‘อาชญากรรมไซเบอร์กับบทบาทผู้ตรวจการแผ่นดิน’ วงเสวนาฉายภาพหลากรูปแบบของข้อมูลลวง-มิจฉาชีพ

บทความ-รายงานพิเศษ

14 มิ.ย. 2566 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม (PLACE OF JUSTICE) และเสวนาหัวข้อ อาชญากรรมไซเบอร์กับบทบาทผู้ตรวจการแผ่นดินในยุคดิจิทัลภายใต้โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาสังคม ณ ห้อง 901-902 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านเฟจเฟซบุ๊ก สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

คมขวัญ กาญจนกุญชร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า มุ่งหวังให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน การเสนอความคิดเห็นและแนวทางแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) รวมถึงเครือข่ายหน่วยงานจากภาคส่วนต่างๆ โดยได้หยิบยกปัญหาความเดือดร้อนที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างที่ได้รับจากอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การดูดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ข่าวปลอม การหลอกลวงผ่านรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

จากนั้นจึงเป็นช่วงเสวนาในหัวข้อ อาชญากรรมไซเบอร์กับบทบาทผู้ตรวจการแผ่นดินในยุคดิจิทัล โดย รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกตัวอย่างอาชญากรรมไซเบอร์หลากหลายประเภท เช่น “Spoofing” การเข้าสู่เครื่องที่อยู่ระยะไกลโดยการปลอมแปลงที่อยู่อินเตอร์เน็ตของเหยื่อที่เข้าถึงได้ง่าย “Sniffer” การดักจับข้อมูลที่ผ่านระบบเครือข่ายทำให้ทราบรหัสผ่านของบุคคลอื่น “Modification” การเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยดักข้อมูลจากผู้ส่งแล้วแก้ไขก่อนส่งต่อให้ผู้รับ ทำให้ผู้รับได้ข้อมูลผิดพลาด “Denial of Service” การส่งข้อมูลขยะจำนวนมากไปหาเป้าหมายเพื่อให้ระบบล่ม “Delay” การหน่วงเวลา ทำให้ Server ทำงานได้ช้าลง “Remote Control” แฝงตัวเข้ามาในระบบแล้วยึดครองเพื่อควบคุมจากระยะไกล “Identity Theft” การนำข้อมูลของเหยื่อไปสวมรอย เช่น นำไปเปิดบัญชีธนาคาร “Phishing” การสร้างเว็บไซต์ปลอมหลอกเหยื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึง “Dark Web” หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตใต้ดินที่เป็นแหล่งรวมสิ่งผิดกฎหมาย “Ransomware” มัลแวร์ยึดระบบเพื่อเรียกค่าไถ่ หากไม่จ่ายเงินให้คนร้ายก็ไม่สามารถใช้งานระบบได้ เป็นต้น

นอกจากตัวอย่างข้างต้นของอาชญากรรมไซเบอร์ที่กระทำต่อวัตถุแล้ว ยังมีอาชญากรรมไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและลุกลามสู่สังคม เช่น “Information Operation (IO)” สร้างเนื้อหาแย่งชิงความเชื่อมวลชน ครอบงำความจริงให้คนในสังคมเข้าใจตามทิศทางที่ต้องการ “Hoax” การสร้างข่าวหลอกลวงเพื่อสร้างยอดผู้ชม “Psychological on cyber warfare” การทำสงครามปฏิบัติการทางจิตวิทยาบนสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อปลุกระดมทางการเมืองหรือสร้างอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง 

อาชญากรรมไซเบอร์สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในวงกว้าง กระทบในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจและสังคม เรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน เอาง่ายๆ เลย อยากให้ไปตรวจสอบในเรื่องของการถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร เรื่องของข่าวปลอมที่เกิดขึ้นว่าเราจะมีวิธีดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไข เรื่องการหลอกลวงออนไลน์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ เรื่องเว็บสินค้าออนไลน์ หาคู่ออนไลน์ สื่อลามกออนไลน์ พนันออนไลน์ ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยง และเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง รศ.อิสสรีย์ กล่าว

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่มีระบบแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ข้อมูลวันที่ 1 มี.ค. 2565 – 31 พ.ค. 2566 พบการร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางออนไลน์ 270,306 เรื่องจากทั้งหมด 296,243 เรื่อง 

