ปฏิญญากรุงเทพมหานครเรื่องวิทยุชุมชน : สหพันธ์วิทยุชุมชนโลกภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (AMARC Asia-Pacific)

Editors’ Picks

ณ กรุงเทพมหานคร

30 กันยายน 2566

องค์กรสมาชิกของสหพันธ์วิทยุชุมชนโลกภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (AMARC Asia-Pacific) เพื่อนสมาชิก ผู้สนับสนุน และผู้บริจาคได้มารวมตัวกันที่การประชุมวิทยุชุมชนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย ในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการเกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก เรามารวมตัวกันในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้ตั้งอยู่ในความหลากหลาย ตลอดจนความฝันและแรงบันดาลใจ รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่เรามีต่อความเชื่อและแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือดังต่อไปนี้

  1. เรารับรู้ถึงเป้าหมายและแรงบันดาลใจร่วมกันแม้จะตระหนักถึงความแตกต่างและความหลากหลายที่มีอยู่ และขอยืนยันความเชื่อของเราอีกครั้งดังต่อไปนี้

1:1 เราเชื่อว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักพื้นฐานในการรับประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ

1:2 เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับและสนับสนุนค้ำจุน

1:3 เราเชื่อว่าเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความหลากหลายของสื่อคือสิ่งที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้กับการแสดงออกทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา สังคม ชนชั้น และวรรณะ รวมถึงความแตกต่างในความสามารถ เพศหรือเพศสภาพ ความคิดเห็นทางการเมือง และความเหมาะสมกับอายุ

1:4 เราเชื่อว่าในฐานะชุมชนและปัจเจกบุคคล ผู้คนมีสิทธิในการกำหนดใจตนเองและเป็นอิสระจากการกดทับ การเลือกปฏิบัติ การข่มขู่ และความหวาดกลัว

1:5 เราเชื่อว่าวิทยุชุมชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนของชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารและถกเถียงกันทั้งภายในและระหว่างชุมชน รวมถึงภายนอกชุมชนด้วย

1:6 เราเชื่อว่าเมื่อชุมชนมีส่วนร่วมและโต้ตอบกับแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เราก็ควรยอมรับในเทคโนโลยีเหล่านี้และเปิดรับโอกาสที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเราได้

  1. และเพื่อเป็นการยืนยันความเชื่อเหล่านี้อีกครั้ง

2:1 เราทราบดีถึงโอกาสและความท้าทายอันหลากหลายที่ผู้ปฏิบัติงานด้านวิทยุชุมชนและการสื่อสารทั่วภูมิภาคต้องเผชิญ

2:2 เรายอมรับว่าภัยพิบัติทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศสมาชิกของเรา

2:3 เราเห็นว่าบางประเทศในภูมิภาคของเรานั้น ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ผู้ที่มีความสามารถที่แตกต่าง ชนชั้นวรรณะจัณฑาล ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ตลอดจนชาวชนบท ผู้ใช้แรงงาน ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ถูกค้ามนุษย์ ผู้ไร้สัญชาติ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ ต่างก็ถูกทำให้เป็นคนชายขอบที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

2:4 เราตระหนักดีว่าในบางประเทศไม่มีกรอบกฎหมายที่จะช่วยให้เกิดการสร้าง การพัฒนา และความยั่งยืนของสถานีวิทยุชุมชนได้ หรือแม้แต่ในประเทศที่สถานีวิทยุชุมชนมีสถานะทางกฎหมาย แต่ทั้งสถานีและผู้ปฏิบัติการวิทยุชุมชนรวมถึงนักข่าวกลับไม่ได้รับความเป็นธรรมตามหลักความยุติธรรมสากล หรือไม่ได้รับความคุ้มครองจากความเสียหาย การกลั่นแกล้ง การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย หรือการบาดเจ็บ

2:5 เราทราบดีว่ามีการโต้กลับสิทธิมนุษยชนรวมถึงสิทธิสตรีมากขึ้น ซึ่งมีแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมากที่จะไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประท้วงใดๆ ในพื้นที่สื่อของตน และสำหรับผู้หญิงจำนวนมาก วิทยุชุมชนจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวที่พวกเธอจะพูดแล้วมีผู้รับฟัง

