24 พย. นี้ เสวนานักคิดดิจิทัล “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม”

Editors’ Picks

เวทีเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปลายปี 2564 ครั้งที่ 19
จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม

Year-End Digital Thinkers Forum #19
Beyond Misinformation to Metaverse : How to Define Reality


วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30-14.00 น.
ติดตามถ่ายทอดสดออนไลน์ ทางเพจ Cofact Thailand

08.30-09:00 น.
ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

09.00-09.15 น.
กล่าวเปิดงาน โดย
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
คุณมัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม โดย
คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

09.15 -09.45 น.
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลผู้ชนะการแข่งขันการระดมสมองเชิงลึก หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic
โดย ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย)
รางวัลที่ 1 ทีมบอท
รางวัลที่ 2 ทีม TU Validator
รางวัลที่ 3 ทีม New Gen Next FACTkathon
รางวัลชมเชย ทีม ออนซอนออนไลน์ และทีม Friends for Facts
รางวัล Popular Vote 2 รางวัล

09.45 -10.30 น.
ปาฐกถาพิเศษ “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม”
โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง By เจษฎ์”
ผู้ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปี 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล
ดำเนินรายการ โดย อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง
อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Q&A จากผู้แทนทีม
TU Validator
ออนซอนออนไลน์
Friends for Facts

10.30 -12.45 น.
เวทีเสวนานักคิดดิจิทัล
“จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์”
Beyond Fake News to Digital Literacy : Views From the Millennials to Boomers
คุณสุธิดา บัวคอม หัวหน้าทีมบอท
คุณไอรีณ ประสานแสง Next Gen Next FACTkathon
คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ. อสมท
คุณธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative (GNI)
ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย)
ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา Cofact (ประเทศไทย)
ดำเนินรายการ : คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์ ผู้ก่อตั้ง Media Oxygen
คุณชุติกาญจน์ สุขมงคลไชย Project Associate Centre for Humanitarian Dialogue (HD)

12.45-13.00 น.
กล่าวสรุปปิดงาน
โดย คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น และผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact (ประเทศไทย)

เปิดตัวแคมเปญ “ท่องโลกดิจิทัลให้ปลอดภัยจากนักหลอกลวงออนไลน์”

Editors’ Picks

Facebook from Meta ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โคแฟคประเทศไทย (Cofact โคแฟค) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA Thailand) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa Thailand) เปิดตัวแคมเปญ “ท่องโลกดิจิทัลให้ปลอดภัยจากนักหลอกลวงออนไลน์” ที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการหลอกลวงออนไลน์ประเภทต่างๆ กลโกงของพวกเขา และคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและสามารถท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

ท่านสามารถเยี่ยมชมไมโครไซต์ Staying Safe Online เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการหลอกลวงประเภทต่างๆ และวิธีท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย ได้ที่ https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/stayingsafeonline/ สำหรับภาษาไทย และ https://wethinkdigital.fb.com/th/en-th/stayingsafeonline/ สำหรับภาษาอังกฤษ

โดยทุกคนสามารถร่วมติดตามเพิ่มเติมได้ตลอดแคมเปญที่นี่ #WeThinkDigitalThailand #WeThinkDigital #โลกดิจิทัลที่ดีเริ่มที่เรา

In partnership with Chulalongkorn University, Cofact Thailand (Cofact โคแฟค), Electronic Transactions Development Agency (ETDA Thailand) and Digital Economy Promotion Agency (depa Thailand), Facebook from Meta has launched an online campaign called “Staying Safe Online from Scammer” to raise awareness about and provide tips against the most common kinds of online scams. This includes helping people understand the different kinds of scammers out their, their tricks, and ways to stay safe online.
Visit our Staying Safe Online website to learn more about the different types of scams out there and tips to stay safe, by visiting

https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/stayingsafeonline/ for Thai language and

https://wethinkdigital.fb.com/th/en-th/stayingsafeonline/ for English language.
You can also learn more about our wider education campaigns at We Think Digital Thailand. https://fb.watch/9jnhgIOMsv/

ถาม-ตอบ ข่าวจริง-ลวง #โควิด19 หลังเปิดประเทศ COFACT SPECIAL REPORT #7

บทความ

ตรวจสอบข้อมูลเท็จ-ลวง โควิด-19 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2021

English Summary

On November 1, Thai government opens its border to fully vaccinated travelers from more than 60 countries. While daily new positive cases in the country is still in the thousands, some Thai people worry that welcoming tourists would cause another new wave of infections. In this edition of Cofact Special Report, we answer most frequently asked questions regarding international tourists, vaccine misinformation, and how to live with COVID-19 and still be able to keep the economy running.

เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนที่ถึงแม้รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำที่ฉีดวัคซีนครบโดยไม่ต้องกักตัว แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงรู้สึกกังวลกับนโยบายดังกล่าว และในช่วงนี้เองที่หลายประเทศ รวมถึงไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็ก และเริ่มอนุมัติการใช้ยารักษาโควิด-19 ชนิดรับประทานกันแล้ว เราได้รวบรวมข้อมูลและคำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับโควิด-19 ล่าสุด เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และอยู่ร่วมกันกับเชื้อได้โดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

1) การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง?

คำตอบ: ข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ศบค. ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำที่ฉีดวัคซีนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึงที่ผลการตรวจ RT-PCR หลังจากเดินทางมาถึงไทยเป็นบวก แต่ก็ยังคงเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อตรวจพบแล้วสามารถส่งต่อจากโรงแรมที่พักไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลต่อได้ทันทีโดยที่ผู้ติดเชื้อไม่ได้ไปพบปะกับประชาชนทั่วไป ดังนั้นรัฐบาลจึงมองว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมายังไม่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) อย่างมีนัยสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวติดเชื้อน้อย ควบคุมได้ และถ้าสามารถควบคุมภายใต้มาตรการเช่นนี้ได้เช่นนี้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็ยังคงทำได้ต่อไป 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญก็ยังแสดงความวิตกกังวลต่อการนำเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามายังประเทศโดยนักท่องเที่ยว แต่รัฐบาลยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนครบแล้ว พร้อมกับมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบทั้งก่อนขึ้นเครื่อง 72 ชั่วโมง และทันทีที่เดินทางถึงไทยจะต้องได้รับการตรวจ RT-PCR ที่สนามบิน จากนั้นทุกคนจะต้องพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ หรือ AQ จนกว่าจะได้รับผลตรวจเป็นลบจึงจะสามารถออกมาเที่ยวหรือเดินทางต่อได้ (ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นมาตรการที่รัดกุมและมีความปลอดภัยสูง

2) การฉีดวัคซีนแบบไขว้ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าการฉีดชนิดเดียวกัน?