ประเภทอาชญากรรมออนไลน์ตามลักษณะที่พบในประเทศไทยแบ่งเป็น 14 ประเภท เรื่องที่มีการร้องทุกข์เข้ามาส่วนใหญ่คือการฉ้อโกงหรือหลอกลวง” ไล่ตั้งแต่ อันดับ 1 หลอกซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ อาทิ ถูกหลอกโอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่ใช่เป็นผู้ขายสินค้า ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ซึ่งสร้างความเสียหายประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี อันดับ 2 หลอกชวนทำงาน วิธีการของมิจฉาชีพคือหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปให้โดยอ้างว่าเป็นค่าสมัคร ค่าตรวจสอบประวัติ ฯลฯ เหยื่อมักเป็นคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องการอาชีพเสริมอันดับ 3 หลอกกู้เงิน หลายคนต้องการเงินกู้เมื่อเจอโฆษณาทางออนไลน์จึงหลงเชื่อ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เงินกู้แล้วยังต้องเสียเงินที่มีอยู่ไปอีก โดยมิจฉาชีพจะใช้อุบายให้โอนเงินอ้างเป็นค่าดำเนินการต่างๆ นานา เช่นเดียวกับการหลอกชวนทำงาน อันดับ 4 หลอกลงทุน ข้อสังเกตคือเหยื่อมิจฉาชีพประเภทนี้มักเป็นคนมีการศึกษาสูงและมีหน้าที่การงานดี โดยมิจฉาชีพใช้อุบายสร้างรูปแบบการลงทุนที่ดูซับซ้อนแต่ฉลาดหลักแหลมน่าเชื่อถือ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อวางเงินลงทุนไปจนท้ายที่สุดพบว่าถอนเงินไม่ได้ และ อันดับ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ ก็คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

ทั้งนี้ อาชญากรรมไซเบอร์ไม่โดนกับตัวก็ไม่รู้ หรือบางคนคิดว่ารู้แล้วแต่จริงๆ คือไม่รู้ในสิ่งที่กำลังจะถูกหลอก หากมีเวลาก็อยากให้ศึกษาหาความรู้ไว้ และฝากแนวทางระมัดระวังดูจากใจคนเอง ไม่โลภ ไม่กลัว ไม่หลง มีสติ เจออะไรที่ไม่รู้จักหรือที่แปลกๆ อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ เพราะคนร้ายจะหลอกทุกวิธีการ อะไรที่คิดว่าไม่น่าจะหลอกได้ก็หลอก และ ถ้าพลาดท่าเสียเงินไปแล้วก็อย่าไปทำให้เสียเพิ่มอีก หลายคนเสียดายเงินที่เสียไปครั้งแรก ถึงขั้นไปเอาเงินทั้งหมดที่มีหรือไปกู้หนี้ยืมสินมา สุดท้ายแทนที่จะเสียน้อยกลายเป็นเสียมาก

อนึ่ง สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ ช่องว่างระหว่างวัยคนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีกันคล่องแคล่วในขณะที่ผู้สูงอายุตามไม่ทัน และเมื่อใช้ไม่เป็นก็ไม่ค่อยอยากถามลูกหลาน หรือบางทีลูกหลานก็ไม่อยากตอบ สิ่งที่อยากเสนอแนะคือ คุยเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น สร้างความตื่นตัว เช่น รู้จักแพลตฟอร์ม อวตาร (การใช้สื่อสังคมออนไลน์แบบปกปิดตัวตน) รอยเท้าดิจิทัล (ทำอะไรไว้บนโลกออนไลน์ย่อมมีร่องรอยทิ้งไว้เสมอไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม) หรือข่าวตำรวจจับมิจฉาชีพออนไลน์ ลงทุนอย่างไรไม่เสี่ยงถูกหลอก ฯลฯ เรื่องเหล่านี้สามารถคุยกันได้ หรือแม้แต่การส่งต่อข้อมูลก็ต้องระวัง เพราะคนรับข้อมูลหากมองว่าส่งจากบุคคลที่น่าเชื่อถือก็อาจหลงเชื่อ 

