ถาม-ตอบ ปัญหาคาใจผู้ปกครอง: วัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก CO-FACT Special Report 2

บทความ

CO-FACT Special Report 2  

รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่

ถามตอบ ปัญหาคาใจผู้ปกครอง: วัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก

กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนอายุ 12-18 ปีตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะเน้นไปที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด วัคซีนที่จะนำมาใช้ฉีดให้กับเยาวชนกลุ่มนี้คือ Pfizer-BioNTech ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้ใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และเป็นวัคซีนเพียงชนิดเดียวในขณะนี้ที่สามารถฉีดให้กับเยาวชนได้ ก่อนที่ผู้ปกครองจะนำบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีน ท่านอาจจะมีคำถามเหล่านี้ในใจ:

คำถาม: วัคซีน Pfizer-BioNTech มีความปลอดภัยในเด็กมากน้อยเพียงใด?

คำตอบ: ผลการศึกษาจากบริษัท Pfizer และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัย เหมาะสำหรับฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุด้วยว่าเด็กอายุ 12-17 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนตัวนี้มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน

คำถาม: วัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กจะต้องฉีดกี่เข็ม ระยะเวลาต่อเข็มห่างกันเท่าไร?

คำตอบ: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า วัคซีน Pfizer-BioNTech จะฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับคำแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน และเป็นไปตามผลการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) 

คำถาม: ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเด็กติดเชื้อและป่วยจาก COVID-19 ไม่มาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำไมฉันจึงจำเป็นต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนด้วย?

คำตอบ: นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เชื้อเกิดการพัฒนาและกลายพันธุ์ให้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และจำนวนเชื้อที่ติดมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุจำนวนเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่คิดเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีเพียง 2-3% ในจำนวนผู้ติดเชื้อเด็กที่ป่วยหนักและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล (ผู้ป่วยสีเหลือง หรือแดง) แสดงให้เห็นว่า COVID-19 สายพันธุ์เดลต้ายังไม่ส่งผลให้เด็กป่วยหนักมากนัก แต่ก็ทำให้เห็นว่าเด็กสามารถติดเชื้อได้มากไม่ต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า และหากเด็กไปโรงเรียนแล้วนำเชื้อเข้ามาสู่คนในบ้านก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้คนในบ้านด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยในเด็ก และถ้านักเรียนในโรงเรียนได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงการป่วยในโรงเรียนจากการติดเป็นกลุ่มก้อนได้มากขึ้นด้วย

คำถาม: ก่อนไปฉีดวัคซีน เด็กควรเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง?

คำตอบ: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แนะนำให้เด็กที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนวันฉีดวัคซีน เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ หากเด็กมีประวัติแพ้ยาให้ปรึกษาแพทย์และแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรองก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

คำถาม: ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กมีอะไรบ้าง?

คำตอบ: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แนะนำให้เด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ควรวิ่ง หรือออกำลังกายหนักๆ 2-3 วันหลังจากได้รับวัคซีน ส่วนอาการหลังการฉีดวัคซีนในเด็กจะพบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเจ็บ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้อ่อนๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปเช่นเดียวกับผู้ใหญ่หลังจากที่ได้รับวัคซีน วิธีการดูแลตนเองก็จะเหมือนกัน คือรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าผ่านไป 2-3 วันแล้วอาการยังทวีความรุนแรงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

คำถาม: ฉันยังไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีน เนื่องจากกลัวว่าผลข้างเคียงอาจทำให้เขาพิการหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่?

คำตอบ: โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ สหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า ผลการศึกษาการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็ก พบผลข้างเคียงที่พบหลังจากฉีดวัคซีนจะคล้ายกับผู้ใหญ่ เช่นมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในไม่กี่วัน ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบพบได้ในอัตราที่ต่ำมาก อ้างอิงตัวเลขจากรายงานของอนุกรรมการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาระดับโลกในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน (COVID-19 subcommittee of the WHO Global Advisory Committee on Vaccine Safety -GACVS: updated guidance regarding myocarditis and pericarditis reported with COVID-19 mRNA vaccines พบรายงานในสหรัฐอเมริกา (US Vaccine Adverse Events Reporting System -VAERS)  ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสในหนึ่งล้านราย ช่วงอายุ 12-29 ปีนั้นมีผู้ชายประมาณ 40.6 รายและผู้หญิง 4.2 รายที่พบอาการดังกล่าว (รายงานถึงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2564)  ด้านรพ.จุฬาฯ ยืนยันว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนในเด็กมีมากกว่าผลข้างเคียง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองที่ยังรู้สึกไม่สบายใจ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของบุตรหลานของท่านได้

คำถาม: ทำไมวัคซีน COVID-19 สำหรับเด็กจึงใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ?

คำตอบ: สำนักงานควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่า การเก็บข้อมูลและผลการศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กแตกต่างจากการเก็บข้อมูลในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทดสอบ ตัวแปรต่างๆ ที่ใช้ในการทดสอบซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากกว่า ดังนั้นผลการศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กจึงออกมาช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตาม FDA มีข้อมูลเพียงพอที่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน และ 16 ปีขึ้นไปสำหรับการใช้งานทั่วไป และในเร็วๆ นี้ FDA กำลังจะอนุมัติวัคซีนตัวอื่นๆ เช่น Moderna เพิ่มเติมด้วย 

คำถาม: พาเด็กไปฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ที่ไหนบ้าง?

