เฝ้าระวัง ‘Islamophobia’ กระแสความหวาดกลัวทางศาสนาที่ผลิตซ้ำจากข้อมูลลวงออนไลน์

By : Zhang Taehun

ความกลัว อคติ และความเกลียดชังชาวมุสลิมที่นำไปสู่การยั่วยุ ความเป็นปรปักษ์ และการไม่ยอมรับความแตกต่าง ด้วยการข่มขู่ การคุกคาม การล่วงละเมิด การยั่วยุ และการข่มขู่ทั้งต่อบุคคลที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีแรงจูงใจมาจากความเกลียดชังทางสถาบัน อุดมการณ์ การเมือง และศาสนา ซึ่งก้าวข้ามไปสู่การเหยียดเชื้อชาติเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม โดยมุ่งเป้าไปที่สัญลักษณ์และเครื่องหมายของการเป็นมุสลิม

ข้างต้นนี้คือนิยาม “Islamophobia” หรือ กระแสหวาดกลัวอิสลาม ที่ถูกกำหนดโดย องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 60 ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) กำหนดให้tวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านกระแสหวาดกลัวอิสลามสากล (International Day to Combat Islamophobia) 

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ในปี 2564 เนื่องในการจัดแห่งงานวันต่อต้านกระแสหวาดกลัวอิสลามสากลครั้งแรกว่า การต่อต้านมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆของการฟื้นคืนชีพในลัทธิชาตินิยมชาติพันธุ์ การตีตรา และคำพูดแสดงความเกลียดชังที่พุ่งเป้าไปที่ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ชาวมุสลิม ชาวยิว ชุมชนคริสเตียนชนกลุ่มน้อย รวมถึงชุมชนอื่นๆ 

Britannica สารานุกรมที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของอังกฤษ ระบุว่า ทัศนคติการมองศาสนาอิสลามในแง่ลบอยู่คู่กับโลกตะวันตกมาตั้งแต่ยุคที่ศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้น เนื่องด้วยรัฐชาติของชาวตะวันตกหรือก็คือชาวยุโรปมีศาสนาคริสต์เป็นแกนหลักทางความเชื่อ และตลอดห้วงประวัติศาสตร์ของรัฐหรืออาณาจักรในยุโรปก็มีความขัดแย้งกับรัฐหรืออาณาจักรที่มีศาสนาอิสลามเป็นแกนหลักทางความเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สงครามครูเสด การทำสงครามชิงดินแดนในสเปนจากผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม และการขยายอิทธิพลของอาณาจักรออตโตมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระแสหวาดกลัวอิสลามในยุคสมัยใหม่ เกิดขึ้นจริงจังภายหลังเหตุการณ์ผุ้ก่อการร้ายขับเครื่องบินพุ่งชนอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 หรือเหตุการณ์ “9/11” ชาวมุสลิมในสหรัฐฯ และยุโรปตกเป็นเป้าถูกทำร้ายตั้งแต่ทางวาจาไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย มีการจัดตั้งองค์กรที่ระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือกฎหมายต่อสังคมตะวันตก และหลายประเทศมีกฎหมายจำกัดหรือเฝ้าระวังการแสดงออกทางอัตตาลักษณ์ของชาวมุสลิม 

เช่น ฝรั่งเศส ห้ามสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมศีรษะที่มีลักษณะปิดบังใบหน้า (นิกอบ) ขณะที่ ออสเตรีย มีการเผยแพร่แผนที่ออนไลน์ ระบุสถานที่ตั้งของมัสยิด ศูนย์ชุมชนและสถานที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ สวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนลงมติให้ออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างหอสวดอาซาน สิ่งก่อสร้างสำคัญที่อยู่คู่กับมัสยิดหรือศาสนสถานของชาวมุสลิม หรือในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ก็มีการผลักดันข้อเรียกร้องไม่ให้ศาลอ้างกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายของศาสนาอิสลาม โดยให้เหตุผลว่าขัดแย้งกับค่านิยมของอารยธรรมตะวันตก

อนึ่ง ตามข้อมูลของ Britannica ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระแสหวาดกลัวอิสลามไว้อีกว่า แนวความคิดที่เกลียดชังอิสลามเกี่ยวกับศาสนาอิสลามโดยทั่วไปยังนำ ชาวมุสลิม กับ ภูมิภาคตะวันออกกลาง (Middle East)” มาผูกรวมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ในความเป็นจริง ชาวตะวันออกกลางจำนวนมากไม่ใช่มุสลิม และชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลกอาศัยอยู่นอกตะวันออกกลาง (5 อันดับชาติที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม คือ อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศและไนจีเรีย ซึ่งแต่ละชาติในกลุ่มนี้มีประชากรมุสลิมราว 100 ล้านคนหรือมากกว่า)

