จาก‘กาลามสูตร’ถึง‘อิสลามโมโฟเบีย’ สันติเกิดได้หากยอมรับข้อเท็จจริง-เปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจร่วมกัน

31 มี.ค. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย)  Centre for Humanitarian Dialogue (HD) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (IBHAP) จัดเสวนาออนไลน์ Cofact Live Talk วาระ April Fool’s Day ในหัวข้อ “ทบทวนหลักกาลามสูตรกับปัญหาอิสลามโมโฟเบีย เราจะออกจากวังวนข้อมูลลวงนี้ได้อย่างไร ด้วยหลักคิดทางศาสนา” ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” , “FNF Thailand” และ “IBHAP”

พระมหานภันต์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (IBHAP) สรุปหลักกาลามสูตรแบบเข้าใจง่ายผ่านบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ว่า หนึ่งฟังตามกันมาอย่าได้เชื่อ สองทำกันทุกเมื่อ เชื่อไม่ได้ สามตื่นข่าวป่าวมาอย่าเชื่อไป สี่อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา ห้าอย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น หกกะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า เจ็ดเพราะนึกตรึกตรองหรือตรวจตรา แปดเพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน เก้าอย่าเชื่อเพราะเพื่อควรเชื่อเขา สิบครูเราแท้แท้มาแต่ต้น ก็ใช่จักเชื่อได้น้ำใจคน จงเชื่อผล เชื่อเหตุ สังเกตเทอญ

ซึ่งกาลามสูตรเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนชาวกาลามะ สาระสำคัญคือ อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใดก่อนตรจสอบ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีที่มาอย่างไรก็ตามดังตัวอย่างทั้ง 10 ข้อข้างต้น ซึ่งก็สอดคล้องกับการทำงานของโคแฟคที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องข่าวลวง เช่น ข้อ 10 อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นครู ซึ่งอาจหมายความรวมถึงคนรู้จักคุ้นเคยกับเราด้วย ดังจะเห็นได้ในปัจจุบันว่ามีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วาดภาพเหมือนพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง พร้อมกับใส่ข้อความที่ท่านไม่ได้กล่าวลงไป จนสร้างความเข้าใจผิดว่าพระอาจารย์ท่านนั้นเป็นผู้พูดข้อความนั้นจริงๆ ดังนั้นกาลามสูตรจึงเป็นหลักธรรมที่ชาวพุทธในฐานะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานต้องให้ความสำคัญ

ขณะที่ปัญหาอิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) หรือกระแสหวาดกลัวอิสลาม จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ทั่วโลกและไม่ได้เกิดเฉพาะกับศาสนาอิสลาม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้กับสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาหนึ่ง แต่ต่อมามีศาสนาอื่นที่มีคนนับถือเป็นส่วนน้อยแล้วจำนวนผู้นับถือค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ศาสนิกชนของศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือรู้สึกกังวลใจ เช่น ในสมัยอยุธยาที่มีการติดต่อกับชาวตะวันตก มีกระแสความกังวลว่าศาสนาคริสต์จะเข้ามามีอิทธิพลกับการเมืองการปกครองของอยุธยาที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ หรืออย่างในสังคมตะวันตกที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ก็รู้สึกกังวลกับผู้นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในประเทศของตน

ทั้งนี้ สังคมไทยค่อนข้างเข้มแข็ง เนื่องจากศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมีคำสอนที่ชัดเจนเรื่องการไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น แต่อีกด้านหนึ่ง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ก็อาจผลิตถ้อยคำแห่งความเกลียดชังหรือเฮทสปีช (Hate Speech) ได้โดยไม่รู้ตัว เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อปี 2562 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 15 ราย และมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพบรรยากาศหลังเหตุการณ์ เช่น งานศพที่มีญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตร้องไห้ถึงขั้นเป็นลมสลบไป แม้จะไม่มีถ้อยคำพาดพิงศาสนาใด แต่การรับรู้ก็กลายเป็นเรื่องศาสนาไปแล้ว ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องศาสนาแต่เป็นการกระทำของบางคนที่มีเหตุผลบางอย่าง แล้วคนนั้นมีอัตลักษณ์ที่มีส่วนของศาสนาผสมอยู่ ประกอบกับการนำเรื่องระดับท้องถิ่น (Local) ไปเชื่อมโยงกับระดับชาติ (National) ทำให้เรื่องราวถูกรับรู้ว่าเป็นปัญหาทางศาสนา เฮทสปีชที่แต่เดิมแทบจุดไม่ติดเพราะคนไม่ค่อยเชื่อก็ถูกแชร์กันมากขึ้นในกลุ่มชาวพุทธที่รู้สึกกังวล โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้และอยู่ไกลออกไป