คำตอบ: ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานระดับโลกหลายแห่งเริ่มอนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนไขว้ได้แล้ว เช่นองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท Viral Vector คล้ายกับแอสตราเซเนกา สามารถฉีดสูตรไขว้ด้วยวัคซีนประเภท mRNA เช่นไฟเซอร์และโมเดอร์นาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันได้ ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็อนุญาตให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายคล้ายกับซิโนแวก สามารถฉีดวัคซีนจากไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิได้เช่นกัน นอกจากนี้ในยุโรปหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนไขว้สูตรแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ ซึ่งเป็นสูตรที่องค์การอาหารและยาในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) อนุมัติ และยังเป็นสูตรที่ในไทยใช้เช่นกัน

3) คนที่ฉีดวัคซีนก็ยังคงมีสิทธิ์ติดเชื้อได้ แล้วเราจะฉีดวัคซีนไปทำไม?

คำตอบ: เราควรฉีดวัคซีน เพราะวัตถุประสงค์หลักของการฉีดวัคซีน คือการ “ลดความเสี่ยง” ของอาการป่วยหนักที่เกิดจากเชื้อไวรัส ถึงแม้วัคซีนจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนเชื้อจะไม่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายไม่ติดเชื้อเลย แต่เมื่อเราติดเชื้อแล้ว ความรุนแรงของอาการจะไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

4) การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลายๆ เข็ม อาจทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง?

คำตอบ: เป็นข้อมูลบิดเบือน ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ออกมาระบุว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสังเกตว่า หากเราฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลายๆ เข็ม ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันอาจจะไปกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานหนักจนเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะต้องรอ 2-3 ปีกว่าเราจะทราบผล ดังนั้นเราควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามจำนวนโดสที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานด้านสาธารณะสุขแนะนำเท่านั้น

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเรามากที่สุด แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนตามสูตร (1 หรือ 2 เข็ม ขึ้นอยู่กับชนิด) และฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ระยะเวลา 3-6 เดือนหลังจากได้รับเข็มที่สอง จากนั้นให้รอไปก่อนจนกว่าจะมีการแนะนำจากแพทย์อีกครั้ง 

5) มะนาวกับขมิ้นมีคุณสมบัติป้องกันโควิด-19?

คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ระบุว่ามะนาวกับขมิ้นมีคุณสมบัติป้องกันโควิด-19 แต่วิตามินซีที่อยู่ในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม และมะนาวมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่แล้ว

6) สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ถึงแม้จะสวมหน้ากาก ล้างมือ หรือเว้นระยะห่างระหว่างกันก็ช่วยอะไรไม่ได้?

คำตอบ: ไม่ถูกต้อง เพราะการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล้างมือช่วยฆ่าเชื้อที่อาจจะติดมากับมือหลังจากไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งสามสิ่งนี้เรายังควรปฏิบัติอยู่เนื่องจากเราไม่รู้ว่ารอบตัวเรามีคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ และหากเราเป็นคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และได้รับเชื้อเข้าไปจำนวนมากก็มีสิทธิ์ที่จะป่วยจากโควิด-19 ได้ ถึงแม้จะฉีดวัคซีนมาแล้ว แต่โอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจะน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก

7) สิงคโปร์กำลังประสบกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ถึงแม้จะมีมาตรการที่เข้มแล้วก็ตาม?

คำตอบ: ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อ 3,397 ราย เสียชีวิต 12 ราย อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์เผยว่าผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รัฐบาลสิงคโปร์ย้ำว่าวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต และสถานพยาบาลยังคงรองรับผู้ป่วยได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงไม่กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลียแบบไม่ต้องกักตัวต่อไป โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าสิงคโปร์แบบไม่ต้องกักตัวจะต้องฉีดวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองครบจำนวนเข็ม และมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

8) วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าพลัส และ อัลฟาพลัสได้?

คำตอบ: วัคซีนปัจจุบันที่ใช้ในไทย ได้แก่ แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มีคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อ และอาการป่วยหนักจากโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้าพลัส และอัลฟาพลัส แต่ยังไม่มีตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักได้มากน้อยเท่าไร ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าลักษณะทางพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลต้าพลัส และอัลฟาพลัสนั้นคล้ายคลึงกันกับสายพันธุ์เดลต้า และอัลฟา แตกต่างกันเพียงแค่หนามโปรตีนหนึ่งจุด ดังนั้นวัคซีนปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ และปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าปกติ

9) หากเรายังไม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ เราก็ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้?

คำตอบ: ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในหลายประเทศเริ่มมองเห็นว่า โควิด-19 กำลังเปลี่ยนจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เป็นไปได้สูงที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคที่จะอยู่กับเราต่อไปในระยะยาวคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้จนกว่าจะมียารักษาที่มีประสิทธิภาพ การทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ณ จุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำได้ยาก หลายประเทศจึงเปลี่ยนวิธีเป็นการเร่งฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการทางสุขอนามัยส่วนบุคคล และการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง หรือ ATK ดีกว่าการปิดประเทศหรือหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปมากกว่า 

ที่มา:

https://www.nature.com/articles/d41586-021-01359-3

https://www.schengenvisainfo.com/news/travel-to-eu-which-eu-countries-accept-mixed-covid-19-vaccine-doses/

https://theconversation.com/whats-the-delta-plus-variant-and-can-it-escape-vaccines-an-expert-explains-163644

https://www.yalemedicine.org/news/5-things-to-know-delta-variant-covid

https://factcheckthailand.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9QY8PU

https://www.straitstimes.com/singapore/dine-in-pilot-to-allow-team-sports-for-fully-vaccinated-persons-from-nov-10

ชัวร์ก่อนแชร์ https://youtu.be/032IrZAyiIw 

ชัวร์ก่อนแชร์ https://youtu.be/dqQFWam8PP4 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

Alternative fact ,Anecdotal evidence , Bias, Circular reporting กับ COFACT VOCAB

Editors’ Picks

Cofact Vocab วันนี้มาแล้ว มารู้ 4 ศัพท์ใหม่กัน

Alternative fact  
ความจริงทางเลือก คือการเลือกเสนอความจริงเพียงบางส่วน หรือเลือกเสนอความจริงในมุมของตน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงที่ปรากฏ ความจริงทางเลือกจึงไม่ใช่ความจริงแต่เป็นความเท็จ

Anecdotal evidence  
หลักฐานโดยเรื่องเล่า เป็นเพียงหลักฐานในเชิงทฤษฎีและความคิดเห็น หรือเป็นเพียงแค่การสังเกต ไม่ใช่เป็นหลักฐานที่มาจากการวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะแตกต่างจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการสังเกตการสอบสวนหรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว

Bias
อคติ แนวโน้ม ความโน้มเอียง ความรู้สึกหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คิดไว้ล่วงหน้าหรือไม่มีเหตุผล ความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่เป็นศัตรูอย่างไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับกลุ่มสังคม

Circular reporting  
รูปแบบการรายงานข่าวแบบต่อๆ กันไป เช่น เมื่อแหล่งข่าว A รายงานข่าวที่เป็นเท็จออกไป แหล่งข่าว B ก็นำข่าวจากแหล่งข่าว A ไปเสนอข่าวต่อ จากนั้นก็จะมีแหล่งข่าวอื่นๆ ที่นำข่าวจากแหล่งข่าว B ไปเผยแพร่ต่อไปอีกเป็นทอดๆ จนข้อมูลเท็จแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วจากแหล่งข่าวหลายแห่ง 

การแพร่กระจายข้อมูลสิ่งแวดล้อมปลอม อันตรายกว่าที่คุณคิด Cofact Special Report #6

บทความ

Cofact Special Report #6

การแพร่กระจายข้อมูลสิ่งแวดล้อมปลอม อันตรายกว่าที่คุณคิด

English Summary
The effect of global warming and climate change is now visible everywhere we go. Scientists agree that the severe storms and floods we have seen in the past few years prove that we need to do something quick to save the Earth from getting warmer. However, many fossil fuel companies and heavy industries still believe that climate change are not the cause of the natural disasters that become more severe and more frequent. These companies, along those who benefit from them are driving to spread misinformation on climate change. We look into most common misinformation and the facts on climate change.


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่พบเห็นบ่อยขึ้นอย่างพายุ น้ำท่วม หรืออากาศหลงฤดู นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากบอกว่า สภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเนื่องมาจากอุณหภูมิของพื้นผิวโลกที่สูงขึ้น

บทวิเคราะห์ของ The Momentum เมื่อวันที่ 7 มกราคมปี 2020 ระบุว่า ประเทศไทยถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และจีน แต่ไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างสรุปตรงกันว่า ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้นานาประเทศจะพยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มของอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้ โดยข้อมูลจากจาก ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงกว่า 1.1 องศาเซลเซียส ถึงแม้ตัวเลขจะดูไม่สูง แต่ก็สามารถทำให้ระบบนิเวศเสียหายได้

ถึงแม้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสรุปตรงกัน แต่การเผยแพร่และกระจายข้อมูลข่าวสารเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศบนโลกออนไลน์ก็มีมากเช่นกัน จากรายงานของสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ผู้ให้บริการสื่อโซเชียลเช่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการกับเนื้อหาเท็จ และเนื้อหาลวงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเมื่อเทียบกับการจัดการกับเนื้อหาลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งๆ ที่ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายในชีวิตของประชาชนมากกว่า

รายงานของเอพียังบอกด้วยว่า ในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วมักจะเจอการแพร่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศจากนักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ยังคงเห็นความสำคัญของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ และบริษัทพลังงานที่ยังคงหารายได้จากแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก อย่างน้ำมันและถ่านหิน พวกเขาจะพยายามแสดงข้อมูลที่ระบุว่าการผลิตพลังงานสะอาด เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ หรือกังหันลมกลางทะเลเป็นตัวการทำลายฝูงนกท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนปราศจากแหล่งที่มาทางวิชาการที่อ้างอิงได้

ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เรามักพบเห็นบ่อยครั้ง

เว็บไซต์กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF รวบรวม 10 ความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เรามักเข้าใจผิดบ่อยครั้ง ได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเป็นเรื่องปกติ
    ความจริง: ปัจจุบันอุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา สาเหตุหลักมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่มากขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่จะลดลงแต่อย่างใด
  2. พืชล้วนต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นปริมาณ CO2 มากไม่ได้มีผลต่อพืช
    ความจริง: จริงอยู่ที่พืชล้วนต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศของพืชอย่างต่อเนื่องจนระบบนิเวศไม่สามารถดูดซึม CO2 ได้ทัน ส่งผลให้ปริมาณ CO2 คงค้างในชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก
  3. สภาวะโลกร้อนไม่มีอยู่จริง มิเช่นนั้นทำไมเรายังเจอกับอากาศหนาวอยู่?
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น แต่ยังส่งผลให้สภาวะอากาศแปรปรวน และเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น เช่นพายุฝนฟ้าคะนอง ไต้ฝุ่น และพายุหิมะที่เกิดบ่อยขึ้น และหลายครั้งพายุเหล่านี้กินเวลานานหลายวันกว่าจะสลายตัว
  4. สภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาไกลตัว อีกนานกว่าเราจะเห็นผลกระทบในชีวิตประจำวัน
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้นเกือบแตะ 1.5 องศาเซลเซียสในปัจจุบัน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ประชาชนในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหานี้แล้ว เช่น ประเทศในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ประสบกับภัยแล้ง ไม่สามารถทำมาหากินในบ้านเกิดตัวเองได้ จนต้องอพยพย้ายถิ่นไปยังยุโรป และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ปัญหาขาดแคลนพืชผลทางการเกษตรบางชนิด และปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจนเกิดการสู้รบกันในบางพื้นที่
  5. การผลิตพลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง
    ความจริง: หลายคนมีความเชื่อว่าการผลิตพลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง แต่ที่จริงแล้วการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสดงอาทิตย์ และพลังงานลมใช้ต้นทุนต่ำกว่าการผลิตพลังงานจากฟอสซิล (เช่น น้ำมัน และ ถ่านหิน) บางประเทศบริษัทพลังงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตพลังงานฟอสซิลได้ และจำเป็นต้องให้รัฐบาลอุ้มธุรกิจของพวกเขา เช่นสหภาพยุโรปที่รัฐบาลอังกฤษต้องอุ้มธุรกิจพลังงานฟอสซิลถึงกว่า 1 หมื่นล้านปอนด์ หรือกว่า 4.5 แสนล้านบาท
  6. ประชากรหมีขั้วโลกเพิ่มขึ้น
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายอย่างรวดเร็ว แผ่นน้ำแข็งเหล่านั้นเป็นแหล่งที่อยู่ของหมีขั้วโลก เมื่อพื้นที่อาศัยของพวกมันลดลง พวกมันก็ไม่สามารถหาอาหารได้เหมือนแต่ก่อน ทำให้ประชากรหมีขั้วโลกอดตายมากขึ้น WWF คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรหมีขั้วโลกจะลดลงจากปัจจุบันถึง 30%
  7. พลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ที่มีเมฆมาก หรือไม่มีลม
    ความจริง: เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถปรับรูปแบบการกักเก็บ และจ่ายพลังงานสะอาดได้ดีขึ้น ถึงแม้วันไหนที่ไม่มีแสงแดด หรือไม่มีลม ระบบการจ่ายพลังงานก็ยังคงทำงานได้ดี
  8. สัตว์สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
    ความจริง: จริงอยู่ที่ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน จะระบุว่าสัตว์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่ของสายพันธุ์ตนได้ แต่ผลการศึกษาของ WWF พบว่า ไม่ใช่สัตว์หรือพืชทุกชนิดที่สามารถปรับตัวได้ พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตบางประเภทไม่สามารถปรับตัวได้ตามธรรมชาติอย่างที่พวกมันควรจะเป็น
  9. การลดประชากรมนุษย์จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
    ความจริง: จริงอยู่ที่มนุษย์เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองตรงกันว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จะช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่การจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ไปสู่จุดนั้นได้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเมือง และภาคธุรกิจที่จะต้องมีความจริงจังและจริงใจต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองให้ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย
  10. จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
    ความจริง: รายงานจากเว็บไซต์ USA Today ระบุว่า ในปี 2018 จีนเป็นประเทศที่มีการผลิตพลังงานถ่านหิน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมพลังงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตามจีนกลับเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลก ต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสอง แต่ปริมาณการปล่อย CO2 สะสมของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีประมาณมากกว่าจีนหลายเท่า และนโยบายเรื่องการผลิตพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดยังน้อยและล่าช้ากว่าจีนมาก

