ตรวจสอบมาตรการโควิดใหม่ เดือนพฤษภาคม 2565 มีอะไรบ้าง COFACT Special Report #22

บทความ

วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ศบค. กำหนดมาตรการรับมือกับโควิด-19 ใหม่ ทั้งมาตรการสำหรับในประเทศและต่างประเทศ สาระสำคัญหลักคือการลดขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR สำหรับผู้ที่เข้าประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางระหว่างประเทศสะดวกสบายยิ่งขึ้น และยังมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับประชาชนในประเทศมากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงหลายสัปดาห์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

English Summary:

Thailand lifts more travel restrictions by allowing fully vaccinated visitors into the country without taking RT-PCR test (Test & Go scheme). The government also allows restaurants to serve alcohol beverages until midnight. These measures come as daily new COVID-19 cases have been reduced for the past two weeks. This is a welcome news for both tourists and locals, especially those in tourism sector. However, the government warns that we are not in the endemic stage yet due to the death rate per day is still 0.3%, and less than 40% of Thais still have not received the vaccine booster dose yet.

Q: ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ต้องตรวจ RT-PCR และ Test & Go แล้วใช่หรือไม่?

A: ใช่ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ ที่มีประวัติเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ครบตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR แบบ Test & Go อีกต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ จะต้องกรอกข้อมูลการฉีดวัคซีน และที่พักของตนเองบนระบบ Thailand Pass ก่อนเดินทางเข้าประเทศทุกคน สำหรับผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ยังคงต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเมื่อเดินทางมาถึงจะต้องเข้ารับการกักตัวที่โรงแรม AQ เป็นเวลา 5 คืน พร้อมกับตรวจ RT-PCR อีกหนึ่งครั้งก่อนจะเดินทางต่อภายในประเทศได้

Q: แล้วคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่หรือไม่?

A: สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของคนไทย จะต้องศึกษาข้อมูลของประเทศปลายทางว่ายังจะต้องตรวจหาเชื้อหรือไม่ ข้อมูลล่าสุด (วันที่ 1 พฤษภาคม 2022) ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทาง เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ยังคงต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR (หรือ ATK แบบออกใบรับรองโดยแพทย์) ก่อนเดินทาง แต่เมื่อเดินทางถึงไม่ต้องตรวจหาเชื้ออีก อย่างไรก็ตามก่อนเดินทางเราควรศึกษามาตรการของประเทศปลายทางก่อน เนื่องจากมาตรการเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

Q: มาตรการในประเทศหลังวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ มีอะไรที่ผ่อนคลายเพิ่มบ้าง?

A: ศบค. ปรับระดับสีของทุกจังหวัดทั่วประเทศเหลือเพียง 2 สี คือพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) โดยทุกจังหวัดสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ถึงเวลา 24:00 น. สถานบริการที่เป็นผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถปรับการบริการให้เป็นแบบร้านอาหาร และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 

สำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวลงเหลือ 5 วัน และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยสังเกตอาการด้วยตนเองอีก 5 วัน และหมั่นตรวจหาเชื้อด้วย ATK อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาดังกล่าว

Q: ใกล้เปิดเทอมแล้ว มาตรการผ่อนคลายจะช่วยให้นักเรียนกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติหรือยัง?

A: กระทรวงศึกษาธิการ และ ศบค. เห็นชอบให้มีการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยสถานศึกษาให้ประเมินความพร้อมผ่านระบบ TSC+ และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อยครั้ง และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK เมื่อมีอาการหรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หากพบว่ามีนักเรียน หรือบุคลากรในโรงเรียนติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะต้องปฏิบัติตามมาตรการ 5+5 (กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน) 

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังขอความร่วมมือให้นักเรียนอายุ 12-17 ปีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ก่อนเปิดภาคเรียน ส่วนนักเรียนที่อายุ 5-11 ปีให้เข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเปิดภาคเรียนตามความสมัครใจของผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งการที่นักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน และเข็มกระตุ้นก่อนเปิดภาคเรียน จะช่วยลดอาการป่วยหนัก และการติดเชื้อได้ ช่วยให้นักเรียนสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้อย่างมั่นใจ และผู้ปกครองก็จะสบายใจที่บุตรหลานจะมีโอกาสติดเชื้อหรือป่วยจากโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

Q: แล้วตอนนี้เชื้อโควิด-19 ในไทยเป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือยัง?

A: นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อวันของไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3 ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ อัตราการเสียชีวิตต่อวันจะต้องต่ำกว่า 0.1 ดังนั้นปัจจุบันโควิด-19 ยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่นตามคำจำกัดความของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันจะต้องน้อยกว่า 0.1 แล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดย พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนทั้งประเทศจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 60% ขึ้นไป ถึงจะสามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามแผนการเปลี่ยนผ่านเชื้อโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นได้

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงโรคติดต่อที่แพร่ระบาดตามฤดูกาล เป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และรักษาหายได้หากได้รับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที โรคประจำถิ่นในปัจจุบันที่เรามักคุ้นเคยได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และเอดส์

ที่มา:

https://www.bbc.com/thai/thailand-61185890

https://www.bangkokbiznews.com/social/1000538

https://www.bangkokbiznews.com/social/1001551

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31751


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com