จาก ‘HIV’ถึง ‘โควิด’และ“ฝีดาษลิง’ มองอดีตถึงปัจจุบัน‘สื่อสารไม่ตีตรา’สำคัญอย่างไรกับการรับมือโรคระบาด?

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

Think-Piece by Digital Thinkers
บทความนักคิดดิจิตอล
โดย Windwalk_Jupiter

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่แพร่ผ่านผิวหนังสู่ผิวหนังบริเวณที่มีรอยถลอก (เนื้อเสียดสีเนื้อจนเกิดบาดแผล) จากสารคัดหลั่ง ของเหลว และวัสดุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว) เข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผล รวมทั้งสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุต่างๆ เช่นเยื่อบุในปาก เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุดวงตา เยื่อบุช่องคลอด เยื่อบุทวารหนัก ฯลฯ ไวรัสฝีดาษลิงขณะนี้มีการแพร่ระบาดคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted diseases; STD) แต่ไม่ใช่โรค STD เพราะพบการติดต่อในเด็กเล็ก ผู้ชาย และ ผู้หญิง โดยการสัมผัสซึ่งมิใช่การมีเพศสัมพันธ์ ได้เช่นกัน 

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคของเกย์ (gay) หรือ ชายรักชาย (Men who have sex with men; MSM) เพราะในแอฟริกาซึ่งโรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ติดจากการสัมผัสกับสัตว์ ถูกสัตว์กัด ข่วน รับประทานเนื้อสัตว์ป่าปรุงไม่สุก ไม่ใช่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์ การระบาดของฝีดาษลิงในปี 2022 นอกทวีปแอฟริกา เริ่มต้นจากงานชุมนุมกลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มแรกและพบผู้ติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นทำให้อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของชายรักชาย

การเหมารวมว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคของชายรักชายอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าบาดแผลทางสังคม หรือ social stigma ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรค ชุมชนอื่นเช่น ชุมชนรักต่างเพศ (heterosexual) และชุมชนเด็กจะคิดว่าตนเองปลอดภัยจนการ์ดตก และเป็นผลลบกับกลุ่มชายรักชาย หรือ LGBTQ+ โดยรวม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจากกรณีของโควิด-19 คือการกล่าวว่าชาวจีนเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดการเกลียดชังและทำร้ายคนเอเชียในอเมริกาและยุโรปเป็นต้น

คำอธิบายจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ฯ “Center for Medical Genomics” เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ให้ความรู้เกี่ยวกับช่องทางการติดต่อของโรค ฝีดาษลิง (Monkeypox)” ซึ่งเป็นเวลา 1 วันหลังจาก กรมควบคุมโรค แถลงข่าวพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง (หรือฝีดาษวานร) รายที่ 2 ในประเทศไทย โดยเป็นชายไทยที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติ 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สื่อไทยและต่างชาติต่างยังรายงานข่าวโดยอ้างถ้อยแถลงของ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาเตือนบรรดาชายรักชาย ขอให้ลดจำนวนคู่นอนลง รวมถึงพิจารณาให้ดีก่อนคิดจะมีคู่นอนรายใหม่ ซึ่งด้านหนึ่งแม้จะเป็นการเตือนตามข้อมูลที่พบการระบาดของโรค แต่อีกด้านหนึ่ง ผอ.อนามัยโลก ก็เน้นย้ำให้ประเทศต่างๆ คำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะการตีตราหรือเลือกปฏิบัติอาจเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่าโรคที่กำลังระบาด

เรื่องของการตีตรา (Stigma) หรือเลือกปฏิบัติ (Discrimination) มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเมื่อมีข่าวการระบาดของโรคติดต่อ อาทิ ย้อนไปในยุค 1980s (ช่วงปี 2523-2532) ที่โรคเอดส์ (AIDS) หรือเชื้อเอชไอวี (HIV) เริ่มระบาดใหม่ๆ และสถานการณ์ยังค่อนข้างรุนแรง ด้วยความที่พบความชุกของการระบาดที่กลุ่มชายรักชายจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ในเวลานั้นคนกลุ่มดังกล่าวถูกมองในแง่ลบจากสังคม และในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่ใช่ชายรักชายก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะความเข้าใจผิดไปด้วย 

