รัฐล้มเหลว-เศรษฐกิจล่มสลาย’ เหลียวมอง‘ศรีลังกา’อะไรพามาถึงจุดนี้?

Editors’ Picks

รายงานพิเศษ ข่าวนานาชาติ #01
Factual review on global news
เขียนโดย Zhang Taehun – Cofact contributor

สถานการณ์ประท้วงขับไล่รัฐบาลของชาวศรีลังกาที่ยาวนานมาหลายเดือนจนลุกลามไปถึงขั้นเหตุจลาจล การบุกสถานที่ราชการต่าง ๆรวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี และการหลบหนีออกนอกประเทศของ ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เมื่อวันพุธ (13 กค.) ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลกและสื่อสังคมออนไลน์ โดยในประเทศไทย

ทางโคแฟคได้สรุปสาเหตุหลักที่นำพาศรีลังกาเข้าสู่วิกฤตครั้งนี้ โดยนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ บทความและงานวิจัยของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งบทวิเคราะห์จากสำนักข่าวที่หลากหลายและมีความน่าเชื่อถือ พร้อมกับให้ข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยย่อเกี่ยวกับประเทศนี้

ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบว่าศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและอธิบายวาทกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาการกู้ยืมเงินและหนี้สินที่ท้วมท้นของรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งบางครั้งเป็นการตัดตอนข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนกลายเป็นชนวนหนึ่งของเหตุจลาจลในครั้งนี้

‘รัฐล้มเหลว-เศรษฐกิจล่มสลาย’ เหลียวมอง‘ศรีลังกา’อะไรพามาถึงจุดนี้?

รัฐล้มเหลว (Fail State)” เป็นคำที่ใช้เรียกสภาวะของประเทศที่กลไกของรัฐไม่สามารถควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้บริการสาธารณะที่จำเป็น ขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ ศรีลังกา อาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายรัฐล้มหลวไปแล้ว เมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย พลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซและไฟฟ้าแทบไม่เหลือให้ใช้ในประเทศ และประชาชนก็พากันขับไล่รัฐบาลถึงขั้นบุกยึดบ้านพักของประธานาธิบดี 

คำถามคือ ศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ซึ่งก็ต้องเข้าใจบริบทของประเทศนี้เสียก่อน ศรีลังกาตั้งอยู่ในเอเชียใต้ ภูมิภาคที่ประกอบด้วย ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ ศรีลังกามีพื้นที่ 65,610 ตร.กม. เล็กกว่าประเทศไทยที่มีพื้นที่ 513,120 ตร.กม. เกือบ 8 เท่า มีประชากร 22.156 ล้านคน ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ 84.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 69.950 ล้านคน GDP อยู่ที่ 505.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากธนาคารโลก World Bank ปี 2564) 

ข้อมูลจาก CIA Factbook ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลประเทศต่างๆ ที่รวบรวมโดยสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (CIA) อธิบายสภาพของศรีลังกา ว่า นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 ก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่ม คือชาวสิงหลและชาวทมิฬ จนยกระดับกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 2526 ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) กระทั่งปี 2552 สงครามจึงสงบโดยฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามกลุ่ม LTTE ได้อย่างเด็ดขาด ถึงกระนั้น ศรีลังกายังต้องเผชิญสารพัดวิกฤติ ทั้งการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมากทำให้ขาดความมั่นคง กระทั่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลง จนมาถึงจุดที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

Harvard International Review วารสารด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ เผยแพร่บทความ The Sri Lankan Civil War and Its History, Revisited in 2020 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 เขียนโดเย นิทยานี อนันทคุกัน (Nithyani Anandakugan) นักเขียนประจำของวารสารดังกล่าว เล่าเรื่อง “ความขัดแย้งของชาวสิงหลกับชาวทมิฬ” ว่า ประชากรศรีลังกาเป็นชาวสิงหล ร้อยละ 74.9 และชาวทมิฬร้อยละ 11.2 ชาวสิงหลนั้นนับถือศาสนาพุทธ ส่วนชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู  แม้จะมีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่จุดที่ทำให้ความขัดแย้งยกระดับสู่ความเกลียดชัง เกิดขึ้นเมื่อศรีลังกาตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ 

