5 ประเด็นข่าวลวงการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566

สร้างความเกลียดกลัวอิสลาม, อ้างผลงาน, โยนความผิดให้รัฐบาลในอดีต, ใช้ทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยงแบบผิดๆ และให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนนโยบายของคู่แข่ง เป็นเนื้อหาของข่าวลวงทางการเมืองที่โคแฟคพบว่ามีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566

ข่าวลวงทางการเมือง (political disinformation) หมายถึง ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนที่สร้างขึ้นโดยเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ประสบการณ์จากการเลือกตั้งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์พบว่า ข่าวลวงทางการเมืองถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะคู่แข่งในการเลือกตั้ง หรือเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเป็นการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตย เนื่องจากการตัดสินใจของประชาชนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผิด บิดเบือนและไม่เป็นความจริง

จากการติดตาม เฝ้าระวังและตรวจสอบข่าวลวงการเมืองนับตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป โคแฟคพบว่าเนื้อหาของข่าวลวงและข้อมูลที่บิดเบือนที่พบบ่อยมีอย่างน้อย 5 รูปแบบ ดังนี้

1. ปลุกกระแส “เกลียดกลัวอิสลาม”  

ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนที่ยุยงให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ถูกนำมาใช้โจมตีทางการเมืองเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาพุทธ รวมทั้งกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวนการกลืนชาติ” ที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเพื่อให้ไทยกลายเป็น “รัฐอิสลาม”

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเท็จที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภรรยา นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จที่ไหลเวียนอยู่ในโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันสนทนามาไม่ต่ำกว่า 7 ปี แต่ถูกนำกลับมาเผยแพร่ซ้ำในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเลือกตั้ง

โคแฟคตรวจสอบพบว่าข้อมูลเท็จนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลามที่มักเผยแพร่โดยบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กและยูทูปที่มีความเชื่อมโยงกับองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส.) และสมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (สปพ.) ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายและกฎหมายที่พวกเขามองว่าเอื้อประโยชน์และขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม เช่น พ.ร.บ. การบริหารองค์กรอิสลาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์ การสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 มีการส่งต่อคลิปวิดีโองานครบรอบ 76 ปี การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อ 6 เม.ย. 2565 พร้อมให้ข้อมูลเท็จว่า ปชป. จัดพิธีทางศาสนาอิสลามโดยไม่มีพิธีทางศาสนาพุทธ และตั้งคำถามว่า “การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นเครื่องชี้วัดว่า ชาวพุทธยังจะเอาพรรคนี้อีกหรือไม่” ส่งผลให้โฆษก ปชป. ออกมาชี้แจงว่าเนื้อหานี้เป็นเท็จและงานดังกล่าวมีการจัดพิธีทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม

อ่านเพิ่มเติม: ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย”

2. อ้างผลงาน

การให้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนเกี่ยวกับโครงการหรือนโยบายของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นผลงานความสำเร็จของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง เป็นข้อมูลบิดเบือนที่นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกขั้วการเมืองนิยมนำมาใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

การกล่าวอ้างผลงานในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่โคแฟคนำมาตรวจสอบ ได้แก่ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และการก่อสร้างสวนสาธารณะเบญจกิติ

ทั้งพรรคเพื่อไทยและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างอ้างว่าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาเป็นผลงานของตน ซึ่งจากการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ของหน่วยงานรรัฐที่เกี่ยวข้อง โคแฟคพบว่าทั้งสองโครงการอยู่ในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อนุมัติเมื่อปี 2540 จากนั้นรัฐบาลอีกหลายชุดได้ดำเนินงานต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี คำกล่าวอ้างว่าโครงการเหล่านี้เป็นผลงานของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจึงไม่ถูกต้อง และเป็นการให้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายภาพที่สวนเบญจกิติในวันที่เขาร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการส่งมอบและรับมอบสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 บางส่วนให้กรุงเทพมหานครดูแลเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564

เช่นเดียวกับการกล่าวอ้างของ พล.อ.ประยุทธ์ บนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่สวนเบญจกิติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่อ้างว่าเขาเป็นคนผลักดันโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะเบญจกิติมาตั้งแต่ต้นจนก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งโคแฟคตรวจสอบพบว่าโครงการสวนสาธารณะเบญจกิติได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ และมีการพัฒนาต่อเนื่อง รัฐบาลแต่ละชุดจึงมีส่วนร่วมในระดับที่แตกต่างกันไป สำหรับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างส่วน “สวนป่า” ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะ ดำเนินการระหว่างปี 2559-2564 

อ่านเพิ่มเติม:

3. โยนความผิด

กรณีที่ชัดเจนที่สุดของการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อกล่าวหาพรรคการเมืองคู่แข่งว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาบางอย่าง คือ การเผยแพร่ข้อมูลโดยแกนนำ รทสช. ที่ระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง เนื่องจากเร่งอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์จากบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เมื่อปี 2555

โคแฟคตรวจสอบพบว่า การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์กับบริษัทกัลฟ์ฯ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จริง แต่การสรุปว่าการเซ็นสัญญานี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงในปัจจุบันอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า เช่น ราคาเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างของการที่พรรคการเมืองนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงเพียงบางส่วนเพื่อโจมตีคู่แข่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แทนที่จะมุ่งเน้นที่การนำเสนอนโยบายของพรรคตน

อ่านเพิ่มเติม: ค่าไฟแพงเพราะอะไร คำตอบไหนเชื่อถือได้?

