ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย”    

Top Fact Checks Political

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภรรยา นับถือศาสนาอิสลาม เป็นข้อมูลเท็จที่ไหลเวียนอยู่ในโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันสนทนามาเป็นเวลากว่า 5 ปี โคแฟคตรวจสอบพบว่าข้อมูลเท็จนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่กำลังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในทุกแพลตฟอร์ม 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยออกมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 8 มี.ค.2559 หลังจากมีการนำภาพที่เขาสวมหมวกกะปิเยาะห์ที่กลุ่มชาวมุสลิมนำมาให้และภาพที่เขาและนางนราพร จันทร์โอชา ภรรยา ยืนใกล้ผู้นำประเทศมุสลิมในการประชุมอาเซียนที่มาเลเซีย พร้อมข้อความบิดเบือนว่าทั้งสองนับถืออิสลาม

“เป็นธรรมกับผมหน่อยสิ…(ภรรยา) ก็ไหว้พระอยู่กับผมทุกวัน แล้วก็ตามมาด้วยข่าวว่าลูกผมไปแต่งงานกับ (คนมุสลิม) แสดงว่าทั้งผม เมียผม ลูกผม เป็นมุสลิมไปหมด ท่านจะเชื่อเขาเหรอ ผมก็ห้อยพระเต็มคออยู่เนี่ย” นายกฯ กล่าว

เดือน ธ.ค. 2562 มีการเผยแพร่ภาพนางนราพรติดเข็มกลัดรูปทรงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวพร้อมข้อความว่าเข็มกลัดเพชรรูปพระจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมและการดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการใหญ่สำนักงานอิสลามภาคพื้นเอเชียใต้” ทำให้นายกฯ ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้งระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 17 ธ.ค. 2562 ว่า “ในเรื่องที่มีการโพสต์ว่าภรรยาผม…ก็เห็นอยู่ว่าภรรยาผมไปใส่บาตร ไปกราบพระ ไปไหว้พระ ผมเองก็เป็นไทยพุทธอยู่แล้ว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดูแลคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย การไปโพสต์อย่างนี้มันไม่เป็นธรรมกับผม กับครอบครัวผม ขอให้ทำความเข้าใจกันด้วย อย่าไปเผยแพร่กันเรื่อยเปื่อย มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง”

นอกจากนายกฯ จะยืนยันเองแล้ว โฆษกรัฐบาลยังช่วยชี้แจงด้วยอีกหลายครั้ง เช่น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวเมื่อ 9 มิ.ย. 2561 ว่ามีผู้ปล่อยข่าวบิดเบือนและสร้างความสับสนว่า รัฐบาลอนุมัติงบประมาณก่อสร้างมัสยิดหลายแห่งและให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธเพราะนายกฯ เป็นมุสลิม 

เดือน ธ.ค. 2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลในขณะนั้นโพสต์ภาพ พล.อ.ประยุทธ์และภรรยา เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช พร้อมคำบรรยายว่า “ทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางด้านพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าทั้งสองท่านได้แสดงตนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดีมาอย่างสม่ำเสมอ”

แม้จะมีการชี้แจงหลายครั้ง แต่ข้อมูลเท็จว่าด้วยการนับถือศาสนาของครอบครัวจันทร์โอชาก็ยังถูกส่งต่อกันทางแอปพลิเคชันไลน์และปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย มีการอ้างถึงนายกฯ ว่า “เขยแขก” และวิจารณ์การตกแต่งทำเนียบรัฐบาลว่าเหมือน “เส้นทางเดินสู่สุเหร่า” เป็นต้น

โคแฟคตรวจสอบ

เนื่องจากข้อมูลเท็จเรื่องนายกฯ และภรรยานับถือศาสนาอิสลามถูกเผยแพร่มานานหลายปี โคแฟคยังไม่สามารถสืบสาวถึงต้นตอของข้อมูลนี้ได้ แต่หากดูจากช่วงเวลาการออกมาชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน สรุปเบื้องต้นได้ว่าข่าวเท็จนี้ปรากฏวนซ้ำมาตั้งแต่ปี 2559

สื่อมวลชนบางสำนักวิเคราะห์ว่า จังหวะเวลาการปล่อยข้อมูลเท็จนี้สัมพันธ์กับปัญหาเกี่ยวกับวงการสงฆ์ เช่น ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช (2559) การปิดล้อมวัดพระธรรมกาย เพื่อควบคุมตัวพระธัมมชโยในคดีร่วมกันฟอกเงินกับอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (2561)   และการตรวจสอบคดี “เงินทอนวัด” (2562-2563)