บทความ Myths about American Muslims 10 Years after 9/11” เผยแพร่ในเว็บไซต์ ipsu.org ของ Institute for Social Policy and Understandingสถาบันวิจัยที่มุ่งเน้นเป้าหมายชาวอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2554 หรือ 2 วันก่อนครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์ 9/11 ผู้เขียนคือ เอ็นจี อับเดลคาเดอร์ (Engy Abdelkader) นักวิชาการด้านกฎหมายของ ISPU และเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่นิวยอร์ก/นิวเจอร์ซีย์ ระบุ 5 เรื่องที่สังคมอเมริกันเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาวมุสลิม ดังนี้

1.ชาวอเมริกันมุสลิมไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในความเป็นจริง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ชุมชนชาวอเมริกันมุสลิมได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการป้องกันมากกว่าร้อยละ 40 ของแผนการก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะห์ต่อสหรัฐฯ เบาะแสเบื้องต้นที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับแผนการต่างๆ มาจากชุมชนชาวอเมริกันมุสลิม แท้จริงแล้ว การรักษาบ้านเกิดเมืองนอนเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันและมีความสำคัญเป็นลำดับแรกสำหรับชุมชนมุสลิมในสหรัฐฯ

2.มัสยิดเป็นแหล่งบ่มเพาะของลัทธิหัวรุนแรงและการก่อการร้ายในชุมชนอเมริกันมุสลิม การศึกษาเวลา 2 ปีเกี่ยวกับชาวอเมริกันมุสลิมในหัวข้อ บทเรียนต่อต้านการก่อการร้ายของชาวเอมริกันมุสลิมโดยศาสตราจารย์ เดวิด ชานเซอร์ (David Schanzer) และ ชาร์ลส์ เคิร์ซแมน (Charles Kurzman) ร่วมกับ Duke’s Sanford School of Public Policy และ University of North Carolina ตามลำดับ พบว่า ความเป็นจริงแล้ว บทบาทของมัสยิดในปัจจุบันกลับช่วยขัดขวางการแพร่กระจายของลัทธิอิสลามหัวรุนแรงและการก่อการร้ายเสียด้วยซ้ำไป

ผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมพิธีในมัสยิดอเมริกันสมัยใหม่อาจรู้สึกประหลาดใจ เมื่อรู้ว่าการเทศนาของผู้นำมุสลิมมักเน้นไปที่หน้าที่ของชาวมุสลิมในการบริจาคอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อการกุศล การจัดการความโกรธ การแสดงความเคารพต่อสามีหรือภรรยา คุณธรรมแห่งความอดทนและการให้อภัยในประเพณีอิสลาม ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในชีวิตพลเมืองอเมริกันโดยการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ หรือเคารพหลักนิติธรรมในสถานที่ที่คุณอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวอเมริกันมุสลิมที่มีชื่อเสียงจำนวนมากได้ใช้ธรรมาสน์เพื่อประณามการกระทำของลัทธิหัวรุนแรงและความรุนแรงทางศาสนา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เนื่องจากความเข้าใจที่กระจ่างแจ้งเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามเผยให้เห็นว่า การก่อการร้ายนั้นไม่มีนัยสำคัญต่อหลักการของกฎหมายดังกล่าว” บทความระบุ

3.กฎหมายชาริอะห์ (กฎหมายจารีตอิสลาม) คือภัยคุกคามที่กำลังแทรกซึมเข้าไปในระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดที่จะสนับสนุนข้อกล่าวอ้างที่ว่าชาวอเมริกันมุสลิมกำลังผลักดันการนำหลักศาสนาอิสลามไปใช้ในอเมริกา(ปี 2554 มีบทความนี้เผยแพร่) 

4.ผู้นำมุสลิมไม่ประามการก่อการร้ายในนามของศาสนาอิสลาม ในความเป็นจริง ผู้นำมุสลิมในอเมริกาส่วนใหญ่ได้ทำตรงกันข้ามอย่างชัดเจน ศาสตราจารย์ชาร์ลส เคิร์ซแมน แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้รวบรวมกิจกรรมการประณามต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่นำโดยผู้นำมุสลิม โดยเฉพาะ พวกเขายังมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กับชุมชนผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอ และทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาและระหว่างวัฒนธรรมกับกลุ่มคนต่างศาสนาและชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่รอบตัว

