรวจสอบความจริง และสามารถตรวจสอบข่าวสาร เพื่อทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรง อันจะส่งผลทำให้สุขภาวะของสังคมดีขึ้น และขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวพ้นการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้

ทุกท่านสามารถติดตามโคแฟคได้ทาง www.cofact.org หรือ Facebook : Cofact-โคแฟค

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16

วารสารศาสตร์​แห่งความจริง : บทเรียนของสื่อที่ต้องทำงานในยุคโควิด-19

บทความ

ที่มาข้อมูล : เวบส่องสื่อ

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 โดยในงานได้มีการเสวนาเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 15 (Digital Thinkers Forum) ในประเด็น “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด : บทเรียนและอุปสรรค” โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับชมและถกเถียงผ่านการถ่ายทอดสดใน Facebook Page : Cofact เป็นจำนวนมาก

สำหรับประเด็นในงานเสวนาครึ่งแรกนี้ เป็นการพูดคุยของสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ร่วมกับผู้ตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย ซึ่งส่องสื่อได้สรุปข้อมูลมาฝากกันครับ ติดตามจากบทความสรุปนี้ได้เลยครับ

รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเริ่มต้นว่า สื่อมวลชนมักจะโหยหาความจริงในการนำเสนอข่าว และประชาชนก็ต้องการเช่นกัน โดยในต่างประเทศที่ได้ทำการสำรวจล่าสุด (2020) พบว่าประชาชนได้ให้ความน่าเชื่อถือกับสื่อกระแสหลักร้อยละ 40 ซึ่งกลับมามองที่ประเทศไทยกับต่างประเทศที่สถานการณ์ใกล้เคียงกัน ก็พบว่าสื่อทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ เดลี่ ก็ต้องปรับให้เข้ากับ Digital Disruption มากขึ้น ทิ้งสื่อสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนโฉมมาทำเป็น Podcast แทน เน้นทำประเด็นเชิงลึกมากขึ้น หรือสื่อของไต้หวัน สถานีวิทยุจัดบริการ Phone-In ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องต่างๆ ได้ ฉะนั้น สื่อกระแสหลักยังสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญของสื่อมวลชนคือจะต้องผลิตสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงข่าวสาร มีคุณภาพ เน้นความถูกต้องของข่าวอีกด้วย ซึ่งการนำเสนอของสื่อก็ควรจะมีการแยกระหว่างความจริงกับความคิดเห็นออกมา ในขณะเดียวกันการให้สื่อมีอิสรภาพ ไม่ใช่แค่การรับข้อมูลจากรัฐมานำเสนอ แต่ต้องขุดคุ้ยมากขึ้น ซึ่งทำให้ขจัดข่าวลวงออกมาได้มากขึ้นด้วย

แล้วสื่อมวลชนจะก้าวข้ามต่อไปได้อย่างไร? อาจารย์ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าต้องเปิดใจในการรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะรัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชน รวมถึงการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น และการถอดบทเรียนในการทำงาน เพื่อที่จะสามารถทำงานต่อไปในอนาคต ไม่ซ้ำรอยกับบทเรียนเดิมได้นั่นเอง

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ กล่าวว่า การทำงานข่าวในปัจจุบันนี้ เมื่อไหร่ที่เรานำเสนอข่าวก็มักจะมีความเห็นในการนำเสนอข่าวสารแบบทันที แถมด้วยการที่สื่อถูกแบนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คนที่อยากมาทำสื่อมักจะเป็นคนที่อยากพูดและอยากตอบคำถามกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งในอดีตนั้นสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างมีเสรีภาพ กลับกันในปัจจุบันสื่อมวลชนไม่สามารถพูดถึงในหลายประเด็นได้ และสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ขุดคุ้ยมากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้สื่อนำเสนอในสิ่งที่ไม่ได้น่าสนใจ

นอกเหนือจากนั้น การที่คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมกลุ่มหนีออกจากประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกต่อคนไทยมากกว่า 500,000 คนที่มีต่อประเทศไทย สื่อมวลชนจึงเป็นความหวังในการต่อยอดปัญญา ซึ่งพอสื่อมวลชนไม่สามารถทำได้แล้ว จึงส่งผลทำให้คนที่กำลังจะไปเป็นสื่อไม่อยากเข้ามาทำงานสื่อ เบนไปทำงานด้านอื่นแทน ไม่นับเรื่องของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีข่าวลวงจำนวนมาก ส่งผลทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ในอันตราย สื่อมืออาชีพจึงเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องของทักษะเชิงลึก ทักษะทางออนไลน์ และทักษะทางการแพทย์ด้วย