2:6 เราตระหนักดีถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ออนไลน์และแพล็ตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่มีการกำกับดูแล มีการให้ข้อมูลผิด ข้อมูลบิดเบือน การหลอกลวง การเล่าเรื่องที่เป็นเท็จ และข่าวปลอม ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง ความหวาดกลัว และความไม่มั่นคงแพร่กระจายไปทั่ว

2:7 เรายอมรับว่ามีความท้าทายมากมายและหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของเรา ซึ่งเป็นตัวขัดขวาง จำกัด หรือเป็นอุปสรรคต่อชุมชนในการพยายามสร้างความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคน

  1. เมื่อนำแง่มุมเหล่านี้มาใคร่ครวญรวมถึงการตระหนักถึงบทบาทอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดของวิทยุชุมชนในการผลักดันด้านการพัฒนามนุษย์และการแสดงออกต่อการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เข้าร่วมการประชุมวิทยุชุมชนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5 ของสหพันธ์วิทยุชุมชนโลกภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ขอกล่าวปฏิญาณดังต่อไปนี้

3:1 เรามีความแน่วแน่ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายระดับภูมิภาคของเรา โดยการพัฒนาและเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างกัน รวมถึงกับองค์กรระหว่างรัฐบาลในระดับภูมิภาค องค์กรผู้บริจาคและผู้สนับสนุน สมาคมระดับชาติ และองค์การสหประชาชาติ

3:2 เรามุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศของผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ภูมิภาคต่างๆ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งผ่านโอกาสในการสร้างเครือข่าย และเพื่อส่งเสียงที่สอดประสานกันไปยังฟอรัมระดับโลกรวมถึงผู้บริจาค ตลอดจนเพื่อฟื้นฟูความแข็งแกร่งโดยรวมของภาคส่วนของเรา และเพื่อช่วยเหลือและมีส่วนร่วมในการสถาปนาขบวนการวิทยุชุมชนในระดับนานาชาติขึ้นมาอีกครั้ง

3:3 เรายังคงยืนยันต่อความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน ตลอดจนทำงานกับองค์กรระหว่างรัฐบาลในระดับภูมิภาคและระดับโลก องค์การสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลยุทธ์และโปรแกรมที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่อธิบายไว้ในมติสหประชาชาติฉบับที่ 70/1 “วาระการพัฒนา 2030”

3:4 เราตระหนักถึงความสำคัญของ “กรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติ” ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองในปีพ.ศ. 2558 และมีความแน่วแน่ที่จะพัฒนากลยุทธ์ โปรแกรม และโอกาสในการฝึกอบรมสำหรับสถานีวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนมีความพร้อมมากขึ้นในการมีส่วนร่วมกับการวางแผนและรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงการบรรเทาผลกระทบและการฟื้นตัวของชุมชน

3:5 เราจะเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคของเราตอบสนองต่อร่างมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2565 ว่าด้วย “การต้านทานผลกระทบด้านลบของข้อมูลบิดเบือน” และรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติ พ.ศ. 2565 เรื่อง “การต้านทานข้อมูลบิดเบือนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ในแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์ โดยจะทำการพัฒนากฎระเบียบและกฎหมายเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลบิดเบือน การหลอกลวง การเล่าเรื่องเท็จ และข่าวปลอม ซึ่งจะช่วยปกป้อง “สื่อและการสื่อสารกับชุมชนที่มีเสรีและเป็นอิสระ” และเสริมสร้าง “ความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ”

3:6 เรายังคงยืนยันต่อคำรับรองและข้อเรียกร้องของเราที่ให้มีการดำเนินการตามมาตรา 16 ของ “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” ซึ่งเป็นการย้ำจุดยืนอีกครั้งต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนของตนเองในภาษาของตนเอง และสามารถเข้าถึงสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ใช่ของชนเผ่าพื้นเมืองได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

3:7 เราจะเร่งผลักดันให้ชุมชนออสเตรเลียตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนถึง “แถลงการณ์อุลูรูจากหัวใจ (Uluru Statement from the Heart)” ที่เชิญชวนให้มาร่วมกันสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ยุติธรรมและจริงใจ” กับผู้เป็นชนชาติแรกของประเทศ และร่วมลงประชามติสนับสนุนให้ “Aboriginal and Torres Strait Islander Voice” เข้าสู่รัฐสภา

