เก็บตกจาก g0v Summit 2024: วิธีสู้ข่าวลวงในยุค AI

“ข่าวลวงในยุค AI” เป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนาของงาน g0v Summit 2024 ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของเหล่า “เนิร์ด” ด้านเทคโนโลยีและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในไต้หวัน ที่ร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมด้วยการใช้เทคโนโลยี/ซอฟต์แวร์แบบ open source ภาคพลเมือง บนพื้นฐานความโปร่งใสและเปิดเผย

g0v (อ่านว่า “gov-zero”) ก่อตั้งเมื่อปี 2555 เป็นเครือข่ายภาคพลเมืองที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพและความเชี่ยวชาญ ทั้งโปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ประกอบการเพื่อสังคม นักวิชาการ นักกิจกรรม ฯลฯ ผู้ร่วมก่อตั้งที่สำคัญคนหนึ่งคือคุณออเดรย์ ถัง อัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์และนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งในปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนแรกของไต้หวัน

g0v จัดระดมสมองในรูปแบบ hackathon ทุกสองเดือน เพื่อเปิดเวทีให้สมาชิกมาขายไอเดีย เสนอโครงการ รับสมัครทีมงานอาสาสมัคร และมีการจัดการรวมตัวครั้งใหญ่หรือ g0v Summit เป็นประจำทุกสองปี มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีทั้งผู้สนใจจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานด้วย

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเทคโนโลยีภาคพลเมือง g0v เดินทางมาร่วมงาน g0v Summit 2024 และร่วมถ่ายภาพร่วมกับทีมงานโคแฟค ประเทศไทย

g0v Summit ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พ.ค. ที่ Academia Sinica ชานกรุงไทเป มีผู้เข้าร่วมคึกคัก ทีมงานโคแฟค ประเทศไทย ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยโดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาดูงานด้านการรับมือข่าวลวงของไต้หวันในโอกาสครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งโคแฟค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดิช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF)

ตลอดสองวันของงานซัมมิทมีทั้งการเสวนา อภิปราย บรรยายพิเศษ นำเสนอโครงการ และเวิร์คช็อปที่น่าสนใจในหลายหัวข้อ เช่น เทคโนโลยีกับความถดถอยทางการเมือง สิทธิทางดิจิทัล การกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัล การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์จากหลายภาคส่วนทั้งในไต้หวันและจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย คือ ดร.ศราวุฒิ นิลสวัสดิ์ นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นำเสนอเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัท Opendream ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี

เนื่องจาก AI เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้จัด ‘g0v Summit 2024’ ให้ความสำคัญ จึงได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ข่าวลวงในยุค AI” โดยมีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย คุณบิลเลียน ลี ผู้อำนวยการ Cofacts ของไต้หวัน และคุณชิเฮา หยู ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารแห่งไต้หวัน (Taiwan Information Environment Research Center –IORG) ร่วมพูดคุย โดยทั้งสามคนเห็นตรงกันว่าการใช้เทคโนโลยี AI ในทางลบกำลังคุกคามระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารทั้งในไทยและไต้หวัน

Deepfake แพร่หลาย Cheapfake ก็ยังอยู่

คุณสุภิญญาเล่าถึงปฏิกิริยาโดยรวมของคนไทยต่อ AI ว่ามีทั้งคนที่มองเห็นโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีนี้และคนที่กังวลถึงด้านมืดหากถูกใช้ในทางที่ผิด โคแฟคเองก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ Generative AI ในการสร้างและเผยแพร่เนื้อหาเพื่อหลอกลวงประชาชน หรือที่เรียกว่า “deepfake” เพราะแม้แต่ก่อนที่ AI จะถูกใช้อย่างแพร่หลาย คนไทยจำนวนมากก็ถูกหลอกให้เสียทรัพย์โดยมิจฉาชีพที่หลอกลวงด้วยวิธีการง่าย ๆ หรือ “cheapfake” อย่างเช่นการโทรศัพท์หลอกลวงให้โอนเงินหรือส่งข้อความให้กดลิงก์เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเมื่อ cheapfake ยังคงอยู่ และมี deepfake มาสมทบ ประชาชนย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น

โคแฟคเห็นว่าสิ่งที่จะป้องกันผู้คนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทั้งจาก cheapfake และ deepfake คือการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี โคแฟคจึงเน้นการทำงานด้านการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คนในทุกระดับตั้งแต่ครอบครัวถึงชุมชน เพื่อให้ช่วยกันดึงสติก่อนถูกหลอกให้เชื่อ

“ถ้าเรารับข้อมูลข่าวสารอยู่คนเดียว ตัดสินใจเองลำพัง เราอาจถูกหลอกได้ง่าย แต่ถ้ามีใครอยู่ใกล้ ๆ อย่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ให้เราได้พูดคุยถามความเห็น เราจะเกิดการยับยั้งชั่งใจและไม่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลหลอกลวง” คุณสุภิญญากล่าว นอกจากสร้างเกราะป้องกันในระดับบุคคลแล้ว สุภิญญามองว่าสังคมไทยต้องพูดคุยหารือกันว่าควรจะมีการกำกับดูแลการใช้ AI หรือไม่ อย่างไร ควบคู่กับการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเทคโนโลยีภาคพลเมือง เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่จะมารับมือกับข่าวลวงที่สร้างจาก AI

สู้เทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยี

คุณชิเฮา วิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและผู้อำนวยการ IORG ซึ่งทำงานด้านการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวว่า AI ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ IORG ใน 3 ด้านหลักคือ ปริมาณข้อมูล (quantity) ความหลากหลายของข้อมูล (diversity) และความจริงแท้ของข้อมูล (authenticity)

AI ทำให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจนอาจกระทบกับศักยภาพและเนื้อที่ในการจัดเก็บ โดยเฉพาะวิดีโอที่สร้างโดยใช้ Generative AI ที่เพิ่มขึ้นสูงลิ่วโดยเฉพาะใน TikTok

นอกจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความหลากหลายของข้อมูลก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะ AI สามารถผลิตเนื้อหาออกมาได้หลายเวอร์ชันได้อย่างง่ายด่ายในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่กระจายของข้อมูลทำได้ยากยิ่งขึ้น ผลกระทบด้านสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของ deepfake อย่างเช่นวิดีโอและคลิปเสียงเท็จที่สร้างจาก AI ที่ทำให้เราต้องเสียพลังงานและเวลาในการตรวจสอบความจริงแท้ของเนื้อหาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“นี่เป็นเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะต้องร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีน้ำดีมาสู้กับการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด อย่างการสร้างเนื้อหาเท็จและหลอกลวง”

อย่างไรก็ตาม ลำพังเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับข่าวลวงในยุค AI คุณชิเฮาเสนอว่าปราการป้องกันข่าวลวงจะต้องสร้างจากองค์ความรู้จากหลายสาขาวิชาผสมกัน ทั้งรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงจิตวิทยา

“ที่สำคัญที่สุด การกำกับดูแลการใช้ AI จะต้องฟังเสียงประชาชน ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าเราควรใช้ AI อย่างไร การออกนโยบายและระเบียบใด ๆ มากำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย” คุณชิเฮาให้ความเห็น

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง