ความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือด้านมืดออนไลน์ในวิถีปรกติใหม่

โดย สุภิญญา กลางณรงค์  และ ผศ. ดร.ณภัทร เรืองนภากุล 

บทเกริ่นนำ 

การเข้าสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งหวังให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันได้เกิดกระแสของการให้บริการในรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลเรียกได้ว่าเป็น “เทคโนโลยีก้าวกระโดด” (Disruptive Technology) ที่ได้รับความนิยมอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากความสามารถในตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในวิถีปัจจุบันโดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยหลังการจัดสรรคลื่นความถี่โดยคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย อีกทั้งเมื่อราคาของโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนในตลาดมีราคาถูกลง คนจำนวนมากเข้าถึงได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดการบริการผ่านระบบออนไลน์ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วในสังคมไทย  ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทีก้าวกระโดดดังกล่าวอยู่ในภาพใหญ่ที่ทางสภาผู้บริหารเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เรียกว่าเป็นการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution) ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ระบบและจักรกลอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันได้เท่านั้น แต่มีขอบเขตที่กว้างขวางกว่านั้นมาก

“สิ่งที่เกิดควบคู่กันคือคลื่นแห่งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ล้ำหน้ายิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ตั้งแต่การจัดลำดับพันธุกรรมไปถึงนาโนเทคโนโลยี ตั้งแต่พลังงานทดแทนไปถึงคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัม การผสมกลมกลืนและปฏิสัมพันธ์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งในด้านกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ คือสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่แตกต่างจากการปฏิวัติที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง” 1

การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดด้วยพลังของตลาดและการบริโภค หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ความสำคัญของภารกิจ (relevance) ลดลงไป ยกตัวอย่างกรณีกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เห็นได้จากปรากฎการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์รวมถึงสถานีโทรทัศน์ที่ต้องทยอยปิดกิจการลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่รับสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าดูทีวี  หรือ การที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์และทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ไร้สายมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) การใช้สมองกลอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ เทคโนโลยีภาคพลเมืองมาแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น (Civic Technology)

โดยเฉพาะในปัจจุบันเริ่มต้นปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ 2563) ที่สถานการณ์ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้านสุขภาพจากโรคระบาดโควิด19 ที่กระทบรุนแรงและลึกซึ้งต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมการมือง  ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตด้วยการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลายาวนาน โดยมีกิจกรรมผ่านบริการโทรคมนาคมและปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นทั้งการประชุมออนไลน์ การทำงาน การเรียน การจับจ่ายใช้สอยและการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวัน บทบาทของเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อพลเมืองและกระตุ้นให้เกิดการการปรับตัวครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน ผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างเร็วขึ้นอีก จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าวิถีปรกติใหม่ (New Normal) อีกทั้งมาตรการควบคุมโรคกลายเป็นเหตุจำเป็นให้ภาครัฐต้องมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน (Contact tracing) เหตุปัจจัยเหล่านี้ก็ให้เกิดการตั้งคำถามถึงจุดสมดุลระหว่างความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะในการใช้ชีวิตเชื่อมต่อโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) การเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและเอกชน  และ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้สาธารณชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ (Open Data) เป็นต้น 

โจทย์สำคัญคือ ยังมีช่องว่างในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัลนั้นตอกย้ำปัญหาความไม่ธรรมจากยุคแอนะล็อกที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยรวมถึงคนชายขอบยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกันภาครัฐก็มีภารกิจในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี แต่ก็ต้องระมัดระวังและรับมือผลกระทบด้านลบที่มากับยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน อาทิ ปัญหาการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) ทั้งในลักษณะความเข้าใจผิด (Misinformation) และการตั้งใจบิดเบือน (Disinformation) หรือปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่าข่าวลวง (Fake News) รวมไปถึงด้านมืดในยุคดิจิทัลและอาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ที่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เพราะสามารถเกิดขึ้นจากที่ใดแบบไร้พรหมแดนกับใครเมื่อไหร่ก็ได้ที่ประชาชนกลายตกอยู่ในภาวะมีจุดอ่อนเพราะขาดความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในการป้องกันตนเองที่ดีพอ รวมทั้งระบบการบังคับกฎหมายในประเทศหรือข้ามประเทศก็ยังมีข้อจำกัด อีกทั้งความสมดุลในการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามอาชญากรรม แต่ก็ไม่ล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไทยตลอดมา 

ดังนั้นในเชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ภาครัฐจึงต้องมีหลักนิติธรรมควบคู่ไปกับการกำกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมไปกับความรับผิดชอบของภาคเอกชนต่อสังคม สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของพลเมืองในยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) อย่างฉลาดรู้เท่าทันมากพอ (Digital Intelligence)  โดยมีศักยภาพในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรับมือด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัยและยืดหยุ่นต่อความท้าทายรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน (Digital Resilience) 

แนวคิดความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล

การตระหนักถึงการสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างจริงจังและได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดย DQ institute2 ให้ความหมายของพลเมืองดิจิทัลว่า ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่ออย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม  ขณะที่ Kusnadi and Hikmawan3 กล่าวว่าความเป็นพลเมืองดิจิทัลถูกกำหนดให้เป็นของบทบาทของผู้คนในสังคมที่แวดล้อมด้วยข้อมูลจำนวนมากในยุคดิจิทัล ผ่านการใช้เทคโนโลยี  เครื่องมือและแพลตฟอร์มซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในการดำรงชีวิตและการทำกิจกรรมทางสังคม ส่งผลต่อการขยายขอบเขตของกิจกรรมของพลเมืองมากขึ้นและสามารถสื่อสารข้อมูลของตนเองผ่านสื่อดิจิทัล ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการเสริมพลังพลเมืองและเอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ Moonsun4 ยังนิยามความเป็นพลเมืองดิจิทัลออกเป็น 3 มิติ คือ 

