‘แอปพลิเคชั่นปลอม’ หากหลงกลมิจฉาชีพติดตั้ง..เงินเก็บทั้งชีวิตอาจหายเกลี้ยงได้ในชั่วพริบตา Cofact Report 13/66

บทความ

By : Zhang Taehun

มิจฉาชีพออนไลน์ ยังคงเป็น ภัยร้าย ของพลเมืองยุคดิจิทัล และมีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถ ฉกทรัพย์สิน ของเหยื่อได้อย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้จะเห็นข่าว แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ไปพูดจาหว่านล้อมให้ปลายสาย ใช้วาทศิลป์ทั้งขู่ทั้งปลอบโดยหวังให้หลงเชื่อแล้วโอนเงิน จนภายหลังเมื่อมีการเตือนและผู้คนเริ่มรู้เท่าทันมากขึ้นเรื่อย ๆ มิจฉาชีพหลอกไม่สำเร็จแถมบางครั้งยังกลายเป็นตัวตลกถูกนำมาล้อเลียนอีกต่างหาก

เหล่าร้ายทั้งหลายจึงหันมาใช้ แอปพลิเคชั่นดูดเงิน เราจะเห็นข่าวในระยะหลังๆ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้หันไปแนะนำให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นซึ่งถูกออกแบบมาให้มีหน้าตาภายนอกคล้ายกับแอปฯ จริง ซึ่งหากใครหลงเชื่อดาวน์โหลดมาติดตั้งในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ก็เตรียมตัวถูก ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล (แน่นอนว่ารวมถึงข้อมูลที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วย) ไปจนถึง เข้าควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ แล้วเงินเก็บทั้งชีวิตในบัญชีของเหยื่อก็จะถูกมิจฉาชีพโอนออกอย่างรวดเร็วเข้า บัญชีม้า เป็นทอดๆ จนไปถึงปลายทางที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ

ดังเรื่องราวที่เป็นอุทาหรณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้ประกาศข่าวสาวคนดัง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 ได้เข้าแจ้งความที่ สน.ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ว่า มีบุคคลโทรศัพท์มาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของ กรมที่ดิน บอกให้ปรับปรุงข้อมูลที่ดินเพื่อประกอบกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้แอดบัญชีแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line) ซึ่งก็ ทำเนียน เหมือนกับบัญชีไลน์ทางการ (Line Official Account) ของกรมที่ดินอีกต่างหาก จึงแอดเข้าไปสอบถาม และได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น และให้ใส่ข้อมูลส่วนบุคคลในแอปฯ ดังกล่าว อ้างว่าเป็นการปรับปรุงข้อมูล จนท้ายที่สุดกว่าจะรู้ตัว เงินในบัญชีก็หายไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีรายงานข่าวจาก สถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่า ในวันที่ 8 ส.ค. 2566 มีพระสงฆ์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ เดินทางมาแจ้งความเรื่องถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน โดยพระรูปนี้เล่าว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 มิจฉาชีพได้อ้างเรื่องการปรับปรุงข้อมูลโฉนดที่ดิน และขอให้ทำรายการผ่านแอปพลิเคชั่นชื่อ แลนด์สมาร์ท (Land Smart) เมื่อหลงเชื่อดาวน์โหลดมาแล้วทำตามที่มิจฉาชีพบอก ซึ่งรวมถึงการ สแกนใบหน้า ครู่ต่อมาก็มีข้อความเตือนมาในโทรศัพท์มือถือ ว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชีธนาคารมากกว่า 1 แสนบาท โดยเหตุที่ตัดสินใจดาวน์โหลด เพราะแอปฯ ดังกล่าวมีตราสัญลักษณ์ของกรมที่ดินและกำลังจัดการเรื่องโอนที่ดินของวัดที่ยังไม่เสร็จสิ้น

จากเรื่องราวข้างต้น ผู้เขียนจึงลองค้นหาข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับช่องทางการติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ พบว่า สำหรับช่องทางไลน์ กรมที่ดินเคยมีการเปิดตัวบัญชีไลน์ทางการ (Line Official Account) ชื่อ @teedin เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 อันเป็นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ต้องมาแออัดใกล้ชิดในสำนักงานที่ดินเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

