Raison d’être ของนักข่าวและนักตรวจสอบข้อเท็จจริงในมุมมองของ “สเตฟาน เดลฟูร์” แห่ง AFP

บทความ

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค / แปลและเรียบเรียง

Raison d’être เป็นวลีในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เหตุผลของการดำรงอยู่ จุดหมายแห่งชีวิต หรือจะแปลว่าพันธกิจขององค์กรก็ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาระหว่างคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค และคุณสเตฟาน เดลฟูร์ (Stéphane Delfour) สื่อมวลชนอาวุโสแห่งสำนักข่าว Agence France-Presse (AFP) ในบ่ายวันศุกร์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม 2567 ที่สำนักงาน AFP ใจกลางกรุงเทพฯ

การสนทนาในครั้งนี้เกิดขึ้นในวาระที่คุณสเตฟานอำลาตำแหน่งหัวหน้าสำนักข่าวเอเอฟพีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AFP Bureau Chief for Southeast Asia) ที่นำพาเขาให้มาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยนานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการก่อตั้งโคแฟค ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คุณสเตฟานและ AFP Fact Check ซึ่งเป็นแผนกตรวจสอบข้อเท็จจริงของเอเอฟพีที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ได้ทำงานร่วมกับโคแฟค องค์กรวิชาชีพสื่อ และสื่อมวลชนไทยหลายสำนักในการพัฒนางานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการรู้เท่าทันข่าวลวงมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าคุณสเตฟานและ AFP Fact Check มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานและเป็นต้นแบบการทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในไทย

ก่อนอำลาเมืองไทย โคแฟคชวนคุณสเตฟานมาสนทนาในหัวข้อ “5 ปีแห่งความท้าทาย: บทเรียนและก้าวต่อไปของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในไทย” โดยมีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กโคแฟคเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ซึ่งกองบรรณาธิการโคแฟคได้สรุปความและเรียบเรียงมาไว้ที่นี้

ในบทสนทนาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม คุณสเตฟานได้เล่าเบื้องหลังการทำงาน ให้ความเห็นและมุมมองที่น่าสนใจตั้งแต่เรื่องภูมิทัศน์สื่อในยุคเอไอ ไปจนถึงเหตุผลในการดำรงอยู่หรือ “raison d’être” ของสื่อมวลชน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการพูดถึงการเมืองไทยสั้น ๆ จากมุมมองของสื่อต่างชาติ  

จุดเริ่มต้นของ AFP Fact Check ในประเทศไทย

สำนักงานใหญ่เอเอฟพีเปิดแผนกตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือ AFP Fact Check ครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยมีนักตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact checker) หนึ่งคนถ้วน ผมถูกส่งมาไทยในตำแหน่งหัวหน้าสำนักข่าวเอเอฟพีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2562 และในปี 2563 เราก็ตั้งทีม Fact Check ขึ้นที่สำนักงานในไทย ซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 ระบาดและมีการชุมนุมของคนเยาวชนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ในช่วงนั้นจึงเป็นเรื่องความเข้าใจผิดหรือข่าวลวงเกี่ยวกับโควิด วัคซีน หน้ากากอนามัย และการชุมนุมประท้วงของเยาวชน

หลังจากนั้นมา เนื้อหาที่เราตรวจสอบก็มักจะเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง เช่น การสู้รบในยูเครนและฉนวนกาซา รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไปในไทยเมื่อปี 2566 ผมจำได้ว่าการหักล้างข่าวลวงเรื่องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ได้เรียนจบฮาร์วาร์ด เป็นรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเรา

ปัจจุบันแผนก AFP Fact Check ซึ่งได้รับการรับรองจาก เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact-Checking Network – IFCN) มี fact checker มากกว่า 200 คนใน 150 ประเทศ รวมทั้งไทยซึ่งมี fact checker ประจำอยู่ 3 คน

