เมื่อ ‘ทุนสีเทา’ ไม่ได้แค่หลอกลวงคนไทย แต่กลายเป็น ‘ข่าวลือ’ ทำชาวจีนไม่กล้ามาเที่ยวไทย : COFACT Special Report 23/66

Top Fact Checks Political

By : Zhang Taehun

ในเมื่อโลกออนไลน์ของจีนมีข่าวลบเกี่ยวกับประเทศไทยมาก และเราไม่สามารถไปลบออกได้ นอกเสียจากคนลงคลิปเป็นคนลบออกเอง ททท.จึงต้องเติมเรื่องราวดีๆของประเทศไทย เสมือนเติมน้ำดี น้ำสะอาดลงไป ข่าวลบของประเทศไทยจะได้หมดไปจากโลกออนไลน์ของจีน

รายงานข่าวของ นสพ.ไทยรัฐ อ้างอิงคำกล่าวของ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวันที่ 19 ต.ค. 2566 ซึ่งวันดังกล่าว ททท. ร่วมกับ 8 พันธมิตรบริษัทชั้นนำของจีน จัดพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ณ โรงแรม Kerry กรุงปักกิ่ง โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ที่มาที่ไปของความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตรของจีนกับ ททท. ส่วนหนึ่งมาจาก ข่าวลวง  ที่ถูกแชร์กันอย่างล้นหลามในสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ทำนองว่า หากมาประเทศไทยจะถูกลักพาตัว ถูกหลอกลวงมากมาย ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรุนแรงถึงขนาดถูกจับตัวไปขายอวัยวะ ขายไต ฯลฯ

เมื่อประกอบกับการที่คนจีนจำนวนมากไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นเวลานานจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงกลายเป็นความเชื่อฝังใจว่าเป็นเรื่องจริงและเปลี่ยนจุดหมายเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นแทน

“39.9 ล้านคน เป็นจำนวนของ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ณ ปี 2562(สถิติโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) และเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 อยู่ที่ 32.5 ล้านคน ปี 2560 อยู่ที่ 35.5 ล้านคน และปี 2561 อยู่ที่ 38.1 ล้านคน ขณะที่ “10.9 ล้านคน” เป็นจำนวนของ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ณ ปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย 10.5 ล้านคน และปี 2560 มีนักท่องเที่ยวจีน 9.8 ล้านคน และปี 2559 มีจำนวน 8.7 ล้านคน

Research Cafe เว็บไซต์รวมบทความวิชาการหลากหลายสาขา ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยแพร่บทความ จีนมาเที่ยวไทยทำไมเที่ยวอย่างไร?” เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 เผยปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย 1.ทะเลน่าเที่ยว หากเทียบกับประเทศจีนซึ่งทะเลไม่ค่อยมีทิวทัศน์สวยงาม สภาพอากาศผันผวน และครึ่งหนึ่งของชายฝั่งอยู่ในเขตหนาว บวกกับจีนมีประชากรมาก พื้นที่ใดที่พอจะลงเล่นน้ำได้คนก็หนาแน่น ทะเลไทยจึงกลายเป็นทางเลือกของชาวจีน โดยจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันออก มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนทั้งหมดร้อยละ 29.79 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด และมากกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เสียอีก

2.เที่ยวได้แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ในตอนกลางวัน นักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการในยามค่ำคืน จึงเป็นที่นิยมของวัยรุ่นแดนมังกรที่ท่องเที่ยวกันเป็นหมู่คณะกับกลุ่มเพื่อน 3.วัฒนธรรมการกิน หรือก็คือ วัฒนธรรมอาหาร ซึ่งชาวจีนมาสำรวจและตามรอยเมนูเด็ดในเมืองไทยที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ต้มยำกุ้ง หอยทอด ไปจนผลไม้ที่หลากหลาย ทั้งทุเรียน มะพร้าว มะม่วง ทั้งนี้ ระยะหลังๆ ชาวจีนนิยมท่องเที่ยวด้วยตนเองมากกว่าเดินทางกับทัวร์โดยค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่นิยมในจีน

