10 อันดับข่าวลวง ‘มะเร็ง’ วนซ้ำ (ไม่นับเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรค) เชื่อหรือไม่? บางเรื่องแชร์ยาวนานกว่า10ปี
By : Zhang Taehun
บทความนี้ ขอเสนอการจัดอันดับ 10 ข่าวลวงเกี่ยวกับ ‘มะเร็ง’ ที่มีการนำเสนอวนซ้ำหลายครั้งและเป็นระยะเวลานานจากฐานข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยผู้เขียนเลือกประเด็นข่าวลวงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรมานำเสนอ เนื่องจากฐานข้อมูลกว่า 3 ปีของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ มีข่าวลวงเรื่องสมุนไพรรักษามะเร็งเป็นส่วนใหญ่ และมีจำนวนมากในระดับที่เกินกำลังของผู้เขียนที่จะเรียบเรียงและสรุปได้ในเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ การจัดอันดับจะพิจารณาจาก 3 เรื่อง คือ 1.จำนวนครั้งที่พบและชี้แจงข่าวลวง 2.ระยะเวลาตั้งแต่ข่าวลวงเข้าสู่ระบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุด และ 3.ข่าวลวงนั้นเริ่มถูกแชร์ครั้งแรกเมื่อใดและครั้งล่าสุดเมื่อใด
หมายเหตุ : ข้อมูลทั้งหมดสืบค้นจากฐานข้อมูลของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ วันที่ 9 ก.ย. 2566 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่ค่อนข้างจัดเรียงได้เป็นระบบจนสืบค้นได้ง่ายที่สุด โดยอ้างอิงประกอบกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ “มะเร็ง” นั้นมีข่าวลวงจำนวนมากและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ต้องทำ Tag พิเศษไว้ให้โดยเฉพาะเพื่อรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ให้ง่ายต่อการค้นหา
———————————————————
อันดับ 10 หากสัมผัสสารกันบูดที่อยู่บนผิวปลาทูนึ่งจะทำให้ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังได้
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 พบครั้งล่าสุดวันที่ 29 ม.ค. 2566 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 1 ปี 1 เดือน)
หน่วยงานผู้ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่าการสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตปลาทูนึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด ทั้งนี้ สารกันบูดเป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาโดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น โดยสารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการการสุ่มตรวจหรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อปลาทูนึ่งควรซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และก่อนรับประทานควรนำมาผ่านความร้อนทุกครั้ง
———————————————————
อันดับ 9 อาหารค้างคืนก่อมะเร็ง
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 พบครั้งล่าสุดวันที่ 12 พ.ย. 2565 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 2 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : การรับประทานอาหารค้างคืน และนำกลับมาอุ่นซ้ำไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง แต่อันตรายอาจเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี เช่น เก็บในตู้เย็นที่มีความเย็นไม่เพียงพอทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตจนสร้างสารพิษขึ้นมา เมื่อทานอาหารเหล่านั้นเข้าไปก็จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้อาหารที่ทำทิ้งไว้นาน และมีการอุ่นซ้ำซากอาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง รวมถึงมีรสชาติเปลี่ยนไป โดยการรับประทานอาหารที่ค้างคืน และนำกลับมาอุ่นซ้ำควรคำนึงถึงอุณหภูมิของการเก็บรักษา และการอุ่นด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรรับประทานอาหารที่สดใหม่ ไม่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
———————————————————
อันดับ 8 กระทะเทฟลอนทำให้เกิดโรคมะเร็ง
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 พบครั้งล่าสุด 28 มี.ค. 2566 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 2 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : สารเทฟลอนที่นิยมใช้เคลือบกระทะ คือ Polytetrafluoroethylene (PTFE) ที่สังเคราะห์มาจาก Tetrafluoroethylene (TFE) เป็นสารที่เสถียรและทนความร้อนได้สูงมาก กรณีได้รับความร้อนสูงจนเกิดความเสียหายเท่านั้นจะเกิดการหดตัวและหลุดร่อน เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ โดยไม่ได้ทำปฏิกิริยาหรือดูดซึมเข้าร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า เทฟลอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ กระทะเทฟลอนสามารถนำมาใช้ในการทำอาหารได้
ทั้งนี้ อาจมีข้อจำกัดสำหรับอายุการใช้งาน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเหมาะกับการใช้งานตามคำแนะนำ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตเทฟลอนอาจมีการใช้สาร Perfluorooctanoic acid หรือ PFOA (ซึ่งขณะนี้ไม่นิยมนำมาใช้แล้ว) สารดังกล่าวถูกจัดให้เป็นกลุ่มสารที่มีความเป็นไปได้ในการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกของตับ ตับอ่อน อัณฑะ และเต้านมของสัตว์ แต่ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยังคงต้องรอการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต
———————————————————
อันดับ 7 ริดสีดวงกับมะเร็งลำไส้ใหญ่
