จากวัคซีนพลังแม่เหล็กถึงใบกระท่อมต้านโควิด…สรุป 5 ข่าวปลอมสุดป่วนในวิกฤติโรคระบาด

#Misinformation on Covid19 in 2021

จากวัคซีนพลังแม่เหล็กถึงใบกระท่อมต้านโควิด สรุป 5 ข่าวปลอมสุดป่วนในวิกฤติโรคระบาด

ผ่านมาแล้วกว่าปีครึ่งกับสถานการณ์โรคระบาด “โควิด-19” ซึ่งต้องบอกว่า “ศึกนี้ยืดเยื้อยาวนาน” โดยเฉพาะการมาของ “ตัวแปรเดลตา (Delta Variant)” หรือไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายเดลตา ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดียก่อนแพร่กระจายไปทั่วโลกแซงหน้าสายพันธุ์อื่นๆ ขณะที่วัคซีนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันไม่ว่ายี่ห้อใดๆ ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังจะเห็นทุกประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงมาก จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง

ถึงกระนั้น การฉีดวัคซีนย่อมดีกว่าไม่ฉีด เพราะแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านั้นยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากการระบาดระลอกก่อนหน้าที่จะมีวัคซีนคือ เมื่อฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ระบบสาธารณสุขไม่ต้องรับภาระหนัก ทำให้ไม่ต้องล็อกดาวน์ปิดกิจการหรือสั่งห้ามทำกิจกรรมต่างๆ แต่หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางเป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ “ข่าวปลอม (Fake News)” ที่ระบาดเกลื่อนโลกออนไลน์จนทำให้ผู้คนลังเลใจไม่กล้าไปฉีดวัคซีน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.ฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสเสี่ยงตายเพราะโควิดสายพันธุ์เดลตามากกว่าไม่ฉีด กรณีนี้น่าจะเป็นการส่งต่อข้อมูลจริงแต่ภายหลังกลับคลาดเคลื่อน (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดเพี้ยน โดยคาดว่าน่าจะมาจากผลการศึกษาทั้งที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งพบว่า ทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนตามที่แต่ละชนิดกำหนด (ส่วนใหญ่คือ 2 เข็ม) และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน สามารถตรวจพบไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน

เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ Nature วารสารวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของอังกฤษ ในชื่อบทความ “How do vaccinated people spread Delta? What the science says” แต่บทความเดียวกันก็ได้กล่าวไว้ด้วยว่า แม้จะพบการติดเชื้อทั้งผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ปริมาณไวรัสในร่างกายของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะลดลงเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมถึงตรวจพบปริมาณไวรัสน้อยกว่าด้วย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยแพร่บทความ Delta Variant: What We Know About the Science (ฉบับปรับปรุงวันที่ 26 ส.ค. 2564) ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เห็นได้จากผู้ป่วยที่อาการหนักต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีประวัติยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19

นอกจากนี้ แม้ทั้งผู้ที่ฉีดและไม่ฉีดวัคซีนจะตรวจพบปริมาณไวรัสได้มากไม่ต่างกัน แต่ปริมาณไวรัสในร่างกายผู้ฉีดวัคซีนแล้วจะลดลงเร็วกว่า หมายถึงมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้น้อยลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วัคซีนขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการป้องกันการติดเชื้อ จึงแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วย เช่น สวมหน้ากากปิดปาก-จมูกในอาคารสถานที่ปิด

2.ฉีดวัคซีนแล้วกลายเป็นยอดมนุษย์มีพลังแม่เหล็ก ข่าวนี้เป็นที่ฮือฮากันมากเมื่อช่วงกลางปี 2564 กรณีมีการส่งต่อภาพและคลิปวีดีโอของคนที่อ้างว่าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ มาแล้วมีพลังวิเศษ ร่างกายแปรสภาพเป็นมนุษย์แม่เหล็กสามารถดูดโลหะติดไว้กับผิวหนังได้ หรือหนักไปกว่านั้นคือกลายเป็นเสียงร่ำลือว่ามีการแอบฝังไมโครชิปไว้ในร่างกายมนุษย์โดยผ่านทางวัคซีน ยิ่งทำให้ผู้คนหวาดกลัวและไม่กล้าไปฉีด

เชื่อว่าเรื่องนี้คงปั่นป่วนโลกออนไลน์ของชาวตะวันตกอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดที่บรรดาสำนักข่าวดังๆ ของประเทศแถบนั้นพร้อมใจกันออกมาเตือนว่าเป็นข่าวปลอมอย่าเชื่อและอย่าแชร์ อาทิ สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างถึงคำอธิบายของ ไมเคิล โคเอย์ (Michael Coey) นักฟิสิกส์จาก Trinity College Dublin มหาวิทยาลัยชั้นนำของไอร์แลนด์ ที่บอกว่า ถ้าอยากจะให้มีแม่เหล็กถาวรบริเวณที่ฉีดวัคซีน ต้องใช้โลหะเหล็ก 1 กรัม แถมยังกล่าวอย่างติดตลกด้วยว่า ภรรยาของตนก็เพิ่งไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 มา แต่ตนก็ไม่เห็นว่าภรรยาจะมีพลังแม่เหล็กสถิตอยู่ที่แขนแต่อย่างใด

สำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยย้ำว่า แม้วัคซีนบางชนิดจะมีส่วนผสมของอะลูมิเนียม แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาแม่เหล็กได้ และ เอริค ปาล์ม (Eric Palm) นักฟิสิกส์จาก Florida State University มหาวิทยาลัยในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อธิบายเพิ่มเติมว่า เข็มฉีดวัคซีนมีขนาดเล็กมากๆ ดังนั้นต่อให้ฉีดอนุภาคแม่เหล็กที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไป มันก็ยังน้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแม่เหล็กบนผิวหนังได้ ส่วนคลิปที่มีคนเอาเหรียญโลหะมาติดบนร่างกายแล้วอ้างว่ามีแม่เหล็กจากการฉีดวัคซีน จริงๆ มันคือการใช้น้ำมันหรือสารอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเหนียวหนืด

สำนักข่าว DW (Deutsche Welle) ประเทศเยอรมนี รายงานข่าวกรณีคลิปฉีดวัคซีนแล้วมีปฏิกิริยาแม่เหล็ก ว่าได้กลายเป็นกระแสที่แพร่หลายบนแอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งก็มีทั้งคนที่ทำคลิปเล่นอย่างสนุกสนาน แต่บ้างก็ถูกนำไปแชร์ต่อในเชิงสร้างข่าวปลอมทำให้คนไม่กล้าฉีดวัคซีน โดย มารี เธอเรส (Marie Theres) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวโมเลกุล อธิบายว่า วัคซีนเทคโนโลยี mRNA (เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา) สิ่งที่อยู่ในนั้นคือโมเลกุลมหภาคที่สอดคล้องกับโปรตีน และไม่มีโลหะไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ

สถานีโทรทัศน์ France 24 ประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่คำอธิบายของ ฌอง-มิเชล ดอนเญ (Jean-Michel Dogne) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัชศาสตร์ University of Namur ที่กล่าวว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการอักเสบที่ผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้มีการหลั่งไขมันหรือน้ำส่วนเกิน และนั่นทำให้ผิวหนังเหนียวกว่าปกติ และเมื่อนำสารแมกนีเซียมซัลเฟตซึ่งใช้ในแป้งฝุ่นไปทา เมื่อนั้นความเหนียวก็ถูกลบล้าง สิ่งที่อ้างว่าเป็นปฏิกิริยาแม่เหล็กก็หายไปด้วย ซึ่งทางคณะฯ พร้อมให้ผู้ที่กังวลกับปฏิกิริยาแม่เหล็กหลังการฉีดวัคซีน เข้ามาทำการทดสอบได้

3.บิล เกตส์ เตือนให้เลิกใช้วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด ข่าวปลอมนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Bill Gates calls for the withdrawal of all Covid-19 Vaccines” ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ มหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) ถูกอ้างถึงในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ผู้ที่มีเชื่อในลัทธิต่อต้านวัคซีน (Anti-Vaxx) ได้อ้างว่า บิล เกตส์ ต้องการควบคุมมนุษย์ผ่านการฝังไมโครชิปโดยวิธีการฉีดวัคซีน

ข่าวลือใหม่นี้ที่เริ่มปรากฎในเดือน ส.ค. 2564 อ้างถึงคำกล่าวของ บิล เกตส์ ที่ว่า “เราต้องการปกป้องผู้คนจากอันตราย แต่กลายเป็นไวรัสอันตรายน้อยกว่าที่คิดไว้ ในขณะที่วัคซีนอันตรายเกินกว่าที่จะจินตนาการได้” ซึ่งในเวลาต่อมา ทีมงานตรวจสอบข่าวปลอมของสำนักข่าวรอยเตอร์ อธิบายไว้ว่า ข่าวลือดังกล่าวมาจาก The Expose เว็บไซต์ที่เผยแพร่บทความแนวเสียดสีประชดประชัน

บทความต้นฉบับนั้นใช้ชื่อว่า “SATIRE – In an alternative universe Bill Gates has called for the withdrawal of all Covid-19 Vaccines” โดยกองบรรณาธิการของ The Expose อุตส่าห์เตือนไว้ในย่อหน้าแรกแล้วว่าเป็นเพียงเรื่องเสียดสีเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด โดยเป้าหมายของการเผยแพร่บทความดังกล่าวคือ ต้องการให้สังคมสนใจรายงานเชิงสืบสวนกรณีความสัมพันธ์ระหว่าง บิล เกตส์ กับโมเดอร์นา หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแพทย์ของอังกฤษ แต่กลับมีคนเชื่อไปแล้วว่า บิล เกตส์ เสนอให้เลิกใช้วัคซีนจริง