บทความ “HIV/AIDS and Education: Lessons from the 1980s and the Gay Male Community in the United States” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ UN Chronicle วารสารดิจิทัลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเขียนโดย นีล คิง (Neal King) นักจิตวิทยา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแอนติออค (Antioch University) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เล่าย้อนไปในช่วงแรกๆ ที่เชื้อ HIV เริ่มระบาดในสหรัฐฯ เวลานั้นมีการตั้งชื่อโรคอุบัติใหม่นี้ว่า Gay-Related Immune Deficiency (GRID) หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เชื่อมโยงกับความเป็นเกย์ 

เวลาอันมีค่าสูญเสียไปกับการตอบสนองต่อวิกฤติ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองปลอดภัยไม่มีความเสี่ยง เพราะเหยื่อช่วงแรกๆ เป็นเกย์ การตีตราที่ยึดติดกับการเป็นคนรักเพศเดียวกันทั้งทางการแพทย์ การปกครอง การบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงสถาบันศาสนา ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจ การป้องกันและการรักษา (valuable time was lost in responding to the crisis because most felt safe in the belief that they were not at risk. Since early victims were predominantly gay men, the stigma attached to homosexuality in the medical, governing, law enforcement and ecclesiastical institutions became a barrier to understanding, prevention, and treatment.)” คิง กล่าวถึงช่วงเวลานั้น ซึ่งตนเองเพิ่งเริ่มทำงานในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

หรือหากย้อนไปในช่วงต้นปี 2563 ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาจะถูกตั้งชื่อว่า โควิด-19 (COVID-19) ด้วยความที่ประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เป็นพื้นที่แรกของโลกที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ทำให้ชาวจีนตลอดจนชาวเอเชียอีกหลายชาติที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายชาวจีน ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องความเกลียดชัง (Hate Crimes) เช่น ในโลกตะวันตก มีรายงานชาวจีนและชาวเอเชียถูกเหยียดด้วยคำพูดทำนองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้แพร่เชื้อโรค หรือหนักเข้าก็ถึงกับลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย

ในเดือน พ.ค. 2563 ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (NCBI) หอสมุดแพทย์แห่งชาติ (NLM) สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ “Lessons learned from HIV can inform our approach to COVID19 stigma” ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.คาร์เมน ล็อกกี (Assoc. Prof. Carmen Logie) จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ระบุว่า การที่องค์การอนามัยโลก เรียกไวรัสชนิดใหม่นี้ว่าโควิด-19 ก็เพื่อไม่ให้ตอกย้ำภาพจำระหว่างเชื้อโรคกับแหล่งกำเนิด 

สืบเนื่องจากในเวลานั้นมีการเรียกว่าไวรัสจีน (Chinese Virus) บ้าง หรือไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan Virus) บ้าง รวมถึงยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่า ในขั้นต้นการตีตราเกิดขึ้นกับชุมชนชาวเอเชีย แต่ในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะย้ายไปยังชุมชนชายขอบในสังคม เช่น คนไร้บ้าน ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ตลอดจนใครก็ตามที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการดูแลรักษาหรือไม่? 

ซึ่งในเวลาต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังกรณีของประเทศไทย ในการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 จากข่าวที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อวันเดียวหลายร้อยคน ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2563 ครั้งนี้ศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่ สมุทรสาคร จังหวัดที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็มีความชุกของการระบาดสูง จึงทำให้แรงงานข้ามชาติถูกมองอย่างหวาดระแวงจากสายตาคนไทยไปด้วย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในการประชุม (ออนไลน์) ของ สช. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ให้ความเห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ขยายวงและสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยต้นทางของการแพร่ระบาดเกิดในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่จำนวนมาก 