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 พบครั้งล่าสุดวันที่ 23 ก.พ. 2566 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 4 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : โรคริดสีดวงไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งริดสีดวง เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่มีการบวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก และริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่าง มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก
โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูปเป็นประจำ อาหารกากใยน้อย อาหารปิ้งย่างรมควัน ตลอดจนขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น และอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดหรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ๆ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง/ถ่ายไม่สุด ขนาดของลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น
สาระน่ารู้เพิ่มเติม : นพ.พรเทพ ประทานวณิช แพทย์เฉพาะทางอนุสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายในบทความ “ถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่?” ว่า “ริดสีดวงทวาร” คือ การที่เส้นเลือดบริเวณทวารหนักมีการโป่งพองจากการเบ่งหรือแรงดันอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเส้นเลือดที่โป่งพองมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถยุบตัวลงไปเองได้ อาจเกิดการแตก หรือมีเลือดออกเป็นหยดหลังการถ่ายหรืออาจพบเมื่อทำความสะอาด และอาจเกิดความเจ็บปวดได้ในบางราย บางรายอาจคลำได้ก้อนบริเวณทวารหนัก มีอาการคัน หรือขับถ่ายไม่สะดวก
ขณะที่ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” คือเนื้องอกชนิดร้ายแรงที่มีการเจริญเติบโตที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และมักสัมพันธ์กับติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยในบางราย อาจพบมีเลือดปนมากับอุจจาระ โดยมีลักษณะเป็นเลือดปนอยู่ในเนื้ออุจจาระ หรือเคลือบอยู่กับอุจจาระ บางรายมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ ท้องผูกสลับท้องเสีย อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือหากเป็นในระยะรุนแรงอาจมีอาการของระบบอื่นที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น ภาวะเหลือง น้ำในท้อง น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรืออาการทางระบบประสาทจากการแพร่กระจายไปที่สมอง เป็นต้น
ทั้งนี้ “เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนัก และเนื้องอก/มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บางครั้งมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะถ้ามีอาการดังนี้ ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนและนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม” (เพราะในปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น คนที่มีอายุน้อยก็สามารถเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน) ได้แก่ ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ , มีภาวะซีดร่วมด้วย , ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก , รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา , มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย , ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง , น้ำหนักลดลง , มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
———————————————————
อันดับ 6 ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหาร ทำให้เกิดมะเร็ง
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 พบครั้งล่าสุดวันที่ 11 พ.ย. 2565 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 5 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
คำอธิบาย : จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการไม่พบว่าการใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็ง สำหรับประเด็นการเกิดสารก่อมะเร็ง เช่น สารอะคริลาไมด์ (acrylamide) จากการปรุงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสม และประเภทเนื้อสัตว์นั้น ในความเป็นจริงสารเหล่านี้เกิดขึ้นจากกระบวนการทอด ปิ้ง ย่าง อบ หรือวิธีใด ๆ ที่ใช้อุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อุปกรณ์ชนิดใดปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลให้เกิดสารก่อมะเร็งปนเปื้อนสู่อาหารได้ เช่นเดียวกันการปิ้งหรือย่างเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม การอบหรือทอดมันฝรั่ง/อาหารที่มีแป้งเป็นส่วนผสมจนกรอบเกิดเป็นสีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น และควรบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนระดับปานกลางและระยะเวลาสั้น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ควรปิ้งย่างจนไหม้เกรียม การลวกมันฝรั่งก่อนการทอดจะช่วยลดการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ ระมัดระวังการทานอาหารที่ไหม้เกรียมเพื่อความปลอดภัยด้วยและสิ่งสำคัญเราควรบริโภคอาหารให้หลากหลายโดยเพิ่มวิธีปรุงด้วยการต้ม
