เบื้องหลังการแกะรอยหาต้นตอ ระเบิดสังหารหมู่ ‘โรงพยาบาลกาซ่า’ COFACT Report 20/66

ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิกเครือข่าย Cofact Thailand

เหตุระเบิดปริศนาที่โรงพยาบาลในกาซ่า นอกจากจะเป็นโศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรมและสร้างแรงสะเทือนไปทั่วภูมิภาคแล้ว ยังเป็น “โจทย์หิน” สำหรับบรรดาสื่อมวลชนทั่วโลกในการรายงานเหตุดังกล่าวอย่างรอบด้านและยึดโยงกับข้อเท็จจริงที่สุด ตอกย้ำความสำคัญของ ‘fact checker’ ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้สรุปแนวทางของ 3 สำนักข่าว New York Times – BBC – The Associated Press ในการเสาะหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับสื่อมวลชนไทยและผู้ที่สนใจการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง

‘สงครามกาซา’ รอบล่าสุดระหว่างอิสราเอลและกองกำลังฮามาส ดำเนินมาอย่างดุเดือดกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ท่ามกลางความสูญเสียของประชาชนทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และวิกฤติมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่าที่กำลังถูกปิดล้อมและกลายเป็นเป้าโจมตีทางอากาศอย่างไม่หยุดยั้งจากทัพอิสราเอล

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอย่างเฉียบพลัน เมื่อเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ “โรงพยาบาลอัลอาห์ลี” กลางฉนวนกาซา ในกลางดึกของคืนวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งมีทั้งผู้ป่วย บุคคลากรทางแพทย์ และประชาชนที่ลี้ภัย รวมตัวกันอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลอย่างแออัด 

รายงานจากทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและพยานเหตุการณ์ระบุตรงกันว่า มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย ด้านทางการกาซ่าและกลุ่มฮามาส แถลงว่ากองทัพอากาศอิสราเอลทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลดังกล่าว 

ทันทีที่ข่าวปรากฏออกไป ได้สร้างความเดือดแค้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง  เสมือนเป็นน้ำมันที่ราดใส่เชื้อไฟความโกรธแค้นต่อรัฐอิสราเอลที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รัฐบาลจอร์แดนถึงกับสั่งยกเลิกการพูดคุย 4 ฝ่ายที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน มีกำหนดจะเข้าร่วมทันที 

อย่างไรก็ตาม กองทัพอิสราเอลแถลงโต้ทันควันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี และยืนยันด้วยว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะจรวดของกองกำลังติดอาวุธในฉนวนกาซาที่ยิงใส่อิสราเอล แต่ขัดข้องเสียก่อน จึงตกใส่โรงพยาบาล

จากโศกนาฏกรรม กลายเป็น “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามชิงการนำผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปริศนาและน่าสับสนขึ้นกว่าเดิม

ร้อนถึงสื่อมืออาชีพหลายสำนัก ต้องสวมบท fact checker และได้พยายามแกะรอยตามหาว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดสังหารหมู่ที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำคัญในการ fact check เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด 

สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการ fact check จากสามสำนักข่าว AP, New York Times และ BBC มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจวิธี fact check ในประเทศไทย 

  • อุปสรรคในการเสาะหาความจริง

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยากเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากการปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างสิ้นเชิงโดยกองทัพอิสราเอล ทำให้แทบไม่มีทีมข่าวและผู้สังเกตการณ์นานาชาติสามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลายสำนักข่าวจึงต้องอาศัยถ้อยแถลงจากเจ้าหน้าที่กาซ่าและกลุ่มฮามาสในพื้นที่เป็นหลักในการเสนอข่าวช่วงแรก 

อีกเหตุหนึ่งคือ การที่ทั้งสองคู่ขัดแย้ง (กองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาส) มีประวัติเรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริงและ “ป้ายสี” อีกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างที่หลายคนในวงการสื่อมวลชนคงจำกันได้ คือกรณี ชิรีน อะบู อากิละ (Shireen Abu Aqla) ผู้สื่อข่าวหญิงของอัลจาซีร่า ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะรายงานข่าวการประท้วงในเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์เมื่อปี 2022 และกองทัพอิสราเอลปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว พร้อมโบ้ยว่ากองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์เป็นฝ่ายยิง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐานในเวลาต่อมา และยอมรับว่าทหารอิสราเอลยิง Shireen เสียชีวิตตามที่มีหลักฐานปรากฎจริง 

ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญคือ การที่จะชี้ชัดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล หรือจรวดที่ยิงพลาดของกลุ่มติดอาวุธ ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการทหารที่ค่อนข้างซับซ้อน เกินขอบเขตศักยภาพของคนทำงานสื่อส่วนใหญ่อย่างแน่นอน

  • สื่อทั้งสามรายงานข่าวอย่างไร?