รูปที่ 1 : โครงการ “BOKDIN” ของกรมที่ดิน และบัญชีไลน์ @bokdin

นอกจากนั้นยังมีไอดีไลน์ @bokdin ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ตามข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR”  ของกระทรวงมหาดไทย อันเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ณ วันที่ 14 ก.พ. 2563 ระบุว่า เป็นโครงการ “BOKDIN” Project on Survey of Land Information to Accommodate Governments สำรวจข้อมูลที่ดินสำหรับประชาชนที่มีที่ดิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือมี สค 1, นส 3, นส.3ก และต้องการให้ภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเปิดให้ประชาชนแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. – 30 มิ.ย. 2563 และจะแจ้งกลับระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 31 ก.ค. 2563

โครงการ BOKDIN หรือ “บอกดิน” ยังมีการดำเนินการในระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 มี.ค.-30 มิ.ย. 2564 แต่ครั้งนี้กรมที่ดินเปลี่ยนจากการแจ้งผ่านไลน์ @bokdin มาเป็นผ่านแอปพลิเคชั่น “SmartLands” ซึ่งทางกรมที่ดินได้เปิดตัวแอปฯ ดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ในเบื้องต้นมีบริการ 15 ด้าน และต่อมาได้เพิ่มเป็น 17 ด้าน กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 มีรายงานว่าเพิ่มเป็น 18 ด้าน ซึ่งรวมถึงโครงการบอกดิน ระบบให้บริการค้นหาตำแหน่งรูปแปลงที่ดินด้วยระบบภูมิสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต (LandsMaps) ขณะเดียวกันก็ยังคงใช้บัญชีไลน์ทางการ @teedin เป็นอีกช่องทางสื่อสาร (หมายเหตุ : ในวันที่ 12 ส.ค. 2566 ผู้เขียนลองแอดไลน์ @bokdin พบว่าไม่มีบัญชีดังกล่าวแล้ว)

รูปที่ 2 : แอปพลิเคชั่น “SmartLands” รวมบริการต่างๆ ของกรมที่ดิน

ดังนั้นโดยสรุปแล้วในกรณีของกรมที่ดิน ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นจริงของกรมที่ดินคือ SmartLands และบัญชีไลน์จริงของกรมที่ดินคือ @teedin (ต้องมี @ นำหน้าด้วย) เท่านั้น อีกทั้งในวันที่ 12 ส.ค. 2566 กรมที่ดินยังมีประกาศ เรื่อง เตือนภัยกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินหลอกลวงผู้เสียหาย ย้ำว่า กรมที่ดินไม่มีนโยบายในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงโทรศัพท์ไปหาเจ้าของที่ดิน เพื่อจะให้ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือในช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ขณะที่การดาวน์โหลดแอปฯ ขอให้ทำผ่านช่องทางที่เชื่อถือได้อย่าง App Store หากใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Google Play Store หากใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ข่าวประกาศเตือนที่นำเสนอผ่านสื่อรวมถึงเพจเฟซบุ๊กทางการของกรมที่ดินอย่าง “กรมที่ดิน Fanpage” ตอนหนึ่งใช้คำว่า “แอปพลิเคชัน Landsmaps”  แต่เนื่องจาก Landsmaps เป็นเพียงฟังก์ชั่นหนึ่งของแอปฯ SmartLands โดยหากจะใช้งานก็ต้องดาวน์โหลดแอปฯ SmartLands มาติดตั้งก่อน นอกจากนั้นยังสามารถใช้งาน Landsmaps ผ่านเว็บไซต์ https://landsmaps.dol.go.th/ ได้อีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นจึงอยากให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะมิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสจากจุดเล็กๆ นี้ ไปสร้างแอปฯ ปลอมมาหลอกลวงเหยื่อได้อีก