การตรวจสอบข้อเท็จจริง vs การรายงานข่าว

ผมคิดว่า fact check เป็นรากฐานและเป็นดีเอ็นเอของวิชาชีพสื่อสารมวลชนซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและการสืบหาความจริง พูดได้ว่าเอเอฟพี fact check มาตลอดตั้งแต่สำนักข่าวแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1835 แต่น่าสนใจตรงที่ว่าในโลกยุคนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับมีความสำคัญมากยิ่งกว่ายุคไหน ผู้สื่อข่าวต้องทำงานหนักมากขึ้นในการตรวจสอบข้อมูล สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ พูดคุยกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด แล้วนำเสนอความจริงต่อสาธารณะ แต่ทักษะที่ fact checker อาจจะมีความถนัดและเชี่ยวชาญมากกว่าผู้สื่อข่าวก็คือทักษะในการสืบค้นและหาหลักฐานทางดิจิทัล วิธีการตรวจสอบความจริงหรือความปลอมของเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ภาพที่ถูกดัดแปลงหรือวิดีโอที่สร้างด้วยเอไอ และสามารถอธิบายกระบวนการตรวจสอบได้ว่าใช้วิธีอะไรและมีหลักฐานอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่าเนื้อหานั้นส่วนไหนจริง ส่วนไหนเท็จ ผมคิดว่าการเปิดเผยกระบวนการพิสูจน์และการหาข้อเท็จจริงเช่นนี้ ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนกลับมาได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจอีกครั้ง หลังจากที่ผู้คนจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายการเสพข่าว คิดว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นไม่น่าเชื่อถือและเลือกที่จะหาข้อมูลด้วยตัวเอง

ลักษณะของข่าวลวง-เนื้อหาเท็จ

สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจเกี่ยวกับข่าวลวงก็คือ มันไม่ได้จริงหรือเท็จทั้งหมด แต่มักจะมีเนื้อหาที่เป็นจริง เช่น ภาพจริง เสียงจริง เหตุการณ์จริงอยู่บางส่วน สิ่งที่นักสร้างข่าวลวงทำก็คือเอาความจริงส่วนเล็ก ๆ นั้นมาขยาย บิดเบือน ใส่บริบทผิด ๆ ตัดต่อ แต่งภาพ เติมโน่นนิดนี่หน่อย ผสมคลุกเคล้าจนได้เนื้อหาอันเป็นเท็จขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ความจริงบางส่วนที่ผสมอยู่นี่เองที่ทำให้คนมักหลงเชื่อว่าเป็นความจริง

อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ข่าวลวงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มักจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น อาศัยความสนใจของผู้คนต่อเรื่องนั้นเพื่อกระพือข่าวลวงที่เขาสร้างขึ้น เช่น กรณีภาพตัดต่อประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเนื้อหาเท็จที่ถูกเผยแพร่ในช่วงเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สงครามอสมมาตร ของความจริงกับความลวง

แม้ว่าทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงของเราจะใหญ่ขึ้นและเก่งขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าศึกนี้ไม่ง่ายเลย เรามี fact checker อยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนข่าวลวงที่มีอยู่มากมายมหาศาลและถูกผลิตออกมาไม่หยุด การสร้างและกระจายข่าวลวงมันง่ายมาก ๆ แค่ตัดต่อรูปหรือสั่งให้เอไอสร้างเนื้อหาเท็จขึ้นมา แล้วคนก็มักจะแชร์ต่อกันไปโดยไม่สนใจว่ามันจริงหรือปลอม หรือแชร์ด้วยความสนุกคะนอง ในทางกลับกัน การหักล้างหรือพิสูจน์ความจริงเท็จของเนื้อหาแต่ละชิ้นนั้นกลับต้องใช้ทั้งเวลา ใช้คน ใช้ทรัพยากรมากมาย

เราเคยคุยกันเล่น ๆ ว่างานของเราเหมือนการทำความสะอาดแม่น้ำด้วยการตักน้ำเน่าออกทีละช้อน เรียกว่าเป็น “สงครามอสมมาตร” ก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ถึงมันยากเราก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ แม้จะกำจัดข่าวลวงได้ไม่หมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยยับยั้งการแพร่กระจาย การศึกษาของเราพบว่า หลังจากที่เผยแพร่รายงานการหักล้างข่าวลวงชิ้นหนึ่งไป การแพร่กระจายของข่าวนั้นในอินเทอร์เน็ตลดลงถึง 80%