ทันทีที่มีกระแสข่าวว่าเกิดเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี สื่อทั้งสามสำนักมีแนวทางรายงานคล้ายๆกันคือพาดหัวว่า เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ระบุว่าการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอลที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 500 ราย

แต่ทันทีที่อิสราเอลโต้ตอบว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และโทษว่าเป็นความผิดของกลุ่มติดอาวุธ ทั้งสามสำนักข่าวก็เปลี่ยนพาดหัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น เช่น “อิสราเอลกับฮามาส โทษกันไปมาเกี่ยวกับเหตุระเบิดโรงพยาบาลในกาซ่า” 

ในแง่นี้ สื่อไทยเกือบทุกสำนักก็มีแนวทางคล้ายกันคือ อ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจนว่าเป็นคำกล่าวอ้างของฝ่ายใด ไม่ได้พูดขึ้นลอยๆ หรือที่เรียกว่า “attribution” นั่นเอง เช่น PPTV ที่พาดหัวว่า “ระเบิดโรงพยาบาลกาซา อาจตาย 500 คน ปาเลสไตน์ชี้ฝีมืออิสราเอล” The Standard รายงานว่า “ระเบิดโจมตีโรงพยาบาลในกาซา เสียชีวิตกว่า 500 คน ฮามาส-อิสราเอล โทษอีกฝ่ายก่อเหตุ” และ MGR Online พาดหัวว่า “กองทัพอิสราเอลแถลงโต้! ไม่พบหลักฐาน ‘รพ.กาซา’ ถูกโจมตีทางอากาศ แม้คนตายไปหลายร้อย” 

ขณะที่พาดหัวของ ThaiPBS เน้นหนักว่ายังไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนทำ “ทั่วโลกประณาม! มือมืดโจมตี รพ.ในกาซา เสียชีวิตอย่างน้อยครึ่งพัน”

(ส่วนที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย คือ สำนักข่าวภาษาไทยที่พาดหัวโดยไม่รัดกุมที่สุดกลับเป็นภาคภาษาไทยของ Voice of America ที่ฟันธงแบบดื้อๆเลยว่า “อิสราเอลยิงถล่มรพ.ในกาซ่า! สังหารชาวปาเลสไตน์ราว 500 คน” แต่ภายหลังก็แก้พาดหัว เอาคำว่า “อิสราเอล” ออก)

น่าสังเกตด้วยว่า ทั้งสามสำนักข่าว NYT – BBC – AP มีข้อความต่อท้ายไว้ในข่าวของตนว่า คำกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ในขณะนี้ (“cannot be independently verified”) แต่สำนักข่าวกำลังพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด 

  •  BBC ไขความจริงจาก ‘หลุมปริศนา’

ทีมข่าวของ BBC มีข้อได้เปรียบอยู่บ้างคือ การที่มีผู้สื่อข่าวชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ฉนวนกาซา จึงสามารถเดินทางไปยังที่เกิดเหตุได้ในเวลารวดเร็วเพื่อเก็บภาพหลักฐานต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บกับผู้รอดชีวิต เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวเท่าที่จะทำได้ 

แต่การมีหลักฐานในมืออย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ทีมข่าวจึงติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร 20 คนเพื่อขอความเห็นและข้อสรุปเบื้องต้น จนรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้ 6 คน 

หลักฐานสำคัญที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันคือ ร่องรอยของหลุมที่เกิดจากระเบิดบริเวณหน้าโรงพยาบาลนั้น ดูไม่สอดคล้องกับร่องรอยจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของอิสราเอล เพราะถ้าหากเป็นการโจมตีด้วยอาวุธประเภทขีปนาวุธ หลุมที่เกิดขึ้นจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าที่ปรากฎหน้าโรงพยาบาลอัลอาห์ลีแน่นอน

นอกจากนี้ BBC ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธมักจะมีเศษซากของอาวุธหลงเหลืออยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ในกรณีนี้ กลับไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเศษขีปนาวุธให้เห็นเลย

นับว่าเป็นเสียงหนึ่งที่เพิ่มความหนักแน่นให้กับสมมติฐานว่า เหตุระเบิดดังกล่าวไม่น่าจะเกิดจากการโจมตีของกองทัพอากาศอิสราเอล