FIT นั้นย่อมาจาก Free Independent Travelers หมายถึง นักท่องเที่ยวที่วางแผนการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ตรงข้ามกับการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันคนจีนเริ่มนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเองมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวแบบ FIT มากขึ้น เนื่องมาจากการที่คนจีนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โดยประชากรจีน 1,400 ล้านคน มี 731 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่ม FIT จะค้นหาข้อมูล ติดต่อจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพักผ่านระบบออนไลน์ 

โดยเฉพาะช่องทาง Social Media ของจีน ไม่ว่าจะเป็น “Youku” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ YouTube / “RenRen” ที่มีลักษณะคล้ายกับ Facebook  / “Weibo” ที่คล้ายกับ Twitter และ “WeChat” ที่คล้ายกับ LINE ขณะที่ Search Engine ที่คนจีนนิยมใช้ค้นหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการท่องเที่ยว คือ “Baidu” แตกต่างจากในไทย ที่นิยมใช้ Google และถ้าเป็นเว็บไซต์สำหรับท่องเที่ยวโดยเฉพาะ คนจีนจะนิยมเข้า “Mafengwo Qyer” (หม่า-เฟิง-โว๋-ฉง-โหย๋ว-หว๋าง) ขณะที่คนไทยจะเข้า TripAdvisor” บทความของ Research Cafe ระบุ

วิกฤติความเชื่อมั่นต่อเมืองไทย

แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมีด้านมืดคือการเป็นแหล่งรวมของข่าวลือ (Rumor) ข่าวลวง (Fake News) ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation) ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) จากการเกิดและไหลของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและกระจายอย่างกว้างขวางได้ง่าย ซึ่งในจีนก็เช่นกัน โดยหากย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2566 เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศ รัฐบาลแดนมังกรยกเลิกมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ที่ใช้อย่างเข้มงวดมาถึง 3 ปีเต็ม อนุญาตให้ประชาชนออกไปท่องเที่ยวในต่างแดนได้ ก็เกิดข่าวลือหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย

วันที่ 23 มี.ค. 2566 Global Times นสพ.ในเครือของ People’s Daily ซึ่งเป็น นสพ. ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่บทบรรณาธิการ “Noreason for Thailand not to take good care of Chinese tourists ตอนหนึ่งอ้างถึงข่าวลือเกี่ยวกับ การค้าผู้หญิง (Trafficking of Women) และ การขโมยไต (Removing of Kidney)” ที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยหากจะเดินทางไปท่องเที่ยว แต่บทความของ Global Times ก็ได้ย้ำว่า เนื้อหาข่าวเชิงลบเกี่ยวกับไทยที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ก็ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากชาวจีนด้วยกันเอง โดยมองว่าคนที่เขียนเรื่องราวเช่นนั้นสร้างเรื่องราวข่าวลวงขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ

วันที่ 24 มี.ค. 2566 The China Project สำนักข่าวออนไลน์ที่มีสำนักงานในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นเผยแพร่เนื้อหาเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศจีนโดยเฉพาะสำหรับชาวตะวันตก เผยแพร่บทความ Chinese conspiracy theory about Thai human trafficking fuels tourism concern” ระบุว่า ในวันที่ 9 มี.ค. 2566 มีคลิปวีดีโอหนึ่งถูกโพสต์บนแพลตฟอร์มแชร์คลิปวีดีโอของจีนอย่าง Bilibili (เหมือนกับ Youtube ที่คนทั่วโลกใช้) ในคลิประบุว่า ที่ประเทศไทย มีการเปิดสถานบันเทิงบังหน้า ใช้ชายหนุ่มหน้าตาดีล่อลวงหญิงชาวจีนให้เข้าไปเที่ยว ก่อนที่หญิงชาวจีนจะตกเป็นเหยื่อถูกมอมยาเพื่อลักพาตัวไปทำงานฉ้อโกงทางโทรคมนาคม (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เหยื่ออาจถูกฆ่าเพื่อขโมยไตออกจากร่างกาย

