เสียงกระซิบจากผู้หวังดี: สื่อไทยกับความเสี่ยงต่อการปล่อยข่าวลวง

บทความ-รายงานพิเศษ

13 มิถุนายน 2566

รายงานเชิงวิเคราะห์โดย กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา องค์กรไม่แสวงผลกำไรสากลที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับข่าวลวง Global Disinformation Index (GDI) ได้เผยแพร่รายงานประเมินความเสี่ยงของสำนักข่าวออนไลน์ในไทยต่อการเผยแพร่ข่าวลวงเป็นครั้งแรก โดยวิเคราะห์จากทั้งเนื้อหาและระบบการปฏิบัติงานของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 33 แห่งที่มียอดผู้เข้าชมทางเว็บไซต์และการเข้าถึงทางโซเชียลมีเดีย เป็นลำดับต้นๆ พบว่า ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงอยู่ที่ 57 จาก 100 คะแนนซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงระดับปานกลางและใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น ฟิลิปปินส์ ( 55.32) อินโดนีเซีย (63)และ มาเลเซีย (59 ) ซึ่งได้มีการประเมินไปก่อนหน้านี้ ( ดูรายงานเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของGDI )

รายงานการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GDI กับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เว็บไซต์ข่าว 15 แห่งมีความเสี่ยงปานกลาง 14 แห่งมีความเสี่ยงสูง  2 แห่งมีความเสี่ยงสูงสุด และอีก 2 แห่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่ไม่มีสื่อใดมีความเสี่ยงต่ำสุด โดยในจำนวนนี้ มีสื่อโทรทัศน์ทั้งของภาครัฐและเอกชนและสื่อสิ่งพิมพ์เอกชนที่เผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ที่หันมาทำธุรกิจสื่อออนไลน์อย่างเดียว และสำนักข่าวออนไลน์เกิดใหม่รวมทั้งสื่อทางเลือก ซึ่งมีคนเข้าชมเป็นลำดับต้นๆจากการจัดลำดับของ www.alexar.com และมียอดการเข้าถึงของผู้ใช้งานในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์สูง (ดูรายชื่อสำนักข่าวออนไลน์ที่ถูกประเมินตามตารางแนบท้ายข่าว)

รายงานดังกล่าวถือเป็นกลไกใหม่ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อให้กับสื่อมวลชนทั่วโลกที่ถูกโอบล้อมอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรของข้อมูลลวงหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยไม่มีการระบุชื่อสื่อที่ถูกประเมินในรายงานว่าได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ทาง GDI จะมีการแจ้งให้สื่อเหล่านั้นทราบโดยตรงก่อนลงมือทำงานวิจัย และแจ้งอีกครั้งหลังทำงานเสร็จลุล่วงว่าสื่อนั้นมีความเสี่ยงต่อข้อมูลลวงมากน้อยเพียงใด ด้วยปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่าควรจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร

ในการประเมินผล ทีมวิจัยประเทศไทยใช้กระบวนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานของGDI โดยมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในด้านเนื้อหาและระบบการปฏิบัติงานจากเกณฑ์ชี้วัดหลักในแต่ละด้าน 10 ข้อ และ 6 ข้อตามลำดับ เมื่อนำความเสี่ยงทั้งสองด้านมาถัวเฉลี่ยกันก็จะเป็นค่าความเสี่ยงที่แต่ละสื่อได้รับจากคะแนนเต็ม100 โดยแบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 5 ระดับ คือ ระดับต่ำสุด (80.28-100) ต่ำ (68.84-80.27 ) ปานกลาง (57.41-68.83)  สูง (45.97-57.40) และสูงสุด (0-45.97 ) ทั้งนี้เนื้อหาที่นำมาวิเคราะห์มาจากการข่าวหรือบทความ 20 ตัวอย่างที่ถูกคัดเลือกจากแต่ละสื่อที่ถูกประเมิน โดยแบ่งเป็นเนื้อหาที่มีผู้แชร์บ่อย 10 ตัวอย่าง และเนื้อหาที่มีความเสี่ยงต่อข้อมูลลวงหรือที่สร้างความขัดแย้ง (adversarial narratives) ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสุขภาพ เป็นต้นฯ 10 ตัวอย่าง (ดูรายละเอียดกระบวนการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้ในรายงานฉบับเต็ม)

ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงต่ำด้านเนื้อหา (79/100) ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงสูงด้านระบบการปฏิบัติงานขององค์กรสื่อและกองบรรณาธิการ (35/100)

ผลการประเมินพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้สื่อมีความเสี่ยงสูงต่อการเผยแพร่ข่าวลวงมาจากความไม่โปร่งใสหรือชัดเจนในนโยบายขององค์กรสื่อและแนวปฏิบัติของกองบรรณาธิการ (Operation Risk) เช่น ไม่ระบุความเป็นเจ้าของสื่อและแหล่งทุนหรือที่มาของรายได้ และไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการกลั่นกรองข้อมูลหรือตรวจสอบข้อเท็จชัดเจนของกองบรรณาธิการทั้งก่อนและหลังเผยแพร่เนื้อหา มากกว่าความเสี่ยงด้านเนื้อหา (Content Risk) ของสื่อส่วนใหญ่ที่ถูกประเมิน ซึ่งถือว่าปราศจากความลำเอียง ไม่ใช้ภาษาหรือภาพที่หวือหวาหรือพาดหัวคลาดเคลื่อน และ ไม่ได้มุ่งสร้างความขัดแย้งแม้ว่าสังคมไทยยังตกอยู่ในภาวะแบ่งขั้วทางการเมือง 

นอกจากนี้ แนวโน้มที่พบคือ สื่อที่ถูกประเมินกว่าครึ่ง มีเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงด้านระบบการปฏิบัติงานในเรื่องนโยบายการเปิดเผยความเป็นจ้าของสื่ออยู่ในระดับที่ต่ำ กล่าวคือไม่มีนโยบายหรือไม่เปิดเผยความเป็นเจ้าของบนหน้าเว็บอย่างชัดเจน และจำนวน 28 แห่งไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่หรือการแก้ข่าวภายหลังอย่างชัดเจน ทำให้เกณฑ์ชี้วัดในเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือการแก้ไขข้อผิดพลาดได้รับคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด (3/100) นอกจากนี้สื่อส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการระบุชื่อผู้สื่อข่าวหรือทีมงานที่ผลิตข่าวชิ้นนั้น (byline) ตลอดจนไม่ระบุหรือชี้แจงแนวปฏิบัติในการอ้างที่มาของแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลในข่าวอย่างชัดเจน (sources and attribution) ซึ่งเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ถือเป็นแนวปฏิบัติตามหลักวารศาสตร์ที่สำคัญ ( major journalistic practice)ในการแสดงความโปร่งใสขององค์กรสื่อ ความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพึงมีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเผยจะเผยแพร่ข้อมูลลวงใหต่อสาธารณะ และสร้างความไว้วางใจต่อผู้รับสาร

ในขณะเดียวกัน มีสื่อเกือบครึ่ง(16)ที่ถูกประเมิน ได้คะแนนด้านเนื้อหาต่ำกว่าค่ามาตรฐาน (79) ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อหาที่สุ่มมาประเมินส่วนหนึ่ง เป็นข่าวประชาสัมพันธ์หรือเนื้อหาที่ได้รับการอุดหนุนจากการโฆษณา เช่น ใบ้หวย และ ดูดวง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาเหล่านี้สร้างรายได้จากโฆษณา จากการอุดหนุนโดยตรงและช่วยเพิ่มจำนวนครั้งการเข้าชมเนื้อหาอย่างเป็นกอบเป็นกำ และมักเป็นการนำเสนอในเชิงบวกของเหตุการณ์ มีการดึงประเด็นหรือใช้วิธีการเขียนที่เรียกร้องความสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการโจมตีบุคคลหรือกลุ่มใดด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านเนื้อหายังมาจากการไม่ระบุชื่อผู้สื่อข่าวหรือทีมงานที่ผลิตข่าวนั้น และการไม่ให้ความสำคัญกับการอ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวหรือข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้ค่าเฉลี่ยของเกณฑ์ชี้วัดในสองข้อนี้ต่ำอยู่ที่ 20/100 และ 35-54/100 ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่าสื่อที่ถูกประเมินมีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ปล่อยข้อมูลลวงนั่นเอง

ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อสื่อไทยที่น่าสนใจ

ในภาพรวมถือว่าสำนักข่าวออนไลน์ของไทยมีความเสี่ยงสูงในด้านระบบการปฏิบัติงานที่ไม่แตกต่างจากสื่อออนไลน์ในภูมิภาคเอเชีย ส่วนความเสี่ยงในด้านเนื้อหาถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งทำให้เห็นแนวโน้มและโอกาสในการจัดการกับความเสี่ยงต่อการเผยแพร่ข้อมูลลวงได้ดีกว่า และหากทำได้ดี สื่อไทยสามารถยืนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียในฐานะกลุ่มสื่อออนไลน์ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่หลอกลวงหรือบิดเบือน โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้ 

  • กำหนดมาตรฐานกองบรรณาธิการและหลักการในเรื่องความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง หรือถ้ามีอยู่แล้วให้นำมาเผยแพร่บนเว็บให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่าย
  • กำหนดหรือเผยแพร่นโยบายการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ข่าวหรือการแก้ไขข้อผิดพลาดหลังจากเผยแพร่ข่าวเพื่อความถูกต้องของข้อมูล
  • กำหนดนโยบายเรื่องการระบุชื่อผู้สื่อข่าวหรือทีมงานที่ผลิตข่าวให้ชัดเจนหรือให้ข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน
  • ระบุแหล่งข่าวหรือแหล่งที่มาข้องข้อมูลในข่าวอย่างชัดเจนเพื่อยืนยันความถูกต้องและโปร่งใสของข้อมูลและเนื้อหาในข่าวหรือบทความนั้น
  • เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของสื่อและฝ่ายบริหารมากยิ่งขึ้น เช่นเปิดเผยชื่อคณะกรรมการบริหารบนหน้าเว็บให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่าย

