เบื้องหน้า-เบื้องหลัง “โพล” กระทรวงสาธารณสุข ประชาชน 90% เห็นด้วย ย้าย ผอ. รพ. จะนะ?
การสำรวจความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียโดยขาดบริบทและคำอธิบายเกี่ยวกับระเบียบวิธีการสำรวจ จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในอำเภอจะนะและสร้างความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่โฆษก สธ. เปิดเผยกับโคแฟคว่าจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีจำนวน “หลักร้อย” จากจำนวนประชากรทั้งหมดในอำเภอจะนะกว่า 1 แสนคน
สธ. มีคำสั่งลงวันที่ 25 ม.ค. 2566 ย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จากตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.จะนะ ไปเป็นผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้ นพ.สุภัทร รวมทั้งบุคลากรการแพทย์และชาวจะนะบางส่วนออกมาคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและเชื่อว่ามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพราะ นพ.สุภัทรมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลอยู่เสมอ และร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐ เช่น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่สุดท้าย สธ. ก็เดินหน้าตามคำสั่งโยกย้าย
วันที่ 14 มี.ค. หรือราว นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการโยกย้าย ผอ.รพ.จะนะ ในเพจเฟซบุ๊ก “โฆษกกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข” ระบุว่าประชาชน 90.7 % “เห็นด้วย ดีใจกับการเปลี่ยนแปลง” มีเพียง 2.1% อยากให้ นพ.สุภัทรอยู่ต่อ ขณะที่ 7.2% ไม่ทราบและไม่สนใจเรื่องการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ในโพสต์ดังกล่าว โฆษก สธ. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจเพียงสั้นๆ ว่า เป็นการสำรวจความเห็นประชาชนตามหลักวิชาการ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพโดยนักวิชาการอิสระในพื้นที่ระหว่างวันที่ 1-13 มีนาคม 2566 และสรุปว่าผลการสำรวจนี้ “เท่ากับว่าการตัดสินใจในการบริหารของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับพื้นที่นั้นถูกต้อง”
โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคตรวจสอบเมื่อ 16 มี.ค. พบว่า หลังจากโฆษก สธ. เผยแพร่ผลการสำรวจ ได้มีสื่อมวลชนกระแสหลัก ผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นำไปเผยแพร่ต่อ โดยเฉพาะเพจเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาล เช่น
- เพจเฟซบุ๊ก “Thailand Vision” โพสต์ว่า “ผลโพลชาวจะนะ หนุนหมอสุภัทรอยู่ต่อ 2.1% อีก 90.7% ดีใจ อยากให้ รพ.พัฒนา”
- เพจเฟซบุ๊ก “สถาบันทิศทางไทย” โพสต์ว่า “ชาวจะนะอยากให้หมอสุภัทรอยู่ต่อแค่ 2.1%
- เพจเฟซบุ๊ก “Sound of Thailand” โพสต์ว่า “ไม่อายหรือ ประชาชน 90% ไม่เอา”
- เพจเฟซบุ๊ก “Thailand Fact Today” ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่สนับสนุนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. โพสต์ว่า “ประชาชนกว่า 90% เห็นด้วย เปลี่ยน ผอ. รพ.จะนะ”
โพสต์เหล่านี้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ที่ตั้งคำถามต่อวิธีการสำรวจ และผู้ที่อ้างอิงผลการสำรวจเพื่อสนับสนุนคำสั่งโยกย้ายของ สธ. และโจมตี นพ.สุภัทร ขณะที่สื่อกระแสหลัก เช่น มติชน ผู้จัดการ และแนวหน้า พาดหัวข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ประชาชน 90% เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้อำนวยการ รพ.จะนะ ส่วนเนื้อข่าวเป็นการนำข้อความจาก สธ. มาเผยแพร่ต่อทั้งหมด โดยไม่มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจหรือให้บริบทของการสำรวจความเห็นที่ทำขึ้นหลังจากมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการย้าย นพ.สุภัทร
โคแฟคตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจความเห็นนี้ โดยสัมภาษณ์ นพ.รุ่งเรือง โฆษก สธ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.รุ่งเรืองเปิดเผยว่า กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจความเห็นมีจำนวน “หลักร้อยคน” จากประชากรในอำเภอจะนะทั้งหมด 108,245 คน
