สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565


จริงหรือไม่…? ภาคตะวันออกโดนสั่งล็อกดาวน์ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ไม่จริง

เพราะ…เป็นข่าวเก่าเมื่อต้นปี 64 ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศออกมาแต่อย่างใด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2uitsirpf0f35


จริงหรือไม่…? การไหลตายเป็นสาเหตุมาจากเพราะผีแม่ม่าย

ไม่จริง

เพราะ…การไหลตายเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ สาเหตุหลักมาจากการมีผังพืดบริเวณผิวของหัวใจด้านนอกช่องล่างด้านขวา

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/7j2rl7010t1m


จริงหรือไม่…? ดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว เป็นตัวช่วยลดการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว

ไม่จริง

เพราะ…การดื่มน้ำ ไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1l2t7x3wr2fge


จริงหรือไม่…? #ออสเตรเลีย เตรียมเปิดพรมแดนต้อนรับต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดส เริ่ม 21 กพ. 65

จริง

เพราะ…นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ออสเตรเลีย ประกาศว่า จะเปิดพรมแดนเพื่อต้อนรับผู้ที่มีวีซ่ายืนยันการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ภายหลังผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในประเทศลดลง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/8r11b0bp4rh0


จริงหรือไม่…? ตั้งแต่ 1ก.พ. 2022 เปิดลงทะเบียนให้ Test & go ทุกประเทศ

จริง

เพราะ…เปิดรับผู้เดินทาง พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว #Sandbox เพิ่มเติม จ. ชลบุรี (อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ. เกาะสีชัง อ. สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) จ.ตราด (เกาะช้าง) 

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/hdykd3tvgpm2


จริงหรือไม่…? การใช้แอลกอฮอล์ฉีดบนร่างกาย เสี่ยงอันตรายหากโดนเปลวไฟ

จริง

เพราะ…อย. เตือนภัยห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มาฉีดพ่นบนร่างกายเด็ดขาด เพราะหากเข้าใกล้เปลวไฟหรือประกายไฟจะเกิดไฟลุกไหม้ตามร่างกายได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/14etfis3wekx1


จริงหรือไม่…? สาธารณสุขประกาศนโยบายมะเร็ง รักษา 190 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารับรักษา

จริง

เพราะ…เพื่อลดขั้นตอนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1vxygni58mg6k


จริงหรือไม่…? ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน ผลกระทบจากเหตุน้ำมันดิบรั่ว #ระยอง

จริง

เพราะ…คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างผิดปกติ ไม่สามารถปฏิสนธิได้ เหตุนี้เคยเกิดช่วงน้ำมันดิบรั่วปี 56

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3bqvwqahh96q4



เปิดไอเดียสุดเจ๋งของเยาวรุ่น ร่วมแก้ปัญหาข่าวลวง สร้างนวัตกรรมพร้อมข้อเสนอผลักสู่ระดับนโยบาย

Editors’ Picks

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับกิจกรรมการแข่งขันระดมสมอง “หักล้างมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเป็นความร่วมมือกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Fnf Thailand) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)

งานนี้นอกจากจะเป็นการประชันไอเดียของคนรุ่นใหม่ระดับมหาวิทยาลัย ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวงที่มากมายในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการระดมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการหา “ความจริงร่วม” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้ที่มีความเห็นต่างได้อย่างปกติสุข

จากการแข่งขันครั้งนี้ทีมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ทีมบอท เป็นการผสมผสานทีมจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีไอเดียสุดเจ๋ง “Check-on” หรือ “เช็คก่อน” โดยพัฒนาเครื่องมือ Extension เมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอ่านข่าวในเว็บหรือเห็นภาพต่างๆ แล้วสงสัยว่าจริงหรือไม่ ให้คลุมดำที่ข้อความ คลิกขวา จะมีปุ่ม Check หน้าต่างของ Check-On จะขึ้นมาแล้วประมวลผลความน่าเชื่อถือจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ อาทิ Cofact ชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์ต่อต้านข่าวลวง เป็นต้


ทีม Validator ซึ่งได้รับรางวัลที่ 2 รวมทีมจากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแพลตฟอร์มเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาร่วมค้นหาความจริงด้วยกัน พร้อมรับคะแนนและของรางวัล เพื่อสร้างชุมชนในสังคมออนไลน์ ให้ผู้ใช้งานได้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อข้อมูลต่างๆ จัดกิจกรรม Debate ถกประเด็นกัน เชื่อว่าความจริงต้องเกิดขึ้นได้


สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลที่ 3 คือ ทีม New Gen Next FACTkathon เป็นการรวมตัวของนักศึกษาคณะต่างๆ จากมหาวิทยาลัยพายัพ ออกแบบการนำข้อมูลข่าวสาร มาถ่ายทอดในรูปแบบของการ์ตูน ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันด้วยการสร้างการ์ตูนลงแพลตฟอร์มหนังสือการ์ตูนออนไลน์ (Webtoon) เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านและได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงไปด้วย พร้อมมีลูกเล่นด้วยการให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมไขปริศนา โหวตว่าจริงหรือไม่จริง โดยให้สิ่งตอบแทนเป็นเหรียญ สำหรับใช้เปิดอ่านตอนต่อไป

นอกจากเสนอแนวคิดนวัตกรรมแล้ว ได้มีการจัดการประชุมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นตรงกันว่าต้องผลักดันให้เกิดนโยบายที่แก้ปัญหาข่าวลวงที่เกลื่อนโลกออนไลน์ร่วมกันด้วย ดังนี้

1) ทวงถามความรับผิดชอบกับผู้ผลิตและส่งต่อข่าวลวง : มีข้อเสนอแนะให้มีวิธีการป้องกันและแก้ไขข้อความผู้ผลิตและผู้ส่งต่อข่าวลวง ที่จะช่วยลดการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นลงได้

2) ให้ความสำคัญกับทักษะ “รู้เท่าทันสื่อ” : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ไม่ใช่วิชาที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคดิจิทัล แต่ถูกพูดถึงเรื่องนี้นับตั้งแต่มีการเกิดขึ้นของสื่อมวลชนยุคอนาล็อก (วิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์) เช่น กลยุทธ์หรือเทคนิคที่ใช้ผลิตเนื้อหาผ่านสื่อแต่ละประเภทใช้ส่งสารถึงปัจเจกชนหรือกลุ่มคนซึ่งเป็นผู้รับสาร บทบาทของสื่อต่อการสร้างกระแสค่านิยมหรือวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคม เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การผลิตและส่งต่อข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทั้งกว้างขวางและรวดเร็ว การรู้เท่าทันสื่อจึงยิ่งมีความสำคัญเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน ความเข้าใจในแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Facebook , Twitter , Instagram , Line ฯลฯ ถูกออกแบบมาให้ทำงานอย่างไร และผู้ผลิตเนื้อหา (Content) ใช้วิธีการอย่างไรในการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้รับสาร ซึ่งจะซับซ้อนกว่าสื่อดั้งเดิม เช่น แพลตฟอร์มบางชนิดสามารถใช้วิธีการบางอย่างเพื่อให้สาร (ข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ คลิปเสียง) ถูกมองเห็นอย่างกว้างขวางและในความถี่ต่อเนื่อง หรือมีสถิติการส่งต่อจำนวนมาก ผู้ที่ไม่รู้เท่าทันวิธีการเหล่านี้อาจเชื่อไปก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องจริงโดยไม่ได้ตรวจสอบ

3) ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล : แม้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะถูกมองว่าเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Native) จึงใช้งานได้คล่องกว่าคนวัยอื่นๆ ที่อาจจะเพิ่งรู้จักเทคโนโลยีดิจิทัลในวัยกลางคนหรือวัยเกษียณ แต่ในความเป็นจริงก็ยังพบช่องว่าง กล่าวคือ เด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ไม่มีทุนทรัพย์จัดหาเครื่องมือเชื่อมต่อ (Device) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านดิจิทัล อาทิ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สัญญาณมีความเสถียร ย่อมมีข้อจำกัดในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลเมื่อเทียบกับเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่มีความพร้อม

4) สนับสนุนบทบาทขององค์กรที่ทำงานต่อต้านข่าวลวงที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถนำข้อมูลไปถึงผู้คนได้ง่าย : ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการต่อสู้กับปัญหาข่าวลวง ทั้งภาครัฐที่มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ภาคสื่อมวลชนที่มีศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. และภาควิชาการ-ประชาชน ที่รวมตัวกันในนามโคแฟค ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วแล้ว ควรพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลที่เมื่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไปพบข้อมูลบางอย่างแล้วสงสัย สามารถส่งไปประมวลผลกับระบบขององค์กรข้างต้นได้ทันทีว่าเคยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เนื่องจากพบว่าข่าวลวงหลายข่าวมักมีลักษณะ “แชร์วนซ้ำ” บางเรื่องพิสูจน์กันไปแล้วหลายปีว่าไม่จริงแต่ก็ยังมีการส่งต่อวนกลับมาอีก

5) ขยายแนวร่วมตรวจสอบข่าวลวงสู่ระดับท้องถิ่น : ในความเป็นจริงที่การสื่อสารรวดเร็ว ข้อมูลถูกผลิตและส่งต่ออย่างมหาศาล ข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนจึงมีความหลากหลายซึ่งบางเรื่องอาจจะไม่ได้เป็นกระแสมากพอที่องค์กรจากส่วนกลางจะมองเห็นและเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างแนวร่วมในระดับชุมชน ซึ่งอาจเป็นสื่อมวลชนท้องถิ่น หรือแกนนำชุมชน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ฯลฯ) โดยให้ผู้ที่สนใจประเด็นข่วงลวงมาฝึกฝนทักษะการตรวจสอบ รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่าจะส่งเสริมเรื่องนี้ในระดับท้องถิ่นของตนเองอย่างไร เพราะแต่ละพื้นที่นั้นมีบริบททางสังคมไม่เหมือนกัน

6) สร้างวัฒนธรรม “ตั้งคำถาม” และ “ยอมรับความเปลี่ยนแปลง” : ได้รับข้อมูลอะไรมาอย่าเพิ่งเชื่อในทันที แต่ต้องสงสัยไว้ก่อนซึ่งจะนำไปสู่การสืบค้นข้อเท็จจริง อีกทั้งเข้าใจว่าข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนความคิดตามข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าละอาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่คุ้นชินกับการเชื่อตามๆ กันมา ไม่ว่าเชื่อในวัยวุฒิ ที่อาวุโสกว่า หรือคุณวุฒิ มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า ดังนั้นต้องเริ่มจากระบบการศึกษาที่นักเรียนต้องสามารถตั้งคำถามกับตำราหรือสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนได้ แต่ประเด็นนี้ก็มีความท้าทายที่ต้องไปเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมถึงการฝึกอบรมครูในมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์

7) เปิดพื้นที่ให้ “ผู้เห็นต่าง” ได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเข้าใจและหาจุดร่วมของแต่ละฝ่าย : เนื่องจากเรื่องราวหนึ่งนั้นมีหลายมุม และแต่ละคนมักเลือกรับข้อมูลเพียงมุมใดมุมหนึ่งที่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง หรือความเชื่อที่ไม่เปิดรับชุดข้อมูลที่แตกต่าง นานวันเข้าจึงทำให้เกิดความแตกแยกและขัดแย้ง ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะมีพื้นที่ให้ผู้เห็นต่างได้มาพูดคุยกันโดยไม่มีแรงกดดันจากสถานะที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นวัย อำนาจ เพศ

แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกันทุกเรื่อง แต่ “การเปิดใจรับฟังกันและกัน” ย่อมเปิดโอกาสนำไปสู่การแสวงหาและค้นพบแง่มุมที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ข้อแสนอนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุผลเดียวกับเรื่องการสร้างวัฒนธรรมตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยคุ้นชินกับการยึดมั่นในวัยวุฒิหรือคุณวุฒิที่มีลำดับชั้นต่ำ-สูง อีกทั้งยังขาดการฝึกฝนทักษะการสื่อสารกับผู้ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ความคิดเห็นและแง่สถานะต่างๆ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=468527568135360&id=108954587425995&sfnsn=mo ทางกายภาพและทางสังคม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องฝึกทักษะเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้นในทุกช่วงวัย


ทำความเข้าใจเงื่อนไขถ้า #โควิด19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น COFACT Special Report #16

บทความ

English Summary

Thailand and many countries across the globe are preparing to live with COVID-19. Although many countries are facing record-breaking new daily cases, but number of hospitalizations and deaths are lower than the Delta wave last year. Some scientists and government officials believe the Omicron variant provides less severity of symptoms, especially among vaccinated people. Therefore, some countries, especially in Europe, the Americas, Australia, New Zealand, and parts of Asia are in the transition to live with COVID-19 as an endemic disease. However, to live with COVID-19 safely, scientists still recommend people to be fully vaccinated or boosted, and still take precaution measures such as mask-wearing in crowded space because there are still some population who are unvaccinated.

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนธันวาคม 2021 ล่าสุดถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังทรงตัวที่ประมาณ 7-9 พันรายต่อวัน แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ายอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว) และคนไทยส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันจะยังสูง แต่ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และผู้ป่วยอาการหนักไม่มากเท่ากับการระบาดระลอกที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อมองว่าโควิด-19 กำลังเข้าสู่สถานะโรคประจำถิ่น หรือโรคที่อยู่กับเราในสภาพแวดล้อม และสามารถระบาดได้ทุกเมื่อ แต่ไม่มีความรุนแรง ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับไหว

โรคประจำถิ่นคืออะไร?

