ถาม-ตอบ ข่าวจริง-ลวง #โควิด19 หลังเปิดประเทศ COFACT SPECIAL REPORT #7
ตรวจสอบข้อมูลเท็จ-ลวง โควิด-19 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2021
English Summary
On November 1, Thai government opens its border to fully vaccinated travelers from more than 60 countries. While daily new positive cases in the country is still in the thousands, some Thai people worry that welcoming tourists would cause another new wave of infections. In this edition of Cofact Special Report, we answer most frequently asked questions regarding international tourists, vaccine misinformation, and how to live with COVID-19 and still be able to keep the economy running.
เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนที่ถึงแม้รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำที่ฉีดวัคซีนครบโดยไม่ต้องกักตัว แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงรู้สึกกังวลกับนโยบายดังกล่าว และในช่วงนี้เองที่หลายประเทศ รวมถึงไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็ก และเริ่มอนุมัติการใช้ยารักษาโควิด-19 ชนิดรับประทานกันแล้ว เราได้รวบรวมข้อมูลและคำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับโควิด-19 ล่าสุด เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และอยู่ร่วมกันกับเชื้อได้โดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
1) การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง?
คำตอบ: ข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ศบค. ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำที่ฉีดวัคซีนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึงที่ผลการตรวจ RT-PCR หลังจากเดินทางมาถึงไทยเป็นบวก แต่ก็ยังคงเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อตรวจพบแล้วสามารถส่งต่อจากโรงแรมที่พักไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลต่อได้ทันทีโดยที่ผู้ติดเชื้อไม่ได้ไปพบปะกับประชาชนทั่วไป ดังนั้นรัฐบาลจึงมองว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมายังไม่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) อย่างมีนัยสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวติดเชื้อน้อย ควบคุมได้ และถ้าสามารถควบคุมภายใต้มาตรการเช่นนี้ได้เช่นนี้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็ยังคงทำได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญก็ยังแสดงความวิตกกังวลต่อการนำเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามายังประเทศโดยนักท่องเที่ยว แต่รัฐบาลยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนครบแล้ว พร้อมกับมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบทั้งก่อนขึ้นเครื่อง 72 ชั่วโมง และทันทีที่เดินทางถึงไทยจะต้องได้รับการตรวจ RT-PCR ที่สนามบิน จากนั้นทุกคนจะต้องพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ หรือ AQ จนกว่าจะได้รับผลตรวจเป็นลบจึงจะสามารถออกมาเที่ยวหรือเดินทางต่อได้ (ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นมาตรการที่รัดกุมและมีความปลอดภัยสูง
2) การฉีดวัคซีนแบบไขว้ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าการฉีดชนิดเดียวกัน?
คำตอบ: ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานระดับโลกหลายแห่งเริ่มอนุญาตให้มีการฉีดวัคซีนไขว้ได้แล้ว เช่นองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท Viral Vector คล้ายกับแอสตราเซเนกา สามารถฉีดสูตรไขว้ด้วยวัคซีนประเภท mRNA เช่นไฟเซอร์และโมเดอร์นาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันได้ ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็อนุญาตให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายคล้ายกับซิโนแวก สามารถฉีดวัคซีนจากไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิได้เช่นกัน นอกจากนี้ในยุโรปหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนไขว้สูตรแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ ซึ่งเป็นสูตรที่องค์การอาหารและยาในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) อนุมัติ และยังเป็นสูตรที่ในไทยใช้เช่นกัน
3) คนที่ฉีดวัคซีนก็ยังคงมีสิทธิ์ติดเชื้อได้ แล้วเราจะฉีดวัคซีนไปทำไม?
คำตอบ: เราควรฉีดวัคซีน เพราะวัตถุประสงค์หลักของการฉีดวัคซีน คือการ “ลดความเสี่ยง” ของอาการป่วยหนักที่เกิดจากเชื้อไวรัส ถึงแม้วัคซีนจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนเชื้อจะไม่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายไม่ติดเชื้อเลย แต่เมื่อเราติดเชื้อแล้ว ความรุนแรงของอาการจะไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
4) การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลายๆ เข็ม อาจทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง?