 1). มิติด้านความรู้เกี่ยวกับสื่อและสารสนเทศ ซึ่งพลเมืองดิจิทัลต้องมีความรู้และสามารถเข้าถึง ใช้ สร้างสรรค์ ประเมิน สังเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารผ่านเครื่องมือดิจิทัล  

2). มิติด้านจริยธรรม พลเมืองดิจิทัลจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย มีจริยธรรม ความรับผิดชอบ ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสังคม เคารพสิทธิและความรับผิดชอบออนไลน์  และ 

3). มิติด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม พลเมืองดิจิทัลจะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ

จะเห็นได้ว่า พลเมืองในยุคดิจิทัลจะมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทักษะในการรู้คิดขั้นสูงและมีวิจารณญาณ และเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น การรู้จักสิทธิตนเอง เคารพผู้อื่น และการปกป้องตนเองและชุมชนจากความเสี่ยงออนไลน์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ นอกจากนี้พลเมืองดิจิทัลยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการการเมืองภาคพลเมือง และการแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น  

ความท้าทายของการเป็นพลเมืองดิจิทัลคือ ผู้คนในยุคปัจจุบันมีความหลากหลาย ที่เรียกกันว่า Generation ซึ่งมีทั้ง Baby Boomer, Gen X, Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha โดยที่ผ่านมาความแตกต่างระหว่างผู้คนในแต่ละรุ่นอาจมีไม่มากนัก แต่การเข้ามากระทบของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption กับวิถีชีวิตอย่างหนักหน่วง ทำให้ผู้คนที่ถูกเรียกว่า Gen Z และ Gen Alpha มีพฤติกรรม ความคิด และความเชื่อแตกต่างอย่างคนรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมดิจิทัลหรือชาวดิจทัลดั้งเดิม (Digital Natives) ที่ทะลายกำแพงด้านสถานที่และเวลา ทำให้ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ทราบเหตุการณ์รอบตัวและรอบโลกอย่างหลากหลายและรวดเร็ว ในขณะที่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบผู้อพยพเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Immigrants) ต้องมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลอย่างมาก โดยความแตกต่างนี้ถูกกระตุ้นให้ชัดเจนและมีการส่งต่อมากขึ้นด้วยสื่อสังคมออนไลน์  ปรากฏการณ์นี้เองอาจก่อให้เกิดความแตกแยก ความเป็นอื่น และความเกลียดชังได้ นอกจากความท้าทายด้านการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองดิจิทัลซึ่งเป็นคนต่างรุ่นแล้ว ยังมีความท้าทายด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์

     เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างเครื่องมือและทรัพยากรที่น่าทึ่งทำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสื่อสารและพฤติกรรมของผู้คนไปอย่างมาก จากเดิมที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้รับสารและรอรับข้อมูลจากผู้ส่งสาร แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้อย่างง่ายดาย  

เทคโนโลยีที่มีผลด้านบวกต่อสังคมคือส่งผลต่อการเรียนรู้  ทำให้การเรียนรู้มีการโต้ตอบและทำงานร่วมกันมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่เรียนรู้และมีปัญหาได้ดีขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดเวลา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  นอกจากนี้เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อสังคมคือช่วยให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้แม้อยู่คนละมุมโลก 

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยียังส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้คน กล่าวคือ เทคโนโลยีโทรทัศน์มือถือลดการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างกัน การบริหารจัดการเวลาส่วนตัวมีน้อยลงเนื่องจากต้องออนไลน์ติดตามผู้อื่น และถูกผู้อื่นติดตามตลอดเวลา จนอาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลทางเทคโนโลยีมีส่วนกำหนดและการเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว

ด้วยความรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันด้านความรวดเร็วจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความถูกต้องของข้อมูลจึงถูกมองข้ามไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกายและทางใจของสมาชิกในสังคม จากการได้รับชุดข้อมูลผิดหรือบิดเบือน โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Coronavirus Disease 19) ซึ่งกลายเป็นปัญหาของโลก ที่สั่นคลอนเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและสังคม เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและเต็มไปด้วยความหวาดกลัว  ทำให้เกิดการแพร่สะพัดของข้อมูลบิดเบือนจำนวนมากผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาชญากรรมไซเบอร์ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และ สิทธิของพลเมืองในยุคดิจิทัล ดังจะได้กล่าวต่อไป

ปรากฎการณ์ท้าทายด้านมืดในโลกออนไลน์ในยุคโรคระบาดโควิด-19

  1. การใช้เวลากับบริการเนื้อหาด้านเพศที่เข้าข่ายด้านมืดหรือ Darknet มากขึ้น 

ปรากฎการณ์ “โควิด-19 ทำยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นทั่วโลก” โดยเนื้อหาด้านเพศนั้นมีจำนวนมากไม่ได้เกิดจากความยินยอม (consent) ของผู้ที่ตกเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางเพศ 

        “CNBC ชี้ว่าอัตราการเข้าชม Pornhub ของผู้คนจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายในช่วงที่หลายประเทศเริ่มมีมาตรการสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยมีการเปิดเผยตัวเลขสถิติต่างๆอย่างชัดเจนผ่านทางหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในชื่อรายงานพิเศษว่า Coronavirus Insights โดยในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน มียอดผู้ชมเพิ่มขึ้นจากปกติอย่างมากถึง 57 38 และ 61 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับในวันที่ Pornhub ประกาศให้เข้าชมฟรีหลังมีมาตรการสั่งกักตัว” 

