โคแฟคเผย 5ข่าวลือ ป่วนวัคซีนโควิดทั่วโลก เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

ข่าวลวงที่พบบ่อย
เนื้อหาเป็นเท็จ

ผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้คนทั้งโลกกำลังฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ในการยุติฝันร้ายทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ หากประชากรส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็จะเกิดภูมิกันหมู่ (Herd Immunity) ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้งวัคซีนยังช่วยลดอาการรุนแรงของโรคหากเกิดติดเชื้อขึ้นมา แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งของแผนการฉีดวัคซีนวงกว้างคือ “ข่าวลือข่าวลวง (Misinformation)” ที่ทำให้เข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกจนผู้คนรู้สึกลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ประเทศไทย (cofact.org) ได้เปิดเผย 5 ข่าวลือข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังถูกพูดถึงในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

1.วัคซีนฝังไมโครชิป: เป็นเรื่องที่ถูกลือกันมากที่สุดในสังคมตะวันตก ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ โดยเชื่อว่าเป็นแผนการของทุนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ต้องการปูทางไปสู่การฝังไมโครชิปประชากรทั่วโลก อาทิ ข่าวจาก BBC รายงานว่าผลการสำรวจของ ยูกอฟ (YouGov) บริษัทรับทำโพลชื่อดังของอังกฤษ ที่สอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวน 1,640 คน แล้วสรุปผลได้ว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 28 เชื่อเรื่องแผนการฉีดวัคซีนเพื่อฝังไมโครชิป เป็นต้น

ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อไอทีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ออกมาพูดเปรยๆ ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2563 ว่าในอนาคตจะมีการออกใบรับรองดิจิทัลสำหรับผู้ที่เคยป่วยจากไวรัสโควิดและได้รับการรักษาจนหายแล้วไปจนถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนจะถูกขยายผลลือกันเป็นตุเป็นตะ 

ข่าวลือเรื่องวัคซีนโควิดฝังไมโครชิปกลับมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 เมื่อสหรัฐฯ เตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ (Pfizer) ทำให้ทางไฟเซอร์ต้องชี้แจงส่วนผสมของวัคซีนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้ในวัคซีนหลายๆ ชนิด แต่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับไมโครชิปแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ย้ำอีกครั้งว่า ไม่พบการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือไมโครชิปในวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดๆ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ สรุป จากการตรวจสอบทางบีบีซี นำเสนอว่าข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริง 

วัคซีนแอบฝังชิปในตัว⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

2.วัคซีนเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอมนุษย์: ข่าวลือนี้ถูกพูดถึงกันมากเป็นพิเศษสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี 2 ชนิดคือ mRNA เช่น วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำรหัสพันธุกรรมส่วนเล็กๆ ของไวรัสมาใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กับ Viral Vector เช่น วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ใช้วิธีฝากสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ไปกับไวรัสชนิดอื่น แต่เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ด้วย

การกล่าวถึงพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ในกระบวนการผลิตและการทำงานของวัคซีน นำไปสู่ความกังวลว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีผลข้างเคียงคือรหัสพันธุกรรมของตนจะเปลี่ยนไปด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ชี้แจงเรื่องนี้ว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง 2 ชนิด แม้จะส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายมนุษย์ แต่สารนั้นจะไม่เข้าไปถึงนิวเคลียสอันเป็นที่เก็บดีเอ็นเอ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อดีเอ็นเอแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าข่าววัคซีนเปลี่ยนดีเอ็นเอนี้ไม่เป็นความจริง              

 ระวัง วัคซีนเปลี่ยน ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

3.วัคซีนทำให้คนเป็นหมัน: การมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ ครอบครัว สามี-ภรรยาหลายคู่ถึงกับเกิดความเครียดเมื่อมีข่าวลือว่าการฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้กังวลและปฏิเสธการรับวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย โดยหน่วยงานบริหารสินค้าด้านอายุรเวท (Therapeutic Goods Administration-TGA) ระบุว่า ข่าวลือนี้อ้างถึงโปรตีนซินซิติน-1 (Syncytin-1) ที่ช่วยมีการพัฒนารก ซึ่งมีอยู่ในหนามแหลมของเชื้อโควิด-19 เช่นกัน แต่ยืนยันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือแม้แต่วัคซีนป้องกันโรคอื่นๆส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือการพัฒนาของรกแต่อย่างใด

        ทางศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท ได้ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูล #SureVac โดย Newtral.es ว่าข่าวที่ “แนะท่านชายนำเชื้ออสุจิไปแช่แข็งก่อนรับวัคซีนโควิด” นั้นไม่เป็นความจริงด้วยเช่นกัน  

จริงหรือที่วัคซีนทำใ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

4.วัคซีนช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย: ข่าวนี้อาจจะแปลกกว่าข่าวลืออื่นๆที่ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกในเชิงหวาดกลัว แต่ก็เป็นข่าวปลอมที่ต้องชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อต้นเดือน ม.ค. 64 กรณีมีการส่งต่อภาพที่อ้างว่าเป็นข่าวจากสำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา ที่พาดหัวข่าวว่า แพทย์สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่อวัยวะเพศชาย เพราะจะทำให้วัคซีนกระจายไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น

หนักไปกว่านั้นยังมีการแชร์ไปถึงขนาดว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายให้ยาวขึ้นได้ถึง 3 นิ้ว ทั้ง 2 ข่าวอ้างงานวิจัย แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอมทั้งหมด ตั้งแต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่อ้างกลุ่มตัวอย่างทำการศึกษา 1,500 คน ก็ไม่มีอยู่จริง หรืออ้างวารสารวิชาการ The New Ingland Journal of Merdecine ที่เป็นวารสารที่ไม่มีอยู่จริง โดยวารสารที่มีจริงคือ The New England Journal of Medicine ซึ่งก็ไม่เคยตีพิมพ์บทความทำนองนี้แต่อย่างใด แม้กระทั่งสำนักข่าว CNN ก็ไม่เคยเสนอข่าวตามภาพที่นำมาอ้างกันด้วย เช่นเดียวกับตรวจสอบจากสำนักข่าว AFP และ อีกหลายสำนักสรุปตรงกันข่าวที่อ้าง CNN นี้เป็นข่าวลวง 

https://cofact.org/article/4gvhvfht7i4k

5. วัคซีนมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ต้องห้ามตามหลักศาสนา: ในบางศาสนานั้นมีข้อห้ามการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสัตว์บางชนิด เช่น ศาสนาฮินดูห้ามบริโภคเนื้อวัว ศาสนาอิสลามห้ามบริโภคเนื้อหมู ทำให้เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลือผิดๆ ว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทำจากส่วนประกอบของสัตว์ดังกล่าว บรรดาศาสนิกชนจึงไม่สบายใจและนำไปสู่การปฏิเสธการรับวัคซีนในที่สุด

 ที่ประเทศอังกฤษ ช่วงต้นปี 2564 ดร. ฮาร์พรีท สูท (Harpreet Sood) หัวหน้าหน่วยต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ยอมรับว่าทีมงานต่อต้านข่าวปลอมทำงานกันอย่างยากลำบากด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม จากกรณีพบผู้มีเชื้อสายเอเชียใต้ (ภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์) ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมีแนวโน้มปฏิเสธการรับวัคซีนโควิด-19 โดยต้องทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา อธิบายให้ศาสนิกชนเหล่านี้มั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ทาง Newsweek  ก็มีการตรวจสอบว่าเป็นข่าวลวงเช่นกัน โดยเฉพาะในวัคซีนของไฟเซอร์ ส่วนในประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นฉีดวัคซีนไปแล้ว  วัคซีน​มีส่วนผสมของเ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

สุภิญญากล่าวเพิ่มเติมว่า 

“ยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนนั้นไม่นิ่งและอลหม่านมากจึงทำให้คนกลัว ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่ทั่วโลก มีทั้งมิติวิทยาศาสตร์และการเมืองปนกัน เรื่องวัคซีนยังเป็นนโยบายสาธารณะด้วย ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งตอบคำถามจากสังคมให้ชัดเจน เช่น ทำไมเราได้รับฉีดวัคซีนช้า มีตัวเลือกอื่นหรือไม่ การบริหารจัดการโปร่งใสหรือเปล่า และ การเข้าถึงวัคซีนเป็นสิทธิ์ทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงการให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น ส่วนประชาชนควรแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความคิดเห็นหรือความเชื่อ จะได้ไม่สับสนและมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้าไม่แน่ใจอะไร ส่งมาให้สื่อมวลชน เช่น สำนักข่าว AFP ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สมาคมนักข่าวฯ และ โคแฟคเพื่อช่วยตรวจสอบได้เช่นกัน” 

……..

ความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือด้านมืดออนไลน์ในวิถีปรกติใหม่

โดย สุภิญญา กลางณรงค์  และ ผศ. ดร.ณภัทร เรืองนภากุล 

บทเกริ่นนำ 

การเข้าสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งหวังให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันได้เกิดกระแสของการให้บริการในรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลเรียกได้ว่าเป็น “เทคโนโลยีก้าวกระโดด” (Disruptive Technology) ที่ได้รับความนิยมอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากความสามารถในตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในวิถีปัจจุบันโดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยหลังการจัดสรรคลื่นความถี่โดยคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย อีกทั้งเมื่อราคาของโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนในตลาดมีราคาถูกลง คนจำนวนมากเข้าถึงได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดการบริการผ่านระบบออนไลน์ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วในสังคมไทย  ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทีก้าวกระโดดดังกล่าวอยู่ในภาพใหญ่ที่ทางสภาผู้บริหารเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เรียกว่าเป็นการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution) ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ระบบและจักรกลอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันได้เท่านั้น แต่มีขอบเขตที่กว้างขวางกว่านั้นมาก

“สิ่งที่เกิดควบคู่กันคือคลื่นแห่งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ล้ำหน้ายิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ตั้งแต่การจัดลำดับพันธุกรรมไปถึงนาโนเทคโนโลยี ตั้งแต่พลังงานทดแทนไปถึงคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัม การผสมกลมกลืนและปฏิสัมพันธ์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งในด้านกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ คือสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่แตกต่างจากการปฏิวัติที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง” 1

การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดด้วยพลังของตลาดและการบริโภค หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ความสำคัญของภารกิจ (relevance) ลดลงไป ยกตัวอย่างกรณีกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เห็นได้จากปรากฎการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์รวมถึงสถานีโทรทัศน์ที่ต้องทยอยปิดกิจการลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่รับสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าดูทีวี  หรือ การที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์และทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ไร้สายมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) การใช้สมองกลอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ เทคโนโลยีภาคพลเมืองมาแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น (Civic Technology)