  • NYT ล้วงแหล่งข่าวหน่วยงานกรอง

ถึงแม้ว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะยืนยันว่าตนมีข่าวกรองที่เชื่อได้ว่าอิสราเอลไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี แต่ไบเดนก็ไม่ได้ให้รายละเอียดหรือแสดงหลักฐานใดๆ เพื่อสนับสนุนคำอ้างดังกล่าว ทำให้หลายคนยังคงกังขาต่อความน่าเชื่อถือของท่าทีสหรัฐ อย่างที่มีการวิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดียว่ารัฐบาลสหรัฐมีท่าทีสนับสนุนและ “ให้ท้าย” กองทัพอิสราเอลมาตลอด จะสรุปเช่นนั้นก็คงไม่แปลก

แต่รายละเอียดของข่าวกรองดังกล่าวเริ่มปรากฎชัดขึ้น เมื่อ New York Times สัมภาษณ์เชิงลึกกับแหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมและหน่วยข่าวกรองสหรัฐ เพื่อชี้ชัดว่าหลักฐานใดบ้างที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐมีความมั่นใจในข้อสรุปเช่นนั้น 

คำตอบหนึ่งคือหลักฐานจากเทคโนโลยีดาวเทียมอินฟราเรดของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ซึ่งสามารถสอดส่องและตรวจจับการระเบิดในน่านฟ้าทั่วโลก และเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่สหรัฐใช้ในการพิสูจน์ทราบต้นเหตุของ “เที่ยวบิน Malaysia Airline MH17” ที่ระเบิดกลางอากาศขณะบินผ่านน่านฟ้ายูเครนในปี 2014 จนสรุปได้ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวถูกยิงตกโดยขีปนาวุธรัสเซีย จากฝีมือกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

ในกรณีนี้ รายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองตรวจสอบภาพอินฟาเรดเหนือน่านฟ้ากาซาในห้วงเวลาคืนวันเกิดเหตุ และสรุปได้ว่าจรวดที่ตกใส่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี ไม่ได้มาจากฝั่งอิสราเอลแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่สหรัฐยังให้สัมภาษณ์ New York Times ด้วยว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐไม่ได้พึ่งพิงเฉพาะข้อมูลจากรัฐบาลอิสราเอลเพียงอย่างเดียว แต่ได้รวบรวมข้อมูลที่ดักฟังจากกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในฉนวนกาซา รวมถึงคลิปวิดิโอจากหลายๆ แหล่งที่มา จนสรุปได้ระดับหนึ่งว่ากองทัพอิสราเอลไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้

  • AP งัดหลักฐานมัดตัวจากคลิป

ด้าน The Associated Press ได้จัดทำรายงานอย่างละเอียดที่ชี้ให้เห็นว่า สมมติที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือคือโรงพยาบาลอัลอาห์ลีถูกระเบิดจากจรวดของกลุ่มติดอาวุธที่เกิดความขัดข้องกลางอากาศ

AP ใช้วิธีรวบรวมบรรดาคลิปวิดิโอที่แสดงให้เห็นบริเวณฉนวนกาซาในคืนวันที่เกิดเหตุหลายสิบคลิป รวมถึงคลิปไลฟ์สตรีมของสำนักข่าวอัลจาซีร่า ที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ไม่กี่วินาทีก่อนการระเบิดที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี

สิ่งที่ AP เจอในคลิปคือ จังหวะที่กลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซ่า ยิงจรวดชุดหนึ่งไปยังอิสราเอล ก่อนที่จรวดลูกหนึ่งมีอาการขัดข้องขณะบินขึ้นฟ้า แทนที่จะบินไปทางอิสราเอล กลับเลี้ยวไปอีกทาง จนกระทั่งแตกหรือระเบิดกลางอากาศ สังเกตได้จากแสงวาบโดยชัดเจน

ไม่กี่วินาทีต่อมา ก็เกิดระเบิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่จากโรงพยาบาลอัลอาห์ลี ใกล้บริเวณที่จรวดเกิดแตกตัวกลางอากาศ

ภาพการยิงจรวดชุดดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงของกลุ่มฮามาสเอง โดยกลุ่มฮามาสโพสต์ในกรุ๊ป Telegram ที่เป็นช่องทางสื่อสารของกลุ่มว่าได้ยิงจรวดไปยังเมืองในอิสราเอล ขณะที่กลุ่มติดอาวุธอิสลามมิกญีฮัด ก็โพสต์ข้อความเช่นเดียวกันว่า กลุ่มของตนปล่อยจรวดโจมตีไปยังทิศทางกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอล เพื่อล้างแค้นต่ออิสราเอลที่สังหารประชาชนปาเลสไตน์