ผู้เผยแพร่คลิปวีดีโออ้างว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่พบวิธีใหม่ๆ ในการขยายเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาธุรกิจผิดกฎหมายที่ดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่สีเทา ทำไมบางคนถึงขอมให้ชายหนุ่มแต่งตัวแบบข้ามเพศ หากพวกเขาสามารถสร้างรายได้ด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ ในหลายช่วงของคลิปวีดีโอ ยังมีการอ้างด้วยว่า มีกองกำลังตะวันตกที่ต่อต้านประเทศจีน (Anti-China Western Force) ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย รวมถึงให้คำปรึกษาทางเทคนิคเพื่อทำร้ายชาวจีนเพื่อแบ่งผลกำไร บทความจาก The China Project ระบุ

ที่ดูจะเป็น ตลกร้าย เพราะบทความของ The China Project กล่าวว่า ทั้งที่ผู้โพสต์คลิปวีดีโอไม่ได้ให้หลักฐานใดๆ เลยที่น่าเชื่อถือ แต่มันกลับมีคนเข้ามาดูและแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง โดยก่อนที่คลิปจะถูกลบออกจากระบบของ Bilibili มียอดการดูสูงถึง 6.8 แสนครั้ง และคลิปเดียวกันที่โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม Douyin (TikTok เวอร์ชั่นที่ใช้กันในจีน) มีจำนวนการกดถูกใจถึง 2 ล้าน ก่อนที่บัญชีผู้โพสต์คลิปจะถูกระงับการเข้าถึง

เมื่อไปดูความคิดเห็นของผู้ที่ชมคลิปดังกล่าว เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า เธอเกือบจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับคนขับแท็กซี่และพนักงานโรงแรมเมื่อเธอมาเยือนประเทศไทยในปี 2561 และยังกล่าวด้วยว่า เธอเคยได้ยินเรื่องตลาดมืดค้าอวัยวะมนุษย์ในประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าหากอยู่ในเมืองใหญ่คงจะปลอดภัย 

ขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นจากชาวเน็ตจีนที่เป็นผู้หญิง กล่าวโทษนโยบายของรัฐบาลไทยเรื่องการปลดกัญชาพ้นจากสิ่งผิดกฎหมาย การไม่ควบคุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ รวมถึงการไม่ดำเนินการใดๆ กับปัญหาการหลอกลวงข้ามประเทศ รวมถึงยังกล่าวกับชาวจีนคนอื่นๆ ที่ไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ว่า โชคดีแล้วหากไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในประเทศไทย แต่การบอกคนอื่นว่าการไปเยือนยังปลอดภัยนั้นถือเป็นการขาดความรับผิดชอบ

จากข่าวลือทีเกิดขึ้น สถานทูตไทยประจำประเทศจีน ชี้แจงผ่านเพลตฟอร์ม Weibo ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลบิดเบือน และเน้นย้ำว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมาโดยตลอด และหลายเมืองของไทยได้รับการจัดอันดับจากองค์กรต่างๆ ให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้สามารถยื่นรายงานและรับทราบข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที

ถึงกระนั้น สำหรับคนที่เชื่อ..ใช่ว่าจะเปลี่ยนความคิดกันได้ง่าย การชี้แจงจากสถานทูตไทยก็ดี หรือการลบคลิปวีดีโอและระงับการใช้งานบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของผู้โพสต์รายนี้ ซึ่งเป็น อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” หรือคนดังบนโลกออนไลน์ กลับยิ่งทำให้กลุ่มผู้ติดตามเชื่อหนักขึ้นไปอีกว่า อินฟลูเอนเซอร์รายนี้ถูกอิทธิพลมืด ปิดปาก ไม่ให้พูดความจริง โดยก่อนหน้าที่จะโพสต์คลิปเกี่ยวกับประเทศไทย ยังเคยโพสต์เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วย ไวรัสโควิด-19 ถูกคิดค้นจากชาติตะวันตกเพื่อกวาดล้างประชากรสูงอายุ รวมไปถึงการให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ทางการเมืองสังคมเป็นประจำ