“เหตุการณ์ท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดนดึงเอามาสร้างความเกลียดชังในระดับชาติ เพราะคนที่อื่นไม่รู้แต่เห็นภาพพระโดนยิงมรณภาพ โดนเผา โดนฟัน ก็ส่งออกไป แล้วเดี๋ยวนี้มันโยงไปสู่ชาวไทยที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย ก็ไปปลุกระดมว่าภาคใต้เขากำลังจะยึดวัดแล้ว ชวนกันมาบริจาคทำบุญซื้อที่วัดนี้ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะโดนศาสนาอื่นยึด อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นวงจรของความเกลียดชังที่มันทะลุขอบข่ายออกไป” พระมหานภันต์ กล่าว

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่การเรียนวิชา หะดีษ หรือพระวจนะของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ที่ผู้เรียนต้องดูว่าใครเป็นผู้รายงานพระวจนะนั้น ผู้รายงานมีประวัติน่าเชื่อถือเพียงใด ตัวบทนั้นมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจนหรือไม่ เป็นต้น ส่วนกระแสอิสลาโมโฟเบีย นอกจากจะเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยอิงกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) แล้วยังเชื่อมโยงกับสถานการณ์ระดับโลก 

เช่น การก่อการร้ายในโลกตะวันตกที่มีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับชุดคุณค่าระหว่างวัฒนธรรมแบบรัฐฆราวาส (Secular State) กับวัฒนธรรมแบบอิสลาม ตั้งแต่การแต่งกายไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออกที่อาจกระทบความรู้สึกของศาสนิกชน แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยค่อนข้างมีความเห็นอกเห็นใจพอสมควรโดยเห็นได้จากเหตุกราดยิงมัสยิดที่ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2562 คนไทยก็ไม่ได้แสดงท่าทีซ้ำเติมผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวมุสลิม 

ทั้งนี้ ต้องย้ำว่าเหตุการณ์ชายแดนใต้ของไทยเป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจและเรื่องการเมือง การแก้ไขจึงต้องทำด้วยการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา เพียงแต่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของคน แม้กระทั่งเหตุการณ์ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ยังไม่ถึงขั้นใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการที่ผู้นำของทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม จับตาสถานการณ์อยู่ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายก็จะพูดคุยกันทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ  

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นท้าทายในส่วนชุดคุณค่าที่แตกต่างแบบสุดโต่ง 2 ขั้ว ระหว่างคนที่ไม่ได้เป็นศาสนิกชนซึ่งเชื่อว่าสามารถแสดงออกในเชิงลบหลู่ศาสนาได้ เพราะไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับคนที่เป็นศาสนิกชนที่พร้อมจะเข่นฆ่าใครก็ตามที่มองว่ามีพฤติกรรมลบหลู่ศาสนา แม้ว่ากลุ่มคนที่สุดโต่งอาจจะมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกันว่าสังคมจะหาจุดตรงกลางที่ลงตัวอย่างไร ประเด็นนี้ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์หรืออิสลาม ล้วนเผชิญเหมือนกันในโลกที่เป็นสมัยใหม่ (Modernist) คนในสังคมจึงต้องใช้สติปัญญาร่วมกัน 