ที่มา:
https://www.wwf.org.uk/updates/10-myths-about-climate-change


https://www.cbsnews.com/news/climate-change-myths-what-science-really-says/


https://www.usatoday.com/story/money/2019/07/14/china-us-countries-that-produce-the-most-co-2-emissions/39548763/

https://apnews.com/article/joe-biden-wildfires-climate-change-misinformation-climate-d5909c4ddfb13e82174dafcef4af94ff
https://themomentum.co/5-environmental-issue-in-thailand-in-2020/

เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

จากวัคซีนพลังแม่เหล็กถึงใบกระท่อมต้านโควิด…สรุป 5 ข่าวปลอมสุดป่วนในวิกฤติโรคระบาด

#Misinformation on Covid19 in 2021

จากวัคซีนพลังแม่เหล็กถึงใบกระท่อมต้านโควิด สรุป 5 ข่าวปลอมสุดป่วนในวิกฤติโรคระบาด

ผ่านมาแล้วกว่าปีครึ่งกับสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19” ซึ่งต้องบอกว่า “ศึกนี้ยืดเยื้อยาวนาน” โดยเฉพาะการมาของ “ตัวแปรเดลตา (Delta Variant)” หรือไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายเดลตา ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดียก่อนแพร่กระจายไปทั่วโลกแซงหน้าสายพันธุ์อื่นๆ ขณะที่วัคซีนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันไม่ว่ายี่ห้อใดๆ ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังจะเห็นทุกประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงมาก จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง

ถึงกระนั้น การฉีดวัคซีนย่อมดีกว่าไม่ฉีด เพราะแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านั้นยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการระบาดระลอกก่อนหน้าที่จะมีวัคซีนคือ เมื่อฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ระบบสาธารณสุขไม่ต้องรับภาระหนัก ทำให้ไม่ต้องล็อกดาวน์ปิดกิจการหรือสั่งห้ามทำกิจกรรมต่างๆ แต่หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางเป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ “ข่าวปลอม (Fake News)” ที่ระบาดเกลื่อนโลกออนไลน์จนทำให้ผู้คนลังเลใจไม่กล้าไปฉีดวัคซีน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.ฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสเสี่ยงตายเพราะโควิดสายพันธุ์เดลตามากกว่าไม่ฉีด กรณีนี้น่าจะเป็นการส่งต่อข้อมูลจริงแต่ภายหลังกลับคลาดเคลื่อน (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดเพี้ยน โดยคาดว่าน่าจะมาจากผลการศึกษาทั้งที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งพบว่า ทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนตามที่แต่ละชนิดกำหนด (ส่วนใหญ่คือ 2 เข็ม) และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน สามารถตรวจพบไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน

เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ Nature วารสารวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของอังกฤษ ในชื่อบทความ “How do vaccinated people spread Delta? What the science says” แต่บทความเดียวกันก็ได้กล่าวไว้ด้วยว่า แม้จะพบการติดเชื้อทั้งผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ปริมาณไวรัสในร่างกายของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะลดลงเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมถึงตรวจพบปริมาณไวรัสน้อยกว่าด้วย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยแพร่บทความ Delta Variant: What We Know About the Science (ฉบับปรับปรุงวันที่ 26 ส.ค. 2564) ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เห็นได้จากผู้ป่วยที่อาการหนักต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีประวัติยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19

นอกจากนี้ แม้ทั้งผู้ที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีนจะตรวจพบปริมาณไวรัสได้มากไม่ต่างกัน แต่ปริมาณไวรัสในร่างกายผู้ฉีดวัคซีนแล้วจะลดลงเร็วกว่า หมายถึงมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้น้อยลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วัคซีนขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการป้องกันการติดเชื้อ จึงแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วย เช่น สวมหน้ากากปิดปาก-จมูกในอาคารสถานที่ปิด

2.ฉีดวัคซีนแล้วกลายเป็นยอดมนุษย์มีพลังแม่เหล็ก ข่าวนี้เป็นที่ฮือฮากันมากเมื่อช่วงกลางปี 2564 กรณีมีการส่งต่อภาพและคลิปวีดีโอของคนที่อ้างว่าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ มาแล้วมีพลังวิเศษ ร่างกายแปรสภาพเป็นมนุษย์แม่เหล็กสามารถดูดโลหะติดไว้กับผิวหนังได้ หรือหนักไปกว่านั้นคือกลายเป็นเสียงร่ำลือว่ามีการแอบฝังไมโครชิปไว้ในร่างกายมนุษย์โดยผ่านทางวัคซีน ยิ่งทำให้ผู้คนหวาดกลัวและไม่กล้าไปฉีด

เชื่อว่าเรื่องนี้คงปั่นป่วนโลกออนไลน์ของชาวตะวันตกอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดที่บรรดาสำนักข่าวดังๆ ของประเทศแถบนั้นพร้อมใจกันออกมาเตือนว่าเป็นข่าวปลอมอย่าเชื่อและอย่าแชร์ อาทิ สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างถึงคำอธิบายของ ไมเคิล โคเอย์ (Michael Coey) นักฟิสิกส์จาก Trinity College Dublin มหาวิทยาลัยชั้นนำของไอร์แลนด์ ที่บอกว่า ถ้าอยากจะให้มีแม่เหล็กถาวรบริเวณที่ฉีดวัคซีน ต้องใช้โลหะเหล็ก 1 กรัม แถมยังกล่าวอย่างติดตลกด้วยว่า ภรรยาของตนก็เพิ่งไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 มา แต่ตนก็ไม่เห็นว่าภรรยาจะมีพลังแม่เหล็กสถิตอยู่ที่แขนแต่อย่างใด

สำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยย้ำว่า แม้วัคซีนบางชนิดจะมีส่วนผสมของอะลูมิเนียม แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาแม่เหล็กได้ และ เอริค ปาล์ม (Eric Palm) นักฟิสิกส์จาก Florida State University มหาวิทยาลัยในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อธิบายเพิ่มเติมว่า เข็มฉีดวัคซีนมีขนาดเล็กมากๆ ดังนั้นต่อให้ฉีดอนุภาคแม่เหล็กที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไป มันก็ยังน้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแม่เหล็กบนผิวหนังได้ ส่วนคลิปที่มีคนเอาเหรียญโลหะมาติดบนร่างกายแล้วอ้างว่ามีแม่เหล็กจากการฉีดวัคซีน จริงๆ มันคือการใช้น้ำมันหรือสารอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเหนียวหนืด

สำนักข่าว DW (Deutsche Welle) ประเทศเยอรมนี รายงานข่าวกรณีคลิปฉีดวัคซีนแล้วมีปฏิกิริยาแม่เหล็ก ว่าได้กลายเป็นกระแสที่แพร่หลายบนแอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งก็มีทั้งคนที่ทำคลิปเล่นอย่างสนุกสนาน แต่บ้างก็ถูกนำไปแชร์ต่อในเชิงสร้างข่าวปลอมทำให้คนไม่กล้าฉีดวัคซีน โดย มารี เธอเรส (Marie Theres) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวโมเลกุล อธิบายว่า วัคซีนเทคโนโลยี mRNA (เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา) สิ่งที่อยู่ในนั้นคือโมเลกุลมหภาคที่สอดคล้องกับโปรตีน และไม่มีโลหะไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ

สถานีโทรทัศน์ France 24 ประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่คำอธิบายของ ฌอง-มิเชล ดอนเญ (Jean-Michel Dogne) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ University of Namur ที่กล่าวว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการอักเสบที่ผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้มีการหลั่งไขมันหรือน้ำส่วนเกิน และนั่นทำให้ผิวหนังเหนียวกว่าปกติ และเมื่อนำสารแมกนีเซียมซัลเฟตซึ่งใช้ในแป้งฝุ่นไปทา เมื่อนั้นความเหนียวก็ถูกลบล้าง สิ่งที่อ้างว่าเป็นปฏิกิริยาแม่เหล็กก็หายไปด้วย ซึ่งทางคณะฯ พร้อมให้ผู้ที่กังวลกับปฏิกิริยาแม่เหล็กหลังการฉีดวัคซีน เข้ามาทำการทดสอบได้

3.บิล เกตส์ เตือนให้เลิกใช้วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด ข่าวปลอมนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Bill Gates calls for the withdrawal of all Covid-19 Vaccines” ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ มหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) ถูกอ้างถึงในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ผู้ที่มีเชื่อในลัทธิต่อต้านวัคซีน (Anti-Vaxx) ได้อ้างว่า บิล เกตส์ ต้องการควบคุมมนุษย์ผ่านการฝังไมโครชิปโดยวิธีการฉีดวัคซีน

ข่าวลือใหม่นี้ที่เริ่มปรากฎในเดือน ส.ค. 2564 อ้างถึงคำกล่าวของ บิล เกตส์ ที่ว่า “เราต้องการปกป้องผู้คนจากอันตราย แต่กลายเป็นไวรัสอันตรายน้อยกว่าที่คิดไว้ ในขณะที่วัคซีนอันตรายเกินกว่าที่จะจินตนาการได้” ซึ่งในเวลาต่อมา ทีมงานตรวจสอบข่าวปลอมของสำนักข่าวรอยเตอร์ อธิบายไว้ว่า ข่าวลือดังกล่าวมาจาก The Expose เว็บไซต์ที่เผยแพร่บทความแนวเสียดสีประชดประชัน

บทความต้นฉบับนั้นใช้ชื่อว่า “SATIRE – In an alternative universe Bill Gates has called for the withdrawal of all Covid-19 Vaccines” โดยกองบรรณาธิการของ The Expose อุตส่าห์เตือนไว้ในย่อหน้าแรกแล้วว่าเป็นเพียงเรื่องเสียดสีเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด โดยเป้าหมายของการเผยแพร่บทความดังกล่าวคือ ต้องการให้สังคมสนใจรายงานเชิงสืบสวนกรณีความสัมพันธ์ระหว่าง บิล เกตส์ กับโมเดอร์นา หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแพทย์ของอังกฤษ แต่กลับมีคนเชื่อไปแล้วว่า บิล เกตส์ เสนอให้เลิกใช้วัคซีนจริง

4.สื่อสหรัฐอเมริกายกวัคซีนจากประเทศจีนดีกว่าของชาติตนเอง สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเมืองระหว่างประเทศที่จีนกับสหรัฐฯ ขับเคี่ยวแย่งชิงการนำในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาด และในประเทศที่นักการเมืองและประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้ที่เชื่อมั่นและผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล เช่น กรณีของประเทศไทยที่มีกรณีของ “ซิโนแวค” วัคซีนสัญชาติจีน ที่เป็นหนึ่งในหัวข้อถกเถียงสำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย

หนึ่งในข้อมูลที่ถูกอ้างอิงในพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยกับวัคซีนโควิด-19 คือรายงานที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ The New York Times อันเป็นหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ อ้างว่าสื่อฉบับดังกล่าวจัดอันดับให้วัคซีนจีน 4 ยี่ห้อ คือ ซิโนฟาร์ม ซิโนแวค เคอซิง และแคนซิโน สูงกว่าวัคซีนของโลกตะวันตกทั้งแอสตราเซเนกา (อังกฤษ) ไฟเซอร์ (สหรัฐฯ) โมเดอร์นา (สหรัฐฯ) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (สหรัฐฯ) ในด้านความปลอดภัย

ศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม สำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทย รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยรายงานของ The New York Times ที่ถูกอ้างถึงนั้นคือบทความ “It’s Time to Trust China’s and Russia’s Vaccines” ซึ่งเขียนโดย อาชาล ประภาลา (Achal Prabhala) นักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขชาวอินเดีย และ ฉีหยกหลิง (Chee Yoke Ling) ทนายความสาธารณประโยชน์ชาวมาเลเซีย เผยแพร่วันที่ 5 ก.พ. 2564 บทความดังกล่าวเป็นบทวิเคราะห์ของผู้เขียนทั้ง 2 คน ไม่ได้รับรองโดยฝ่ายบรรณาธิการ และไม่ได้เป็นการรายงานโดยผู้สื่อข่าวของ The New York Times ซึ่งทาง The New York Times ได้ชี้แจงตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 แล้ว

