มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี ผลงานรัฐบาลไหน?

Top Fact Checks Political


ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือ “มอเตอร์เวย์” เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ฝ่ายการเมืองมักนำมากล่าวอ้างว่าเป็นหนึ่งใน “ผลงาน” ของฝ่ายตน โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โคแฟคตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวในเวทีปราศรัยใหญ่ที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อ 29 ม.ค. 2566 ว่ามอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า “เริ่มมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และอยู่ในโครงการ (เงินกู้) สามล้านล้าน ตอนสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รัฐบาลของเพื่อไทย” ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. นายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ออกมาวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงความล่าช้าในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และกล่าวว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์และได้เป็นรัฐบาล “จะเร่งรัดการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน”

การที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกมอเตอร์เวย์ขึ้นมาหาเสียง ทำให้ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เพจเฟซบุ๊ก “รู้ทันโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 34,000 คน โพสต์ข้อความว่า “มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช เป็นผลงานของรัฐบาลปัจจุบันทั้งหมด ตั้งแต่ตอกเสาตอม่อต้นแรกจนใกล้แล้วเสร็จ พรรคเพื่อไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” และสรุปว่ารัฐบาลของนายทักษิณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สายบางปะอิน-โคราช หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายอื่นๆ 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า หนึ่งในผลงานช่วง 8 ปีที่เขาเป็นนายกฯ คือ การสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้น 3 เส้นทาง คือ บางปะอิน-นครราชสีมา บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด สอดคล้องกับเพจเฟซบุ๊กพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แชร์อินโฟกราฟิกรวม “33 ผลงานภาคอีสาน” ของรัฐบาลประยุทธ์ หนึ่งในนั้นคือมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา

โคแฟคตรวจสอบ

โคแฟคสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น ราชกิจจานุเบกษา มติคณะรัฐมนตรีย้อนหลังในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมทางหลวง และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เป็นต้น พบว่าโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินลงทุนรวม 61,034 ล้านบาท ดำเนินงานมายาวนานกว่า 20 ปี และเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายชุด จากข้อมูลออนไลน์ที่โคแฟคสืบค้นเมื่อ 16 ก.พ. 2566 สรุปความเป็นมาของโครงการได้ดังนี้ 

มอเตอร์เวยสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6)

1. เป็น 1 ใน 13 โครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. เมื่อ 22 เม.ย. 2540 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
2. รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อ 23 พ.ย. 2549 ขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ โดยได้รับแต่งตั้งหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 
3. กรมทางหลวงดำเนินการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในปี 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ต่อด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
4. พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 26 เม.ย. 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
5. รัฐบาลยิ่งลักษณ์บรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนงานภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ “ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้สองล้านล้าน” แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 12 มี.ค. 2557 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงตกไป
6. ครม. รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีมติเมื่อ 14 ก.ค. 2558 อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้าง
7. อีไอเอฉบับปรับปรุงได้รับความเห็นชอบเมื่อ 21 ก.ย. 2559 สมัยรัฐบาลประยุทธ์
8. เปิดทดลองให้ประชาชนใช้ฟรีเฉพาะช่วง อ.ปากช่อง-อ.สีคิ้ว เป็นครั้งแรกช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 และช่วงวันหยุดยาว/เทศกาลปี 2565 สมัยรัฐบาลประยุทธ์
9. ครม. ประยุทธ์อนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม 4,970 ล้านบาท ขณะที่รองโฆษกรัฐบาลแถลงเมื่อ 25 ม.ค. 2566 ว่าการก่อสร้างคืบหน้าร้อยละ 98 คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568

มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)

1. เป็นโครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อนุมัติเมื่อปี 2540 เช่นเดียวกับสายบางปะอิน-นครราชสีมา 
2. รายงานอีไอไอของโครงการช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง ได้รับความเห็นชอบ 29 ก.ค. 2541 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และอีไอเอของช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี ได้รับความเห็นชอบ 25 ส.ค. 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
3. กรมทางหลวงสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
4. พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งบรรจุโครงการนี้ในแผนงานภายใต้ ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้สองล้านล้านบาท ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ
5. ครม. ประยุทธ์มีมติเมื่อ 14 ก.ค. 2558 อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้าง
6. อีไอเอฉบับปรับปรุงได้รับความเห็นชอบเมื่อ 21 ก.ย. 2559 สมัยรัฐบาลประยุทธ์
7.รองโฆษกรัฐบาลแถลงเมื่อ 25 ม.ค. 2566 ว่าการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 85 คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2568

ข้อสรุปโคแฟค

หากนับมติ ครม. ปี 2540 ที่เห็นชอบแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นจุดเริ่มต้น โครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายนี้เกิดขึ้นมากว่า 20 ปีแล้ว โดยรัฐบาลชุดต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้องและบทบาทมากน้อยต่างกันไป คำกล่าวอ้างว่าโครงการเหล่านี้เป็นผลงานของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจึงไม่ถูกต้อง และเป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่หากกล่าวเฉพาะการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายเริ่มก่อสร้างในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังจาก ครม. อนุมัติการก่อสร้างเมื่อ 14 ก.ค. 2558

ควรบันทึกด้วยว่าตลอดระยะการดำเนินโครงการ มีเสียงร้องเรียนถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องถูกเวนคืนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และมีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ทั้งการอนุมัติอีไอเอ การประมูลงานและบริหารสัญญากับเอกชน 

เรื่องแนะนำ