ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาเพื่อสุขภาพ และการปลูกกัญชาในบ้าน COFACT Special Report #26

บทความ

9 มิถุนายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาเสมือนเป็นพืชสมุนไพรสำหรับใช้บริโภคภายในบ้านได้ และยังสามารถใช้กัญชาทั้งใบและดอกเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังสับสนว่าการบริโภคต้องใช้ในปริมาณเท่าไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งหากจะปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายจะต้องลงทะเบียนอย่างไร

English Summary:

Cannabis is scheduled to be removed from the Category 5 narcotic list this Thursday June 9. It will allow Thai people to grow unlimited amount of cannabis plants at home. However, extracting more than 0.2% of Tetrahydrocannabinol (THC) for consumption is still illegal. In this article, we answer some of the questions people may have on what to do and not to do once cannabis consumption becomes legal in Thailand.   

Q: ทำไมกัญชาถึงถูกถอดจากบัญชียาเสพติดประเภท 5?

A: ปัจจุบันมีผลการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ พบว่าการใช้กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม สามารถช่วยรักษาโรคได้หลายประเภท และผลข้างเคียงจากการใช้กัญชามีน้อยกว่ายาสูบหลายประเภท หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีทั้งประเทศที่ค่อนข้างเสรีและจำกัดเงื่อนไขการใช้ รวมทั้งของไทยที่จำกัดเงื่อนไขการใช้ ทั้งนี้ในประเทศมองว่าการเปิดเสรีกัญชาเป็นนโยบายทางการเมือง แม้จะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการใช้สมุนไพร แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากบุคลากรทางการแพทย์ และข้อกังวลจากเภสัชกร องค์กรผู้บริโภค ถึงผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และการใช้ในเชิงสารเสพติดมากกว่าแนวทางการแพทย์ที่เหมาะสม ล่าสุดมีการล่ารายชื่อแพทย์และศิษย์เก่ารามาธิบดี ล่ารายชื่อถึงผลกระทบต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากกรณีการใช้กัญชาแบบเสรี ส่วนไทยมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองที่สัญญาไว้กับสังคม ซึ่งนโยบายนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน

Q: การปลูกกัญชาในบ้านถูกกฎหมายหรือไม่?

A: ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาเพื่อบริโภคภายในที่พักอาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปริมาณเท่าใดก็ได้ 

Q: กัญชา กับ กัญชง ต่างกันอย่างไร?

A: กัญชง (Hemp) และกัญชา (Marijuana) ถึงแม้หน้าตาจะคล้ายๆ กัน แต่ที่จริงแล้วเป็นพืชคนละชนิดกัน ทั้งสองชนิดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่ใบของกัญชงจะเรียวกว่า เรียงตัวห่างกันกว่า มีแฉกประมาณ 7-11 แฉก ลำต้นสูงเรียว ส่วนกัญชาใบจะหนากว่า เรียงตัวชิดกันมากกว่า และมีแฉกประมาณ 5-7 แฉก ลำต้นเตี้ยและเป็นพุ่ม 

สิ่งที่แตกต่างกันอีกอย่างคือดอกกัญชา เมื่อนำมาสกัดเป็นสารมึน หรือ THC (Tetrahydrocannabinol) จะได้ปริมาณสูงถึง 1-20% แต่ดอกกัญชงจะมีปริมาณสารตัวนี้น้อยกว่าดอกกัญชา (สกัดออกมาได้ไม่ถึง 1%) สารตัวนี้มีคุณสมบัติในการลดการปวด คลื่นใส้ และช่วยให้ผ่อนคลาย แต่จะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการมึนเมา 

อย่างไรก็ตามดอกกัญชงจะมีประสิทธิภาพดีกว่ากัญชาในการสกัดสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งไม่มีอาการเมาเคลิ้มเหมือนกับ THC แต่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ เราสามารถสกัดสารตัวนี้ออกมาจากดอกกัญชงได้มากกว่า 2% ส่วนในกัญชามีสารตัวนี้น้อยกว่า 2%

นอกจากกัญชงจะได้รับความนิยมในการสกัดเป็นยาแล้ว เกษตรกรจำนวนมากยังนิยมนำกัญชงมาใช้ทำเส้นใยผ้า เนื่องจากให้ปริมาณมากกว่าการปลูกฝ้าย และใช้ยากำจัดศัตรูพืชน้อยกว่า 

Q: หากจะปลูกกัญชาที่บ้านอย่างถูกกฎหมาย จะต้องทำอย่างไร?

