ถอดบทเรียนจากฟิลิปปินส์ ‘กระตุ้นอารมณ์-ปลุกเร้าความรู้สึก’กลยุทธ์ปั่นข่าวลวงทางการเมือง

บทความ-รายงานพิเศษ

21 พ.ย. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) จัดเสวนา Cofact Live Talk Special บทเรียนการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ ข้อมูลข่าวสารและข้อมูลลวงโดย กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนโคแฟคที่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในเวทีที่เป็นความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภา หรือพรรคการเมืองในภูมิภาคเอเชีย (Council of Asian Liberals and Democrats (CALD)

กุลชาดา เล่าว่า เวทีนี้เป็นการจัดประชุมสามัญประจำปี รวมถึงมีการหารือในระดับคณะกรรมการบริหารเพื่อแสวงหาความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการพัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในปีนี้ที่ประชุมให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้าน ข้อมูลลวง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่เพิ่งผ่านช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีมาไม่นานนัก และฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรืออำนาจนิยมได้รับชัยชนะ นำมาสู่คำถามและการตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้สงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้งอย่างไร

ประเด็นที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม นักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมและสื่อมวลชนรู้สึกเจ็บช้ำมาก ก็คือเรื่องของการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก ที่ประชุมได้ถกกันมากว่ามีปัจจัยอะไรทำให้ฝ่ายอำนาจนิยม หรือฝ่ายที่สนับสนุนบงบง มาร์กอส บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประสบความสำเร็จในการบิดเบือนประวัติศาสตร์  แม้เรื่องที่บิดเบือนอย่างชัดเจน อย่าไปคิดว่าคนจะไม่เชื่อ เพราะวิธีการเล่าเรื่องที่โดนใจคน ทำให้ข้อเท็จจริงกลายเป็นเรื่องรอง

บทเรียนสำคัญทำให้ผู้ที่ต่อสู้กับข่าวลวงต้องตระหนัก คือเวลาที่พวกเขาทำ Fact Check (ตรวจสอบข้อเท็จจริง) ออกไป พวกเขามักเน้นความสำคัญของเรื่องข้อเท็จจริงมากเกินไป ซึ่งคนฟิลิปปินส์การศึกษาก็มีหลายระดับไม่ได้ต่างจากบ้านเรา ทำอย่างไรที่จะให้ข้อเท็จจริงเข้าใจง่าย และถูกจริตคนรับสารในวงกว้างด้วย กุลชาดา กล่าว

บทเรียนประการต่อมา ทำไมสังคมฟิลิปปินส์จึงมีช่องว่างในการรับรู้ประวัติศาสตร์มากขนาดนั้นโดยในอดีตซึ่งฟิลิปปินส์ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส มีการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดผู้เห็นต่างอีกทั้งมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร เรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่มีอยู่แล้วแต่คนจำนวนมากกลับไปเชื่อชุดข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุน มาร์กอสจูเนียร์ (บงบง มาร์กอส) อย่างสนิทใจ

จากสิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การศึกษาและพบว่า เรื่องราวของฝ่ายผู้สนับสนุนมาร์กอสจูเนียร์ มีการสร้างชุดข้อมูลที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและความคาดหวังของชาวฟิลิปปินส์ (Aspirational troves)” เช่น มีความพยายามเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จากยุคใต้อำนาจจอมเผด็จการเป็นยุคทองของการพัฒนา เป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองมีกฎระเบียบ ประชาชนมีวินัย สังคมสงบสุข เมื่อเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันที่สังคมฟิลิปปินส์ วุ่นวาย ไร้ระเบียบ และตกอยู่ในสภาพย่ำแย่จากปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็ทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเห็นว่าถ้าอยากได้ยุคแห่งความรุ่งเรืองกลับมาต้องเลือก บงบง มาร์กอส 

ถึงกระนั้น สำหรับฝ่ายที่ต้องการหักล้างข่าวลวงเองก็มีความท้าทายและข้อพึงระวัง คือจะทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็นการซ้ำเติมให้สังคมแตกแยกมากขึ้น แต่เป็นการสร้างพื้นที่แสวงหาความจริงร่วมโดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ที่ต้องขยายวงไปถึงการถกเถียงในระดับสาธารณะไม่ใช่ทำกันเพียงในวงเล็กๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนว่าประวัติศาสตร์นั้นส่งผ่านไปไม่ถึงคนรุ่นใหม่ 

