เลือกตั้ง 2566: ตรวจสอบ 3 ประโยคของประยุทธ์บนเวทีปราศรัยรวมไทยสร้างชาติ

Top Fact Checks Political

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ในกรุงเทพฯ ครั้งแรก ซึ่งจัดที่สวนเบญจกิติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 โคแฟคหยิบ 3 ประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างการปราศรัยมาตรวจสอบความถูกต้อง และพบว่ามีทั้งประโยคที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นจริงบางส่วน และประโยคที่อาจสร้างความเข้าใจผิดเนื่องจากขาดบริบทและข้อมูลรองรับ

“จะมีเครื่องบินที่จองไว้แล้วมาลงเมืองไทยประมาณ 90,000 กว่าไฟลต์

โคแฟคตรวจสอบ: พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่ารัฐบาลของเขาประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของไทย เห็นได้จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

จากการค้นหาข่าวและฐานข้อมูลออนไลน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT) และบริษัท วิทยุการบิน (บวท.) เกี่ยวกับจำนวนเที่ยวบินที่จะเดินทางเข้าไทย โคแฟคไม่พบข้อมูล “90,000 กว่าไฟลต์” ที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึง มีเพียงการประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2566 โดย AOT คาดว่าท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT จะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 14,220 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 7,500 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 6,720 เที่ยวบิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ราว 60% แต่หากเทียบกับปริมาณเที่ยวบินช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด AOT ระบุว่า “ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารในปีนี้ยังคงติดลบ” โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศลดลง 20.90%

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 บวท. เผยแพร่เอกสารการคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินตลอดปี 2566 ว่าจะมีเที่ยวบินรวม 858,387 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 2,352 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2565 เป็นผลจากการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากนโยบายเปิดประเทศของจีน

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ รทสช. ชี้แจงกับโคแฟคว่า ตัวเลข 90,000 เที่ยวบินที่ พล.อ.ประยุทธ์อ้างถึงบนเวทีปราศรัย “เป็นตัวเลขคาดการณ์” ที่คำนวณจากการประเมินของ บวท. ที่คาดว่าในปี 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 2,352 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งหากคูณจำนวนวันในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า “ตัวเลขคาดการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึง 90,000 เที่ยวบินที่รอจะเข้ามาในช่วงไฮซีซั่น จึงเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้” นายบุญยอดระบุ

[การรับมือกับโควิด-19] เราเป็นประเทศชั้นนำในโลก ประชาชนปลอดภัย เสียหายน้อยที่สุด และเราสามารถเปิดประเทศได้เร็วที่สุด”

โคแฟคตรวจสอบ: รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ “เปิดประเทศ” เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 โดยเปิดรับนักเดินทางจาก 63 ประเทศและดินแดนให้เข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว หากมีหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส และผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ การเปิดประเทศนี้เกิดขึ้น 4 เดือน หลังรัฐบาลทำโครงการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการ Phuket Sandbox เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564

โคแฟคตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ ourworldindata.org ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งแบ่งระดับความเข้มข้นของการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศในช่วงโควิดระบาดเป็น 5 ระดับ จากมากไปหาน้อย คือ ระดับ 5-ปิดประเทศ, ระดับ 4-ห้ามผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูงเข้าประเทศ, ระดับ 3-ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงต้องกักตัว, ระดับ 2-ไม่จำกัดประเทศแต่มีมาตรการคัดกรอง, ระดับ 1-ไม่มีมาตรการจำกัดการเข้าประเทศ 

ณ วันที่ 1 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้ Phuket Sandbox มีไม่ต่ำกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่ใช้มาตรการระดับ 2 คือ เปิดรับนักเดินทางจากทุกประเทศแต่ต้องผ่านการคัดกรอง ส่วนวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ไทยเปิดประเทศ มีไม่ต่ำกว่า 50 ประเทศที่เปิดรับนักเดินทางต่างชาติแล้ว นั่นหมายถึงว่าไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เปิดประเทศรับนักเดินทางจากต่างชาติหรือ “เปิดประเทศได้เร็วที่สุด”

แผนที่แสดงระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักเดินทางจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศอาจไม่สามารถชี้วัดความสำเร็จของการรับมือโควิด-19 ได้ เพราะหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือเกิดการระบาดระลอกใหม่หลังการเปิดประเทศ จนต้องปรับมาตรการอีกหลายครั้ง เช่น ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 เกิดการระบายของสายพันธุ์โอมิครอน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงประกาศห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศเข้าไทยเพื่อสกัดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2564 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) มีมติให้ระงับการลงทะเบียนขอเข้าประเทศไทยชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