5.มุสลิมที่ฝึกฝนทุกคนจะมีส่วนร่วมในทากียะฮ์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากศาสนาให้โกหก คำว่า ทากียะฮ์(Taqiyya)” ในภาษาอาหรับ หมายถึงการปกปิดศรัทธาของตนเพื่อให้รอดพ้นจากความตาย คำนี้ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมกลุ่มแรกๆ เมื่อ 1,500 ปีก่อน ที่พวกเขาก็เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกับอับราฮัม โมเสส และพระเยซู แต่ก็ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกทรมานและประหัตประหารด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่ในปัจจุบัน ชาวมุสลิมโดยเฉลี่ยได้เรียนรู้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ว่าการโกหกนั้นผิดเหมือนกับชาวอเมริกันทั่วไป และชุมชนอเมริกันมุสลิมก็ไม่ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันกับที่มุสลิมกลุ่มแรกต้องเผชิญเมื่อนานมาแล้ว

โรคระบาด ก็เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นกระแสหวาดกลัวอิสลาม มีตัวอย่างจากประเทศอินเดีย ซึ่งมักมีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมอยู่เนืองๆ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็มีการแชร์ข่าวลวง (Fake News) ที่เกี่ยวข้องกับกระแสหวาดกลัวอิสลาม โดย The Logical Indian ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ในอินเดีย รวบรวมไว้ 5 เรื่อง เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 อันเป็นช่วงที่อินเดียประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมโรค ในชื่อบทความ “Top Five Fake News Targeting Muslim Community Amid Nationwide Lockdown” ดังนี้ 

1.วิดีโอเก่าอ้างว่าผู้ขายผลไม้ถ่มน้ำลายเพื่อแพร่เชื้อโคโรนาไวรัส มีการแชร์คลิปวิดีโอความยาว 30 วินาทีของพ่อค้าผลไม้ที่กำลังเลียนิ้วขณะหยิบผลไม้บนรถเข็น โดยอ้างว่าชาวมุสลิมจงใจแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศ เบื้องต้นเหตุการณ์ถูกระบุว่าเกิดขึ้นในเขต Raisen ของรัฐมัธยประเทศ ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชายคนที่ปรากฏในคลิปถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยผู้ร้องเรียนเห็นภาพดังกล่าวแล้วกังวลว่า ผู้ขายผลไม้รายนี้จงใจแพร่เชื้อผ่านทางน้ำลาย ดังนั้นกรณีนี้คือการนำคลิปวีดีโอเก่ากลับมาแชร์ใหม่อย่างผิดบริบท (false context)

2.วีดีโอเก่าอ้างว่าร้านอาหารของชาวมุสลิมถ่มน้ำลายใส่อาหาร คล้ายๆ กับกรณีแรก ซึ่งการตรวจสอบทำโดยใช้เครื่องมือ InVid แบ่งวิดีโอออกเป็นหลายเฟรม และค้นหารูปภาพแบบย้อนกลับของคีย์เฟรมหลายรายการใน Google ในที่สุดพบว่าวิดีโอดังกล่าวมีการโพสต์ไว้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 บนเว็บไซต์แห่งหนึ่งในจีน และแม้จะสืบย้อนกลับไปไม่ถึงต้นตอ แต่อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่าคลิปวีดีโอนี้ถูกเผยแพร่มาก่อนสถานการณ์โควิด-19 นานพอสมควร

3.สมาชิก Tablighi Jamaat ขออาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัติและถ่ายอุจจาระในที่โล่ง โดย Tablighi Jamaat เป็นขบวนการศาสนาอิสลามระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นการชักชวนชาวมุสลิมให้เคร่งครัดในศาสนามากขึ้น ซึ่งในวันที่ 5 เม.ย. 2563 มีรายงานข่าวอ้างว่า ผู้เข้าร่วมกลุ่ม Tablighi Jamaat ได้ขออาหารที่ไม่ใช่มังสวิรัติและถ่ายอุจจาระในที่โล่ง ณ สถานที่กักกันที่ตั้งอยู่ใน Saharanpur รัฐอุตตรประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานตำรวจของ Saharanpur ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ (ปัจจจุบันคือ X) ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์เรียกร้องตามที่กล่าวอ้างเกิดขึ้น