“หลักการศาสนาเมื่อเจอการใส่ร้ายป้ายสี นอกจากอดทนแล้วยังจำเป็นต้องพูดความจริง ต้องเอาความจริงมาเผยแพร่ให้ได้ เพราะความจริงจะปกป้องทุกฝ่าย ปกป้องเราด้วย ปกป้องคนที่เราไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าเมื่อความจริงมันแน่นอนก็ย่อมมีคนเผยแพร่สิ่งที่ไม่จริงเกิดขึ้น สิ่งที่สอนยกระดับอีกอย่างหนึ่งคือการให้อภัย ผมคิดว่าคนเราทำผิดกันได้หรือเข้าใจผิดได้ หรือมีเหตุผลบางอย่างแต่ใช้วิธีการที่ผิดในการปล่อยข่าวลือ-ข่าวลวง หรือแม้กระทั่งปล่อยถ้อยคำที่มันเป็นพิษ (Dangerous Speech)” รศ.เอกรินทร์ กล่าว

น.ส.พริม มณีโชติ ตัวแทนจาก Nitihub กล่าวว่า แม้จะเป็นนักกฎหมาย แต่ก็อยากให้กฎหมายเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะไม่เชื่อว่าปัญหาที่มีต้นตอจากความเกลียดชังจะสามารถแก้ไขด้วยบทลงโทษทางกฎหมายได้ เหมือนกับการตีเด็กกำลังร้องไห้เสียงดัง เด็กจะรู้สึกงงเมื่อถูกตีแต่ก็ยังคงร้องต่อไปและอาจจะยิ่งโกรธที่ถูกตีเสียด้วยซ้ำ การแก้ปัญหาความเกลียดชังไม่ว่าจะจากความไม่รู้หรืออคติต่างๆ ควรเป็นการเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจกัน

อนึ่ง ตนเป็นห่วงคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 (Post-COVID) เพราะมีความเป็นปัจเจกสูง เชื่อมโยงกับชุมชนน้อยมาก ยังไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมอื่นๆ เพราะแม้แต่วัฒนธรรมในชุมชนหรือสังคมของตนเอง เช่น ในครอบครัว ในโรงเรียน เนื่องจากคนรุ่นนี้รับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านหน้าจอ และไม่ได้เป็นผู้เลือกรับข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง แต่ถูกคัดกรองโดยอัลกอริทึม (Algorithm) หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เก็บข้อมูลและประมวลผลในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์

“เขาเผชิญหน้ากับแพลตฟอร์มที่เลือกมาแล้วว่าเขาต้องเห็นสื่อนี้ เขาต้องถูกยิงแอดโฆษณา (Advertisement) ด้วยสินค้าตัวนี้ เพราะเขาเป็นเพศนี้ เพราะเขาอายุเท่านี้ เพราะเขาเป็นกลุ่มลูกค้าของบริษัทนี้ เขาคิดว่าเขามีเจตนำรงเสรี (Free Will) เราคิดว่าเราเป็นคนเลือกสื่อเอง ซึ่งที่จริงไม่ใช่ ดังนั้นไม่แปลกถ้าคนที่เขาทำงานอย่างเป็นระบบ รับค่าจ้างมาเพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยาแบบนี้ แล้วเขาจะมีประสิทธิภาพ (Effective) มากๆ อย่างน้อยเขามีทรัพยากรของเราแน่ๆ และกฎหมายตามไม่ทัน” น.ส.พริม กล่าว

ในช่วงท้าย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวปิดการเสวนา ว่า การพูดคุยยังต้องดำเนินไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ปัญหายังมีอยู่ ซึ่งก็หวังว่าสังคมจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกันคือข้อเท็จจริง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

“การที่เราจะยอมรับข้อเท็จจริงได้แน่นอนว่ามันต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีกระบวนการพูดคุย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อะไรก็ว่ากันไปเพื่อหาความจริงร่วมที่เราจะรับร่วมกัน และนี่คือแนวคิดของโคแฟค หรือ Collaborative Fact ก็คือท้ายที่สุดทุกคนอาจจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกันได้ น่าจะเป็นเป้าหมายและสุดท้ายก็คืออยู่กันอย่างสันติ” น.ส.สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

รับชมคลิปเพิ่มเติม