หรือนึ่งและเน้นอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้นจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ข้อมูลว่า การใช้หม้อทอดไร้น้ำมันจะไม่เสี่ยงมะเร็งหากใช้อย่างถูกต้อง หม้อทอดปกติหรือกระทะหากทอดผิดวิธีก็เสี่ยงได้เช่นกัน ฉะนั้นการใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารเสี่ยงก่อมะเร็ง จึงเป็นเรื่องไม่จริงหากใช้ให้ถูกวิธี ถ้าเป็นปลาเราอยากได้น้ำมันดีก็เอาไปทอดในกระทะ แต่ถ้าเป็นไก่ หมู หมูสามชั้น เบคอน แฮม เราอยากรีดน้ำมันร้ายออก หม้อทอดน้ำมันก็เป็นพระเอกสำหรับการทำอาหารประเภทนี้ได้ และที่สำคัญให้เราควรเลือกหม้อทอดที่มีฉลากปลอดจาก BPA สารเคมีอันตรายที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีผลเสียกับต่อมไร้ท่อในร่างกาย ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะใช้หม้อทอดไฟฟ้า หรือเตาถ่านรุ่นคุณย่า กระบวนการทอด ปิ้ง ย่าง อบ ที่ใช้อุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน จนไหม้เกรียม ส่งผลให้เกิดสารก่อมะเร็งปนเปื้อนสู่อาหารได้ทั้งสิ้น จึงควรบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนระดับปานกลางและใช้ระยะเวลาสั้น อาหารสุกก็เพียงพอแล้ว
———————————————————
อันดับ 5 โรลออนทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 พบครั้งล่าสุดวันที่ 4 ธ.ค. 2565 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 6 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนัง และรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้งการใช้สารระงับการหลั่งเหงื่อเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้เฉพาะจุดซึ่งเหงื่อยังคงถูกขับออกบริเวณอื่นของร่างกายได้จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ แนะนำให้ควรดูสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โรลออน เช่น น้ำหอม สารกันบูด เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ในผู้ที่มีกลิ่นตัวมากควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาด และอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ
———————————————————
อันดับ 4 “หายใจเข้าลึกๆ ทำจิตใจไม่ให้เครียด และงดรับประทานอาหารที่เป็นกรด” 3 วิธีรักษามะเร็งด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้ยาและไม่ต้องทำคีโม
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 พบครั้งล่าสุดวันที่ 8 ต.ค. 2565 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 6 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : วิธีรักษามะเร็งด้วยตนเองได้แก่ การหายใจเข้าลึก ๆ การทำจิตใจไม่ให้เครียดและการไม่กินอาหารที่เป็นกรดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งมีหลายแนวทาง เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา การทำเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้าและการรักษามะเร็งเฉพาะจุด เป็นต้น แนวทางการรักษาดังกล่าวถือว่าเป็นวิธีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ส่วนการหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อให้ได้ออกซิเจนปริมาณมาก การทำจิตใจไม่ให้เครียด การงดบริโภคอาหารที่เป็นกรดและให้บริโภคอาหารที่เป็นด่างนั้น ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่ยืนยันว่ามีส่วนในการรักษาโรคมะเร็ง
———————————————————
อันดับ 3 น้ำแข็งยูนิค/น้ำแข็งยูนิตใส่ฟอร์มาลีนก่อมะเร็งทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งของโลก
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 6 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 พบครั้งล่าสุดวันที่ 19 ส.ค. 2566 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวนซ้ำ 2 ปี 6 เดือน)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
คำอธิบาย : ฟอร์มาลีนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหาร และไม่มีคุณสมบัติทำให้น้ำแข็งตัวได้เร็วหรือละลายช้า ซึ่งน้ำแข็งผลิตจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวเป็นของแข็ง น้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสไม่จำเป็นต้องเติมสารอื่นเพิ่มเติม โดยฟอร์มาลีน หรือ สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษ ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ละลายน้ำด้วยความเข้มข้นร้อยละ 37 มีลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน แสบจมูกและตา ฟอร์มาลีนถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในทางการแพทย์นำมาใช้ในการรักษาสภาพร่างกายมนุษย์ที่เสียชีวิต ใช้ในห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา ในขั้นตอนการคงสภาพของเนื้อเยื่อในเทคนิคทางด้านเนื้อเยื่อวิทยา เพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว
สำหรับประเด็นเรื่องที่คนไทยเป็นมะเร็งมากที่สุดในโลกนั้น ในด้านสถิติการเสียชีวิตของประชากรไทย ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขรายงานว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย อย่างไรก็ตามอุบัติการการเกิดโรคมะเร็งของไทยไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของโลก รายงานจากองค์การอนามัยโลก (Globocan 2020) ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จัดเป็นอันดับที่ 89 ของโลก
———————————————————
อันดับ 2 : สบู่เหลวมีสารซักฟอก หากจะร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน จะเป็นสารก่อมะเร็ง
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 พบครั้งล่าสุดวันที่ 19 พ.ค. 2565 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวน 4 ปี 3 เดือน)