อีกทั้งเมื่อเข้าไปดูในเนื้อหา จะพบว่า ไม่ได้มีการจัดอันดับวัคซีนแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของโลกตะวันตกถูกประเทศร่ำรวยกว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก และประเทศยากจนกว่าก็กำลังกังวลว่าจะไม่สามารถหาวัคซีนได้ วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในประเทศจีนและรัสเซียก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการเติมเต็มส่วนที่ขาด พร้อมกับอ้างผลการทดสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

5.ใบกระท่อมรักษาอาการป่วยจากไวรัสโควิด-19 ได้ เรียกว่าเป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับ “พืชกระท่อม” ตั้งแต่เมื่อทางการไทยเริ่มเปรยถึงนโยบาย “ปลดกระท่อมพ้นยาเสพติด” และเมื่อกฎหมายใหม่ประกาศใช้ในวันที่ 24 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา ก็จะเริ่มเห็นพ่อค้านำใบกระท่อมมาเปิดท้ายรถกระบะจอดขายกันริมถนน จากสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฝากเตือนผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีมีการแชร์ข้อมูลกันว่า “ใบกระท่อมรักษาโควิดได้” ไว้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 ระบุว่า “ยังไม่พบรายงานการวิจัยของฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ของใบกระท่อม” ดังนั้น ข่าวดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ จากการพบว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์โดยผู้ผลิตผลิณภัณฑ์จากกระท่อมว่าสามารถใช้ใบกระท่อมป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 แต่มีจดหมายจาก US-FDA เตือนเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้รับการพิจารณาด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างโฆษณาดังกล่าว ดังนั้น ถือว่าเป็นข่าวปลอม
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/d41586-021-02187-1 (How do vaccinated people spread Delta? What the science says)
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/delta-variant.html (Delta Variant: What We Know About the Science)
https://www.reuters.com/article/factcheck-coronavirus-vaccine-idUSL2N2N41KA (CORRECTION-Fact Check-‘Magnet test’ does not prove COVID-19 jabs contain metal or a microchip)
https://www.bbc.com/news/av/57207134 (Covid Vaccines: No, your jab isn’t magnetic)
https://www.dw.com/en/can-the-covid-vaccine-can-make-you-magnetic/av-57890465 (Can the COVID vaccine can make you magnetic?)
https://observers.france24.com/en/tv-shows/truth-or-fake/20210701-truth-or-fake-magnetism-after-a-covid-19-vaccine-in-belgium-an-expert-explains (Truth or Fake: Magnetism after a Covid-19 vaccine in Belgium? An expert explains)
https://www.reuter

ทำความรู้จัก “โมลนูพิราเวียร์” ยารักษาโควิด-19 Cofact Special Report #5

บทความ

Cofact Special Report #5

ทำความรู้จัก “โมลนูพิราเวียร์” ยารักษาโควิด-19 

English Summary

Merck & Co says its experimental COVID-19 pill “Molnupiravir” proves to reduce hospitalization in patients with mild or moderate symptoms. If approved by FDA, it will be the first oral pill to treat COVID-19 patients. Thai medical professionals are taking a close look at this pill and promise that Thailand will be among one of the first countries to receive the pills. We also take a closer look at how the pill works and answer the most frequently asked questions, especially if this pill can replace vaccine in the future.

เมื่อไม่นานมานี้ บ.เมิร์ค แอนด์ โค (Merck & Co) บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดลองทางคลินิกเฟส 3 ในการใช้ยา “โมลนูพิราเวียร์” ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และยังเป็นยารับประทานชนิดแรกที่ผ่านการทดสอบมาถึงเฟสที่ 3 และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อใช้ในการสาธารณสุขฉุกเฉินโดยคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ เรารวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาตัวนี้ และยาอื่นๆ ที่อาจจะช่วยพลิกสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดได้

โมลนูพิราเวียร์คืออะไร?

Molnupiravir เป็นยาชนิดเม็ดที่มีฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการจำลองแบบของเชื้อโควิด-19 ในร่างกายของผู้ใช้ยา หรือพูดง่ายๆ ยาตัวนี้จะพุ่งไปที่ตัวเชื้อ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตัวเชื้อให้ผิดเพี้ยน ทำให้พวกมันไม่สามารถแบ่งตัว และกระจายเชื้อในร่างกายของเราต่อได้ 

ประสิทธิภาพของโมลนูพิราเวียร์ดีแค่ไหน?

แรกเริ่มเดิมทียาตัวนี้ออกแบบมาเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นักวิจัยจึงนำตัวยานี้มาทดสอบในการรักษาโควิด-19 และผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ในการศึกษาเฟส 3 ยาตัวนี้สามารถลดการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลในผู้ติดเชื้อโควิดระดับน้อยถึงปานกลางได้ถึง 50% และไม่มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานยาตัวนี้ ขณะที่ผู้ที่รับประทานยาหลอก 55 คน จาก 377 คนมีอาการป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล และในจำนวน 8 คนเสียชีวิต ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากลงความเห็นว่าโมลนูพิราเวียมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้

เมื่อไรโมลนูพิราเวียร์จะได้รับการอนุมัติใช้รักษาโควิด-19 ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทเมิร์ค แอนด์ โค ผู้ผลิตและวิจัยยาตัวนี้ยื่นเอกสารให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ขึ้นทะเบียนยาเพื่อใช้ในการฉุกเฉินแล้ว หากยาตัวนี้ผ่านการรับรองโดย FDA ทาง อย.ไทยก็จะอนุมัติยาตัวนี้เพื่อใช้ในประเทศไทยต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนหลังจากที่ FDA สหรัฐฯ อนุมัติ

โมลนูพิราเวียร์ ต่างจาก ฟาวิพิราเวียร์ ที่ไทยใช้อยู่หรือไม่? ทำไมเราจำเป็นต้องใช้ยาตัวใหม่นี้?

ต่างกัน เพราะฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ไม่มีผลการทดลองทางคลินิกว่าสามารถยับยั้งแบบจำลองของเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีความสามารถในการลดความรุนแรงของโรคได้คล้ายกันกับโมลนูพิราเวียร์ ดังนั้นโมลนูพิราเวียร์จึงเป็นยารับประทานชนิดแรกที่สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้โดยตรง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์มีอะไรบ้าง?

ผลการทดลองในเฟส 3 ที่สหรัฐฯ พบว่าผู้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์มีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์เพียง 1.3% ผู้ผลิตยาระบุด้วยว่า ในช่วงการทดลองเบื้องต้นยาตัวนี้ยังไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์ ส่วนผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีอาการน้อยหรือปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวสามารถรับประทานยานี้ได้

ใครเหมาะสมกับยาตัวนี้ และควรรับประทานยาตัวนี้เมื่อไร?

ผู้ผลิตยาระบุว่า ระหว่างการทดสอบเฟส 3 ยาตัวนี้ให้ประสิทธิภาพดีที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือปานกลาง โดยผู้ที่ทราบว่าตนติดเชื้อโควิด-19 และเริ่มมีอาการควรรับประทานยานี้โดยทันที ต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน วันละ 8 เม็ด แบ่งเป็น เช้า 4 เม็ด และ เย็น 4 เม็ด อย่างไรก็ตามเราต้องรอผลการอนุมัติจาก FDA สหรัฐฯ และ อย. ไทยอีกครั้งว่าเมื่อยาตัวนี้นำมาใช้ในไทยจริงจะต้องใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม

ไทยจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เร็วที่สุดเมื่อไร? เราจะตกขบวนเหมือนวัคซีนไหม?

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์บอกว่า ไทยได้เจรจาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้วจำนวน 2 แสนคอร์ส โดยไทยได้จัดทำร่างสัญญาสั่งซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา และคาดว่าเราจะได้รับยาล็อตแรกภายในเดือนธันวาคมปีนี้ เหตุผลที่ไทยเราได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เร็วกว่าเมื่อช่วงที่เราสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีเพราะโรงพยาบาลในไทยหลายแห่งทำข้อตกลงร่วมมือในการศึกษาวิจัยกับบ.เมิร์ค แอนด์ โค ในการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว และเดิมทียาตัวนี้คิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ เมื่อผลการทดลองออกมาว่าสามารถรักษาโควิด-19 ได้ด้วย ทำให้ผลพลอยได้ตกมาอยู่กับไทยด้วย

ราคาของโมลนูพิราเวียร์แพงเกินไป?

ราคาขายกลางของโมลนูพิราเวียร์ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 24,000 บาทต่อคอร์ส แต่จากคำชี้แจงของนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตยาจะคิดราคาค่ายากับประเทศกำลังพัฒนาในราคาที่ถูกกว่าราคากลาง แต่จะเป็นราคาเท่าไรยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตยายังมีการว่าจ้างการผลิตยาในโรงงานอีก 5 แห่งในอินเดีย ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตยาถูกลง และราคายาก็จะถูกลงตามไปด้วย

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกยังจัดตั้งโครงการจัดซื้อยารักษาโควิด-19 ซึ่งรวมถึงโมลนูพิราเวียร์ในราคา 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 320 บาทต่อคอร์สเพื่อส่งต่อให้กับประเทศยากจนได้เข้าถึงยารักษาโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

โมลนูพิราเวียร์สามารถใช้แทนวัคซีนได้หรือไม่?

โมลนูพิราเวียร์ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อการ “รักษา” ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ซึ่งผู้ที่จะรับประทานยาตัวนี้ได้จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อยู่แล้ว ต่างจากวัคซีนที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อ “ป้องกัน” การติดเชื้อและการป่วยสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโควิด-19 มาก่อน วัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยในการรักษาและไม่สามารถทดแทนการฉีดวัคซีนได้

ที่มา:

https://www.cnbc.com/2021/10/11/covid-pill-merck-asks-fda-to-authorize-antiviral-for-emergency-use.html

https://www.reuters.com/world/india/indias-everest-organics-starts-making-molnupiravir-drug-ingredient-2021-10-12/

https://www.tnnthailand.com/news/covid19/94194/

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2209142

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2213276

https://www.sanook.com/news/8454078/

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com

YouTube แบนข้อมูลเท็จเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด” COFACT SPECIAL REPORT #4

บทความ

YouTube แบนข้อมูลเท็จเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด” 

COFACT SPECIAL REPORT #4

English Summary:

This week, YouTube announced the ban on all vaccine misinformation contents across the globe. This move aims to help users get the right information of the vaccines from scientific experts. YouTube says it removes more than 130,000 vaccine misinformation videos from its platform so far. This new policy affects some news outlets, including RT DE, the German-language news service of the Russian state media outlet, and many conservative creators who do not believe in the vaccine. Some of them believe this new policy violates their right to speak, but many experts say misinformation from YouTube does more harm than good. 

ยูทูบ (YouTube) เว็บไซต์โซเชียลวีดีโอยอดนิยมออกนโยบายใหม่ แบนชื่อบัญชีและเนื้อหาที่ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด เนื่องจากบริษัทได้รับรายงานว่ามีครีเอเตอร์หลายคนนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีน ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด และไม่ยอมไปฉีดวัคซีนเพราะได้รับข้อมูลเหล่านี้ โดยยูทูบจะใช้นโยบายนี้กับครีเอเตอร์ในทุกประเทศ ทั้งครีเอเตอร์อิสระ และครีเอเตอร์เจ้าใหญ่

ยูทูบระบุว่า คลิปวีดีโอที่มีเนื้อหาดังต่อไปนี้ จะได้รับคำแจ้งเตือนให้นำคลิปลงจากระบบ 

  1. วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติโดยองค์การอนามัยโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับวัคซีน
  2. วัคซีนไม่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและการป่วย
  3. วัคซีนทำให้เกิดอาการคล้ายผู้ป่วยออทิสติก
  4. วัคซีนทำให้เกิดมะเร็ง
  5. วัคซีนทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  6. มีการใส่ชิพตรวจจับตำแหน่งของผู้ได้รับวัคซีน หรืออุปกรณ์สื่อสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ยูทูบจะไม่แบนคลิปที่เป็นการสนทนาหรือให้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อโต้แย้งทฤษฎีต่างๆ หรือพูดถึงผลการศึกษาของวัคซีนแต่ละประเภท

ยูทูบยอมรับในคำแถลงการณ์ว่า แพลตฟอร์มของตนมีความสำคัญต่อประชาชน โดยเฉพาะในภาวะโรคระบาดในปัจจุบัน ประชาชนหลายคนสืบค้นวีดีโอที่เกี่ยวข้อกับโควิด-19ในยูทูบจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ผิด จนเกิดความวิตกกังวลและไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่ผ่านการรับรองแล้ว

ล่าสุดยูทูบชี้แจงกับสำนักข่าวบีบีซีว่า บริษัทได้ลบคลิปวีดีโอที่นำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 1.3 แสนคลิป ทั้งหมดเป็นคลิปที่มีการเผยแพร่ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน แต่ในคำชี้แจงไม่ได้ระบุว่ามีการลบคลิปวีดีโอจากครีเอเตอร์ประเทศใดไปแล้วบ้าง 

สำหรับครีเอเตอร์ที่โพสคลิปวีดีโอที่เข้าข่ายผิดนโยบายใหม่ของยูทูบจะได้รับคำแจ้งเตือนก่อนหนึ่งครั้ง ครีเอเตอร์จะต้องชี้แจงหากเนื้อหาที่ตนผลิตไม่ได้มีเจตนาทำผิด หรือไม่มีข้อมูลเท็จ แต่ถ้าหากไม่ชี้แจง หรือมีการกระทำผิดซ้ำ ระบบก็จะบล็อกบัญชีดังกล่าวทันที