A: ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปที่ต้องการจะปลูกกัญชา สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th/  หรือแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงฯ จะขอข้อมูลเพียงเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ และวัตถุประสงค์ของการปลูก เมื่อได้รับการอนุมัติ กระทรวงฯ จะส่งเอกสารยืนยันแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ ถือเป็นอันเสร็จสิ้น

Q: เราสามารถบริโภคใบกัญชาอย่างเดียวเท่านั้น? ถ้าจะบริโภคดอกกัญชาสามารถทำได้หรือไม่?

A: หลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปสามารถบริโภคได้ทั้งใบและดอกกัญชาภายในที่พักอาศัย โดยจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อน หรือส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน การนำใบกัญชา หรือกัญชงประกอบอาหารสามารถใช้ในปริมาณเท่าใดก็ได้ แต่การนำดอกมาสกัดเพื่อใช้ในการสูบแบบสันทนาการจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถขอสุ่มตรวจได้ว่ามีปริมาณสารดังกล่าวเกินหรือไม่ ถ้าเกินจะถือว่าเป็นการเสพยาเสพติด ส่วนการใช้กัญชาในประมาณสาร THC ที่มากกว่า 0.2% อย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ว่าเป็นการใช้เพื่อการรักษาโรค ไม่ใช่การใช้เพื่อสันทนาการ โดยเจ้าหน้าที่สามารถขอตรวจสอบเอกสารเหล่านี้ได้ตลอดเวลา

Q: กฎหมายควบคุมปริมาณการบริโภคดอกกัญชาหรือไม่?

A: ปัจจุบันกฎหมายควบคุมให้การบริโภคสารสกัดจากดอกกัญชาจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% หากเกินจะถือว่าเป็นการใช้สารเสพติดให้โทษ เว้นแต่จะเป็นการใช้เพื่อการรักษาโรค ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีเอกสารยืนยันโดยแพทย์ว่าได้รับอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากดอกกัญชาเกิน 0.2% 

Q: เราสามารถสกัดดอกกัญชาเองได้หรือไม่?

A: ได้ กฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถสกัดสารจากดอกกัญชาเองได้ อย่างไรก็ตามการนำสารสกัดจากดอกกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% ไปใช้เพื่อการสันทนาการยังถือว่าผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถสกัดสารจากดอกกัญชาในปริมาณสาร THC ที่มากกว่า 0.2% ได้

Q: เราสามารถบริโภคกัญชานอกบ้าน เหมือนกับการสูบบุหรี่ทั่วไปได้หรือไม่?

A: ขณะนี้สภาฯ กำลังพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสูบกัญชาเพื่อการสันทนาการ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ประชาชนทั่วไปที่รู้สึกไม่พึงพอใจกับกลิ่นของกัญชาในพื้นที่สาธารณะสามารถแจ้งความเอาผิดผู้สูบ หรือผู้ปลูกได้ โดยผู้ปลูกหรือผู้สูบที่พบการกระทำผิดจะต้องถูกระวางโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุเรื่องการจำกัดสถานที่สูบ ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปจะสูบกัญชาในที่สาธารณะก็ย่อมจะทำได้ แต่ต้องสูบในสถานที่สูบบุหรี่ หรือที่ที่จัดไว้ โดยไม่รบกวนประชาชนทั่วไป


ที่มา:

https://www.bbc.com/thai/thailand-61703618

https://www.hfocus.org/content/2022/06/25236

https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/AtRama34_c02.pdf

https://www.bangkokbiznews.com/social/1007009

https://www.cannhealth.org/content/8317/cannhealth

https://www.prachachat.net/economy/news-624445

https://www.nationtv.tv/category/nationtv


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com