โดยในยุคอาณานิคม ชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกว่าชาวทมิฬได้ประโยชน์จากอังกฤษมากกว่าทั้งที่เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย เช่น การเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้รับการส่งเสริมในพื้นที่ของชาวทมิฬมากกว่าพื้นที่ของชาวสิงหล ส่งผลให้ชาวทมิฬมีโอกาสในการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า เมื่อประกอบกับการที่ชาวทมิฬยังมีชุมชนในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ที่ขณะนั้นก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน การค้าขายโดยอาศัยเครือข่ายเหล่านี้ก็เป็นอีกด้านที่ชาวทมิฬได้ประโยชน์

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวสิงหลเริ่มมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาล พวกเขาเริ่ม เอาคืน ชาวทมิฬ จากความรู้สึกที่ชาวสิงหลเสียเปรียบมานานในยุคอาณานิคม อาทิ ในปี 2499 รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ส่งผลให้ชาวทมิฬจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐรวมถึงการหางานทำ อย่างไรก็คาม จันดรีกา กุมารตุงกา (Chandrika Kumaratunga) อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ยืนยันว่า แนวทางดังกล่าวซึ่งผลักดันโดย โซโลมอน เวสต์ ริดจ์เวย์ ดิแอส บันดาราไนเก (Solomon West Ridgeway Dias Bandaranaike) นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นเพียงความต้องการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของศรีลังกา ที่จางหายไปในช่วงที่ศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกำหนดนโยบายให้ชาวสิงหลมีแต้มต่อด้านการศึกษา กล่าวคือ มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนสอบผ่านเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสำหรัยชาวทมิฬสูงกว่าชาวสิงหล แม้เจตนาของกฎหมายคือการเพิ่มโอกาสให้ชาวสิงหลที่เคยเป็นผู้ด้อยโอกาส อยู่ในสถานะเสียเปรียบในยุคอาณานิคมให้ได้ลืมตาอ้าปากแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นนโยบานที่สนับสนุนให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับชาวทมิฬ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อมาชาวทมิฬกลุ่มหนึ่งเริ่มไม่พอใจและก่อความรุนแรงขึ้น และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ชิงการนำในหมู่ชาวทมิฬจากกลุ่มหรือขั้วการเมืองอื่นๆ ได้

และแม้การสู้รบจะสิ้นสุดลงในปี 2552 แต่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้ชนะ ยังคงนโยบายที่ชาวทมิฬมองว่ากดขี่ข่มเหงพวกตนต่อไป เช่น ยังคงมีการสอดส่องบุคคลที่เคยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม กองทัพศรีลังกายังคงกำลังทหารควบคุมพื้นที่ของชาวทมิฬในฐานะพื้นที่ความมั่นคงสูงแม้จะเข้มงวดน้อยกว่ายุคสงครามก็ตาม อีกทั้งยังเดินหน้าทำให้อัตลักษณ์ของชาวสิงหลเข้าแทนที่อัตลักษณ์ของชาวทมิฬ อาทิ การเปลี่ยนชื่อถนนและหมู่บ้าน การส่งเสริมให้ก่อสร้างวัดพุทธในพื้นที่ของชาวทมิฬ เป็นต้น

เมื่อมาดูทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมากว่า ศรีลังกายืมเงินจีนมาแล้วไม่มีปัญญาใช้คืนจนอาจต้องสูญเสียอธิปไตยให้จีน เรื่องนี้เบื้องต้นอาจต้องให้ความเป็นธรรมกับจีนเสียหน่อย เพราะข้อมูลของทางการศรีลังกาเอง ระบุสัดส่วนการก่อหนี้ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) ไว้ดังนี้ อันดับ 1 Market Borrowing หรือการกู้ยืมจากตลาดทุน ร้อยละ 47 รองลงมาคือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร้อยละ 18 ในขณะที่จีนและญี่ปุ่น ศรีลังกากู้เงินจาก 2 ชาตินี้ในสัดส่วนร้อยละ 10 เท่ากัน ดังนั้นหนี้จีนจึงไม่ใช่หนี้ส่วนใหญ่ของศรีลังกาอย่างที่หลายคนเข้าใจ