GDI แตกต่างจากการจัดลำดับแบบอื่น แต่ก็มีข้อที่ต้องปรับปรุง

ข้อดีประการแรกของรายงานฉบับนี้ คือ เป็นการเปิดเผยคะแนนต่อสาธารณะโดยไม่ระบุชื่อองค์กรสื่อ ซึ่งไม่เหมือนกับรายงานการจัดลำดับสื่อในประเภทอื่นที่ผ่านมา และประการที่สอง การวิจัยเจาะจงไปที่ปัจจัยเสี่ยงของสื่อต่อการเป็นผู้เผยแพร่ข่าวลวง โดยมุ่งให้สื่อออนไลน์และผู้กำหนดนโยบายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนรวมทั้งวงการโฆษณาหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือและคุณภาพของสื่อมากกว่าเรทติ้ง มีการสร้างแรงจูงใจให้สื่อเหล่านั้นได้ปรับปรุงนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการให้ได้มาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสากล

ผลการประเมินมีประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อไทยได้เป็นอย่างดีในเรื่องมาตรฐานทางวิชาชีพและกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการถ่วงดุลของกองบรรณาธิการที่ถูกสั่นคลอนอันเนื่องมาจากข้อจำกัดในเรื่องบุคลกรและการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด

ทัศนะส่วนใหญ่ของผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อรายงานฉบับนี้ เห็นว่าเป็นรายงานที่น่าสนใจ และเป็นก้าวที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้สื่อไทยลดความเสี่ยงต่อการเผยแพร่ข่าวลวงทั้งโดยตั้งหรือไม่ตั้งใจ 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามกับคณะผู้ทำการประเมินไว้ว่า สำนักข่าวออนไลน์ควรเป็นเป้าหมายเดียวของงานวิจัยหรือไม่ เพราะข่าวลวงส่วนใหญ่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ มีการเผยแพร่ข้อความ ภาพและเสียงโดยผู้ใช้งานเป็นหลัก นอกจากนี้เกณฑ์ในการชี้วัดบางข้อเช่นการระบุชื่อผู้สื่อข่าวในข่าวหรือการมีระบบตรวจสอบข้อมูลก่อนการเผยแพร่ อาจไม่สอดคล้องกับระบบการทำงานและวัฒนธรรมข่าวของสื่อไทย รวมทั้งภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กองบรรณาธิการข่าวมีขนาดที่กระทัดรัดลง โดยผู้สื่อข่าวต้องทำงานได้หลากประเด็นและหลายแพลตฟอร์ม และผู้สื่อข่าวที่มีทั้งประสบการณ์และศักยภาพที่สอดคล้องกับการทำงานในหลายแพลตฟอร์มมีจำกัด รวมถึงโมเดลทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปที่ต้องคำนึงถึงยอดคนอ่านและการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ส่งผลให้การคัดกรองเนื้อหาและการตรวจสอบข่าวอย่างรอบคอบและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการลดน้อยลง

ตัวแทนที่มาจากสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมได้ให้ความเห็นประกอบไว้ด้วยว่า การจัดสรรทรัพยากรขององค์กรสื่อที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อได้ตรงจุด รวมทั้งการจัดฝึกอบรมด้านทักษะและความรู้ให้สื่อได้รู้เท่าทันเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆและผลกระทบ เพื่อนำมาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ในงานข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดความเสี่ยงของการเผยแพร่ข่าวลวงในภาคธุรกิจ  และการสร้างโมเดลรายได้ใหม่ๆที่พึ่งพาแหล่งรายได้หลายทางและลดการพึ่งพาโฆษณาเพื่อให้สื่อผลิตงานที่มีคุณภาพมากขึ้น 

ผู้เขียนในฐานะที่ได้เข้าร่วมให้ความเห็นต่อรายงานประเทศไทยของGDI เห็นว่ารายงานฉบับนี้ออกมาในห้วงเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การเผยแพร่ข่าวลวงที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง  ซึ่งต้องยอมรับว่ามีสำนักข่าวออนไลน์จำนวนหนึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะและองค์ประกอบไปในเชิงสร้างขัดแย้งหรือเข้าข่ายสร้างข้อมูลลวงหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่อาจสร้างความชอบธรรมในการทำลายผลการเลือกตั้งโดยสุจริต และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและบานปลายเป็นความขัดแย้งทางกายภาพได้ หากแต่องค์กรวิชาชีพสื่อและภาคประชาสังคม จะมองว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระสำคัญที่จะต้องหันมาทบทวนและถอดบทเรียนการรายงานข่าวของสื่อไทยในบริบทความขัดแย้งและวังวนของข่าวลวงอีกครั้งหรือไม่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสื่อไทยและส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สื่อสารทางการเมืองที่ในโลกออนไลน์ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ปราศจากอคติและการสร้างความเกลียดชัง

                                  ————–