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า การสำรวจความเห็นประชาชนครั้งนี้ “ไม่ใช่การทำโพล” แต่เป็นการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนพื้นที่ละ 1-2 คน เพื่อสัมภาษณ์ความคิดเห็นเชิงลึก โดยตั้งคำถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของ รพ.จะนะหลังจากเปลี่ยนผู้อำนวยการจาก นพ.สุภัทรเป็น นพ.หมัด และอยากเห็น รพ.จะนะพัฒนาในด้านไหน
สำหรับผู้จัดทำการสำรวจและประมวลผลนั้น นพ.รุ่งเรืองระบุว่าเป็นนักวิจัยอิสระ ไม่ได้สังกัดสถาบันการศึกษาใดๆ แต่เป็นเครือข่ายของสำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรมสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง สธ. ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้เพื่อปกป้องนักวิจัย
นพ.รุ่งเรืองยอมรับว่าช่วงเวลาในการสำรวจ ซึ่งจัดทำขึ้นกว่า 1 เดือนหลังจากการโยกย้าย มีผลต่อความเห็นของประชาชน ซึ่งปัจจัยนี้ สธ. ไม่ได้ระบุไว้ในการเปิดเผยผลการสำรวจที่โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กเมื่อ 14 มี.ค.
“ต้องเรียนตามตรงว่าเราสำรวจหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ (การโยกย้าย นพ.สุภัทร) นานพอสมควร ซึ่งเรามีการลงไปพัฒนา มีการเปิดห้องผ่าตัด ออกหน่วยเชิงรุก จึงทำให้ผลออกมาอย่างนี้” นพ.รุ่งเรืองอธิบาย และให้ความเห็นว่า หากสำรวจความเห็นก่อนมีการโยกย้าย อัตราส่วนของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้อำนวยการรพ. จะนะ) อาจจะอยู่ที่ 50-50
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า สธ.พร้อมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนประชาชนที่ทำการสำรวจและวิธีการสำรวจความเห็น แต่จะต้องทำจดหมายขอข้อมูลไปที่สำนักงานปลัดฯ ซึ่งโคแฟคจะดำเนินการในขั้นต่อไป
ข้อสรุปโคแฟค: งดแชร์เพราะขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็น
สธ.จะยืนยันว่าการสำรวจครั้งนี้จะทำตามหลักวิชาการ แต่การนำผลการสำรวจมาเผยแพร่โดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับขนาดของกลุ่มตัวอย่าง การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ชุดคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึก และวิธีการประมวลผล ทำให้เกิดคำถามต่อความน่าเชื่อถือของการสำรวจ และเปิดช่องให้มีการนำผลการสำรวจนี้ไปบิดเบือนให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่ากว่า 90% ของชาวอำเภอจะนะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ รพ.จะนะ และมีประชาชนเพียง 2.1% ที่ต้องการให้ นพ.สุภัทรเป็นผู้อำนวยการต่อ
ข่าวเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นของ สธ. เป็นเนื้อหาประเภท misleading หรือข้อมูลที่โน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความขัดแย้ง โคแฟคแนะนำให้ผู้อ่านแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง ความเชื่อ และความคิดเห็นส่วนบุคคล ผู้ใช้โซเชียลมีเดียควรงดเผยแพร่ผลการสำรวจนี้ จนกว่า สธ. จะออกมาชี้แจงและเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนผู้ให้ความเห็น ชุดคำถามและวิธีการประมวลผล ขณะที่สื่อมวลชนควรนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นด้วยความระมัดระวังและให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และป้องกันไม่ให้มีการนำโพลหรือผลการสำรวจความคิดเห็นมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมหรือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เรื่องแนะนำ
- ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย”
- ปฏิบัติการปล่อยข่าวเท็จ-บิดเบือนเรื่องศาสนา จากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 ถึง เลือกตั้งทั่วไป 2566
- แกะรอยข่าว “ลูกชิ้นปลาเนื้อตัวเหี้ย” อีกหนึ่งบทเรียนของสื่อไทยและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย
- มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี ผลงานงานรัฐบาลไหน?