ถกปัญหา‘มายาคติกับความรุนแรงทางเพศ’ ชี้‘ยุคสมัยเปลี่ยนไวแต่ความเข้าใจไม่เท่ากัน’ปัจจัยทำแก้ไขได้ยาก

Editors’ Picks

29 พ.ย. 2566 สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และโคแฟค (ประเทศไทย) จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “มายาคติ ความเข้าใจผิดที่ส่งผลต่อความรุนแรงทางเพศ” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ณ ห้องประชุม 301สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) และเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานผ่านช่องทางออนไลน์ระบบ ZOOM

ม.ล.ศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์กล่าวเปิดการเสวนา ระบุว่า ในความเข้าใจของตน สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบหรืออยู่ในโลกมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่มีกำลังชอบมีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าเป็นปกติ แม้กระทั่งมนุษย์ที่มองว่าตนเองเป็นสัตว์   เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งมีศีลธรรมและอารยธรรม แต่จิตใต้สำนึกของสิ่งชีวิตที่มีกำลังที่กระทำต่อสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าก็ยังอยู่ แม้จะมีระบบศีลธรรม คุณธรรมและกฎหมายครอบอยู่ก็เพียงแต่กดทับอยู่ภายนอก 

ดังนั้นหากมองตามความเป็นจริง คนที่มีอำนาจเหนือกว่าแค่มองตาแล้วบอกให้ไป ก็ทำให้คนที่อ่อนแอกว่าก้มหน้าแล้วก็เดินไปทางที่สายตาของผู้มีอำนาจมองไป บางคนอาจบอกว่าก็ในเมื่อไม่ได้ขัดขืนก็แสดงว่ายินยอม แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าจริงๆ ที่ยอมก็เพราะอีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า ตัวอย่างนี้ไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพแต่เป็นความรุนแรงทางจิตใจ และเป็นมายาคติหรือความเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้แข็งแรงกว่าหรือมีอำนาจมากกว่าสามารถกระทำกับผู้ที่อ่อนแอกว่าได้

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งคำว่าสตรีสากลในความหมายตน ไม่ใช่สตรีเพียงทางร่างกาย กล่าวคือ บางคนกายไม่ใช่สตรีแต่ใจเขาเป็นสตรี คำว่าสตรีนี้ไม่ใช่มีตามเพศกำเนิด ไม่ใช่ดูจากอวัยวะที่อยู่ใต้กระโปรงหรือกางเกง แต่ดูที่สภาพจิตใจ และเหตุที่มีวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เพราะทั่วโลกตระหนักว่าความรุนแรงแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้

“มีการรณรงค์ทุกภาคส่วน จนกระทั่งมีกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุความรุนแรงทางเพศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนไปจบวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล เพราะฉะนั้นใน 16 วันนี้เป็นวันที่ดำเนินกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุทางเพศ และวันนี้เป็นวันหนึ่งที่เราดำเนินกิจกรรมด้วยเหตุนี้” เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค(ประเทศไทย) กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ในยุคนี้ความเป็นสตรี-บุรุษ มีความลื่นไหลมากขึ้น บางคนอาจไม่อยากเรียกตนเองว่าเป็นหญิงหรือชาย เราก็ต้องเข้าใจว่าบริบทสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างการลงทะเบียนทำกิจกรรมต่างๆ ทางออนไลน์ ก็มีให้เลือกระบุตัวตนเพียงเพศหญิงกับเพศชาย แต่ปัจจุบันมีให้เลือกมากกว่านั้น เช่น LGBT หรือไม่ต้องการบอก ดังนั้นหัวข้อการเสวนาครั้งนี้จึงจะเน้นไปที่ประเด็นความรุนแรงทางเพศ ซึ่งจริงๆ อาจเกิดกับใครก็ได้

และเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เคยเป็นบรรทัดฐาน (Norm) หรือความจริงร่วมที่คนในสังคมเคยยอมรับร่วมกันในอดีต ปัจจุบันอาจกลายเป็นมายาคติหรือสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับอีกแล้วก็ได้ ส่วนมายาคติและความรุนแรงทางเพศคืออะไร งานในครั้งนี้จะค่อยๆ หาคำตอบ ส่วนหนึ่งก็เพื่อรณรงค์ให้สังคมตื่นตัวและระมัดระวัง เพราะความคิดดูเหมือนจะไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อความคิดแปรเปลี่ยนเป็นคำพูด สุดท้ายก็อาจกลายเป็นการกระทำและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นโดยที่เราไม่ตั้งใจก็ได้ โดยเฉพาะในเรื่องเพศที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขณะที่ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว หลายครั้งผู้หญิงเลือกที่จะปิดปากเพราะไม่อยากทำลายความสมานฉันท์ของครอบครัว หรืออาจกลัวกระแสสังคม แต่ระยะหลังๆ ก็จะเห็นว่าผู้หญิงมีความกล้ามากขึ้นที่จะสะท้อนปัญหาของตนเอง อย่างไรก็ตามสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการมีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มุมหนึ่งผู้หญิงอาจไม่กล้าร้องเรียนก็ยกประโยชน์ให้ แต่อีกมุมหนึ่ง ผู้ชายหรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาก็อาจโต้แย้งว่าไมได้กระทำหรือไม่ได้ตั้งใจกระทำ คำถามคือเส้นแบ่งบางๆ แบบนี้จะตั้งหลักกันอย่างไร

ทั้งนี้ ตนเคยมีประสบการณ์ไปร่วมสัมมนาระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนเรื่องประเด็นทางเพศอย่างมาก มีผู้เข้าร่วม 200-300 คน จากหลายประเทศ และบางประเทศอาจถูกมองว่าผู้ชายมีความละเอียดอ่อนเรื่องนี้น้อย จึงมีแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ให้ผู้เข้าร่วมระมัดระวังเรื่องการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ในตอนแรกตนก็คิดว่าต้องขนาดนี้เลยหรือ แต่ก็มีเรื่องร้องเรียนจริงๆ จากทีมที่มาช่วยจัดงาน 

แต่จากการสอบสวนก็พบว่า เข้าทำนองสำนวน หมาหยอกไก่ ในภาษาไทย หมายถึงยังไม่ถึงขั้นสัมผัสทางกายถึงเนื้อถึงตัว (Skinship) แต่เป็นการใช้สายตาหรือใช้คำพูด แล้วผู้หญิงที่มาช่วยงานรับไม่ได้จึงร้องเรียน ซึ่งเวทีดังกล่าวก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังมาก ด้านหนึ่งเชิญผู้หญิงที่ร้องเรียนมาให้ข้อมูล แต่อีกด้านก็ให้ผู้ชายซึ่งถูกกล่าวหาได้มาชี้แจงด้วย กระทั่งได้ข้อเท็จจริงที่พบว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการใช้ถ้อยคำ โดยฝ่ายชายยืนยันว่าไม่มีเจตนา โดยเป็นการชวนพูดคุยแต่ฝ่ายหญิงรู้สึกว่าถูกคุกคาม

ตอนแรกเขาก็คุยกันว่าถ้าผลสรุปออกมาว่าเป็นการละเมิดคุกคามแม้จะโดยวาจาก็จริง เขาก็จะมีมาตรการขั้นรุนแรงคือขับออกจากงานเสวนา แต่พอฟังฝ่ายชายแล้วก็เหมือนมีความคลุมเครือ ถามฝ่ายหญิงว่าผู้ชายเขายืนยันว่าแบบนี้จะเอาอย่างไรต่อ เขาก็ยังคิดว่าเขาถูกคุกคามแต่ก็พอใจแล้วที่ให้ความเป็นธรรมกับเขา ก็ไม่เรียกร้องอะไรต่อจากนี้ คนนั้นก็ยังได้ร่วมสัมมนาต่อแต่โดนขึ้นบัญชีไว้ แล้วก็มีการแถลงในที่ประชุมว่าต้องระวังเรื่องเหล่านี้ มันก็เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งในเมืองไทยไม่แน่ใจว่ามีลักษณะแบบนี้มาก-น้อยแค่ไหนเวลามีเคสเกิดขึ้นสุภิญญา กล่าว

