‘ผลไม้สด : ของฝากห้ามนำเข้าจากต่างแดน’ ข่าวจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง : COFACT Special Report #38

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

โดย : Zhang Taehun

ของฝาก เป็นสิ่งที่น่าจะขาดไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่เดินทางไกลไม่ว่าข้ามเมืองหรือข้ามประเทศในฐานะเครื่องแสดงน้ำจิตน้ำใจแก่ญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งหนึ่งในของฝากยอดนิยมนั้นก็มีเรื่องของ อาหารการกิน ที่ขึ้นชื่อของแต่ละพื้นที่ที่ไปเยือนมาด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำเข้าอาหารการกินจากต่างประเทศ สุขอนามัย ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดจากที่หนึ่งลามเข้าไปอีกที่หนึ่ง ดังตัวอย่างที่ทางโคแฟคเคยนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับทางการไต้หวันสั่งห้ามนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูทุกประเภท (ไม่เว้นแม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูและผงปรุงรสหมู) จากประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเวลานั้นไทยพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)

ล่าสุดมีการแชร์ข่าวกันถึงคำเตือน ห้ามนำผลไม้สดจากต่างประเทศเข้าไทย เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจึงเริ่มกลับมาอีกครั้งซึ่งหลายคนก็นิยมหอบหิ้วผลไม้ขึ้นชื่อจากต่างประเทศมาเป็นของฝากด้วย โดยเรื่องนี้ ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฝากเตือนผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ว่า การนำเข้าผลไม้สดเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้าประเทศไทยในทุกช่องทาง จะเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 

และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 (2) มาตรา 10 โดยการนำเข้าผลไม้สดที่จัดเป็นสิ่งต้องห้ามต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจาก ประเทศต้นทาง ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้าและต้องแจ้งนำเข้ากับด่านตรวจพืช เพื่อออกหนังสืออนุญาตฯให้นำสินค้าออกจากด่านตรวจพืช หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ พร้อมกับยึดสินค้าเพื่อนำไปทำลายตามกฎหมายกักพืช

“ที่ผ่านมา ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตรวจยึดจากนักท่องเที่ยวที่อาคารผู้โดยสารได้ต่อเนื่องก่อนที่จะตักเตือนและปล่อยตัว แต่ต้องยึดสิ่งของไว้ จากการสอบถามพบว่าซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังไม่กระทำการดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากการนำเข้าจะต้องมีการแจ้งนำเข้าเพื่อออกหนังสืออนุญาตตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพืชและแมลงในประเทศ กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่เนื้อหา พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า มาตรา 8 (2)” บุคคลใดนําเข้าหรือนําผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ การนําเข้าหรือนําผ่านเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกํากับมาด้วย และต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

และ มาตรา 10” ระบุว่า การนําเข้าหรือนําผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งกํากัดนั้น จะต้องนําเข้าหรือนําผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนั้น ใน มาตรา 12 (1)” ยังระบุอำนาจของเจ้าหน้าที่ไว้ว่า ตรวจค้นคลังสินค้า ยานพาหนะ หีบห่อ ตลอดจนตัวบุคคลภายในเขตด่านตรวจพืชหรือเขตควบคุมศัตรูพืช เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนําเข้าหรือนําผ่านซึ่ง พืชสิ่งต้องห้าม สิ่งกํากัด หรือสิ่งไม่ต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ขณะที่ในส่วนของ บทกำหนดโทษ จะอยู่ใน มาตรา 21” ที่ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 15 ทวิวรรคสองหรือมาตรา 15 ฉ หรือฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ยังมีประกาศกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการนำเข้าพืชผักจากหลายประเทศ  ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th/th/ แล้วตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.เลือกหัวข้อ “เกี่ยวกับกรม” 2.เลือกหัวข้อ “กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง” 3.เลือกหัวข้อ “พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” และ 4.เลื่อนลงมาดูหัวข้อ “ประกาศกรมหรือระเบียบ” หรือคลิกที่ลิงก์ https://www.doa.go.th/th/?page_id=24342

หรือเข้าไปดูได้ที่ส่วนของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ที่เว็บไซต์ https://www.doa.go.th/ard/ ดังนี้ 1.เลือกหัวข้อ “หน่วยงานในสังกัด” ต่อด้วย “ส่วนกลาง” ต่อด้วย “สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร” 2.เลือกหัวข้อ “กฎ ระเบียบ ประกาศ” ต่อด้วย “พ.ร.บ.กักพืช” ต่อด้วย “นำเข้า” ต่อด้วย “ประกาศกรมวิชาการเกษตร”  หรือคลิกที่ลิงก์ https://www.doa.go.th/ard/?page_id=191 ซึ่ง จะมีประกาศที่เกี่ยวข้องกับพืชควบคุมการนำเข้าจากต่างประเทศ เรียงตามลำดับอักษรไทยตั้งแต่ ก-ฮ

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://blog.cofact.org/specialreport35/ (ไขข้อข้องใจ ‘ห้ามนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปไต้หวัน’ ข่าวนี้มีที่มาอย่างไร? COFACT SPECIAL REPORT #35 : Cofact 15 พ.ย. 2565)

https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/184336 (เตือนคนไทย ซื้อผลไม้สดเป็นของฝากจาก ตปท. “ผิดกฎหมาย” : PPTV 10 พ.ย. 2565)

https://www.doa.go.th/th/?page_id=24342 (พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม : กรมวิชาการเกษตร)

https://www.doa.go.th/th/wp-content/uploads/2020/11/พระราชบัญญัติกักพืช.pdf

https://www.doa.go.th/ard/?page_id=191 (ประกาศกรมวิชาการเกษตร : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร)