วันที่ 7 ธ.ค. 2564 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น, มูลนิธิฟรีดริซเนามัน,อีสาน Cofact, อันดามัน Cofact, อุบลคอนเนก, สมาคมผู้บริโภคสงขลา, เชียงรายพะเยาทีวี, ตราดทีวี , สมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดตราด และ Deep South Cofact จัดแถลง “เปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบความจริงระดับภาค” เพื่อขยายการทำงานการตรวจสอบข่าวให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า โคแฟคเป็นแพลตฟอร์มภาคประชาสังคม ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโคแฟคไต้หวัน ด้วยเชื่อว่าโลกออนไลน์นั้นมีข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายหลากหลายไหลเวียน แต่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมีทั้งข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจ ไปจนถึงการตั้งใจเพื่อให้เกิดผลจากข้อมูล ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ตื่นรู้
“ในรอบปี 2563 โคแฟคได้ไปตระเวนในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปพบปะพูดคุยกับภาคีต่างๆ แล้วทางการทำงาน โคแฟคก็ได้ประสานเชื่อมโยงในกิจกรรมต่างๆ ทางออนไลน์บ่อยครั้งมาก วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่โคแฟคจะเปิดตัวเครือข่ายซึ่งจะทำงานร่วมกันตรวจสอบความจริง” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ย้อนไปในครั้งที่โคแฟคประเทศไทยก่อตั้งขึ้น วันนั้นมีภาคีเครือข่ายร่วมกันเพียง 8 องค์กร แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 39 องค์กรที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุที่มองเห็นปัญหาข้อมูลข่าวสารไหลบ่าโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 และ สสส. ก็ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานของโคแฟค
โดยเป้าหมายของโคแฟคคือการพัฒนาให้ทุกคนมีทักษะในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร (Fact Checker) ตอบโจทย์ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาโคแฟคได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาไว้ 5 ระดับ 1.ระดับบุคคล ต้องมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อและตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร 2.ระดับสังคม-วัฒนธรรม ลดอคติความเชื่อ และสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารความจริงร่วมกัน 3.ระดับโครงสร้าง ขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ สื่อมวลชน การศึกษา และภาคประชาชน เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 4.ระดับประเทศ สร้างฐานข้อมูลกลางที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้โดยสร้างความร่วมมืออกับทุกเครือข่าย และ 5.ระดับชุมชน ธรรมชาติของข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวลวงนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งระดับสังคมและชุมชนหรือท้องถิ่น โดยที่แต่ละชุมชนจะมีข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันไปตามบริบทของในพื้นที่นั้นๆ เช่น ภัยพิบัติ ก็จะเห็นข่าวลวงที่วนเวียนอยู่ในพื้นที่ การเกิดกลไกตรวจสอบข่าวลวงในระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงกัน จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงและข้อเท็จจริงในบริบทของพื้นที่ และช่วยคลี่คลายปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้อย่างมาก
“ความโดดเด่นของงานโคแฟคซึ่งเป็นเอกลักษณ์จริงๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน ซึ่งก็สอดคล้องกับการทำงานขับเคลื่อนของ สสส. และภาคีเครือข่าย คือการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงภาคประชาสังคม-ภาคประชาชน โดยการพัฒนาทักษะพลเมืองในยุคดิจิทัล ใช้ Big Data และเทคโนโลยีภาคพลเมืองบนฐานของปัญญาร่วม หรือ Wisdom of the Crowd มาช่วยด้านการสานพลังเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานที่โดดเด่นของการทำงานเครือข่ายโคแฟค เนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของร่วมหรือในพื้นที่หรือชุมชนสาธารณะนี้ แล้วมีการสานต่อ ขยายผลการทำงานให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ” นางญาณี กล่าว
นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้ง Ubon Connect จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเครือข่ายใน จ.อุบลราชธานี มาจากการรวมตัวของคนที่สนใจเรื่องภัยพิบัติผ่านแพลตฟอร์ม Open Chat ในปี 2562 ซึ่งปีนั้น จ.อุบลราชธานี เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรง จากนั้นในปี 2563 เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ก่อตั้ง Open Chat ในประเด็นโควิด-19 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะ และเมื่อโคแฟคเข้ามาสนับสนุน ก็ต้องเพิ่มเติมการตรวจสอบข่าวลวงขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากใน Open Chat หรือในเพจแล้วยังทำเป็นรายการ เรื่องจริงมันเป็นอย่างไร อย่างโรงเรียนอนุบาลอุบลฯ ติดโควิด ผู้ร่วมกฐินหลวงติดโควิด เราไล่มาเลย เพจนี้ว่าอย่างนี้ ชาวบ้านว่าอย่างนี้ แล้วเรื่องจริงมันเป็นอย่างไร ก็บอกเรื่องจริงที่เราตรวจสอบ หรือกรณีโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์จะมีโครงการขึ้นมา เราตรวจสอบกับโรงพยาบาลแล้วว่าไม่จริง ก็เป็นเพจในอุบลฯ เหมือนกัน หรือกรณีสามเณรแต่งหญิง ภาพเก่าเอามาแชร์กันในช่วงนี้ จริงๆ มันเป็นภาพเก่าไม่ใช่ตอนที่เขาเป็นสามเณร” นายสุชัย กล่าว
ผศ.ดร. ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงปี 2563-2564 การทำงานร่วมกับโคแฟคเน้นสร้างเครือข่ายนักเรียน-นักศึกษา เช่น จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านทักษะตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checker) การส่งทีมเข้าแข่งขัน FACTkathon พัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อพลเมืองฐานราก เป็นต้น ส่วนเป้าหมายในปีต่อไป มีเป้าหมายร่วมกับโคแฟค 3 ประการคือ
1.พัฒนาศูนย์ข้อมูลตรวจสอบข่าวลวงในภูมิภาค โดยเชื่อมโยงเยาวชนกับกลุ่มคนต่างวัย 2.ขยายฐานข้อมูลโคแฟคโดยเพิ่มเติมข่าวลวงที่พบในระดับภูมิภาคมากขึ้น และ 3.พัฒนาทักษะการตรวจสอบข้อมูลให้กับเครือข่ายพลเมือง ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ ทั้งนี้ กลุ่มหลักที่ทำงานด้วยยังคงเป็นนักศึกษาซึ่งเป็นจุดแข็งเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ โดยอบรมเพิ่มเติมเรื่องการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน โดยร่วมกับสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น ก่อนลงพื้นที่ไปทำงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และประชาชนฐานรากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
“รูปแบบการทำงานเราจะมีการถ่ายทอดติดตั้งองค์ความรู้เรื่องการตรวจสอบข้อมูล การใช้แพลตฟอร์มโคแฟค การสร้างเนื้อหาร่วมกัน โดยจะมีการวัดผลทั้งก่อนและหลัง ทั้งกลุ่มของนักศึกษาและกลุ่มของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากท้องถิ่น เราก็จะใส่เพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนจากภาคเหนือเข้าไปอยู่ในระบบโคแฟคไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้น รวมถึงผลิตเนื้อหาจากข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนเพื่อสร้างการรู้เท่าทัน” ผศ.ดร.ณภัทร กล่าว
นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวี ทีวีชุมชน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า พะเยาทีวีเป็นสื่อท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีประชาชนส่งข้อความมาสอบถามเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง เช่น การเดินทางข้ามจังหวัด การพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งด้วยความที่อยู่ในชุมชนก็ทำให้ได้เห็นปัญหาข่าวลวง เช่น ไปบอกว่าบุคคลนั้นหรือร้านนี้พบการติดเชื้อ ซึ่งแม้ต่อมาพบว่าไม่เป็นความจริงแต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ สิ่งที่พะเยาทีวีต้องการทำงานร่วมกับโคแฟค มี 3 ประเด็นซึ่งพบสถานการณ์ในพื้นที่ คือ 1.ศาสนาและความเชื่อ เช่น ความแตกต่างระหว่างคณะสงฆ์ฝั่งประเทศเมียนมา คณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ และคณะสงฆ์ใน จ.พะเยา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 2.กฎหมายและเทคโนโลยี เช่น การซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์แล้วถูกหลอก หรือประเด็นด้านสุขภาพ และ 3.ข่าวสถานการณ์ต่างๆ ทีเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ภาพหรือข่าวเก่าที่ถูกนำมาแชร์วนใหม่ ไปจนถึงประกาศเชิญชวนต่างๆ ที่พบในชุมชน
“พะเยาทีวีมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งคณะสงฆ์ ปราชญ์ ด้านกฎหมายตอนนี้เราก็ทำงานร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะมีเรื่องเทคนิคที่ชาวบ้านต้องการความรู้ ส่วนอื่นๆ ที่เราทำร่วมอยู่แล้วคือเครือข่ายแหล่งข่าว และคณะสื่อสารสื่อใหม่ของมหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ นายกสมาคมสื่อสารมวลชน จังหวัดตราด กล่าวว่า ด้วยบทบาทการทำงานสื่อมา 30 ปี จึงต้องกลายเป็นที่พึ่งของประชาชนเมื่อมีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จไปโดยปริยาย อาทิ เรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี คือเรื่องหาดทรายดำใน จ.ตราด มีความเชื่อกันว่าใครไปนอนให้ร่างกายหมกทรายจะสามารถรักษาโรคได้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงความเชื่อไม่ใช่ความจริง หรือมีชุมชนแห่งหนึ่ง เชื่อกันว่าชายหนุ่มไปอยู่กินกับหญิงสาวได้ก่อนหากไม่พอใจค่อยเลิกทีหลัง นี่ก็เป็นความเชื่อ เป็นต้น
“เราจะมีเวทีตรวจสอบความจริง 3 เวที เวทีกับสมาคมสื่อ เวทีกับสภาเด็กและเยาวชน และเครือข่ายประชาชนและสมาคมผู้ปกครองจังหวัดตราด อันนี้คือสิ่งที่ศูนย์ตรวจสอบความจริงของจังหวัดตราด จะมีการดำเนินการในต่อไป” นายกสมาคมสื่อสารมวลชน จังหวัดตราด กล่าว
รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในปี 2563 โคแฟคเคยจัดเวทีสัญจรภาคตะวันออก ซึ่งได้เชิญมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกมาเข้าร่วม ส่วนการตรวจสอบข่าวลวงเป็นการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนวิชาการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) โดยคัดเลือกนิสิต 40 คน มาเป็นคณะทำงานซึ่งมีคณาจารย์ 4 ท่านเป็นพี่เลี้ยง
โดยหัวข้อที่สนใจ คือโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การขยายตัวของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว หรือประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการปะทะกันของข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายต่างๆ โดยจุดเด่นที่สำคัญคือความเข้มแข็งของเครือข่าย ตั้งแต่นักวิชาการในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด ไปจนถึงภาคประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม
“นอกจากการตรวจสอบแล้ว เรายังมีพื้นที่ในการผยแพร่ข่าวที่ตรวจสอบมาแล้วว่าความจริงมันคืออะไร เราจะมีเว็บไซต์ภาควิชานิเทศศาสตร์ของเราในการเป็นช่องทางเผยแพร่หลัก อีกอันหนึ่งเราจะจัดเวทีหลังจากการทำงานแล้ว เป็นเวทีขยายการทำงานเพิ่มมากขึ้น จาก 30-40 คนที่คัดเลือกมา ไปสู่นิสิตทั้ง ม.บูรพา และในเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพรรรณี และมหาวิทยาลัยศรีปทุม อีกประเด็นคือจะมีการพัฒนาทีมทำงานของเราด้วย ให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงที่มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว
ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครอง ผู้บริโภคภาคใต้ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้บริโภคทั่วไป มีการอบรมการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้กับอาสาสมัครแกนนำชุมชน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ สอนกันตั้งแต่การเก็บหลักฐานภาพหน้าจอ การจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มไลน์ การค้นข้อมูลเก่า ซึ่งพบว่าสมาชิกเครือข่ายจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย อายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเพราะเชื่อว่ามีคนคัดกรองมาให้แล้วก่อนแชร์มาถึงตนเอง
แต่การสร้างเครือข่ายที่สามารถแทรกซึมไปตามกลุ่มไลน์ ซึ่งอาสาสมัครแต่ละคนจะอยู่ในหลายกลุ่มเพราะต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ก็ช่วยให้จัดการกับข่าวลือต่างๆ ทั้งเรื่องโควิด-19 และความขัดแย้งในพื้นที่ได้ตั้งแต่หน้างาน ทั้งนี้ ยังมีทีมผู้ประสานงานคอยนำข้อมูลจากกลุ่มไลน์มาแปลงเพื่อเก็บในโปรแกรมเอ็กเซล และจะถูกส่งไปให้อาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ช่วยวิเคราะห์ให้ตามหลักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นพลเมืองดิจิทัล มีทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ควบคู่ไปกับการรู้เท่าทันประเด็นสุขภาพ (Health Literacy)
“ช่วงหนึ่งจะมีข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรต่างๆ กระชายขาวปั่นแล้วกินได้เลย ก็มีข้อควรระวังซึ่งเราจะต้องควบคู่ไปกับการรักษาทางเลือกของทางโควิดด้วย ซึ่งสมุนไพรก็มีส่วนอยู่เยอะ ดังนั้นเราจะรักษาสมดุลในเรื่องของข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่ชาวบ้านจะต้องแสวงหาเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเนื้อเรื่องหลักในการที่เราจะทำคู่กันไป” ภญ.ชโลม กล่าว
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายอันดามันโคแฟค , เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เครือข่ายอันดามันโคแฟค เคยได้รับการอบรมในเวทีโคแฟคสัญจรภาคใต้ มีจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ เข้าร่วม และทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนของ 3 จังหวัด ร่วมด้วยเครือข่าย อสม. และเครือข่ายผู้สูงอายุ อาทิ ที่ จ.กระบี่ มีหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุ จะตรวจสอบอย่างไรให้รู้ความจริงอย่างชัดเจน ส่วนที่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต มีการรวมตัวกันผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อตรวจสอบข่าวและกระจายข้อมูลที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน
อนึ่ง การทำงานของเครือข่าย จ.ภูเก็ต ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุถูกมิจฉาชีพหลอกลงทุน จึงร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดวิทยากรมาร่วมพูดคุยในรายการ “สุขสันต์วันเสาร์” ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนต่างๆ ว่าต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น การลงทุนนั้น ก.ล.ต. รับรองหรือไม่ หรือเป็นแชร์ลูกโซ่
“ สิ่งที่เราจะตรวจสอบนั้นมีอยู่ 3 ด้าน ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เอาภาพเก่ามาเวียนซ้ำ อันนี้เยอะมาก หรือด้านสุขภาพซึ่งก็สอดคล้องกับที่สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเขาทำอยู่ เรื่องยา เรื่องสมุนไพร เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหลาย แล้วก็ด้านเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะตกเป็นเป้าหมาย เช่น เชิญชวนให้ลงทุน ลงหุ้นโน่นนี่ ซึ่งมีอยู่มาก ” นายเจริญ กล่าว
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ยังมี 2 วิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข่าวลวงมาร่วมให้มุมมอง โดย นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ. อสมท. กล่าวว่า แนวคิดที่เคยพูดคุยกันเมื่อ 2-3 ปีก่อน วันนี้ถูกนำไปขยายผลอย่างมากในการสร้างนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องรอส่วนกลาง อีกทั้งนำจุดแข็งของตนเองมาผสมผสาน วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยหวังให้คนในพื้นที่ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม ข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์
