ที่มาของคำว่า “เฟคนิวส์” และทำไมเราถึงควรเลิกใช้คำนี้ COFACT Special Report #13

บทความ

English Summary

For the past decade “Fake News” has been used to discredit journalists who expose corruptions and government’s scandals. Donald Trump often uses “Fake News” to discredit established news organizations, asking his supporters to watch conservative media outlets that spread misinformation about the election, which resulted in the January 6 insurrection. Fake News rhetoric is very popular in countries such as Russia, Myanmar, Venezuela, and Syria, where political leaders often use “Fake News” to attack journalists and democratic values. Many news organizations avoid using the term “Fake News” so they won’t be a part of political rhetoric, and replacing it with “Misinformation” or “Disinformation” to describe false or misleading information online or by people in power instead.

เฟคนิวส์ (Fake News) หรือ ข่าวปลอม เป็นคำที่ใช้เรียกข้อมูลลวง หรือข้อมูลบิดเบือนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้เราจะทราบกันดีว่าข้อมูลลวง หรือข้อมูลบิดเบือนนั้นมีมานานแล้ว แต่คำว่าเฟคนิวส์ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาตามกระแสของต่างประเทศ 

ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และสังคมโลก การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และการสร้างข่าวสารเพื่อโน้มน้าว หรือจูงใจคนให้เชื่อในวาทกรรมของผู้มีอำนาจนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เฟคนิวส์ที่เราเข้าใจในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแส ถูกแชร์กันเป็นจำนวนมาก มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถูกแชร์เพื่อสร้างความตื่นตระหนก ข้อมูลบางประเภทสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้รับสื่อมีความเชื่อด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่ง จนไม่ยอมรับข้อมูลอีกด้าน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม เนื่องจากผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่คิดเห็นเหมือนๆ กัน และจะเชื่อว่าสิ่งที่ตนคิดถูกต้อง อีกฝ่ายเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอันตรายต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตย

เฟคนิวส์ ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมือง

เฟคนิวส์ เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มากในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ซึ่งเป็นช่วงที่ขั้วการเมืองต่างๆ แสดงจุดยืนของตนอย่างชัดเจน และใช้ข้อมูลลวงต่างๆ โจมตีคู่แข่ง โดยเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันในช่วงนั้นมักจะนำข้อมูลลวงมาใช้โจมตีฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และมีการใช้สื่อโซเชียล เช่นเฟสบุ๊ก ในการกระจายข้อมูลลวงเหล่านี้ จนทำให้เกิดกระแสการสร้างกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองที่แชร์เฉพาะข้อมูลในฝั่งของตัวเอง และด้วยระบบอัลกอริทึมของเฟสบุ๊กที่มักจะเลือกข้อมูลที่ผู้ใช้งานชอบอ่านขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ยิ่งทำให้พวกเขาอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสารด้านเดียว หรือ Echo Chamber ของตนเองมากขึ้น โดยไม่ตั้งคำถามถึงข้อมูลที่ได้มาว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่

หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาได้ใช้วาทกรรม “เฟคนิวส์” ในการด้อยค่าการนำเสนอข่าวของสื่อในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสื่อที่มีการตรวจสอบการทำงานและปัญหาคอรัปชั่นในรัฐบาล มีการใช้คำพูดเช่น “สื่อเหล่านี้เป็นศัตรูกับประชาชน” ทำให้หลายครั้งสื่อบางสำนักที่ไม่ได้นำเสนอข่าวสนับสนุนทรัมป์ถูกเป็นเป้าโจมตีของผู้สนับสนุนทรัมป์ และมักจะถูกคุกคามขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง 