หน่วยงานผู้ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , เพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำอธิบาย : ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารซักฟอกในชีวิตประจำวันทั่วไปทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ซึ่งสบู่เหลวทำมาจากปฏิกิริยาระหว่างไขมันกับด่าง และอาจมีการเติมสารเคมีหลายชนิด เช่น สารลดแรงตึงผิวหรือสารซักฟอก สารเพิ่มฟอง สารเพิ่มความหนืด สารกันเสีย สารเพิ่มความชุ่มชื้น และสารปรับความเป็นกรดด่าง เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน สบู่เหลวบางประเภทมีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิวที่ชื่อว่า โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate , SLS) และโซเดียมลอเรตซัลเฟต (Sodium Laureth Sulfate, SLES) สารเหล่านี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่ามีความปลอดภัยสามารถใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้หากใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเอสแอลเอสสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมีนแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามีนได้ แต่จะต้องมีองค์ประกอบหรือสภาวะที่เหมาะสม เช่น ต้องทำปฏิกิริยากันภายใต้อุณหภูมิที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ดังนั้นการใช้สบู่เหลวในชีวิตประจำวันทั่วไปจะทำให้มีโอกาสเกิดสารก่อมะเร็งได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามการใช้สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอสอาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนี้และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกาย รวมถึงสภาพผิวของแต่ละคนด้วย ซึ่งสบู่เหลวจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงแนะนำให้เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง หากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงสารเอสแอลเอสในผลิตภัณฑ์ สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้
———————————————————
อันดับ 1 กินเม็ดชานมไข่มุก ทำให้เป็นโรคมะเร็ง
(พบว่ามีการนำเสนอข่าวลวงนี้ 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่14 พ.ย. 2561 พบครั้งล่าสุดวันที่ 4 ก.ค. 2566 ระยะเวลาการเสนอข่าวลวงวน 4 ปี 7 เดือน และอ้างอิงจากรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ข่าวลวงนี้อาจมีประวัติการตรวจสอบยาวนานมาตั้งแต่ปี 2555 หรือมากกว่า 10 ปี)
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , เพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำอธิบาย : จากที่มีการแชร์ข้อความบนสื่อออนไลน์ว่าเม็ดไข่มุกบางยี่ห้อจากไต้หวันนั้นมีสารสไตรีน และสารกลุ่มโพลีคลอรีนเนตเต็ดไบฟีนีล (Polychlorinated Biphenyls ;PCBs) ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง จากที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไต้หวันได้มีการตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีสารสไตรีน (Styrene) แต่พบสารอะซิโตฟีโนน (Acetophenone) และสารประกอบกลุ่มโพลีโบรมีนเนตเต็ดไบฟีนีล (Polybrominated Biphenyl;PBBs) ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก แต่ไม่ใช่สารประกอบกลุ่มโพลีคลอรีนเนตเต็ดไบฟีนีล (Polychlorinated Biphenyls ;PCBs) จึงไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งอย่างที่ได้มีการแชร์
โดยเม็ดชานมไข่มุกทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง การกินเม็ดชานมไข่มุกก็เหมือนการกินแป้ง จึงยังสามารถกินชานมไข่มุกได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่น่ากลัว คือการกินชานมไข่มุกในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจได้ เพราะนอกจากในเม็ดไข่มุกจะประกอบไปด้วยแป้งมันสำปะหลังแล้วนั้น ในน้ำชานมยังประกอบไปด้วยน้ำตาล น้ำเชื่อม ครีมเทียม นมข้นหวาน ซึ่งจัดได้ว่าชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง และมีคุณค่าทางสารอาหารน้อย จึงควรกินชานมไข่มุกนาน ๆ ครั้งเท่านั้น หรือหากต้องการกินอาจลดปริมาณน้ำตาล หลีกเลี่ยงการใส่ครีมเทียมในชานมไข่มุก
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าไว้ในเฟจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” อ้างอิงข้อมูลจากวารสาร Wellness ของมหาวิทยาลัย University of California Berkeley ที่เผยแพร่ในวันที่ 26 ก.ค. 2556 ที่ระบุว่า เมื่อปี 2012 (พ.ศ. 2555) มีรายงานจากประเทศเยอรมันที่บอกว่า เม็ดไข่มุกนี้อาจจะก่อมะเร็ง และกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยการศึกษาที่ว่านั้นทำโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย University Hospital Aachen โดยเอาเม็ดไข่มุกไม่ระบุยี่ห้อจากตัวแทนจำหน่ายชาวไต้หวัน และพบว่ามีสารเคมี เช่น สไตรีน (styrene) และ อะซิโตฟีโนน (acetophenone) และสารอื่นๆที่จับอยู่กับธาตุโบรมีน ทางนักวิจัยเลยบอกว่ามันน่าจะเป็นสารประกอบกลุ่ม โพลีคลอรีนเนตเต็ตไบฟีนีล (PCBs polychlorinated biphenyls หรือพีซีบี) ซึ่งสารพีซีบีนี้ เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า สามารถทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ และสารพีซีบีนั้นสัมพันธ์กับมะเร็งตับและมะเร็งผิวหนังของคนงานที่สัมผัสกับสาร ต่อมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ของทางรัฐบาลประเทศไต้หวัน ก็ได้ทำการพิสูจน์หาข้อเท็จจริง ได้เก็บตัวอย่างเม็ดไข่มุก 22 ตัวอย่างจาก 7 ผู้ผลิต ซึ่งผลที่ได้นั้น ไม่พบว่ามีสารสไตรีน ขณะที่พบสารกลุ่มโบรมีนเนตเต็ทไบฟีนิลและอะซิโตฟีโนน แต่มีปริมาณน้อยมาก จนไม่ต้องกังวลต่อสุขภาพ ส่วนองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกานั้น (U.S. FDA) ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สารหอมระเหย กลุ่มอะซิโตฟีโนนและสารสไตรีนนั้น ไม่นับว่าเป็นสารกลุ่มพีซีบี เพราะมันไม่ได้มีส่วนประกอบเป็นคลอรีนหรือไบฟีนิล ความจริงแล้ว ทั้งสารกลุ่มอะซิโตฟีโนนและสไตรีนนั้น ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายให้เติมลงไปในอาหารได้ด้วยซ้ำ เพื่อแต่งกลิ่นให้กับอาหาร