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงโรคติดต่อที่สามารถแพร่ระบาดได้เรื่อยๆ แต่ความรุนแรงของโรคจะไม่เท่ากับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) นั่นหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อของไทยมีมติพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หากสถานการณ์เข้าสู่เกณฑ์ดังต่อไปนี้:

  1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน
  2. อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% (หรือ ใน 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน)
  3. จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาลจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ
  4. ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 80%

หากเราดูสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันจะเห็นว่าเราเข้าใกล้หลักเกณฑ์ของโรคประจำถิ่นตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกำหนดไว้ ขาดแต่การฉีดวัคซีนของไทยยังไม่ถึง 80% (ประชากรได้รับการฉีดครบ 2 โดสตามข้อมูลของ ศบค. และ World In Data ณ วันที่ 3 กุมพาพันธ์ 2022 อยู่ที่ประมาณ 69-71%) ซึ่งกระทรวงสาธารณะสุขกำลังเร่งให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้เข้าเป้าการกำหนดโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้เร็วที่สุด

ทำไมโควิด-19 จึงกำลังเข้าใกล้ความเป็นโรคประจำถิ่น?

จากข้อมูลของ ศบค. พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตและครองเตียงในโรงพยาบาลต่ำกว่าช่วงระลอกของสายพันธุ์เดลต้าเมื่อช่วงกลางปี 2021 จากการสุ่มตรวจหาสารพันธุกรรมของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นมา ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าจริง ถึงแม้ตัวเชื้อจะแพร่กระจายได้เร็วกว่า จำนวนเชื้อมากกว่า แต่ความรุนแรงของอาการนั้นน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกัน เราก็สามารถที่จะอยู่กับโควิด-19 ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นลักษณะของโรคประจำถิ่น คือ เชื้อจะยังอยู่ไม่หายไปไหน แต่ความรุนแรงของเชื้อจะน้อย ระบบสาธารณสุขรองรับได้ มีวัคซีนและยารักษาที่มีประสิทธิภาพ 

ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่กำลังจะปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น: ไม่จริง

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง ต่างปรับมาตรการการรับมือกับโควิด-19 ในลักษณะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นทั้งสิ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70% สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ถึงจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่ระบบสาธารณสุขรองรับไหว อัตราการเสียชีวิตต่ำ ทำให้รัฐบาลในประเทศเหล่านี้เริ่มปรับมาตรการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น เช่น สหราชอาณาจักรเริ่มอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ยกเว้นในระบบขนส่งมวลชน ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน อนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และให้ร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการได้ตามปกติ ขณะที่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนก็อนุญาตให้ร้านค้า และกิจการ กิจกรรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะเข้าในพื้นที่ปิด เช่น อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า และยังเริ่มผ่อนปรนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบจำนวนโดส และมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ 2-3 วันก่อนเดินทาง

ไทยสวนประกาศองค์การอนามัยโลก ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น: ไม่จริง

หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป และเอเชียบางประเทศที่ระบุไปข้างต้น ล้วนปรับมาตรการให้ประชาชนอยู่กับโควิด เสมือนเป็นโรคประจำถิ่นเช่น ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ลักษณะของมาตรการที่ใช้เริ่มมีความใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค ถึงแม้ WHO จะยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับระดับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากสถานการณ์ในบางประเทศยังคงน่าเป็นห่วง บวกกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเอเชียตอนใต้ยังมีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไม่มาก แต่ WHO ก็ระบุว่า การตัดสินใจปรับมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แต่ก็ขอให้ผู้นำแต่ละประเทศค่อยๆ ปรับมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักหรือกลายพันธุ์ซ้ำ 

จีน และบางประเทศยังคงใช้มาตรการเข้มสกัดโควิด-19 แสดงว่าเรายังคงเรียกโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้: จริงบางส่วน

จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงใช้มาตรการ Zero Covid หรือการควบคุมไม่ให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ทันทีที่พบผู้ติดเชื้อ และการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ 14-21 วัน โดยจีนยังคงให้เหตุผลว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุแล้วว่าความรุนแรงของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดหนักที่สุดในตอนนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจีนยังคงใช้มาตรการนี้เนื่องจากระบบสาธารณสุขของจีนอาจจะรับมีอกับการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้ยากกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งผลการศึกษาของวัคซีนที่ใช้ในจีนยังไม่มีผลชัดเจนว่าสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ดีเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภท mRNA ที่ชาติตะวันตก และประเทศส่วนใหญ่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกใช้ หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก โอกาสที่ผู้เสียชีวิตและป่วยหนักก็อาจจะมากตามมา ถึงแม้วัคซีนทุกชนิดจะสามารถลดอาการป่วยหนักได้ก็ตาม 

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่แนะนำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศใช้มาตรการ Zero Covid เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะตามมา แต่ละประเทศควรหามาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการป่วยหนักและเสียชีวิต เช่น การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควบคู่ไปกับการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษา แทนที่จะปิดประเทศ หรือใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วด้วยธรรมชาติของตัวเชื้อโรค โดยเฉพาะในสายพันธุ์ใหม่ๆ เราไม่สามารถควบคุมไม่ให้แพร่กระจายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราก็ไม่ต้องสวมแมสก์อีกต่อไป: จริงบางส่วน

ในช่วงเดือนมกราคม 2022 เป็นต้นมา หลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเริ่มอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว อย่างไรก็ตามแทบจะทุกประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากากล้วนเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงทั้งสิ้น ดังนั้นหากพื้นที่ใดที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนสูงมากพอ โอกาสที่จะมีคนป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรคก็จะน้อยลง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศเหล่านั้นมองว่าหน้ากากอนามัยอาจจะไม่จำเป็น ยกเว้นในพื้นที่แออัด เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีประชาชนหลากหลายกลุ่มใช้บริการพร้อมๆ กัน และพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล และ บ้านพักคนชรา 

หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีกต่อไป: ไม่จริง

องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดทั้งไทยและต่างประเทศระบุตรงกันว่า การฉีดวัคซีนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วที่สุด เพราะเมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน อัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตก็จะลดลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้

ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ได้จากการติดเชื้อโควิด-19 ดีกว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน: ไม่จริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระบุตรงกันว่า ภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อตามธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อตามธรรมชาติแต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน เมื่อหายดีแล้วก็ควรรับการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาชี้ชัดว่า ภูมิที่ได้จากธรรมชาติจะป้องกันการติดเชื้อได้นานเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน


ที่มา:

https://www.sanook.com/news/8504074/

https://www.sanook.com/news/8509614/

https://www.thairath.co.th/news/local/2299270

https://www.bangkokbiznews.com/world/982486

https://www.reuters.com/world/china/no-exit-zero-covid-china-struggles-find-policy-off-ramp-2022-01-27/

https://www.nytimes.com/2022/01/21/world/asia/china-zero-covid-policy.html

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

จริงหรือไม่…? ปรับลดระยะกักตัวเหลือ 5 วัน สำหรับคนที่ไม่มีอาการ

ไม่จริง

เพราะ…กรมการแพทย์ฯ ไม่มีการออกแนวทางการรักษาคนไข้โควิด-19 โดยปรับลดระยะกักตัวเหลือ 5 วัน สำหรับคนไม่มีอาการแต่อย่างใด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2tcc8onr9fl5a