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเตือนซึ่งเห็นจากการมาแจ้งของประชาชน หากท่านคิดว่าถูกหลอก เสียไปน้อยก็ยอมเสียไป อย่าไปคิดว่าต้องหลงเชื่อเขา โอนเพิ่มไปอีก ถ้าตัดตรงนี้ได้ ตัดใจตัวเองได้ คิดว่าตัวเองพลาดไปแล้วก็หยุดโอน แล้วก็ไปหาข้อมูลว่ามันคืออะไร แล้วเอาข้อมูลมาแจ้งความ ตรงนี้ก็จะช่วยป้องกันตัวท่านได้ แล้วเอาเรื่องนั้นเป็นประสบการณ์มาเล่าให้คนรอบข้างท่านฟัง ก็จะช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทั้งประเทศ อาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็จะน้อยลง พ.ต.อ.เจษฎา กล่าว

สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างมิจฉาชีพออนไลน์ คือการทำเพจเฟซบุ๊กปลอมแอบอ้างเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทั้งที่เลิกกิจการไปแล้วหรือยังประกอบกิจการอยู่ ลงโฆษณาขายสินค้าบ้าง รับสมัครพนักงานบ้าง หลอกร่วมลงทุนบ้าง วิธีสังเกตง่ายๆ คือหากเป็นเพจจริงของบริษัทนั้นๆ จะมีเครื่องหมายถูก หรือดูที่ระยะเวลาการเปิดเพจ เพราะหากเป็นเพจปลอมมักเพิ่งเปิดได้ไม่นาน รวมถึงมียอดผู้ติดตามและจำนวนความคิดเห็นจากประชาชนน้อยผิดวิสัยแบรนด์ดัง 

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2565 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกันแก้ไข จนออกมาเป็น พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายของตนเอง แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่  เช่น ปกติแล้วผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมต้องไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจที่รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อเป็นคดีทางออนไลน์ก็เป็นความยากลำบากของประชาชน บางทีเกิดข้ามจังหวัดก็มี จึงแก้ไขให้สามารถแจ้งความได้ทุกท้องที่หรือผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ มีบทลงโทษ บัญชีม้า-ซิมม้า ผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร รับจ้างเปิดใช้งานซิมโทรศัพท์มือถือ หากบัญชีหรือซิมนั้นถูกนำไปใช้ทำสิ่งผิดกฎหมาย ตลอดจนการให้อำนาจธนาคารยับยั้งธุรกรรมทางการเงินบัญชีต้องสงสัยกรณีมีผู้เสียหายร้องทุกข์ว่าตกเป็นเหยื่อถูกหลอก หรือธนาคารตรวจพบธุรกรรมที่ดูน่าสงสัย เพื่อสกัดกั้นการโอนย้ายเงินโดยมิจฉาชีพ

“จะมีส่วนที่ทำได้และส่วนที่ต้องรอพัฒนา ส่วนที่ทำได้เลยก็ตามมาตรา 7 มาตรา 6 ซึ่งยังคุยกันอยู่ว่าเหตุอันต้องสงสัยเราจะเอาอะไรเป็นเหตุ เพราะต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ หากไปยับยั้งโดยที่มันไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ธนาคารบางท่านอาจจะขาดประสบการณ์ เพราะโทรไปคอลเซ็นเตอร์ก็ยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็มีการอบรมสร้างมาตรฐาน จนสุดท้ายก็จะเป็นเบอร์เดียวให้ประชาชน เพราะตอนนี้เขาแยกตามธนาคาร ตรงนี้ก็จะให้ความมั่นใจและความรวดเร็วที่จะดูแลประชาชน” ผอ.กองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ย้อนไป 20 ปีก่อน คนมองอินเตอร์เน็ตเหมือนดินแดนในอุดมคติซึ่งผู้คนจะได้มีเสรีภาพและโอกาสใหม่ๆ แต่เมื่อมีคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่จะมีอาชญากรเข้ามาด้วย จึงต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ มีคำว่า Information Disorder หรือความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร หลายคนอาจเรียกว่า Fake News หรือข่าวลวง ซึ่งเป็นคำที่แคบเกินไปและทำให้เข้าใจผิด เพราะคำว่า News หรือข่าว ตามหลักวารสารศาสตร์ต้องประกอบสร้างด้วยข้อเท็จจริง เพราะหากเป็น Fake หรือเรื่องหลอกลวง ก็ไม่มีคุณค่าเป็นข่าวตั้งแต่แรก แต่เป็น Information หรือข้อมูล