AFP Fact Check ทำงานอย่างไร

ด้วยกำลังคนอันน้อยนิด เราไม่สามารถตรวจสอบเนื้อหาที่ต้องสงสัยว่าเป็นข่าวลวงได้ทุกชิ้น หลัก ๆ แล้ว เราจะเลือกเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลหรือต่อสาธารณะอย่างชัดเจน มีการเผยแพร่ในวงกว้าง และอยู่ในขอบเขตที่เราสามารถพิสูจน์ความจริงเท็จได้ จากนั้นเราก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยหลักการทำงานของสื่อมวลชน คือ ติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ บุคคลที่ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งพยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ดีที่สุดก็คือผู้สื่อข่าวของเราเอง สมมติว่ามีการเผยแพร่เนื้อหาเท็จเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงของเยาวชน เราก็จะตรวจสอบกับผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพของเราที่ทำงานภาคสนามว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่หลายครั้งก็ไม่ง่ายนักที่เราจะเข้าถึงแหล่งข่าวหรือพยานที่จะให้ข้อเท็จจริงกับเราได้ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของ fact checker มากที่สุดอย่างหนึ่ง หรือหากเป็นประเด็นความขัดแย้งกัน เราก็จะต้องแสวงหาข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

เมื่อได้ข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ อย่างรอบด้านจนได้ข้อสรุปที่แน่ชัดแล้วว่าเนื้อหานั้นเป็นจริงหรือเท็จ เราก็เขียนเป็นรายงาน ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยบรรณาธิการหลายคนเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้องก่อนจะเผยแพร่

รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ออกไป ก็ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ซึ่งนั้นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน เราเคารพทุกความคิดเห็น หน้าที่ของเราคือนำเสนอหลักฐานข้อมูล ข้อพิสูจน์ทุกอย่างที่ได้มา และแจกแจงให้เห็นว่าทำไมเราจึงสรุปว่าเนื้อหานี้จริงหรือปลอม 

AI ตัวช่วยหรือภัยคุกคามของนักข่าวและนักตรวจสอบข้อเท็จจริง?

ผมว่ามันเป็นได้ทั้งสองอย่าง ในแง่หนึ่ง AI เป็นเครื่องมือที่สำนักข่าวสามารถนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในงานบางอย่าง เช่น การถอดเสียงเป็นข้อความ การค้นฐานข้อมูล แต่อีกด้านหนึ่ง AI ก็ถูกนำไปใช้สร้างเนื้อหาเท็จได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แม้ว่าในขณะนี้เนื้อหาเท็จที่สร้างโดย AI ส่วนใหญ่จะมองออกได้ง่าย แต่มีแนวโน้มที่มันจะทำได้เนียนขึ้นเรื่อย ๆ จนแยกแยะเนื้อหาที่เป็นจริงกับเป็นเท็จได้ยา ขณะที่สำนักข่าวก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการอธิบายหรือยืนยันความจริงแท้ของเนื้อหาที่เราเผยแพร่ ตัวอย่างเช่น ภาพชุดนักกีฬาที่เอเอฟพีถ่ายและเผยแพร่ก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ซึ่งเป็นภาพชุดที่สวยมากจนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาพที่สร้างโดย AI เราจึงต้องเขียนอธิบายกระบวนการถ่ายทำและผลิตภาพชุดนั้นออกมาเพื่อยืนยันว่าเป็นภาพที่ช่างภาพของเราถ่ายเองจริง ๆ ในขณะนี้เอเอฟพี ไม่มีนโยบายที่จะใช้ AI ผลิตเนื้อหาใด ๆ ทั้งสิ้น