ส่วนคำกล่าวอ้างของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า ประเทศไทย “เสียหายน้อยที่สุด” นั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อธิบายว่าหมายถึงความเสียหายในมิติใด แต่หากเป็นจำนวนผู้เสียชีวิต องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ณ วันที่ 6 เม.ย. 2566 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมด 33,938 ราย มีผู้ติดเชื้อ 4,728,799 ราย ขณะที่ เว็บไซต์ ourworldindata.org รายงานว่าไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนอยู่ที่ 473.35 คน ซึ่งสูงกว่าบางประเทศในเอเชีย เช่น เวียดนาม (439.83) เนปาล (393.48) บรูไน (336.30) กัมพูชา (182.25)

ในด้านของความเสียหายทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้จีดีพีของไทยลดลงถึง 6.1% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แรงงานจำนวนมากตกงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรายงานว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2563 ไทยมีหนี้สาธารณะมูลค่าทั้งสิ้น 8.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.1% ต่อจีดีพี ส่วนหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.6% ต่อจีดีพี เป็นผลจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด

“สวนเบญจกิติ…ผมมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ผมเป็นคนผลักดันให้เกิดตั้งแต่ระยะที่ 1 และผมได้ทำระยะที่ 2-3 ต่อจนจบ”

โคแฟคตรวจสอบ: สวนสาธารณะเบญจกิติ เป็นสวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯ ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ในเขตคลองเตย แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลักคือ สวนน้ำ 130 ไร่ และสวนป่า 320 ไร่ โครงการนี้มีความเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าเขา “มีส่วนร่วมในเหตุการณ์” แต่เนื่องจากโครงการนี้มีการพัฒนาต่อเนื่อง รัฐบาลแต่ละชุดจึงมีส่วนร่วมในระดับที่แตกต่างกันไป สำหรับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างส่วน “สวนป่า” ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะ ดำเนินการระหว่างปี 2559-2564

พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายภาพที่สวนเบญจกิติในวันที่เขาร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการส่งมอบและรับมอบสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 บางส่วนให้กรุงเทพมหานครดูแลเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564

หนังสือด่วนที่สุดของกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 7 มี.ค. 2559 ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ซึ่งโคแฟคเข้าถึงจากฐานข้อมูลออนไลน์ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 เม.ย. 2566 สรุปความเป็นมาของสวนเบญจกิติไว้ดังนี้

  • 24 ธ.ค. 2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ครม. เห็นชอบให้ย้ายโรงงานยาสูบ และพัฒนาพื้นที่โรงงานเดิมในเขตคลองเตย เป็นสวนสาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบ
  • ปี 2535 สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งสำนักราชเลขาธิการว่ารัฐบาลมีโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะบริเวณที่ตั้งเดิมของโรงงานยาสูบ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จึงขอพระราชทานชื่อสวน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงพระราชทานชื่อว่า “เบญจกิติ”
  • 27 พ.ค. 2540 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ครม. อนุมัติให้ใช้เงินรายได้จากโรงงานยาสูบในการจัดสร้างสวนเบญจกิติ ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่ 1) การจัดสร้างสวนน้ำ 130 ไร่ และส่วนที่ 2) การจัดสร้างสวนป่า 320 ไร่
  • 7 ธ.ค. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเสด็จเปิดสวนน้ำเบญจกิติ
  • 27 พ.ย. 2557 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ แบ่งการจัดสร้างเป็น 3 ระยะ
  • เดือน ม.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ใช้แบบของสำนักพระราชวังในการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ
  • 8 มี.ค. 2559 ครม. เห็นชอบการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติตามแบบของสำนักพระราชวัง โดยให้โรงงานยาสูบสนับสนุนค่าใช้จ่ายวงเงิน 950 ล้านบาท ให้เสร็จทันงานเฉลิมพระชมนพรรษา 7 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 12 ส.ค. 2559
  • 12 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการส่งมอบสวนป่าเบญจกิติระยะที่ 1 ให้กรุงเทพมหานครดูแล
  • ปี 2562-2564 จัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2 และ 3
  • 3 ส.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ

เรื่องแนะนำ