ทำความเข้าใจเงื่อนไขถ้า #โควิด19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น COFACT Special Report #16

บทความ

English Summary

Thailand and many countries across the globe are preparing to live with COVID-19. Although many countries are facing record-breaking new daily cases, but number of hospitalizations and deaths are lower than the Delta wave last year. Some scientists and government officials believe the Omicron variant provides less severity of symptoms, especially among vaccinated people. Therefore, some countries, especially in Europe, the Americas, Australia, New Zealand, and parts of Asia are in the transition to live with COVID-19 as an endemic disease. However, to live with COVID-19 safely, scientists still recommend people to be fully vaccinated or boosted, and still take precaution measures such as mask-wearing in crowded space because there are still some population who are unvaccinated.

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนธันวาคม 2021 ล่าสุดถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังทรงตัวที่ประมาณ 7-9 พันรายต่อวัน แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ายอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว) และคนไทยส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันจะยังสูง แต่ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยอาการหนักไม่มากเท่ากับการระบาดระลอกที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อมองว่าโควิด-19 กำลังเข้าสู่สถานะโรคประจำถิ่น หรือโรคที่อยู่กับเราในสภาพแวดล้อม และสามารถระบาดได้ทุกเมื่อ แต่ไม่มีความรุนแรง ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับไหว

โรคประจำถิ่นคืออะไร?

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงโรคติดต่อที่สามารถแพร่ระบาดได้เรื่อยๆ แต่ความรุนแรงของโรคจะไม่เท่ากับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) นั่นหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อของไทยมีมติพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หากสถานการณ์เข้าสู่เกณฑ์ดังต่อไปนี้:

  1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน
  2. อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% (หรือ ใน 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน)
  3. จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาลจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ
  4. ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 80%

หากเราดูสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันจะเห็นว่าเราเข้าใกล้หลักเกณฑ์ของโรคประจำถิ่นตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกำหนดไว้ ขาดแต่การฉีดวัคซีนของไทยยังไม่ถึง 80% (ประชากรได้รับการฉีดครบ 2 โดสตามข้อมูลของ ศบค. และ World In Data ณ วันที่ 3 กุมพาพันธ์ 2022 อยู่ที่ประมาณ 69-71%) ซึ่งกระทรวงสาธารณะสุขกำลังเร่งให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้เข้าเป้าการกำหนดโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้เร็วที่สุด

ทำไมโควิด-19 จึงกำลังเข้าใกล้ความเป็นโรคประจำถิ่น?

จากข้อมูลของ ศบค. พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตและครองเตียงในโรงพยาบาลต่ำกว่าช่วงระลอกของสายพันธุ์เดลต้าเมื่อช่วงกลางปี 2021 จากการสุ่มตรวจหาสารพันธุกรรมของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นมา ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าจริง ถึงแม้ตัวเชื้อจะแพร่กระจายได้เร็วกว่า จำนวนเชื้อมากกว่า แต่ความรุนแรงของอาการนั้นน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกัน เราก็สามารถที่จะอยู่กับโควิด-19 ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นลักษณะของโรคประจำถิ่น คือ เชื้อจะยังอยู่ไม่หายไปไหน แต่ความรุนแรงของเชื้อจะน้อย ระบบสาธารณสุขรองรับได้ มีวัคซีนและยารักษาที่มีประสิทธิภาพ 

ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่กำลังจะปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น: ไม่จริง

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง ต่างปรับมาตรการการรับมือกับโควิด-19 ในลักษณะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นทั้งสิ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70% สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ถึงจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่ระบบสาธารณสุขรองรับไหว อัตราการเสียชีวิตต่ำ ทำให้รัฐบาลในประเทศเหล่านี้เริ่มปรับมาตรการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น เช่น สหราชอาณาจักรเริ่มอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ยกเว้นในระบบขนส่งมวลชน ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน อนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และให้ร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการได้ตามปกติ ขณะที่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนก็อนุญาตให้ร้านค้า และกิจการ กิจกรรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะเข้าในพื้นที่ปิด เช่น อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า และยังเริ่มผ่อนปรนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบจำนวนโดส และมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ 2-3 วันก่อนเดินทาง