ดังนั้น จรวดที่ปรากฎในคลิป จึงเป็นจรวดที่ปล่อยโดยฮามาสและพันธมิตรอย่างไม่ต้องสงสัย

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและเทคโนโลยีขีปนาวุธ ให้สัมภาษณ์กับ AP ด้วยว่าสาเหตุหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดหลายราย แต่กลับไม่ปรากฎร่องรอยความเสียหายอย่างหนักต่อตัวอาคารโรงพยาบาล น่าจะเป็นเพราะจรวดของกลุ่มติดอาวุธที่ตกใส่โรงพยาบาล ยังมีเชื้อเพลิงตกค้างอยู่มากหลังบินขึ้นเพียงไม่กี่วินาที ประกอบกับพื้นที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลที่จรวดตกใส่ มีประชาชนที่หลบภัยสงครามมาปักหลักพักพิงจำนวนมากนั่นเอง

นอกจากนี้ ทีมข่าวของ AP ยัง “debunk” สมมติฐานอื่นๆที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เช่น อิสราเอลใช้ขีปนาวุธขนาดเล็กที่ยิงจากเฮลิคอปเตอร์หรือโดรน จึงมีหลุมจากแรงระเบิดขนาดเล็ก ซึ่ง AP ระบุว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอิสราเอลใช้อาวุธดังกล่าวในห้วงเวลาที่เกิดเหตุแต่อย่างใด  

ส่วนสมมติฐานที่กล่าวว่า เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอาจเกิดจาก “คาร์บอมบ์” ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ AP พบคลิปวิดิโอของชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งในบริเวณใกล้เคียง โดยในคลิปปรากฎเสียงจรวดจากฟากฟ้าดิ่งลงใส่โรงพยาบาลอัลอาห์ลีอย่างชัดเจน

หรือสมมติฐานว่า จรวดของกลุ่มติดอาวุธอาจถูกยิงสกัดโดยระบบขีปนาวุธ “Iron Dome” ของอิสราเอล จนเศษจรวดตกใส่โรงพยาบาล ก็ไม่น่าเป็นไปได้เช่นกัน เพราะผู้เชี่ยวชาญพูดตรงกันว่าระบบ Iron Dome จะยิงสกัด และพื้นที่ของอาวุธดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมเหนือน่านฟ้ากาซาอีกด้วย

ทั้งนี้ AP ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในสงครามกาซ่าครั้งก่อนๆ ก็เกิดเหตุจรวดแสวงเครื่องของฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆในกาซา เกิดความขัดข้องขณะบินและตกใส่บ้านเรือนประชาชนชาวปาเลสไตน์บ่อยครั้งเช่นกัน

  • บทสรุป

การทำงานอย่างเข้มข้นของสามสำนักข่าวที่ยกมา เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ตอกย้ำความสำคัญของวิชาชีพสื่อมืออาชีพว่าด้วยความรอบด้านและ ความถูกต้องของข้อมูล และการพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจทานคำกล่าวอ้างของบุคคลในข่าว ไม่ว่าจะฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนควรพึงระลึกด้วยว่า ถึงแม้เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลอัลอาห์ลี มีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากฝีมือของกลุ่มติดอาวุธในกาซ่าเอง แต่ก็ยังมีความสูญเสียของพลเรือนอีกหลายๆกรณีที่เกิดจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล ซึ่งยังปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสิ้นเชิง 

ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งระเบิดใส่โรงเรียนที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านเรือนประชาชน ค่ายผู้ลี้ภัย และล่าสุดคือโบสถ์คริสต์ออร์โธดอกซ์ในฉนวนกาซา ขณะที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ข้างในจำนวนมาก ซึ่งกองทัพอิสราเอลเพิ่งยอมรับว่าเป็นผู้ทิ้งระเบิดใส่โบสถ์ดังกล่าวจริง และกำลังสอบสวนเหตุการณ์นี้อยู่

วิกฤติทางมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า โดยเฉพาะพฤติกรรมการโจมตีจากกองทัพอิสราเอลที่ดูเหมือนว่าไม่แยแสต่อชีวิตประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาส จึงยังควรเป็นประเด็นที่สื่อมวลชน นักตรวจสอบข้อเท็จจริง และผู้ที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน ควรติดตามอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

  • ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม

แนวปฏิบัติฯ การนำเสนอข่าวสงคราม หรือการสู้รบระหว่างประเทศ | สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

Tips and resources for covering the Israel-Gaza conflict | International Journalists’ Network

The basics on Israel, Gaza, Palestine and Hamas for local journalists | Poynter