กุลชาดา เล่าต่อไปว่า ในประเด็นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สำหรับฟิลิปปินส์ถือว่าตกต่ำมาตั้งแต่ยุคสมัยของ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไป เนื่องจากมีการใช้ทั้งกฎหมายและการคุกคามหลายรูปแบบจัดการกับสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อาทิ สำนักข่าว Rappler ถูกแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติในกิจการสื่อ 

ประกอบกับสื่อฟิลิปปินส์ซึ่งไม่ต่างจากสื่อไทย คือมีการ แบ่งขั้ว (Polarized)” และเห็นได้ชัดในยุคที่ ดูแตร์เต ขึ้นสู่อำนาจ จึงส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของสื่อในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นข้อจำกัดในความร่วมมือของสื่อเพื่อค้นหาความจริงร่วมหรือต่อสู้กับข่าวลวง หรือขาดฉันทามติที่จะทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามภาคประชาสังคม และนักวิชาการวารสารศาสตร์ได้พยายามทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อสู้กับข่าวลวงช่วงเลือกตั้งโดยดึงเอาสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ในที่ประชุม มีข้อสังเกตที่ดีมากๆ ว่าการจะสร้างแนวร่วมต่อต้านข่างลวง อะไรคือสิ่งที่ควรทำและควรเลี่ยง แนวร่วมควรจะมีลักษณะองค์ประกอบอย่างไร เช่น ต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แล้วก็ควรจะมีกติกาข้อตกลงกันว่าประเด็นการเมืองประเด็นไหนในการเลือกตั้งควรจะทำ โดยหลักการของการทำ Fact Check ทั่วไป คือไม่ Fact Check เรื่องส่วนตัว แต่เน้นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ และ ไม่ตรวจสอบเรื่องที่เป็น Opinion (ความคิดเห็น) แต่ที่มากไปกว่านั้น การ Fact Check ไม่ว่าสื่อไหนจะทำ หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร การตรวจสอบข้อมูลลวงทุกเรื่องต้องผ่านการคัดกรองหลายชั้นว่าได้มาตรฐานจริงๆ หรือไม่ เพราะว่าถ้าเราทำอะไรออกไปที่ไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดข้อครหา และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแนวร่วม  และเขาก็ยอมรับว่า Fact Check ไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมด ยังมีแนวทางอื่นที่ต้องทำ เพื่อสร้างแนวร่วมเพิ่มขึ้น กุลชาดา ระบุ

ในเวทีนี้มีข้อคิดที่น่าสนใจ อาทิ ยิ่งหักล้างได้เร็วยิ่งมีโอกาสสกัดกั้นข่าวลวงได้มาก เช่น มีกรณีศึกษาว่าเมื่อข่าวลวงเกิดขึ้นแล้วมีการชี้แจงข้อเท็จจริงได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แม้หลังจากนั้นข่าวลวงยังอยู่แต่การส่งต่อก็น้อยลง อย่าพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเดียว ยังมีช่องทางอื่นๆ ในการเผยแพร่ข้อเท็จจริง ตลอดจนการไปให้ถึงผู้สร้างเนื้อหา (Content Creator) เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวงประชุม คือปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของข้อมูลลวงในแต่ละประเทศไม่ได้แตกต่างกันมาก อาทิ การเมืองแบบแบ่งขั้ว การเติบโตขึ้นของฝ่ายอำนาจนิยม สภาพเศรษฐกิจหรือสังคมที่แย่ลง ตลอดจนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นจนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้รับความสนใจมากกว่าสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประชาชนใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันโดยน้อยลง ข้อมูลลวงจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สังคมที่แบ่งแยกอยู่แล้ว ยิ่งร้าวลึกขึ้น 

ในกรณีของสังคมไทย กุลชาดา มองว่า สถานการณ์การเมืองแบ่งขั้วดำเนินมายาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่สื่อก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและไม่มีฉันทามติร่วมกันในการค้นหาความจริงร่วม ปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ที่หมายถึงแต่ละฝ่ายจะได้ยินแต่เสียงหรือเนื้อหาซ้ำๆ แบบเดียวกันจึงยังคงดำเนินต่อไป เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ใหญ่และเป็นกระแสหลัก (Mainstream) มากพอที่จะหักล้างได้ จึงเป็นจังหวะดีที่จะได้นำบทเรียนจากฟิลิปปินส์มาใช้กับการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

