วิกฤตข้อมูลข่าวสารในวิกฤตการณ์ซีเซียม-137
กรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าใน จ.ปราจีนบุรี นอกจากจะสะท้อนปัญหาการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทเอกชน ปัญหาของหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลและการรับมือกับสาธารณภัยจากสารกัมมันตรังสีแล้ว ยังเผยให้เห็นอิทธิพลของข่าวเท็จ ข้อมูลคลาดเคลื่อน และการเชื่อมโยงแบบผิดๆ ที่สร้างผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์วัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย
ข่าวเท็จและข้อมูลคลาดเคลื่อนที่สร้างความเข้าใจผิดเหล่านี้ถูกผลิต เผยแพร่และไหลเวียนอยู่ในโซเชียลมีเดียนับตั้งแต่เกิดเรื่องช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีลำดับเหตุการณ์โดยสังเขป ดังนี้
- 10 มี.ค. ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ โดยทางบริษัทคาดว่าวัสดุนี้สูญหายไปตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.
- 14 มี.ค. ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีแถลงข่าวร่วมกับ ปส. เปิดเผยเหตุการณ์ให้สาธารณชนรับรู้อย่างเป็นทางการครั้งแรก
- 19 มี.ค. สื่อมวลชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่พบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่โรงงานหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
- 20 มี.ค. ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ปส. กรมโรงงานอุตสาหกรรมและตำรวจ แถลงข่าวร่วมเรื่องการพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่โรงงานเคพีพีสตีล คาดว่าเกิดจากการหลอมวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายไปจากโรงไฟฟ้า
โคแฟคตรวจสอบข่าวเท็จ-ข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเหตุการณ์ซีเซียม-137 ที่สร้างความเข้าใจผิดและความตื่นตระหนก เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับการรับมือด้านข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
1. ซีเซียม-137 หนัก 25 กิโลกรัม
หลังการแถลงข่าวครั้งแรกเมื่อ 14 มี.ค. มีความเข้าใจผิดว่าซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าของเอกชนนั้นมีน้ำหนักมากถึง 25 กก. ใกล้เคียงกับปริมาณซีเซียม-137 ในเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดที่มีน้ำหนัก 27 กก.
ความเข้าใจผิดเรื่องน้ำหนักของซีเซียม-137 เป็นผลมาจากการที่หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือ ปส. ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าน้ำหนัก 25 กก. นั้นหมายถึงวัสดุห่อหุ้ม และไม่ได้ระบุว่าปริมาณของซีเซียม-137 มีเท่าไหร่ โคแฟคย้อนดูข้อมูลที่ ปส. เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์เมื่อ 14 มี.ค. พบว่า แม้จะให้ข้อมูลละเอียด แต่ก็ใช้ศัพท์เทคนิคที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก
“ต้นกำเนิดรังสีที่สูญหายนี้มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ภายนอกทำด้วยโลหะ ภายในประกอบด้วยตะกั่วสำหรับกำบังรังสี มีขนาดสูงประมาณ 20-30 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14-20 ซม. มีฐานทำด้วยแผ่นโลหะทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าเชื่อมติดอยู่ น้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม…ปริมาณของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่บรรจุอยู่ภายในมีค่าเริ่มต้นที่ 80 มิลลคูรีเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2538 ปัจจุบันเหลือปริมาณอยู่ที่ 41.14 มิลลิคูรี” ปส. ระบุในเอกสารชี้แจง
เมื่อสื่อมวลชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐอื่นๆ นำข้อมูลนี้ไปสรุปให้สั้นและเผยแพร่ต่อ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามทวีตข้อความว่า “…ล่าสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายจากโรงไฟฟ้า อ.ศรีมหาโพธิ สิ่งที่ต้องทำควบคู่คือต้องสอบสวนพนักงานทั้งหมดเพราะสารดังกล่าวหนักถึง 25 กก.” ข้อความนี้ถูกรีทวีตไปเกือบ 2,300 ครั้ง และยังคงเข้าถึงได้ ณ วันที่ 26 มี.ค.
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทวีตข้อความว่า “ปภ. เผยกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายที่ จ.ปราจีนบุรี หาก ปชช. พบเห็นอุปกรณ์ดังภาพ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กก. ขอให้แจ้งจนท. ทันที” ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดได้เช่นกัน
คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับน้ำหนักของซีเซียม-137 ที่สูญหาย มาจากการให้สัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ ประธานวิชาการสมาคมรังสีเทคนิคนิคแห่งประเทคไทยว่า เมื่อนำความแรงของซีเซียม-137 ที่ ปส. รายงานว่าเหลืออยู่ 41.14 มิลลิคูรี มาคำนวณจะพบว่าซีเซียม-137 ที่สูญหายมีน้ำหนักประมาณ 5 มิลลิกรัม ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดซึ่งมีซีเซียม-137 ถูกปล่อยออกมามากถึง 27 กก.