The Atlantic นิตยสารเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ The Chinese ‘Debt Trap’ Is a Myth เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 บทความนี้เขียนโดยนักวิชาการ 2 ท่าน คือ ศ.เดโบราห์ บรอติกัม (Prof.Deborah Brautigam) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงด้านระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินสฺ์ สหรัฐฯ กับ รศ.เม็ก ริธไมร์ (Assoc.Prof.Meg Rithmire) โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ชี้ว่าเรื่องที่พูดกันกรณีศรีลังกาติดหนี้จีนนั้นเกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ ท่าเรือแฮมบันโตตา (Hambantota Port)” ที่ลือกันว่าจีนให้เงินศรีลังกากู้ไปสร้างท่าเรือ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของท่าเรือดังกล่าวคือ สำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา (CIDA) ให้ทุนบริษัทด้านวิศวกรรมยักษ์ใหญ่ของแคนาดาอย่าง SNC-Lavalin เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยในปี 2546 มีข้อสรุปว่า ท่าเรือแฮมบันโตตาสามารถก่อสร้างได้ แต่โครงการยังไม่คืบหน้าเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนในประเทศ 

ในยุคสมัยของ มหินตา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ครองอำนาจช่วงปี 2548-2558 ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวเมืองแฮมบันโตตา ต้องการผลักดันโครงการท่าเรือนี้ให้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเกิด รวมถึงฟื้นฟูความเสียหายที่เมืองแห่งนี้ได้รับจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในปี 2547 โดยในปี 2549 Ramboll บริษัทวิศวกรรมสัญชาติเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งเนื้อหาคล้ายกับของ SNC-Lavalin แคนาดา ที่ชี้ว่าโครงการท่ารือแฮมบันโตตาสามารถก่อสร้างได้ และแนะนำให้แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ

ในเวลานั้น สินค้าจากประเทศจีนเริ่มเป็นที่ต้องการของครัวเรือนในอินเดียรวมถึงทวิปแอฟริกา ขณะที่เวียดนามก็กำลังเติบโตและต้องการทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น นี่คือโอกาสของศรีลังกาในการก่อสร้างท่าเรือ โครงการแฮมบันโตตาถูกนำไปขออนุมัติจากแหล่งเงินทุนทั้งสหรัฐฯ และอินเดีย แต่ 2 ชาติดังกล่าวปฏิเสธ ตรงข้ามกับจีนที่เห็นความไปได้ จึงสนับสนุนโครงการผ่านเงินกู้ และได้รับอนุมัติเงินกู้ในปี 2550 ก่อนหน้าที่ สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำสูงสุดของจีน จะประกาศยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative) เสียด้วยซ้ำไป

ซึ่งต้องเข้าใจบริบทของศรีลังกาขณะนั้น ที่ยังมีความขัดแย้งจากสงครามกลางเมืองอยู่ จึงเป็นข้อจำกัดในการหารายได้จากภาษี การพึ่งพาแหล่งเงินกู้จึงสมเหตุสมผลแล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจศรีลังกาที่เติบโตสูงขึ้นหลังสงครามสิ้นสุดในปี 2552 ภาระหนี้สินก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากู้นำศรีลังกาไปกู้เงินมาเพิ่มอีก 757 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างเฟส 2 โดยไม่รอให้เฟส 1 สร้างรายได้ก่อนตามคำแนะนำของ Ramboll 

ต่อมาในปี 2557 เพื่อให้การบริหารจัดการท่าเรือมีประสิทธิภาพ การท่าเรือแห่งประเทศศรีลังกา (SLPA)  มีแผนลงนามร่วมกับ China Harbor ซึ่งบริหารท่าเรือในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกาอยู่แล้ว และ China Merchants Group ที่ลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ Colombo Port City ก่อนที่ในปี 2558 การเมืองศรีลังกาเปลี่ยนขั้ว ไมตรีปาล สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ชนะเลือกตั้งได้เป็น ปธน.ศรีลังกา ในยุคนี้เองที่ศรีลังกาต้องเริ่มทยอยใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมแหล่งทุนต่างๆ 

ถึงกระนั้น สัดส่วนหนี้ที่ศรีลังกาไปกู้ยืมมาจากจีนนั้นน้อยกว่าที่ไปกู้ยืมจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และการชำระหนี้ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือแฮมบันโตตา เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากอดีตผู้บริหารธนาคารกลางของศรีลังกา ทั้งในยุคของ มหินตา ราชปักษา และ ไมตรีปาล สิริเสนา ว่า การกู้เงินจากจีน และโครงการท่าเรือแฮมบันโตตา ไม่ใช่สาเหตุหลักของวิกฤติทางการเงินในศรีลังกา สุดท้ายในเวลาต่อมา ศรีลังกาได้ทำสัญญากับ China Merchants Group ให้เช่าท่าเรือแฮมบันโตตา เป็นเวลา 99 ปี ได้เงินมา 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เงินส่วนนี้ถูกเก็บไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ไมได้นำไปใช้หนี้ China Eximbank แหล่งทุนที่ศรีลังกาไปกู้เงินมาก่อสร้างท่าเรือแต่อย่างใด 

และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ศรีลังกาเพิ่งมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ในปี 2565 นี่เอง ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ทันฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 มากนัก กลับต้องมาเจอวิกฤติครั้งใหม่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ลากเอาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพขึ้นราคากันหมดโดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 เป็นวันแรกที่ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้น

ในวันดังกล่าว สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานโดยอ้างคำพูดของ พี นันดลาล วีระสิงห์ (P Nandalal Weerasinghe) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งชาติศรีลังกา ที่ยืนยันว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ขณะที่ ศ.มิค มัวร์ (Prof.Mick Moore) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นเศรษฐกิจในอินเดียและศรีลังกา ให้ความเห็นว่า ปัญหาของศรีลังกาสะสมมายาวนาน เพราะรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปกู้ยืมเงินมาทำโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่น่าตำหนิคือพฤติกรรม ฝืนทำเป็นเข้มแข็ง (Insisted in this very macho fashion)” ยืนยันว่า จ่ายหนี้ไหว โดยไม่ยอมขอเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รัฐบาลศรีลังกาทำแบบนี้ตลอดจนถึงเมื่อ 6 เดือนก่อน (ประมาณปลายปี 2564-ต้นปี 2565) สัญญาณวิกฤติก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น

คำถามต่อมา แล้วอะไรทำให้ศรีลังกาต้องหาแหล่งเงินกู้จากทุกทิศทางขนาดนั้น? บทความ Fallacies in Sri Lanka’s external debt patterns เผนแพร่บนเว็บไซต์ของ Observer Research Foundation (ORF) องค์กรคลังสมองด้านนโยบายเศรษฐกิจในอินเดีย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 โดย ซุมยา โภวมิค (Soumya Bhowmick) นักวิจัยของ ORF ผู้สนใจประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐศาสตร์โลกาภิวัตน์ และเศรษฐศาสตร์อินเดีย อธิบายที่มาที่ไปก่อนศรีลังกาจะเดินมาถึงจุดวิกฤติด้านหนี้สิน ดังนี้

1.ศรีลังกาปรับตัวไม่ทันกับการถูกเลื่อนสถานะของประเทศ  ในยุค 2000s (ปี 2543-2552) เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และยังเป็นสหัสวรรษใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่ศรีลังกาได้รับคือ ธนาคารโลก (World Bank) เลื่อนชั้นศรีลังกาจากประเทศยากจน (low-income country) ขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำ (low-middle-income country) ส่งผลให้จากเดิมที่ศรีลังกาสามารถพึ่งพาแหล่งทุน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 1 หรือน้อยกว่านั้น) และให้เวลาผ่อนชำระได้ยาวนาน (25-40 ปี) เมื่อประเทศเลื่อนชั้นขึ้นมาการจะหาแหล่งทุนลักษณะนี้ก็ทำได้ยากขึ้น

นั่นทำให้ศรีลังกาต้องเริ่มพึ่งพากลไกตลาดทุน (Market Borrowing) หรือสินเชื่อเชิงพาณิชย์ (Commercial Loans) ด้วยการออกพันธบัตรระหว่างประเทศ ตราสารประเภทนี้มีอัตราดอกเบี้ยสูง (ร้อยละ 6) มีกำหนดชำระหนี้สั้น (5-10 ปี) และไม่มีเวลาผ่อนผัน โดยเริ่มออกพันธบัตรตั้งแต่ปี 2550 มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2547 สินเชื่อเชิงพาณิชย์ของศรีลังกามีเพียงร้อยละ 2.5 แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 56 ของสินเชื่อต่างประเทศทั้งหมด ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศต่อ GDP เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ร้อยละ 30 ในปี 2557 เพิ่มเป็นร้อยละ 42.6 ในปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้เชิงพาณิชย์