คำตอบ: เป็นข้อมูลบิดเบือน ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ออกมาระบุว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสังเกตว่า หากเราฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลายๆ เข็ม ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันอาจจะไปกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานหนักจนเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะต้องรอ 2-3 ปีกว่าเราจะทราบผล ดังนั้นเราควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามจำนวนโดสที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานด้านสาธารณะสุขแนะนำเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเรามากที่สุด แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนตามสูตร (1 หรือ 2 เข็ม ขึ้นอยู่กับชนิด) และฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ระยะเวลา 3-6 เดือนหลังจากได้รับเข็มที่สอง จากนั้นให้รอไปก่อนจนกว่าจะมีการแนะนำจากแพทย์อีกครั้ง
5) มะนาวกับขมิ้นมีคุณสมบัติป้องกันโควิด-19?
คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ระบุว่ามะนาวกับขมิ้นมีคุณสมบัติป้องกันโควิด-19 แต่วิตามินซีที่อยู่ในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม และมะนาวมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่แล้ว
6) สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ถึงแม้จะสวมหน้ากาก ล้างมือ หรือเว้นระยะห่างระหว่างกันก็ช่วยอะไรไม่ได้?
คำตอบ: ไม่ถูกต้อง เพราะการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล้างมือช่วยฆ่าเชื้อที่อาจจะติดมากับมือหลังจากไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งสามสิ่งนี้เรายังควรปฏิบัติอยู่เนื่องจากเราไม่รู้ว่ารอบตัวเรามีคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ และหากเราเป็นคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และได้รับเชื้อเข้าไปจำนวนมากก็มีสิทธิ์ที่จะป่วยจากโควิด-19 ได้ ถึงแม้จะฉีดวัคซีนมาแล้ว แต่โอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจะน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก
7) สิงคโปร์กำลังประสบกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ถึงแม้จะมีมาตรการที่เข้มแล้วก็ตาม?
คำตอบ: ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อ 3,397 ราย เสียชีวิต 12 ราย อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์เผยว่าผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รัฐบาลสิงคโปร์ย้ำว่าวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต และสถานพยาบาลยังคงรองรับผู้ป่วยได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงไม่กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลียแบบไม่ต้องกักตัวต่อไป โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าสิงคโปร์แบบไม่ต้องกักตัวจะต้องฉีดวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองครบจำนวนเข็ม และมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
8) วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าพลัส และ อัลฟาพลัสได้?
คำตอบ: วัคซีนปัจจุบันที่ใช้ในไทย ได้แก่ แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มีคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อ และอาการป่วยหนักจากโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้าพลัส และอัลฟาพลัส แต่ยังไม่มีตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักได้มากน้อยเท่าไร ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าลักษณะทางพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลต้าพลัส และอัลฟาพลัสนั้นคล้ายคลึงกันกับสายพันธุ์เดลต้า และอัลฟา แตกต่างกันเพียงแค่หนามโปรตีนหนึ่งจุด ดังนั้นวัคซีนปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ และปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าปกติ
9) หากเรายังไม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ เราก็ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้?
คำตอบ: ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในหลายประเทศเริ่มมองเห็นว่า โควิด-19 กำลังเปลี่ยนจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เป็นไปได้สูงที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคที่จะอยู่กับเราต่อไปในระยะยาวคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้จนกว่าจะมียารักษาที่มีประสิทธิภาพ การทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ณ จุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำได้ยาก หลายประเทศจึงเปลี่ยนวิธีเป็นการเร่งฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการทางสุขอนามัยส่วนบุคคล และการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง หรือ ATK ดีกว่าการปิดประเทศหรือหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปมากกว่า
ที่มา:
https://www.nature.com/articles/d41586-021-01359-3
https://www.yalemedicine.org/news/5-things-to-know-delta-variant-covid
https://factcheckthailand.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9QY8PU
ชัวร์ก่อนแชร์ https://youtu.be/032IrZAyiIw
ชัวร์ก่อนแชร์ https://youtu.be/dqQFWam8PP4
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com