เปิดเบื้องหลัง STALKER สัมพันธ์ลึกแต่ไม่ลับกับ TOP NEWS

คนที่ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียน่าจะเคยเห็นวิดีโอของ “STALKER” ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่นำเสนอประเด็นการเมืองในรูปแบบวิดีโอสั้น และมักนำความเห็นของอินฟลูเอนเซอร์และคลิปวิจารณ์การเมืองของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย (user-generated content) มาเผยแพร่ต่อในลักษณะหวือหวา เร้าอารมณ์ ทั้งทางเฟซบุ๊ก ยูทูป ทวิตเตอร์และติ๊กต็อก

STALKER เป็นหนึ่งในแบรนด์ย่อยของท็อปนิวส์ วิดีโอทั้งหมดของ STALKER ถูกรวบรวมและเผยแพร่อยู่ใน playlist ของ เฟซบุ๊ก TOP News Online ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5 แสนราย และยูทูปช่อง TOP NEWS LIVE ที่มีผู้ติดตามเกือบ 1 ล้านราย วิดีโอชิ้นแรกเผยแพร่ทางยูทูปของช่องท็อปนิวส์เมื่อเดือนมกราคม 2566 ปัจจุบันมีวิดีโอที่เผยแพร่แล้วเกือบ 3,000 ชิ้น ยอดการรับชมส่วนใหญ่อยู่ในหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน วิดีโอที่มียอดวิวสูงสุดคือ “ ‘แอ๊ด คาราบาว’ ดีดกีตาร์โชว์ร้องเพลง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล” เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง       

แนวเนื้อหาวิดีโอของ STALKER ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกับท็อปนิวส์ กล่าวคือเชิดชูสถาบันกษัตริย์-สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-วิจารณ์พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

STALKER ในแพลตฟอร์ม TikTok

ในช่วงเวลาที่การเมืองร้อนแรง โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเนื้อหาทางการเมือง ผู้ผลิตคอนเทนต์หน้าใหม่ปรากฏตัวขึ้นทุกวัน การได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตเนื้อหาอาจช่วยประเมินความน่าเชื่อถือและมองเห็นเจตนาในการเผยแพร่เนื้อหานั้น เหมือนการได้อ่านฉลากสินค้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตและที่มาของวัตถุดิบ

ต่อไปนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับ STALKER จากการเปิดเผยของนายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ซึ่งให้สัมภาษณ์โคแฟคช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2566  

STALKER เป็น “แบรนด์ย่อย” ของท็อปนิวส์  

STALKER เกิดจากแนวคิดในการผลิตคอนเทนต์เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (segment) ที่ติดตามประเด็นการเมืองในโลกออนไลน์ ซึ่งมีพฤติกรรมการเสพรับข่าวสารที่แตกต่างจากผู้ชมโทรทัศน์ ท็อปนิวส์เริ่มผลิตและเผยแพร่เนื้อหาโดยใช้แบรนด์ STALKER มาได้ประมาณ 7 เดือน ในช่วงแรกอาศัยการเผยแพร่ผ่านช่องทางหลักของท็อปนิวส์ ทั้งเฟซบุ๊กและยูทูปซึ่งมีฐานผู้ชมจำนวนมาก เปรียบเหมือนบ่อที่มีปลาอยู่แล้ว ในระหว่างที่สร้างบ่อใหม่ รอปลาใหม่ ก็เอา STALKER ไปฝากไว้เพื่อให้คนรู้จัก เมื่อ STALKER ได้รับการจดจำ มีกลุ่มผู้ชมของตัวเองแล้ว ก็จะแยกช่องทางการเผยแพร่ที่เป็นอิสระจากท็อปนิวส์ และในระยะยาว ท็อปนิวส์ตั้งใจจะให้ STALKER แยกเป็นหน่วยธุรกิจผลิตคอนเทนต์ที่สร้างรายได้ด้วยตัวเอง

เลือกประเด็นจากสถิติและเทรนด์

สถิติความสนใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ดูได้จากเครื่องมือต่างๆ เช่น กูเกิลเทรนด์และทวิตเตอร์เทรนด์ เป็นตัวกำหนดประเด็นที่ STALKER จะนำเสนอ โดยเลือกแง่มุมและเนื้อหาที่แตกต่างจากทีวี เช่น นำคลิปของผู้ใช้ติ๊กต็อกที่พูดถึงประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนั้นมาตัดต่อใหม่ (re-edit) STALKER มีกองบรรณาธิการที่แยกจากท็อปนิวส์ มีบรรณาธิการข่าวและทีมผลิต-ตัดต่อของตัวเอง ซึ่งเป็นทีมคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจพฤติกรรมและความสนใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด

มั่นใจไม่เผยแพร่ข่าวลวง

เนื้อหาที่ STALKER นำเสนอล้วนผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เวลานำความเห็นของบุคคลคนอื่นมาเผยแพร่ต่อก็จะดูว่าไม่สุ่มเสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ที่จะถูกฟ้องร้อง มีการตรวจสอบย้อนกลับไปที่ต้นทาง หากเปรียบโลกออนไลน์เป็นสนามยิงปืน ท็อปนิวส์ก็เหมือนเป็นเป้า เราพร้อมที่จะถูกยิงและถูกเอาไปขยายผล เอาศพไปแขวนประจานอยู่แล้ว ดังนั้น นับตั้งแต่เปิดตัวมาจะครบ 3 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ ท็อปนิวส์จึงระมัดระวังเรื่องเนื้อหามากที่สุด แต่หากมีการทักท้วงเรื่องข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทีมงานก็พร้อมจะตรวจสอบและแก้ไข ยังไม่ถูกฟ้องร้องเรื่องเนื้อหาที่นำเสนอ 

ยอดการรับชมสูง-รายได้ดี   

STALKER เป็นโปรเจกต์หนึ่งของท็อปนิวส์ที่ให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ทดลองผลิตเนื้อหา โดยมีผู้บริหารและบรรณาธิการอาวุโสของท็อปนิวส์คอยดูภาพรวม ผ่านไป 7 เดือนปรากฏว่าได้รับความนิยมและสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยทั่วไปทีมผลิตเนื้อหาออนไลน์แต่ละทีมของท็อปนิวส์ รวมทั้งทีม STALKER มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 แสนบาทต่อเดือน แต่ STALKER ทำรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งทางผู้บริหารมีนโยบายว่าถ้าทีมผลิตคอนเทนต์ทำรายได้มาก พนักงานก็จะได้ค่าตอบแทนพิเศษเหมือนเป็นค่า commission เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมมากขึ้น

แพลตฟอร์มออนไลน์ของท็อปนิวส์ทำรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันราว 40% ของรายได้ของท็อปนิวส์มาจากยูทูป โดยคอนเทนต์ของแบรนด์ย่อยอย่าง STALKER, Insight Hot Social และ TOP DARA สร้างรายได้จนเกือบเท่ารายได้จากทีวี ทั้งที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก ขณะนี้รายได้จากช่องทางออนไลน์ของท็อปนิวส์อยู่ที่ประมาณเดือนละ 6-7 ล้านบาท ซึ่งท็อปนิวส์มีแผนจะผลิตเนื้อหาออนไลน์ให้มากขึ้นอีก เพื่อทำรายได้ให้ถึงเดือนละ 10 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2566 ตามที่ตั้งเป้าไว้

เรื่องแนะนำ