ในภาพความเป็นจริง การต่อสู้กันทางการเมืองเราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามต่างก็ใช้สงครามข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) โดยใช้ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแม้แต่การสร้างข้อมูลเท็จขึ้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่และทำให้ประชาชนมองไม่เห็นว่าจะเชื่อใครดี ดังนั้นบทบาทของสื่อมวลชนจึงยังสำคัญในการสร้างความไว้วางใจกับสังคม หรือเป็นผู้ถือคบไฟส่องความจริง 

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความไว้วางใจต่อสื่อที่ทำในระดับสากลของหลายสำนัก พบว่า อย่างน้อยสื่อในประเทศไทยยังพอได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่าสื่อในอีกหลายประเทศ แต่ไม่ใด้หมายความว่าเราไม่มีปัญหา ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาสื่อได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ในการต่อสู้กับข่าวลวงหรือการค้นหาความจริงร่วม คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีทื่สื่อจะได้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเรียกความไว้วางใจจากสังคมกลับคืน

และคิดว่าโคแฟคอยู่ในสถานะที่จะเป็นตัวตั้งต้นที่ดี ในการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนด้วย เราต้องการจะสร้างพื้นที่การสื่อสารทางการเมืองที่มันปลอดภัย Balance (สมดุล) และสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ประชาชนอย่างน้อยไม่ได้ใช้อารมณ์ในการตัดสิน แต่นำเหตุผลข้อเท็จจริงมาคุยกันมากขึ้น กุลชาดา กล่าว 

ชุติกาญจน์ สุขมงคลไชย Centre for Humanitarian Dialogue (HD) ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า การต่อสู้กับข้อมูลลวงเปรียบเหมือนการต่อกรกับสิ่งที่ใหญ่มากซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้ฟิลิปปินส์จะมีทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมเป็นตัวนำ แต่ความร่วมมือเช่นนี้ ก็ยังไม่เพียงพอ อาจเป็นเพราะยังขาดความเชื่อมโยงในการสร้างความร่วมมือไปถึงระดับแพลตฟอร์ม หรือรวมไปถึง ระหว่างพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า อีกฝ่ายหนึ่งก็วางแผนเตรียมการมายาวนาน

โดยพรรคการเมืองที่ชู บงบง มาร์กอส เป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ มีการเตรียมตัวกันมาถึง 2 สมัยเลือกตั้ง ซึ่งในเวทีประชุมครั้งนี้มีการกล่าวถึงคำว่า ความจริงทางเลือก (Alternative Reality)” หมายถึงการสร้างข้อมูลชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตระกูลมาร์กอสในอีกรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่ได้รับรู้กันโดยทั่วไป ผ่านปฏิบัติการทางไซเบอร์ลงไปถึงระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะมุ่งเป้าไปที่ คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter)” ที่เกิดหรือเติบโตไม่ทันรับรู้ ประวัติศาสตร์ความบอบช้ำ ที่คนรุ่นก่อนหน้าเคยเผชิญ

ทางค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย อันนี้เป็นการวิเคราะห์ตัวเองระหว่างพวกเขา อาจจะเป็นเพราะว่าทางเขาต้องการอยู่บน Fact Based (ยึดข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง) มากเกินไป สิ่งที่เขาสื่อสารกับสาธารณะมันไม่ Compelling Enough (น่าสนใจพอ) ไม่โดนใจ ไม่ดึงดูดให้คนหันมาฟัง แล้วมัน Heavy (หนัก) เกินไป คือมันแน่นด้วยข้อมูล แต่กับอีกฝั่งที่ใช้วิธีการปลุกเร้าอารมณ์ให้คนมีความรู้สึกร่วมกับข้อความหรือสารที่เขาต้องการจะสื่อสาร ก็อาจจะเป็นหนึ่งว่าทำไมอาจจะยังไม่เพียงพอ ชุติกาญจน์ ระบุ