3:8 เรามีความแน่วแน่ที่จะสร้างพื้นที่บนคลื่นวิทยุสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง ชาวชนบท ผู้ใช้แรงงาน ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ไร้สัญชาติ ผู้ถูกค้ามนุษย์ เสียงจากผู้คนหลากหลายและคนชายขอบ โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา สังคม ชนชั้น วรรณะ ความพิการ เพศสภาพหรือการระบุตัวตนทางเพศหรือการเมือง หรืออายุ

3:9 เรามีความแน่วแน่ที่จะสร้างพื้นที่บนคลื่นวิทยุสำหรับชุมชนวรรณะจัณฑาลให้พวกเขาสามารถเป็นเจ้าของ จัดการ และดำเนินการสถานีวิทยุชุมชน และจะเรียกร้องผ่านรายการของวิทยุชุมชนต่อกรณีของการเลือกปฏิบัติตามวรรณะ และยังคงยืนยันต่อไปในความพยายามต่อต้านระบบชนชั้นผ่านการสร้างขีดความสามารถและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่จะสนับสนุนและดำรงไว้ซึ่งวิทยุชุมชนของชุมชนวรรณะจัณฑาล

3:10 เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นทุกรูปแบบเพื่อจารึกและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้

3:11 เราขอยืนยันอีกครั้งถึงการรับรองและความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินการตาม “นโยบายเกี่ยวกับเพศสภาพของ AMARC สำหรับวิทยุชุมชน” และจะจัดให้มีความเท่าเทียมทางเพศในทุกด้านของกิจกรรมวิทยุชุมชน

3:12 เราขอประณามความรุนแรงทางเพศและบนพื้นฐานของเพศสภาพในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกายของผู้หญิงในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปจนถึงในภาวะสงคราม

3:13 เรารับรู้ถึงสิทธิสตรีสำหรับความปลอดภัยในการกระจายเสียงในชุมชน และมุ่งมั่นที่จะวางนโยบายที่ตระหนักและมุ่งหมายที่จะป้องกันการคุกคามและการข่มขู่ในทุกรูปแบบ และจะจัดทำมาตรการแก้ไขเยียวยาสำหรับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในสถานีวิทยุ เครือข่าย และชุมชนของเรา

3:14 เรามีความแน่วแน่ที่จะพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้กระจายเสียงและนักข่าวที่ทำงานให้กับวิทยุชุมชนในภูมิภาค

3:15 เราทราบดีถึงการรับมือของรัฐบาลท้องถิ่นของอำเภอจมบัง จังหวัดชวาตะวันออก ที่ตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนประจำที่นับถือศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้นในปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อความรุนแรงทางเพศยังคงมีอยู่ทั่วทั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เราจะกระตุ้นให้รัฐบาลแห่งชาติยังคงรับฟังและได้ยินเสียงของเยาวชนที่รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศต่อไป และขอให้รัฐบาลรับรู้ว่ามีการใช้อำนาจกับนักเรียนหญิงในทุกสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และขอให้มีการแก้ไขเยียวยาแก่พวกเธออย่างต่อเนื่อง

3:16 เรามีความแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของมติของ UNHRC ฉบับที่ 32/2 ว่าด้วย “การป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ” และจะร่วมมือกับชุมชนความหลากหลายทางเพศและวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI) ในท้องถิ่นในการพัฒนานโยบาย ขั้นตอน และโครงการที่จะส่งเสียงและพูดถึง “รูปแบบความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนและรุนแรงขึ้นซึ่งบุคคลต้องเผชิญบนพื้นฐานของวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ”

3:17 เราขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถที่จะให้และเพิ่มโอกาสสำหรับผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิทยุชุมชนทุกระดับ รวมถึงงานบริหารจัดการและบทบาททั้งออนแอร์และออฟแอร์