การตรวจสอบของโคแฟคเมื่อ 24 ก.พ. 2566 พบว่า ข้อมูลเท็จนี้ยังคงปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กและยูทูปของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีความเชื่อมโยงกับ องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส.) และ สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (สปพ.) ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายและกฎหมายที่พวกเขามองว่าเอื้อประโยชน์และขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม เช่น พ.ร.บ. การบริหารองค์กรอิสลาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์  การสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางศาสนา และการสร้างมัสยิด เป็นต้น 

อปพส. มีเลขาธิการชื่อนายอัยย์ เพชรทอง อดีตแกนนำลูกศิษย์วัดพระธรรมกายที่มีบทบาทมากในช่วงที่มีการชุมนุมไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกค้นวัดเพื่อควบคุมตัวพระธัมมชโย ส่วน สปน. มี น.ส.พาศิกา สุวจันทร์ เป็นนายกสมาคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 จากการรวมตัวของผู้ที่ไม่พอใจวิดีทัศน์เพลงชาติที่จัดทำขึ้นใหม่เพราะเห็นว่าไม่มีสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธและผู้นำศาสนาพุทธ จึงเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินระงับใช้ 

ข้อมูลเท็จที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่มีลักษณะเกลียดกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ที่เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของ อปพส. และ สปพ. ซึ่งมักใช้ข้อมูลเท็จนี้มาประกอบข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธและความเชื่อที่ว่ามี “ขบวนการกลืนชาติ” บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเพื่อให้ไทยกลายเป็น “รัฐอิสลาม” 

เนื้อหาเหล่านี้มักถูกแชร์ต่อโดยสมาชิกเครือข่ายที่มักใช้ชื่อโปรไฟล์คล้ายๆ กัน คือ นำหน้าด้วยอักษรย่อ อพปส. หรือ “รวมใจคนไทยพุทธ” ผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มนี้มักจะโพสต์เนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน บางครั้งเป็นภาพและข้อความเดียวกัน มีการแชร์เนื้อหาของกันและกัน  และมีความเป็นไปได้ว่าหนึ่งคนอาจเป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายบัญชี

นอกจากเรื่องการนับถือศาสนาของนายกฯ และภรรยาแล้ว ช่วงที่ผ่านมา มีเนื้อหาเกี่ยวกับอิสลามอีกหลายชิ้นที่ศูนย์ต่อต้านต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาลตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน  เช่น 

● กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงบรรจุอิสลามศึกษาไว้ในหลักสูตรของทุกโรงเรียน

● ศาสนาอิสลามมีกฎห้ามเคารพธงชาติและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

● หนังสือเรียนวิชาอิสลามห้ามไหว้ผู้มีพระคุณเพราะผิดหลักศาสนา

● ชาวมุสลิมมีบัญชีธนาคารอิสลามทุกคน และกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หนี้

● ฝ่ายนิติบัญญัติผลักดันกฎหมายเพื่อจัดตั้งศาลชารีอะห์

● มีการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ดะวะห์” ที่ผลักดันให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติไทย

● กองทัพให้นักบวชอิสลามมาประกอบพิธีสถาปนามณฑลทหารบกแทนพระสงฆ์

● พล.อ.ประยุทธ์เตรียมนำคนมุสลิมจำนวนมากเข้ามาประเทศหลังเยือนซาอุดิอาระเบียเพื่อเปลี่ยนไทยเป็นรัฐอิสลาม

● สมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศยึดรัฐปัตตานีในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ

● พ.ร.บ.กิจการฮัจย์เปิดช่องให้อิสลามเข้าควบคุมกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย

● รัฐธรรมนูญไทยระบุว่าจุฬาราชมนตรีมีอำนาจเหนือนายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นต้น 

ข้อสรุปโคแฟค: ข้อมูลเท็จ หยุดแชร์

พล.อ.ประยุทธ์และโฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงซ้ำหลายครั้งว่านายกฯ และภรรยาเป็นพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายจำนวนมากที่ยืนยันว่าทั้งสองเข้าร่วมพิธีทางศาสนาพุทธ  ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการนับถือศาสนาของนายกฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวลวงที่มีเนื้อหาปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทย โคแฟคแนะนำหยุดเชื่อ หยุดแชร์ เพราะเป็นข้อมูลเท็จที่สร้างความเกลียดชัง แต่อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรนำมาสร้างความเกลียดชังกัน ไม่ว่ากรณีใดๆ