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง นอกจากมาจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ รวมถึงวิธีคิดแบบโทษเหยื่อ เช่น เมื่อไปแจ้งความตำรวจจะถามผู้หญิงว่าแต่งตัวล่อแหลมหรือไม่? ไปอยู่ในที่เปลี่ยวหรือไม่? หรือในกรณีบุคลากรทางการศึกษา ที่ครูจะปกป้องกันเอง บอกว่าเด็กมาชอบครูแต่เมื่อครูไม่ชอบก็ไปแจ้งความ หรือมองว่าเด็กที่ถูกกระทำเป็นเด็กที่ทำตัวก๋ากั่นหรือเด็กไม่ดี ตลอดจนคนในสังคมก็ตีตราเหยื่อเป็นคนไม่ดี เข้าหาผู้ชาย โดยดูจากลักษณะการแต่งตัว จึงไม่อยากไปเป็นพยานให้ เป็นต้น

ซึ่งเมื่อรวมกับการที่ผู้มีอำนาจมากกว่ากระทำต่อผู้มีอำนาจน้อยกว่าก็ทำให้การต่อสู้เป็นไปได้ยากเช่น เคยมีกรณีสายการบินแห่งหนึ่ง ครูฝึกสอนแอร์โฮสเตสลวนลามพนักงานที่มาฝึกอบรม เรื่องนี้ไม่มีใครอยากเข้าไปช่วยเหลือเพราะกลัวมีปัญหา โดยเมื่อมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ อย่างมากที่สุดจึงทำได้เพียงทำหนังสือไปให้สายการบินต้นสังกัดให้ดำเนินการทางวินัย แต่ก็จบลงด้วยครูคนนี้ลาออกไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำพฤติกรรมแบบเดียวกันที่อื่นอีกหรือไม่ หรือเคยมีกรณีผู้จัดการธนาคารกระทำกับพนักงานที่มีอำนาจน้อยกว่า 

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เหมือนกับการข่มขืน เนื่องจากการข่มขืนมักจะมีหลักฐาน มีการต่อสู้ โดยเฉพาะคดีข่มขืนเด็ก หากญาติพี่น้องไม่ยอมก็มักจะมีหลักฐานและมีการต่อสู้ แต่การอนาจารหรือคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไม่ง่าย และกฎหมายไทยก็ยังมีความคลุมเครือค่อนข้างสูง เช่น กฎหมายอาญาแม้จะกล่าวถึงการคุกคามทางเพศ แต่ไม่ชัดเจนว่าคุกคามทางเพศมีลักษณะสถานการณ์อย่างไร นอกจากนั้น การคุกคามทางเพศยังถูกมองว่าเป็นการยินยอม หรือมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“มายาคติที่เราเจอคือเรื่องคุกคามทางเพศเป็นการยินยอม เพราะผู้หญิงอาจชอบผู้ชาย หรือเวลาผู้ชายใช้สายตา วาจา หรือใช้ Social Media ก็เหมือนกับเป็นเรื่องหมาหยอกไก่ เป็นเรื่องอะไรธรรมดามาก คุณก็ต้องอดทนเอา เพราะมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไปที่เขาก็มีสิทธิ์ที่จะมองคุณแบบนี้ อย่างเช่นเราแต่งตัวมาธรรมดา แต่เขามองเราไปบางทีบางคนก็มองถึงขั้นหน้าอก หรือบางคนก็ใช้คำพูดที่มันค่อนข้างที่จะหมาหยอกไก่ หรือบางคนก็มีลักษณะเป็นแบบหัวงู เวสาจะเอาผิดคนกลุ่มนี้มันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แล้วในแง่กฎหมายก็ไม่รู้จะฟ้องร้องอย่างไร” จะเด็จ กล่าว