ด้าน Sixth Tone สำนักข่าวออนไลน์ของรัฐจีน ซึ่งมีสำนักงานในเมืองเซี่ยงไฮ้ รายงานข่าว Dark Rumors on Chinese Social Media Alarm the Thai Gov’t เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 กล่าวถึงกรณีบล็อกเกอร์ชาวจีนที่เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านแพลตฟอร์ม Bilibili และ Douyin เช่นกัน โดยผู้โพสต์คลิปอ้างว่า องค์กรอาชญากรรมได้ย้ายฐานปฏิบัติการจากเมียนมาและกัมพูชาเข้าไปยังประเทศไทย โดยร่วมมือกับกองกำลังตะวันตกที่ต่อต้านประเทศจีน เล็งเหยื่อที่เป็นชาวจีน มีการอ้างถึงสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ใช้พนักงานเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี ล่อลวงหญิงชาวจีนเข้าไปก่อนมอมยาเพื่อส่งไปบังคับค้าประเวณี และใช้ผู้หญิงล่อลวงชายชาวจีนมาที่ประเทศไทยเพื่อสังหารและขโมยอวัยวะ

รายงานของ Sixth Tone ยังอ้างถึงกรณี “ศูนย์ต่อต้านการฉ้อโกงในท้องถิ่น” ที่มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ออกประกาศเตือนประชาชนเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ว่าไม่ควรเดินทางไปในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หากไม่มีเหตุจำเป็น แต่ต่อมาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องยกเลิกประกาศดังกล่าวพร้อมกับชี้แจงว่า ประกาศที่ออกมามุ่งเป้าไปที่ชาวจีนซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายในต่างประเทศเท่านั้น โดยอ้างถึงมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งมีฐานปฏิบัติการจำนวนมากอยู่ในกัมพูชา และแก๊งเหล่านี้เป็นองค์กรอาชญากรรมที่ขับเคลื่อนโดยชาวขีน แต่ถึงจะชี้แจงแล้ว ข่าวลือเกี่ยวกับประเทศไทยก็ยังคงมีคนเชื่อและแชร์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทย แล้วไม่ได้โพสต์อะไรบนสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2566 เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ชาวเน็ตจีนลือกันไปต่างๆ นานา ว่าทั้งหมดอาจถูกลักพาตัว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 มี.ค. 2566 สื่อท้องถิ่นในจีนได้รายงานข่าวว่า ทั้งหมดได้กลับมาใช้งานบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ โดยโพสต์ว่าพวกตนยังปลอดภัยดีและกลับถึงจีนแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องการเดินทางไปประเทศไทย เช่น จากที่คิดว่าจะไปคนเดียวก็หันไปชวนเพื่อนฝูงเดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

จากโลกออนไลน์ สู่จอเงิน

No More Bets ภาพยนตร์จีนตีแผ่ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เรื่องของข่าวลือที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของชาวจีน กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งภายหลังจากภาพยนตร์ No More Bets ที่เข้าฉายในจีนเมื่อเดือน ส.ค. 2566 และทำรายได้ถล่มทลายไปกว่า 3 พันล้านหยวน ภาพยนตร์จีนเรื่องนี้เนื้อหาว่าด้วยหนุ่ม-สาวชาวจีนที่ต้องการไปทำงานหาเงินในต่างแดน ก่อนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ถูกบังคับให้เข้าร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ปัญหาคือ ในภาพยนตร์มีการอ้างถึงการลักพาตัวชาวจีนในประเทศไทยก่อนส่งข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสถานที่อันตรายในสายตาชาวจีน 