อ้างอิง
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สารกันบูดที่อยู่บนผิวปลาทูนึ่ง-หากสัมผัสโดนทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สารกันบูดที่อยู่บนผิวปลาทูนึ่ง หากสัมผัสโดนทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง 3 ธ.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง-ทำให้เป็นมะเร็งที่มือ/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง ทำให้เป็นมะเร็งที่มือ 4 ก.พ. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สัมผั-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง ทำให้เป็นมะเร็งที่มือ 31 ก.ค. 2565)
https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=38615 (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สัมผัสสารกันบูดในปลาทูนึ่ง ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง : กรมการแพทย์ 29 ม.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินอา-3/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินอาหารค้างคืนที่อุ่นซ้ำ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 7 ก.ย. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินอาหารค้างคืนที่นำไปอุ่นซ้ำ-ทำให้เป็นโรคมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินอาหารค้างคืนที่นำไปอุ่นซ้ำ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 24 พ.ย. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินอาหารค้างคืนอุ่นซ้ำ-ทำให้เป็นโรคมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินอาหารค้างคืนอุ่นซ้ำ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 3 ธ.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินอา-5/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินอาหารค้างคืนอุ่นซ้ำ ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 16 พ.ย. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใช้กระทะที่เคลือบสารเทฟลอน-ทำให้เกิดโรคมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้กระทะที่เคลือบสารเทฟลอน ทำให้เกิดโรคมะเร็ง : 25 ม.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทะเทฟลอน-เมื่อโดนความร้อนจะปล่อยสารก่อโรคมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทะเทฟลอน เมื่อโดนความร้อนจะปล่อยสารก่อโรคมะเร็ง : 8 พ.ย. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทะ-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทะเทฟลอนที่โดนความร้อน ทำให้มีสารก่อมะเร็งปล่อยออกมา : 1 มี.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทะ-3/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทะเทฟลอนที่โดนความร้อน ทำให้มีสารก่อมะเร็งปล่อยออกมา : 1 ม.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทะเทฟลอนที่โดนความร้อน-จะมีสารก่อมะเร็งปล่อยออกมา/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทะเทฟลอนที่โดนความร้อน จะมีสารก่อมะเร็งปล่อยออกมา 26 มี.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ริดสี/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ 15 ต.ค. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ 2 ต.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ผู้ที่เป็นริดสีดวง-เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ผู้ที่เป็นริดสีดวง เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ : 11 ธ.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ริดสี-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ : 14 มี.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ริดสี-3/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ : 23 ก.พ. 2566)
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/blood-in-stool (ถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่? : 24 พ.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-หม้อท/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! หม้อทอดไร้น้ำมันใช้ปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง : 16 พ.ค. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-หม้อทอดไร้น้ำมัน-เป็นสาเหตุทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในอาหาร/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! หม้อทอดไร้น้ำมัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในอาหาร 7 พ.ย. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหาร-ทำให้ก่อมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง : 28 พ.ค. 2565)