2.ศรีลังกากู้หนี้ยืมสินจนเกินตัวเพื่อไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนสูง แต่ประเด็นนี้ก็น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะศรีลังกาบอบช้ำสะสมจากสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ (ระหว่างปี 2526-2552) ซ้ำร้ายยังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2550-2551 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติซับไพรม์) ควบคู่ไปกับการขาดดุลการเงินและบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และเม็ดเงินจากแหล่งทุนต่างๆ ที่ไหลเข้าศรีลังกา ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้เพียงเพื่อรักษาเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องมาจากในอดีต  

 (หมายเหตุ : ซุมยา โภวมิค ผู้เขียนบทความดังกล่าว ค่อนข้างระแวงบทบาทของจีนในการให้กู้เงินอยู่พอสมควรในประเด็นกับดักหนี้ โดยยกกรณีท่าเรือแฮมบันโตตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการศรีลังกาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะขอกู้เงินจากจีนอีกในอนาคต แม้ว่าหนี้ที่ศรีลังกาติดจีนอยู่นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.83 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ตามข้อมูลในปี 2562 ก็ตาม)

อนึ่ง ยังมีเรื่องของ นโยบายเกษตรอินทรีย์ 100% แบบก้าวกระโดดสุดโต่ง ซึ่งพบว่าพอใช้จริงแล้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในศรีลังกาอย่างมาก อาทิ รายงานข่าว Photos: For Sri Lankan farmers, president’s escape is bittersweet โดยสำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 ที่ไปพูดคุยกับเกษตรกร อาทิ โรฮัน ติลัค คุรุสิงห (Rohan Thilak Gurusinghe) ผู้ปลูกใบชา เล่าว่า เกษตรกรเคยทักท้วงไปแล้วว่าการแบนปุ๋ยเคมีแบบชั่วข้ามคืนจะส่งผลกระทบต่อราบได้ของเกษตรกร แต่รัฐบาลไม่ฟัง กระทั่งผ่านไป 6 เดือน จึงค่อยรู้ว่าผิดพลาด

ไม่ต่างจาก อนินดา วีรสิงห (Anindha Weerasinghe) ผู้ปลูกผัก วิจารณ์นโยบายแบนเกษตรเคมีแบบไมได้เตรียมแผนรองรับไว้ว่าเป็นเรื่องโง่เขลาอย่างมากที่รัฐบาลทำ เช่น ก่อนหน้านี้ตนใช้เมล็ดพันธุ์ผสมที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ทั้งนี้  โกตาบายา ราชปักษา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ได้ออกประกาศแบนปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกประเภทในเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ลดลงร้อยละ 40 กระทั่งในเดือนเมษายน 2565 ปธน. โกตาบายา จึงค่อยยอมรับว่าตนเองทำผิดพลาดไป 

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง..แต่มาจากนโยบายของรัฐบาลศรีลังกาที่ขาดความเข้าใจและไม่เตรียมความพร้อม โดยนิตยสาร Civil Society สื่อของภาคประชาสังคมในกรุงนิวเดลี ซึ่งก่อตั้งในปี 2546 เผยแพร่บทความ Lanka could learn from Sikkim how to go organic ณ วันที่  29 เม.ย. 2565 (แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 27 พ.ค. 2565) อ้างอิงความเห็นของ ราช สีลัม (Raj Seelam) ผู้ก่อตั้งบริษัท เศรษฐา ออร์แกนิต (Srestha Organic) เจ้าของแบรนด์สินค้เออร์แกนิก “24 มันตรา (24 Mantra)” ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรหลายเหมื่นคนในอินเดีย ว่า..

จำเป็นต้องมีการเตรียมการจำนวนมากสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะไม่ใช่แค่ถามเรื่องการหยุดใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเท่านั้น เป็นระบบทางเลือก เราต้องหาวิธีการต่างๆ ในการสร้างดินและความอุดมสมบูรณ์ ประการที่สองคือการสร้างสมดุลตามธรรมชาติเพื่อที่จะไม่จำเป็นต้องทำการแทรกแซงทางเคมี (A lot of preparation is required for going organic because it is not just a question of stopping use of fertilizers and pesticides. It is an alternative system. We have to figure out different means of building up soil and fertility. Second is creating a natural balance so that you don’t need to make chemical interventions)”