จริงหรือไม่…? จังหวัดชลบุรีจะมีล็อคดาวน์อีกครั้งเพราะสาเหตุจากโอไมครอน

ไม่จริง

เพราะ…สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นความจริงดังที่กล่าวอ้าง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1hmd066ly71sw


จริงหรือไม่…? น้ำต้มใบกะเพรา สามารถช่วยล้างสารพิษจากวัคซีนได้

ไม่จริง

เพราะ…กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจง การดื่มน้ำต้มกะเพราไม่สามารถล้างพิษจากการฉีดวัคซีนได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1uu5g27bbjs5x


จริงหรือไม่…? “ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด” รัฐบุรุษแห่งประเทศมาเลเซีย และอดีตนายกรัฐมนตรี  เสียชีวิตแล้ว

ไม่จริง

เพราะ…มีอาการเจ็บป่วย แต่หายแล้ว คนใกล้ชิด ยืนยันว่ายังไม่เสียชีวิต

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/36gljmf1ikdz1


จริงหรือไม่…? #ชลบุรี ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสามารถเข้ารับวัคซีน #โควิด19 ฟรีตามนโยบายจังหวัด

จริง

เพราะ…เพื่อกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม แจ้งได้ที่โรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3of36301fnovs


จริงหรือไม่…? พบเด็กในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินจากการกินไส้กรอกไม่มี อ.ย

จริง

เพราะ…เด็กทั้ง 6 คนที่ป่วย มีประวัติว่ากินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีอย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิต

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2rnnzu0f7npgf


จริงหรือไม่…? สปสช. ให้บริการ “ยาคุมกำเนิด” หญิงไทย อายุระหว่าง 15-59 ปี ทุกสิทธิ์

จริง

เพราะ…เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และเพิ่มความปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/r5ar3j8l61ic


จริงหรือไม่…? กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสี่ยงโรคไตวายและความดันโลหิตสูง

จริง

เพราะ…ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานกำหนด เมื่อสะสมไปนานๆ ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและไตวายได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/15gtyyp8afkgj


จริงหรือไม่…? อุบลราชธานี พบโรคอหิวาห์แอฟริกาในหมู ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวเฝ้าระวังและห้ามเคลื่อนย้ายสุกร

จริง

เพราะ…ทางจังหวัดออกประกาศเขตโรคระบาด 2 หมู่บ้าน #บ้านชีทวน อ.เขื่องใน และ บ้านจานไหล อ.เมือง ห้ามเคลื่อนย้าย เข้า-ออก 1 กพ.- 2 มีค.65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1ik5qbfy8q243


จริงหรือไม่…? การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่รั่วในทะเลเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ

จริง

เพราะ…ทำให้จุลินทรีย์ชีพไม่สามารถย่อยสลายได้ทัน จนเกิดตะกอนทำให้พืชในทะเลไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ น้ำมันดังจะทำลายไข่และมีผลต่อการฟักตัวของตัวอ่อนสัตว์ทะเล

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/32frixommk3gh


จริงหรือไม่…? ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองฟอกเลือดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

จริง

เพราะ…มติคกก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอร์ด  #สปสช มีนโยบายเพิ่มทางเลือกผู้ป่วยโรคไตสามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตได้ เริ่ม 1 ก.พ. 65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/141su5nrm56x0


จริงหรือไม่…? โรคซึมเศร้า สามารถรักษาฟรีได้ด้วยสิทธิบัตรทอง

จริง

เพราะ…สามารถใช้สิทธิได้ทันที หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2cj6mfd9y5dgh


สรุปข่าวลวง ข่าวหลอก เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G Cofact Special Report #15

บทความ

English Summary:

Major airlines around the world cancelled some flights to US last week due to the deployment of 5G technology near major US airports. Some airlines worry that the radio frequency spectrum (C-Band) the US telecommunication companies use is too close to the radio frequency uses in aircraft instrument, which is important for aircraft landing in low visibility. According to the Federal Aviation Authority, the radio band that AT&T and Verizon, two major telecommunication companies in the US use for 5G does not interfere with aircraft instrument, but many experts suggest that the FAA and Federal Communication Commission (FCC) should work together and came up with better solution earlier so both 5G and aviation safety can coexist.  

เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีไร้สายล่าสุดที่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบ 4G ความพิเศษของ 5G คือการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงถึงระดับกิกะบิตต่อวินาที ช่วยให้การรับชมวิดีโอ และการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่มีความรวดเร็วภายในพริบตา เปิดทางให้อุปกรณ์สื่อสารรูปแบบใหม่สามารถใช้งานร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น 

การขยายเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มสร้างทฤษฎีสมคบคิด และผู้ไม่หวังดีที่แอบอ้างว่าเทคโนโลยี 5G เป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมแปรปรวน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นจริงทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมกำลังเร่งตรวจสอบและแก้ไขก็คือคลื่นความถี่ 5G บางคลื่นอาจส่งผลกระทบต่อวิทยุการบิน และระบบนำร่องของเครื่องบิน จนเป็นเหตุให้สายการบินบางรายในสหรัฐฯ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลกดดันให้บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ชะลอการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ 5G บางคลื่น โดยเฉพาะในบริเวณใกล้กับสนามบินขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน

1. คลื่นความถี่ 5G รบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน: ยังพิสูจน์ไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ สายการบินหลายแห่งในสหรัฐฯ และสายการบินต่างชาติบางแห่งยกเลิกเที่ยวบินเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งเที่ยวบินเกือบทั้งหมดที่ให้บริการด้วยเครื่องแบบโบอิ้ง 777 หลังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ เอทีแอนด์ที และเวอร์ไรซัน ยังคงเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G บริเวณใกล้กับสนามบิน โดยสายการบินกังวลว่าย่านคลื่นความถี่ที่บริษัทโทรคมนาคมใช้จะรบกวนอุปกรณ์นำร่องของเครื่องบิน ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมเครื่องบินลงจอดในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ชัด 

อย่างไรก็ตามสำนักงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ หรือ FAA ออกมายืนยันแล้วว่าคลื่นความถี่ที่บริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ใช้ไม่ได้เป็นย่านเดียวกันกับคลื่นความถี่ที่ระบบสื่อสารและระบบนำร่องของเครื่องบินใช้ และอนุญาตให้สายการบินให้บริการเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 ในสนามบินของสหรัฐฯ ได้ต่อไป 

