เมื่อรูปถ่ายคุณทวดกลายเป็นรูป “หลวงปู่ทวด” ลูกหลานวอนหยุดแชร์-หยุดแพร่ความเข้าใจผิด

เนื้อหาเป็นเท็จ

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ภาพของชายและหญิงชราสองคน พร้อมด้วยข้อความว่า “ภาพหลวงปู่ทวดเมื่อ 300 ปี พ.ศ. 2263 ฝรั่งถ่ายไว้ได้ ใครเห็นถือเป็นบุญวาสนา” ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชั่นไลน์ แม้ลูกหลานของบุคคลในภาพจะออกมายืนยันว่า ชายในภาพไม่ใช่หลวงปู่ทวด พระอริยสงฆ์ชื่อดังแห่งภาคใต้ที่คนจำนวนมากเคารพศรัทธา แต่ก็ยังคงมีคนนำภาพนี้มาโพสต์และแชร์อยู่เสมอ

ภาพถ่ายขาวดำนี้มักถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียโดยผู้ที่ศรัทธาพระเกจิอาจารย์หรือผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่มีประวัติเชื่อมโยงกับหลวงปู่ทวด เช่น วัดช้างให้ จ.ปัตตานี หรือวัดห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนขนาดใหญ่ของหลวงปู่ทวด นอกจากนี้ยังมีการตัดภาพ (crop) ให้เป็นภาพเดี่ยวของชายชราผมสั้นเกรียน ห่มผ้าพาดบ่าคล้ายพระสงฆ์พร้อมกับเติมข้อความเป็นการ์ดอวยพร ทำให้ภาพนี้ถูกส่งต่อแพร่หลายยิ่งขึ้น

ข้อมูลและประวัติหลวงปู่ทวดที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปนั้น เป็นการผสมกันระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์กับตำนานที่เล่าขานต่อกันมา เว็บไซต์นิตยสารสารคดีและจดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือในด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ระบุว่า หลวงปู่ทวดเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีในการบันทึกภาพในโลก รูปลักษณ์หน้าตาของท่านที่เห็นจากพระเครื่องหรือประติมากรรมในยุคหลังที่ห่างจากช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่หลายร้อยปี ล้วนเป็นภาพจากนิมิตที่ว่ากันว่าท่านแสดงอภินิหารให้เห็น

โคแฟคคาดว่า ช่วงต้นเดือนมีนาคมจะมีการแชร์ภาพที่อ้างว่าเป็นภาพถ่ายหลวงปู่ทวดนี้กันมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนบางสำนักที่ระบุว่า วันที่ 6 มี.ค. เป็นวันครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่ทวด

โคแฟคตรวจสอบ


กรณี “รูปถ่ายหลวงปู่ทวด”
นี้ เคยมีผู้หักล้างข้อมูลโดยอ้างอิงประวัติศาสตร์การถ่ายภาพที่ระบุว่า ภาพถ่ายใบแรกของโลกถ่ายโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเมื่อปี 1826 (พ.ศ. 2369) ขณะที่ประวัติหลวงปู่ทวดที่เผยแพร่โดยทั่วไประบุว่า ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยปลายอยุธยา ซึ่งยังไม่มีการใช้กล้องถ่ายรูป และมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2226 ซึ่งหมายความว่า หลวงปู่ทวดมรณภาพก่อนที่จะมีการถ่ายภาพขึ้นในโลกถึงกว่า 140 ปี

นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ ฆราวาสจะไม่นั่งเสมอพระสงฆ์ หากชายชราในภาพเป็นพระสงฆ์จริง หญิงชราย่อมจะไม่นั่งเสมอท่าน

ปี 2563 ลูกหลานตระกูลไชยรักษ์อย่างน้อยสองคน คือนายจิตติศักด์ ไชยรักษ์ และนายล้ำเลิศ ไชยรักษ์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กยืนยันว่า บุคคลในภาพคือบรรพบุรุษของพวกเขา ไม่ใช่พระอริยสงฆ์ชื่อดังและไม่ได้เป็นภาพที่ถ่ายไว้เมื่อ 300 ปีก่อนอย่างที่ลือกัน