4.ชาวมุสลิมพร้อมใจกันจามโดยเจตนาเพื่อแพร่เชื้อโควิด-19 มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ในมัสยิด Hazrat Nizamuddin ในกรุงนิวเดลี ผู้คนกำลังจามโดยเจตนาเพื่อแพร่เชื้อโควิด-19 แต่นั่นเป็นการกล่าวอ้างอย่างเกินจริงๆ เพราะในวิถีปฏิบัติในศาสนาอิสลาม มีการสวดอธิษฐานที่เรียกว่า Zikr เป็นการกล่าวถึงพระอัลเลาะห์ พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามซ้ำๆ และพิธีกรรมนี้มักมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น การแกว่งไปมาหรือหมุนจากขวาไปซ้าย จะถูกรวมไว้ในกิจกรรมนี้ระหว่างการใช้น้ำเสียงและทำพร้อมกันในทำนองเดียวกัน

5.ชาวมุสลิมเลียภาชนะใส่อาหารเพื่อแพร่เชื้อโควิด-19 มีการแชร์คลิปวิดีโอที่แสดงภาพกลุ่มคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในชุมชน Dawoodi Bohra กำลังนั่งอยู่กับภาชนะและเลียภาชนะเหล่านั้น ซึ่งคลิปนี้แม้เป็นเหตุการณ์จริง โดยระบุว่า ภายใต้การนำของ Syedna Mufaddal หัวหน้าบาทหลวง Bohra กำลังทำความสะอาดจานใหญ่ที่เรียกว่า Thal เพื่อไม่ให้อาหารเหลือทิ้ง แต่เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ในขณะที่อินเดียใกล้จะสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ 21 วันซึ่งประกาศโดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19ชาวอินเดียยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากไวรัสอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โรคกลัวอิสลาม ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และความเกลียดชังของชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน WhatsApp, Facebook, Twitter, YouTube และแม้แต่ช่องข่าวโทรทัศน์ ความคลั่งไคล้ก็เดือดพล่านไปทั่ว ขอให้เราอย่าใส่ร้ายและตีตราเหมารวมทั้งชุมชน จากเหตุการณ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันซึ่งดำเนินการโดยคนเพียงไม่กี่คนรายงานของ The Logical Indian ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

กลับมาที่ ประเทศไทย แม้จะไม่ได้มีกระแสหวั่นเกรงเหตุก่อการร้ายมากเท่าสหรัฐอเมริกา และไม่ได้มีความบาดหมางที่อิงกับศาสนาอย่างร้าวลึกเหมือนกับอินเดีย แต่ด้วยความที่ไทยก็มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ซึ่งมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามที่เป็นวัฒนธรรมหลักในพื้นที่ ก็ยังทำให้มองเห็นร่องรอยกระแสหวาดกลัวอิสลามในสังคมได้บ้าง ผ่านข่าวลวงที่ถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

ดังตัวอย่างจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้เขียนลองใช้ Keyword 3 คำ คือ มุสลิม’ , “อิสลาม และ มัสยิด สืบค้น ณ วันที่ 24 ม.ค. 2567 ตัวอย่างข่าวลวงที่พบบ่อยคือ รัฐไทยอำนวยความสะดวกอย่างมากในการก่อสร้างและดำเนินกิจการมัสยิด” เช่น แชร์กันว่า กระทรวงมหาดไทย ออกใบอนุญาตย้อนหลังให้สร้างมัสยิด ที่ จ.บึงกาฬ พบครั้งแรก วันที่ 4 มิ.ย. 2563 และอีกครั้งวันที่ 30 มิ.ย. 2565 

ซึ่งตามข้อกฎหมาย การสร้างมัสยิดต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กรณีจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) เป็นสำคัญ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 494/2542 ลงวันที่ 20 พ.ย. 2542 เป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด , 

ภูเก็ตใช้พื้นที่ป่าสงวนกว่า 19 ไร่ และใช้งบกว่า 250 ล้านบาท เพื่อสร้างมัสยิด วันที่ 28 ต.ค. 2564 และ 16 ก.ค. 2565 คำชี้แจงคือ เป็นโครงการศูนย์อบรมจริยธรรมศาสนาอิสลาม ไม่ใช่เป็นการก่อสร้างมัสยิดแต่อย่างใด อีกทั้งในโครงการนี้ อบจ. ภูเก็ตได้ตั้งงบประมาณจำนวน 56 ล้านบาทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ไม่ใช่ งบ 250 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา ก่อสร้างบริเวณสวนป่าบางขนุน ใกล้กับวิทยาลัยเทคนิคถลาง ซึ่ง อบจ. ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากรมป่าไม้แล้ว ขณะที่ในวันที่ 5 ธ.ค. 2564 ยังพบข่าว ผู้ว่าจังหวัดภูเก็ต อนุมัติงบสร้างมัสยิด 56 ล้านบาท และขนชาวมุสลิมเดินทางเข้าภูเก็ต มีการชี้แจงว่า ผู้ว่าจังหวัดภูเก็ตนับถือศาสนาพุทธ อีกทั้งไม่เคยอนุมัติงบ 56 ล้านบาทเพื่อ สร้างมัสยิด และไม่เคยลักลอบพาชาวมุสลิมเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด , 

