กกต. ให้ผู้สมัคร ส.ส. ส่งประวัติเป็น “ซีดีรอม” ?

Top Fact Checks Political

โคแฟคตรวจสอบกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งคำถามต่อการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ผู้สมัครส่งบันทึกประวัติย่อในรูปแบบของ “ซีดีรอม” ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง เนื่องจากการบันทึกข้อมูลในแผ่นซีดีเป็นเทคโนโลยีเริ่มล้าสมัย และมีวิธีการส่งข้อมูลในรูปแบบอื่นที่ง่ายและคล่องตัวกว่า

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @taopiphop เมื่อ 29 มี.ค. 2566 ว่า “เพิ่งรู้ว่านอกจากเอกสารที่เป็นกระดาษเเล้ว กกต. ยังให้ทำประวัติย่อเป็น (ไฟล์) word ไรท์ลง CD อีก…งานนี้หินสุดละครับ หาที่ไรท์ที่ไหน ปล. เผื่อเด็กๆ ไม่รู้ CD คือ Compact Disc แผ่นกลมๆ ไว้เก็บข้อมูล”

ข้อความดังกล่าวถูกรีทวีตมากกว่า 3,000 ครั้ง และมีคนแสดงความเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่วิจารณ์ กกต. ว่าไม่ปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี ไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง เนื่องจากปัจจุบันคอมแพ็กดิสก์หรือซีดีรอมไม่เป็นที่นิยมใช้แล้ว และคอมพิวเตอร์รุ่นปัจจุบันก็มักจะไม่มีอุปกรณ์บันทึกหรือที่เรียกว่า “ไรต์แผ่นซีดี”

“กกต. ไม่รู้จักแฟลชไดรฟ์เหรอคะ นี่เรายังไม่พูดถึงคลาวด์เลยนะ” ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งตั้งคำถาม อีกคนหนึ่งวิจารณ์ว่าข้อกำหนดนี้ “สะท้อนว่า กกต. ยังติดอยู่ในยุค Microsoft ไม่รู้จัก big data, blockchain เทคโนโลยี 4.0 ใดๆ ที่ราชการชอบอ้าง ไม่รู้วิธีรวบรวมข้อมูลมหาศาลที่ปลอดภัยและรวดเร็ว นึกออกแค่ต้องไรต์ใส่ CD”

โคแฟคตรวจสอบ

นายเท่าพิภพให้ข้อมูลกับโคแฟคเมื่อ 31 มี.ค. ว่า ข้อกำหนดดังกล่าว ปรากฏอยู่ในใบสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” (แบบ ส.ส. 4/6) ซึ่งโคแฟคได้ตรวจสอบแบบฟอร์มดังกล่าวจากเว็บไซต์ของ กกต. พบว่า ในหน้าที่ให้ผู้สมัครกรอกประวัติย่อ มีหมายเหตุกำกับด้านล่างว่า “กรุณาบันทึกข้อมูลแบบสรุปย่อประวัติฯ นี้ ลงในแผ่น CD จำนวน 1 แผ่น และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ที่รับสมัครเพื่อนำไปใช้ในการจัดพิมพ์เอกสารส่งให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อไป”

โคแฟคสอบถามไปที่สายด่วน กกต. 1444 ที่เปิดให้ถามข้อมูลหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ผู้สมัครสามารถส่งประวัติย่อโดยบันทึกลงในซีดีรอมหรือ USB flash drive ก็ได้ แต่เหตุที่ใบสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ระบุว่าให้บันทึกข้อมูลในแผ่นซีดีรอม เพราะเป็นแบบฟอร์มที่ กกต. ใช้มาตั้งแต่การเลือกตั้งในอดีต และยังไม่ได้แก้ไขถ้อยคำ

เจ้าหน้าที่อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับประวัติย่อของผู้สมัครที่บันทึกมาในแผ่นซีดีหรือแฟลชไดรฟ์แล้ว กกต. จะนำไปพิมพ์เพื่อส่งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจะต้องยื่นใบสมัครหรือแบบ ส.ส. 4/6 ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาการรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ กกต. กำหนดให้วันที่ 3-7 เม.ย. เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ 4-6 เม.ย. สำหรับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

โคแฟคสำรวจข้อกำหนดในการนำส่งข้อมูลในระเบียบอื่นๆ ของ กกต. เช่น ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าให้พรรคการเมืองบันทึกเอกสารและหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองลงในซีดีรอม (CD-ROM) หรือยูเอสบี แฟลชไดรฟ์ (USB flash drive) และนำมายื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง นอกจากนี้ “คู่มือการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้สมัครและพรรคการเมือง” ที่จัดทำโดย กกต. ก็กำหนดให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อโดย “จัดทำเป็นไฟล์ PDF บันทึกลงในแผ่น CD หรือ flash drive” ส่งให้เจ้าหน้าที่ในวันรับสมัครรับเลือกตั้ง

ข้อสรุปโคแฟค: มีเนื้อหาที่เป็นจริงบางส่วน

ผู้สมัคร ส.ส. สามารถส่งประวัติย่อได้ทั้งในรูปแบบซีดีรอมและแฟลชไดรฟ์ แต่ข้อความที่ปรากฏในใบสมัคร (แบบ ส.ส. 4/6) ระบุว่าให้บันทึกลงในซีดีรอม ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. เข้าใจว่าต้องใช้ซีดีรอมเท่านั้น เมื่อนำข้อมูลนี้ไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียจึงทำให้ กกต. ถูกวิจารณ์ว่าปรับตัวช้าด้านเทคโนโลยีและไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง

ข้อความที่ผู้สมัคร ส.ส. โพสต์ว่า กกต. ให้ส่งข้อมูลในรูปแบบของซีดีรอมจึงมีเนื้อหาที่ถูกต้องเพียงบางส่วน เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในเอกสารของ กกต. ซึ่งหากได้ตรวจสอบกับ กกต. ก่อนโพสต์ก็จะไม่นำไปสู่การวิจารณ์บนฐานของข้อมูลที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามการวิจารณ์ระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ของ กกต. ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ทำได้และ กกต. พึงรับฟังและนำไปพิจารณาปรับปรุง

เรื่องแนะนำ