มองภูมิทัศน์สื่อในยุคนี้อย่างไร

สถานการณ์ที่ผู้คนเบื่อการเสพสื่อ ไม่ชอบฟังข่าวหนัก ๆ และไม่เชื่อถือเนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นสื่อจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจกลับคืนมา แนวทางหนึ่งที่เอเอฟพีกำลงทำอยู่คือการเสนอข่าวเชิงหาทางออก (Solution Journalism-SoJo) คือแทนที่เราจะรายงานแต่ปัญหา ผลกระทบ ความเสียหาย อันตราย ภัยพิบัติ เราจะเน้นที่การนำเสนอทางออกต่อเรื่องนั้น   เช่น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากรายงานสถานการณ์แล้วเราจะต้องนำเสนอทางออกจากผู้รู้หรือแม้แต่วิถีของเล็ก ๆ ที่พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เราไม่เพียงแค่บอกผู้ชมว่าโลกกำลังจะวิบัติ แต่เสนอว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้ เราจะเสนอทางออก เรื่องราวที่ให้ความหวังและสร้างแรงบันดาลใจ ผมชื่นชมในความคิดริเริ่มและความทุ่มเทในการทำงานของสื่อไทยหลายคน พวกเขาทำหน้าที่ได้อย่างดีโดยเฉพาะในการรายงานสดเหตุการณ์สำคัญที่มักจะมีผู้สื่อข่าวไปรายงานผ่านโซเชียลมีเดียอย่างคล่องแคล่ว ขณะเดียวกันก็ยังมีสื่อดั้งเดิมบางแห่งที่ดูเหมือนจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลได้ค่อนข้างช้า ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าสื่อกลุ่มนี้อาจจะอยู่รอดในยุคการเปลี่ยนผ่านของสื่อดิจิทัลได้หรือไม่

ทำไมสื่อสารมวลชนยังมีความจำเป็น

ไม่ว่าภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเช่นไร สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรสื่อทุกแห่งก็คือการยึดปรัชญาและหลักการพื้นฐานในการทำงานของเราไว้ให้มั่น นั่นก็คือการแสวงหาข้อเท็จจริงและการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่กลัวเกรงต่อสิ่งใด ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ต้องลงทุนหรือใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอะไรเลย แค่ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ของเราเท่านั้น ลงพื้นที่พร้อมด้วยกระดาษ ปากกาและกล้องเพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกความจริง เพราะนี่คือ Raison d’être หรือพันธกิจของเรา สื่อต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมสังคมถึงยังต้องการพวกเรา ทำไมผู้คนต้องรับข้อมูลข่าวสารจากเรา คุณค่าของเราอยู่ตรงไหน จุดขายของเราคืออะไร ทำไมงานที่เราทำถึงมีความจำเป็นต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงถาโถมมารอบด้านเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิ

มุมมองต่อโคแฟคและการทำงานร่วมกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่พิเศษมากที่องค์กรภาคประชาสังคม วิชาชีพสื่อและนักวิชาการร่วมมือกันก่อตั้งองค์กรภาคประชาชนอย่างโคแฟคเพื่อรณรงค์เรื่องการรู้เท่าทันข่าวลวงและริเริ่มแนวทางการแสวงหาความจริงร่วมเพื่อสกัดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ผมไม่ค่อยเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่น และช่วงที่ผ่านมา งานของโคแฟคก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เท่าที่ผมสังเกต ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยกระตือรือร้นในการขุดค้นข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียมากกว่าประเทศอื่น ๆ

ที่ผ่านมาเอเอฟพีได้ทำกิจกรรมร่วมกับโคแฟค สื่อมวลชนไทย และองค์กรวิชาชีพสื่ออยู่บ่อยครั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องทำงานต่อ เช่น การแสวงหาความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อให้พวกเขามีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการระบาดของข่าวลวงและข้อมูลเท็จมากกว่านี้ บางแพลตฟอร์มกลายเป็นตลาดขายสินค้ามากกว่าจะเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อผู้คน 

นอกจากนี้เรายังจะต้องช่วยกันพัฒนาศักยภาพของผู้สื่อข่าวและนักตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อรับมือกับ AI ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารของเรา

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย และสเตฟาน เดลฟูร์ ถ่ายภาพร่วมกันหลังการสัมภาษณ์ที่สำนักงานเอเอฟพี เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567

มองการเมืองไทยอย่างไร

ห้าปีที่ผมมาประจำอยู่ที่นี่และได้ติดตามการเมืองไทยค่อนข้างใกล้ชิด ผมคิดว่าการเมืองไทยช่างเย้ายวนชวนให้ติดตาม ซับซ้อน น่าสนใจ เต็มไปด้วยดีลและการเจรจาต่อรอง มีอะไรให้ประหลาดใจอยู่ตลอด หลังจากที่คุณแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ผมได้ข้อสรุปว่ายิ่งผมสนใจ ติดตาม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองไทยมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งเข้าใจการเมืองไทยน้อยลงเท่านั้น

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