ห้ามชาวบ้านและชาวพุทธ เข้าไปยังเขตเขายายเที่ยง วันที่ 26 เม.ย. 2565 โดยอ้างถึงการสร้างมัสยิดในพื้นที่ดังกล่าว ที่มาที่ไปของมัสยิดแห่งนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการที่ราษฎรได้เข้าบุกรุกถือครองพื้นที่ป้าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียนและป่าเขาเขื่อนลั่น ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา แต่มติครม. ปี 2518 ได้ให้ราษฎรเข้าอยู่ในรูปหมู่บ้านป่าไม้ฯ จนมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของกรมป่าไม้ ซึ่งมัสยิดดารุ้ลอะมีน (มัสยิดเขายายเที่ยง) ได้มีการยื่นขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีการห้ามชาวบ้านและชาวพุทธเข้าไปยังเขตเขายายเที่ยงแต่อย่างใด , 

มัสยิดเกิน 100 แห่ง ทั่วเมืองเชียงใหม่ วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบทางทะเบียนล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2562 (วันที่ 31 ธ.ค. 2562) พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีมัสยิดจดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จำนวนทั้งสิ้น 14 แห่งเท่านั้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่า มัสยิดต้องจดทะเบียนแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล และนอกจากมัสยิดแล้ว ยังมีสถานที่ประกอบศาสนกิจที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นอีกด้วย เช่น มูศ็อลลา บาแล หรือบาลาเซาะ เป็นต้น ซึ่งมิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนแต่อย่างใด , 

มุสลิมยึดที่ว่าการอำเภอเทพา จ.สงขลา สร้างมัสยิดในสถานที่ราชการ ด้วยงบประมาณแผ่นดินของคนไทยทั้งประเทศ ชี้แจงว่าอาคารดังกล่าวที่ปรากฏในโพสต์นั้นเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ละหมาดให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการในที่ว่าการอำเภอเทพารวมทั้งข้าราชการที่เป็นมุสลิมในพื้นที่ และอาคารดังกล่าวไม่ได้เป็นอาคารมัสยิดที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายแต่อย่างใด เป็นเพียงสถานที่สำหรับการทำละหมาดเท่านั้น อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอเทพาเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม , 

มีการสร้างมัสยิดโดยไม่มีมุสลิมในพื้นที่ ณ เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย วันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงว่า ในอ.เวียงป่าเป้า มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 17 หมู่บ้าน รวม 101 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563) และการก่อสร้างเป็นไปตามมติที่ประชุมของ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มุสลิมที่ดินทางไป-มาระหว่าง จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ได้แวะปฏิบัติศาสนากิจ แต่ทั้งนี้ อาคารมัสยิดดังกล่าวไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายแต่อย่างใด และเป็นเพียงสถานที่สำหรับการทำละหมาดชั่วคราวเท่านั้น

อีกหัวข้อที่พบมากคือ ศาสนาอิสลามกำลังเข้ายึดครองระบบการศึกษาของไทย อาทิ มีการแชร์กันว่า บรรจุอิสลามศึกษาเข้าทุกโรงเรียน เพราะเป็นกฎกระทรวง” ในวันที่ 3 พ.ย. 2562 วันที่ 29 เม.ย. 2563 วันที่ 27 ส.ค. 2563 และวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีคำชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีนโยบายออกกฎหรือบังคับให้ทุกโรงเรียน เรียนอิสลามศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ 1.เป็นสาระการเรียนรู้อิสลามศึกษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 2.การเรียนการสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนาหรืออิสลามศึกษาแบบเข้ม ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีโรงเรียนของรัฐที่เปิดสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนา ทั้งสิ้น 350 โรงเรียน

หนังสือเรียนวิชาอิสลาม ระบุห้ามไหว้ผู้มีพระคุณ เพราะผิดหลักศาสนา วันที่ 21 เม.ย. 2563 และ 29 มิ.ย. 2565 มีคำชี้แจงจาก สพฐ. ว่า หนังสือเรียนดังกล่าวไม่มีเนื้อหาสาระส่วนใดส่วนหนึ่งที่ระบุว่าห้ามไหว้พ่อแม่ ห้ามไหว้ครูอาจารย์ ห้ามไหว้พระ ห้ามไหว้พระราชา ห้ามไหว้ผู้มีพระคุณ โดยหนังสือเรียนอิสลามศึกษาตามที่กล่าวอ้าง ได้จัดทำขึ้นสำหรับผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลามให้ได้นำไปใช้ในการเรียนรู้ในสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 

