‘โคแฟค’ ร่วมจัดประชุม‘วิทยุชุมชน’เอเชีย-แปซิฟิก ย้ำเป็นอีกสื่อสำคัญต่อสู้ปัญหาข่าวลวง

Editors’ Picks

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ AMARC Asia-Pacific  และภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) จัดการประชุมวิทยุชุมชนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 “ความท้าทายและโอกาสในการเสริมความเข้มแข็งวิทยุชุมชน” ระหว่างวันที่ 27 – 30 กันยายน 2566 ณ หอประชุมศรีบูรพา   ห้องประชุมสถาบันไทยคดีศึกษา และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าประจันทร์) กรุงเทพฯ  มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 180 คนจาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและที่อื่นๆ 

Suman Basnet ผู้อำนวยการภูมิภาคภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AMARC-AP)   กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า  การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะแบ่งปันเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรน ชัยชนะของวิทยุชุมชน และมุ่งสู่การพัฒนาการกระจายข่าวโดยชุมชนในระยะต่อไป และเป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญที่เราจะมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ เพื่อระลึกถึงปรัชญาการก่อตั้งวิทยุชุมชน  การประชุมใหญ่นี้เป็นเวทีเปิดสำหรับการใคร่ครวญ ตั้งคำถามกับตัวเอง การเปิดรับคำแนะนำ การสร้างเครือข่าย และนำพาเราก้าวไปข้างหน้า 

ปีนี้เป็นปีพิเศษสำหรับ AMARC ที่มีอายุครบ 40 ปี AMARC ในฐานะเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน นานาชาติที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ.1983) ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่าน ขบวนการวิทยุชุมชนได้เติบโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่ในแอฟริกา ละตินอเมริกาและแคริบเบียน เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ สถานีวิทยุเป็นเครือข่ายที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างและขยายงานด้านการสื่อสาร เช่น สิทธิในการสื่อสาร การป้องกันและการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างเร่งด่วนและจำเป็น ตลอดจนการเคารพสิทธิมนุษยชน 

ด้าน Dr. Ramnath Bhat ประธาน AMARC-AP  กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 40 ของ AMARC และปีที่ 25 ของวิทยุชุมชนวิทยุในเอเชีย  หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์วิทยุชุมชนในเอเชียแปซิฟิก โครงการริเริ่มในช่วงแรก ๆ บางส่วนดำเนินการโดยนักข่าวสิ่งแวดล้อมในเนปาล ผู้หญิงในวรรณะจัณฑาลในอินเดีย หรือกลุ่มเกษตรกรในชนบทในประเทศศรีลังกา และอื่น ๆ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 หรือต้นทศวรรษ 2000 วิทยุชุมชนเป็นแนวคิดที่พัฒนาศักยภาพการสื่อสารของคนในชุมชนที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เมื่อพูดถึงวิทยุชุมชน  ความหมายของชุมชนและความหมายของวิทยุโดยพื้นฐานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่ลื่นไหลและไม่แน่นอนนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะเข้าใจว่าเราจะเป็นผู้กระจายข่าวชุมชนต่อไปได้อย่างไร และผมขอยกย่องวิทยุชุมชนจำนวนมากที่ทำงานที่เหลือเชื่อและน่าทึ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด -19  โดยมักจะให้การดูแลและสนับสนุนชุมชนเมื่อไม่มีสื่ออื่นใดอยู่ในระดับรากหญ้าจริง ๆ

ผมคิดว่าการกระจายข่าวโดยชุมชนมีบทบาทเร่งด่วนในการเป็นสื่อที่มีจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ผมเชื่อว่าวิทยุชุมชนยังมีอนาคต เราต้องประกันความยั่งยืนทางสังคมของภาคส่วนนี้ เราจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวแบบมีส่วนร่วม จากล่างขึ้นบนอย่างแท้จริง ผู้ฟังควรรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของวิทยุ พวกเขาเป็นเจ้าของสื่อ วิทยุยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา เพื่อสาธารณประโยชน์ และไม่แสวงหาผลกำไร พลังหลักวิธีเดียวที่เราจะดึงเอาความเป็นเจ้าของของชุมชนและความยุติธรรมทางสังคมออกมาได้ก็คือ การกระจายข่าวโดยชุมชนยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อกลุ่มที่ถูกกดขี่มากที่สุดในสังคมของเรา เราต้องการการกระจายข่าวโดยชุมชน ที่ชุมชนจัณฑาล ชุมชนพื้นเมือง ผู้หญิงเป็นเจ้าของวิทยุมากขึ้น มีวิทยุที่ LGBTI เป็นเจ้าของมากขึ้น

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และกรรมการ AMARC-AP กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุม  และแนะนำโคแฟค ประเทศไทย  (Cofact Thailand)  ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีสโลแกน คือ ทุกคนเป็นผู้ตรวจสอบข่าวได้  โดยมีการทำงานร่วมกันในการตรวจสอบเพื่อจัดการกับข้อมูล ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย การตรวจสอบข้อมูลจะต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกคน โคแฟคเป็นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นฐานข้อมูล ที่ทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบและบันทึกข่าวลือและข้อมูลที่ได้รับมาจากแหล่งต่างๆ  นอกจากนี้ ยังมี Line Chabot ที่จะสามารถค้นหาข้อมูลข่าวลวง มากไปกว่านั้นโคแฟคได้ทำงานร่วมกับวิทยุชุมชน สื่อชุมชนทั่วประเทศ และ NGOs ซึ่งเป็นเหมือนเครือข่ายชุมชนสำหรับการเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัล (Digital intelligence) และ ทักษะความเข้าใจ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy)  เพื่อสร้างภูมิปัญญาร่วมกันในการจัดการกับข้อมูล ในยุคนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่จะถูกหลอกด้วยเรื่องราว ข่าวลือ ทฤษฎีสมคบคิด และข้อมูลบิดเบือนทุกประเภท หน้าที่ของเราคือการมีจิตใจที่มีวิจารณญาณ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  การเท่าทันสื่อ ความยืดหยุ่น และความชาญฉลาดในการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกออนไลน์และต้องวิเคราะห์ทุกสิ่งที่เราอ่านบนอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน เราต้องทำให้แน่ใจจริง ๆ ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องก่อนที่จะแบ่งปันข้อมูลต่อไป

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร. คันธิรา ฉายาวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็น 1 องค์กรเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุมดังกล่าว กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากทุกประเทศ ทุกองค์กร ที่เข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้  นับเป็นการรวมพลังของวิทยุชุมชนจากหลายประเทศ  มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม  แต่มีความมุ่งมั่นในการรวมพัฒนาวิทยุชุมชนที่เหมือนกัน  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานประชุมที่สำคัญเช่นนี้  

หลังจากพิธีเปิดเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว บนเวทีจัดให้มีการแสดงวัฒนธรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชม  บนแนวคิด ‘หลากหลายสำเนียงสู่สันติภาพโลก’ (Many Voices, One World’s Peace)   โดยมีการแสดง เพลง ‘อย่าเพิ่งเชื่อ’ โดย Deep South Cofact  จาก  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้     เพลง ‘หยุดข่าวลวงทวงความจริง’ โดย หมอลำอีสานโคแฟค   การแสดง Drag Queen โดย ผู้แทนกลุ่ม LGBT  การแสดงพิณแก้ว โดย อาจารย์วีระพงศ์  ทวีศักดิ์ นักดนตรีพิณแก้วคนแรกของประเทศไทยและเอเชีย และปิดท้ายด้วยการการแสดงธรรมะ Peace Talk: Many Voices, One World’s Peace โดย พระมหานภันต์ ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.)