สีลัม เล่าต่อไปว่า การทำงานของบริษัทกับเกษตรกรใช้เวลาเฉลี่ย 3-4 ปี ซึ่งก็เป็นเวลาพอดีกับที่สามารถให้การรับรองได้ ลำพังเพียงการโน้มน้าวเกษตรกรเพื่อให้ลงทะเบียนก็ต้องลงพื้นกัน 3-4 ครั้งแล้ว จากนั้นก็ต้องมีพนักงานไปดูแลประจำ เช่น กรณีของ เศรษฐา ออร์แกนิต เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลเกษตรกร 200-300 คน ทำหน้าที่ตั้งแต่ฝึกอบรมและช่วยอธิบายข้อสงสัยต่างๆ แต่หากเกินความสามารถของพนักงานเหล่านี้ ก็จะสอบถามมายังนักปฐพีวิทยาทันที ซึ่พนักงานทุกคนมีแอปพลิเคชั่น ซึ่งสามารถนำปัญหาที่พบเห็นมาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ 

อีกทั้งมีการลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่อง และยังย้ำด้วยว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมาทำเกษตรอินทรีย์ ระยะแรกๆ ปริมาณผลผลิตย่อมลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10-15 ในปีแรก และในเมื่อเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถชดเชยให้กับเกษตรกรได้ ตนแนะนำให้ทยอยปรับเปลี่ยนไปเป็นระยะๆ เช่น ผู้มีที่ดิน 10 เอเคอร์ อาจทยอยทำไปทีละ 2 เอเคอร์ เป็นต้น  

เช่นเดียวกับสำนักข่าวออนไลน์อย่าง Firstpost ในเครือ Network18 Group สื่อยักษ์ใหญ่ของอินเดีย เผยแพร่บทความ Is organic farming really to blame for Sri Lanka’s ongoing food crisis? เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 อ้างความเห็นของ วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) นักสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงในอินเดีย ชี้ว่า วิกฤติอาหารในศรีลังกามีรากฐานที่ลึกกว่าการห้ามนำเข้าเคมีเกษตรเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งนโยบายระยะสั้นของการห้ามนำเข้าไม่ถือเป็นนโยบายเกษตรอินทรีย์

บทความเดียวกันยังอ้างความเห็นของ  สิราช ฮุซเซน (Siraj Husain) อดีตปลัดกระทรวงเกษตรของอินเดีย ที่มองว่า ลำพังการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีในเดือนพฤษภาคม 2564 ไม่น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาเกิดวิกฤติ แต่ต้องถามว่าเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารหรือไม่ ประเทศหนึ่งไม่สามารถกลายเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดได้ในเวลาอันสั้น หากการผลิตทั้งหมดเป็นออร์แกนิก สินค้าพรีเมียมของเกษตรอินทรีย์จะเล้มเหลวและเกษตรกรจะเหลือกำลังผลิตที่น้อยลง

การผูกขาดอำนาจยาวนานจนเอื้อต่อปัญหาคอร์รัปชั่น ก็เป็นอีกปัจจัยที่นำพาศรีลังกาดำดิ่งมาสู่วิกฤติในวันนี้ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดย The Washington Post หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่และเก่าแก่ฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เล่าเรื่องราวของตระกูลราชปักษา โดยเฉพาะ 2 พี่น้อง คือ มหินดา และ โกตาบายา ที่ครองอำนาจสูงสุดบนแผ่นดินศรีลังกามายาวนาน อาทิ ในช่วงที่ มหินดา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานระหว่างปี 2548-2558 ได้แต่งตั้ง โกตาบายา ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารในกองทัพศรีลังกา ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมและการพัฒนาเมือง โดยอยู่ในตำแหน่งในห้วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นยังแต่งตั้ง เบซิล (Basil) และ ชามัล (Chamal) ดูแลงานชลประทานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามลำดับ ในทางกลับกัน ช่วงปี 2562-2565 ที่ โกตาบายา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้แต่งตั้งให้ มหินดา เป็นนายกรัฐมนตรี

สันคิธา กุนารัทนี (Sankhitha Gunaratne) รองผู้อำนวยการบริหารของ องค์กรเพื่อความโปรงใสสากล (Transparency International) ประจำศรีลังกา กล่าวว่า มหินดา กับ เบซิล เผชิญข้อกล่าวหามากมาย ทั้งการยักยอกเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ รวมถึงกองทุนสาธารณะไปซื้อที่ดิน ขณะที่ในปี 2564 เอกสารลับที่ถูกเผยแพร่ในโครงการ Pandora Papers โดย เครือข่ายสื่อมวลชนสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ว่าด้วยพฤติกรรมซุกซ่อนทรัพย์สินของบรรดาบุคคลที่เป็นชนชั้นนำของประเทศต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบหรือเลี่ยงภาษี พบว่า หลานของพี่น้องตระกูลราชปักษา มีเงินหลักหลายล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในบัญชีต่างประเทศ 