สำหรับเนื้อหาสาระภายในเล่ม มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจ เป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามไม่ได้ห้ามการไหว้เมื่อมีการพบปะหรือจากลากับบุคคลต่างศาสนา เพราะตระหนักดีว่าการไหว้เป็นมารยาทไทย เป็นวัฒนธรรมการทักทายแบบไทยที่แสดงออกถึงความมีสัมมาคารวะและเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่ศาสนาอิสลามห้ามการก้มกราบหรือกราบไหว้บูชาทุกสรรพสิ่ง

อิสลาม ห้ามเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญ วันที่ 24 พ.ค. 2563 และ 26 ก.ย. 2563 มีคำชี้แจงจาก กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ว่า ไม่มีกฏข้อห้ามอิสลามเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญ เนื่องจากตัดสินนัยยะพิจารณาถึงเจตนาของผู้พูด เมื่อมุสลิมนำมาใช้โดยไม่มีเจตนาที่จะทำและมิได้กระทำ ก็มิได้ทำให้สิ้นสภาพอิสลาม เนื่องจากคำพูดที่แสดงถึงเจตนาว่า จะปฏิบัติการกระทำที่ทำให้สิ้นสภาพอิสลาม โดยไม่ได้กระทำจริงตามนั้น ยังไม่ถือว่าสิ้นสภาพอิสลาม แต่ถ้าจิตใจคิดที่จะเลิกจากสภาพอิสลาม หรือจะนับถือศาสนาอื่น เพียงแต่มีความลังเลในหัวใจต่อความคิดนั้น ก็ทำให้สิ้นสภาพอิสลามได้แล้ว

ถ้าสมมุติจะยึดตามบางคนที่แปลบทเพลงไปตามความหมายที่นิยามตามหลักศาสนาอื่นๆ เมื่อมุสลิมนำมาใช้โดยไม่มีเจตนาที่จะทำและมิได้กระทำ เช่นอาจจะแปลคำ กราน เป็นกราบหรือ นบ เป็น กราบ หรือ บังคม เป็น กราบ คำพูดก็เป็นเพียงคำพูดซึ่งยังไม่มีการกระทำ จึงไม่ถือเป็นคำพูดที่ทำให้ขาดสภาพอิสลาม เพราะการกราบผิดตรงการกระทำ แต่เมื่อนำมาเป็นคำพูดก็ยังสามารถจะแปลออกไปได้อีกตามเจตนาของผู้พูดเอง ดังกล่าวไว้แล้ว

ยังมีเรื่องของ การเพิ่มจำนวนประชากรมุสลิมด้วยการนำเข้าชาวต่างชาติ อาทิ มีการแชร์กันว่า มีการแอบลักลอบนำชาวมุสลิมต่างด้าวหลายคนเข้า จ.ภูเก็ต ในเวลากลางคืนด้วยรถตู้” วันที่ 24 ต.ค. 2564 และ 21 ต.ค. 2565 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ผู้ว่าจังหวัดภูเก็ตไม่เคยลักลอบพาชาวมุสลิมเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตตามที่กล่าวอ้าง และผู้ว่าฯจังหวัดภูเก็ตนับถือศาสนาพุทธ โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการตัดบางช่วงบางตอนของรายการหนึ่ง แล้วนำมาเขียนพาดหัวข่าวใหม่เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนการนำคนมุสลิมเข้าไทย พบ 2 หัวข้อ คือ ผู้นำซาอุฯ แต่งตั้งตำแหน่งให้นายกฯ นำคนอิสลามเข้าไทยแบบผิดกฎหมายวันที่ 2 ก.พ. 2565 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องจริง เนื่องจากการเยือนซาอุดิอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น มิได้มีการหารือเรื่องการแต่งตั้งให้ นายกฯ ดำรงตำแหน่งสำคัญใด ๆ หรือการนำคนมุสลิมเข้าในประเทศไทย แต่ไปเพื่อต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุฯ และสร้างโอกาสที่สำคัญสำหรับทั้งสองประเทศให้แก่ประชาชน โดยทำการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวพลังงาน แรงงาน อาหาร สุขภาพ ความมั่นคง การศึกษาและศาสนา และการค้าการลงทุน รวมถึงด้านการกีฬา เป็นต้น