โดยเฉพาะในปัจจุบันเริ่มต้นปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ 2563) ที่สถานการณ์ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้านสุขภาพจากโรคระบาดโควิด19 ที่กระทบรุนแรงและลึกซึ้งต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมการมือง  ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตด้วยการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลายาวนาน โดยมีกิจกรรมผ่านบริการโทรคมนาคมและปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นทั้งการประชุมออนไลน์ การทำงาน การเรียน การจับจ่ายใช้สอยและการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวัน บทบาทของเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อพลเมืองและกระตุ้นให้เกิดการการปรับตัวครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน ผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างเร็วขึ้นอีก จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าวิถีปรกติใหม่ (New Normal) อีกทั้งมาตรการควบคุมโรคกลายเป็นเหตุจำเป็นให้ภาครัฐต้องมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน (Contact tracing) เหตุปัจจัยเหล่านี้ก็ให้เกิดการตั้งคำถามถึงจุดสมดุลระหว่างความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะในการใช้ชีวิตเชื่อมต่อโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) การเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและเอกชน  และ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้สาธารณชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ (Open Data) เป็นต้น 

โจทย์สำคัญคือ ยังมีช่องว่างในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัลนั้นตอกย้ำปัญหาความไม่ธรรมจากยุคแอนะล็อกที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยรวมถึงคนชายขอบยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกันภาครัฐก็มีภารกิจในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี แต่ก็ต้องระมัดระวังและรับมือผลกระทบด้านลบที่มากับยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน อาทิ ปัญหาการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) ทั้งในลักษณะความเข้าใจผิด (Misinformation) และการตั้งใจบิดเบือน (Disinformation) หรือปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่าข่าวลวง (Fake News) รวมไปถึงด้านมืดในยุคดิจิทัลและอาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ที่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เพราะสามารถเกิดขึ้นจากที่ใดแบบไร้พรหมแดนกับใครเมื่อไหร่ก็ได้ที่ประชาชนกลายตกอยู่ในภาวะมีจุดอ่อนเพราะขาดความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในการป้องกันตนเองที่ดีพอ รวมทั้งระบบการบังคับกฎหมายในประเทศหรือข้ามประเทศก็ยังมีข้อจำกัด อีกทั้งความสมดุลในการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามอาชญากรรม แต่ก็ไม่ล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไทยตลอดมา 

ดังนั้นในเชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ภาครัฐจึงต้องมีหลักนิติธรรมควบคู่ไปกับการกำกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมไปกับความรับผิดชอบของภาคเอกชนต่อสังคม สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของพลเมืองในยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) อย่างฉลาดรู้เท่าทันมากพอ (Digital Intelligence)  โดยมีศักยภาพในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรับมือด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัยและยืดหยุ่นต่อความท้าทายรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน (Digital Resilience) 

แนวคิดความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล

การตระหนักถึงการสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างจริงจังและได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดย DQ institute2 ให้ความหมายของพลเมืองดิจิทัลว่า ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่ออย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม  ขณะที่ Kusnadi and Hikmawan3 กล่าวว่าความเป็นพลเมืองดิจิทัลถูกกำหนดให้เป็นของบทบาทของผู้คนในสังคมที่แวดล้อมด้วยข้อมูลจำนวนมากในยุคดิจิทัล ผ่านการใช้เทคโนโลยี  เครื่องมือและแพลตฟอร์มซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในการดำรงชีวิตและการทำกิจกรรมทางสังคม ส่งผลต่อการขยายขอบเขตของกิจกรรมของพลเมืองมากขึ้นและสามารถสื่อสารข้อมูลของตนเองผ่านสื่อดิจิทัล ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการเสริมพลังพลเมืองและเอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ Moonsun4 ยังนิยามความเป็นพลเมืองดิจิทัลออกเป็น 3 มิติ คือ 

 1). มิติด้านความรู้เกี่ยวกับสื่อและสารสนเทศ ซึ่งพลเมืองดิจิทัลต้องมีความรู้และสามารถเข้าถึง ใช้ สร้างสรรค์ ประเมิน สังเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือดิจิทัล  

2). มิติด้านจริยธรรม พลเมืองดิจิทัลจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย มีจริยธรรม ความรับผิดชอบ ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสังคม เคารพสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์  และ 

3). มิติด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม พลเมืองดิจิทัลจะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ

จะเห็นได้ว่า พลเมืองในยุคดิจิทัลจะมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทักษะในการรู้คิดขั้นสูงและมีวิจารณญาณ และเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น การรู้จักสิทธิตนเอง เคารพผู้อื่น และการปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ นอกจากนี้พลเมืองดิจิทัลยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการการเมืองภาคพลเมือง และการแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น  

ความท้าทายของการเป็นพลเมืองดิจิทัลคือ ผู้คนในยุคปัจจุบันมีความหลากหลาย ที่เรียกกันว่า Generation ซึ่งมีทั้ง Baby Boomer, Gen X, Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha โดยที่ผ่านมาความแตกต่างระหว่างผู้คนในแต่ละรุ่นอาจมีไม่มากนัก แต่การเข้ามากระทบของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption กับวิถีชีวิตอย่างหนักหน่วง ทำให้ผู้คนที่ถูกเรียกว่า Gen Z และ Gen Alpha มีพฤติกรรม ความคิด และความเชื่อแตกต่างอย่างคนรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมดิจิทัลหรือชาวดิจทัลดั้งเดิม (Digital Natives) ที่ทะลายกำแพงด้านสถานที่และเวลา ทำให้ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ทราบเหตุการณ์รอบตัวและรอบโลกอย่างหลากหลายและรวดเร็ว ในขณะที่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบผู้อพยพเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Immigrants) ต้องมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลอย่างมาก โดยความแตกต่างนี้ถูกกระตุ้นให้ชัดเจนและมีการส่งต่อมากขึ้นด้วยสื่อสังคมออนไลน์  ปรากฏการณ์นี้เองอาจก่อให้เกิดความแตกแยก ความเป็นอื่น และความเกลียดชังได้ นอกจากความท้าทายด้านการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองดิจิทัลซึ่งเป็นคนต่างรุ่นแล้ว ยังมีความท้าทายด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์

     เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างเครื่องมือและทรัพยากรที่น่าทึ่งทำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสื่อสารและพฤติกรรมของผู้คนไปอย่างมาก จากเดิมที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้รับสารและรอรับข้อมูลจากผู้ส่งสาร แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้อย่างง่ายดาย  

เทคโนโลยีที่มีผลด้านบวกต่อสังคมคือส่งผลต่อการเรียนรู้  ทำให้การเรียนรู้มีการโต้ตอบและทำงานร่วมกันมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่เรียนรู้และมีปัญหาได้ดีขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดเวลา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  นอกจากนี้เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อสังคมคือช่วยให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้แม้อยู่คนละมุมโลก 

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยียังส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้คน กล่าวคือ เทคโนโลยีโทรทัศน์มือถือลดการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างกัน การบริหารจัดการเวลาส่วนตัวมีน้อยลงเนื่องจากต้องออนไลน์ติดตามผู้อื่น และถูกผู้อื่นติดตามตลอดเวลา จนอาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลทางเทคโนโลยีมีส่วนกำหนดและการเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว

ด้วยความรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันด้านความรวดเร็วจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความถูกต้องของข้อมูลจึงถูกมองข้ามไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกายและทางใจของสมาชิกในสังคม จากการได้รับชุดข้อมูลผิดหรือบิดเบือน โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Coronavirus Disease 19) ซึ่งกลายเป็นปัญหาของโลก ที่สั่นคลอนเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและสังคม เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและเต็มไปด้วยความหวาดกลัว  ทำให้เกิดการแพร่สะพัดของข้อมูลบิดเบือนจำนวนมากผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาชญากรรมไซเบอร์ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และ สิทธิของพลเมืองในยุคดิจิทัล ดังจะได้กล่าวต่อไป

ปรากฎการณ์ท้าทายด้านมืดในโลกออนไลน์ในยุคโรคระบาดโควิด-19

  1. การใช้เวลากับบริการเนื้อหาด้านเพศที่เข้าข่ายด้านมืดหรือ Darknet มากขึ้น 

ปรากฎการณ์ “โควิด-19 ทำยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นทั่วโลก” โดยเนื้อหาด้านเพศนั้นมีจำนวนมากไม่ได้เกิดจากความยินยอม (consent) ของผู้ที่ตกเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางเพศ 

        “CNBC ชี้ว่าอัตราการเข้าชม Pornhub ของผู้คนจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายในช่วงที่หลายประเทศเริ่มมีมาตรการสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยมีการเปิดเผยตัวเลขสถิติต่างๆอย่างชัดเจนผ่านทางหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในชื่อรายงานพิเศษว่า Coronavirus Insights โดยในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน มียอดผู้ชมเพิ่มขึ้นจากปกติอย่างมากถึง 57 38 และ 61 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับในวันที่ Pornhub ประกาศให้เข้าชมฟรีหลังมีมาตรการสั่งกักตัว” 

              จากสถิติของ Pornhub Insights ซึ่งเป็นแผนกเก็บข้อมูลเชิงลึกของ Pornhub พบว่า ในปี 2562 มีผู้เข้าชม Pornhub ทั่วโลกกว่า 4.2 หมื่นล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 115 ล้านครั้งต่อวัน และมีผู้ค้นหาคำว่า Pornhub ในโลกอินเทอร์เน็ตกว่า 3.9 หมื่นล้านครั้ง สำหรับประเทศที่มีอัตราการเข้าชม Pornhub สูงสุดต่อวันในปีที่แล้วคือ สหรัฐ ขณะที่ “ไทย” อยู่ในอันดับที่ 17 ขึ้นมา 6 อันดับจากปี 25616  ตัวอย่างปัญหาผลกระทบด้านมืดในโลกออนไลน์ อาทิ ทางสำนักข่าวบีบีซีได้รายงานว่า เจ้าของเว็บไซต์หนังโป๊อย่าง Pornhub ทำเงินจากหนังโป๊ที่คนอัพโหลดลงเพื่อแก้แค้นกัน และไม่เอาวิดีโอดังกล่าวออกแม้ผู้เสียหายจะรายงานแจ้งไปแล้ว โดยผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อโซฟี บอกว่า เธอรู้สึกถูกล่วงละเมิดเมื่อวิดีโอที่มีเธอโป๊เปลือยมีคนเข้ามาชมหลายแสนครั้ง ซึ่งกลุ่มรณรงค์ #NotYourPorn บอกว่าเนื้อหาในลักษณะนี้ช่วยให้ MindGeek บริษัทเจ้าของ Pornhub ทำเงินได้จากการขายโฆษณามากขึ้น7 