The Japan Times นสพ.เก่าแก่ของญี่ปุ่น รายงานข่าว “Hit Chinese movie raises fears of travel in Southeast Asia” วันที่ 5 ก.ย. 2566 อ้างถึงผลการสำรวจบนแพลตฟอร์มจีนอย่าง Weibo (ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับ Twitter ในประเทศอื่นๆ) พบว่าร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ลังเลที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย 

สื่อญี่ปุ่นข้างต้นยังกล่าวด้วยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ทางการจีนสามารถปิดคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์ได้ 464,000 คดี จับกุมสมาชิกองค์กรอาชญากรรมระดับหัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวได้ 351 ราย อีกทั้งในเดือน ส.ค. 2566 ทางการจีนยังประสานความร่วมมือกับทางการไทย เมียนมาและลาว เพื่อจัดการกับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมในเมียนมา โดยมีการตั้งศูนย์ประสานงานใน จ.เชียงใหม่ ทางภาคเหนือของประเทศไทย

รายงานข่าว Blockbuster movie No More Bets scaring Chinese tourists away from Thailand over scam fears โดย นสพ.The Straits Times ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ระบุว่า ภาพยนตร์จีนเรื่อง No More Bets ใช้คำว่า อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง (based on real events) เนื้อหาเล่าเรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศสมมติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งองค์ประกอบหลายๆ อย่างในฉากดูคล้ายกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สื่อสิงคโปร์ได้ชี้ว่า แม้จะมีต้นตอจากคดีที่เกิดขึ้นจริง แต่เรื่องราวในภาพยนตร์ก็ไม่ใช่เรื่องจริงไปเสียทั้งหมด

การรายงานของสื่ออย่างกว้างขวางได้บันทึกว่ามีชาวจีนหลายพันคนถูกล่อลวงไปยังฐานปฏิบัติการต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมียนมาและกัมพูชา เพื่อดำเนินการหลอกลวงเงินจากเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ผู้ถูกล่อลวงส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อจากโฆษณาชวนเชื่อเรื่องงานรายได้สูงที่ไม่มีอยู่จริง (fake offers of lucrative work) ไม่ได้ถูกลักพาตัวจากท้องถนนในระหว่างการพักผ่อนวันหยุด และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบองค์ประกอบของการหลอกลวงดังกล่าวในประเทศไทย รายงานของ The Straits Times กล่าว

รายงานข่าว “#trending: Chinese netizens afraid of Southeast Asia travel after hit movie No More Bets shows human trafficking scams”จากสื่ออีกสำนักหนึ่งในสิงคโปร์ อย่าง นสพ.Today เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 กล่าวถึงการฉ้อโกงทางออนไลน์ที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกให้รัก (Love Scam หรือ Romance Scam) หลอกให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ไปจนถึงล่อลวงให้เล่นการพนันออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกนำไปเล่าในภาพยนตร์ No More Bets ซึ่งสอดคล้องกับรายงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับพลเมืองจากหลายประเทศ ถูกล่อลวงเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานปฏิบัติการในเมียนมาและกัมพูชา แต่ก็ย้ำว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อมาจากการหลงเชื่อคำโฆษณาเรื่องงานรายได้ดี (แต่ไม่มีงานนั้นให้ทำจริงๆ)

สื่อสิงคโปร์ยังอ้างถึงรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2566 ซึ่งระบุว่า มีเหยื่ออย่างน้อย 120,000 รายในเมียนมา และ 100,000 รายในกัมพูชา ถูกบังคับโดยองค์กรอาชญากรรมให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ และไทย ถูกมองว่าเป็นทางผ่านหรือปลายทางของเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์หลายหมื่นคน

ขบวนการค้ามนุษย์ ภัยมืดที่มีอยู่จริง

สำหรับรายงานของ UN ที่ถูกอ้างถึงนั้นคือ Online Scam Operations and Trafficking Into Forced Criminality in Southeast Asia : Recommendations for a Human Rights Response” จัดทำโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่พร้อมรายงานข่าว “Hundreds of thousands trafficked into online criminality across SE Asia” เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ทางเว็บไซต์ news.un.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับประชาสัมพันธ์ข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด UN 