              จากสถิติของ Pornhub Insights ซึ่งเป็นแผนกเก็บข้อมูลเชิงลึกของ Pornhub พบว่า ในปี 2562 มีผู้เข้าชม Pornhub ทั่วโลกกว่า 4.2 หมื่นล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 115 ล้านครั้งต่อวัน และมีผู้ค้นหาคำว่า Pornhub ในโลกอินเทอร์เน็ตกว่า 3.9 หมื่นล้านครั้ง สำหรับประเทศที่มีอัตราการเข้าชม Pornhub สูงสุดต่อวันในปีที่แล้วคือ สหรัฐ ขณะที่ “ไทย” อยู่ในอันดับที่ 17 ขึ้นมา 6 อันดับจากปี 25616  ตัวอย่างปัญหาผลกระทบด้านมืดในโลกออนไลน์ อาทิ ทางสำนักข่าวบีบีซีได้รายงานว่า เจ้าของเว็บไซต์หนังโป๊อย่าง Pornhub ทำเงินจากหนังโป๊ที่คนอัพโหลดลงเพื่อแก้แค้นกัน และไม่เอาวิดีโอดังกล่าวออกแม้ผู้เสียหายจะรายงานแจ้งไปแล้ว โดยผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อโซฟี บอกว่า เธอรู้สึกถูกล่วงละเมิดเมื่อวิดีโอที่มีเธอโป๊เปลือยมีคนเข้ามาชมหลายแสนครั้ง ซึ่งกลุ่มรณรงค์ #NotYourPorn บอกว่าเนื้อหาในลักษณะนี้ช่วยให้ MindGeek บริษัทเจ้าของ Pornhub ทำเงินได้จากการขายโฆษณามากขึ้น7 

    ความท้าทายของกรณีนี้คือ การรับชมเนื้อหาทางเพศในโลกออนไลน์อาจมีส่วนช่วยลดการละเมิดทางเพศในเชิงกายภาพในโลกออฟไลน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งการละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อที่ไม่ได้เต็มใจในการถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ถูกนำเนื้อหามาเผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้นก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น ส่งผลต่อสภาวะร่างกายและจิตใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ  แม้จะมีการร้องขอให้มีการลบเนื้อหาออกแต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายที่มองว่าเป็นเสรีภาพในการเสพเนื้อหาข่าวสาร และ ผลจากการละเมิดก็เป็นอาชญากรรมออนไลน์ เส้นแบ่งระหว่างเนื้อหาที่ผิดกฎหมายควรมีการทำกรอบให้ชัดเจนเพื่อที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการได้โดยไม่กระทบสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลจริงจังก็เป็นเรื่องท้าทายมากในยุคไร้พรหมแดนที่กลไกกฎหมายเข้าไม่ถึงควบคู่ไปกับการรณรงค์จริยธรรมของผู้ใช้บริการที่จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อโดยปราศจากความยินยอม เป็นต้น

  1. ภัยหลอกลวงทางออกไลน์ในยุคโควิดเพิ่มสูงขึ้นมาก 

            ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบทั้งตกงาน รายได้ลดและสิ่งที่ตามมาซ้ำเติมในยามลำบากนี้ก็คือ “ภัยการหลอกลวง” ของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหากินกับการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาหลอกลวงผู้อื่นแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ตัวอย่างจากทาง “ทรูมันนี่” ได้รวบรวมกลโกงในยุค New Normal  มาเตือนภัยผู้ใช้เทคโนโลยีให้ระมัดระวังภัยออนไลน์ในยุค New Normal ที่ต้องเพิ่มความระวัง ดังนี้8  การเสนองานออนไลน์ (Job Offer Scam) การลวงบริจาค (Charity  Fraud Scam) สวมรอยเป็นตัวแทนหรือผู้เชี่ยวชาญไอที (Repair Scams)  การลวงเล่นพนันออนไลน์ (Fraud In Online Gambling)

จากข้อมูลของ AppsFlyer เผยการหลอกลวงออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) นั้นมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 60 และที่น่าตกใจคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ถูกโจมตีมากที่สุดโดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม  นอกจากนี้ ผลสำรวจระดับโลกจาก Next Caller ผู้พัฒนาโซลูชั่นและเทคโนโลยีการตรวจจับการฉ้อโกงทางโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ เผยว่า 37% ของชาวอเมริกันเชื่อว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงในเรื่องเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า และอีก 44% บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าเสี่ยงถูกหลอกมากขึ้นเมื่อทำงานจากบ้าน (WFH) ในขณะที่ประเทศไทยทุกวันนี้ ดูเหมือนว่ายิ่งเราเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราบนโลกออนไลน์มากเท่าไร ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีมาฉวยโอกาสจากเรามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวการหลอกลวงออนไลน์มากมาย ตั้งแต่การหลอกสั่งซื้อของออนไลน์ หลอกลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หลอกชวนทำบุญบริจาค หลอกให้เงินกู้ หรือแม้กระทั่งสวมรอยเป็นคนรู้จักเพื่อหลอกขอยืมเงินที่พบกันประจำ เพราะมิจฉาชีพก็ปรับรูปแบบไปกับยุค New Normal ด้วยเหมือนกัน โดยสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนและพัฒนาทักษะการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย หวังล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวและจ้องฉกเงินจากกระเป๋าสตางค์หากเราไม่ทันระวังตัวด้วยกลโกงต่างๆ8

พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ชี้ให้เห็นว่า  อาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมองอาชญากรด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะ “อาชญากรทางไซเบอร์” เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีในการก่ออาชญากรรม จึงถือเป็นอาชญากรรมในอีกระดับหนึ่ง ที่ผู้ก่อเหตุมีความสามารถสูง โดยให้คำนิยามใหม่ของอาชญากรทางไซเบอร์ โดยเรียกว่า “Smart โจร” เป็นอาชญากรที่ฉลาดมากขึ้น สามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเจ้าหน้าที่ไปหลายก้าว จึงไม่ควรประเมินความสามารถของคนกลุ่มนี้ต่ำเกินไป และยังเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีขอบเขตของประเทศ จึงยากลำบากต่อการติดตาม เมื่อการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง เกิดขึ้นจากอีกประเทศหนึ่ง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อนมากขึ้น ในแต่ละครั้งต้องไปดูว่ามีสนธิสัญญาระหว่างกันหรือไม่ มีรายละเอียดในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง9

  1. การละเมิดสิทธิผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นในธุรกรรมการค้าออนไลน์ 

จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า10 มีตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาบอกเล่าประสบการณ์ ส่วนใหญ่พบการหลอกลวงขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ การลดราคาเกินจริง รวมถึงบางรายพบปัญหาความยุ่งยากในการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา หรือไม่มีหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่องการทำตลาดออนไลน์และการโฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ทำให้เกิดช่องโหว่และทำให้ผู้ขายหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ในผู้บริโภคบางรายก็ถูกผู้ประกอบธุรกิจลดทอนสิทธิจากที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้อำนาจตามกฎหมายข่มขู่ฟ้องร้อง ทำให้ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและไร้ทางออก 

      “การไปแจ้งความไม่ง่ายเลย เราไปแจ้งความมาประมาณ 6 – 7 ครั้งแล้ว ขณะที่เมื่อเราคุยกับผู้เสียหายรายอื่นก็ไปประมาณ 10 ครั้ง จึงไม่แปลกใจที่คนไม่ยอมไปแจ้งความ เพราะเสียเวลามาก ซึ่งช่องว่างตรงนี้เป็นที่ที่มิจฉาชีพใช้ประโยชน์ คือ ถ้ามิจฉาชีพได้รับหมายแจ้งความ เขาจะส่งของหรือไปเจรจาไกล่เกลี่ย ทำให้ผู้เสียหายบางรายยอมหยุดไม่ดำเนินการกับเขาต่อ ส่วนตัวมองว่ามิจฉาชีพก็จะได้ใจและโกงแบบนี้ต่อไปได้อีก” 

     “ปัญหาออนไลน์ที่มาอันดับหนึ่งปีที่แล้ว คือ เรื่องของการซื้อยาในออนไลน์ เพราะมีการโฆษณาให้น่าเชื่อถือ จงใจหลอกขาย และยังเข้าถึงง่ายอีกด้วย แต่การขายยาผ่านออนไลน์ผิดกฎหมายนะ เพราะยาต้องขายในสถานที่ตั้งเท่านั้น” 

         ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงปัญหาการซื้อขายออนไลน์ พร้อมระบุปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ ในโลกออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ มีข้อมูลที่ให้ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเต็มไปหมดและข้อมูลเหล่านั้นยังสะเปะสะปะ ไม่เป็นระบบ และช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่ไม่บูรณาการกันด้วย รวมถึงผู้บริโภคในไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับการรู้ดิจิทัล (Digital literacy) ที่น้อยมาก รวมไปถึงตัวกฎหมายที่ไม่ทันสมัย แถมยังมีช่องว่างของกฎหมายให้ฉวยโอกาสได้ จนทำให้อาจไม่เท่าทันกลลวงของผู้ขาย เป็นต้น10 

ที่ผ่านมาก่อนยุคโรคระบาดปัญหาอาชญกรรมด้านไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นนับเป็นเรื่องที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วและกระทบคนทุกกลุ่ม ตามที่ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ9 ยกข้อมูลจาก Internet Crime Report ของ FBI ในช่วงปี 2016 – 2017 เพื่อระบุให้เห็นว่า เหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์ คือ คนทุกกลุ่ม แม้คนทุกเพศทุกวัยจะใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่การรับรู้และระดับการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ของแต่ละวัยไม่เหมือนกัน ยิ่งในช่วงนี้ประชาชนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำงานที่บ้านมากขึ้น ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้มากขึ้น โดยมีอีกหนึ่งตัวเร่ง คือ การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ ที่ดึงดูดให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาล่อลวงเหยื่อมากขึ้น

ข้อมูลของ UNODC ระบุว่า9 อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงรวดแร็วและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ แฮกเกอร์ มัลแวร์ แรนซัมแวร์ เครือข่าย Botnet การโจมตีแบบ Distributed Denial of Service หรือการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย การใช้เทคนิค Romance Scam หรือการหลอกลวงเหยื่อโดยใช้ความเสน่หา การประกอบกิจการผิดกฎหมายของอาชญากรข้ามชาติออนไลน์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต Darknet เพื่อขายสินค้าผิดกฎหมาย ส่วนรูปแบบที่พบเห็นได้มากในอาเซียน คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนสื่อออนไลน์ เพราะพบการถ่ายทอดสดการละเมิดเด็กทางสื่อออนไลน์ต่างๆ มีช่องทางให้ชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลแบบไม่ระบุตัวตนเพื่อเข้ารับชม

     อย่างไรก็ตาม ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกลุ่มความท้าทายต่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ (pure computer crimes) ซึ่งมุ่งหมายกระทำต่อตัวระบบหรือกับตัวข้อมูลเป็นหลักและกลุ่มที่สอง อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Crime about content) ที่เผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านจากภัยของโควิด-19 และต้องมีความสมดุลในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ทางออกที่ยั่งยืนนอกจาการบังคับใช้กฎหมายที่มีความร่วมมือกันระหว่างประเทศแล้ว การส่งเสริมให้พลเมืองยุคดิจิทัลมีความฉลาด เข้มแข็ง ปรับตัว รู้เท่าทัน และ ป้องกันตนเองได้ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแต่ละประเทศในการรับมือด้านมืดออนไลน์ ที่ปัญหามีจำนวนมากขึ้นในยุควิถีปรกติใหม่หรือนิวนอร์มอลนั่นเอง (New Normal) 