    ความท้าทายของกรณีนี้คือ การรับชมเนื้อหาทางเพศในโลกออนไลน์อาจมีส่วนช่วยลดการละเมิดทางเพศในเชิงกายภาพในโลกออฟไลน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งการละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อที่ไม่ได้เต็มใจในการถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ถูกนำเนื้อหามาเผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้นก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น ส่งผลต่อสภาวะร่างกายและจิตใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ  แม้จะมีการร้องขอให้มีการลบเนื้อหาออกแต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายที่มองว่าเป็นเสรีภาพในการเสพเนื้อหาข่าวสาร และ ผลจากการละเมิดก็เป็นอาชญากรรมออนไลน์ เส้นแบ่งระหว่างเนื้อหาที่ผิดกฎหมายควรมีการทำกรอบให้ชัดเจนเพื่อที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการได้โดยไม่กระทบสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลจริงจังก็เป็นเรื่องท้าทายมากในยุคไร้พรหมแดนที่กลไกกฎหมายเข้าไม่ถึงควบคู่ไปกับการรณรงค์จริยธรรมของผู้ใช้บริการที่จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อโดยปราศจากความยินยอม เป็นต้น

  1. ภัยหลอกลวงทางออกไลน์ในยุคโควิดเพิ่มสูงขึ้นมาก 

            ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบทั้งตกงาน รายได้ลดและสิ่งที่ตามมาซ้ำเติมในยามลำบากนี้ก็คือ “ภัยการหลอกลวง” ของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหากินกับการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาหลอกลวงผู้อื่นแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ตัวอย่างจากทาง “ทรูมันนี่” ได้รวบรวมกลโกงในยุค New Normal  มาเตือนภัยผู้ใช้เทคโนโลยีให้ระมัดระวังภัยออนไลน์ในยุค New Normal ที่ต้องเพิ่มความระวัง ดังนี้8  การเสนองานออนไลน์ (Job Offer Scam) การลวงบริจาค (Charity  Fraud Scam) สวมรอยเป็นตัวแทนหรือผู้เชี่ยวชาญไอที (Repair Scams)  การลวงเล่นพนันออนไลน์ (Fraud In Online Gambling)

จากข้อมูลของ AppsFlyer เผยการหลอกลวงออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) นั้นมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 60 และที่น่าตกใจคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ถูกโจมตีมากที่สุดโดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม  นอกจากนี้ ผลสำรวจระดับโลกจาก Next Caller ผู้พัฒนาโซลูชั่นและเทคโนโลยีการตรวจจับการฉ้อโกงทางโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ เผยว่า 37% ของชาวอเมริกันเชื่อว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงในเรื่องเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า และอีก 44% บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าเสี่ยงถูกหลอกมากขึ้นเมื่อทำงานจากบ้าน (WFH) ในขณะที่ประเทศไทยทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ายิ่งเราเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราบนโลกออนไลน์มากเท่าไร ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีมาฉวยโอกาสจากเรามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวการหลอกลวงออนไลน์มากมาย ตั้งแต่การหลอกสั่งซื้อของออนไลน์ หลอกลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หลอกชวนทำบุญบริจาค หลอกให้เงินกู้ หรือแม้กระทั่งสวมรอยเป็นคนรู้จักเพื่อหลอกขอยืมเงินที่พบกันประจำ เพราะมิจฉาชีพก็ปรับรูปแบบไปกับยุค New Normal ด้วยเหมือนกัน โดยสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนและพัฒนาทักษะการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย หวังล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวและจ้องฉกเงินจากกระเป๋าสตางค์หากเราไม่ทันระวังตัวด้วยกลโกงต่างๆ8

พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ชี้ให้เห็นว่า  อาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมองอาชญากรด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะ “อาชญากรทางไซเบอร์” เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรม จึงถือเป็นอาชญากรรมในอีกระดับหนึ่ง ที่ผู้ก่อเหตุมีความสามารถสูง โดยให้คำนิยามใหม่ของอาชญากรทางไซเบอร์ โดยเรียกว่า “Smart โจร” เป็นอาชญากรที่ฉลาดมากขึ้น สามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเจ้าหน้าที่ไปหลายก้าว จึงไม่ควรประเมินความสามารถของคนกลุ่มนี้ต่ำเกินไป และยังเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีขอบเขตของประเทศ จึงยากลำบากต่อการติดตาม เมื่อการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง เกิดขึ้นจากอีกประเทศหนึ่ง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อนมากขึ้น ในแต่ละครั้งต้องไปดูว่ามีสนธิสัญญาระหว่างกันหรือไม่ มีรายละเอียดในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง9

  1. การละเมิดสิทธิผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นในธุรกรรมการค้าออนไลน์ 

จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า10 มีตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาบอกเล่าประสบการณ์ ส่วนใหญ่พบการหลอกลวงขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ การลดราคาเกินจริง รวมถึงบางรายพบปัญหาความยุ่งยากในการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา หรือไม่มีหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่องการทำตลาดออนไลน์และการโฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ทำให้เกิดช่องโหว่และทำให้ผู้ขายหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ในผู้บริโภคบางรายก็ถูกผู้ประกอบธุรกิจลดทอนสิทธิจากที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้อำนาจตามกฎหมายข่มขู่ฟ้องร้อง ทำให้ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและไร้ทางออก 

      “การไปแจ้งความไม่ง่ายเลย เราไปแจ้งความมาประมาณ 6 – 7 ครั้งแล้ว ขณะที่เมื่อเราคุยกับผู้เสียหายรายอื่นก็ไปประมาณ 10 ครั้ง จึงไม่แปลกใจที่คนไม่ยอมไปแจ้งความ เพราะเสียเวลามาก ซึ่งช่องว่างตรงนี้เป็นที่ที่มิจฉาชีพใช้ประโยชน์ คือ ถ้ามิจฉาชีพได้รับหมายแจ้งความ เขาจะส่งของหรือไปเจรจาไกล่เกลี่ย ทำให้ผู้เสียหายบางรายยอมหยุดไม่ดำเนินการกับเขาต่อ ส่วนตัวมองว่ามิจฉาชีพก็จะได้ใจและโกงแบบนี้ต่อไปได้อีก” 

     “ปัญหาออนไลน์ที่มาอันดับหนึ่งปีที่แล้ว คือ เรื่องของการซื้อยาในออนไลน์ เพราะมีการโฆษณาให้น่าเชื่อถือ จงใจหลอกขาย และยังเข้าถึงง่ายอีกด้วย แต่การขายยาผ่านออนไลน์ผิดกฎหมายนะ เพราะยาต้องขายในสถานที่ตั้งเท่านั้น” 

         ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงปัญหาการซื้อขายออนไลน์ พร้อมระบุปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ ในโลกออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ มีข้อมูลที่ให้ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเต็มไปหมดและข้อมูลเหล่านั้นยังสะเปะสะปะ ไม่เป็นระบบ และช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่ไม่บูรณาการกันด้วย รวมถึงผู้บริโภคในไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับการรู้ดิจิทัล (Digital literacy) ที่น้อยมาก รวมไปถึงตัวกฎหมายที่ไม่ทันสมัย แถมยังมีช่องว่างของกฎหมายให้ฉวยโอกาสได้ จนทำให้อาจไม่เท่าทันกลลวงของผู้ขาย เป็นต้น10 

ที่ผ่านมาก่อนยุคโรคระบาดปัญหาอาชญกรรมด้านไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นนับเป็นเรื่องที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วและกระทบคนทุกกลุ่ม ตามที่ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ9 ยกข้อมูลจาก Internet Crime Report ของ FBI ในช่วงปี 2016 – 2017 เพื่อระบุให้เห็นว่า เหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์ คือ คนทุกกลุ่ม แม้คนทุกเพศทุกวัยจะใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่การรับรู้และระดับการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ของแต่ละวัยไม่เหมือนกัน ยิ่งในช่วงนี้ประชาชนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำงานที่บ้านมากขึ้น ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้มากขึ้น โดยมีอีกหนึ่งตัวเร่ง คือ การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ ที่ดึงดูดให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาล่อลวงเหยื่อมากขึ้น

ข้อมูลของ UNODC ระบุว่า9 อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงรวดแร็วและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ แฮกเกอร์ มัลแวร์ แรนซัมแวร์ เครือข่าย Botnet การโจมตีแบบ Distributed Denial of Service หรือการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย การใช้เทคนิค Romance Scam หรือการหลอกลวงเหยื่อโดยใช้ความเสน่หา การประกอบกิจการผิดกฎหมายของอาชญากรข้ามชาติออนไลน์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต Darknet เพื่อขายสินค้าผิดกฎหมาย ส่วนรูปแบบที่พบเห็นได้มากในอาเซียน คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนสื่อออนไลน์ เพราะพบการถ่ายทอดสดการละเมิดเด็กทางสื่อออนไลน์ต่างๆ มีช่องทางให้ชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลแบบไม่ระบุตัวตนเพื่อเข้ารับชม

     อย่างไรก็ตาม ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกลุ่มความท้าทายต่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ (pure computer crimes) ซึ่งมุ่งหมายกระทำต่อตัวระบบหรือกับตัวข้อมูลเป็นหลักและกลุ่มที่สอง อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Crime about content) ที่เผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านจากภัยของโควิด-19 และต้องมีความสมดุลในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ทางออกที่ยั่งยืนนอกจาการบังคับใช้กฎหมายที่มีความร่วมมือกันระหว่างประเทศแล้ว การส่งเสริมให้พลเมืองยุคดิจิทัลมีความฉลาด เข้มแข็ง ปรับตัว รู้เท่าทัน และ ป้องกันตนเองได้ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแต่ละประเทศในการรับมือด้านมืดออนไลน์ ที่ปัญหามีจำนวนมากขึ้นในยุควิถีปรกติใหม่หรือนิวนอร์มอลนั่นเอง (New Normal) 

พลเมืองดิจิทัลและการสร้างชุมชนในโควิด -19 

สำหรับประเทศไทยนั้น คนไทยมีการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีรายงานจาก We Are Social และ Hootsuite11  ระบุว่า ในปี พ.ศ 2563 ประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน มีเบอร์โทรศัพท์มือถือ 92.33 ล้านเลขหมาย  รายงานดังกล่าวระบุว่าคนไทย 57 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และกว่า 51 ล้านคน มีบัญชี Social Media  รายงานนี้ยังระบุอีกว่า  คนไทยใช้เวลาอยู่ในอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยประมาณ 9.01 ชั่วโมงต่อวัน มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรอง ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ บราซิล และ โคลัมเบีย ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการเรียนรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งรู้จักเคารพสิทธิของตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในโลกสมัยใหม่ ไปจนถึงเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อสังคมและใช้มันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวกยังคงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพราะแม้เราอาจจะใช้อินเทอร์เน็ตราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ดูเหมือนคนจำนวนมากยังขาดทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ยังไม่รู้วิธีลดผลกระทบจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์ รวมถึงขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบในโลกยุคดิจิทัล สอดคล้องกับการศึกษาล่าสุดของ Next Billion Users ของ Google12 พบว่าสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น การค้าขาย การศึกษา บริการต่างๆ ถูกย้ายไปไว้บนโลกออนไลน์ตามแนววิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ถูกปรับจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  ทำให้ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลมีความจำเป็น 