3:18 เราขอเรียกร้องให้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ยกฟ้องข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลกับ Frenchie Mae Cumpio เพื่อนร่วมงานรุ่นเยาว์ของเรา และปล่อยเธอจากการถูกคุมขังที่ไม่ยุติธรรมโดยทันที นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อทุกคนจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าว ตลอดจนหยุดการตีตราสีแดง (red-tagging) และการข่มเหงรังแกทุกรูปแบบที่กระทำต่อสื่ออิสระ เพื่อให้สื่อรวมถึงการกระจายเสียงโดยชุมชนสามารถดำรงอยู่และดำเนินการได้อย่างอิสระ

3:19 เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการที่กำหนดไว้ใน “ปฏิญญาโคลอมโบว่าด้วยเยาวชน: เยาวชนกระแสหลักในวาระการพัฒนาหลังปี 2015” จากการประชุมเยาวชนโลกปี พ.ศ.2557 และเราจะสร้าง พัฒนา และดำเนินการตามกลยุทธ์เพื่อเสริมศักยภาพของเยาวชนให้สามารถมีส่วนร่วมในทุกด้านของการฝึกอบรม การทำรายการ การวางแผน และการจัดการที่เกี่ยวกับวิทยุชุมชน

3:20 เราขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการจัดตั้งวิทยุชุมชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นวิธีการสร้างสันติภาพและความปรองดอง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกันความคุ้มครองประชาชนและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของวิทยุชุมชนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

3:21 เรามีความแน่วแน่ที่จะพัฒนาโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้จัดตั้งและผู้รณรงค์การต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นของการปกป้องสิทธิสตรีและเด็กที่ถูกละเมิดนี้

3:22 เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรความรู้กับทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อพัฒนาต้นแบบของ “แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด” สำหรับการสร้างขีดความสามารถด้านวิทยุชุมชนและกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

3:23 เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้การยอมรับสื่อชุมชนเป็นสื่อระดับ 3 ของกระจายเสียง ซึ่งรวมถึงในคลื่นความถี่วิทยุดิจิทัลและเทคโนโลยีการกระจายเสียงที่เกิดขึ้นใหม่อื่นๆ และให้รวมสื่อชุมชนไว้ในกรอบการวางแผน นโยบาย กฎระเบียบ และกฎหมาย และให้พัฒนาบทบัญญัติทางกฎหมายในการปกป้องวิทยุชุมชนตามหลักการของการกระจายเสียงในชุมชนที่ระบุไว้ใน “40 Principles of Guaranteeing Diversity and Pluralism in Broadcasting in Audiovisual Communication Services” ของ AMARC เมื่อปีพ.ศ. 2535

3:24 เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของวิทยุชุมชนในการพัฒนาสังคมที่มีพลวัต ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นประชาธิปไตย และสนับสนุนให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินงานและการเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงความยั่งยืนของวิทยุชุมชน

3:25 เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของวิทยุชุมชนในการเสริมสร้างประชาธิปไตย

3:26 เราจะเดินหน้าต่อต้านความรุนแรงที่กระทำต่อนักข่าวและผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ และจะต่อต้านมาตรการทางกฎหมายที่บั่นทอนสิทธิในการรายงานเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อหรือเป็นข้อกังวลของชุมชนได้อย่างเป็นอิสระและเปิดเผย โดยเป็นไปตาม “มติในการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน AMARC เพื่อการคุ้มครองผู้กระจายเสียงของชุมชน” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ที่การประชุม AMARC 10 ในเมืองลาปลาตา ประเทศอาร์เจนตินา ในปีพ.ศ. 2553

3:27 เราในฐานะผู้กระจายเสียง ผู้ปฏิบัติงาน และนักข่าวของวิทยุชุมชน ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ขอรับหน้าที่ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในชุมชนของเรา โดยการเป็นตัวแทนที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการพึ่งพาตนเองได้

เรา อันได้แก่ ตัวแทนของผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชน กลุ่มผู้ผลิต และผู้ปฏิบัติงานสื่อชุมชนอื่นๆ จากสาธารณรัฐออสเตรีย เครือจักรภพออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐฟิจิ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต สหรัฐอเมริกา ตกลงที่จะสนับสนุนปฏิญญานี้และจะนำคุณค่าและแรงบันดาลใจที่รวบรวมอยู่ในปฏิญญานี้มาใช้ในการดำเนินการ