หลายครั้งที่สื่อมวลชนไปแตะหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ มักจะถูกรัฐพูดว่าสื่อมวลชนสร้างความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ซึ่งสิ่งที่สื่อนำเสนอคือข้อเท็จจริงซึ่งล้วนเป็นการนำเสนอภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่การนำเสนอความคิดเห็นของสื่อมวลชนเองก็ทำให้ประชาชนสามารถถกเถียงได้ ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันทุกคนต้องกลับไปอยู่ในสังคม ฉะนั้นในวันนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้แค่กรอบนิเทศศาสตร์ในการคุยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลากหลายกรอบในการร่วมถกเถียงในการทำงานมากขึ้นด้วย และที่สำคัญสื่อมวลชนและประชาชนก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ในส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการนำเสนอข่าวการนำเข้าวัคซีนของทาง Pfizer ว่าเป็นการนำเสนอที่เป็นข่าวลวงหรือไม่นั้น นภพัฒน์จักษ์กล่าวว่าเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ทำงานภายใต้หลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน มีการแยกแยะระหว่างความเห็นกับข่าวสารออกจากกัน ซึ่งในกรณีการนำเสนอเรื่องการนำเข้าวัคซีนของ Pfizer ซึ่งเป็นการนำเสนอตามหลักการว่า “นักการเมืองพูดอย่างไร นำเสนอตามนั้น” และมีสื่อมวลชนนำเสนอทุกสำนักเลยก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐแต่อย่างไร กลับกันเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ นำเสนอข้อมูลที่รัฐล้มเหลวในการนำเสนอข้อมูลได้

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและกลายเป็นผู้ว่างงานกว่า 800 คน จากการถูก Digital Disruption ทำให้สื่อต้องการคนจำนวนที่น้อยลง ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากการทำงานภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงการ Lockdown ในรอบแรกองค์กรสื่อก็ได้มีการพูดคุยกับ ศบค. และรัฐบาลในการผ่อนปรนในการดำเนินการขนส่งและผลิตข่าว

นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรสื่อก็ได้พูดคุยกับทาง ศบค. ถึงจุดอ่อนในการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น โดยได้ให้ข้อเสนอไปว่าต้องชัดเจนในการสื่อสารมากขึ้น นอกจากนั้นคือการให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ไม่ใช่แค่รอในช่วงเวลา 11.30 น. นอกจากนี้ในส่วนของเสรีภาพสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ตกยากลำบากในการขอข้อมูลและนำเสนอข้อมูล รวมถึงการสัมภาษณ์ซึ่งส่งผลทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถซักถามแบบโทรศัพท์หรือเห็นหน้าตาคุยกันได้เลย

ข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อมูลลวง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการคลาดเคลื่อนในการให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งหน่วยงานรัฐก็มักจะโทษสื่อมวลชนเสมอ ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่แท้ที่จริงแล้วรัฐก็ควรที่จะสะกิดกันเองในกรณีที่นำเสนอข้อมูลไม่ตรงกันให้ได้ และต้องกล้าที่จะสะกิด

ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนกระแสหลักก็ควรที่จะต้องนำ Big Data มาดัดแปลงกับความเป็นนักข่าว ให้กลายเป็นนักข่าวเชิงข้อมูลมากขึ้น โดยจะต้องผสมผสานความเป็น Content Creator ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักก็ได้รับผลกระทบจากการจัดกิจกรรมไม่ได้ สื่อมวลชนก็ต้องปรับตัวในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ใช้ Digital เข้ามาช่วยได้มากขึ้น สามารถแตกประเด็น ต่อยอด และแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากขึ้น ประชาชนต้องการข้อมูลหลากหลายด้านเพื่อที่จะใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงสามารถกอบกู้ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนได้อีกด้วย และจะส่งต่อไปยังการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้ต่อไป โดยสื่อมวลชนเป็นคนหยิบข้อมูลมาไว้บนโต๊ะเท่านั้นเอง

ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานของภาคีโคแฟคในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ตลอดจนการอ้างอิงคนที่มีอยู่จริงต่อเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในการปล่อยข่าวลวงในเรื่องของวัคซีนและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้มีคนแชร์จำนวนมาก

การแชร์ข้อมูลข่าวลวงในปัจจุบันนี้มักจะมีการส่งต่อผ่านกลุ่มไลน์ของเพื่อน ญาติ และครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดกการไม่รู้เท่าทันสื่อ พอเกิดการส่งต่อแล้วก็มีโอกาสที่จะเชื่อในข่าวลวงนั้น นอกเหนือจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่ให้ข้อมูล ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจ จนส่งผลทำให้เกิดการเชื่อข่าวลวงนั้นๆ มากขึ้นไปอีก ซึ่งมีการวิจัยในไนจีเรียว่ามีการส่งต่อข่าวลวงเรื่องโควิด-19 เป็นจำนวนมาก จนทำให้เข้าใจผิด ซึ่งส่งต่อภายใต้พื้นฐานความเป็นห่วง หรือความหวังดีนั่นเอง

UNESCO กล่าวว่าสื่อมวลชนในปัจจุบันทำงานภายใต้ภาวะที่ล่อแหลมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนคนรับสื่อมีการหั่นซอยข้อมูลและบิดข้อมูลแหล่งข่าว ไม่มีข้อมูลแหล่งข่าว ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นอีกด้วย ภาคีเครือข่ายด้านสื่อจึงทำงานอย่างหนักและต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลต้องได้รับการตรวจสอบภายใต้ความมีคุณภาพ ข้อมูลเที่ยงตรงและถูกต้อง และการปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนที่จะส่งผลให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น ภายใต้แนวคิดในการทำงานที่ต้องน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง เป็นความจริงทั้งหมด และอัพเดตตลอดเวลา

ในสหรัฐอเมริกาเองรัฐบาลก็สร้างความสับสนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนจึงเป็นหน่วยงานที่ประชาชนโหยหาและต้องการในการหาความจริงที่ถูกกลั่นกรองมาแล้วว่ามีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนต้องรู้เท่าทันสื่อ สามารถค้นคว้าข้อมูลได้ และประเมินสุขภาวะทางการรับข้อมูลข่าวสาร สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลนี้ลงเมื่อไหร่ และต้องอัพเดตตลอดเวลา เพราะความจริงมักจะไหลไปตามเวลาเสมอ

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16

นักวิชาการ แนะสื่อ-ประชาชน คัดกรอง “ข้อมูล-ข่าวปลอม” ในวิกฤตโควิด

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

วงเสวนาวิชาการ ยอมรับสื่อมวลชนยุคโควิด-19 ต้องทำงานท่ามกลางพายุข่าวสาร และ Fake Newsจำนวนมาก การตรวจสอบข้อมูลมีส่วนสำคัญ ต้องผลิตข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ชัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาชนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยอมรับ ประชาชนยังศรัทธา สื่อกระแสหลัก เป็นที่พึ่งในยามวิกฤต การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World press freeedom day (WPFD) ซึ่งสื่อมวลชนทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันดังกล่าว

โดยในส่วนภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนของไทย ในนามโคแฟคประเทศไทย Cofact Thailand ได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15 ว่าด้วยเรื่อง “Information as A Public Good.” หนึ่งในหัวข้อเสวนาคือ “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด บทเรียนและอุปสรรค”  

ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ร่วมภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด บทเรียน และอุปสรรค” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้มี ข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นภายใต้ของบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ทั้งกรณีการบิดเบือน และการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน (Misleading) เช่น วัคซีนฝังไมโครชิปบ้าง เปลี่ยนรหัสพันธุกรรม (DNA) บ้าง หรือทำให้คนเป็นหมันบ้าง หรือขัดต่อหลักศาสนาบ้าง

ด้วยกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทีมงานของโคแฟค ต้องสืบค้นข้อมูล และพบว่าในเนื้อหาของข่าวบางส่วนก็เป็นความจริงและไม่จริงในข่าวเดียวกัน เช่น มีการอ้างถึงบุคคลทำงานในบริษัทวัคซีน ซึ่งบุคคลดังกล่าวทำงานจริงแต่ไม่ได้อยู่ในส่วนผลิตวัคซีน หรือเมื่อเข้าไปค้นฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ถูกอ้างถึงก็พบว่าไม่มีงานวิจัยนั้นอยู่จริง หรือมีแม้กระทั่งการสะกดชื่อวารสารแบบผิด ๆ หากไม่สังเกตก็กลายเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ผิดได้