 ซึ่งประเทศไทยการบริการเทคโนโลยีสื่อโทรคมนาคมและการเงินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมชั้นนำในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและนโยบายของประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังหลังจากที่รัฐบาลผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งในแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ13  ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลเมืองและการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพการใช้เทคโนโลยีของประชาชน  ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤต COVID-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลให้เร็วมากขึ้น12  ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการสร้างความคิดแบบดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในสภาพแวดล้อมนี้

อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าในเทคโนโลยีไม่อาจจะเป็นตัวชี้ในความสำเร็จของการรับมือด้านมืดของออนไลน์ได้ นโยบายในการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ และเศรษฐกิจควรควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนได้คิดวิเคราะห์ และเปิดใจรับข้อมูลที่แตกต่าง  เพราะพลเมืองในยุคดิจิทัลนี้ นอกจากต้องมีทักษะในการรักษาความปลอดภัย สิทธิและความรับผิดชอบแล้ว ยังต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายแห่งยุคสมัยที่ได้รับข้อมูลออนไลน์ตั้งแต่ลืมตา (รวมถึงข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ) การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ก่อนการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในชุมชนออนไลน์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์ 

ตัวอย่างสังคมดิจิทัลได้เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโรคโควิดเช่นกรณีในอินโดนีเซียแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งของปรากฎการณ์ทางสังคมที่สามารถเห็นชุมชนร่วมกันผ่านโซเชียล เกิดการแบ่งปันผ่านสื่อเพื่อเอาชนะพลวัตและความซับซ้อนของปัญหาที่มีอยู่ การบรรเทาและช่วยเหลือในยุคการแพร่ระบาดของโควิด -19 การปรับเปลี่ยนชีวิตให้เป็นดิจิทัล เช่น การต้องทำงานจากบ้านทุกวัน ซึ่งมีผลอย่างมากสำหรับกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชน นอกจากนี้โลกดิจิทัลได้กลายเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือในช่วงการระบาดของโควิด 19 เพราะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่กับวิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด -19 อีกด้านหนึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้เปลี่ยนเป็นพลเมืองดั้งเดิมกลายเป็นพลเมืองดิจิทัล และกลายเป็นช่องทางในการสร้างความสามัคคีของชุมชนในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-193

ในยุคของภัยพิบัติโรคระบาดนั้น การมีส่วนร่วมของกลุ่มพลเมืองดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของต่อโรคระบาด สร้างการรับรู้ของแต่ละบุคคลในกลุ่มชุมชน เช่น การสร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส อย่างไรก็ตามชุมชนดิจิทัลก็มีผลกระทบด้านมืดได้เช่นเดียวกัน

        ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์  กล่าวไว้ในงานเสวนาของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยว่า9 อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็น “พลเมืองดิจิทัล” จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ต้องรับมือให้ได้ในทุกมิติ ตั้งแต่ การรับมือกับความหลากหลายของรูปแบบอาชญากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสในการก่ออาชญากรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำได้ง่าย สะดวก แนบเนียน และป้องกันยากขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมาย ต้องพิจารณาให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย เพราะฝ่ายอาชญากร สามารถก่อเหตุได้โดยไม่มีพรมแดน ไม่ต้องมีข้อตกลง ไม่ต้องมีสนธิสัญญา ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งรวบรวมพยานหลักฐานกลับมีข้อจำกัดทั้งเรื่องพรมแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การส่งพยานหลักฐาน ต้องมีกระบวนการในการร่วมมือที่ซับซ้อน ทั้งยังเห็นว่า การสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐ กับการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพราะถ้ากลัวเกินไป ควบคุมเกินไป การพัฒนาก็ไม่เกิด ใขขณะเดียวกันถ้าปล่อยเกินไป ไม่มีการกำกับที่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง

การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention) เช่นการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในภาพใหญ่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เห็นว่า จะเป็นแนวทางที่สำคัญ ภาครัฐจึงต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเป็นประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย กลายเป็นเครื่องมือที่จะเอื้อให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนา ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้ประชาชนถูกล่วงละเมิดโดยรัฐ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ

ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะในการรับมือด้านมืดออนไลน์ นอกจากบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของประชาชนในมิติต่างๆแล้ว ควรมีการส่งเสริมยุทธศาสตร์ทั้งห้าด้านเพื่อรับมือวิกฤติ ดังนี้

ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)  ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมสิทธิความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้ครบทุกด้าน เพื่อสร้างความพร้อมในประชาชนในการรับมือ  ทั้งในแง่การเข้าถึงได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน (Access)  การสื่อสาร (Communications) การทำธุรกรรม (Commerce) ความรู้เท่าทันใช้งานได้ (Literacy) ความมีทักษะในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Etiquettes) ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย (Laws) การมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความรับผิดชอบต่อสังคม (Rights & Responsibilities) การมีความปลอดภัย (Security) และ การมีสุขภาวะที่ดีในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล (Health & Wellness) ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลและบรรจุในแผนการศึกษาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น  Project Zero at the Harvard Graduate School of Education14 ได้พัฒนาหลักสูตรพัฒนาการเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยแบ่งหัวข้อตามระดับการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับอนุบาลต่อเนื่องจนถึงอายุ 12 ปี อย่างชัดเจน เป็นต้น แม้ว่าการพูดถึงการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดิจทัลจะเคยถูกกล่าวถึงมาแล้ว แต่ผลกระทบจากการแพร่รระบาดของ  Covid-19 ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว15

ความรู้เท่าทันยุคดิจิทัล (Digital Literacy) ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เช่นบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือ ทำคู่มือให้กับผู้ปกครองที่ให้กำเนิดเด็กใหม่ในการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมวัย  การจะสอนเด็กให้รู้เท่าทันต้องเริ่มต้นการสอนรุ่นผู้ปกครองก่อน แต่ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนต้องร่วมสมัย สอดคล้องกับแนวคิดสากลในการรับมือทั้งด้านมืดและด้านดีในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย เพราะยังติดกับกรอบอำนาจนิยมมากเกินไปในบางครั้งจนทำให้เกิดแรงต้านจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลเมืองดิจิทัลโดยแท้ (Digital Natives)  

ความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในยุคดิจิทัล (Digital Resilience)  การมีนโยบายสาธารณะส่งเสริมองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาสังคม ให้มีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยผลกระทบด้านลบ ตั้งแต่ความเข้าใจพื้นฐานในการดูแลระบบความปลอดภัย ความเข้าใจเทคโนโลยี ไปจนถึงความรู้ขั้นสูงในการป้องกันและแก้ปัญหา เมื่อระดับองค์กรมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ผู้บริหารองค์กรและสมาชิกองค์กรทุกภาคส่วนก็ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารยุคดิจิทัลที่ต้องเรียนรู้ไว มีวิสัยทัศน์ และ ทัศนคติที่ร่วมสมัย รวมทั้งการเปิดใจกว้างในการเรียนรู้ ปรับตัว 

ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) หรือ DQ เป็นชุดทักษะที่ครอบคลุมความรู้ความเข้าใจ ความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมทางศีลธรรมสากล ที่ช่วยให้บุคคลที่จะเผชิญกับความท้าทายชีวิตชาวดิจิทัล  ความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย การแสดงตัวตนบนโลกดิจิทัล (Digital identity) การใช้เครื่องมือและสื่อดิจิทัล (Digital use) ความปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital safety) ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital security) ความฉลาดทางอารมณ์บนโลกดิจิทัล (Digital emotional intelligence) การสื่อสารดิจิทัล (Digital communication) การรู้ดิจิทัล (Digital literacy) และ สิทธิทางดิจิทัล (Digital rights)2 อันหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมืองมีทักษะในชีวิตเพื่อการรับมือกับยุคดิจิทัลด้วยความฉลาด  ซึ่งทำได้ด้วยการที่ภาครัฐมีนโยบายในทุกระดับ ปรับตัวทั้งระบบ และทำความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน อาทิกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ  ผู้ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล และ ทำความร่วมกับกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระหว่างประเทศในการส่งเสริมความเข้มแข็งของพลเมืองดิจิทัล ร่วมกันสร้างพื้นที่ในการแก้ปัญหาบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างจุดสมดุลระหว่างการยังธำรงเสรีภาพหลักหลักสิทธิมนุษยชน และ ความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองที่ต้องใช้ชีวิตกับผู้บริโภค 

ความเสมอภาคในยุคดิจิทัล (Digital Equity) ความเสมอภาคเป็นธรรมในยุคดิจิทัลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ ส่งเสริมให้เพลเมืองดิจิทัล มีความพร้อมและเข้มแข็งในการรับมือและเผชิญกับโอกาส ความท้าย รวมถึงอุปสรรคที่จะมากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่ากว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ผ่านมาก  ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยังยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving no one behind) นับเป็นภารกิจที่สำคัญมากที่สุดแต่ท้าทายมากที่สุดเช่นกัน คือการต้องทำให้การเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีทักษะเป็นสิทธิทางสังคม (Internet Access & Digital Skills as Social Rights)

ทั้งนี้การผลักดันยุทธศาสตร์ทั้งห้าข้อดังกล่าวได้ ผู้นำของประเทศรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายและนโยบายสาธารณะจะต้องปรับวิสัยทัศน์ทั้งระบบครั้งใหญ่ตามแนวคิดการส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัลโดยในระดับผู้บริหารนโยบายสาธารณะที่ต้องปรับตัวก่อนพลเมือง  ซึ่งสรุปมาจากแนวคิดเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คือต้องส่งเสริม สนับสนุน และ บูรณาการให้ครบองค์ประกอบทั้งสี่ด้าน1 ดังนี้ คือ 

  • บริบท (สมอง) เราเข้าใจและประยุกต์ใช้ความรู้ของเราอย่างไร

ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องตระหนักในคุณค่าของการมีเครือข่ายที่หลากหลาย พวกเขาจะเผชิญการพลิกผันในระดับที่สำคัญได้ก็ต่อเมื่อมีการเกาะเกี่ยวเหนียวแน่น และ มีเครือข่ายที่ดีข้ามพรหมแดนแบบดั้งเดิม ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องมีความสามารถและมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับทุกคนที่มีส่วนได้เสียในปัญหานี้ เราควรที่จะเชื่อมต่อและผนวกร่วมให้มากขึ้น 

