กรรมการอิสลามระบุ “เคเอฟซีในไทย ไม่มีตราฮาลาล”

กองบรรณาธิการโคแฟค
โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาเฟซบุ๊กโพสต์ที่ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (กอจ. ปัตตานี) ประกาศว่าร้านไก่ทอด “เคเอฟซี” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล ผลการตรวจสอบพบว่า ร้านเคเอฟซีทุกสาขาในประเทศไทยไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจริง แต่ กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้
ประเด็นเรื่องเคเอฟซีกับตราฮาลาลถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียมานานหลายปี และมักมีผู้โพสต์จุดประเด็นขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 เพจเฟซบุ๊ก “พา กิน เที่ยว Pa Kin Tiaw” โพสต์ข้อความว่า “ห๊ะะะะ กอจ ปัตตานี ประกาศ kfc 3 จังหวัดไม่มีฮาลาล #ไม่มีฮาลาลกินไม่ได้นะคับ” (ลิงก์บันทึก) โดยอ้างคำพูดของนายอับดุลมานะ เจะเล๊ะ กรรมการด้านกิจการฮาลาล คณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ว่าร้านเคเอฟซีไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล มุสลิมที่รับประทานต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โพสต์นี้ถูกแชร์ไป 600 ครั้ง เนื้อหาเดียวกันนี้ยังปรากฏในเพจเฟซบุ๊กอื่น ๆ รวมทั้งอินสตาแกรม และติ๊กต็อกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดคำถามและความสับสนขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนมุสลิม


โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการสัมภาษณ์นายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ.ปัตตานี สืบค้นคำชี้แจงของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสอบถามไปที่บริษัท บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเคเอฟซีในประเทศไทย ได้ข้อมูลดังนี้
เคเอฟซีไม่ได้ยื่นขอใบรับรองฮาลาลที่ จ.ปัตตานี
นายซาฮารีกล่าวว่าเคเอฟซีไม่ได้ยื่นขอใบรับรองฮาลาล กอจ. ปัตตานีจึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะในทางกฎหมาย ถ้าผู้ประกอบการไม่ยื่นขอใบรับรองฮาลาล คณะกรรมการอิสลามฯ ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ
“เมื่อเราไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ก็ไม่สามารถออกใบรับรองฮาลาลได้ ทำให้เคเอฟซีไม่มีใบรับรองฮาลาล” นายซาฮารีให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568
ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ.2558 มอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) เป็นหน่วยงานตรวจและรับรองฮาลาลแก่ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการฮาลาลของผู้ประกอบการภายในจังหวัดนั้น โดย กอจ. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของจังหวัดเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบผลิตภัณฑ์
กอจ. ปัตตานี ไม่ได้ออกประกาศ “ห้ามมุสลิมรับประทานเคเอฟซี”
นายซาฮารีกล่าวเพิ่มเติมว่า กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศห้ามหรือรณรงค์ไม่ให้คนมุสลิมรับประทานอาหารของร้านเคเอฟซี เพียงแต่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าเคเอฟซีไม่มีตราฮาลาลเท่านั้น
ส่วนคำพูดของนายอับดุลมานะ เจ๊ะเล๊ะ กรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี ที่ระบุว่าอาหารของร้านเคเอฟซี มุสลิมไม่สามารถรับประทานได้เพราะไม่ฮาลาล และคนมุสลิมที่รับประทานเคเอฟซีต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนานั้น นายซาฮารีกล่าวว่าเป็นเนื้อหาเก่าที่ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำ และนายอับดุลมานะ ผู้ที่ถูกอ้างถึงก็เสียชีวิตไปนานนับสิบปีแล้ว
โคแฟคตรวจสอบที่มาของคำให้สัมภาษณ์ของนายอับดุลมานะที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย โดยอ้างที่มาจากสำนักข่าวเนชั่น แต่ไม่พบรายงานข่าวชิ้นนี้ในช่องทางการเผยแพร่ของสำนักข่าวเนชั่นหรือสื่อกระแสหลักเลย จึงไม่สามารถยืนยันที่มาและความถูกต้องของเนื้อหาได้
รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยืนยัน “เคเอฟซี ไม่มีตราฮาลาล”
ในการสัมมนาสตรีมุสลิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮ.ศ. 1446 วันที่ 19 เมษายน 2568 ผู้แทนสตรีมุสลิมจาก จ.ตราด ได้สอบถามอาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอาหารของเคเอฟซีว่า “เราอยากได้ความชัดเจนว่า (เคเอฟซี) เราทานได้หรือไม่ได้…มันเป็นความไม่สบายใจ เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อ ยังไม่มีข้อสรุป มุสลิมก็ไปทะเลาะกันเองในโซเชียล ทำให้คนต่างศาสนิกเห็นพวกเราเป็นตัวตลก”
อาจารย์ประสานตอบว่า เคเอฟซีในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามฯ
“เคเอฟซีในประเทศนี้ กรรมการกลาง (อิสลาม) ยังไม่รับรอง ส่วนกินได้หรือไม่ได้นั้นเป็นสิทธิของท่าน ต้องไปตรวจสอบ แต่ว่าไม่มีเครื่องหมายฮาลาล” รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกล่าว

เคเอฟซียังไม่ตอบกลับโคแฟค
โคแฟคส่งข้อความสอบถามเรื่องการรับรองฮาลาลไปที่เพจเฟซบุ๊ก KFC รวมทั้งส่งอีเมลไปที่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเคเอฟซีในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
ข้อสรุปโคแฟค
อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี ระบุชัดเจนตรงกันว่าขณะนี้ร้านเคเอฟซีในประเทศไทย ไม่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล แต่มุสลิมจะรับประทานหรือไม่นั้นเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะพิจารณา
ส่วนข้อความที่ระบุว่า กอจ. ปัตตานี ประกาศว่าเคเอฟซีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล-ห้ามมุสลิมรับประทานนั้น เป็นเนื้อหาที่อ้างอิงจากคำพูดของอดีตกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งโคแฟคยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ แต่มีผู้อ้างว่ามาจากสำนักข่าวเนชั่น ข้อความนี้ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2557 และถูกนำกลับมาเผยแพร่ใหม่หลายครั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นประกาศล่าสุดจาก กอจ. ปัตตานี ทั้งที่จริงแล้ว กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้