และแม้เส้นทางการครองอำนาจในศรีลังกาของตระกูลราชปักษา มีการขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่พี่น้อง แต่เรื่องหนึ่งที่ทั้งตระกูลสนับสนุนเต็มที่ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนการทุจริต (CIABOC ทำหน้าที่คล้ายกับ ป.ป.ช. ของประเทศไทย) และเพิ่มบทบาทอำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อศาล เช่นเดียวกับ Human Rights Watch องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงาน Human Rights Watch Submission to the UN Human Rights Committee in advance of its review of Sri Lanka เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ตอนหนึ่งกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 20 ของศรีลังกา ในเดือนตุลาคม 2563 

สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือให้ประธานาธิบดีมีอำนาจจควบคุมการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส ตลอดจนกรรมการบริหารในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) , สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , คณะกรรมการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สำนักงานคณะกรรมการสืบสวนการทุจริตและสินบนแห่งชาติ (CIABOC – ป.ป.ช.) รวมถึงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหลักนิติธรรม เช่น อัยการสูงสุด หัวหน้าผู้ตรวจสอบบัญชี (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) และจเรตำรวจ

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า..กว่าศรีลังกาจะเดินมาถึงจุดต่ำสุดในปัจจุบันประกอบด้วยหลากหลายเหตุปัจจัย บางเรื่องก็น่าเห็นใจจากข้อจำกัดของประเทศ แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เรื่องราวของศรีลังกา คงจะเป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนให้กับประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ) ได้บ้างไม่มากก็น้อย!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.mfa.go.th/th/country/LK?page=5d5bcb3915e39c3060006816&menu=5d5bd3c715e39c306002a882 (สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Sri Lanka) : กระทรวงการต่างประเทศ)

https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=LK (Sri Lanka Population : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=LK (Sri Lanka GDP : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=TH (Thailand Population : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=TH (Thailand GDP : World Bank)

https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/sri-lanka/ (Sri Lanka : CIA Factbook)

https://hir.harvard.edu/sri-lankan-civil-war/ (The Sri Lankan Civil War and Its History, Revisited in 2020)

http://www.erd.gov.lk/index.php?option=com_content&view=article&id=102&Itemid=308&lang=en (Foreign Debt Summary : Department of External Resources , Sri Lanka)

https://www.theatlantic.com/international/archive/2021/02/china-debt-trap-diplomacy/617953/ (The Chinese ‘Debt Trap’ Is a Myth : The Atlantic)

https://www.orfonline.org/expert-speak/fallacies-in-sri-lankas-external-debt-patterns/ (Fallacies in Sri Lanka’s external debt patterns : ORF)

https://www.bbc.com/news/business-61505842 (Sri Lanka defaults on debt for first time in its history : BBC)

https://edition.cnn.com/2022/07/12/asia/sri-lanka-crisis-gotabaya-rajapaksa-airport-intl/index.html (Sri Lanka’s prime minister appointed President, calls state of emergency as Rajapaksa flees to Maldives : CNN)

https://www.aljazeera.com/gallery/2022/7/14/photos-for-sri-lanka-farmers-presidents-escape-is-bittersweet (Photos: For Sri Lankan farmers, president’s escape is bittersweet , Aljazeera)

https://www.civilsocietyonline.com/agriculture/lanka-could-learn-from-sikkim-how-to-go-organic-happily/ (Lanka could learn from Sikkim how to go organic  , Civil Society)

https://www.firstpost.com/opinion/is-organic-farming-really-to-blame-for-sri-lankas-ongoing-food-crisis-10555881.html (Is organic farming really to blame for Sri Lanka’s ongoing food crisis? , Firstpost)

https://www.washingtonpost.com/world/2022/05/22/sri-lanka-rajapaksa-mahinda-gotabaya/ (Inside the collapse of the Rajapaksa dynasty in Sri Lanka : The Washington Post)

https://www.hrw.org/news/2022/06/01/human-rights-watch-submission-un-human-rights-committee-advance-its-review-sri