รูปที่ 3 : ถ้อยคำ แอปพลิเคชัน Landsmaps” บนเพจเฟซบุ๊ก กรมที่ดิน Fanpage” (เผยแพร่ ณ วันที่ 12 ส.ค. 2566) อันเป็นเพจทางการของกรมที่ดิน ซึ่งจริงๆ แล้ว Landmaps เป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในแอปพลิเคชั่น “SmartLands” โดยต้องดาวน์โหลดแอปฯ ดังกล่าวมาติดตั้งก่อน

เรื่องราวของกรมที่ดินถูกแอบอ้างโดยมิจฉาชีพ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะคนร้ายอาจปลอมเป็นหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ บริษัทเอกชน รวมถึงธนาคารใดๆ ก็ได้เพื่อหลอกลวงเหยื่อ ดังการเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ว่า มีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธนาคารและบริษัทเอกชน ถึง 29 หน่วยงาน-โครงการ (ซึ่งกรมที่ดินก็เป็นหนึ่งในนั้น) ถูกนำชื่อไปแอบอ้างเพื่อหลอกลวงทรัพย์สินจากประชาชน

โดยคำแนะนำที่ทางโฆษก บก.สอท. แนะนำไว้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่น อาทิ ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น , ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย เช่นไฟล์นามสกุล .Apk , ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด , ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ,  หากติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router

ขณะที่การเฝ้าระวังบัญชีไลน์ ให้สังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย ควรตรวจสอบโดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขโทรศัพท์หรือเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่

จากคำเตือนข้างต้น หลักการที่ยังใช้ได้เสมอคือ ตั้งสติแล้วตรวจสอบให้ชัดก่อนตัดสินใจทำรายการโดยเฉพาะหนึ่งในข้อสังเกตคือ มิจฉาชีพจะพยายามไม่ให้เหยื่อได้มีโอกาสตรวจสอบทั้งการค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นหรือสอบถามบุคคลอื่นที่ไว้ใจได้ โดยพยายามจะให้คุยกับบุคคลที่มิจฉาชีพได้วางตัวไว้แล้วเท่านั้น เช่น กรณีของผู้ประกาศข่าวสาวคนดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า 

ขณะที่ตนเองพยายามจะใช้คอมพิวเตอร์ แต่มิจฉาชีพบ่ายเบี่ยงให้ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยบอกว่าจะอัพเดทข้อมูล จึงขอให้ตนอัปเดทข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันของกรมที่ดิน เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันแล้ว ปลายสายมีการแนะนำให้ทำตามขั้นตอนการลงทะเบียนในระบบแอปพลิเคชัน มีการยืนยันรหัส OTP และสแกนหน้า 2-3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนเวลาล่วงเลยไปนานกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งตลอดการพูดคุยมีการประวิงเวลา เพื่อไม่ให้ตัววางสายและออกจากแอปพลิเคชัน

รวมถึงล่าสุดที่มิจฉาชีพมีวิธีหลอกลวงแบบใหม่คือ สร้างเรื่องขู่ให้เด็กหรือเยาวชนกลัว เพื่อบีบให้แกล้งสร้างเรื่องว่าถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ แล้วนำเรื่องนี้ไปหลอกให้พ่อแม่ผู้ปกครองโอนเงิน เรื่องนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ทางตำรวจพบ 4 กรณี ที่มิจฉาชีพใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่ แล้วส่งรูปลูกหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้ไปให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องโอนเงินให้ไป 

ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว ลูกหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้นพ่อแม่คาดว่าเป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนเชิงลึก พบว่า เป็นคดีที่ลูกหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและบังคับให้ถ่ายคลิปหรือภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีลูกหลานของตนเอง หรือเข้าบัญชีม้าแล้วหลบหนีไป โดยมิจฉาชีพจะพยายามตัดการเชื่อมต่อทุกช่องทางระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลาน ดังที่ พล.ต.อ.สมพงษ์ ให้ข้อมูลว่า

