ข้อเท็จจริงเบื้องหลังภาพตำรวจจับกุม “อานนท์ นำภา” เป็นภาพเก่าที่แสดงอารยะขัดขืน

Top Fact Checks Political
เนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพเหตุการณ์ที่นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 จากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นภาพปัจจุบัน และบรรยายภาพโดยให้ข้อมูลที่ผิดไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

นายอานนท์ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาหลายคดีอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563 ปัจจุบันเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามพูดหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นความพยายามขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นรัฐบาลและสกัดไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเข้ามาบริหารประเทศ นายอานนท์จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาเคารพผลการเลือกตั้ง

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 นายอานนท์ร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อ 12 ก.ค. 2566 หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่านายพิธาพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ จากการถือหุ้นสื่อไอทีวี, ร่วมกิจกรรม “คาร์ม็อบ” ในวันที่ 16 ก.ค. 2566, ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายพิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. เมื่อ 19 ก.ค. 2566 และปราศรัยในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ 21 ก.ค. 2566

นายอานนท์ นำภา ปราศรัยที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นไอทีวี ก่อนที่รัฐสภาจะประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. 2566

วันที่ 20-21 ก.ค. 2566 สื่อมวลชนรายงานว่า ตำรวจได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนประกันนายอานนท์ โดยให้เหตุผลว่าเขาทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจากการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าว    

ช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำภาพเหตุการณ์ที่นายอานนท์ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาเผยแพร่ทั้งในทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก โดยให้ข้อมูลว่า นายอานนท์ถูกจับกุมแล้วหลังจากศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกัน และบรรยายภาพในลักษณะที่ว่านายอานนท์หวาดกลัวการถูกจับกุมจนแขนขาอ่อนแรง เดินไม่ไหว ทำให้ตำรวจต้องหิ้วปีก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง 

โคแฟคตรวจสอบ 

โคแฟคตรวจสอบภาพและเนื้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 โดยใช้เครื่องมือค้นหาภาพที่ของกูเกิล (Google Reverse Image Search) , สัมภาษณ์นายอานนท์ และอ้างอิงจากรายงานข่าวของสื่อมวลชน ณ วันที่ 7 ส.ค. 2563 สรุปข้อมูลได้ดังนี้ 

1) ภาพที่ถูกนำมาบิดเบือนข้อเท็จจริงนี้ เป็นภาพนายอานนท์กำลังทิ้งตัวลงโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดึงแขนทั้งสองข้างไว้ เมื่อค้นหาด้วยระบบค้นหาภ าพของกูเกิล พบว่ามีการเผยแพร่ภาพนี้ในอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 โดยบัญชีทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์ภาพนี้เมื่อเวลา 23.42 น. พร้อมคำบรรยายว่า “ภาพขณะตำรวจเข้าอุ้มหิ้วปีก บังคับควบคุมตัวทนายอานนท์ นำภา และ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ขึ้นรถตู้ตำรวจ โดยยังไม่รู้ว่าจะนำตัวไปขังที่ใด”  

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) โพสต์ ภาพนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบรรยายว่า “ภาพส่วนหนึ่ง ตอนตำรวจ ‘หิ้ว’ ตัวของทนายอานนท์ นำภา กับภาณุพงศ์ จาดนอก ออกจากศาลอาญา เพื่อนำตัวไปขังต่อที่ สน.ห้วยขวาง และทั้งสองไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจยังคงมีอำนาจขังต่อไม่เกิน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่ถูกจับกุมช่วงบ่ายวันนี้”

2) สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวตรงกันว่า เหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้นที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 หลังจากที่นายอานนท์และนายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมตามหมายจับคดีอาญาจากการร่วมชุมนุมทางการเมือง ตำรวจได้นำตัวไปยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขัง แต่ศาลมีคำสั่งให้คืนคำร้องเนื่องจากตำรวจนำตัวผู้ต้องหามาศาลหลังเวลา 16.00 น. ตำรวจจึงต้องนำตัวนายอานนท์และนายภาณุพงศ์กลับไปควบคุมตัวต่อที่ สน. ห้วยขวาง แต่นายอานนท์ไม่ยินยอมเพราะเห็นว่าตำรวจไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวต่อ จึงขัดขืนด้วยการไม่ยอมเดินและทิ้งตัวลงเพื่อเป็นการอารยะขัดขืน ทำให้ตำรวจต้องหิ้วปีกและกึ่งหิ้วกึ่งลากนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ไปขึ้นรถ

ตัวอย่างรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563

3) นายอานนท์ให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อ 24 ก.ค. 2566 ยืนยันว่าภาพที่ปรากฏเป็นภาพที่เขาปฏิเสธที่จะเดินไปขึ้นรถของตำรวจ เพื่อแสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับอำนาจการควบคุมตัวของตำรวจ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เขา “เข่าอ่อน” เพราะหวาดกลัวการจับกุมของตำรวจ นายอานนท์ระบุด้วยว่า ณ วันที่ 24 ก.ค. 2566 เขายังไม่ได้รับแจ้งจากศาลเรื่องการถอนประกันตัว และยังไม่ได้ถูกจับกุมตามที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำภาพไปบิดเบือนและให้ข้อมูลเท็จ

ข้อสรุปโคแฟค: ภาพจริง แต่ข้อมูลผิดและบิดเบือนความจริง หยุดแชร์

จากการตรวจสอบที่มาของภาพ รายงานข่าวของสื่อมวลชน และการสัมภาษณ์ในอานนท์ สรุปได้ว่า ภาพนายอานนท์ถูกตำรวจหิ้วปีกขณะถูกควบคุมตัวนี้เป็นภาพเหตุการณ์จริงในอดีตที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ไม่ใช่ภาพการจับกุมตัวนายอานนท์หลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงวันที่ 12-21 ก.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพผลการเลือกตั้ง

เหตุการณ์ในภาพเป็นช่วงที่นายอานนท์กระทำการอารยะขัดขืนเพื่อปฏิเสธอำนาจการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่ภาพที่เขาแสดงอาการหวาดกลัวหรือ “เข่าอ่อน” จากการถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

ภาพนี้เป็นภาพเก่าที่นำมาใส่ข้อมูลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียควรหยุดแชร์

เรื่องแนะนำ