https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/127316 (หม้อทอดไร้น้ำมันทำให้เสี่ยงมะเร็งจริงหรือ? : PPTV 11 พ.ย. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใช้โร/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้โรลออนทำให้เป็นมะเร็งเต้านม 16 พ.ค. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใช้โรลออนเพื่อกำจัดกลิ่น-เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งเต้านม/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้โรลออนเพื่อกำจัดกลิ่น เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งเต้านม 7 ต.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใช้โรลออนเป็นประจำ-ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใช้โรลออนเป็นประจำ ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม 4 ม.ค. 2565)
https://www.tnnthailand.com/news/health/132393/ (หมอตอบชัด “ใช้โรลออนเป็นประจำ” ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม จริงหรือไม่? : TNN Thailand 4 ธ.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-3-วิธีร/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! 3 วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง 27 มี.ค. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-วิธีร/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง 14 มิ.ย. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-3-วิธีร-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! 3 วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง 31 ส.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-3-วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! 3 วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยตนเอง 22 เม.ย. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-วิธีรักษามะเร็งให้หายได้-ไม่ให้ทำคีโมแต่ให้กำหนดลมหายใจตัวเอง-และกินอาหารที่ไม่เป็นกรด/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีรักษามะเร็งให้หายได้ ไม่ให้ทำคีโมแต่ให้กำหนดลมหายใจตัวเอง และกินอาหารที่ไม่เป็นกรด 8 ต.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน-ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ-1-ของโลก/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของโลก : 6 ก.พ. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน-ทำให้คนไทยเป็นโรคมะเร็งอันดับ-1-ของโลก/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของโลก : 24 ส.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน ทำให้คนไทยเป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ของโลก : 8 ธ.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข-3/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของโลก : 15 ก.พ. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข-4/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิคใส่สารฟอร์มาลีน ทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของโลก : 4 มิ.ย. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-น้ำแข็งยูนิตใส่สารฟอร์มาลีนทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ-1-ของโลก/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำแข็งยูนิตใส่สารฟอร์มาลีนทำให้คนไทยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของโลก 19 ส.ค. 2566)
https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/photos/a.220998438383217/352161125266947/?type=3&locale=th_TH (สบู่เหลว ไม่ได้ทำให้ตายเร็ว .. SLS ไม่ได้ก่อมะเร็ง : “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” 6 ก.พ. 2561)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สบู่เหลวมีสารซักฟอก-หากใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน-จะเป็นสารก่อมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สบู่เหลวมีสารซักฟอก หากใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน จะเป็นสารก่อมะเร็ง : 6 พ.ย. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สารซักฟอกในสบู่เหลว-ถ้าใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน-จะกลายเป็นสารก่อมะเร็ง/ (สารซักฟอกในสบู่เหลว ถ้าใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน จะกลายเป็นสารก่อมะเร็ง : 27 ธ.ค. 2564)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-สบู่เหลวมีสารซักฟอก-หากใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีนจะเป็นสารก่อมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! สบู่เหลวมีสารซักฟอก หากใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีนจะเป็นสารก่อมะเร็ง : 19 พ.ค. 2565)
https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/518430751973316?ref=embed_post (“ไข่มุก (ในชานม) ไม่ได้ก่อมะเร็งครับ” : “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” 14 พ.ย. 2561)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินเม-2/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินเม็ดชานมไข่มุก ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 2 พ.ย. 2563)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินเม็ดชานมไข่มุก-ทำให้เป็นโรคมะเร็ง/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินเม็ดชานมไข่มุก ทำให้เป็นโรคมะเร็ง 20 มี.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินเม-3/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กินเม็ดชานมไข่มุก ทำให้เป็นโรคมะเร็ง : 3 ม.ค. 2566)
https://www.nationtv.tv/news/social/378922037 (อย. รีบแจง หลังสะพัดหนัก กินเม็ดชานมไข่มุก เสี่ยงโรคมะเร็ง เรื่องนี้มีคำตอบ : เนชั่น 4 ก.ค. 2566)