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่ไปแจ้งความกับตำรวจ หรือไม่ได้ไปพบแพทย์ ทำให้ไม่มีการรายงานในฐานข้อมูลสถิติต่างๆ นั้น คือผู้กระทำอาจเป็นคนใกล้ตัว เป็นผู้มีพระคุณจึงไม่อยากเอาเรื่อง หรือมีความหวาดกลัวจึงไม่กล้าไปแจ้งความ ซึ่งในวันที่ 25 พ.ย. 2566 กสม. ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย เพื่อให้คุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กทุกคนจากความรุนแรงทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเพศ และสนับสนุนให้ทุกคนร่วมกันหยัดยืนเพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงและเด็ก เป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม ที่จะไม่ให้มีใครตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไป นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อปี 2542 ให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีด้วย แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นไม่เฉพาะสังคมไทยแต่เป็นกันทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ มีความพยายามต่อสู้มากขึ้น เช่น เมื่อหลายปีก่อนมีการใช้ทวิตเตอร์ รณรงค์ด้วยแฮชแท็ก #MeToo จุดเริ่มต้นมาจากคนในวงการบันเทิง ดารานักแสดง ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะอยู่ในกองถ่ายจนนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก่อนขยายวงออกไปเป็นกระแสให้ผู้หญิงทั่วโลกกล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวทำนองเดียวกัน หรือในประเทศไทย มีกรณีการแนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรแต่งตัวล่อแหลมไปเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์เพื่อจะได้ไม่ถูกลวนลาม ก็ถูกตั้งคำถามว่าควรจะไปเฝ้าระวังผู้ที่อาจกระทำผิดจะดีกว่าหรือไม่

“ในเมืองไทยถ้าพูดถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องการกระทำต่อเด็กและผู้หญิง จริงๆ เกิดขึ้นเยอะ แต่มีการรายงาน การแจ้งความ การดำเนินคดีไม่มาก ในส่วนของ กสม. ก็เช่นเดียวกัน เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาไม่ได้เยอะมาก  อาจมีบ้างแต่ละปีมีไม่กี่เรื่อง แต่เมื่อเราได้รับเรื่องเข้ามาเราก็จะให้ความสำคัญในเรื่องการดูแล และเปิดเวทีรับฟังจากผู้ร้อง-จากผู้ถูกร้อง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็พยายามที่จะมีข้อเสนอแนะที่เป็นเชิงระบบ-เชิงนโยบาย หรือข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ เนื่องจากเรามองว่าอันนั้นจะเป็นเชิงป้องกันไม่ให้เกิดลักษณะแบบนี้ขึ้นอีก”วสันต์ กล่าว

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เหมือนสังคมไทยเราอยู่แบบนี้กันมานานมากจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคำว่าเรื่องปกติเป็นเรื่องอันตรายมาก อย่างการที่มองว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ ทำให้เห็นว่าเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหา เพราะ วัฒนธรรมกับกฎหมายอาจไปไม่ทันกันกฎหมายบางฉบับมีมาหลายสิบปี แต่สังคมบางครั้งเปลี่ยนไวมาก และความเข้าใจของคนก็จะยึดโยงกับกฎหมาย แม้กระทั่งในพรรคเองก็มีมุมมองเรื่องนี้ที่ไม่ตรงกัน 

อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล เมื่อสำรวจความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ด้านดีคือพบคนที่เข้าใจมากขึ้น แต่อีกมุมก็มีคนที่เข้าใจผิดเรื่องนี้อยู่อีกมาก จึงต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยน อย่างในแวดวงกฎหมาย ในอดีตมีแต่ผู้ชายทั้งผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ เนื่องจากมีผู้หญิงที่เข้าสู่อาชีพเหล่านี้ยังมีน้อย อยู่กันแบบสังคมที่มีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่มาตลอดทำให้ปรับตัวไม่ทัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการปรับตัวมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ยังอาจไม่ทันกับโลกที่ปรับไปไว จึงมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่ต้องเป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้ 

หรือแม้แต่ในพรรค แม้จะมีจุดที่เชื่อมกันได้ เช่น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องความเท่าเทียม แต่พอเป็นเรื่องความรุนแรงทางเพศอาจจะมีบางส่วนที่มีความเข้าใจไม่เท่ากัน แน่นอนว่าทุกคนรู้ว่าการคุกคามทางเพศนั้นไม่ถูกต้อง หรือรู้ว่าความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่ด้วยระดับ (Level) ความเข้าใจเนื้อหาของแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น บางคนอาจจะมองว่าการแตะเนื้อต้องตัวเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น

“อย่างเคยได้ฟังคนที่จบต่างประเทศมา เขาก็ถึงเนื้อถึงตัวกันปกติ เขาไม่ได้มองเป็นเรื่องคุกคามทางเพศ หรือบางทีมองว่าผู้หญิงก็ไมได้อะไร คงจะเป็นความยินยอมหรือเปล่า อันนี้เรามองว่าประเด็นสำคัญ เพราะทำให้เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดเยอะมาก เพราะพอเราได้คุยกับผู้หญิงหลายๆ คน จริงๆ คือฉันก็ไม่อยากจะด่าคุณต่อหน้าคนอื่น มันก็เพื่อนกันจะให้ไปด่าต่อหน้าคนอื่นก็เกรงใจ แต่ถามว่าชอบไหมก็ไม่ได้มีใครชอบ” ศศินันท์ กล่าว 