หลอกให้ผู้เสียหายย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกผู้เสียหายว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่ , หลอกให้ผู้เสียหายลบแอปฯ ที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น เพื่อไม่ให้ติดต่อกับคนอื่น , หลอกให้ผู้เสียหายปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ติดต่อกับมิจฉาชีพ รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line ของผู้เสียหายผ่าน PC-iPad ตลอดเวลา

เพราะอันที่จริงแล้ว “หลายเรื่องที่มิจฉาชีพหลอกลวง สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ เพียงแค่มีเวลาค้นหาในอินเตอร์เน็ต” เช่น ชื่อเว็บไซต์ ที่อยู่เว็บไซต์ (URL) เพจเฟซบุ๊ก หรือบัญชีไลน์ที่ถูกต้องของหน่วยงาน แม้กระทั่งหมายเลขโทรศัพท์ที่น่าสงสัย หลายครั้งพบเป็น “ข่าวเก่า” เคยมีคนถูกหลอกและมีคำเตือนจากผู้เกี่ยวข้องกันมาแล้ว หรือในกรณีมีหมายเลขโทรศัพท์หรือมีบัญชีเฟซบุ๊ก-ไลน์ที่ไม่คุ้นเคยโทรหรือทักเข้ามา อ้างเป็นคนรู้จักขอยืมเงิน หากเรามีหมายเลขโทรศัพท์ บัญชีเฟซบุ๊กหรือไอดีไลน์ของบุคคลที่ถูกอ้างถึงนั้นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ลองเสียเวลาสักเล็กน้อยโทร.หรือทักไปสอบถามย้ำอีกครั้ง อาจจะได้ทราบว่านั่นไม่ใช่ตัวจริงแต่เป็นมิจฉาชีพสวมรอยก็เป็นได้

รูปที่ 4 : ตัวอย่างแอปพลิเคชั่น Google Play (แอปฯ ปลอม) กับ Google Play Store (แอปฯ จริง)

อนึ่ง ในช่วงท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนขอฝากเตือนจากข่าวเล็กๆ ที่รายงานโดย The Rakyat Post สำนักข่าวออนไลน์ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 ว่า ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2566 มีชายวัยเกษียณคนหนึ่งไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Google Play Store ที่เป็นแอปฯ ปลอม จนสูญเงินไปราว 7.1 หมื่นเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) และต่อมาในวันที่ 11 เม.ย. 2566 ตำรวจสิงคโปร์ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์แจ้งเตือนประชาชน โดยเผยให้เห็นว่า แอปฯ ปลอมนั้นชื่อ Google Play ในขณะที่แอปฯ จริงนั้นชื่อ Google Play Store

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น Google Play Store อันเป็นแหล่งรวมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ถูกพัฒนาให้ใช้งานสำหรับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ Android โดยแอปฯ ที่เข้ามาอยู่ใน Google Play Store ถือว่าค่อนข้างน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ในด้านความปลอดภัย ปกติแล้ว Google Play Store จะถูกติดตั้งมากับเครื่องโทรศัพท์ตั้งแต่ต้น แต่ก็พบว่ามีมือถือ Android บางยี่ห้อหรือบางรุ่นที่ไม่ได้ติดตั้งมา ดังนั้นผู้ที่ต้องการดาวน์โหลดแอปฯ ต่างๆ จึงต้องทำผ่านเว็บไซต์ โดย URL ที่ถูกต้องของ Google Play Store คือ https://play.google.com/ 

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

บอกกล่าวกับผู้อ่าน : ข่าวและข้อมูลในบทความนี้ ผู้เขียนทำการสืบค้น ณ วันที่ 12 ส.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนั้นข้อมูลอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้ 