รายงานของ OHCHR ระบุว่า เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งถูกบังคับให้ร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีพื้นเพมาจากหลากหลายประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ดินแดนใกล้เคียงอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน ภูมิภาคเอเชียใต้ และมีแม้กระทั่งเหยื่อที่เดินทางมาจากภูมิลำเนาที่ไกลออกไป อย่างทวีปแอฟริกาและภูมิภาคลาตินอเมริกา 

เปีย โอเบรอย (Pia Oberoi) ที่ปรีกษาอาวุโสด้านการโยกย้ายถิ่นฐานและสิทธิมนุษยชนในเอเชียแปซิฟิกo OHCHR กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ขาดเส้นทางที่สม่ำเสมอและปลอดภัยไปสู่โอกาสในการทำงานที่ดี นั่นหมายความว่าประชากรมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาฟอรัมจัดหางานหรือคนกลางมากขึ้น มิจฉาชีพจึงมุ่งเป้าไปที่บุคคลมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยโฆษณาชวนเชื่อว่าเหยื่อจะได้เดินทางไปทำงานจริงๆ 

สถานการณ์กำลังเผยให้เห็นในพื้นที่ที่กฎระเบียบอ่อนแอ เช่น ความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนในเมียนมา ซึ่งมีหลักนิติธรรมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย รวมไปถึงในเขตอำนาจศาลที่มีการควบคุมอย่างหละหลวม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษในลาวและกัมพูชา นอกจากนั้น ความสามารถของพลเมืองอาเซียนในการเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องขอวีซ่า ยังหมายถึงการขาดการคัดกรองที่มีความละเอียดอ่อนในการป้องกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อตอบสนองต่อความละเอียดอ่อนในการป้องกันเสมอไป โอเบรอย กล่าว

ด้าน โวลเกอร์ เติร์ก (Volker Turk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด จำเป็นต้องเรียกร้องเจตจำนงทางการเมืองเพื่อเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน และปรับปรุงธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม รวมถึงผ่านความพยายามอย่างจริงจังและยั่งยืนเพื่อจัดการกับการทุจริต เพราะแนวทางแบบองค์รวมเท่านั้นที่สามารถทำลายวงจรของการไม่ต้องรับโทษ และรับประกันการคุ้มครองและความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกทารุณกรรมเหล่านี้ได้

1 เดือนต่อมา วันที่ 29 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ news.un.org เผยแพร่รายงานข่าว “UNODC joins regional crime fighters to tackle scams and human trafficking in SE Asia” อ้างข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่ระบุว่า การค้ามนุษย์เพื่อคัดเลือกเหยื่อเข้าสู่กิจกรรมผิดกฎหมายเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของบ่อนคาสิโนบริเวณชายแดน การฟอกเงินขนาดใหญ่ อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ และความผิดทางอาญาอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการทรมานและการขู่กรรโชกในปฏิบัติการเหล่านี้ในช่วงปีที่ผ่านมา

เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า การค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับคาสิโนและการหลอกลวงที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรได้ลุกลามไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการกับอาชญากรรมที่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงกันมากขึ้นในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับระบบนิเวศที่อาชญากรรมเหล่านี้มีอยู่

กลุ่มอาชญากรกำลังรวมตัวกันในภูมิภาคที่พวกเขามองเห็นช่องโหว่ การดำเนินการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ทำให้บางส่วนโยกย้ายถิ่นฐาน และเราได้เห็นพวกเขาย้ายโครงสร้างพื้นฐานไปยังสถานที่ที่มองเห็นโอกาส โดยพื้นฐานแล้วคือที่ที่พวกเขาคาดหวังว่าจะสามารถใช้ประโยชน์และไม่ต้องรับผิดชอบ นั่นคือการไปยังพื้นที่ห่างไกลและชายแดนของแม่น้ำโขงดักลาส กล่าว