พลเมืองดิจิทัลและการสร้างชุมชนในโควิด -19 

สำหรับประเทศไทยนั้น คนไทยมีการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีรายงานจาก We Are Social และ Hootsuite11  ระบุว่า ในปี พ.ศ 2563 ประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน มีเบอร์โทรศัพท์มือถือ 92.33 ล้านเลขหมาย  รายงานดังกล่าวระบุว่าคนไทย 57 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และกว่า 51 ล้านคน มีบัญชี Social Media  รายงานนี้ยังระบุอีกว่า  คนไทยใช้เวลาอยู่ในอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยประมาณ 9.01 ชั่วโมงต่อวัน มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรอง ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ บราซิล และ โคลัมเบีย ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการเรียนรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งรู้จักเคารพสิทธิของตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในโลกสมัยใหม่ ไปจนถึงเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อสังคมและใช้มันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวกยังคงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพราะแม้เราอาจจะใช้อินเทอร์เน็ตราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ดูเหมือนคนจำนวนมากยังขาดทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว ยังไม่รู้วิธีลดผลกระทบจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์ รวมถึงขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบในโลกยุคดิจิทัล สอดคล้องกับการศึกษาล่าสุดของ Next Billion Users ของ Google12 พบว่าสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น การค้าขาย การศึกษา บริการต่างๆ ถูกย้ายไปไว้บนโลกออนไลน์ตามแนววิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ถูกปรับจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  ทำให้ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลมีความจำเป็น 

 ซึ่งประเทศไทยการบริการเทคโนโลยีสื่อโทรคมนาคมและการเงินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมชั้นนำในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและนโยบายของประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังหลังจากที่รัฐบาลผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งในแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ13  ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลเมืองและการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพการใช้เทคโนโลยีของประชาชน  ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤต COVID-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลให้เร็วมากขึ้น12  ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการสร้างความคิดแบบดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในสภาพแวดล้อมนี้

อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าในเทคโนโลยีไม่อาจจะเป็นตัวชี้ในความสำเร็จของการรับมือด้านมืดของออนไลน์ได้ นโยบายในการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ และเศรษฐกิจควรควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประชาชนได้คิดวิเคราะห์ และเปิดใจรับข้อมูลที่แตกต่าง  เพราะพลเมืองในยุคดิจิทัลนี้ นอกจากต้องมีทักษะในการรักษาความปลอดภัย สิทธิและความรับผิดชอบแล้ว ยังต้องเผชิญกับโอกาสและความท้าทายแห่งยุคสมัยที่ได้รับข้อมูลออนไลน์ตั้งแต่ลืมตา (รวมถึงข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ) การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ก่อนการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในชุมชนออนไลน์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์ 

ตัวอย่างสังคมดิจิทัลได้เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโรคโควิดเช่นกรณีในอินโดนีเซียแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งของปรากฎการณ์ทางสังคมที่สามารถเห็นชุมชนร่วมกันผ่านโซเชียล เกิดการแบ่งปันผ่านสื่อเพื่อเอาชนะพลวัตและความซับซ้อนของปัญหาที่มีอยู่ การบรรเทาและช่วยเหลือในยุคการแพร่ระบาดของโควิด -19 การปรับเปลี่ยนชีวิตให้เป็นดิจิทัล เช่น การต้องทำงานจากบ้านทุกวัน ซึ่งมีผลอย่างมากสำหรับกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชน นอกจากนี้โลกดิจิทัลได้กลายเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือในช่วงการระบาดของโควิด 19 เพราะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่กับวิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด -19 อีกด้านหนึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้เปลี่ยนเป็นพลเมืองดั้งเดิมกลายเป็นพลเมืองดิจิทัล และกลายเป็นช่องทางในการสร้างความสามัคคีของชุมชนในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-193

ในยุคของภัยพิบัติโรคระบาดนั้น การมีส่วนร่วมของกลุ่มพลเมืองดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของต่อโรคระบาด สร้างการรับรู้ของแต่ละบุคคลในกลุ่มชุมชน เช่น การสร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส อย่างไรก็ตามชุมชนดิจิทัลก็มีผลกระทบด้านมืดได้เช่นเดียวกัน

        ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์  กล่าวไว้ในงานเสวนาของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยว่า9 อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็น “พลเมืองดิจิทัล” จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ต้องรับมือให้ได้ในทุกมิติ ตั้งแต่ การรับมือกับความหลากหลายของรูปแบบอาชญากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสในการก่ออาชญากรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำได้ง่าย สะดวก แนบเนียน และป้องกันยากขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมาย ต้องพิจารณาให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย เพราะฝ่ายอาชญากร สามารถก่อเหตุได้โดยไม่มีพรมแดน ไม่ต้องมีข้อตกลง ไม่ต้องมีสนธิสัญญา ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งรวบรวมพยานหลักฐานกลับมีข้อจำกัดทั้งเรื่องพรมแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การส่งพยานหลักฐาน ต้องมีกระบวนการในการร่วมมือที่ซับซ้อน ทั้งยังเห็นว่า การสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐ กับการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพราะถ้ากลัวเกินไป ควบคุมเกินไป การพัฒนาก็ไม่เกิด ใขขณะเดียวกันถ้าปล่อยเกินไป ไม่มีการกำกับที่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง

การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention) เช่นการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในภาพใหญ่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เห็นว่า จะเป็นแนวทางที่สำคัญ ภาครัฐจึงต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเป็นประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย กลายเป็นเครื่องมือที่จะเอื้อให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนา ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้ประชาชนถูกล่วงละเมิดโดยรัฐ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ

ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะในการรับมือด้านมืดออนไลน์ นอกจากบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของประชาชนในมิติต่างๆแล้ว ควรมีการส่งเสริมยุทธศาสตร์ทั้งห้าด้านเพื่อรับมือวิกฤติ ดังนี้

ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)  ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมสิทธิความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้ครบทุกด้าน เพื่อสร้างความพร้อมในประชาชนในการรับมือ  ทั้งในแง่การเข้าถึงได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน (Access)  การสื่อสาร (Communications) การทำธุรกรรม (Commerce) ความรู้เท่าทันใช้งานได้ (Literacy) ความมีทักษะในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Etiquettes) ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย (Laws) การมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความรับผิดชอบต่อสังคม (Rights & Responsibilities) การมีความปลอดภัย (Security) และ การมีสุขภาวะที่ดีในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล (Health & Wellness) ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลและบรรจุในแผนการศึกษาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น  Project Zero at the Harvard Graduate School of Education14 ได้พัฒนาหลักสูตรพัฒนาการเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยแบ่งหัวข้อตามระดับการศึกษาสำหรับนักเรียนระดับอนุบาลต่อเนื่องจนถึงอายุ 12 ปี อย่างชัดเจน เป็นต้น แม้ว่าการพูดถึงการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองดิจทัลจะเคยถูกกล่าวถึงมาแล้ว แต่ผลกระทบจากการแพร่รระบาดของ  Covid-19 ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว15

ความรู้เท่าทันยุคดิจิทัล (Digital Literacy) ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เช่นบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือ ทำคู่มือให้กับผู้ปกครองที่ให้กำเนิดเด็กใหม่ในการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมวัย  การจะสอนเด็กให้รู้เท่าทันต้องเริ่มต้นการสอนรุ่นผู้ปกครองก่อน แต่ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนต้องร่วมสมัย สอดคล้องกับแนวคิดสากลในการรับมือทั้งด้านมืดและด้านดีในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย เพราะยังติดกับกรอบอำนาจนิยมมากเกินไปในบางครั้งจนทำให้เกิดแรงต้านจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลเมืองดิจิทัลโดยแท้ (Digital Natives)  

ความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในยุคดิจิทัล (Digital Resilience)  การมีนโยบายสาธารณะส่งเสริมองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาสังคม ให้มีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยผลกระทบด้านลบ ตั้งแต่ความเข้าใจพื้นฐานในการดูแลระบบความปลอดภัย ความเข้าใจเทคโนโลยี ไปจนถึงความรู้ขั้นสูงในการป้องกันและแก้ปัญหา เมื่อระดับองค์กรมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ผู้บริหารองค์กรและสมาชิกองค์กรทุกภาคส่วนก็ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารยุคดิจิทัลที่ต้องเรียนรู้ไว มีวิสัยทัศน์ และ ทัศนคติที่ร่วมสมัย รวมทั้งการเปิดใจกว้างในการเรียนรู้ ปรับตัว 

ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) หรือ DQ เป็นชุดทักษะที่ครอบคลุมความรู้ความเข้าใจ ความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมทางศีลธรรมสากล ที่ช่วยให้บุคคลที่จะเผชิญกับความท้าทายชีวิตชาวดิจิทัล  ความฉลาดทางดิจิทัล ประกอบด้วย การแสดงตัวตนบนโลกดิจิทัล (Digital identity) การใช้เครื่องมือและสื่อดิจิทัล (Digital use) ความปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital safety) ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital security) ความฉลาดทางอารมณ์บนโลกดิจิทัล (Digital emotional intelligence) การสื่อสารดิจิทัล (Digital communication) การรู้ดิจิทัล (Digital literacy) และ สิทธิทางดิจิทัล (Digital rights)2 อันหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมืองมีทักษะในชีวิตเพื่อการรับมือกับยุคดิจิทัลด้วยความฉลาด  ซึ่งทำได้ด้วยการที่ภาครัฐมีนโยบายในทุกระดับ ปรับตัวทั้งระบบ และทำความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน อาทิกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ  ผู้ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล และ ทำความร่วมกับกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระหว่างประเทศในการส่งเสริมความเข้มแข็งของพลเมืองดิจิทัล ร่วมกันสร้างพื้นที่ในการแก้ปัญหาบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างจุดสมดุลระหว่างการยังธำรงเสรีภาพหลักหลักสิทธิมนุษยชน และ ความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองที่ต้องใช้ชีวิตกับผู้บริโภค 

ความเสมอภาคในยุคดิจิทัล (Digital Equity) ความเสมอภาคเป็นธรรมในยุคดิจิทัลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ ส่งเสริมให้เพลเมืองดิจิทัล มีความพร้อมและเข้มแข็งในการรับมือและเผชิญกับโอกาส ความท้าย รวมถึงอุปสรรคที่จะมากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่ากว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ผ่านมาก  ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยังยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving no one behind) นับเป็นภารกิจที่สำคัญมากที่สุดแต่ท้าทายมากที่สุดเช่นกัน คือการต้องทำให้การเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีทักษะเป็นสิทธิทางสังคม (Internet Access & Digital Skills as Social Rights)