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สายการบินคลายความวิตกกังวล เนื่องจากคลื่นความที่ C-Band ที่ใช้สำหรับเครือข่าย 5G ในสหรัฐฯ อยู่ในความถี่ระหว่าง 3.7-3.98 GHz ซึ่งใกล้เคียงกับย่านความถี่ที่ระบบนำร่องของเครื่องรุ่นโบอิ้ง 777 ใช้ ซึ่งเป็นความถี่ระหว่าง 4.2-4.4 GHz ด้าน FAA ระบุว่า FAA ได้ทำข้อตกลงกับสำนักงานกิจการโทรคมนาคมสหรัฐฯ หรือ FCC และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือให้มีการเพิ่มคลื่นความถี่บัฟเฟอร์ 200 MHz ขั้นระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ส่งสัญญาณ 5G ไม่ให้รบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน และขอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายติดตั้งเสาสัญญาณ 5G ห่างจากตัวสนามบินอย่างน้อย 2 ไมล์ และปรับการติดตั้งเสาสัญญาณไม่ให้ชี้ขึ้นฟ้า ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างเสาสัญญาณอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การปรับปรุงเรื่องคลื่นความถี่สามารถทำได้ทันที

ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมระบุกับสำนักข่าว The New York Times และเว็บไซต์ CNET ว่า หลังจากนี้ทั้ง FCC และ FAA จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อให้การขยายโครงข่าย 5G และความปลอดภัยด้านการบินสามารถไปด้วยกันได้ เนื่องจากการขยายโครงข่าย 5G มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะที่ความปลอดภัยในการเดินทางอากาศก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

สำหรับประเทศไทย และอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่มีการใช้คลื่นความถี่ 5G อย่างกว้างขวางจะนิยมใช้ย่านความถี่ C-Band ระหว่าง 3.4-3.8 GHz ซึ่งอยู่ในย่านที่ต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ใช้งาน ปัจจุบันยังไม่พบว่าย่านความถี่นี้ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์นำร่องของเครื่องบินแต่อย่างใด

2. คลื่นความถี่ 5G ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง: ไม่จริง

คลื่นความที่ 5G ถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่า แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มคลื่นความถี่เดียวกันกับเทคโนโลยี 4G ที่เราใช้กันมานานแล้ว จากข้อมูลของเว็บไซต์ Orange ของอังกฤษ และบทความจากเว็บไซต์ The New York Times ระบุว่าคลื่นความถี่ 5G ถึงแม้จะเป็นคลื่นความถี่สูง แต่ลักษณะทางกายภาพของตัวคลื่นไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสมอง และไม่มีสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าคลื่นความถี่ 5G ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังคงศึกษาถึงผลกระทบของคลื่นความถี่โทรคมนาคมต่อสุขภาพของมนุษย์อยู่ และยังหาข้อสรุปไม่ได้

3. คลื่นความถี่ 5G ทำให้นกและผึ้งบางสายพันธุ์เสียชีวิต: ไม่จริง

มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลในยุโรป ระบุว่าคลื่นความถี่ 5G ส่งผลให้นกจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์ตาย และยังทำให้ประชากรผึ้งลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นข่าวการปล่อยคลื่นความถี่ 5G บนเรือสำราญเมื่อเดือนเมษายน 2020 จากเรือลำหนึ่ง ส่งผลให้นกที่อยู่บริเวณนั้นตายเกลื่อน สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าสาเหตุมาจากแสงไฟที่สาดออกมาจากตัวเรือทำให้ฝูงนกหลงทิศทาง และบินผิดไปจากเส้นทางที่พวกมันอพยพถิ่นฐานตามธรรมชาติ ทำให้พวกมันบินชนกันและตกลงมาตาย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

4. คลื่นความถี่ 5G เป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19: ไม่จริง

ในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา มีโพสในสื่อโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า เสาส่งสัญญาณ 5G มีส่วนในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเสาส่งสัญญาณที่ใช้ชื่อว่า “เดลต้า” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างขึ้นมา ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เชื่อมโยงกับการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายทางอากาศ ผ่านละอองฝอยและสารคัดหลั่งจากคนสู่คน ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านคลื่นความถี่ หรือคลื่นวิทยุได้


ที่มา…

https://radio-waves.orange.com/en/radio-networks-and-antennas/5g/facts-and-fiction-about-5g/

https://www.allconnect.com/blog/5g-dangers-fact-vs-fiction

https://radio-waves.orange.com/en/radio-networks-and-antennas/5g/facts-and-fiction-about-5g/

https://www.allconnect.com/blog/5g-dangers-fact-vs-fiction

https://leadstories.com/hoax-alert/2021/12/fact-check-no-evidence-5g-millimeter-waves-causes-health-problems.html

https://www.reuters.com/article/factcheck-birds-5g/fact-check-hundreds-of-dead-birds-on-ship-deck-have-been-baselessly-linked-to-5g-radiation-idUSL1N2OS1FK?fbclid=IwAR1EdAGArORrSjTwpjnzZ8i0vaFJ3jZmrcB_yxuCUBVz893XrRqMcsipuQQ

https://fullfact.org/online/no-evidence-birds-found-dead-ship-were-killed-5g/

https://www.nytimes.com/2019/07/16/science/5g-cellphones-wireless-cancer.html

https://www.cnet.com/tech/mobile/how-the-faa-went-to-war-against-5g/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 30 มกราคม 2565

จริงหรือไม่…? ศาลฎีกายกเลิกการฉีดวัคซีนสากลในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ไม่จริง

เพราะ…สำนักข่าว USA Today ของสหรัฐฯ ได้ออกมารายงานข่าวกรณี ศาลฎีกายกเลิกการฉีดวัคซีนสากลในสหรัฐอเมริกาแล้วว่าเป็นข่าวปลอม โดยมีที่มาจากสหรัฐฯ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1syk2w2wsfu4i


จริงหรือไม่…? ยาเขียวตราใบโพธิ์ สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้

ไม่จริง

เพราะ…ยาขมยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัส #โควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือรักษา สรรพคุณของยาเขียวที่ถูกต้องคือแก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นไข้ ปวดหัวตัวร้อน ถอนพิษไข้ หรือออกหัดอิสุกอีใส

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2vqj2sr4vg4p2


จริงหรือไม่…? ยาสีฟันสามารถรักษาสิวได้

ไม่จริง

เพราะ…แม้ว่าจะมีส่วนผสมบางชนิดเป็นชนิดเดียวกับที่อยู่ในยารักษาสิว แต่เนื่องจากมีความเข้มข้นไม่มากพอ จึงไม่สามารถรักษาสิวได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1nzn6tipmgren


จริงหรือไม่…? ทาปิโตรเลียมเจลลี่ในรูจมูก ช่วยป้องกันและดักจับฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ควรใส่หน้ากากอนามัย ที่สามารถกรองได้อย่างน้อย 95% ขึ้นไป