อีกครั้งในวันที่ 29 พ.ย. 2565 กับหัวข้อ ซาอุฯ นำคนมุสลิมเข้าไทย ล้านคนในปี 2565” ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ภายหลังจากการเยือนซาอุดิอาระเบียของนายกฯ การท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 9 สาขา ที่ไทยพุ่งเป้าผลักดัน และส่งเสริมความร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียโดยคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุฯ จะเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น อันมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) ซึ่งเป็นเชิงบวก และไม่ได้มีลักษณะที่จะขนคนมุสลิมเข้ามาจำนวนมากเพื่อจุดประสงค์อื่นแต่อย่างใด

ขณะที่ Cofact เองก็เคยเผยแพร่บทความกรณีศึกษา ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของอิสลามโมโฟเบีย” วันที่ 28 ก.พ. 2566 ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และภรรยานับถือศาสนาอิสลาม ปรากฏในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายที่มองว่า เอื้อประโยชน์และขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม เช่น พ.ร.บ. การบริหารองค์กรอิสลาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์ การสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางศาสนา และการสร้างมัสยิด เป็นต้น แม้จะมีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องไปหลายครั้งแล้วก็ตามว่าไม่เป็นความจริง รวมถึงมีภาพถ่ายจำนวนมากที่ยืนยันว่าทั้งนายกฯ และภรรยาเข้าร่วมพิธีทางศาสนาพุทธ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2565 มีการจัดงานเสวนาค้นหาความจริง แก้ไขข่าวลวง อิสลามโมโฟเบียในสังคมไทย ที่สถาบันเรียนรู้อิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ต.ท่าวังตาล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ปวิณ แสงซอน สถาปนิกมุสลิม ฉายภาพ 2 ส่วนที่มาประกอบกันเป็นกระแสหวาดกลัวอิสลาม คือ ผู้ส่งสาร” หรือผู้เผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 

1.ตั้งใจสร้างความเกลียดชัง กลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กร มีกระบวนการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาเป็นระบบทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.ไม่ได้ตั้งใจแต่นิสัยเป็นเหตุสังเกตได้ หมายถึง ชาวมุสลิมเองก็ไม่ได้เข้าใจการปฏิบัติตนในแต่ละบทบาทในสังคมตามหลักศาสนา ทำให้คนต่างศาสนาที่พบเห็นมองอิสลามในแง่ลบ และ 3.คิดดีแต่ผีเข้าหมายถึงผู้ที่ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตนเองและกาลเทศะ เช่น ประเด็นใดเป็นเรื่องส่วนตัว-ส่วนรวม เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบมาก-น้อยต่อสังคม ประเด็นที่สื่อสารในที่สาธารณะได้กับประเด็นที่ควรพูดคุยกันเฉพาะในห้องเรียน

กับ ผู้รับสาร แบ่งได้ 3 ประเภทเช่นกัน คือ 1.หาข้อเท็จจริง ได้ข่าวอะไรมาก็พยายามค้นหาที่มาที่ไป เกิดการปะติดปะต่อเรื่องราวนำไปสู่ทัศนคติของคนคนนั้น 2.จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ไม่มีเหตุผลใดๆ เพราะอยู่กับจินตนาการล้วนๆ และ 3.มีคำตอบในใจแล้ว ต่อให้ฟังข่าวก็ยังคงตัดสินตามที่คิดไว้อยู่ดี ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิดหรือเกลียดชัง มักเป็นคนทั่วไปหรือคนที่มีสถานะอ่อนด้อยในสังคม เช่น คนจน คนยากไร้ ลูกจ้าง มากกว่าคนที่มีชื่อเสียงหรือตำแหน่งในสังคม เพราะคนกลุ่มหลังนี้ยังได้รับความเกรงใจอยู่บ้าง 

ขณะที่ สุจินดา คำจร นักวิชาการชาวพุทธผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชนมุสลิม ให้ข้อคิดว่า เมื่อรับข้อมูลข่าวสารต้องตั้งคำถามก่อน” ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า ยิ่งสงสัยยิ่งต้องค้นหาข้อมูลแล้วจะเห็นภาพมากขึ้น พื้นที่ทางวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างกรณีของตนเอง การที่เปิดใจยอมรับก็มาจากการศึกษาค้นคว้า แต่หากรีบเชื่อหรือด่วนสุด ก็จะเห็นแต่ภาพเหมารวมอย่างที่เกิดขึ้น เข้าใจ-เข้าถึง การมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ผิด การเรียนรู้จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ 