ซึ่งหาก Information ผิดเพี้ยนไป ก็จะกลายเป็นคำว่า Disinformation หมายถึงข้อมูลบิดเบือนที่มีเจตนาและเป็นเจตนาที่ไม่ดี แต่หากเป็นข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดแต่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา จะเรียกว่า Misinformation และหากนำข้อมูลจริงมาใช้หลอกลวงผู้อื่น เช่น นำรูปภาพและข้อมูลของบุคคลอื่นมาบิดเบือน เรียกว่า Malinformation หมายถึงการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีคำว่า Infodemic เป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Information กับ Pandemic (หรือ Epidemic) หมายถึงข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายเหมือนโรคระบาด และในจำนวนนี้ก็มีข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนด้วย ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของคน

สำหรับการป้องกันการตกเป็นเหยื่อข้อมูลลวง ต้องมีทักษะในการตรวจสอบ เช่น คนรุ่นใหม่อาจต้องแนะนำผู้ใหญ่ในบ้านถึงการใช้เครื่องมือ อาทิ ใช้แพลตฟอร์มโคแฟคที่มีฐานข้อมูลข่าวลวง หรือสอนวิธีดูความน่าเชื่อถือของเพจเฟซบุ๊ก ทักษะเหล่านี้ต้องเร่งเสริมสร้างอย่างเร่งด่วน หรือหากเป็นเด็กและเยาวชนก็ต้องมีหลักสูตรในระบบการศึกษา อย่างที่ประเทศฟินแลนด์ หลักสูตรไปไกลกว่า Digital Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเป็น Digital Intelligence หรือความฉลาดทางดิจิทัล ซึ่งเป็นขั้นสูงในการรับมือ เนื่องจากมีทั้งเทคโนโลยี Deepfake สามารถปลอมแปลงภาพและเสียง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จนเรื่องจริง-ลวงแทบจะแยกได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับช็อปออนไลน์ ส่วนตัวนอกจากจะใช้หลักของถูก-ของดี-ของฟรีไม่มีในโลกแล้ว ถ้ามัน Too good to be true (ดูดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้) มันก็ไม่น่าจะใช่ ต้องเตือนตัวเองอย่างนี้ อะไรที่มันดูราคาถูกเกินไป มันดูโอ้โห! ที่พักผ่อนหรูหราไฮโซเลย แต่หลับคืนละพัน คืนละพันสอง หรือห้าร้อย มันก็มีแนวโน้มจะ Too good to be true แนวโน้มจะถูกหลอกแน่นอน อาจจะต้องใช้หลักวิธีการยับยั้งชั่งใจตรงนี้ สุภิญญา กล่าว

ในช่วงท้ายยังมีการบรรยายเรื่อง รู้ทันการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทางไซเบอร์ โดย กุลธิดา สามะพุทธิ บรรณาธิการ โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงข้อมูลเท็จ 7 ประเภท 1.Satire & Parody หรือการเสียดสีล้อเลียน แม้ไม่ตั้งใจก่ออันตรายแต่ก็อาจมีผู้หลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง 2.False Connection พาดหัวกับเนื้อหาไปกันคนละทาง 3.Misleading Content ข้อมูลเท็จที่มีเจตนาชี้นำให้เข้าใจผิด 4.False Context ข้อมูลจริงแต่ผิดบริบท 5.Imposter Content สวมรอยเป็นบุคคลอื่น 6.Manipulated Content ตกแต่งภาพ-ตัดต่อคลิปวีดีโอเพื่อสร้างเรื่องเท็จ และ 7. Fabricated Content กุเรื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายในการตรวจสอบ 1.ปริมาณข้อมูลมหาศาลมาก ไม่สามารถหักล้างหรือป้องกันเรื่องเท็จได้ทั้งหมด 2.เรื่องนั้นเป็นมากกว่าข่าวลวง หมายถึงเป็นความจริงที่ถูกดัดแปลงปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจริงหรือเท็จ 3.ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติการย่อมมีเครื่องมือและการทำงานอย่างเป็นระบบ จึงไม่ง่ายที่จะรับมือ และ 4.คนไม่สนใจความจริง เพราะต่างก็เลือกเชื่อแต่ในสิ่งที่อยากเชื่อ บางเรื่องรู้ว่าเป็นเท็จแต่ก็ยังเผยแพร่ต่อเพราะสามารถใช้โจมตีบุคคลที่เราไม่ชอบได้

