เปิดข้อมูลการคุกคามนักการเมืองหญิงบนโลกออนไลน์: กรณีศึกษา “รักชนก ศรีนอก”

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เรามีนักการเมืองหญิงที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วน ส.ส.หญิงในสภาผู้แทนฯ ของไทยเพิ่มจาก 16.20% เป็น 19.80% โดย 1 ใน 3 ของ ส.ส. กรุงเทพมหานครเป็นผู้หญิง หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการเลือกตั้งในปี 2562

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของ ส.ส. หญิงในสภาผู้แทนฯ ไทยก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 26.80% จากการรายงานขององค์การสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ (UN Women)  

คำถามก็คือ อะไรทำให้จำนวนนักการเมืองหญิงของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และเมื่อพวกเธอก้าวเข้าสู่สนามการเมือง เส้นทางนี้เอื้อให้เธอทำงานได้อย่างเต็มที่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 23-27 พ.ค. 2566 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ที่ให้ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลและข่าวลวง

สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองไม่ว่าเพศไหนมักจะต้องประสบพบเจอ คือการถูกสาดโคลนและบิดเบือนข้อมูล ไม่ว่าเป็นเนื้อหาในเชิงเสียดสีล้อเลียน (parody) เชื่อมโยงผิดฝาผิดตัว (false connection) สร้างความเข้าใจผิด (misleading content) สวมรอยตัวตน (imposter content) เรื่องที่กุขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหาย (fabricated content) ไปจนถึงเนื้อหาที่ถูกตัดต่อปลอมแปลงเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือยุยงปลุกปั่น (manipulated content)

ทีม Thailand Hackathon ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบข่าวลวง 4 คน ได้แก่ ดนตรี ณัฐพงศ์, เปมทัต จันทร์หอม, สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล และพริม มณีโชติ ได้รวบรวมเนื้อหาออนไลน์ที่เป็นการคุกคามและเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับนักการเมืองหญิงที่เลือกมาเป็นกรณีศึกษา คือ น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล  

ทีมงานได้เลือกแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องมาจำนวนหนึ่ง เช่น #อีไอซ์ #นานาไอซ์โดนทำร้าย #ไอซ์รักชนก จากนั้นจึงรวบรวมข้อความที่ติดแฮชแท็กดังกล่าวที่โพสต์และแชร์ในเฟซบุ๊กจำนวน 3,397 ข้อความ และข้อความในทวิตเตอร์ 6,322 ข้อความ รวมทั้งหมด 9,719 ข้อความ ในช่วงเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565-พฤษภาคม 2566 เพื่อศึกษาใน 2 ประเด็น คือ  

  • ข้อความที่คุกคามและสร้างความเสียหายเหล่านี้เป็นการกระทำของบุคคลแบบปัจเจก (individual) หรือเป็นปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารที่ทำอย่างเป็นระบบเพื่อโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (information operation)
  • นักการเมืองหญิงพบเจอกับการคุกคามและโจมตีทางออนไลน์ในรูปแบบใดบ้าง

จากการวิเคราะห์ข้อความที่รวบรวมมา เราพบว่าเนื้อหาทางออนไลน์ที่ใช้โจมตีนักการเมืองหญิง (ส.ส.รักชนก) มี 4 ลักษณะ คือ

  1. ลดทอนคุณค่า (devalued) เช่น การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาและการแต่งตัวของ น.ส.รักชนก แทนที่จะพูดถึงสิ่งที่เธอต้องการสื่อสาร การเปรียบเทียบว่านักการเมืองหญิงไม่มีศักยภาพในการทำงานเท่ากับนักการเมืองเพศชาย การใส่คำนำหน้าในเชิงลดทอนคุณค่า เช่น “อี” เป็นต้น โดยเนื้อหาประเภทนี้มีมากถึง 56% ของข้อความที่รวบรวมมา
  2. ลดทอนความน่าเชื่อถือ (discredit) ด้วยการตัดต่อข้อความเพียงบางส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจผิด คิดเป็น 20% ของข้อความทั้งหมด
  3. คุกคามทางเพศ (sexual harassment) เช่น นำภาพบุคคลอื่นมาสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นภาพของ น.ส.รักชนก คิดเป็น 12% ของข้อความทั้งหมด
  4. สแปม (spam) เช่น แนบภาพไปกับการขายสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้อง คิดเป็น 8% ของข้อความทั้งหมด
  5. การข่มขู่คุกคาม (threat) เช่น ชี้เป้าว่าเป็นบุคคลที่ไม่จงรักภักดี ให้พรรคพวกพิจารณาเองว่าจะจัดการอย่างไร คิดเป็น 4% ของข้อความทั้งหมด

เนื่องจากชุดข้อมูลและข้อสังเกตนี้จะได้มาจากการเก็บตัวอย่างเนื้อหาออนไลน์ที่โจมตีนักการเมืองหญิงเพียงหนึ่งคน ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน จึงไม่สามารถที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดที่นักการเมืองหญิงคนอื่น ๆ ต้องเจอได้ แต่ในจังหวะที่ประเทศไทยยังคงมีจำนวนนักการเมืองหญิงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก สื่อมวลชนรวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงให้ความสนใจกับเรื่องรูปร่างหน้าตาและการแต่งตัวของนักการเมืองหญิงมากกว่าสิ่งที่พวกเธอสื่อสารหรืออภิปรายในสภา ดังนั้นการตระหนักรู้ว่าอคติในใจเรานั้นเกิดจากการไม่ชอบท่าทีของนักการเมืองคนหนึ่ง อาจเป็นเพราะสิ่งที่เธอแสดงออก หรือเป็นเพราะเพศของเธอ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

และอย่าลืมว่า เนื้อหาออนไลน์ที่เรารวบรวมมาในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการโจมตี นักการเมืองหญิงเพียง 1 คน ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน หากรวมข้อความทั้งหมดที่คุกคาม โจมตี ใส่ร้ายป้ายสี ลดทอนคุณค่านักการเมืองหญิง รวมถึงผู้หญิงจำนวนมากในโลกออนไลน์ ย่อมมีปริมาณมหาศาลและมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากอย่างแน่นอน

เรื่องแนะนำ