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/wn00ikdx2mon


จริงหรือไม่…? กงเต๊กวัคซีน รับตรุษจีน สะท้อนปัญหาโควิด

จริง

เพราะ…ร้านขายเครื่องกระดาษไว้เจ้า บอก ปีนี้ยุคโควิด-19 กงเต็ก ชุด วัคซีนโควิด-19 และ ชุดตรวจ ATK ขายดีมาก จนบางร้านขาดตลาด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/g5ivhd7bxd35


จริงหรือไม่…? อาคเนย์ประกันภัย เลิกกิจการแล้ว

จริง

เพราะ…อยู่ในขั้นตอนเสนอเรื่องการพิจารณาที่ประชุมคกก.สนง.คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย #คปภ วันที่ 28 มค. 65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/h4aq1ci8a1xp


จริงหรือไม่…? น้ำมันปาล์มแพง ขวด 1 ลิตรใกล้ทะลุ 70 บาท จังหวัดห่างไกลราคายิ่งสูง

จริง

เพราะ…ผลปาล์มมีน้อยและอยู่ในช่วงปลายฤดู ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการ “ส่งออกน้ำมันปาล์ม” มากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/25bj1v6xuupgt


จริงหรือไม่…? การดื่มน้ำอัดลมมาก เสี่ยงทำให้เกิดฟันผุ

จริง

เพราะ…มีกรดคาร์บอนิกค่อนข้างมาก ซึ่งสารดังกล่าวจะกีดขวางการดูดซึมแคลเซียมของกระดูก รวมทั้งมีน้ำตาล กับ น้ำ หากไม่มีการทำความสะอาดช่องปากและฟัน จะก่อให้เกิดฟันผุได้ 

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/6ljlrnk9vaqz


จริงหรือไม่…? การดื่มน้ำมะพร้าว มีผลทำให้ขนาดหน้าอกขยายเพิ่ม

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…‘เอสโตรเจน’มีในน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงจากธรรมชาติที่มีหน้าที่ทำให้ร่างกายพัฒนาเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิงจึงช่วยทำให้หน้าอกของผู้หญิงมีขนาดขยาย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2dgq35dzh2yod


จริงหรือไม่…? การฉีดวัคซีนต้านโรค “โควิด-19” เข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…การฉีดเข็มกระตุ้นทุก ๆ 4 เดือน จะส่งผลกระทบข้างเคียงในทางลบ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักเกินไป

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/307f8qq7x7ee6


ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในตองกา COFACT Special Report #14

บทความ

English Summary:

Volcanic eruption in Tonga last week was one of the strongest eruptions in years. It created a massive tsunami, affected many coastal areas in the US and Latin America. However, there have been a lot of misinformation related to this incident, including old photos and videos from previous eruptions in Europe and the Caribbean. Some contents can be spotted easily if you listen to the language they spoke in the videos, or can be debunked easily using a reverse image search platform.

ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในตองกา

เหตุภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดในตองกาเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก แรงระเบิดส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิในรัศมีหลายพันกิโลเมตร แม้แต่ประเทศแถบซีกโลกเหนืออย่างสหรัฐฯ ยังรับรู้ถึงความรุนแรงของแรงระเบิด และได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกโซเชียล และสื่อหลายแห่งเผยแพร่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในตองกา แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความเสียหายต่อระบบสื่อสารในตองกา ทำให้เกิดภาพข่าวลวง ข่าวหลอก และมีการนำภาพเหตุการณ์เก่ามาแชร์ซ้ำกันอย่างแพร่หลาย

1. ภาพชาวตองกาถ่ายขณะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ: ไม่จริง

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสคลิปวีดีโอชาวบ้านกำลังถูกน้ำซัดจากเหตุภัยธรรมชาติ ในคำอธิบายคลิประบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตองกาวันที่ 15 มกราคม ซึ่งตรงกับวันที่เกิดภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุพอดี ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว มีสื่อกระแสหลักในต่างประเทศบางเจ้านำภาพเหตุการณ์นี้ไปนำเสนอข่าว แต่ความเป็นจริงแล้วคลิปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในตองกา สำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบพบว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในอินโดนีเซีย สังเกตได้จากภาษาที่บุคคลในคลิปพูดคุยกัน เป็นภาษาอินโดนีเซีย และจุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณแม่น้ำกำปาบนเกาะสุมาตรา ชมคลิปเหตุการณ์จริงที่​: https://www.youtube.com/watch?v=_ncwGCCgTIA

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวนี้ที่​: https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9WB9NG-1 

2. ภาพการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลระยะประชิด: ไม่จริง

ในโลกโซเชียลมีผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งเผยแพร่ภาพคลิปวีดีโอภูเขาไฟระเบิดในระยะประชั้นชิด ในคำอธิบายคลิประบุว่าเป็นภาพภูเขาไฟในตองกาที่กำลังระเบิด พร้อมกับมีคลื่นยักษ์สึนามิที่กำลังเริ่มก่อตัว คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปบนทวิตเตอร์ เหว่ยโป๋ (เว็บไซต์สื่อโซเชียลในจีน) และติ๊กตอก มีผู้เข้ามากดไลค์หลายหมื่นคน

สำนักข่าวเอเอฟพี ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีค้นหาภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) พบคลิปเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2019 เป็นภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟสตรอมโบลีในอิตาลีระเบิด ไม่ใช่ภูเขาไฟในตองการะเบิดแต่อย่างใด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9WE2HL-1 

3. ภาพปลาตายเกลื่อนหาด: ไม่จริง

ในเพจเฟซบุ๊ก YTS News มีการแชร์ภาพปลาและปูจำนวนมากตายเกลื่อนหาด ในคำอธิบายภาพระบุเป็นภาพจากตองกา ปลาและสัตว์ทะเลจำนวนมากลอยมากับคลื่นยักษ์สึนามิ โพสดังกล่าวถูกแชร์บนเฟซบุ๊กถึงหลายพันครั้ง

จากการตรวจสอบภาพแบบย้อนกลับบนกูเกิลของสำนักข่าวเอเอฟพี พบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเดียวกันกับรายงานข่าวในออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2015 โดยภาพแรกที่เป็นภาพปลาตายเกลื่อนหาดเป็นภาพที่เกิดขึ้นบนหาดบุดดีนาในรัฐควีนส์แลนด์ ในเนื้อหาข่าวระบุผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ปลาจำนวนมากลอยขึ้นมาบนผิวหาด

ภาพที่สองเป็นภาพจากรายงานข่าวในอุรุกวัยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2015 เป็นภาพปลาลอยขึ้นมาบริเวณหาดในเมืองมอนเตวิเดโอ ในเนื้อหาข่าวระบุปลาจำนวนหลายหมื่นตัวลอยขึ้นมาบนหาดเนื่องจากเป็นช่วงน้ำลง ปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำผิดปกติ ทำให้ปลาจำนวนมากปรับตัวไม่ทันและลอยขึ้นมาบริเวณริมหาด

