‘สิทธิการสื่อสาร’ ในสังคมไทย หลายอย่างดีแล้ว..แต่ยังเคลื่อนต่อได้อีก

Editors’ Picks

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในวงเสวนา “การทบทวนบทเรียนและก้าวต่อไปสู่ความจริงและความเป็นธรรม ผ่านมุมมองของคน5 เจเนอเรชั่น” ในงาน Media Forum #20 “50 ปี 14 ตุลา 2516 กับสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ว่า เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งสะท้อนช่องว่างของคนแต่ละรุ่น (Generation Gap)

กล่าวคือ ในขณะที่คนรุ่นหนึ่งบอกว่ายุคปัจจุบันนี้เสรีภาพมีอย่างล้นเกิน แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ที่มองว่าไม่มีเสรีภาพเลย หมายถึงคนที่มีความรู้สึกแตกต่างกันอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกัน ซึ่ง 50 ปีที่ผ่านมาในเรื่องสิทธิการสื่อสาร อาจดูลุ่มๆ ดอนๆ มีทั้งมุมที่ดีและมุมที่เป็นข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมุมใด ทั้งนี้ ในยุค 1970 (ปี 2513-2522) ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็น ทั่วโลกมีปรากฏการณ์ New World Information Disorder เพราะมีการต่อสู้กันในเชิงข้อมูลข่าวสารระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม

ขณะที่ปัจจุบันก็มีในรูปแบบคล้ายกัน แต่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นก็เปลี่ยนอะไรไปหลายอย่าง รวมถึงรูปแบบของปัญหา เช่น ข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation) ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ข่าวปลอม (Fake News) ไปจนถึงการเข้าสู่ยุคหลังความจริง (Post-Truth) หมายถึงยุคที่มีคำถามว่าอะไรคือความจริง และแม้สื่อจะยังถูกคาดหวังว่าจะต้องนำเสนอความจริง แต่บางครั้งข่าวปลอมกลับมาจากสื่อเสียเองเพราะไปติดกับดักข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันมาบนพื้นที่ออนไลน์

น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง จากที่ติดตามเรื่องนี้มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ต้องบอกว่าประเทศไทยนั้นมีกฎหมายเกือบทุกฉบับในแบบที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังมีกลไกกำกับดูแลและกองทุนสนับสนุน เรียกว่าดีกว่าอีกหลายประเทศจนสามารถเปิดให้มาดูงานได้ แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของกลไกเหล่านี้ตนจึงไม่แน่ใจว่าคนไทยคาดหวังสูงหรือที่ผ่านมายังเดินกันไม่ถูกทาง หรือแม้แต่ถูกทางแล้วแต่ยังต้องเดินกันต่อ เช่น ในเชิงโครงสร้างมีทั้งหมดแล้ว แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุอยู่ที่เชิงวัฒนธรรมหรือไม่

“กฎหมายมันเป็นเชิงนโยบาย แต่สุดท้ายมันต้องอาศัยวัฒนธรรม ก็คือคน การรู้เท่าทัน ความมีอารยะ (Civilization) คือเราต้องกลับมาในเรื่องของปัจเจกแล้วหรือเปล่า? ที่อาจต้องสร้างความเข้มแข็งเฉพาะตัวผ่านทางสังคม แล้วในมุมโครงสร้างเราจะต้องทำอะไรต่อไหม? เช่น น้องนักศึกษาบอกต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องแก้กฎหมายบางฉบับ ก็ว่ากันไป แต่ทำอย่างไรที่การปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่ต้องไปต่อกับเชิงวัฒนธรรมที่มันจะต้องเสริมขึ้นไปคู่กัน” น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวอีกว่า หากถามเกี่ยวกับอนาคตให้บอกตรงๆ ก็มองว่าคงไม่โสภาเท่าไร จากหลายปัจจัยทั้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สงคราม ภัยธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ดังนั้นนอกจากเรื่องสื่อแล้วก็ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมา อาจมีวิกฤตต่างๆ มากขึ้นในช่วง 15-20 ปีข้างหน้านี้ จึงต้องตั้งรับกันอย่างมาก ดังนั้นสุดท้ายก็กลับมาที่บทบาทของสื่อมวลชน

ซึ่งสื่อในต่างประเทศก็จะมีปัญหาคล้ายกัน แต่สุดท้ายการที่สื่อจะอยู่รอดได้คือต้องใช้เสรีภาพกับคุณภาพ เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นสื่อที่เชื่อถือได้ (Trusted Media) และกาลเวลาจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะถูกจัดให้เป็น Trusted Media หรือถูกจัดเป็นเนื้อหา (Content) ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งความแตกต่างในจุดนี้จะช่วยทั้งสังคมและความยั่งยืนขององค์กรสื่อเองด้วย

ทั้งนี้ มีคำแนะนำว่า ในการทำให้องค์กรสื่ออยู่รอดพร้อมกับสามารถธำรงไว้ซึ่งอุดมคติของวิชาชีพต้องมีรูปแบบของ Non-Profit Media (สื่อที่ไม่เน้นแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก) ซึ่งปัญหาที่มักถูกพูดถึงกันมาตลอดคือการผลิตผลงานข่าวที่มีคุณภาพต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้มีแนวคิดว่า น่าจะมีกองทุนสักกองทุนหนึ่งแล้วให้ภาคเอกชนที่อยากทำ CSR และอยากเห็นสื่อที่ดี รวมถึงภาคสังคม มาลงขันสนับสนุนผ่านกองทุนนี้ ซึ่งจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างคนทำสื่อกับผู้สนับสนุนทุน (Sponsor) เพราะไม่ใช่การผูกกันว่าสื่อนี้ได้รับเงินจากบริษัทหรือหน่วยงานใด


ขอบคุณที่มา https://www.naewna.com/local/764842