เมื่อคำว่า เฟคนิวส์ ถูกใช้เพื่อด้อยค่าสื่อและสร้างความแตกแยก ผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากจึงเลือกที่จะบริโภคสื่อที่อยู่ฝั่งทางการเมืองที่ตนสนับสนุน และเชื่อคำพูดของทรัมป์และนักการเมืองฝ่ายขวาซึ่งชวนให้ประชาชนมาชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงคะแนนรับรองผลการเลือกตั้งให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งทรัมป์และพวกใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ และการไม่รับซึ่งผลการเลือกตั้งเพื่อเป็นเหตุผลให้เกิดการก่อจลาจล ส่งผลให้มีตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิต 9 ราย

รัฐบาลหลายประเทศ ใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ โจมตีการตรวจสอบของสื่อ

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลและผู้มีอำนาจในหลายประเทศก็ใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ในการโจมตีการทำงานของสื่อเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบบประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เช่น ซีเรีย, เวเนซูเอลา, รัสเซีย และเมียนมา ตามรายงานของเว็บไซต์ uua.org ระบุว่า ในประเทศเหล่านี้ เมื่อสื่อมีการรายงานข่าวเรื่องคอรัปชั่น หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผู้นำของประเทศก็จะออกมาโจมตีการทำงานของสื่อ และใส่ร้ายว่าพวกเขาเป็นเฟคนิวส์อยู่เสมอ

ไม่ใช่แค่ประเทศกลุ่มนี้ที่สื่อต้องทำงานภายใต้การถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟคนิวส์ ประเทศประชาธิปไตยอย่างออสเตรเลียก็พบนักการเมืองที่โจมตีการทำงานของสื่อด้วยการใช้คำว่าเฟคนิวส์เช่นกัน ในรายงานของเว็บไซต์ theconversation.com พบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝั่งอนุรักษ์นิยมมักจะใช้คำว่าเฟคนิวส์โจมตีการทำงานของสื่อบ่อยครั้ง สอดคล้องกับในหลายๆ ประเทศที่พบว่านักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมมักจะใช้วาทกรรมเฟคนิวส์ด้อยค่าสื่อ โดยเฉพาะเมื่อสื่อมีการตรวจสอบการทำงานหรือขุดคุ้ยประเด็นเกี่ยวกับคอรัปชั่นของพวกเขา

ถ้าไม่ใช้คำว่า “เฟคนิวส์” เราควรใช้คำว่าอะไร?

สำนักข่าวขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เริ่มแบนและเลิกใช้คำว่า “เฟคนิวส์” หลังจากคำคำนี้ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองโจมตีผู้เห็นต่าง โดยเปลี่ยนเป็นคำว่า “ข่าวลวง” (Misinformation) หรือ “ข่าวหลอก” (Disinformation) เนื่องจากสองคำนี้มีความหมายตรงตัวมากกว่า ข่าวลวง หมายถึงข่าวสารที่นำเสนอความจริงบางส่วน ไม่ได้นำเสนอความจริงรอบด้าน หรือนำเสนอเฉพาะฝั่งที่ตนต้องการเพื่อผลประโยชน์ ส่วน ข่าวหลอก หมายถึงข่าวสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง 

อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่า เฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอม ถูกใช้อย่างแพร่หลายจนหลายคนติดปากและเคยชิน และอาจจะเป็นเรื่องยากที่เราจะไม่ให้คนในสังคมเลิกใช้คำนี้โดยทันที แต่ถ้าเราศึกษาผลเสียและวาทกรรมการใช้เฟคนิวส์แล้วจะพบว่า ผู้ที่ใช้วาทกรรมนี้ล้วนหวังผลในการด้อยค่าการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม หากสื่อเป็นผู้นำเสนอข้อมูลผิดพลาดจริง เราควรใช้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้อง มากกว่าการโจมตีหรือให้ร้ายด้วยการใช้คำว่า เฟคนิวส์ 


 ที่มา: https://www.nytimes.com/2017/01/11/upshot/the-real-story-about-fake-news-is-partisanship.html

https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zwcgn9q

https://www.uua.org/international/blog/freedom-press-fake-news-disinformation

https://theconversation.com/the-real-news-on-fake-news-politicians-use-it-to-discredit-media-and-journalists-need-to-fight-back-123907


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com