ทั้งนี้การผลักดันยุทธศาสตร์ทั้งห้าข้อดังกล่าวได้ ผู้นำของประเทศรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายและนโยบายสาธารณะจะต้องปรับวิสัยทัศน์ทั้งระบบครั้งใหญ่ตามแนวคิดการส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัลโดยในระดับผู้บริหารนโยบายสาธารณะที่ต้องปรับตัวก่อนพลเมือง  ซึ่งสรุปมาจากแนวคิดเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คือต้องส่งเสริม สนับสนุน และ บูรณาการให้ครบองค์ประกอบทั้งสี่ด้าน1 ดังนี้ คือ 

  • บริบท (สมอง) เราเข้าใจและประยุกต์ใช้ความรู้ของเราอย่างไร

ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องตระหนักในคุณค่าของการมีเครือข่ายที่หลากหลาย พวกเขาจะเผชิญการพลิกผันในระดับที่สำคัญได้ก็ต่อเมื่อมีการเกาะเกี่ยวเหนียวแน่น และ มีเครือข่ายที่ดีข้ามพรหมแดนแบบดั้งเดิม ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องมีความสามารถและมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับทุกคนที่มีส่วนได้เสียในปัญหานี้ เราควรที่จะเชื่อมต่อและผนวกร่วมให้มากขึ้น 

  • อารมณ์ (หัวใจ) เรามีกระบวนการและการบูรณาการความคิดและความรู้สึกและเชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่นอย่างไร 
  • ในโลกที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงแบบเข้มข้นและไม่หยุดยั้ง สถาบันที่อุดมไปด้วยผู้นำทีมีเชาวน์ ปัญญา   ด้านความรู้สึกสูง อาทิ การตระหนักรู้ตนเอง การมีวินัยในตนเอง แรงกระตุ้น ความรู้สึกร่วม และ ทักษะสังคม ไม่เพียงแต่จะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเท่านั้น  แต่ยังมีความคิดยืดหยุ่นและคล่องตัวมากกว่า อันเป็นลักษณะสำคัญของการรับมือกับความพลิกผัน หลักคิดดิจิทัล ที่สามารถบริหารงานข้ามสายงาน สลายระบบการบริหารที่เป็นระดับชั้น และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมแนวคิดใหม่ๆ ต้อง อาศัยเชาวน์ปัญญาด้านความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง
  • แรงดลใจ (จิตวิญญาณ) เราใช้ความรู้สึกของตัวตน จุดหมายร่วม ความไว้วางใจ และ คุณงามความดีอื่น เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและการกระทำไปสู่ประโยชน์ส่วนร่วมได้อย่างไร 
  • การแบ่งปันคือแนวคิดหลัก หากเทคโนโลยีคือเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าทำไมเราเคลื่อนไปสู่สังคมที่มี ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลใหม่ให้มีเป้าหมายร่วมกันพร้อมเผชิญด้วยกัน ในการ ทำเช่นนี้ ความไว้วางใจสำคัญเพราะจะทำให้ทำงานเป็นทีมมีส่วนร่วม อันส่งผลให้เกิดความจริงจังขึ้น เพราะในโลกที่ไม่มีอะไรคงที่อีกต่อไป ความไว้วางใจจะกลายเป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะที่ทรงคุณค่า ที่สุด  ความไว้วางใจจะได้มาและธำรงอยู่ได้เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจคลุกคลีอยู่กับชุมชน และ ตัดสินใจ ด้วยยึดประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลักเสมอและไม่มีวัตถุประสงค์ส่วนตัวแฝงเร้น
  • กายภาพ (กาย) เราหล่อหลอมบ่มเพาะรักษาสุขภาพและสุขภาวะส่วนตัวของตนเอง และ บุคคลแวดล้อมอย่างไรให้อยู่ในสถานะที่จะใช้พลังงานที่จำเป็นต่อการกลายเปลี่ยนของตนเองและระบบต่างๆ 
  • ความพร้อมทางเชาวน์ปัญญา ความรู้สึก และ จิตวิญญาณ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญ  อย่างไรก็ตาม ความพร้อมทางกายภาพก็สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและบ่มเพาะให้เกิดสุขภาพและสุขภาวะส่วนบุคคล เนื่องจากเมื่อจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น และ เมื่อจำนวนผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจมีมากขึ้น ความจำเป็นในการรักษาความแข็งแกร่งและความนิ่งสงบภายใต้แรงกดดันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น 

เราควรตั้งคำถามต่อให้สังคมช่วยขบคิดถึงโจทย์เฉพาะที่สังคมไทยกำลังเผชิญ แล้วเราควรจะเดินไปทิศไหน เป็นทิศทางที่ดูมีความหวังหรือมืดมนอย่างไร แล้วอะไรจะเป็นจุดคานงัดให้เราแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ในการสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองในยุคดิจิทัลได้บ้าง พร้อมแนวคิดเชิงนโยบายสาธารณะที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 

พลเมืองดิจิทัลสามารถร่วมกันสร้างเปลี่ยนแปลงและร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและตระหนักถึงการสร้างคุณค่าและการเปิดใจกว้าง มองประเด็นขัดแย้งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายเพื่อความเข้าใจกันและกันมากขึ้น  สร้างสมดุลระหว่างความเสมอภาคเสรีภาพและกระบวนการประชาธิปไตย ตระหนักถึงการเชื่อมต่อระหว่างกันในโลกแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เข้าใจความต้องการและความปรารถนาของผู้อื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะเป็นนักคิดเชิงระบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  โดยข้อเสนอเชิงหลักการเพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอาจดำเนินการได้โดยพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจเช่นการวิเคราะห์หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ทัศนคติและค่านิยมการมีส่วนร่วมกับโลก  ซึ่งการพัฒนาแนวทางนี้ต้องร่วมทำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้แน่ใจว่ากรอบดำเนินการจะสามารถนำไปปฏิบัติได้ และ มีทักษะที่พร้อมพอในการจะปกป้องดูแลตนเองจากด้านมืดออนไลน์ที่ถาโถมใกล้ตัวโดยที่ภาครัฐไม่อาจขยับรับมือในการแก้ปัญหาได้ทัน ดังนั้นการติดอาวุธทางปัญญาในเรื่องทักษะยุคดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งในทางออกของการรับมือกับปัญหาที่มากับยุคดิจิทัลโดยเฉพาะในยุควิถีปรกติใหม่ในด้านโรคระบาด และ อีกสารพัดวิกฤติที่ยังคงอยู่กับมนุษยชาติไปอีกยาวนาน ในสภาวะที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ดังนั้นการเผชิญหน้ากับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยความพร้อมทั้งร่างกาย ความคิด จิตใจ และ จิตวิญญาณ จึงเป็นภารกิจสำคัญในยุคศตวรรษที่ 21 นี้อย่างต่อเนื่อง 