ยังมีรายงาน “Trafficking in Persons Report”หรือรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ (TIP Report) ที่จัดทำและเผยแพร่ทุกปีโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานฉบับปี 2566 (2023 Trafficking in Persons Report) ระบุในตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเป็นทั้งแหล่งที่มาและทางผ่านสำหรับองค์กรอาชญากรรมที่ดำเนินธุรกิจหลอกลวงทางไซเบอร์ในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ ซึ่งมักอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพวกเขาแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อในการบังคับใช้แรงงาน การบังคับให้ร่วมก่ออาชญากรรม และการค้ามนุษย์ด้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

“มิจฉาชีพหลอกลวงทางไซเบอร์ ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านโดยการรับสมัครคนงานจากหลายประเทศ โดยสัญญาว่าจะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงในประเทศไทย จากนั้นจึงขนส่งพวกเขาไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ตั้งอยู่ และบังคับให้พวกเขาทำการหลอกลวงออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย และมีการทำร้ายร่างกายเหยื่อเหล่านี้”รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

โปสเตอร์จากเพจเฟซบุ๊ก “Royal Thai Embassy, Yangon” หรือสถานทูตไทยประจำเมียนมา เตือนคนไทยระวังถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในเมียนมา (เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566)

วันที่ 10 พ.ย. 2566 รายงานข่าวของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ประเทศไทย ระบุว่า สถานทูตไทยประจำเมียนมา เตือนคนไทยระวังตกเป็นเหยื่อกลุ่มทุนสีเทา ที่มีการโฆษณาชักชวนว่ามีงานรายได้สูงให้ทำในเมียนมา ซึ่งผู้หลงเชื่อจะถูกบังคับให้ทำงานผิดกฎหมายอย่างการเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือไม่ก็ถูกบังคับค้าประเวณี และจะถูกทำร้ายร่างกายหากไม่สามารถทำยอดเงินได้ตามเป้าหมายที่กำหนดหรือปฏิเสธที่จะทำงาน รวมไปถึงถูกขายต่อเป็นทอดๆ และการช่วยเหลือออกมานั้นทำได้ยากมาก หรือแม้ช่วยออกมาได้ก็ยังถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในเมียนมาอีก 

สรุปได้ว่า ลำพังหลอกคนไทยให้สูญเงินเป็นจำนวนมากไปหลายรายก็ว่าหนักแล้ว แต่ตอนนี้ปัญหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพออนไลน์ทุนสีเทาผิดกฎหมายที่ก่ออาชญากรรมข้ามแดน ยังทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในสายตาชาวจีน อันเป็นตลาดใหญ่และความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก

และนี่คือ ความท้าทาย” ของทางการไทย ว่าจะทำอย่างไรเพื่อคุ้มครองคนไทย และเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2734707 (สร้างความมั่นใจตลาดท่องเที่ยวจีน ททท.บุกโลกออนไลน์สร้างภาพลักษณ์ไทย : ไทยรัฐ 23 ต.ค. 2566)

https://www.mots.go.th/news/category/585(จำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รายเดือน ปี 2559-2562R (ปรับปรุงจำนวนและรายได้ 2562) : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

https://www.isranews.org/content-page/item/84811-tourism.html (นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 62 โต 4.2% จีนเข้าไทยเฉียด 11 ล้านคน : สำนักข่าวอิศรา 23 ม.ค. 2563)

https://www.tcijthai.com/news/2019/2/scoop/8786 (คนไทยรู้ยัง: คาดปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมาไทย 10.80-10.99 ล้านคน : TCIJ 22 ก.พ. 2562)

https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/1449418 (“นักท่องเที่ยว” จีน คนที่ 10 ล้าน มาจาก “คุนหมิง” มอบรางวัลล้น! : ไทยรัฐ 20 ธ.ค. 2561)

