ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในตองกา COFACT Special Report #14

บทความ

English Summary:

Volcanic eruption in Tonga last week was one of the strongest eruptions in years. It created a massive tsunami, affected many coastal areas in the US and Latin America. However, there have been a lot of misinformation related to this incident, including old photos and videos from previous eruptions in Europe and the Caribbean. Some contents can be spotted easily if you listen to the language they spoke in the videos, or can be debunked easily using a reverse image search platform.

ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในตองกา

เหตุภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดในตองกาเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก แรงระเบิดส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิในรัศมีหลายพันกิโลเมตร แม้แต่ประเทศแถบซีกโลกเหนืออย่างสหรัฐฯ ยังรับรู้ถึงความรุนแรงของแรงระเบิด และได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกโซเชียล และสื่อหลายแห่งเผยแพร่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในตองกา แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความเสียหายต่อระบบสื่อสารในตองกา ทำให้เกิดภาพข่าวลวง ข่าวหลอก และมีการนำภาพเหตุการณ์เก่ามาแชร์ซ้ำกันอย่างแพร่หลาย

1. ภาพชาวตองกาถ่ายขณะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ: ไม่จริง

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสคลิปวีดีโอชาวบ้านกำลังถูกน้ำซัดจากเหตุภัยธรรมชาติ ในคำอธิบายคลิประบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตองกาวันที่ 15 มกราคม ซึ่งตรงกับวันที่เกิดภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุพอดี ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว มีสื่อกระแสหลักในต่างประเทศบางเจ้านำภาพเหตุการณ์นี้ไปนำเสนอข่าว แต่ความเป็นจริงแล้วคลิปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในตองกา สำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบพบว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในอินโดนีเซีย สังเกตได้จากภาษาที่บุคคลในคลิปพูดคุยกัน เป็นภาษาอินโดนีเซีย และจุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณแม่น้ำกำปาบนเกาะสุมาตรา ชมคลิปเหตุการณ์จริงที่​: https://www.youtube.com/watch?v=_ncwGCCgTIA

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวนี้ที่​: https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9WB9NG-1 

2. ภาพการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลระยะประชิด: ไม่จริง

ในโลกโซเชียลมีผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งเผยแพร่ภาพคลิปวีดีโอภูเขาไฟระเบิดในระยะประชั้นชิด ในคำอธิบายคลิประบุว่าเป็นภาพภูเขาไฟในตองกาที่กำลังระเบิด พร้อมกับมีคลื่นยักษ์สึนามิที่กำลังเริ่มก่อตัว คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปบนทวิตเตอร์ เหว่ยโป๋ (เว็บไซต์สื่อโซเชียลในจีน) และติ๊กตอก มีผู้เข้ามากดไลค์หลายหมื่นคน

สำนักข่าวเอเอฟพี ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีค้นหาภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) พบคลิปเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2019 เป็นภาพเหตุการณ์ภูเขาไฟสตรอมโบลีในอิตาลีระเบิด ไม่ใช่ภูเขาไฟในตองการะเบิดแต่อย่างใด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9WE2HL-1 

3. ภาพปลาตายเกลื่อนหาด: ไม่จริง

ในเพจเฟซบุ๊ก YTS News มีการแชร์ภาพปลาและปูจำนวนมากตายเกลื่อนหาด ในคำอธิบายภาพระบุเป็นภาพจากตองกา ปลาและสัตว์ทะเลจำนวนมากลอยมากับคลื่นยักษ์สึนามิ โพสดังกล่าวถูกแชร์บนเฟซบุ๊กถึงหลายพันครั้ง

จากการตรวจสอบภาพแบบย้อนกลับบนกูเกิลของสำนักข่าวเอเอฟพี พบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเดียวกันกับรายงานข่าวในออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2015 โดยภาพแรกที่เป็นภาพปลาตายเกลื่อนหาดเป็นภาพที่เกิดขึ้นบนหาดบุดดีนาในรัฐควีนส์แลนด์ ในเนื้อหาข่าวระบุผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ปลาจำนวนมากลอยขึ้นมาบนผิวหาด

ภาพที่สองเป็นภาพจากรายงานข่าวในอุรุกวัยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2015 เป็นภาพปลาลอยขึ้นมาบริเวณหาดในเมืองมอนเตวิเดโอ ในเนื้อหาข่าวระบุปลาจำนวนหลายหมื่นตัวลอยขึ้นมาบนหาดเนื่องจากเป็นช่วงน้ำลง ปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำผิดปกติ ทำให้ปลาจำนวนมากปรับตัวไม่ทันและลอยขึ้นมาบริเวณริมหาด

ภาพที่สามเป็นภาพปูจำนวนมากที่ถ่ายโดยเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Aisea Kai’tu เป็นภาพปูจำนวนมากขึ้นมาวางไข่บนชายหาดบนเกาะเกาในฟิจิ เขาบอกว่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติปกติอยู่แล้ว เพราะพวกมันมักจะขึ้นมาบนชายหาดแบบนี้เป็นประจำปีละสองครั้ง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://factcheck.afp.com/doc.afp.com.9WK9MV 

4. ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ: ไม่จริง

ปกติแล้วเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดหลายครั้ง เราจะเห็นภาพเถ้าภูเขาไฟปกคลุมบ้านเรือนเป็นเรื่องปกติ และภาพเหล่านี้มักจะเป็นภาพที่ตรวจสอบได้ยาก เช่นภาพที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียลสามภาพต่อไปนี้ 

ในภาพแรก เว็บไซต์ Boom และสำนักข่าวเอเอฟพีตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุภูเขาไฟระเบิดในกัวเตมาลา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2018 ภาพต้นฉบับถ่ายโดยสำนักข่าวเอพี ในเนื้อหาข่าวระบุว่าเป็นภาพถ่ายมุมสูงจากเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่สามารถลงไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ เนื่องจากสภาพถนนยังปกคลุมด้วยขี้เถ้าภูเขาไฟจำนวนมาก

ภาพที่สองเป็นภาพจากรายงานของสำนักข่าวสกายนิวส์ (Sky News) ของอังกฤษ เป็นภาพโดรนมุมสูงที่ถ่ายหลังเหตุภูเขาไฟระเบิดในเซนต์วินเซนต์ ประเทศเกาะที่อยู่กลางทะเลแคริบเบียนเมื่อเดือนเมษายน 2021 นอกจากนี้ในคลิปยูทูบขององค์การสหประชาชาติยังมีภาพมุมสูงที่ถ่ายจากพื้นที่เดียวกันอีกด้วย

ภาพที่สามเป็นภาพความเสียหายจากขี้เถ้าภูเขาไฟในวานูอาตู ภาพต้นฉบับเผยแพร่โดยผู้ใช้เฟสบุ๊ก Wilfred Woodrow เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2018 และเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าว Express ในอังกฤษ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.boomlive.in/world/tonga-tsunami-volcanic-eruption-guatemala-fake-news-fact-check-16450


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com