4.สื่อสหรัฐอเมริกายกวัคซีนจากประเทศจีนดีกว่าของชาติตนเอง สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเมืองระหว่างประเทศที่จีนกับสหรัฐฯ ขับเคี่ยวแย่งชิงการนำในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาด และในประเทศที่นักการเมืองและประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้ที่เชื่อมั่นและผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล เช่น กรณีของประเทศไทยที่มีกรณีของ “ซิโนแวค” วัคซีนสัญชาติจีน ที่เป็นหนึ่งในหัวข้อถกเถียงสำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย

หนึ่งในข้อมูลที่ถูกอ้างอิงในพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยกับวัคซีนโควิด-19 คือรายงานที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ The New York Times อันเป็นหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ อ้างว่าสื่อฉบับดังกล่าวจัดอันดับให้วัคซีนจีน 4 ยี่ห้อ คือ ซิโนฟาร์ม ซิโนแวค เคอซิง และแคนซิโน สูงกว่าวัคซีนของโลกตะวันตกทั้งแอสตราเซเนกา (อังกฤษ) ไฟเซอร์ (สหรัฐฯ) โมเดอร์นา (สหรัฐฯ) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (สหรัฐฯ) ในด้านความปลอดภัย

ศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม สำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทย รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยรายงานของ The New York Times ที่ถูกอ้างถึงนั้นคือบทความ “It’s Time to Trust China’s and Russia’s Vaccines” ซึ่งเขียนโดย อาชาล ประภาลา (Achal Prabhala) นักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขชาวอินเดีย และ ฉีหยกหลิง (Chee Yoke Ling) ทนายความสาธารณประโยชน์ชาวมาเลเซีย เผยแพร่วันที่ 5 ก.พ. 2564 บทความดังกล่าวเป็นบทวิเคราะห์ของผู้เขียนทั้ง 2 คน ไม่ได้รับรองโดยฝ่ายบรรณาธิการ และไม่ได้เป็นการรายงานโดยผู้สื่อข่าวของ The New York Times ซึ่งทาง The New York Times ได้ชี้แจงตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 แล้ว

อีกทั้งเมื่อเข้าไปดูในเนื้อหา จะพบว่า ไม่ได้มีการจัดอันดับวัคซีนแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของโลกตะวันตกถูกประเทศร่ำรวยกว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก และประเทศยากจนกว่าก็กำลังกังวลว่าจะไม่สามารถหาวัคซีนได้ วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในประเทศจีนและรัสเซียก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการเติมเต็มส่วนที่ขาด พร้อมกับอ้างผลการทดสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

5.ใบกระท่อมรักษาอาการป่วยจากไวรัสโควิด-19 ได้ เรียกว่าเป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับ “พืชกระท่อม” ตั้งแต่เมื่อทางการไทยเริ่มเปรยถึงนโยบาย “ปลดกระท่อมพ้นยาเสพติด” และเมื่อกฎหมายใหม่ประกาศใช้ในวันที่ 24 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา ก็จะเริ่มเห็นพ่อค้านำใบกระท่อมมาเปิดท้ายรถกระบะจอดขายกันริมถนน จากสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฝากเตือนผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีมีการแชร์ข้อมูลกันว่า “ใบกระท่อมรักษาโควิดได้” ไว้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 ระบุว่า “ยังไม่พบรายงานการวิจัยของฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ของใบกระท่อม” ดังนั้น ข่าวดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ จากการพบว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์โดยผู้ผลิตผลิณภัณฑ์จากกระท่อมว่าสามารถใช้ใบกระท่อมป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 แต่มีจดหมายจาก US-FDA เตือนเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้รับการพิจารณาด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างโฆษณาดังกล่าว ดังนั้น ถือว่าเป็นข่าวปลอม
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/d41586-021-02187-1 (How do vaccinated people spread Delta? What the science says)
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/delta-variant.html (Delta Variant: What We Know About the Science)
https://www.reuters.com/article/factcheck-coronavirus-vaccine-idUSL2N2N41KA (CORRECTION-Fact Check-‘Magnet test’ does not prove COVID-19 jabs contain metal or a microchip)
https://www.bbc.com/news/av/57207134 (Covid Vaccines: No, your jab isn’t magnetic)
https://www.dw.com/en/can-the-covid-vaccine-can-make-you-magnetic/av-57890465 (Can the COVID vaccine can make you magnetic?)
https://observers.france24.com/en/tv-shows/truth-or-fake/20210701-truth-or-fake-magnetism-after-a-covid-19-vaccine-in-belgium-an-expert-explains (Truth or Fake: Magnetism after a Covid-19 vaccine in Belgium? An expert explains)
https://www.reuter