ขอฝากข้อเสนอแนะ 3 ข้อต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็คือ 1. เรื่องการรับมือ มันไม่ใช่แค่เรื่องการตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอมประจำหน่วยงานหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยงานของเราอีกต่อไป มันเป็นภารกิจร่วมกันของทั้งภาคประชาชน ภาครัฐทุกหน่วยงาน เราต้องสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ไม่เอื้อต่อการผลิตและกระจายข่าวเท็จ ต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันและความรู้เท่าทันของประชาชนต่อข่าวลวง 2.แต่ละหน่วยงานควรวิเคราะห์ผลกระทบของ Disinformation ในมิติที่ตรงกับภารกิจของตัวเอง อย่างกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน คงต้องมาวิเคราะห์ว่า Disinformation เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความสะดวกและการให้ความเป็นธรรมประชาชนอย่างไร ถ้าเรารู้ผลกระทบในมิติที่เกี่ยวกับงานของเราแล้ว เราก็จะวางการรับมือได้ตรงจุด และ 3.ข้อสุดท้ายใส่เครื่องหมายคำถามไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าท่านจะทำได้หรือเปล่า คือตรวจสอบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ เพราะที่ผ่านมามีประชาชนหรือการอภิปรายในสภาก็มีการพูดถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้กระทำ คือตั้งข้อสังเกตว่ามันมีจริงหรือเปล่า กุลธิดา กล่าว

พริม มณีโชติ ทีมบรรณาธิการ โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงปรากฏการณ์ Echo Chamber หรือห้องเสียงสะท้อน ที่หมายถึงเรื่องราวเดียวกันแต่บุคคลแต่ละคนจะมีมุมมองต่างกันขึ้นอยู่กับการเลือกแหล่งรับข้อมูลข่าวสาร  เช่น เคยมีการสำรวจประเด็นไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่กับชาวมาเลเซีย พบว่า หากเป็นกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน จะเชื่อเรื่องจีนเดียวหรือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมากที่สุด ตรงข้ามกับชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่จะเชื่อเรื่องดังกล่าวน้อยที่สุด เป็นต้น 

เช่นเดียวกับนโยบายควบคุมชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีน ที่พบว่า ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเป็นกลุ่มที่มองว่าเป็นเพียงการปรับทัศนคติหรือให้การศึกษาใหม่ มากกว่าการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากการเลือกช่องทางการรับข้อมูลของคนแต่ละเชื้อชาติแตกต่างกัน ตั้งแต่เรื่องบันเทิงไปจนถึงข่าวสาร นอกจากนั้น ยิ่งระยะเวลาผ่านไปนานเท่าใดก็มีโอกาสเกิดความจริงชุดใหม่ในกลุ่มของตนเองมากขึ้น อาทิ เคยมีการสอบถามว่าเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฝ่ายใดสมควรถูกกล่าวโทษมากที่สุด แล้วพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป ชาวญี่ปุ่นมองไปที่รัสเซีย แต่ชาวจีนกลับมองไปที่สหรัฐอเมริกา

สิ่งที่เราเห็นจากการนำเสนอในวันนี้ เราได้เห็นว่า Misinformation เพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นหลัก อาจส่งผลต่อมุมมองการตัดสินใจ ความเชื่อและความคิดในเรื่องอื่นๆ ยิ่งเมื่อทิ้งระยะเวลานานไป ไม่สามารถเคลียร์ข้อสงสัยได้ครบถ้วน เพราะหลายครั้ง Misinformation มีบางส่วนเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริงๆ ทิ้งข้อสงสัยไว้นานวันเข้า แล้วเราอยู่ใน Echo Chamber เดิมๆ เราจะพบว่าเราได้เกิดความจริงขึ้นมาใหม่ในกลุ่ม Echo Chamber ของเรา ในกลุ่มไลน์ครอบครัว กลุ่มไลน์คอนโดของเรา ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ยิ่งทำเร็วยิ่งกระทบน้อย ยิ่งตัดตอนได้เร็ว พริม กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-