ภาพที่สามเป็นภาพปูจำนวนมากที่ถ่ายโดยเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Aisea Kai’tu เป็นภาพปูจำนวนมากขึ้นมาวางไข่บนชายหาดบนเกาะเกาในฟิจิ เขาบอกว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติปกติอยู่แล้ว เพราะพวกมันมักจะขึ้นมาบนชายหาดแบบนี้เป็นประจำปีละสองครั้ง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.9WK9MV 

4. ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ: ไม่จริง

ปกติแล้วเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดหลายครั้ง เราจะเห็นภาพเถ้าภูเขาไฟปกคลุมบ้านเรือนเป็นเรื่องปกติ และภาพเหล่านี้มักจะเป็นภาพที่ตรวจสอบได้ยาก เช่นภาพที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียลสามภาพต่อไปนี้ 

ในภาพแรก เว็บไซต์ Boom และสำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุภูเขาไฟระเบิดในกัวเตมาลา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2018 ภาพต้นฉบับถ่ายโดยสำนักข่าวเอพี ในเนื้อหาข่าวระบุว่าเป็นภาพถ่ายมุมสูงจากเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่สามารถลงไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ เนื่องจากสภาพถนนยังปกคลุมด้วยขี้เถ้าภูเขาไฟจำนวนมาก

ภาพที่สองเป็นภาพจากรายงานของสำนักข่าวสกายนิวส์ (Sky News) ของอังกฤษ เป็นภาพโดรนมุมสูงที่ถ่ายหลังเหตุภูเขาไฟระเบิดในเซนต์วินเซนต์ ประเทศเกาะที่อยู่กลางทะเลแคริบเบียนเมื่อเดือนเมษายน 2021 นอกจากนี้ในคลิปยูทูบขององค์การสหประชาชาติยังมีภาพมุมสูงที่ถ่ายจากพื้นที่เดียวกันอีกด้วย

ภาพที่สามเป็นภาพความเสียหายจากขี้เถ้าภูเขาไฟในวานูอาตู ภาพต้นฉบับเผยแพร่โดยผู้ใช้เฟสบุ๊ก Wilfred Woodrow เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2018 และเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าว Express ในอังกฤษ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.boomlive.in/world/tonga-tsunami-volcanic-eruption-guatemala-fake-news-fact-check-16450


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 22 มกราคม 2565

จริงหรือไม่…? การรับประทานของมันมากๆ และการดื่มชาร้อนจะสามารถช่วยขับไขมัน

ไม่จริง

เพราะ…กระบวนการของร่างกาย จะมีการย่อย ดูดซึม และขับไขมันออกเอง แม้จะดื่มชาร้อนร่างกายก็จะปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมเอง ไม่ได้ช่วยล้างไขมันในร่างกาย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3olbxjb3u6l46


จริงหรือไม่…? กรมธรรม์ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ยังสามารถเคลมประกันภัยได้

จริง

เพราะ…คปภ.ยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ ยังให้ความคุ้มครองปกติสามารถเคลมประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้ เตรียมเรียก 14 บริษัทประกันภัยทำความเข้าใจ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/32hush8ud5r29


จริงหรือไม่…? “โรคตุ่มน้ำพองใส” อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนต้านโควิด-19

จริง

เพราะ…อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมกันหรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากวัคซีนต้าน #โควิด19 ได้ พบไม่มาก ไม่ใช่โรคติดต่อและสามารถรักษาให้หายได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1x6ak2qb5c1g2


จริงหรือไม่…? อังกฤษลองแนวทางใหม่ เตรียมยกเลิกมาตรการคุมโควิดทั้งหมด

จริง

เพราะ…นายกฯ ประกาศ อังกฤษจะยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งหมด รวมถึงการบังคับสวมหน้ากาก การทำงานจากบ้าน และการใช้บัตรรับรองการฉีดวัคซีน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/23ogk3732gi0h


จริงหรือไม่…? คลอรีนไม่ได้ทำให้ขาว และยังเป็นอันตรายต่อผิว

จริง

เพราะ…ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อผิวหนังและเยื่อบุไหม้ เป็นเนื้อตาย ดวงตา จมูก หรือระบบทางเดินหายใจ เกิดการระคายเคืองได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3ngfxe1l9qzk9


จริงหรือไม่…? อาการคล้ายผีเข้า ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

จริง

เพราะ…อาการคล้ายคลึงโรคทางจิตเวช อาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงละเลยการตรวจรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1sz7zpu3x75nx


จริงหรือไม่…? การใส่หน้ากากอนามัย ส่งผลร้ายต่อการทำงานของสมองของเด็กต่ำกว่า 12 ปี

จริง

เพราะ…อาจจะขัดขวางพัฒนาการทางสังคมและการแสดงออกทางอารมณ์ในเด็กเล็ก การใส่หน้ากากจะทำให้รับออกซิเจนปกติได้รับน้อยลง ควรใส่เท่าที่จำเป็น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1ova1ac0nxo2p


จริงหรือไม่…? “สสวท.” เปิดช่องสื่อออนไลน์ใช้ฟรี ระดับประถมถึงมัธยมปลายในช่วงโควิดเรียนออนไลน์ 

จริง

เพราะ…ใช้งานฟรีที่เว็บไซต์ http://proj14.ipst.ac.thยูทูป IPST Proj 14 หรือ เฟซบุ๊ค IPST Proj14 https://www.facebook.com/ipstproj14 

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/33zkd7z616yvu


จริงหรือไม่…? การดื่มเบียร์เพิ่มความเสี่ยงให้อ้วนลงพุงได้

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…มีแคลอรี่สูงและเพิ่มความเสี่ยงให้อ้วนลงพุงได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2909oaqvkr497


จริงหรือไม่…? อาการ พูดไม่ชัด พูดช้า พูดไม่ออก เป็นอาการของ SLE เริ่มลงสมอง..หรือโรคหลอดเลือดสมอง

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…เป็นอาการแสดงความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง ไม่ใช่อาการชี้บ่งโรคใดโรคหนึ่งที่จำเพาะ 

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/5if0gluaeqxk

ที่มาของคำว่า “เฟคนิวส์” และทำไมเราถึงควรเลิกใช้คำนี้ COFACT Special Report #13

บทความ

English Summary

For the past decade “Fake News” has been used to discredit journalists who expose corruptions and government’s scandals. Donald Trump often uses “Fake News” to discredit established news organizations, asking his supporters to watch conservative media outlets that spread misinformation about the election, which resulted in the January 6 insurrection. Fake News rhetoric is very popular in countries such as Russia, Myanmar, Venezuela, and Syria, where political leaders often use “Fake News” to attack journalists and democratic values. Many news organizations avoid using the term “Fake News” so they won’t be a part of political rhetoric, and replacing it with “Misinformation” or “Disinformation” to describe false or misleading information online or by people in power instead.