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/330482 (ผู้ประกาศข่าวถูกหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงินสูญกว่า 1 ล้านบาท : ThaiPBS 9 ส.ค. 2566)

https://www.naewna.com/local/748779 (พระวัดดังบางบัวทองถูก’แก๊งคอลเซนเตอร์’ตุ๋นเงินกว่า1แสนบาท อ้างเป็นจนท.จากกรมที่ดิน : แนวหน้า 8 ส.ค. 2566)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200625092920849 (กรมที่ดิน เปิดบริการรูปแบบใหม่บนแอปพลิเคชันไลน์ สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 25 มิ.ย. 2563)

https://www.facebook.com/prmoithailand/photos/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A-line-official-account-%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1/1389479277907953/ (เพจ “กระทรวงมหาดไทย PR” แจ้งโครงการ BOKDIN 14 ก.พ. 2563)

https://www.thansettakij.com/real-estate/470769 (เริ่มแล้วโครงการ “บอกดิน 2” ลุยสำรวจข้อมูลออกโฉนดที่ดินในพื้นที่)

https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_6568491 (กรมที่ดิน ดำเนินการโครงการ “บอกดิน” (ระยะที่ 2) : ข่าวสด 17 ส.ค. 2564)

https://www.thansettakij.com/real-estate/493377 (เช็คเลย “บอกดิน”  2 กรมที่ดิน ตรวจสอบสิทธิ์ ได้โฉนด ช่องทางไหนบ้าง : ฐานเศรษฐกิจ 25 ส.ค. 2564)

https://www.naewna.com/local/531414 (กรมที่ดิน เล็งจดทะเบียนออนไลน์ต่างสำนักงาน นำร่องในพื้นที่กทม.ปี64 : แนวหน้า 12 พ.ย. 2563)

https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_6354780 (กรมที่ดิน ปลื้มยอดดาวน์โหลดแอป “SMARTLANDS” พุ่งเกิน 100,000 ครั้ง : ข่าวสด 22 เม.ย. 2564)

https://www.thansettakij.com/business/economy/568272 (รู้จัก “SmartLands” แอปฯเดียวจบครบทุกเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน : ฐานเศรษฐกิจ 16 มิ.ย. 2566)

https://www.js100.com/en/site/news/view/132202 (กรมที่ดินยืนยัน! ข้อมูลที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชนไม่ได้หลุดจากกรมที่ดิน : จส.100 12 ส.ค. 2566)

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02xMsKf44vWenaMnWqmC8KbMMDZzAYHtuq5n58rv54MBcSmTknFGibwUVuPcn5vmFGl&id=100067538825832&eav=AfaH3lWHeDuH7sXghuelOq-rkXRR3v2UpbGoeTA-ZahO2lpB9RuxQ9bjDSMYOm_LwQg&refid=17&paipv=0 (เพจ “กรมที่ดิน Fanpage” แจ้งเตือนมิจฉาชีพแอบอ้าง 12 ส.ค. 2566)

https://news.ch7.com/detail/534342 (เตือนภัย ระวังแอปพลิเคชันธนาคารปลอมหลอกกู้เงิน ถอนเงินออกจากบัญชีเกลี้ยง : ช่อง 7 6 ธ.ค. 2564)

https://www.thaipost.net/hi-light/358135/ (ตรวจสอบด่วน! รายชื่อ 29 หน่วยงานรัฐ-เอกชน ที่มิจฉาชีพใช้อ้างหลอกลวงประชาชน : ไทยโพสต์ 11 เม.ย. 2566)

https://www.thaipbs.or.th/news/content/330541 (เบอร์แปลกอย่ารับ! เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ นศ.เรียกค่าไถ่ : ThaiPBS 11 ส.ค. 2566)

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02nb4UWD7u15AqD8oXfjHVo4KE3RwA3zHUEEtPwCNzDnj9qDfKfKdVG7id2hCwFiDil&id=100069795866839&eav=Afbe6UaIu6CB57VhCPCrvpd-4v0iXC-RGpfZqRjm_T8JwpAOdP7CTeewvRIgf8DjIGs&paipv=0 (ตำรวจไซเบอร์ เผยสารพัดกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ยอมรับจับยากเพราะอยู่ต่างประเทศ-ป้องกันตัวเองดีที่สุด : Cofact 14 เม.ย. 2566)

https://www.therakyatpost.com/tech/2023/04/15/beware-of-fake-google-play-app-retiree-loses-more-than-200k-in-life-savings/ (Beware Of Fake Google Play App, Retiree Loses More Than 200k In Life Savings : The Rakyat Post 15 เม.ย. 2566)