กลับมาที่ประเทศไทย ชุติกาญจน์ มองว่า สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากฟิลิปปินส์ คือมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ฉบับทางการเป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีแหล่งข้อมูลอื่นๆ ให้ได้สืบค้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนแต่ละช่วงวัยหรือแต่ละอุดมการณ์ทางการเมืองสามารถหาฉันทามติ ว่าสิ่งเหล่านี้คือ ความจริงร่วมทางประวัติศาสตร์ ที่แต่ละกลุ่มฝ่ายเข้าใจและยอมรับร่วมกัน เพื่อเป็นการหาทางออกให้สังคมสามารถปรองดองสมานฉันท์ และเคลื่อนที่ก้าวข้ามความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ทางการเมือง ต่อไปได้

ในวงประชุมยังยอมรับในข้อจำกัดว่า “เราไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทุกอย่าง เพราะเราอยู่ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนเป็นจำนวนมากจึงต้องมีหลัก ในการคัดกรองว่าจะตรวจสอบในเรื่องใดบ้าง” เช่น เนื้อหานั้นมีผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมเพียงใด หรือเนื้อหานั้นสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตราย (Harm) ได้หรือไม่ เป็นต้น แต่อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ข้อมูลบิดเบือนทางการเมือง (Political Disinformation) มีลักษณะแพทเทิร์นที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ 

เช่น มีการสร้างข่าวข้อครหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหรือการทุจริตเพื่อโจมตีทางการเมือง การใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) การสร้างข่าวทำลายความน่าเชื่อถือ (Discredit) ในทางส่วนบุคคล การบิดเบือนข้อมูลกระบวนการในการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเข้าใจผิดในสังคม ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูบริบทของไทยว่ามีลักษณะอย่างไรเพื่อเตรียมรับมือได้ ทั้งนี้ แม้ข้อมูลลวงจะไม่หายไปจากโลกออนไลน์ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือทำให้ข้อมูลเหล่านั้นไหลเวียน (Circulate) ได้ช้าลงหรือน้อยลง

“การทำความเข้าใจการตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันหลายๆ ฝ่ายเพื่อสร้างWhole-of-Society Approach(แนวทางการบูรณาการการมีส่วนร่วมของทั้งสังคม) ว่าสังคมนี้ต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ มันต้องการ Commitment(พันธกรณี) ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครทางการเมือง กกต. เองด้วยซ้ำไป สื่อหรือภาคประชาสังคม แล้วก็ประชาชน คิดว่าต้องเป็นการขยับตัวพร้อมกันของสังคม เพราะว่าแม้ว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึง Political Disinformation มันอาจจะเป็นสิ่งที่เป็น Information Operation (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ กระทำกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อุดมการณ์ทางใดทางหนึ่ง แต่เหนือไปกว่านั้นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก มันก็ยังมีในเรื่องของ Disinformation(ข้อมูลบิดเบือน) ที่เป็น Foreign Interference (การแทรกแซงจากต่างประเทศ) ซึ่งมันเป็นปัญหาที่หนักยิ่งไปกว่าสิ่งนี้ที่เรากำลังเผชิญอยู่ หรือจะเผชิญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ก็เลยคิดว่ามันจำเป็นที่เราต้องหาแนวทางหรือข้อตกลงร่วมกันเสียแต่ตอนนี้เพราะมันยังมี Opportunity (โอกาส) อยู่ในนี้ คือเรายังไม่ถึงจุดที่เราเห็น Disinformationทุกหย่อมหญ้าหรือทุกระดับของสังคมมากเท่ากับฟิลิปปินส์ จึงคิดว่าเรายังอยู่ในจุดที่เราสามารถ Prevent (ป้องกัน) หรือ Mitigate (ทำให้เบาลง) ไม่ให้มัน Escalate(บานปลาย) ไปมากกว่านี้ได้” ชุติกาญจน์ กล่าว

อนึ่ง ในช่วงท้าย ผู้ร่วมเสวนายังเล่าถึงประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในการประชุมที่ฟิลิปปินส์ เช่น แนวคิดการออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต้องยืนยันตัวตน ระหว่างการป้องกันผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลโดยมีเจตนาร้ายกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มควรรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออก กับความรับผิดชอบที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ใช้งานโดยเฉพาะที่ไม่แสดงตัวตนสร้างข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้มีความอ่อนไหวมาก แต่ก็อยากให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีแนวนโยบายที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริงต่อการจัดการเรื่องข้อมูลบิดเบือนทางการเมือง ที่ซี่งสิ่งเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกตั้ง!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-