“สิ่งที่แต่ละท่านทำก็ได้ทำจากความถนัดของตัวเอง ทำจากเครือข่ายที่มี ทำจากเป้าหมายที่มีอยู่แล้วและนำมาขยายผลต่อ ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการแก้ปัฐหาข่าวปลอม-ข้อมูลเท็จในพื้นที่ แล้วก็สามารถช่วยป้องกันภัยเฉพาะหน้าได้ทันที” นายพีรพล กล่าว
ขณะที่ นายธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative (GNI) กล่าวว่า จากที่รับฟังผู้ตรวจสอบข้อมูลทุกภูมิภาค พบว่าต้องการเทคโนโลยีตรวจสอบภาพว่าเป็นเหตุการณ์ในอดีตแต่ถูกแชร์วนซ้ำ หรือเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ ดังนั้นหากในอนาคตมีการจัดอบรมกันอีกในระดับภูมิภาคก็น่าจะเน้นประเด็นนี้มากขึ้นเพราะเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย รวมถึงเพิ่มเติมในส่วนกระบวนการทำงานตรวจสอบที่เข้าใจง่ายและเข้าใจตรงกันทั้งเครือข่าย
ซึ่งหากเป็นคนทำงานด้านสื่อหลายคนจะเข้าใจกระบวนการตรวจสอบ อีกทั้งรู้จักบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวสามารถติดต่อขอให้ช่วยอธิบายข้อมูลต่างๆ ได้ แต่หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานนี้ แม้เห็นข้อมูล ดูแล้วมั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องจริงแต่ไม่รู้จะไปหาอะไรมายืนยันแล้วจะทำอย่างไร เช่น ทักษะการติดต่อสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบว่าคนคนนั้นมีตัวตนจริง อยู่ในเหตุการณ์จริง ตลอดจนการแยกแยะระหว่างข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น จะใช้วิจารณญาณอย่างไร
“ บางอย่างที่เป็นข้อมูลความคิดเห็น เช่น ความคิดเห็นด้านการเมือง หรือข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์หรือคุณวุฒิที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้น เช่น เป็นแพทย์แต่ไม่ใช่แพทย์ด้านโรคติดต่อ แต่มาให้ข้อมูลด้านโควิด บางอย่างมันเป็น Process ที่จะต้องมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือ Dis หรือ Misinformation ( ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือข้อมูลบิดเบือน) ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่า Process เหล่านี้น่าจะมีประโยชน์กับเครือข่าย ” นายธนภณ กล่าว
ปิดท้ายด้วย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง (โคแฟค ประเทศไทย) (COFACT Thailand) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า นอกจาก 7 เครือข่ายที่มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ยังมีเครือข่ายอีสานโคแฟคที่ทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ Deep South Cofact ที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จุดเริ่มต้นในครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายเพิ่มเติม และต้องขอบคุณ สสส. ที่เห็นความสำคัญของการสร้างความเข็มแข็งของสุขภาพพลเมืองในการตร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง
“สิ่งที่เราจะทำกันในปีหน้าก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น นอกจากทุกท่านจะได้นำเสนอผลงานและลงลึกในการร่วมกับพี่น้องประชาชนในการรับมือกับปัญหา ซึ่งอาจจะมีการระบาดของโรคระบาดรอบใหม่หรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ รวมทั้งเราอาจจะมีความเข้มข้นทางการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น แล้วก็อาจจะมีปัญหาใหม่ๆ ตามมา โดยเฉพาะตอนนี้หน้าหนาว ฝุ่น PM อะไรต่อมิอะไรซึ่งเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ซึ่งก็เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ควรให้ความสนใจ แล้วก็น่าจะเป็น Theme ที่คาบเกี่ยวกันในแต่ละพื้นที่ที่นำเสนอ” น.ส.สุภิญญา กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-