https://www.tcijthai.com/news/2017/31/scoop/6874 (คนไทยรู้ยัง: ปี 2559 นักท่องเที่ยวจีนยังมาเที่ยวไทยมากที่สุด : TCIJ 31 มี.ค. 2560)

https://researchcafe.tsri.or.th/chinese-tourists/ (จีนมาเที่ยวไทยทำไม…เที่ยวอย่างไร? : Research Café สกสว. 24 ก.ค. 2564)

https://www.globaltimes.cn/page/202303/1287884.shtml (No reason for Thailand not to take good care of Chinese tourists: Global Times editorial : 23 มี.ค. 2566)

https://thechinaproject.com/2023/03/24/chinese-conspiracy-theory-about-thai-human-trafficking-fuels-tourism-concern/ (Chinese conspiracy theory about Thai human trafficking fuels tourism concern : The China Project 24 มี.ค. 2566)

https://www.reuters.com/business/media-telecom/the-china-project-media-company-shuts-due-funding-problem-2023-11-07/ (‘The China Project’ media company shuts due to funding problem : รอยเตอร์ 7 พ.ย. 2566)

https://www.aljazeera.com/news/2023/11/7/the-china-project-media-shuts-blaming-politically-motivated-attacks (‘The China Project’ media shuts, blaming ‘politically-motivated attacks’ : Aljazeera 7 พ.ย. 2566)

https://thechinaproject.com/2023/11/06/some-sad-news/ (Some sad news : The China Project 6 พ.ย. 2566)

https://www.sixthtone.com/news/1012607 (Dark Rumors on Chinese Social Media Alarm the Thai Gov’t : Sixth Tone 30 มี.ค. 2566)

https://www.tnnthailand.com/news/trueinside/154102/ (No More Bets!! รายได้ทะลุ 3 พันล้านหยวน ขึ้นแท่นหนังจีนทำเงินสูงสุดปีนี้ : TNN Thailand 24 ส.ค. 2566)

https://www.japantimes.co.jp/news/2023/09/04/asia-pacific/crime-legal/china-cambodia-myanmar-tourism-cyberscams-trafficking/ (Hit Chinese movie raises fears of travel in Southeast Asia : The Japan Times 5 ก.ย. 2566)

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/blockbuster-movie-no-more-bets-scares-chinese-tourists-away-from-thailand-over-scam-fears (Blockbuster movie No More Bets scaring Chinese tourists away from Thailand over scam fears : The Straits Times 26 ก.ย. 2566)

https://www.todayonline.com/world/no-more-bets-movie-chinese-tourists-2271816 (#trending: Chinese netizens afraid of Southeast Asia travel after hit movie No More Bets shows human trafficking scams : Today 2 ต.ค. 2566)

https://news.un.org/en/story/2023/08/1140187(Hundreds of thousands trafficked into online criminality across SE Asia : องค์การสหประชาชาติ29 ส.ค. 2566)

https://www.state.gov/reports/2023-trafficking-in-persons-report/Thailand (2023 Trafficking in Persons Report: Thailand : กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231110105940591 (ย้ำเตือนคนไทยอย่าหลงเชื่อกลลวงเครือข่ายนายทุนสีเทา ทำงานในเมียนมามีรายได้งาม : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 10 พ.ย. 2566)

https://www.facebook.com/RoyalThaiEmbassyYangon/posts/pfbid0eCGFDf6qBUxpyjSov5FHNHu1qf2T1rqx3KeJe933KEuCFHekfMGvAJ9kNyP3oQSql (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ขอย้ำเตือน คนไทยอย่าได้หลงเชื่อกลลวงเครือข่ายนายทุนสีเทา โฆษณาชวนเชื่อว่าพอไปทำงานในเมียนมาแล้ว จะได้รายได้หลักหมื่นหลักแสน : Royal Thai Embassy, Yangon : 7 พ.ย. 2566)