“ภายหลังเกิดการแพร่ระบาด ปรากฏว่าสังคมได้ตีตราแรงงานข้ามชาติว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค จนนำไปสู่การต่อต้านและความรู้สึกเกลียดชังคนกลุ่มนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือแรงงานข้ามชาติเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และในแรงงานข้ามชาติก็มีทั้งผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดและผู้ที่หละหลวมการ์ดตกเช่นกัน” นพ.ประทีป ระบุ 

รายงานพิเศษ แรงงานข้ามชาติผู้ถูกตีตราเป็น พาหะนำโรคกับชีวิตที่ถูกด้อยค่าในรัฐไทย โดยนิตยสาร Way Magazine กล่าวถึงงานศึกษาโดยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) หัวข้อ ชีวิต ความทุกข์ และความหวังของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19” ของ สรานนท์ อินทนนท์ ผู้ลงพื้นที่สำรวจชีวิตแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร แล้วพบว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ และปราศจากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีใดๆ เป็นกระบวนการที่ก่อตัวอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นระเบิดเวลาซึ่งในที่สุด โควิด-19 ก็ได้กลายเป็นตัวจุดชนวนของระเบิดลูกนี้

เป็นเพราะการประกอบสร้างประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมไทย ซึ่งถูกถ่ายทอดและผลิตซ้ำในสื่อต่างๆ เพื่อปลุกความเกลียดชังอยู่เสมอ จนทำให้ชาวเมียนมามิได้ถูกมองในสถานะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในสังคมไทย ไม่มีใครใส่ใจความเป็นอยู่ของพวกเขา และมักถูกเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อเกิดการระบาดในตลาดกุ้งมหาชัย ชาวเมียนมายังถูกตีตราจากสังคม (social stigma) ว่าเป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้ จนกระแสต่อต้านคนเมียนมาลุกลามไปทั่ว แม้ในบางพื้นที่จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อก็ตาม

สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญคือ ความทุกข์ทางสังคม (social suffering) ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างของสังคม แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิดจะสามารถแพร่ระบาดไปยังทุกผู้คนได้โดยไม่เลือกชนชั้นหรือเชื้อชาติ แต่กลุ่มคนชายขอบในแต่ละสังคมมักได้รับผลกระทบหนักหน่วงกว่าเสมอ ยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมจากการตีตรา ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไม่เพียงต้องทนทุกข์ทรมานทางร่างกายเท่านั้น หากยังต้องทุกข์ทางใจอันเกิดจากความรังเกียจ หวาดกลัว และหวาดระแวงจากสายตาคนอื่นๆ ในสังคมอีกด้วย สรานนท์ กล่าว 

วันที่ 14 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ HIV.gov ฐานข้อมูลความรู้ด้านเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ “Words Matter: Communicating to End HIV-Related Stigma” ซึ่งเขียนโดย ริชาร์ด เจ. โวลิทสกี (Richard J. Wolitski) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุข สำนักงานนโยบายเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดเชื้อ (OIDP) กล่าวถึงยุทธศาสตร์เอชไอวี/เอดส์แห่งชาติ (NHAS) ที่เน้นย้ำความสำคัญถึงการขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติ เพื่อลดอุปสรรคในการป้องกันการติดเชื้อ การตรวจคัดกรองหาเชื้อ และการดูแลผู้ที่ติดเชื้อแล้ว

โวลิทสกี ยกตัวอย่างสิ่งที่ควรทำ เช่น การยกย่องผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาเพร็พ (PrEP) หรือการใช้กลยุทธ์อื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ไปจนถึงผู้ติดเชื้อที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการดูแลตนเองจนแน่ใจว่าจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ซึ่งการเน้นย้ำความพยายามเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการลดการตีตรา

(หมายเหตุ : บทความ “PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ โดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า ยาเพร็พ หรือ PrEP หมายถึงการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดชื้อ HIV ในผู้ที่มีผลเลือดลบหรือยังไม่ติดเชื้อ เพื่อเตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ ขณะที่บทความ ข้อเท็จจริง : เรื่อง U = U” โดย สภากาชาดไทย ระบุ ข้อค้นพบว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ปริมาณไวรัสในเลือดจะต่ำมากในระดับที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บทความ ยังคงแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ตลอดจนการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์) 

วันที่ 24 ก.พ. 2563 ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีสัญญาณการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศนอกจากจีน องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่บทความ “Social Stigma associated with COVID-19” ชี้ให้เห็นว่า การตีตราทางสังคมเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมโรคระบาดได้อย่างไร ดังนี้ 1.ผู้คนที่เจ็บป่วยอาจหลบซ่อนตัวเพราะกลัวการถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม 2.ผู้คนอาจไมได้เข้าไปสู่บริการดูแลสุขภาพอย่างทันท่วงที และ 3.ขัดขวางผู้คนจากโอกาสที่จะได้ปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

บทความดังกล่าวให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติไว้ว่า การหยุดการระบาดของโรคทำได้ด้วยข้อเท็จจริง (Fact) ไม่ใช่ความกลัว (Fear)” ดังนั้นต้องแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค (ช่องทางที่โรคสามารถติดต่อได้ การป้องกัน การรักษา) ขณะเดียวกัน ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ ซึ่งบทความได้ยกตัวอย่างสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น การผูกติดคำเรียกโรคกับสถานที่หรืออัตลักษณ์บุคคล อาทิ ช่วงแรกๆ ที่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด มีการใช้คำว่าไวรัสจีน ไวรัสอู่ฮั่น ไวรัสเอเชีย จนต่อมามีการตั้งชื่อโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกตีตรา และสิ่งที่ควรทำ เช่น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่นำเสนอไม่เป็นการพุ่งเป้าไปที่ประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ชี้ให้เห็นชุมชนที่หลากหลายล้วนได้รับผลกระทบและกำลังทำงานเพื่อป้องกันโรคระบาด

วันที่ 12 ก.ค. 2565 ท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคฝีดาษลิงระบาดในหลายประเทศ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยแพร่บทความ “Reducing Stigma in Monkeypox Communication and Community Engagement” แนะนำวิธีการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง โดยแบ่งเเป็น เนื้อหาสำหรับบุคคลทั่วไป ดังนี้ 1.ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค เช่น ช่องทางที่โรคสามารถติดต่อได้ พร้อมกับเน้นย้ำว่าหากมีอาการต้องสงสัยให้ติดต่อสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทันที

2.ย้ำว่าเป็นโรคติดต่อที่ทุกคนสามารถติดเชื้อได้ (ดังนั้นไม่ว่าใครก็ต้องระมัดระวัง) การเน้นนำเสนอว่าเป็นโรคของกลุ่มชายรักชาย (หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งชายและหญิง) นั้นเกิดผลเสียถึง 2 ด้าน ทั้งประชากรกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการถูกตีตรา และประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยจากโรค 3.เลือกใช้ภาพอาการป่วยที่เป็นอาการซึ่งพบโดยทั่วไปในปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการใช้ภาพกรณีป่วยรุนแรงเว้นแต่จำเป็น และ 4.พยายามใช้ภาพของผู้คนที่หลากหลาย เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ 

กับ เนื้อหาสำหรับกลุ่มชายรักชาย (หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งชายและหญิง) ซึ่งมีคำแนะนำเพิ่มเติม 1.เข้าถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่สมส่วนด้วยเนื้อหาที่ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และเป็นเนื้อหาที่อ้างอิงตามข้อเท็จจริงของโรค นั่นจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ 2.ใช้ช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง เช่น เว็บไซต์เฉพาะกลุ่ม แอปพลิเคชั่นหาคู่ หรือโปรแกรมสื่อ และ 3.พยายามใช้เนื้อหาที่สร้างความรู้สึกร่วม เช่น การพรรณาที่ทำให้ผู้รับสารรู้สึกเชื่อมโยงกับตนเอง 

ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค นำไปสู่การสื่อสารที่ไม่สร้างความตื่นตระหนกและไม่ก่อให้เกิดการตีตราเลือกปฏิบัติ..สุดท้ายปลายทางนั่นคือการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งบาดแผลตกค้างไว้ในสังคม!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.facebook.com/watch/?v=586587829848558&ref=sharing (Center for Medical Genomics , ศูนย์จีโนมฯ 29 ก.ค. 2565)

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3479691 (ศูนย์จีโนมฯ ชี้อย่าเหมารวมฝีดาษลิง ‘โรคของเกย์’ ไม่ดีต่อการคุมแพร่ระบาด , มติชน 29 ก.ค. 2565)

https://www.naewna.com/local/669648 (สธ.พบผู้ป่วย’ฝีดาษลิง’รายที่ 2 โผล่กรุงเทพฯ ติดตามกลุ่มเสี่ยงอีก 10 คน , แนวหน้า 28 ก.ค. 2565)

https://www.naewna.com/local/669891 (สธ.เผยชายไทยติดเชื้อฝีดาษลิง มีตุ่มหนองอวัยวะเพศ หลังมีเซ็กส์ไม่ป้องกัน 7 วัน , แนวหน้า 29 ก.ค. 2565)

https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_7185812 (ผู้อำนวยการ WHO แนะ ชายรักชาย ลดคู่นอน ลดเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ฝีดาษลิง , ข่าวสด 28 ก.ค. 2565)

https://edition.cnn.com/2022/07/27/health/who-monkeypox-msm-sex-partners/index.html (WHO chief advises men who have sex with men to reduce partners to limit exposure to monkeypox , CNN 28 ก.ค. 2565)

https://www.un.org/en/chronicle/article/hivaids-and-education-lessons-1980s-and-gay-male-community-united-states (HIV/AIDS and Education: Lessons from the 1980s and the Gay Male Community in the United States , UN Chronicle)

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-56218684 (Covid ‘hate crimes’ against Asian Americans on rise , BBC 21 พ.ค. 2564)

https://abcnews.go.com/US/hate-crimes-asians-rose-76-2020-amid-pandemic/story?id=80746198 (Hate crimes against Asians rose 76% in 2020 amid pandemic, FBI says , ABC News 25 ต.ค. 2564)

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7197953/ (Lessons learned from HIV can inform our approach to COVID‐19 stigma , NLM-NIH) 

https://dailynews.co.th/politics/813786/ (ช็อกของจริง!’สมุทรสาคร’ติดโควิดรวม548คน ล็อกดาวน์19ธ.ค.63-3ม.ค.64 , เดลินิวส์ 19 ธ.ค. 2563)

https://www.nationalhealth.or.th/en/node/1451 (สช.ผนึกภาคีถกแนวทางรับมือโควิดระลอกใหม่ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน – หยุดตีตรา’ เพิ่มประสิทธิภาพควบคุมโรค , สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)

https://waymagazine.org/covid-and-immigrant-worker/ (‘แรงงานข้ามชาติ’ ผู้ถูกตีตราเป็น ‘พาหะนำโรค’ กับชีวิตที่ถูกด้อยค่าในรัฐไทย , Way Magazine 14 มิ.ย. 2565)

https://www.hiv.gov/blog/words-matter-communicating-to-end-hiv-related-stigma (Words Matter: Communicating to End HIV-Related Stigma , HIV.gov 14 มี.ค. 2559)

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prep-กับ-pep-คืออะไร-ทำความเข้าใ/ (PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)

https://www.redcross.or.th/news/information/9847/ (ข้อเท็จจริง : เรื่อง U = U , สภากาชาดไทย)

https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/covid19-stigma-guide.pdf (Social Stigma associated with COVID-19 , องค์การอนามัยโลก 24 ก.พ. 2563)

https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/reducing-stigma.html (Reducing Stigma in Monkeypox Communication and Community Engagement , CDC 12 ก.ค. 2565)