4. ใช้ทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยงแบบผิดๆ  

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยโดยใช้องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ ซึ่งความเชื่อนี้ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งอย่างเป็นระบบโดยเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 

โคแฟคตรวจสอบพบว่า ข้อกล่าวหานี้มีต้นตอมาจากบทวิเคราะห์ของนายไบรอัน เบอร์เลติก (Brian Berletic) ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นนักวิเคราะห์อิสระด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในไทย โดยเขาระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเพื่อกำจัดรัฐบาลที่ขัดขวางผลประโยชน์และแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ “พร้อมรับใช้” อเมริกา การแทรกแซงนี้กระทำผ่านการให้เงินสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งนายไบรอันเปรียบว่าเป็น “ซีไอเอภาคพลเรือน” ที่ใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาบังหน้าปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ

นายไบรอันยังได้อ้างถึงความร่วมมือระหว่าง กกต. และไอลอว์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า เท่ากับ กกต. “เปิดช่อง” ให้องค์กรที่สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของไทย

บทวิเคราะห์ของนายไบรอันถูกนำมาเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียโดยสื่อมวลชนและองค์กรแสดงตัวชัดว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เช่น Top News และสถาบันทิศทางไทย รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาอย่างนายสมชาย แสวงการ

โคแฟคเห็นว่าการวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่บุคคลจะกระทำได้ แต่ข้อกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงการเลือกตั้งของไทยผ่านเอ็นจีโออย่างไอลอว์ ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือรองรับ และเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลตามแนวทางทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ประชาชนจึงต้องแยกแยะระหว่างความคิดเห็นกับข้อเท็จจริงก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์

อ่านเพิ่มเติม: กกต.-ไอลอว์ ร่วมจับตาเลือกตั้ง 2566 กับการกลับมาของข้อกล่าวหา “อเมริกาแทรกแซงการเมืองไทย”

5. สร้างข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน

ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนเป็นเนื้อหาข่าวลวงทางการเมืองที่พบได้บ่อย ทั้งข้อมูลเท็จที่สร้างขึ้นเพื่อทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง และการบิดเบือนนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อทำลายความนิยม อย่างเช่นกรณีข่าวลวงเรื่องพรรคก้าวไกลมีนโยบายตัดบำนาญข้าราชการ และการบิดเบือนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกลจะทำให้ประเทศไทยไม่มีกองทัพปกป้องประเทศ เป็นต้น 

กลางเดือนเมษายน 2566 มีการเผยแพร่ข่าวเท็จเรื่องกัมพูชาซ้อมรบใกล้ชายแดนไทยและคลิปคำพูดของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เตือนว่าจะเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหากเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งโคแฟคตรวจสอบพบว่า คลิปการซ้อมรบและคำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นคลิปเก่าที่ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ยืนยันว่าไม่มีการซ้อมรบตามแนวชายแดนในช่วงเวลาดังกล่าว เนื้อหาที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียว่ามีการซ้อมรบประชิดชายแดนไทยในขณะนี้จึงไม่เป็นความจริง

คลิปวิดีโอซ้อมรบที่บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก @military4karmy โพสต์คลิปความยาวเกือบ 5 นาทีเมื่อ 11 เม.ย. 2566 พร้อมคำบรรยายว่า “กองทัพกัมพูชาระดมพลซ้อมรบครั้งใหญ่ที่ จ.พระตะบอง ห่างจากชายแดนเพียง 20 กว่ากิโล” ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ตรวจสอบแล้วพบว่า เนื้อหาที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการซ้อมรบนั้นไม่เป็นความจริง

มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่สร้างและเผยแพร่ข่าวเท็จเรื่องกัมพูชาซ้อมรบและการนำคำพูดของนายกฯ กัมพูชามาตัดต่อให้เกิดความเข้าใจผิด อาจมีเจตนาเพื่อโจมตีนโยบายปฏิรูปกองทัพและข้อเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล และเป็นการตอบโต้คำพูดของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ตั้งคำถามบนเวทีปราศรัยว่า “ทหารมีไว้ทำไม”

ข่าวเท็จเรื่องกัมพูชาซ้อมรับใกล้ชายแดนไทย เป็นการนำประเด็นด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความละเอียดอ่อน มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ใหญ่เกินกว่าผลแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง

อ่านเพิ่มเติม: คลิป “กัมพูชาซ้อมรบ” และ “ฮุน เซนขู่สงครามปะทุ” มาจากไหน เกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยอย่างไร

โคแฟคคาดว่า หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 การใช้ข้อมูลบิดเบือนและการปล่อยข่าวลวงทางการเมืองจะยังดำเนินต่อไป มีเนื้อหาที่หลากหลายและเผยแพร่อย่างเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่การรับมือกับข่าวลวงด้วยการสกัดกั้นที่ต้นทางการเผยแพร่เป็นเรื่องยาก สิ่งที่ประชาชนทำได้ก็คือการรู้เท่าทันปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทั้งของภาครัฐและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ แยกแยะระหว่างเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็นกับข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์