คำตอบ: กระทรวงสาธารณสุขวางแผนฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปที่สถานศึกษาที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ผู้ปกครองสามารถติดตามรายละเอียดได้จากประกาศของสถานศึกษาของนักเรียน สำหรับผู้ปกครอง หรือสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีน Sinopharm “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://vaccine.cra.ac.th/

คำถาม: นอกจาก Pfizer-BioNTech แล้ว ยังมีวัคซีนชนิดไหนอีกบ้างที่เด็กสามารถฉีดได้?

คำตอบ: ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ผ่านการอนุมัติเพื่อการใช้ฉุกเฉิน โดยจะฉีดให้ฟรีกับเด็กทั่วประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ อย. ยังอนุมัติวัคซีนทางเลือก Moderna สำหรับฉีดในเด็กเพิ่มเติม ขณะที่บางประเทศ เช่นจีน และยูเออีอนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinopharm ในเด็กแล้ว และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำวัคซีนชนิดนี้มาฉีดให้กับเด็กเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง แต่วัคซีนชนิดนี้จะไม่ใช่วัคซีนหลักที่จะใช้กับเด็กทั่วประเทศจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจาก อย. อย่างเป็นทางการ

คำถาม: เมื่อไรเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจะได้ฉีดวัคซีน COVID-19?

คำตอบ: บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งทั่วโลกต่างเร่งศึกษาผลการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โดยบริษัทที่ทำการศึกษาในระยะที่สาม และกำลังเตรียมยื่นผลการศึกษาให้กับหน่วยงานด้านอาหารและยาแล้วคือ Pfizer-BioNTech โดยบริษัทบอกว่าผลการศึกษากับเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปีเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) จะออกใบอนุญาตให้ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในเด็กช่วงอายุดังกล่าวได้ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ 

ขณะที่จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นสองชาติในโลกที่อนุมัติให้มีการใช้วัคซีน Sinopharm กับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยอ้างอิงผลการศึกษาในเด็กทั้งสองประเทศ แต่ขณะนี้ อย.ไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต ซึ่งวัคซีนที่ อย.ไทยอนุญาตให้ฉีดในเด็ก ณ ขณะนี้มี Pfizer-BioNTech และ Moderna อย่างไรก็ตาม อย. อนุญาตให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาต เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถฉีดวัคซีน Sinopharm ให้เด็กได้ โดยต้องอยู่ในความควบคุมของบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

คำถาม: หากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว สามารถถอดแมสก์ หรือทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ตามปกติเหมือนก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้หรือไม่?

คำตอบ: ผู้อำนวยการ CDC สหรัฐฯ ระบุว่า COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในปริมาณเชื้อที่สูงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ถึงแม้เราจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ วัคซีนสามารถช่วยยับยั้งอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี แต่ก็ไม่สามารถลดจำนวนเชื้อที่อยู่บริเวณโพรงจมูกได้ ดังนั้นการสวมหน้ากากครอบบริเวณปากและจมูก รวมทั้งการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดจำนวนเชื้อที่สูดเข้าไปในร่างกาย และช่วยให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อในปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะทำให้ร่างกายป่วยจาก COVID-19 ได้ ดังนั้นการสวมหน้ากาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากเช่นโรงเรียนจึงยังจำเป็นอยู่ในช่วงนี้

หมายเหตุ
มติ อย. ไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ชี้ข้อมูลความปลอดภัย-ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

วันที่ 20 กันยายน 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีน Sinopharm ในประเทศไทย ได้ยื่นเอกสารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขออนุญาตขยายกลุ่มอายุผู้ใช้วัคซีน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ อย. และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีมติยังไม่สามารถอนุญาตขยายการฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในการใช้วัคซีนยังไม่เพียงพอ และขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคในกลุ่มอายุ 3-17 ปี

ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งให้ทาง บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด รับทราบ และขอให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมแก่ อย. โดยด่วน โดยเฉพาะข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่ได้จากประสบการณ์การใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินในเด็กจากประเทศต่างๆ ที่อนุญาต เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาโดยเร็วต่อไป

แหล่งข่าว https://thestandard.co/

ที่มา:

https://www.who.int/news/item/09-07-2021-gacvs-guidance-myocarditis-pericarditis-covid-19-mrna-vaccines

https://www.cnbc.com/2021/09/14/pfizers-covid-vaccine-data-for-kids-under-age-5-may-come-in-late-october-ceo-says-.html

https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-will-follow-science-covid-19-vaccines-young-children

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/adolescents.html

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/covid19-vaccine-what-parents-need-to-know

https://www.reuters.com/world/middle-east/uae-rolls-out-sinopharm-covid-19-vaccine-children-aged-3-17-2021-08-02/

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/154926

https://www.thairath.co.th/news/local/2195938

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2193591

https://www.thairath.co.th/news/society/2195538

เกี่ยวกับผู้เขียน 

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com/

FacebookTwitterLINEEmail