ไทยสวนประกาศองค์การอนามัยโลก ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น: ไม่จริง

หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป และเอเชียบางประเทศที่ระบุไปข้างต้น ล้วนปรับมาตรการให้ประชาชนอยู่กับโควิด เสมือนเป็นโรคประจำถิ่นเช่น ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ลักษณะของมาตรการที่ใช้เริ่มมีความใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค ถึงแม้ WHO จะยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับระดับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากสถานการณ์ในบางประเทศยังคงน่าเป็นห่วง บวกกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเอเชียตอนใต้ยังมีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไม่มาก แต่ WHO ก็ระบุว่า การตัดสินใจปรับมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่ก็ขอให้ผู้นำแต่ละประเทศค่อยๆ ปรับมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักหรือกลายพันธุ์ซ้ำ 

จีน และบางประเทศยังคงใช้มาตรการเข้มสกัดโควิด-19 แสดงว่าเรายังคงเรียกโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้: จริงบางส่วน

จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงใช้มาตรการ Zero Covid หรือการควบคุมไม่ให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ทันทีที่พบผู้ติดเชื้อ และการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ 14-21 วัน โดยจีนยังคงให้เหตุผลว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุแล้วว่าความรุนแรงของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดหนักที่สุดในตอนนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจีนยังคงใช้มาตรการนี้เนื่องจากระบบสาธารณสุขของจีนอาจจะรับมีอกับการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้ยากกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งผลการศึกษาของวัคซีนที่ใช้ในจีนยังไม่มีผลชัดเจนว่าสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ดีเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภท mRNA ที่ชาติตะวันตก และประเทศส่วนใหญ่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกใช้ หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก โอกาสที่ผู้เสียชีวิตและป่วยหนักก็อาจจะมากตามมา ถึงแม้วัคซีนทุกชนิดจะสามารถลดอาการป่วยหนักได้ก็ตาม 

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่แนะนำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศใช้มาตรการ Zero Covid เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะตามมา แต่ละประเทศควรหามาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการป่วยหนักและเสียชีวิต เช่น การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควบคู่ไปกับการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษา แทนที่จะปิดประเทศ หรือใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วด้วยธรรมชาติของตัวเชื้อโรค โดยเฉพาะในสายพันธุ์ใหม่ๆ เราไม่สามารถควบคุมไม่ให้แพร่กระจายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราก็ไม่ต้องสวมแมสก์อีกต่อไป: จริงบางส่วน

ในช่วงเดือนมกราคม 2022 เป็นต้นมา หลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเริ่มอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว อย่างไรก็ตามแทบจะทุกประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากากล้วนเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงทั้งสิ้น ดังนั้นหากพื้นที่ใดที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนสูงมากพอ โอกาสที่จะมีคนป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคก็จะน้อยลง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศเหล่านั้นมองว่าหน้ากากอนามัยอาจจะไม่จำเป็น ยกเว้นในพื้นที่แออัด เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีประชาชนหลากหลายกลุ่มใช้บริการพร้อมๆ กัน และพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล และ บ้านพักคนชรา 

หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีกต่อไป: ไม่จริง

องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดทั้งไทยและต่างประเทศระบุตรงกันว่า การฉีดวัคซีนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วที่สุด เพราะเมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน อัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตก็จะลดลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้

ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ได้จากการติดเชื้อโควิด-19 ดีกว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน: ไม่จริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระบุตรงกันว่า ภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อตามธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อตามธรรมชาติแต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน เมื่อหายดีแล้วก็ควรรับการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดว่า ภูมิที่ได้จากธรรมชาติจะป้องกันการติดเชื้อได้นานเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน


ที่มา:

https://www.sanook.com/news/8504074/

https://www.sanook.com/news/8509614/

https://www.thairath.co.th/news/local/2299270

https://www.bangkokbiznews.com/world/982486

https://www.reuters.com/world/china/no-exit-zero-covid-china-struggles-find-policy-off-ramp-2022-01-27/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com