  • อารมณ์ (หัวใจ) เรามีกระบวนการและการบูรณาการความคิดและความรู้สึกและเชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่นอย่างไร 
  • ในโลกที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงแบบเข้มข้นและไม่หยุดยั้ง สถาบันที่อุดมไปด้วยผู้นำทีมีเชาวน์ ปัญญา   ด้านความรู้สึกสูง อาทิ การตระหนักรู้ตนเอง การมีวินัยในตนเอง แรงกระตุ้น ความรู้สึกร่วม และ ทักษะสังคม ไม่เพียงแต่จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเท่านั้น  แต่ยังมีความคิดยืดหยุ่นและคล่องตัวมากกว่า อันเป็นลักษณะสำคัญของการรับมือกับความพลิกผัน หลักคิดดิจิทัล ที่สามารถบริหารงานข้ามสายงาน สลายระบบการบริหารที่เป็นระดับชั้น และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมแนวคิดใหม่ๆ ต้อง อาศัยเชาวน์ปัญญาด้านความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง
  • แรงดลใจ (จิตวิญญาณ) เราใช้ความรู้สึกของตัวตน จุดหมายร่วม ความไว้วางใจ และ คุณงามความดีอื่น เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและการกระทำไปสู่ประโยชน์ส่วนร่วมได้อย่างไร 
  • การแบ่งปันคือแนวคิดหลัก หากเทคโนโลยีคือเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าทำไมเราเคลื่อนไปสู่สังคมที่มี ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลใหม่ให้มีเป้าหมายร่วมกันพร้อมเผชิญด้วยกัน ในการ ทำเช่นนี้ ความไว้วางใจสำคัญเพราะจะทำให้ทำงานเป็นทีมมีส่วนร่วม อันส่งผลให้เกิดความจริงจังขึ้น เพราะในโลกที่ไม่มีอะไรคงที่อีกต่อไป ความไว้วางใจจะกลายเป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะที่ทรงคุณค่า ที่สุด  ความไว้วางใจจะได้มาและธำรงอยู่ได้เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจคลุกคลีอยู่กับชุมชน และ ตัดสินใจ ด้วยยึดประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลักเสมอและไม่มีวัตถุประสงค์ส่วนตัวแฝงเร้น
  • กายภาพ (กาย) เราหล่อหลอมบ่มเพาะรักษาสุขภาพและสุขภาวะส่วนตัวของตนเอง และ บุคคลแวดล้อมอย่างไรให้อยู่ในสถานะที่จะใช้พลังงานที่จำเป็นต่อการกลายเปลี่ยนของตนเองและระบบต่างๆ 
  • ความพร้อมทางเชาวน์ปัญญา ความรู้สึก และ จิตวิญญาณ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ความพร้อมทางกายภาพก็สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและบ่มเพาะให้เกิดสุขภาพและสุขภาวะส่วนบุคคล เนื่องจากเมื่อจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น และ เมื่อจำนวนผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจมีมากขึ้น ความจำเป็นในการรักษาความแข็งแกร่งและความนิ่งสงบภายใต้แรงกดดันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น 

เราควรตั้งคำถามต่อให้สังคมช่วยขบคิดถึงโจทย์เฉพาะที่สังคมไทยกำลังเผชิญ แล้วเราควรจะเดินไปทิศไหน เป็นทิศทางที่ดูมีความหวังหรือมืดมนอย่างไร แล้วอะไรจะเป็นจุดคานงัดให้เราแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ในการสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองในยุคดิจิทัลได้บ้าง พร้อมแนวคิดเชิงนโยบายสาธารณะที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 

พลเมืองดิจิทัลสามารถร่วมกันสร้างเปลี่ยนแปลงและร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและตระหนักถึงการสร้างคุณค่าและการเปิดใจกว้าง มองประเด็นขัดแย้งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายเพื่อความเข้าใจกันและกันมากขึ้น  สร้างสมดุลระหว่างความเสมอภาคเสรีภาพและกระบวนการประชาธิปไตย ตระหนักถึงการเชื่อมต่อระหว่างกันในโลกแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เข้าใจความต้องการและความปรารถนาของผู้อื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนักคิดเชิงระบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  โดยข้อเสนอเชิงหลักการเพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอาจดำเนินการได้โดยพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจเช่นการวิเคราะห์หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ทัศนคติและค่านิยมการมีส่วนร่วมกับโลก  ซึ่งการพัฒนาแนวทางนี้ต้องร่วมทำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้แน่ใจว่ากรอบดำเนินการจะสามารถนำไปปฏิบัติได้ และ มีทักษะที่พร้อมพอในการจะปกป้องดูแลตนเองจากด้านมืดออนไลน์ที่ถาโถมใกล้ตัวโดยที่ภาครัฐไม่อาจขยับรับมือในการแก้ปัญหาได้ทัน ดังนั้นการติดอาวุธทางปัญญาในเรื่องทักษะยุคดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งในทางออกของการรับมือกับปัญหาที่มากับยุคดิจิทัลโดยเฉพาะในยุควิถีปรกติใหม่ในด้านโรคระบาด และ อีกสารพัดวิกฤติที่ยังคงอยู่กับมนุษยชาติไปอีกยาวนาน ในสภาวะที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ดังนั้นการเผชิญหน้ากับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยความพร้อมทั้งร่างกาย ความคิด จิตใจ และ จิตวิญญาณ จึงเป็นภารกิจสำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 นี้อย่างต่อเนื่อง 

ในชุดบทความนี้ ยังมีอีก 4 บทความ ที่เกี่ยวร้อยประสานกันในประเด็นพลเมืองดิจิทัล  คือ

  1. “การส่งเสริมเทคโนโลยีภาคพลเมือง (Civic Tech) ในการรับมือโรคระบาด”
  2. “บทเรียนของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันยับยั้งโรคระบาด” 
  3. “โควิด19 คิดแต่ไม่ถึง กับความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล” 
  4. “พลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic)” 

ซึ่งผู้อ่านโดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามได้ในชุดบทความเสนอแนวคิดนี้ (Think Piece) เพราะเป็นบทสังเคราะห์ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดออนไลน์ในยุคนิวนอร์มอลนี้อย่างสมบูรณ์ขึ้นในทุกมิติ ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการมีกฎกติกา มารยาท และ การส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งทั้งสองมิตินี้จะมีแนวคิดเรื่องความเข้มแข็งของพลเมืองดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมนั่นเอง 

ทั้งนี้ การจะก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีปัจจัยสำคัญคือการทำให้ประชาชนเชื่อใจ (Trust) ในระบบของรัฐ โดยรัฐต้องใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law)  สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยข้อมูล (Open Data) ให้มีความโปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นที่หลายหลายจากสังคม  สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social change)  ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital transformation) อย่างสมดุล

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความนี้

อ้างอิง

  1. เคลาส์ ชวาบ แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ The Fourth Industrial Revolution: กรุงเทพ; สำนักพิมพ์อมรินทร์ (2561). หน้า 130 – 135
  2. Dqinstitute. Digital Citizenship. 2020. [cited in 2020 November 23]. Available from:   https://www.dqinstitute.org/dq-framework
  3. Kusnadi IH., & Hikmawan MD. Digital Cohesion in Era of Pandemic COVID-19 in Indonesia. International Journal of Engineering Research and Technology 2020; 13: 1775-1779
  4. Moonsun Choi.A Concept Analysis of Digital Citizenship for Democratic Citizenship Education in the Internet Age. Theory & Research in Social Education 2016; 44: 565-607. 
  5. กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์. Pornhub เผยสถิติผู้ชม ‘หนังผู้ใหญ่’ พุ่ง ช่วงคนทั่วโลกกักตัว ‘โควิด-19’. 2563 มีนาคม [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://voicetv.co.th/read/8ic8x3Z6U
  6. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ข่าว เปิดสถิติ ‘Pornhub’ กับ คนไทย ทำไมกระแสตีกลับแรง. 2563 พฤศจิกายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com/news/detail/905938 
  7. BBC New Thai. เว็บไซต์ Pornhub ทำกำไรจาก “หนังโป๊เพื่อแก้แค้น”.  2563  กันยายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก:  https://www.bbc.com/thai/international-49608643
  8. Marketing Oops!. ทรูมันนี่ เผยกลโกงออนไลน์ยุค New Normal ที่ทุกคนพึงระวัง พร้อมแนะสร้างเกราะป้องกันอยู่ให้รอดแบบ “ห่าง-ปิด-ติด-จ่าย” 2563 สิงหาคม   [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://www.marketingoops.com/digital-life/true-money-security-in-new-normal/ 
  9. กระทรวงยุติธรรม. อาชญากรรมทางไซเบอร์ ภัยคุกคามจากวิถีใหม่ยุคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐเร่งให้ความรู้. 2020 มิถุนายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก:https://www.moj.go.th/view/45017
  10. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค.สู้กลโกงออนไลน์ไปด้วยกัน กับเวทีเสวนาถกปัญหาซื้อขายออนไลน์.2563   กรกฎาคม [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/ffc-news/4489-630107-consumerunite-tofight-onlinescams-2.html
  11. Simon Kemp. Digital 2020: Global Digital Overview. 2020 January [cited in 2020 November 23]. Available from:   https://datareportal.com/reports/digital-2020-global-digital-overview
  12. Positioningmag. เมื่อวิถี ‘New Normal’ กำลังยิ่งสร้าง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้. 2563 พฤศจิกายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 20]. เข้าถึงได้จาก: https://positioningmag.com/1306152
  13. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562. ไม่ระบุ [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 20]. เข้าถึงได้จาก: http://nscr.nesdb.go.th/wp-content/uploads/2020/04/CR_For-Web.pdf
  14. Unesco. Conference on Digital Citizenship Education in Asia-Pacific Outcome Document. 2017 March. [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://en.unesco.org/sites/default/files/dkap-conference-outcome-mar2017.pdf
  15. Estellés, M., & Fischman, G. E. (2020). Imagining a Post-COVID-19 Global Citizenship Education. Práxis Educativa, 15, 1-14.

