ค่าไฟแพงเพราะอะไร คำตอบไหนเชื่อถือได้?

Top Fact Checks Political

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ค่าไฟแพง” กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงรอบนี้ได้จุดประเด็นการถกเถียงที่ดุเดือดและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566

หลายฝ่ายพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง ซึ่งมีทั้งเหตุที่เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง โครงสร้างพลังงาน และเรื่องทางเทคนิด โคแฟคหยิบ 2 คำอธิบายที่มีการพูดถึงกันมากมาตรวจสอบ

1. ค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์

วันที่ 19 เม.ย. 2566 เฟซบุ๊ก “ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ” แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ “ประชาชนรับกรรม ผลพวงนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อนุมัติซื้อไฟ 5 พันเมกะวัตต์ ต้นเหตุค่าไฟแพง เพราะสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น”

นายหิมาลัยอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวชี้แจงประเด็นค่าไฟฟ้าแพงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ 18 ก.พ. 2564 ว่า ปัญหาเรื่องปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองมีมากเกินนั้นเกิดจากการที่รัฐบาลชุดก่อน ซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เร่งอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 5,000 เมกะวัตต์ 

การอภิปรายในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า “รู้มั้ยครับ ก่อนผมจะเข้ามาเนี่ย มีการอนุมัติในเรื่องของด้านพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์ โดยใครรู้มั้ยครับ? ท่านรู้มั้ย? ก่อนที่จะไม่มีอำนาจเนี่ย เร่งอนุมัติให้ 5,000 เมกะวัตต์ ผมเข้ามา ผมก็หนักใจว่าจะทำยังไงไอ้ 5,000 เมกะวัตต์เนี่ย ก็ได้หาวิธีการเจรจา ทำยังไงมันจะไม่เกิดปัญหา มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เค้าก็บอก มันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันเป็นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำไว้…ผมยกเลิกไม่ได้”

นายหิมาลัย ผิวพรรณ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ภาพนี้ในเฟซบุ๊กเมื่อ 19 เม.ย. 2566

นายหิมาลัยเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยออกมาชี้แจงว่า ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงอนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนถึง 5,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลาถึง 10 ปี ส่งผลทำให้การสำรองไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็นและ “ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหด”

โคแฟคตรวจสอบ

จากการสืบค้นฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ กฟผ. สรุปที่มาของการ “เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์” ในสมัยรัฐบายยิ่งลักษณ์ได้ดังนี้

  • 8 มิ.ย. 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) รอบใหม่ โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ คัดเลือกและเจรจาเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก แล้วเสนอผลการเจรจาและผลการคัดเลือกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  • 19 มิ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์มีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติ กพช. 8 มิ.ย. 2555
  • 22 พ.ย. 2555 นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกำกับกิจการพลังงาน ลงนามในระเบียบคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ พ.ศ. 2555 ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 7 ม.ค. 2556
  • 20 มิ.ย. 2556 กกพ. มีมติเลือกโรงไฟฟ้า 2 โครงการของบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนิ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และรายงานผลการคัดเลือกให้ที่ประชุม กพช. รับทราบ เมื่อ 16 ก.ค. 2556  
ที่มา: มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 2/2556 (ครั้งที่ 145) 16 ก.ค. 2556  
  • 21 พ.ย. 2556 ที่ประชุม กกพ. มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บ. กัลฟ์ฯ
  • ปลายปี 2556 บ.กัลฟ์ฯ ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จากโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ระยะเวลาสัญญา 25 ปี
  • 31 มี.ค. 2566 บ.กัลฟ์ฯ รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้า 2 แห่งภายใต้โครงการ IPP ซึ่งมีกำลังการผลิตโรงละ 2,650 เมกะวัตต์ รวม 5,300 เมกะวัตต์ ดังนี้ 1) โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์เอสอาร์ซี อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 4 หน่วยผลิตแล้วระหว่างปี 2564 -2565 และ 2) โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์พีดี อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 จากทั้งหมด 4 หน่วย 

ข้อสรุปโคแฟค

น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 5 ส.ค. 2554-7 พ.ค. 2557 จึงสรุปได้ว่าโครงการ IPP และการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์กับบริษัทกัลฟ์ฯ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จริง แต่ไม่ควรด่วนสรุปว่าการเซ็นสัญญาที่เกิดขึ้นนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงในปัจจุบัน เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า เช่น ราคาเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการที่พรรคการเมืองนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงเพียงบางส่วนเพื่อโจมตีคู่แข่งทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แทนที่จะมุ่งเน้นที่การนำเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาค่าไฟแพงของพรรคตน 