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสำคัญของทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) กล่าวคือ ก่อนหน้านี้เคยมีข่าว จ.เชียงใหม่ มีมัสยิดมากถึง 200 แห่ง เรื่องนี้สำหรับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามได้ยินแล้วคงตกใจ แต่หากเชื่อในทันทีโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะเป็นการผลิตซ้ำ ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรับข่าวจากหลายช่องทาง โดยเฉพาะแหล่งข่าวจากทางออนไลน์ยิ่งต้องระมัดระวังเพราะอาจไม่ได้กลั่นกรองอย่างเพียงพอ แต่อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนั้นๆ ก็สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้เช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง อันธิกา (ยามีละห์) เสมสรร ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝากถึงองค์กรของชาวมุสลิมเองว่าก็ต้องปรับวิธีคิดด้วย เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติ อยากให้เปลี่ยนคำถามจากพื้นที่นี้ชุมชนมุสลิมได้รับผลกระทบมาก-น้อยเพียงใด เป็นพื้นที่นี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ตรงไหนบ้าง โดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าผู้ได้รับผลกระทบนับถือศาสนาใดเพราะการช่วยเหลือโดยแบ่งแยกศาสนา คนภายนอกที่มองเข้ามาก็จะเห็นการเลือกปฏิบัติ ในทางกลับกัน ภาพของการช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยก สามารถลดความรู้สึกเกลียดหรือกลัวมุสลิมลงได้

โดยสรุปแล้ว การระบาดของข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จที่เชื่อมโยงกับกระแสความหวาดกลัว (หรือเกลียดกลัว) อิสลาม คงไม่อาจแก้ไขได้เพียงคำแนะนำเรื่องเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีพื้นที่ กิจกรรม รวมถึงเนื้อหาสื่อต่างๆ ที่เอื้อต่อการให้ผู้ที่มีพื้นเพความเชื่อแตกต่างกัน ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจในความแตกต่างนั้น และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติบนฐานของการเคารพความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยกหรือหวาดกลัวซึ่งกันและกัน!!!

-/-/-/-/-/–/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.un.org/en/observances/anti-islamophobia-day (International Day to Combat Islamophobia 15 March : องต์การสหประชาชาติ)

https://www.britannica.com/topic/ Islamophobia(Islamophobia : Britannica)

https://worldpopulationreview.com/country-rankings/muslim-population-by-country  (Muslim Population by Country 2024 : World Population Review)

https://www.statista.com/statistics/374661/countries-with-the-largest-muslim-population/ (Top 25 countries with the largest number of Muslims in 2022 (in millions)* : Statista)

https://www.ispu.org/5-myths-about-american-muslims-10-years-after-911/ (5 Myths about American Muslims 10 Years after 9/11 : ISPU 9 ก.ย. 2554)

https://thelogicalindian.com/news/islamophobia-covid-19-coronavirus-fake-news-muslim-tablighi-jamaat-20543 (Top Five Fake News Targeting Muslim Community Amid Nationwide Lockdown: The Logical Indian 10 เม.ย. 2563)

https://www.the101.world/hindu-vs-muslim-conflict-in-india/ (‘ชาตินิยมที่มากล้น’ กับต้นทุนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อินเดียต้องแบกรับ : 101)

https://www.antifakenewscenter.com/?s=มัสยิด&asp_active=1&p_asid=1&p_asp_data=1&post_date_to=2024-01-24&post_date_to_real=24-01-2024%20%20%20%20&post_date_from=2017-03-23&post_date_from_real=23-03-2017%20%20%20%20&filters_initial=1&filters_changed=0&qtranslate_lang=0&current_page_id=13563

https://www.antifakenewscenter.com/?s=อิสลาม&asp_active=1&p_asid=1&p_asp_data=1&post_date_to=2024-01-24&post_date_to_real=24-01-2024%20%20%20%20&post_date_from=2017-03-23&post_date_from_real=23-03-2017%20%20%20%20&filters_initial=1&filters_changed=0&qtranslate_lang=0&current_page_id=13563

https://www.antifakenewscenter.com/?s=มุสลิม&asp_active=1&p_asid=1&p_asp_data=1&post_date_to=2024-01-24&post_date_to_real=24-01-2024%20%20%20%20&post_date_from=2017-03-23&post_date_from_real=23-03-2017%20%20%20%20&filters_initial=1&filters_changed=0&qtranslate_lang=0&current_page_id=13563

https://blog.cofact.org/660206-2/ (ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย” : Cofact 28 ก.พ. 2566)

https://blog.cofact.org/form0865/ (ถอดบทเรียน‘อิสลามโมโฟเบีย’วงเสวนาชี้‘เข้าใจ-เข้าถึง’เรียนรู้ความแตกต่าง-ช่วยเหลือไม่แบ่งแยก ลดอคติได้ : Cofact 13 ส.ค. 2565)