เปิดข้อเท็จจริง “เงินเดือน” ผู้บริหารท้องถิ่น หลังถูกแชร์มา 10 ปี

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

จากข้อความที่ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมและมีการอนุมัติเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 20%ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกแชร์ทาตั้งแต่ปี 2554 ในสมัยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยข้อมูลที่ถูกแชร์มีดังนี้ นายก อบจ.จากเดิม 66,280 บาท ปรับขึ้นเป็น 75,540 บาท , รองนายกอบจ. จากเดิม 40,450 ปรับขึ้นเป็น 45,540 บาท , เลขานุการนายก อบจ. จากเดิม 16,200บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท , ที่ปรึกษานายก อบจ. จากเดิม 11,570 ปรับขึ้น 13,880 บาท , ประธานสภา อบจ. จากเดิม 25,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 30,540 บาท , รองประธานสภา อบจ. จากเดิม 20,830 บาท ปรับขึ้นเป็น 25,000 บาท และสมาชิกสภา อบจ.จากเดิม 16,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท

นายกเทศบาล จากเดิม 66,280 บาท ปรับขึ้นเป็น 75,540 บาท , รองนายกเทศบาล จากเดิม 40,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 45,540บาท , ประธานสภาเทศบาล 25,450 บาท ปรับขึ้นเป็น 30,540บาท , รองประธานสภาเทศบาล จากเดิม 20,830 บาท ปรับขึ้นเป็น 25,000 บาท , สมาชิกสภาเทศบาลจากเดิม 16,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท

เลขานุการนายกเทศบาล จากเดิม 16,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 19,440 บาท และที่ปรึกษานายกเทศบาล จากเดิม 11,570 ปรับขึ้นเป็น 13,880 บาท

นายก อบต. จากเดิม 22,400 บาท ปรับขึ้นเป็น 26,080 บาท , รองนายก อบต. 12,120 บาท ปรับขึ้นเป็น 14,140 บาท ,ประธานสภา อบต. จากเดิม 10,120 บาท ปรับขึ้นเป็น 12,140บาท , รองประธานสภา อบต. จากเดิม 8,280 บาท ปรับขึ้นเป็น 9,940 บาท , สมาชิกสภา อบต. 6,600 บาท ปรับขึ้นเป็น 7,920บาท , เลขานุการนายก อบต. จากเดิม 6,600 บาท ปรับขึ้นเป็น 7,920 บาท และเลขานุการสภา อบต. 6,600 บาท ปรับขึ้นเป็น 7,920 บาท

ประธาน ส.ก.จากเดิม 63,800 บาท ปรับขึ้นเป็น 73,560 บาท รองประธาน ส.ก. จากเดิม 52,200 บาท ปรับขึ้นเป็น 61,140บาท ส.ก.จากเดิม 41,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 48,450 บาท

จากการตรวจสอบ TJA&Cofact พบว่า สำหรับข้อความดังกล่าวมีเนื้ออยู่ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรรมการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดตาราง “บัญชีอัตราและค่าตอบแทน” มีดังนี้

นายก อบจ.มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 75,550 บาท , รองนายก อบจ.มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 45,540 บาท , เลขานุการนายก อบจ. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 19,440 บาท , ที่ปรึกษานายก อบจ. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 13,880 บาท , ประธานสภา อบจ. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 30,540 บาท รองประธานสภา อบจ. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 24,990บาท และสมาชิกสภา อบจ.มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 19,440 บาท

ขณะที่ “บัญชีอัตราและค่าตอบแทน” เทศบาล ถูกระบุไว้ที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินเดือน เงินค่าตอบแทน และประยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาทศบาล รองประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และการจ่ายค่าเบี้ยประชุมกรรมการสภาเทศบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ซึ่งแบ่งระดับรายได้ของ “เทศบาล” ตามตางราง ดังนี้

ขณะที่ “บัญชีอัตราและค่าตอบแทน” อบต. ถูกระบุไว้ที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารตำบล

ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557ซึ่งแบ่งระดับรายได้ของ “อบต.”ตามตางราง ดังนี้ มีดังนี้

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่น ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขตของกรุงเทพมหานคร และกรรมการของสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2529 กำหนดท”บัญชีอัตราและค่าตอบแทน” ดังนี้

ประธาน ส.ก. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 73,560 บาท รองประธาน ส.ก. มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 61,140 บาท และส.ก.จากเดิม มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ 48,450 บาท

ที่มาของประเด็นตรวจสอบ : https://cofact.org/article/37xqz9hhwrrwj

ที่มาของข้อมูล 1. http://www.sukhothailocal.go.th/files/com_order/20140722102402jxtlf.pdf  2.http://www.bangkok.go.th/upload/user/00000121/File2020/Up%20Law/councial-6.pdf

เปิดคำสั่ง ศบค. ปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด นาน 2 สัปดาห์

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ตรวจสอบรายละเอียด คำสั่งศบค.พิจารณาปิดสถานบริการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มอบอำนาจผู้ว่าฯ กทม. / ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาดำเนินการ ลุยก่อน 41 จังหวัดปิด 14 วันเริ่มวันที่10 เม.ย.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 36 จังหวัด พิจารณาตามความเหมาะสมหากพบเป็นพื้นที่เสี่ยง

กรณีของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากสถานบริการหลายแห่ง ที่เป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโลกไปในหลายพื้นที่ จนทำให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องเร่งหาทางควบคุม

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดย ศบค.ชุดเล็กได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ศบค.เตรียมจะออกข้อกำหนดฉบับที่ 19 ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00.01 น.วันที่ 10 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 23 เม.ย. 

ทั้งนี้ตามข้อกำหนดแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ 

1.ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้ตรวจพบการกระบาดแล้วและมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จำนวน 41 จังหวัด เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน 

สำหรับ 41 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครนายก สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา นราธิวาส นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี บุรีรัมย์ เลย เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

ขณะที่สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันในอีก 36 จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราวได้ หากเห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

2.การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการเพื่อให้การบริหารจัดการและบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในเขตพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบกลั่นกรองและประเมินความเหมาะสมก่อนเสนอ ผอ.ศบค. ในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการกับสถานที่ที่มีคำสั่งให้ปิดตามข้อ 1

3.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพิ่มความเข้มงวดในการเข้าตรวจพื้นที่ กิจการ กิจกรรมต่างๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม กำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดการสถานที่ปรับปรุงแก้ไข และรวมทั้งเสนอให้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวได้

มติ ศบค.ชุดเล็ก ยังไม่เห็นชอบ แบ่งโซนสีพื้นที่ควบคุม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

TJA&Cofact รายงานว่า วันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงสถานการณ์ประจำวันตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากข้อเสนอจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่หารือถึงการทบทวนปรับระดับพื้นที่ กำหนดพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กพิจารณา 

ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเห็นว่า ตามมาตรการเดิมได้ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการหาข้อสรุปที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด ดังนั้น จะยังไม่มีการปรับพื้นที่หรือปรับสี ขอให้ทั้งสองกระทรวงหารือในรายละเอียดกันก่อน ซึ่งจะมีการหารือกันใน 1-2 วันนี้  

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 18 และ 15 ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ระบุชัดเจนว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางป้องกันโรค ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม กำหนดช่วงเวลาให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และมีอำนาจเสนอให้สั่งปิดชั่วคราว

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถพิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วงต่างๆ ได้ และเมื่อในแต่ละพื้นที่มีความเห็นอย่างไรสามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ขอให้ติดตามการรายงานของจังหวัดอย่างใกล้ชิด ส่วนการใช้ยาแรงปิดประเทศไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่จะเข้าใจปัญหาของตัวเองและสามารถกำหนดมาตรการได้ดีที่สุด

สำหรับกรณีดังกล่าว TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเมื่อ 5 เม.ย.2564 ซึ่งแถลงข่าวโดย นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือ EOC มีความกังวลสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มจะสูงขึ้น ซึ่งรายงานติดเชื้อ 194 คนใน 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และการระบาดในสถานบันเทิงในพื้นที่กทม.และปริมณฑลที่พบว่ามีการเดินทางไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี และที่อื่นๆ

จึงต้องมีมาตรการเข้มข้น เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งแม้จะไม่มีการห้ามการเดินทาง แต่ให้พื้นที่คุมเข้ม อสม.เฝ้าระวังเคาะประตูบ้านคนมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนโรงพยาบาลหากพบผู้มีอาการต้องสงสัยให้ซักประวัติละเอียดโดยเฉพาะการไปสถานบันเทิง และให้ตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ยังมีมติในการปรับพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ที่กำลังมีแนวโน้มระบาด และมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง

“มีมติปรับสีพื้นที่ COVID-19 โดยปรับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง 5 จังหวัดคือ คือ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม”

ส่วนพื้นที่ควบคุมสีส้ม พิจารณาจากการเดินทางไปยังจังหวัดนั้นๆ มี 9 จังหวัด คือสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร ตาก ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี นราธิวาสและกาญจนบุรี ส่วนจังหวัดเฝ้าระวังสูง สีเหลือง มี 10 จังหวัดได้แก่พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ระยอง สงขลา ยะลา ขอนแก่น และที่เหลืออีก 53 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง สีเขียว ทั้งนี้ จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมศบค.ชุดเล็กในวันที่ 7 เม.ย.นี้

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการคือในจังหวัดสีแดง กำหนดว่าร้านอาหารเปิดไม่เกิน 21.00 น. กินอาหารในร้านได้ แต่งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกกรณี ส่วนสถานบันเทิง เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. กินอาหารได้แต่ห้ามดื่มสุรา ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก

“สถานการณ์ขณะนี้ในกทม.และปริมณฑล พบความเสี่ยงอยู่ที่สถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงการดื่มสุราจึงต้องเข้มงวด”

ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ตามปกติ แต่ต้องดำเนินการแบบ New Normal คือสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ การสแกนแอปพลิเคชั่น ไทยชนะและอื่นๆ ที่มีส่วนสถานศึกษาให้เปิดได้ตามปกติ ส่วนสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส เปิดได้ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดสีส้มร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. รับประทานอาหาร ดื่มสุราได้ ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์เปิดไม่เกิน 23.00 น. ดื่มสุราได้ แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่งดเต้นรำ งดกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดยัดเยียด ส่วนห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานออกกำลังกายเปิดได้เช่นเดิม

จังหวัดสีเหลืองเปิดได้ไม่เกิน 24.00 น. รับประทานทานอาหารได้ ดื่มสุราได้ ผับ บาร์ คาราโอเกะเปิดได้ไม่เกิน 24.00 น. แสดงดนตรีสดได้ ดื่มสุราได้ รับประทานอาหาร ได้แต่งดเต้นรำ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว 53 จังหวัดเปิดได้ตามปกติ โดยดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการควบคุมโรค จะย้ำที่สถานบันเทิงและงดดื่มแอลกอฮอล์ และจะเสนอมาตรการนี้ให้คงอยู่ใน 2 สัปดาห์ และจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

“ถึงแม้จะมีการบังคับอย่างไร แต่ความร่วมมือของประชาชนสำคัญมาก เพราะบางคนห้ามดื่มในร้านแต่ก็ไปปาร์ตี้ต่อที่บ้าน ”

ทั้งนี้นพ.โอภาส ยังขอให้เทศกาลสงกรานต์ต้องงดการสาดน้ำ และเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีคนแออัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

ดังนั้น TJA&Cofact สรุปได้ณวันที่ 7 เม.ย. 64 ว่าการปรับพื้นที่โซนสีตามมติของคณะกรรมการวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อและศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือ EOC กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะจะต้องนำมติของศบค.ชุดเล็กนำเสนอต่อศบค.ชุดใหญ่อีกครั้งเมื่อมีผลบังคับใช้ส่วนมาตรการของแต่ละจังหวัดที่ทยอยมีการประกาศออกมาเป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆที่มีความเข้มและรายละเอียดที่แตกต่างกัน

International Fact-Checking Day sees Thai truth-seekers partner with global network

Apr 02. 2021

The International Fact-Checking Network (IFCN) has partnered with Cofact, Thailand’s first collaborative fact-checking platform, to train Thai fact-checkers, journalists and academics.