สันทนี  ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า มายาคติหรือความเชื่อนำไปสู่ความคิดและสุดท้ายก็ไปที่การกระทำ ความเชื่อหรือทัศนคติจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลมาก เช่น ตำรวจอาจไม่รับแจ้งความกรณีความรุนแรงทางเพศของคู่รักที่แต่งงานใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเพราะมองว่าน่าจะเป็นเรื่องสมยอม ทั้งนี้ หลักการดำเนินคดีอาญาคือการมุ่งพิสูจน์ความผิด แต่เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับเพศกลับมุ่งไปที่ความน่าเชื่อถือของผู้เสียหาย เนื่องจากมีทัศนคติว่าด้วย “ความเป็นเหยื่อที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Victim)” ควรจะมีลักษณะอย่างไร

เช่น เป็นคนที่อ่อนแอไร้ทางสู้ หรือดูจากพฤติกรรมทางเพศหรือความประพฤติที่เคยเป็นมา ซึ่งผู้เสียหายที่ไม่เข้าข่ายทัศนคติแบบนี้ก็จะต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม แต่มายาคติก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีตัวอย่างของอาชีพอัยการ ในอดีตเคยมีกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้หญิงรับราชการในส่วนนี้โดยให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสมกับลักษณะงาน ก่อนจะมีการยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวในปี 2518 ซึ่งสังคมไทยในอดีตก็มีความเชื่อว่าผู้หญิงควรอยู่เหย้าเฝ้าเรือน แต่เมื่อความเชื่อในสังคมเปลี่ยนไปกฏหมายก็ถูกแก้ไขไปด้วย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ เคยทำการศึกษากระบวนการยุติธรรมในคดีล่วงละเมิดทางเพศในหลายประเทศ ซึ่งกรณีของประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 87 ของผู้เสียหายไม่แจ้งความ และเมื่อวิเคราะห์สาเหตุก็พบปัจจัยเรื่องทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจที่ถามเรื่องการแต่งตัวหรือสาเหตุที่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น แทนที่จะถามลักษณะของเหตุการณ์ ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าตนเองมีส่วนผิดและถอนตัวออกจากการดำเนินคดี 

หรือความเชื่อเรื่องผู้ก่อเหตุและสถานที่เกิดเหตุ พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ต้องสงสัยเป็นคนรู้จักกับผู้เสียหาย อีกทั้งมักเกิดเหตุในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้านของผู้กระทำหรือของผู้เสียหาย เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ขณะที่ความเชื่อเรื่องผู้เสียหายต้องมีการต่อสู้ขัดขืนหรือผู้กระทำต้องใช้อาวุธ แต่ตามสถิติก็พบเรื่องการใช้อาวุธน้อยมากและผู้เสียหายเองก็ไม่ได้ลงบันทึกว่าตนเองได้รับบาดเจ็บอะไร

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากสื่อ ที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้สร้างมายาคติโดยตรง แต่ก็ช่วยโหมกระพือ เช่น ในอดีตมีละครที่นำเสนอว่าพระเอกข่มขืนนางเอกสุดท้ายก็รักกันและแต่งงานกัน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากมาก จะมีใครที่รักคนที่ข่มขืนตนเอง หรืออีกด้านหนึ่ง ตัวร้ายถูกตัวร้ายข่มขืนก็เป็นสร้างสร้างมายาคติว่าคนไม่ดีก็สมควรถูกกระทำแล้ว ซึ่งก็มีผลต่อทัศนคติในกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นคนทั่วไป

ไม่ว่าจะปฏิเสธการรับแจ้งความตั้งแต่ต้น หรือมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัวเดี๋ยวคุณก็ยอมกันแล้ว เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการดำเนินคดีไปเปล่าๆ ฉะนั้นก็กลับไปก่อนแล้วกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้ผู้เสียหายก็ท้อถอยไปเอง” ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-