เฟคนิวส์ (Fake News) หรือ ข่าวปลอม เป็นคำที่ใช้เรียกข้อมูลลวง หรือข้อมูลบิดเบือนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้เราจะทราบกันดีว่าข้อมูลลวง หรือข้อมูลบิดเบือนนั้นมีมานานแล้ว แต่คำว่าเฟคนิวส์ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาตามกระแสของต่างประเทศ 

ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และสังคมโลก การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และการสร้างข่าวสารเพื่อโน้มน้าว หรือจูงใจคนให้เชื่อในวาทกรรมของผู้มีอำนาจนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เฟคนิวส์ที่เราเข้าใจในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแส ถูกแชร์กันเป็นจำนวนมาก มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถูกแชร์เพื่อสร้างความตื่นตระหนก ข้อมูลบางประเภทสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้รับสื่อมีความเชื่อด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่ง จนไม่ยอมรับข้อมูลอีกด้าน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม เนื่องจากผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่คิดเห็นเหมือนๆ กัน และจะเชื่อว่าสิ่งที่ตนคิดถูกต้อง อีกฝ่ายเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอันตรายต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตย

เฟคนิวส์ ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมือง

เฟคนิวส์ เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มากในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ซึ่งเป็นช่วงที่ขั้วการเมืองต่างๆ แสดงจุดยืนของตนอย่างชัดเจน และใช้ข้อมูลลวงต่างๆ โจมตีคู่แข่ง โดยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันในช่วงนั้นมักจะนำข้อมูลลวงมาใช้โจมตีฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และมีการใช้สื่อโซเชียล เช่นเฟสบุ๊ก ในการกระจายข้อมูลลวงเหล่านี้ จนทำให้เกิดกระแสการสร้างกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองที่แชร์เฉพาะข้อมูลในฝั่งของตัวเอง และด้วยระบบอัลกอริทึมของเฟสบุ๊กที่มักจะเลือกข้อมูลที่ผู้ใช้งานชอบอ่านขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ยิ่งทำให้พวกเขาอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสารด้านเดียว หรือ Echo Chamber ของตนเองมากขึ้น โดยไม่ตั้งคำถามถึงข้อมูลที่ได้มาว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่

หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาได้ใช้วาทกรรม “เฟคนิวส์” ในการด้อยค่าการนำเสนอข่าวของสื่อในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสื่อที่มีการตรวจสอบการทำงานและปัญหาคอรัปชั่นในรัฐบาล มีการใช้คำพูดเช่น “สื่อเหล่านี้เป็นศัตรูกับประชาชน” ทำให้หลายครั้งสื่อบางสำนักที่ไม่ได้นำเสนอข่าวสนับสนุนทรัมป์ถูกเป็นเป้าโจมตีของผู้สนับสนุนทรัมป์ และมักจะถูกคุกคามขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง 

เมื่อคำว่า เฟคนิวส์ ถูกใช้เพื่อด้อยค่าสื่อและสร้างความแตกแยก ผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากจึงเลือกที่จะบริโภคสื่อที่อยู่ฝั่งทางการเมืองที่ตนสนับสนุน และเชื่อคำพูดของทรัมป์และนักการเมืองฝ่ายขวาซึ่งชวนให้ประชาชนมาชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงคะแนนรับรองผลการเลือกตั้งให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งทรัมป์และพวกใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ และการไม่รับซึ่งผลการเลือกตั้งเพื่อเป็นเหตุผลให้เกิดการก่อจลาจล ส่งผลให้มีตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิต 9 ราย

รัฐบาลหลายประเทศ ใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ โจมตีการตรวจสอบของสื่อ

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลและผู้มีอำนาจในหลายประเทศก็ใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ในการโจมตีการทำงานของสื่อเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบบประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เช่น ซีเรีย, เวเนซูเอลา, รัสเซีย และเมียนมา ตามรายงานของเว็บไซต์ uua.org ระบุว่า ในประเทศเหล่านี้ เมื่อสื่อมีการรายงานข่าวเรื่องคอรัปชั่น หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผู้นำของประเทศก็จะออกมาโจมตีการทำงานของสื่อ และใส่ร้ายว่าพวกเขาเป็นเฟคนิวส์อยู่เสมอ

ไม่ใช่แค่ประเทศกลุ่มนี้ที่สื่อต้องทำงานภายใต้การถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟคนิวส์ ประเทศประชาธิปไตยอย่างออสเตรเลียก็พบนักการเมืองที่โจมตีการทำงานของสื่อด้วยการใช้คำว่าเฟคนิวส์เช่นกัน ในรายงานของเว็บไซต์ theconversation.com พบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งอนุรักษ์นิยมมักจะใช้คำว่าเฟคนิวส์โจมตีการทำงานของสื่อบ่อยครั้ง สอดคล้องกับในหลายๆ ประเทศที่พบว่านักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมมักจะใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ด้อยค่าสื่อ โดยเฉพาะเมื่อสื่อมีการตรวจสอบการทำงานหรือขุดคุ้ยประเด็นเกี่ยวกับคอรัปชั่นของพวกเขา

ถ้าไม่ใช้คำว่า “เฟคนิวส์” เราควรใช้คำว่าอะไร?

สำนักข่าวขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เริ่มแบนและเลิกใช้คำว่า “เฟคนิวส์” หลังจากคำคำนี้ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองโจมตีผู้เห็นต่าง โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “ข่าวลวง” (Misinformation) หรือ “ข่าวหลอก” (Disinformation) เนื่องจากสองคำนี้มีความหมายตรงตัวมากกว่า ข่าวลวง หมายถึงข่าวสารที่นำเสนอความจริงบางส่วน ไม่ได้นำเสนอความจริงรอบด้าน หรือนำเสนอเฉพาะฝั่งที่ตนต้องการเพื่อผลประโยชน์ ส่วน ข่าวหลอก หมายถึงข่าวสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง 

อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่า เฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอม ถูกใช้อย่างแพร่หลายจนหลายคนติดปากและเคยชิน และอาจจะเป็นเรื่องยากที่เราจะไม่ให้คนในสังคมเลิกใช้คำนี้โดยทันที แต่ถ้าเราศึกษาผลเสียและวาทกรรมการใช้เฟคนิวส์แล้วจะพบว่า ผู้ที่ใช้วาทกรรมนี้ล้วนหวังผลในการด้อยค่าการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม หากสื่อเป็นผู้นำเสนอข้อมูลผิดพลาดจริง เราควรใช้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง มากกว่าการโจมตีหรือให้ร้ายด้วยการใช้คำว่า เฟคนิวส์ 


 ที่มา: https://www.nytimes.com/2017/01/11/upshot/the-real-story-about-fake-news-is-partisanship.html

https://www.nytimes.com/2022/01/05/us/politics/jan-6-capitol-deaths.html

https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zwcgn9q

https://www.uua.org/international/blog/freedom-press-fake-news-disinformation

https://theconversation.com/the-real-news-on-fake-news-politicians-use-it-to-discredit-media-and-journalists-need-to-fight-back-123907


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com