“Fact-checking has never been more important than it is now given that we see misinformation continue to spread regarding the Covid-19 pandemic, and our organisation can provide the tools to our Thai friends to ensure they shine a light on the truth,” said IFCN director Baybars Örsek.

The IFCN is the fact-checking organisation of choice for several major media corporations, including Google and Facebook.Orsek was speaking on Thursday at a Cofact summit held in Bangkok to mark International Fact-Checking Day (April 2).

Cofact brought together a wide range of journalists, civil society organisations, academics, and corporate representatives, including Sure and Share, AFP Fact-Check Thailand, and the Society for Online News Providers (SONP).

Cofact announced that 2022 will be “The Year of Fact Checking” in Thailand, a concerted effort aimed at strengthening Thailand’s ability to counter disinformation and misinformation.

ขอบคุณที่มาhttps://www.nationthailand.com/news/30404453

Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz

คำประกาศเจตนารมณ์ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

คำประกาศเจตนารมณ์ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

เนื่องจาก 2 เมษายน ของทุกปีได้รับการจัดให้เป็นวัน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” หรือ International Fact-Checking Day 2021 ที่ประกาศโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล หรือ International Fact-Checking Network – IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลกเน้นประเด็นข้อมูลสุขภาวะโดยเฉพาะในยุคโควิด19 ประเด็นข่าวเชิงวารสารศาสตร์ และ ข่าวสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งหวังว่าผู้คนในสังคมจะให้ความสำคัญกับ ‘ข้อเท็จจริง’ และ ‘การตรวจสอบข้อเท็จจริง’ กันให้มากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ข่าวลือข่าวลวงเผยแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วไม่มีจุดจบสิ้น

โดยในปีนี้ทาง IFCN ได้ร่วมกับภาคีรวม 39 องค์กรทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และ ระดับสากล จัดงานสัมมนาแบบไฮบริดขึ้นในประเทศไทยเพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารของพลเมืองและสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ทุกคนในสังคมยุคดิจิทัลเป็นผู้ตรวจสอบข่าวสาร (Fact-Checkers) ด้วยเช่นกัน เพื่อลดปัญหาความสับสน ความเข้าใจผิด ผลกระทบด้านลบของข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่มีเชิงปริมาณและความซับซ้อนมากขึ้น

จึงนับเป็นวาระอันพิเศษยิ่งที่ 39 องค์กรได้ร่วมกันจัดงานในโอกาสวันสำคัญนี้ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วมกันตลอดทั้งปีจากวันนี้ไปจนถึงวันตรวจสอบข่าวลวงโลกในปีหน้า เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวของสังคม ส่งเสริมทักษะและเครื่องมือให้กับพลเมืองยุคดิจิทัลในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ขยายชุมชนตรวจสอบข่าวลวงให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีความเข้มแข็ง ทั้งในภาคีสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรสื่อมวลชน เป็นต้น

เราเชื่อมั่นว่า ข้อเท็จจริง และ ความเข็มแข็งของภาคพลเมือง จะช่วยทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพ บนพื้นฐานของการไตร่ตรอง ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ เพื่อลดผลกระทบด้านลบยุคข้อมูลข่าวสารรวมถึงลดความขัดแย้งอันเนื่องจากความเข้าใจผิดด้วยเช่นกัน

2 เมษายน 2564
ศิวาเทล กรุงเทพมหานคร

Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz
Photo by Maifindpixzz

39 องค์กร จับมือ “ตรวจสอบข่าวลวงโลก”

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ภาคีเครือข่าย 39 องค์กร ร่วมจัดเวทีสัมนาไฮบริดเนื่องในวาระ “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” (International Fact-Checking Day 2021) “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน”

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 ที่โรงแรมศิวาเทล ภาคีร่วมจัดเวทีสัมนาโฮบริดเนื่องในวาระ “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” (International Fact-Checking Day 2021) “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน”

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายเฟดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทยและพม่า มูลนิธิฟรีดริช เนามัน(FNF) ตัวแทนองค์กรร่วมจัดเวทีเสวนากล่าวเปิดงาน โดยในงานได้มีปาฐกถา เรื่อง “การตรวจสอบข่าวลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก” โดย Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล director of nternational Fact-Checking Network (IFCN)

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 เม.ย.2563 ข่าวลวงกำลังคุกรุ่นในสังคมอย่างหนัก กลุ่มภาคีจึงได้อาศัยในช่วงดังกล่าวในการเปิดตัวกลุ่มภาคี Fact-Checking จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นระยะเวลาเกือบ การเปิดตัวในครั้งนั้นได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ปัญหา พร้อมทั้งยืนยันว่าหากทำอย่างจริงจังจะสามารถแก้ปัญหา Fact-Checking ได้ และหากนำ Super-corrector ไปแก้ข่าวลวงจะสามารถแก้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้ทันถ่วงที แม้แต่สถานการณ์โควิด WHO มี Chang Fusion ทำใหม่ออกมาโดยทางภาคี Fact-Checking ใช้เครือข่ายคมแฟกเพื่อแก้ปัญหานี้ ทั้งยังเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาข่าวลวง ข่าวหลอก แต่ทางภาคีไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ยังคงเดินหน้าขยายคนทำงาน เป้าหมายหลักเพื่อมุ่งหวังที่จะให้ทุกคนในสังคมตื่นรู้ เข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน ในวันดังกล่าวถือว่าเป็นโอกาสดีในการจัดงานเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะขยายงานต่อ ในอนาคตงาน Fact-Checking จะต้องตอบโจทย์สังคม

รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ปัจจุบันข่าวลวงแพร่ไปทั่วโลกทางภาคี Fact-Checking จึงได้เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ ละยินดีที่ได้มีส่วนกับภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างมีสติ เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม ลดความตระหนกกลัวในความเท็จต่างๆ และก้าวสู่สังคมที่สันติ

นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในช่วงหลังนี้ จะจัดอบรมนักข่าวในสถาการณ์ความขัดแย้ง และการการอบรมพิราบน้อยให้กับนักศึกษาชั้นปี 3-4 เพื่อขึ้นมาเป็นพิราบใหญ่(ผู้สื่อข่าว) สิ่งที่ทางสมาคมฯ ได้สอดแทรกในการอบรมคือการตรวจสอบ Fact News เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาข่าวได้มากขึ้น โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้เชิญ TJA มาร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้วยการตั้งบรรณาธิการ(บก.) เฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข่าวมืออาชีพ โดยปกติจะเห็นเมื่อเกิดเหตุข่าวลือ ข่าวลวง จะเป็นเพียงเอกสารชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่มีการโค้ดคำพูด

แต่สมาคมนักข่าวจะตั้งกอง บก. ขึ้นมา หากพบว่ามีข่าวลวงเกิดขึ้นทางสมาคมนักข่าวฯ จะช้าชีพของการเป็นนักข่าวในการตรวจสอบข่าว มีตำแหน่งที่ชัดเจนในหน่วยงานนั้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้กับสังคม และการอธิบายข่าวสารได้อย่างตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่สมาคมนักข่าวฯ ให้ความสำคัญ โดยมองว่าข่าวลวงไม่ใช่แต่แชร์กันอย่างสนุกสนาน บางข่าวสามารถฆ่าคนได้ หากเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และหน่วยงานใดต้องการให้สมาคมนักข่าวฯ ตรวจสอบข่าวลวง ข่าวหลอก สามารถส่งมาได้ที่กอง บก.TJA

ขณะที่ นาย Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบสากล กล่าวปาฐกถา เรื่องการตรวจสอบข่าวลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก” โดยนำเสนอประสบการณ์การทำงานการตรวจสอบข่าวลวงที่เกิดขึ้นในเครือข่ายของ IFCN โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักตรวจสอบข่าว (Fact Checker) ซึ่งในแต่ละประเทศ ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน ในปีนี้ถือเป็นวันที่ดีในการร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง และมีการเฉลิมฉลองในหลายๆ เมือง เช่น ลอนดอน โรม รวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งในอนาคต IFCN อยากจะขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ส่งผลดีต่อผู้รับสารในการที่จะลดการรับข้อมูลข่าวลวง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่การตรวจสอบข่าวลวงและหาต้นตอยากกว่าการหาต้นตอโรคระบาดเสียอีก ทั้งนี้ในอนาคต IFCN ยังคงมุ่งเน้นการทำงานในการลดการสร้างข่าวลวง รวมถึงในประเทศไทยที่สร้างความร่วมมือมากขึ้นอีกด้วย เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับข่าวลวง
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรภาคีร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลกในปีนี้ มีทั้งภาควิชาการ วิชาชีพภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง 39 องค์กร เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมทั้งในเชิงวิชาการกิจกรรมสัมมนากับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ร่วมกันตลอดทั้งปีจาก 2 เมษายน 2564 ถึง 2 เมษายน 2565 ถือเป็นปีแห่งการรณรงค์ตรวจสอบข่าวลวง

ทั้งนี้ในเวทีมีการจัดเสวนาโอกาสและอุปสรรค การตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย ซึ่งนำเสนอบทเรียนการทำงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ในประเทศไทย โดย น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ การแชร์ข้อมูลข่าวสาร ข้อความ รูปภาพ ส่งผลกระทบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน สุขภาพ หรือการใช้ชีวิต การเชือ่ข้อมูลที่ผิด ไม่มีแหล่งอ้างอิง ในด้านของการเมืองก็อาจจะทำให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง เพิ่มมากขึ้นในสังคม ซึ่งอยากให้ประชาชน สื่อมวลชน ต้องร่วมกันตรวจสอบเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลข่าวสารนั้นออกไปต้องหาแหล่งอ้างอิง ต้องช่วยกันแก้ไขหากข้อมูลนั้นเป็นเท็จ โดยวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ 39 องค์กรที่ร่วมกันรณรงค์ เพื่อต่อยอดการใช้เทคโนโลยีให้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ทั้งนี้อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิดใหม่ คือก่อนจะแชร์อะไรต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน

จากนั้น น.ส.สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้อำนวยการองค์กร Phandeeyar แถลงประกาศเจตนารมณ์ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ว่า จากวันที่ 2 เมษายน ของทุกได้รับการจัดให้เป็นที่วันตรวจสอบข่าวลวงโล หรือ International Fact-Checking Day 2021 ที่ประกาศโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร National Fact-Checking Network- IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก เน้นประเด็นข้อมูลสุขภาวะโดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ประเด็นข่าวเชิงวารสารศาสตร์ และ ข่าวสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งหวังว่าผู้คนในสังคมจะให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและการครวจสอบข้อเท็จจริงกันให้มากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ข่าวลือข่าวลวงเผยแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วไม่มีจุดจบสิ้น

“39 องค์กร ขอประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานร่วม เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวของสังคม ส่งเสริมทักษะและเครื่องมือให้กับพลเมืองยุคดิจิทัลในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ขยายชุมชนตรวจสอบข่าวลวงให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีความเข้มแข็ง ทั้งในภาคีสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรสื่อมวลชน เป็นต้น เชื่อมั่นว่าข้อเท็จจริง และ ความเข้มแข็งของภาคพลเมือง จะช่วยทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานของการไตร่ตรอง ใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ เพื่อลดผลกระทบด้านลบยุคข้อมูลข่าวสาร รวมถึงลดความขัดแย้งอันเนื่องจากความเข้าใจผิดด้วยเช่นกัน” น.ส.สายใจ กล่าว.

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวถึงในประเด็นการตรวจสอบข่าวลวงบนสื่ออนไลน์ที่มีความแตกต่างกันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งการเผยแพร่ข่าวลวงไม่สามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ได้จริงๆ ข่าวลวงจึงระบาดเป็นวงจรเรื่อย ๆ การที่ใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลาย

คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท กล่าวถึงหลักการทำงานของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ว่า “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์จะการสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดวิธีคิดต่อคนเสพสื่อให้เข้าใจมากขึ้น ทำให้สามารถจำแนกการทำงานได้ รวมถึงเข้าใจสถานะการเป็นไปในการหาความจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการรับข่าวลวง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่เกิดในยุค Digital Native”

เปิดตัว TJA&Cofact ดึง “นักข่าว” ร่วมตรวจสอบ Fake news ประเดิม 5 ข่าวปลอม ข่าวลวง ที่ถูกแชร์วนซ้ำ

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

วันที่ 1 เมษายน 2564 นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) เปิดเผยว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมมือกับ “COFACT Thailand” หรือ ภาคีโคแฟคประเทศไทย ภายใต้ชื่อ TJA&Cofact ในการตั้งกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ ที่ดึงนักข่าวมืออาชีพจากหลากหลายสายข่าว เข้ามาเป็น Fact-Checking ร่วมตรวจสอบ Fake news หรือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ที่แพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียด้วยวิธีการทำข่าวอย่างนักข่าวมืออาชีพ โดยจะมีการนำข่าวลวง ข่าวปลอม ไปสัมภาษณ์ขอข้อมูลจากบุคคลที่นักข่าวเรียกว่า “แหล่งข่าว” ในหน่วยงาน/องค์กร ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อยืนยันว่าข่าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“TJA&Cofact จะเริ่มความร่วมมือตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นโครงการนำร่อง 3 เดือนก่อนในเบื้องต้น จะมีการแถลงความร่วมมือในวันที่ 2 เมษายน2564 สมาคมนักข่าวฯมีความยินดีที่ Cofact เชิญเข้าร่วมในภารกิจนี้ เพราะมองเห็นปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ตรงกันว่า เป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน แม้บางข่าวจะดูเป็นข้อความที่อาจจะไม่สำคัญ แต่หากเกี่ยวข้องสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้”

ด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟคประเทศไทย (COFACT Thailand) กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day ที่กำหนดโดยเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากลหรือ IFCN เป็นการกำหนดวันต่อจากวันโหกหรือเอพริลฟูลเดย์ด้วย

ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้ ทุกวันกลายเป็นวันเอพริลฟูลได้เพราะข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ คลิปลวง มีส่งต่อไวรัสกันตลอดเวลา ทำให้เกิดลกระทบหลายประการ ทางภาคีโคแฟคที่ได้สร้างนวัตกรรมไลน์แชทบอตและเว็บ Cofact.org ให้ประชาชนมาร่วมตรวจสอบข่าว แต่ก็ยังมีหลายข่าวที่ยังไม่ได้คำตอบ เราจึงมาทำงานร่วมทางสมาคมนักข่าวฯ เพื่อช่วยค้นหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆให้กระจ่างขึ้น อีกทั้งร่วมกับภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรในการสร้างกลไกการตรวจสอบข้อมูลและส่งเสริมทักษะพลเมืองดิจิทัลให้ค้นข้อเท็จจริงก่อนจะเชื่อหรือแชร์ ซึ่งเราจะประกาศความร่วมมือในวันที่สองเมษายนนี้และจะทำงานรณรงค์ร่วมกันตลอดปี

และในโอกาสนี้ TJA&Cofact ได้รวบรวมข้อมูล “5 ข่าวปลอม แชร์ซ้ำ…วนไป-วนมา” ประเดิมความร่วมมือ เพื่อรู้ทัน หยุดการแชร์และช่วยบอกเตือนสังคมต่อไป โดยมีข้อมูลดังนี้ 

1.นั่งทางใน มโนดวงชะตา ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’

นับจากเหตุ ‘สึนามิ’ ปี 2547 ที่ทำให้ มีผู้เสียชีวิต 5,309 คน และผู้สูญหายจำนวนทั้งหมด 3,370 คน โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ทำให้ทุกครั้งที่มีข่าว ‘แผ่นดินไหว’ ในมหาสมุทรอินเดีย ประชาชนมักให้ความสนใจ และหลายปีที่ผ่านมามี ‘เว็บไซต์ชื่อแปลกหู’ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ ลิ้งค์ clickbiat ชอบเขียนข่าว “ทำนายดวงชะตาจะเกิดสึนามิ” ประเด็นนี้ยืนยันได้ว่า “เป็นข่าวปลอม” เพราะ นักวิชาการแผ่นดินไหววิทยา “ไพบูลย์ นวลนิล” อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันหลายครั้งว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้

2.ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% 

เป็นอีกหนึ่งข่าวปลอมสุดคลาสสิกที่ถูกนำมาแชร์กันต่อเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณของทุกปี  แต่หากใครติดตามข่าวสารเป็นประจำก็จะรู้ได้ทันทีว่า “เป็นเรื่องปกติ” เพราะรัฐบาลจะต่ออายุการลดภาษี VAT เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดผลกระทบทั้งค่าครองชีพ และรักษาการบริโภคภายในประเทศ เพราะ ตามประมวลรัษฎากร “ภาษี VAT” มีอัตราการจัดเก็บที่ 10% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% แนวทางนี้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ไม่เคยจัดเก็บจริง เพราะทุก ๆ ปี จะมีการออกออก พ.ร.ก.ลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7% มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มจัดเก็บในรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่กลับมาขยายตัวได้ดีตามศักยภาพ 

3.ประกาศแยก 5 จังหวัดภาคอีสาน  

ข่าวการประกาศแยก 5 จังหวัดทางภาคอีสานเพิ่มรวมเป็น 83 จังหวัด เป็นข่าวที่ถูกแชร์ซ้ำ ๆตั้งแต่ปี 2558 โดยจังหวัดที่เพิ่มมา คือ จ.บัวใหญ่แยกจาก จ.นครราชสีมา , จ.เดชอุดมแยกจาก จ.อุบลราชธานี , จ.กันทรลักษ์แยกจาก จ.ศรีสะเกษ , จ.ชุมแพ แยกจาก จ.ขอนแก่น , จ.นางรอง แยกจาก จ.บุรีรัมย์ ยังไม่นับรวมข่าวช่วงก่อนปี 2558 ที่บอกว่า จะมี จ.แม่สอด ที่แยกจาก จ.ตาก , จ.พระนารายณ์ แยกจาก จ.ลพบุรี , และ จ.ฝาง แยกจาก  จ.เชียงใหม่ ข่าวนี้ได้รับการชี้แจงจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มากกว่า 10 ครั้ง ยืนยันว่า ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง ประเทศไทยมี 76 จังหวัด กับ 1 เขตการปกครองพิเศษ ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร

4.ปิดมือถือหนี “รังสีคอสมิก”

00.30 – 03.30 น. เป็น “ช่วงเวลาทอง” ของการปิดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เนื่องจากดาวเคราะห์ของเราจะมีการแผ่รังสีที่สูงมาก “รังสีคอสมิก” จะผ่านเข้ามาใกล้โลก และอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ ข่าวนี้ถูกส่งต่อมานานมาก เป็นหนึ่งในข่าวปลอมยุคดึกดำบรรพ์ที่เล่นตลกกับชีวิตเรามาก เพราะนอกจากจะสร้างความหวาดกลัวให้เราแล้วยังทำให้เราต้องตื่นมากลางดึกเพื่อปิดมือถืออีกด้วย ในความเป็นจริง “รังสีคอสมิก” เป็นแค่ “รังสีพลังงานสูง” ที่เกิดจากอนุภาคความเร็วเข้าใกล้ ส่วน “แสงดาวเคราะห์” ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของรังสีคอสมิก โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยชี้แจงไว้ว่า รังสีคอสมิกเป็นแค่เศษส่วนเล็กน้อยของปริมาณรังสีที่มนุษย์ได้รับประจำในแต่ละปี และแม้ว่ารังสีคอสมิกอาจจะส่งผลต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้น “ไม่” สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของมนุษย์

5. “น้ำมะนาว” ยาวิเศษแก้สารพัดโรค

ก่อนหน้านี้ “น้ำมะนาว” ถูกแชร์ต่อ ๆกันว่า เอาไปผสมโซดาแล้วจะช่วยฆ่าเชื้อมะเร็งได้ ยุคหลังๆมาบอกว่า “น้ำมะนาว” ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะฆ่าเชื้อมะเร็ง หรือ ฆ่าเชื้อโควิด-19 ก็ได้รับการยืนยันจาก นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค รวมถึงคุณหมออีกหลายคน ที่พูดตรงกันว่า ข่าวนี้เป็นข่าวปลอม มะนาวเป็นผลไม้มีวิตามินซีสูง ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ช่วยไม่ให้เชื้อโรคสามารถฝังเข้าไปในเซลล์ของทางเดินหายใจและปอดได้ง่ายเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้