2. ซีเซียม-137 แพร่กระจาย 1,000 กิโลเมตร จากปราจีนบุรี
วันที่ 19 มี.ค. นพ.สมรส พงศ์ละไม โพสต์ในเฟซบุ๊ก “Somros MD Phonglamai” ว่า “ถ้า Caesium-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม” โดยอ้างอิงเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลว่าซีเซียม-137 ปลิวไปไกลถึงสวีเดน เป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร โดย นพ.สมรสออกตัวว่าเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านปรมาณู และข้อความนี้เป็น “ข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นเอง”
วันต่อมา ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งได้โพสต์ภาพแผนที่คาดการณ์รัศมีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ครอบคลุมประเทศไทยเกือบทั้งหมด พร้อมข้อความว่า “ถ้ารัศมีแพร่กระจายคือ 1,000 กิโลเมตร ก็ประมาณนี้…” โพสต์นี้ถูกรีทวีตไปกว่า 44,000 ครั้ง และยังมีผู้นำไปเผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ก ซึ่งบางโพสต์ถูกแชร์ไปมากกว่า 3,000 ครั้ง
หลังจากทวีตดังกล่าวกลายเป็นไวรัล นพ.สมรส ได้โพสต์เฟซบุ๊กยอมรับว่าเขาเป็น “ต้นทาง” ของข้อมูลเรื่องการแพร่กระจายของซีเซียม-137 เป็นระยะทาง 1,000 กม. ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 2529 แต่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียและสำนักข่าวบางแห่งตัดข้อความและทำภาพประกอบจนทำให้คนเข้าใจผิดว่า ซีเซียม-137 ที่พบที่โรงงานหลอมเหล็กในปราจีนบุรี สามารถแพร่กระจายไปได้ 1,000 กม.
ขณะที่ ผศ.ดร.นภาพงษ์ อธิบายผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักว่า ซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าและคาดว่าถูกนำไปเข้าเตาหลอมใน จ.ปราจีนบุรี นั้นมีปริมาณน้อยกว่าและมีความแรงน้อยกว่าเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล50-60 ล้านเท่า ปริมาณรังสีที่ถูกปล่อยออกไปในธรรมชาติอยู่ในระดับต่ำและจะถูกเจือจางไปโดยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งมีชีวิตในระดับต่ำ ยกเว้นผู้ที่สัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีใกล้ชิด ผศ.ดร.นภาพงษ์สรุปว่า เหตุการณ์ที่ปราจีนบุรีจึงเทียบไม่ได้กับกรณีเชอร์โนบิล
3. “พรัสเซียนบลู” ต้านพิษซีเซียม-137
ความพยายามในการหาข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากซีเซียม-137 ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำมาซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความกังวลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ดร.แกง” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 10,000 ราย โพสต์ภาพยา “พรัสเซียนบลู” (Prussian blue) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Radiogardase และระบุว่าเป็นยาแก้พิษและลดความรุนแรงจากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 โดยอ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “หนังสือคู่มือการดูแลผู้สัมผัสสารเคมี” ที่จัดทำโดยโรงพยาบาลระยองและศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเมื่อปี 2559 ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกคนหนึ่งโพสต์ภาพยาตัวเดียวกันนี้พร้อมข้อความว่า “ผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรมีติดไว้”
การโพสต์ข้อความเกี่ยวกับยาพรัสเซียนบลูที่มีเนื้อหาถูกต้องเพียงบางส่วนในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีออกมาแถลงข่าวให้ข้อเท็จจริงและเตือนภัยประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาชนิดนี้เมื่อ 22 มี.ค. โดย รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิกกล่าวว่า ยาพรัสเซียนบลูใช้รักษาผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนซีเซียม-137 อยู่ภายในร่างกายเท่านั้น ผู้ป่วยที่จะได้รับยาตัวนี้ต้องมีระดับการปนเปื้อนตามเกณฑ์ที่กำหนด มีข้อบ่งชี้เฉพาะ และยาชนิดนี้ไม่ได้ใช้สำหรับการรักษากรณีที่สัมผัสภายนอกหรือกลุ่มเสี่ยง
รศ.พญ.สาทริยากล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้ายาพรัสเซียนบลูมาใช้ สำหรับยาที่มีการขายทางออนไลน์นั้น ประชาชนไม่ควรซื้อมากินเองเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงหรือเกิดพิษขึ้นได้ อีกทั้งยังมีการผลิตพรัสเซียนบลูเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไมใช่ยา ซึ่งหากนำมาใช้อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เรื่องแนะนำ
- เบื้องหน้า-เบื้องหลัง “โพล” กระทรวงสาธารณสุข ประชาชน 90% เห็นด้วย ย้าย ผอ. รพ. จะนะ?
- ข้อมูลเท็จเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์และภรรยานับถืออิสลาม ยอดภูเขาน้ำแข็งของ “อิสลามโมโฟเบีย”
- มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี ผลงานงานรัฐบาลไหน?