ส่วนความท้าทายสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำนองนี้ มักส่งต่อในกลุ่มปิด เช่น กลุ่มไลน์ (แอปพลิเคชั่น Line) ที่ผู้ส่งต่อข้อมูลเป็นบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนบ้าง ญาติบ้าง บุคคลที่เคารพนับถือบ้าง ทำให้หลายคนเกิดความเชื่อและส่งข้อมูลต่อไปอีก

ขณะเดียวกันการแชร์ข้อมูลเหล่านี้ยังพบว่า ไม่ได้มีการแชร์แค่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป หรือแชร์ในสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เพราะจะมีการส่งต่อในกลุ่มปิด โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งถือเป็นกลุ่มสังคม หรือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด เป็นบุคคลที่ไว้วางใจ ทั้งไลน์ของครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน หรือกลุ่มของนักธุรกิจ ทำให้ผู้รับเกิดความเชื่อ และส่งข้อมูลต่อไปอีก เพราะเชื่อในข้อมูลของผู้ที่ส่งมาว่าเป็นความจริง

ประกอบกับความไว้เนื้อเชื่อใจ และทัศนคติที่มีต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในเรื่องโควิด ที่มีประชาชนอาจไม่ไว้ใจมากนัก ก็ยิ่งทำให้คนเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่น ๆ แต่ขาดทักษะในการคัดกรองข้อมูลว่าเป็นข่าวปลอม หรือปลอมบางส่วน หรือจริงบางส่วน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไมได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย ที่มีผู้ทำการศึกษาพบว่า มีผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ซึ่งไม่ได้ส่งเพราะความบันเทิง แต่มาจากความห่วงใยสุขภาพของคนใกล้ชิดที่รู้จักกัน

“ที่ผ่านมาทางยูเนสโก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้งวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นเดียวกัน โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลงานวันนี้ว่า การทำงานของสื่อมวลชนก็อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างล่อแหลมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประชาชนก็ต้องการข้อมูลมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องต่อสู้กับเรื่องของข่าวลวงในยุคของโซเชียลมีเดียที่มีการส่งต่อข้อมูลกันมากมาย และยังเกิดปรากฏการณ์หั่นซอยข้อมูลด้วย จึงคิดว่า เรื่องนี้ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าข้อมูลนั้นมาจากใคร ไม่มีแม้กระทั่งชื่อของแหล่งข่าว ทำให้ตรวจสอบทำได้ยากมากขึ้น”

ผศ.ดร.ณภัทร ยอมรับว่า ตามทฤษฎีนิเวศสื่อวิทยา (Media ecology) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคการศึกษา เอกชน หรือ สื่อเองต้องทำงานอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องมองว่าข้อมูลยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ แม้การห้ามหรือปิดกั้นไม่ให้ส่งต่อข้อมูลเพราะกลัวจะเป็นข่าวปลอมก็ไม่น่าใช่หนทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็นคือข้อมูลนั้นต้องมีคุณภาพ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ และได้รับการตรวจสอบแล้วก่อนเผยแพร่หรือส่งต่อให้กันและกัน เพื่อให้ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ยังมองว่า พลเมืองที่มีการรู้เท่าทันสื่อถือว่า มีความสำคัญในการสร้างและสนับสนุนเสรีภาพ รวมถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนในการหาข่าวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์บนพื้นฐานของการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องตรวจสอบเวลาของข้อมูลเหล่านั้นด้วยว่า เป็นจริง ณ เวลานั้นหรือไม่

