ปฏิบัติการปล่อยข่าวเท็จ-บิดเบือนเรื่องศาสนา จากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 ถึง เลือกตั้งทั่วไป 2566

Cofact Special Report #39

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 22 พ.ค. 2565 ชาวพุทธบางกลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ ไม่เลือกผู้สมัครจาก “พรรคฝักใฝ่อิสลาม” และนำนโยบายของผู้สมัครบางคนมาบิดเบือนว่าเป็นนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมุสลิม 

แม้เนื้อหาเหล่านั้นจะไม่แพร่หลายนักและวัดไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด แต่ปรากฏการณ์นี้บ่งชี้ว่าศาสนาได้ถูกนำมาเป็นประเด็นในการโจมตีกันทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง และมีสัญญาณว่าสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. 2566

สัญญาณดังกล่าว ได้แก่ การวนกลับมาของข่าวเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภรรยานับถือศาสนาอิสลาม และการเผยแพร่เนื้อหาในโซเชียลมีเดียเพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าพรรคการเมืองบางพรรคมีความเชื่อมโยงกับอิสลาม เช่น ภาพถ่ายหมู่ของชาวมุสลิมที่สำนักงานพรรคพลังประชารัฐ และงานทำบุญใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งจัดทั้งพิธีตามหลักศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ เป็นต้น 

สัญญาณที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นการอภิปรายของนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 16 ก.พ. 2566 ที่กล่าวหานายกฯ ว่าปล่อยปละละเลยทำให้เกิดการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา สร้างความแตกแยกในหมู่สงฆ์ ไม่ดูแลพระสงฆ์และชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายนิยมกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ “นับถือศาสนาอะไรกันแน่” และปิดท้ายว่า “ขอให้ชาวพุทธทั้งประเทศพิจารณาถึงพฤติกรรมที่นายกฯ คนนี้ได้เหยียบย่ำและทำลายศักดิ์ศรีของชาวพุทธมาตลอด 8 ปี…พี่น้องชาวพุทธต้องสั่งถอดนายกฯ คนนี้ออกไปโดยใช้บัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งคราวหน้า”

คลิปการอภิปรายของนายนิยมถูกนำมาเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก “รวมใจคนไทยพุทธ ทั่วไทย” ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส.) โดยมีผู้เข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมนายนิยมว่าเป็น “ส.ส.หัวใจพุทธ” อีกความเห็นหนึ่งระบุว่า “เลือกเพื่อไทยไม่เอาอิสลาม”

อพปส. เป็นหนึ่งในสององค์กรชาวพุทธที่เผยแพร่เนื้อหาต่อต้านอิสลามในโซเชียลมีเดีย อีกองค์กรหนึ่งสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จ.สกลนคร 

โคแฟคคาดว่าในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง จะมีการผลิตและเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวบิดเบือน และข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนามากขึ้น เรื่องนี้น่ากังวลแค่ไหนและสังคมไทยควรรับมืออย่างไร โคแฟคสัมภาษณ์พิเศษ ผศ. เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อหาคำตอบ และเรียบเรียงเป็นบทถาม-ตอบ  

ข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับศาสนา ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร?

การศึกษาเรื่อง “สำรวจถ้อยคำ ‘ประทุษวาจา’ บนชานชาลาเฟซบุ๊ก กรณีความสัมพันธ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ในสังคมไทย” ซึ่งจะเผยแพร่เร็วๆ นี้พบว่า กลุ่มชาวพุทธที่ส่งต่อข้อมูลที่มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1) กลุ่มจัดตั้งของชาวพุทธชาตินิยมที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และ 2) คนพุทธที่มีเจตนาดีในการปกป้องพระพุทธศาสนาแต่หลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือนและส่งต่อโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง 

ตัวอย่างการจงใจสร้างข้อมูลเท็จที่เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามเพื่อสร้างความเสียหายต่อนักการเมือง เช่น การเผยแพร่ข้อมูลว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อยู่เบื้องหลังกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศาลได้ตัดสินแล้วว่าผู้เผยแพร่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อมูลเท็จลักษณะนี้ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับคนมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานลำบากมากขึ้น และสุดท้ายอาจทำลายความเชื่อมั่นต่อการเมืองในระบบรัฐสภาโดยรวม ที่สำคัญคือหน่วยงานความมั่นคงอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มักจะรับไม้ต่อด้วยการนำข้อมูลของกลุ่มพุทธชาตินิยมเหล่านี้ไปขยายผล

ข้อมูลบิดเบือนที่เจตนาสร้างความเสียหาย (disinformation) ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่เข้ามาทำงานการเมือง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนที่ทำให้เขากลายเป็นบุคคลอันตราย ไม่ต่างจากการกล่าวหาพรรคการเมืองหรือนักการเมืองว่าเป็น “ขบวนการล้มเจ้า” ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและทำให้การเมืองในระบบประชาธิปไตยไม่ขยับไปไหน เป็นการเมืองแบบหวาดระแวง 

นักการเมือง-พรรคการเมืองทำอะไรได้บ้าง?

การที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเอาเรื่องศาสนามาพูดในลักษณะที่เป็นการรับลูกจากกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมเพื่อหวังคะแนนเสียงจากชาวพุทธ จะส่งผลให้การเมืองในระบอบรัฐสภาไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้ และนอกจากจะไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์แล้ว ยังทำให้การจัดการความขัดแย้งทางศาสนายากขึ้น

ภายใต้บรรยากาศทางสังคมการเมืองไทยที่เปราะบางมากในขณะนี้ หน้าที่อย่างหนึ่งของพรรคการเมืองคือการสร้างความกลมเกลียวทางสังคม พรรคการเมืองต้องยึดมั่นในหลักการที่ว่ารัฐกับศาสนาต้องแยกเป็นอิสระจากกันเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้นำทางความคิดในเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียง พรรคการเมืองจะต้องแสดงจุดยืนในบางเรื่อง แม้ว่าจุดยืนนั้นจะแตกต่างจากความเชื่อของฐานคะแนนเสียงของพรรคก็ตาม

ประเด็น “ปกป้องพุทธ-ต่อต้านอิสลาม” จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่?

ในประเทศไทย เรื่องศาสนาไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ ต่างจากศรีลังกาหรือเมียนมาที่มีความขัดแย้งทางศาสนาอย่างชัดเจน สังคมไทยมีต้นทุนที่ดีในระดับหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธและมุสลิมในหลายชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เกื้อกูลกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันได้จริงๆ จากการลงพื้นที่ชุมชนที่คนพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันในหลายจังหวัด ยังไม่พบสัญญาณความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ดังนั้นเมื่อมองในมิติการเมือง ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่มีผลถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนนเสียงได้

แต่เราก็มีความกังวลว่า การใช้ข้อมูลบิดเบือนในเรื่องศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จะสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยในระยะยาว เพราะต้นทุนทางสังคมที่ทำให้คนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันได้เริ่มร่อยหรอไป เราไม่อยากให้ไทยเป็นเหมือนศรีลังกาหรือเมียนมาที่ความขัดแย้งทางศาสนานำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตผู้คน ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้และสร้างมาตรการรองรับ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางศาสนาคอยตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะการแก้ไขปัญหาก่อนที่มันจะบานปลายจนเกิดความสูญเสียย่อมทำได้ง่ายกว่าและใช้ทรัพยากรน้อยกว่า