วันที่ 23 ม.ค. 2566 นายจิตติศักดิ์ อายุ 47 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์โคแฟคทางโทรศัพท์เกี่ยวกับที่มาของภาพถ่ายนี้ว่า ชายชราในภาพคือ นายพ่วง ไชยรักษ์ ส่วนผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้างๆ คือภรรยาชื่อนางรอด ไชยรักษ์ ภาพนี้ถ่ายที่ จ.นครศรีธรรมราช แต่ไม่ทราบว่าถ่ายเมื่อใดและใครเป็นคนถ่าย เขาเห็นภาพถ่ายนี้ที่บ้านตั้งแต่เด็กๆ และได้รับคำบอกเล่าว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษของครอบครัวไชยรักษ์

หากนับตามลำดับญาติ นายพ่วงมีศักดิ์เป็น “เทียด” หรือพ่อของทวดของนายจิตติศักดิ์ แต่ลูกหลานรุ่นหลังมักเรียกท่านว่า “ทวดพ่วง”

“ทวดพ่วงเป็นคนพัทลุง เดินทางเอาช้างมาให้ที่นครศรีธรรมราชแล้วมาได้เมียที่นี่ เครือญาติและลูกหลานของทวดพ่วงจึงมีอยู่ทั้งที่พัทลุงและนครฯ หลายบ้านก็มีภาพนี้อยู่ แต่ใครเป็นคนถ่าย ถ่ายปีไหนนั้นเราไม่รู้ คนเฒ่าคนแก่ที่พอจะรู้ก็ตายไปกันหมดแล้ว” นายจิตติศักดิ์บอกกับโคแฟค

นายจิตติศักดิ์เล่าว่า ราวปี 2560 ครอบครัวไชยรักษ์ได้จัดงานรวมญาติ และมีการพิมพ์ภาพนี้แจกลูกหลาน รวมทั้งส่งไฟล์ภาพไปในไลน์กลุ่มครอบครัว ต่อมาก็พบว่ามีการเผยแพร่ภาพนี้ในโซเชียลมีเดียพร้อมกับข้อความเท็จที่ระบุว่าเป็นภาพของหลวงปู่ทวด

นายจิตติศักดิ์กล่าวว่า ลูกหลานของทวดพ่วงรู้สึกไม่สบายใจที่มีการนำภาพบรรพบุรุษไปเผยแพร่และให้บิดเบือนว่าบุคคลในภาพคือหลวงปู่ทวด ทางครอบครัวอยากให้หยุดส่งต่อภาพนี้

“ผมก็ได้แต่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กยืนยันไปว่าคนในภาพคือทวดของผม ส่วนใครจะเชื่ออะไรยังไงก็ว่ากันไป…โซเชียลมีเดียมันกว้างขวาง มันทำอะไรไม่ได้”

ขณะที่นายล้ำเลิศ ไชยรักษ์ สมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่งโพสต์ข้อความชี้แจงในทำนองเดียวกันและทิ้งท้ายว่า “ขอความกรุณาอย่าแชร์ อย่าเอาหลวงพ่อทวดมาจาบจ้วง อย่าเอาภาพบรรพบุรุษของผมและลูกหลานไชยรักษ์มาบิดเบือน”

ข้อสรุปโคแฟค: เนื้อหาเป็นเท็จ หยุดแชร์

ภาพนี้ไม่ใช่ภาพของหลวงปู่ทวด ลูกหลานของบุคคลในภาพยืนยันกับโคแฟคว่า นี่เป็นภาพของนายพ่วงและนางรอด ผู้เป็นบรรพบุรุษของตระกูลไชยรักษ์ อีกทั้งจากประวัติของหลวงปู่ทวดที่มีการบันทึกไว้ว่า ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยา ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ใดบันทึกภาพของหลวงปู่ทวดไว้ได้