2. ค่าไฟแพงเพราะอากาศร้อนขึ้น-ใช้ไฟมากขึ้น

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งบอกว่า การที่ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้นมาจากเหตุผลง่าย ๆ คือ เราใช้ไฟเยอะขึ้นเพราะอากาศร้อนขึ้น

โคแฟคตรวจสอบ

คำอธิบายนี้สอดคล้องกับคำอธิบายของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งกล่าวในการแถลงข่าวชี้แจงประเด็น “ค่าไฟแพง” เมื่อ 24 เม.ย. 2566 ว่า ในช่วงเดือนระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ค่าไฟไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคืออยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือค่า Ft สำหรับที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 93.43 สตางค์มาตลอด 4 เดือน เหตุที่ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้นก็เพราะใช้ไฟมากขึ้นนั่นเอง 

“ใครที่รู้สึกว่าค่าไฟแพงขึ้น ขอให้กลับไปดูจำนวนหน่วย (ไฟฟ้า) ที่ใช้ เพราะไฟที่ใช้ในบ้านจะเกี่ยวกับเรื่องการทำความเย็นเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าจะกินไฟเยอะ ถ้าหน่วยเพิ่มขึ้น ก็ต้องจ่ายมากขึ้นอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า คือยิ่งใช้มาก ยิ่งจ่ายมาก” นายคมกริชกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์พลังงานที่สูงขึ้น จะครอบคลุมเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ออกมายืนยันอีกเสียงว่ายิ่งอากาศร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้ายิ่งกินไฟมากขึ้น

20 เม.ย. 2566 เฟซบุ๊ก กฟน. เผยแพร่ “ผลการทดสอบแอร์” ด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หากอากาศภายนอกอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟ 0.69 หน่วย หากอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้นเป็น 41 องศาเซลเซียส จะกินไฟเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 หน่วย คำนวณได้ว่าหากอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น 6 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้น 14%

ผลการทดสอบนี้ได้มาจาก “โครงการวิจัยผลกระทบของอุณหภูมิแวดล้อมกับการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ” ที่ กฟน. ทำร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร. ประกอบ สุรวัฒนาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปรับอากาศและทำความเย็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย ว่า หากอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น แอร์ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงและเป็นหลักวิชาการที่ยอมรับกันทั่วโลก เพราะถ้าอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้น คอมเพรสเซอร์ของแอร์ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเพื่ออัดความดันให้สูงขึ้นเพื่อถ่ายเทความร้อนออกไป การทดสอบพบว่าเมื่ออุณหภูมิภายนอกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส แอร์จะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3%

ข้อสรุปโคแฟค

สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้านครหลวงเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง คำอธิบายเรื่องการค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นจากการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อนจึงมีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ว่าค่าไฟที่แพงขึ้นเป็นเพราะหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าไฟที่แพงขึ้นจะมาจากการใช้ไฟเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อนจริง แต่ปัญหาโครงสร้างพลังงานที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข

สภาองค์กรของผู้บริโภค วิเคราะห์ปัญหา 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ดังนี้

1. ค่าไฟแพง เพราะค่า Ft ขยับสูงขึ้นจาก 1.39 สตางค์ต่อหน่วยช่วงต้นปี 2565 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วยในขณะนี้ (เม.ย. 2566) ซึ่งเป็นอัตราค่า Ft ที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

2. ค่าไฟแพง เพราะการใช้เครื่องไฟฟ้าในหน้าร้อนจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากขึ้น

3. ค่าไฟแพงเพราะการวางแผนกผลิตพลังงานไฟฟ้าที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น

4. ค่าไฟแพงเพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ ขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีเงื่อนไขว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) คือแม้จะไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้า ที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า”  

5. ค่าไฟแพง เพราะเมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จึงไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ และถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) ผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งค่าไฟฟ้าของโรงฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4 บาทต่อหน่วย

6. ค่าไฟแพง เพราะประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา Pool ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่งและ LNG ที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน มีเพียงกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติและกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตามราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ

7. ค่าไฟแพง เพราะรัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง และยังเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาวอีก 2 โรง คือ เขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบางและเขื่อนปากแบง ซึ่งค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของ กฟผ.

ทางด้านนายคมกฤช เลขาธิการ กกพ. ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 19 เม.ย. 2566 ถึงสาเหตุที่ค่าไฟแพงว่าเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% อีกทั้งต้องซื้อก๊าซ LNG ในราคาแพง ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่ยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาว ความต้องการก๊าซ LNG จึงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาแพง เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป

เรื่องแนะนำ