“สื่อรัสเซียลั่น เตรียมแบนยูทูบ”

หลังจากยูทูบประกาศนโยบายใหม่ออกมา สื่อค่ายแรกๆ ที่ถูกยูทูบแบนเนื้อหาทันทีคือช่อง RT DE สื่อของรัฐบาลรัสเซียภาคภาษาเยอรมัน ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาด้อยค่าวัคซีนที่รัฐบาลเยอรมนีใช้ ยูทูบออกคำเตือน RT DE ให้หยุดเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวทันที พร้อมกับบล็อกการโพสวีดีโอชั่วคราว จนกว่า RT DE จะลบเนื้อหาดังกล่าวออกจากระบบ 

ผลจากนโยบายนี้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลรัสเซียเป็นอย่างมาก โดยโฆษกประจำเครมลินชี้แจงว่า ยูทูบไม่เคารพเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และรัฐบาลรัสเซียเรียกร้องให้กูเกิล (Google) บริษัทแม่ของยูทูบปลดบล็อกให้กับ RT DE ทันที มิเช่นนั้นรัฐบาลอาจปรับหรือแบนการประกอบกิจการของกูเกิลในรัสเซีย

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อในเยอรมนีระบุว่า ถึงแม้ RT DE จะเป็นสื่อของรัฐบาลรัสเซีย แต่เนื้อหาที่นำเสนอเป็นภาษาเยอรมัน และมีการประกอบกิจการในเยอรมนี การแบนบัญชีดังกล่าวเกิดขึ้นในเยอรมนี ที่สำคัญ RT DE ปฏิบัติตัวเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลรัสเซีย และนำเสนอเนื้อหาปลุกปั่น สร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับประชาชนในเยอรมนีอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้รัฐบาลรัสเซียมองเหตุผลการแบนบัญชี RT DE เป็นประเด็นทางการเมือง

ด้านโฆษกของรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า การตัดสินใจแบนบัญชี RT DE มาจากยูทูบ รัฐบาลเยอรมนีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด 

“เฟซบุ๊ก – ทวิตเตอร์ ออกมาตรการคล้ายกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”

ก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยอดนิยมทั้งทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ต่างออกมาตรการควบคุมเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อาทิ การใส่ตัวหนังสือกำกับบริเวณโพสที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโควิด-19 และแบนบัญชีที่นำเสนอข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้เนื้อหาเหล่านี้หมดไปจากแพลตฟอร์มได้ หลายครั้งเราจะเห็นการโพสเนื้อหาผ่านกลุ่มส่วนตัว หรือการแชร์ข้อความบนหน้าโปรไฟล์ส่วน หรือส่งหากันผ่านแอปพลิเคชั่นส่งข้อความ (อาทิ Messenger, Line, WhatsApp) ข้อความเท็จเหล่านี้มักถูกส่งต่อในกลุ่มเพื่อน และญาติของเจ้าของบัญชีนั้น จนนำไปสู่การเชื่อข้อมูลที่ผิด และสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็ไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับเจ้าของบัญชีเหล่านี้ได้ เนื่องจากหลายครั้งข้อความเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยแบบสาธารณะ

สำนักข่าว NPR ของสหรัฐฯ พบว่า ข้อความเท็จเกี่ยวกับวัคซีนมักสร้างขึ้นโดยกลุ่มบุคคลฝ่ายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มคลั่งลัทธิบางกลุ่มที่ไม่เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ พวกเขาจะนำเสนอเนื้อหาที่ลดคุณค่าของการศึกษาวิจัยวัคซีน และโน้มน้าวไม่ให้ประชาชนไปฉีดด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุผลด้านสุขภาพและสาธารณสุข หลังจากสื่อสังคมออนไลน์หลายแพลตฟอร์มเริ่มเอาจริงกับผู้สร้างเนื้อหาเหล่านี้ เช่นการเขียนกำกับว่าเป็นข้อมูลที่ขัดกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือให้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขก่อนตัดสินใจเชื่อ ทำให้ผู้สร้างเนื้อหาเท็จหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น เช่น Rumble หรือเว็บแชร์วีดีโอที่ไม่มีการกำกับดูแลเข้มงวด 

ดังนั้นคงเป็นเรื่องยากที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมจะสามารถลบเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับวัคซีน หรือโควิด-19 ไปได้ วิธีการที่เราทุกคนจะช่วยได้คือไม่หลงเชื่อข้อมูลที่ปราศจากแหล่งอ้างอิง ควรเช็คแหล่งที่มาหลายๆ แหล่งว่ารายงานข้อมูลตรงกันหรือไม่ หากไม่มั่นใจให้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศ และต่างประเทศ หากข้อมูลที่ได้ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานเหล่านี้ เราอาจสันนิษฐานก่อนได้ว่าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ อาจจะต้องค้นหาที่มาเพิ่มเติมก่อนที่จะปักใจเชื่อ หรือส่งต่อไปให้ผู้อื่น 

อ่านคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายแบนเนื้อหาเท็จที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของยูทูบเพิ่มเติมที่: https://blog.youtube/news-and-events/managing-harmful-vaccine-content-youtube/

ที่มา:

https://www.npr.org/2021/09/29/1041493544/youtube-vaccine-misinformation-ban

https://www.bbc.com/news/technology-58743252

https://www.aljazeera.com/news/2021/9/29/youtube-shuts-german-channels-of-russian-broadcaster-rt

https://www.reuters.com/technology/russia-threatens-youtube-block-after-rt-tvs-german-channels-are-deleted-2021-09-29/

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com

Post-truth VS. Primary source กับ Cofact Vocab

Editors’ Picks

Cofact Vocab วันนี้มาแล้ว มารู้ 2 ศัพท์ใหม่กัน

Post-truth
ไม่สนใจความจริง เป็นคำอธิบายที่สะท้อนภาพจากสถานการณ์ที่ความคิดเห็นของผู้คนในสังคมถูกหล่อหลอมจากความเชื่อส่วนบุคคลและความรู้สึก มากกว่าสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง

Primary source
ข้อมูลปฐมภูมิ คือสารสนเทศที่ได้มาจากต้นแหล่งโดยตรง หรือข้อมูลที่ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่จริง เช่น อัตชีวประวัติ ไดอารี่ จดหมาย บทสัมภาษณ์ สุนทรพจน์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ บทความในหนังสือพิมพ์ที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาของเหตุการณ์ ข้อมูลต้นฉบับ นวนิยาย ภาพวาด และงานศิลปะอื่น ๆ การสืบค้นข้อมูลปฐมภูมิจะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่ตรงตามความจริงยิ่งขึ้น