ในชุดบทความนี้ ยังมีอีก 4 บทความ ที่เกี่ยวร้อยประสานกันในประเด็นพลเมืองดิจิทัล  คือ

  1. “การส่งเสริมเทคโนโลยีภาคพลเมือง (Civic Tech) ในการรับมือโรคระบาด”
  2. “บทเรียนของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันยับยั้งโรคระบาด” 
  3. “โควิด19 คิดแต่ไม่ถึง กับความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล” 
  4. “พลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic)” 

ซึ่งผู้อ่านโดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามได้ในชุดบทความเสนอแนวคิดนี้ (Think Piece) เพราะเป็นบทสังเคราะห์ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดออนไลน์ในยุคนิวนอร์มอลนี้อย่างสมบูรณ์ขึ้นในทุกมิติ ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการมีกฎกติกา มารยาท และ การส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งทั้งสองมิตินี้จะมีแนวคิดเรื่องความเข้มแข็งของพลเมืองดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมนั่นเอง 

ทั้งนี้ การจะก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีปัจจัยสำคัญคือการทำให้ประชาชนเชื่อใจ (Trust) ในระบบของรัฐ โดยรัฐต้องใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law)  สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยข้อมูล (Open Data) ให้มีความโปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นที่หลายหลายจากสังคม  สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social change)  ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital transformation) อย่างสมดุล

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความนี้

อ้างอิง

  1. เคลาส์ ชวาบ แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ The Fourth Industrial Revolution: กรุงเทพ; สำนักพิมพ์อมรินทร์ (2561). หน้า 130 – 135
  2. Dqinstitute. Digital Citizenship. 2020. [cited in 2020 November 23]. Available from:   https://www.dqinstitute.org/dq-framework
  3. Kusnadi IH., & Hikmawan MD. Digital Cohesion in Era of Pandemic COVID-19 in Indonesia. International Journal of Engineering Research and Technology 2020; 13: 1775-1779
  4. Moonsun Choi.A Concept Analysis of Digital Citizenship for Democratic Citizenship Education in the Internet Age. Theory & Research in Social Education 2016; 44: 565-607. 
  5. กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์. Pornhub เผยสถิติผู้ชม ‘หนังผู้ใหญ่’ พุ่ง ช่วงคนทั่วโลกกักตัว ‘โควิด-19’. 2563 มีนาคม [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://voicetv.co.th/read/8ic8x3Z6U
  6. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ข่าว เปิดสถิติ ‘Pornhub’ กับ คนไทย ทำไมกระแสตีกลับแรง. 2563 พฤศจิกายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com/news/detail/905938 
  7. BBC New Thai. เว็บไซต์ Pornhub ทำกำไรจาก “หนังโป๊เพื่อแก้แค้น”.  2563  กันยายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก:  https://www.bbc.com/thai/international-49608643
  8. Marketing Oops!. ทรูมันนี่ เผยกลโกงออนไลน์ยุค New Normal ที่ทุกคนพึงระวัง พร้อมแนะสร้างเกราะป้องกันอยู่ให้รอดแบบ “ห่าง-ปิด-ติด-จ่าย” 2563 สิงหาคม   [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://www.marketingoops.com/digital-life/true-money-security-in-new-normal/ 
  9. กระทรวงยุติธรรม. อาชญากรรมทางไซเบอร์ ภัยคุกคามจากวิถีใหม่ยุคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐเร่งให้ความรู้. 2020 มิถุนายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก:https://www.moj.go.th/view/45017
  10. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค.สู้กลโกงออนไลน์ไปด้วยกัน กับเวทีเสวนาถกปัญหาซื้อขายออนไลน์.2563   กรกฎาคม [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/ffc-news/4489-630107-consumerunite-tofight-onlinescams-2.html
  11. Simon Kemp. Digital 2020: Global Digital Overview. 2020 January [cited in 2020 November 23]. Available from:   https://datareportal.com/reports/digital-2020-global-digital-overview
  12. Positioningmag. เมื่อวิถี ‘New Normal’ กำลังยิ่งสร้าง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้. 2563 พฤศจิกายน [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 20]. เข้าถึงได้จาก: https://positioningmag.com/1306152
  13. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562. ไม่ระบุ [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 20]. เข้าถึงได้จาก: http://nscr.nesdb.go.th/wp-content/uploads/2020/04/CR_For-Web.pdf
  14. Unesco. Conference on Digital Citizenship Education in Asia-Pacific Outcome Document. 2017 March. [ เข้าถึงเมื่อ 2020 พฤศจิกายน 23]. เข้าถึงได้จาก: https://en.unesco.org/sites/default/files/dkap-conference-outcome-mar2017.pdf
  15. Estellés, M., & Fischman, G. E. (2020). Imagining a Post-COVID-19 Global Citizenship Education. Práxis Educativa, 15, 1-14.