ด้าน รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การทำงานของสื่อในปัจจุบันค่อนข้างลำบาก เพราะต้องเจอภาวะของ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) การปรับลดคน จนไม่สามารถทำงานกันได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับอำนาจรัฐและอำนาจทุน ก็ส่งผลให้การทำงานค่อนข้างลำบาก เช่นเดียวกับ ข่าวปลอม หรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ซึ่งการนำเสนอข่าวนั้นข้อเท็จจริง (Fact) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด มากกว่าการใส่สีสันเพื่อเรียกเรตติ้ง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาได้มากกว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสฟังเสวนาของสื่อเอเชียแปซิฟิกที่มีสำนักข่าวมารวมกันกว่า 30 แห่ง พบว่า สื่อทุกสำนักพยายามทำงานอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทาง International Centre for Journalists  ได้มีการสำรวจความคิดเห็นคนทั่วโลกว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับความเชื่อมั่นของการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก โดย 40% ระบุว่า สื่อกระแสหลักและสำนักข่าวต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ การสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ไต้หวัน มีสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจัดสรรเวลาเพื่อจัดรายการให้ความรู้การปฏิบัติตนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบจำเพาะเจาะจงกลุ่มนักศึกษาบ้าง ชาวต่างชาติบ้าง ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไม่ ต้องทำวีซ่าหรือไม่ โดยให้ประชากรแต่ละกลุ่มดังกล่าวโทรศัพท์เข้ามาสอบถามและได้คำตอบอย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาแบบนี้สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างมาก

“หัวใจของสื่อที่จะต่อสู้ในยุคนี้ ทั้งเรื่องของโควิด-19 หรือ Digital Disruption สิ่งสำคัญ คือ จะต้องผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาเราเห็นสื่อแข่งขันกันเรื่องความเร็ว แต่ช่วงวิกฤติไปแข่งเรื่องความเร็วไมได้ ต้องแข่งในเรื่องข่าวสารที่มีคุณภาพ เน้นความถูกต้องและเน้นความน่าเชื่อถือ ถ้าเกิดเป็นข่าวที่ไม่ถูกต้อง จะเกิดอาการโกลาหลขึ้นมา บางทีอาจไปถึงขั้นชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นความตายได้”

รศ.ธีรภัทร ยังระบุอีกว่า ในด้านของการนำเสนอข่าวสารอย่างอิสระนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องแสวงหาความจริง มีการตรวจสอบข้อมูล ไม่ควรจะรอข้อมูลจากภาครัฐอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียวเท่านั้น ต้องรับฟังข้อมูลผู้ฟัง หรือจากประชาชนด้วย และสอบถามหาข้อเท็จจริง จะช่วยต้านทานข่าวปลอมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก

สรุปรายละเอียด “ประกาศยกระดับ” มาตรการคุมโควิด เริ่ม 1พ.ค.นี้

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมต้นเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด รวมทั้งหมด 6 ข้อ  ทั้งให้สวมหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า กำหนดพื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ออกมาตรการควบคุมสีแดงเข้ม และสีแดง รวมทั้งกำหนดแนวทางการทำงานนอกสถานที่ตั้ง มีผล 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact  รายงานว่า ขณะนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 22) เพื่อไม่ให้เหตุของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทวีความร้ายแรงมากขึ้น และให้สามารุยุติลงได้โดยเร็ว จึงอออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ รวม 6 ข้อ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนี้

1.การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการแพร่โรคเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อจำกัดวงในการระบาดของโรค เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องสวมให้ถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

2. การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 6 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อให้การสกัดและยับยั้งการระบาด ของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่จังหวัด รวม 45 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(3) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัด รวม 26 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม

3.การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คนในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเหตุยกเว้นวิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่

4. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดยกระดับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขึ้นเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

(2) สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งสามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีให้จัดการแข่งขันได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแล้วให้สามารถจัดการแข่งขันได้ต่อไป

(3) สำหรับการเปิดดำเนินการของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน หรือสถานประกอบการอื่นในลักษณะคล้ายกัน ให้ดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค เช่นเดียวกับมาตรการแบบควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(4) การงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

5.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

6. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการขั้นสูงสุด เพื่อมุ่งลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบในการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยง ที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบจะติดเชื้อเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่ในสถานที่ตั้ง การสลับวันเวลาทำงาน หรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสม โดยพิจารณาให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการประชาชนขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ยังได้แจ้งว่า ขณะนี้ กรุงเทพมหานครและจังหวัดทุกจังหวัด ได้ออกมาตรการมาควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยกำหนดบทลงโทษกรณีประชาชนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหะสถานหรือสถานที่สาธารณะ ทั้งนี้สวามารถตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขของแต่ละจังหวัดได้ที่ www.moicovid.com